Monday, August 31, 2015

ปัจจัยด้านต้นทุน / ดร.นิเวศน์

      นักธุรกิจและนักลงทุนไทยนั้น ดูเหมือนจะไม่ใคร่ให้ความสำคัญกับการ “ลดต้นทุน” ของการผลิตมากเท่ากับการ “เพิ่มรายได้” โดยการขยายธุรกิจหรือการเพิ่มยอดขาย เหตุผลอาจจะเป็นเพราะการลดต้นทุนนั้น มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของการมองย้อนหลังหรืออยู่กับที่ เป็นการมองด้านลบ เป็นเรื่องของงาน “หลังบ้าน” ที่คนทำไม่ได้เครดิตหรือหน้าตาแต่มักจะถูกต่อว่าจากเพื่อนร่วมงานที่บ่อยครั้งต้องถูกลดผลตอบแทนหรือรายได้หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่าง ๆ ที่เคยได้รับ

      ดังนั้น เวลาที่บริษัทอยากที่จะทำกำไรเพิ่มหรือรักษากำไรไว้ให้ได้ กลยุทธ์หลักจึงมักจะเน้นไปที่การเพิ่มรายได้แทนที่จะลดรายจ่ายหรือต้นทุนของสินค้าหรือบริการ แต่นั่นคือกลยุทธ์ในอดีตที่อาจจะเหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดีมีโอกาสที่จะขายสินค้าเพิ่มได้ง่าย ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยลงและการเติบโตเร็ว ๆ อาจจะเกิดยากขึ้นเรื่อย ๆ กลยุทธ์การทำกำไรของธุรกิจในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนไป การ “ลดต้นทุน” อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำมากขึ้นเรื่อย ๆ “ปัจจัยด้านต้นทุน” อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดผลประกอบการของบริษัทในช่วงเร็ว ๆ นี้ หรือพูดง่าย ๆ ในมุมของนักลงทุนก็คือ หุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีอาจจะมาจากการที่บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มาก ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทเน้นโตเร็วอย่างที่ผ่านมา

      ต้นทุนหลัก 3 ด้านของธุรกิจเกือบทุกประเภทก็คือ ต้นทุนทางด้านแรงงาน ต้นทุนด้านวัตถุดิบ และต้นทุนทางด้านการเงินหรือต้นทุนของการลงทุน มองจาก “ภาพใหญ่” โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ “โชคดี” ที่ว่าดูเหมือนบริษัทส่วนใหญ่น่าจะมีต้นทุนที่ลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นเพราะ ข้อแรก ค่าแรงงานของไทยในช่วงนี้คงไม่ใคร่เพิ่มขึ้นมากนักเปรียบเทียบกับในอดีต เรื่องของวัตถุดิบเองนั้น ดูเหมือนว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบของสินค้าต่าง ๆ มีราคาลดลงมากเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์การเกษตร ในส่วนของต้นทุนการเงินนั้น ดอกเบี้ยก็ลดลงอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้น ธุรกิจที่มีต้นทุนเหล่านี้ในสัดส่วนที่สูงก็จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่สามารถขายสินค้าในราคาเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับราคาเดิมได้ ตัวอย่างเช่นกิจการที่ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อรายย่อยหรือผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ราคาอาหารสำเร็จรูปนั้นไม่ได้ลดลงในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และวัตถุดิบในการปรุงอาหารลดลง เช่นเดียวกัน ราคาค่าโดยสารแท็กซี่ก็ไม่ได้ลดแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงมาเป็นต้น

    ลองมาดูว่าบริษัทหรืออุตสาหกรรมไหนจะได้ประโยชน์มากน้อยเท่าไรจากการที่ราคาของปัจจัยการผลิตทั้งสามด้านลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นแรกก็คือเรื่องแรงงาน บริษัทที่ใช้คนจำนวนมากในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ มีต้นทุนค่าแรงงานสูง การที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นน้อยนั้นคงไม่ถึงกับทำให้ต้นทุนส่วนนี้ลดลงแต่ก็จะทำให้มันไม่ใคร่เพิ่มขึ้นอย่างที่เป็นมาในอดีต นอกจากนั้น ในกรณีที่เป็นพนักงานในระดับที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง การลดการใช้โอเวอร์ไทม์หรือการใช้เครื่องจักรมาแทนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็สามารถที่จะลดต้นทุนทางด้านแรงงานได้

    ในระยะยาวแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพของคนงานและลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแรงงานอย่าง “ถาวร” มักจะขึ้นอยู่กับการ “ปรับกระบวนการทำงาน” โดยการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านไอทีเข้ามาช่วย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตที่เด่นชัดก็เช่นในเรื่องของธุรกิจค้าปลีกที่มีการนำบาร์โค้ดมาใช้ในการคิดเงินค่าสินค้าและการใช้ระบบเอทีเอ็มในระบบธนาคารพาณิชย์เป็นต้น ในส่วนของการผลิตทางอุตสาหกรรมเองนั้นก็มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคนในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ถ้าหากเป็นการผลิตสินค้าเพื่อขายให้กับผู้ซื้อรายใหญ่ บริษัทก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนักเพราะราคาขายก็จะลดลงเนื่องจากคู่แข่งก็มักจะใช้หุ่นยนต์เหมือนกันทำให้ต้องลดราคาเพื่อให้แข่งขันได้ ดังนั้น บริษัทที่จะได้ประโยชน์จริง ๆ จะต้องเป็นบริษัทที่สามารถทำได้อยู่รายเดียวหรือน้อยรายในขณะที่คู่แข่งไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยเหตุผลบางอย่างเช่น คู่แข่งเป็นรายเล็กที่ไม่คุ้มที่จะใช้ระบบอัตโนมัติเหล่านั้น เป็นต้น

   ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นโภคภัณฑ์นั้น ราคาที่ลดลงซึ่งทำให้ต้นทุนลดลงนั้นมักจะเป็นเรื่องชั่วคราวแม้ว่าอาจจะเป็นหลายปี ซึ่งนั่นก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ใช้วัตถุดิบเหล่านั้น ตัวอย่างของบริษัทที่ได้ประโยชน์มากเช่น กิจการที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมัน เช่น บริษัทที่ทำเกี่ยวกับโลจิสติคขนส่งสินค้าจำนวนมากซึ่งน่าจะรวมถึงผู้ค้าปลีกที่ขายสินค้าประจำวัน การบิน การขนส่งทางเรือ และรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าที่ต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในกระบวนการผลิตเช่น ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์การเกษตรเช่น น้ำมันพืช ข้าว เนื้อสัตว์ เหล่านี้ ก็คงเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ขายอาหาร หรือถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อย่างยางพาราก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ยางในการผลิตชิ้นส่วนยาง เป็นต้น

   ในระยะยาวแล้ว การลดต้นทุนวัตถุดิบนั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการการผลิตที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าแต่สามารถทดแทนกันได้เช่น การใช้ถ่านหินแทนน้ำมันหรือก๊าซในการให้ความร้อนในกระบวนการผลิตสินค้า การใช้วัสดุชีวมวลที่มีราคาต่ำกว่าเชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้า “พลังงานทดแทน” ขายให้แก่การไฟฟ้าเป็นต้น

   สุดท้ายก็คือเรื่องของต้นทุนเงินทุนที่ลดลง นี่ก็เป็นเรื่องของบริษัทที่มีเงินกู้สูงมากและเป็นต้นทุนที่สูงของกิจการ การที่ดอกเบี้ยลดลงในรอบนี้และดูเหมือนว่าจะยังต่ำอยู่ยาวนานพอสมควร นี่ก็จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนที่ลดลงโดยที่รายได้จากการขายสินค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ ว่าได้ผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย บริษัทที่มีหนี้มากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินและรายได้นั้น ส่วนมากก็จะเป็นบริษัทที่ต้องลงทุนในโรงงานและ/หรืออุปกรณ์ที่มีราคาสูงเรียกว่าเป็นธุรกิจ Capital Intensive และกระแสเงินสดของกิจการไม่ดีนัก เช่น เป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก และปิโตรเคมี เป็นต้น

   บริษัทที่มี “หนี้” มากนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจดังกล่าว ว่าที่จริง สถาบันการเงินต่าง ๆ นั้น ต่างก็มีหนี้มากทั้งนั้น ดังนั้น ต้นทุนในการกู้ยืมจึงลดลง ประเด็นอยู่ที่ว่ารายได้หรือเงินที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าลดลงด้วยหรือไม่ ในกรณีของธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจทั่วไปนั้นรายได้ก็ลดลงตามดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย จึงไม่ได้ประโยชน์ แต่ธนาคารหรือบริษัทลีสซิ่งที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยตายตัวรายได้จะไม่ลดลงก็จะได้ประโยชน์

   กล่าวโดยสรุปก็คือ หุ้นหรือบริษัทที่มีต้นทุนลดลงอย่างมีนัยยะเนื่องจากบริษัทอาจจะมีต้นทุนด้านบุคลากรสูง และ/หรือ มีต้นทุนด้านพลังงานสูง และ/หรือมีต้นทุนทางด้านการเงินสูง ก็จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์เศรษฐกิจในรอบนี้ ยิ่งมีปัจจัยต้นทุนสูงและหลายด้านก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนั้น ถ้าพิจารณาว่าเศรษฐกิจไทยเองอาจจะไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะโตเร็วมากอีกต่อไปแล้ว บริษัทที่เน้นกลยุทธ์ในเรื่องของการลดต้นทุนในทุก ๆ ด้านดังกล่าวก็น่าจะเป็นบริษัทที่มีผลงานทำกำไรที่ดีกว่าบริษัทที่เน้นแต่กลยุทธ์การเติบโตเพียงอย่างเดียวและดังนั้นก็น่าจะมี Value หรือคุณค่ามากขึ้น นั่นก็คือ มันควรมีค่า PE ที่สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน