Friday, August 14, 2015

ลงทุนเองหรือผ่านกองทุนรวม / วีระพงษ์ ธัม

     
    คำถามที่ว่าเราควร “ลงทุนเอง” หรือ “ซื้อกองทุน” เป็นคำถามแรก ๆ ที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้นลงทุน แต่กลับเป็นคำถามที่ผมได้ยินไม่บ่อยนัก บ่อยครั้งจะเป็นว่า “เราจะเริ่มต้นเล่นหุ้นยังไงดี” หรือ “เราควรลงทุนแนว VI หรือแนวเทคนิคดี” ซึ่งคำถามเหล่านี้ ควรจะเป็นคำถามที่สองหลังจากที่เราสามารถตอบ “วิธี” การลงทุนตัวเองได้ชัดเจนที่สุดก่อน และที่สำคัญกว่านั้น คำถามนี้ไม่ควร “มีคำตอบเดียว” เพราะแม้ว่าเราเป็นนักลงทุนที่ลงทุนมายาวนานแล้ว ก็ยังต้องกลับไปคิดทบทวนกับคำถามนี้ตลอดเวลา อันที่จริงนักธุรกิจนักลงทุนระดับโลกหลาย ๆ คนก็ “หยุด” ลงทุนเองเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งของชีวิต หรือถ้าเราลงทุนผ่านกองทุนมายาวนานก็ไม่ควร “ปิดโอกาส” การเลือกหุ้นลงทุนเองเช่นกัน

            ข้อดีและข้อเสียของการลงทุนสองแบบนี้ มีการถกกันพอสมควร แต่ผมอยากจะยกตัวอย่างที่จะเป็นความเข้าใจที่ค่อนข้างผิด เรื่องแรกคือ ถ้าจะลงทุนเอง คุณต้องมีเวลาติดตามมาก ที่จริงแล้ว การลงทุนเองอาจจะต้องใช้เวลาจำนวนมากแค่ช่วงแรก ๆ แต่พออยู่ตัวแล้ว คุณแค่ใช้เวลาชั่วโมงสองชั่วโมง หรือแม้กระทั่งผูกเข้ากับวิถีชีวิตตัวเองได้โดยไม่ยากนัก ส่วนตัวผมตอนนี้ก็ใช้เวลาในการลงทุนแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน และหลายครั้งอาจจะไม่ได้ติดตามเป็นเวลาหลาย ๆ สัปดาห์

            ในทางกลับกัน การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็ไม่ใช่ว่าเราจะทิ้งไปได้เฉย ๆ หรือไม่มีความรู้ เราควรจะทบทวนการลงทุนของกองทุน ไม่ต่างจากที่เราทบทวนหุ้นในพอร์ตตัวเอง ต่างกันแค่ความถี่ในการติดตาม หรือเราไม่ต้องเลือกหุ้นเองเท่านั้น แต่ส่วนมากคนลงทุนในกองทุน “แทบไม่รู้” ว่ากองทุนนี้ทำอะไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ผิดมาก ๆ เรื่องที่สองของคนลงทุนกองทุนคือ “เราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการลงทุน” แค่ฝากผู้จัดการกองทุนดูแลให้เรา เพราะถ้าคุณไม่สบายใจที่จะวางกระเป๋าตังค์ไว้กับพื้นและฝากคนแปลกหน้าดูแลให้ คุณก็ควรจะเอาเงินที่คุณหามาอย่างยากลำบาก ไปฝากให้ผู้จัดการกองทุนดูแลให้โดยเราไม่มีความรู้ ดังนั้น แม้ว่าคุณจะการลงทุนผ่านกองทุนรวมก็จำเป็นต้องมีความรู้ในการลงทุนพอสมควร และต้องอ่านหนังสือลงทุนบ้างถึงจะสามารถได้ผลตอบแทนที่ดีได้ เพราะมันจะช่วยให้คุณไม่ขายกองทุนในเวลาที่ตลาดย่ำแย่ซึ่งเป็นเวลาที่ควรจะซื้อมากที่สุด

            เรื่องที่สาม นอกจากเรื่องเวลา การลงทุนเองหรือผ่านกองทุน จะมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอะไรบ้าง กองทุนอาจเข้าถึงข้อมูลได้ดีและเร็วกว่า แต่การลงทุนเองแบบระยะยาว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลเร็วขนาดนั้น และมีวิธีเข้าถึงข้อมูลการลงทุนมากมายโดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีนามบัตรเป็น “ผู้จัดการกองทุน” ยุคนี้การลงทุนเองสะดวกกว่าเดิมมาก นอกจากนั้นจะมีคำพูดที่ว่ากองทุนมีค่าธรรมเนียมที่แพง แต่ที่จริงมัน “ไม่แพง” ถ้าเทียบกับการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าลงทุนแล้วแพ้ตลาดติดต่อกัน 3 ปี คุณควรจะพิจารณาเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การลงทุนทั้งสองแบบต่าง “เปลี่ยนชีวิต” คุณได้แน่นอน ถ้าคุณมี “ความรู้การลงทุน” และทำมันอย่างถูกต้องและยาวนานพอ

            เรื่องสุดท้ายคือ เราชอบแบ่งการลงทุนสองอย่างนี้ออกเป็น “สองขั้ว” อย่างเด็ดขาด เช่นถ้าคนลงทุนเอง อาจจะไม่ลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือคนลงทุนในกองทุน อาจจะไม่ลงทุนในหุ้นเอง ซึ่งผมคิดว่าสองส่วนนี้ไม่ได้ “อยู่คนละขั้ว” แต่กลับ “ส่งเสริม” ซึ่งกันและกัน คนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม แต่เห็นโอกาสในหุ้นหรือกิจการบางอย่าง ซึ่งมีอนาคตไกลมาก ก็อาจจะเอาเงินมาทะยอยซื้อหุ้นตัวนี้ได้ ซึ่งมันจะช่วย “เพิ่มผลตอบแทน” รวมของพอร์ตด้วยความเข้าใจในหุ้นตัวนั้น ๆ และการที่มีกองทุนรวมที่กระจายความเสี่ยงอยู่แล้วพอร์ต ดังนั้นในกรณีนี้ ซื้อหุ้นตัวสองตัว แทบจะไม่เสี่ยง

            ในอีกมุมมองหนึ่ง ถ้าเราลงทุนหุ้นเองอยู่แล้ว เราก็ยังมีโอกาสลงทุนผ่านกองทุนรวมได้เช่นกัน เพราะมันจะทำให้เราได้ “กระจายความเสี่ยง” โดยที่ใช้ “แรงและเวลา” น้อยมาก ส่วนตัวผมกระจายไปซื้อกองทุนจีนไปตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว รวมถึงกองทุนในตลาดอเมริกาช่วงหลังจาก Subprime ซื้อทุก ๆ เดือนมาโดยตลอด ผลตอบแทนก็สูงกว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกัน แทนที่ผมจะต้องใช้เวลามากมายไปศึกษาหุ้นรายตัวต่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่จุดแข็งเรา แต่ใช้ความรู้ “พื้นฐาน” สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมได้ไม่ยากนัก เหมือน John Templeton ว่าถ้าคุณจะสร้างพอร์ตหุ้นที่ดี ให้มองมากกว่าหนึ่งอุตสาหกรรม และมองมากกว่าหนึ่งประเทศ

            ผมเชื่อว่ากลยุทธ์กระจายพอร์ตไปสองขาแบบนี้ จะค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต การลงทุนจะไม่ได้ถูกแบ่งแยกเป็น “ผ่านกองทุนอย่างเดียว” หรือ “ลงทุนเองอย่างเดียว” และจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับโลกการลงทุนที่โอกาสเปิดกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ ครับ