Friday, August 28, 2015

คาถาของ..บัฟเฟตต์ “เงินสด..เงินสด..เงินสด”



วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในมหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่รวยที่สุดคนหนึ่งของโลก อาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นคนธรรมดาๆที่พลิกผันชีวิตของตนด้วยการลงทุนและการซื้อกิจการ จนกลายไปเป็นบุคคลที่มั่งคั่งติดอันดับโลก บัฟเฟตต์เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ “การถือเงินสด” เป็นอย่างยิ่ง โดยสังเกตได้จากปริมาณเงินสดที่บริษัทของบัฟเฟตต์ที่ชื่อ เบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ถืออยู่ซึ่งพบว่า งบดุลของเบิร์กไชร์เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีเงินสดอยู่ 40.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณของประเทศไทยทั้งประเทศ) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากทีเดียว แล้วทำไม? บัฟเฟตต์จึงต้องถือเงินสดมากมายถึงเพียงนี้ ผมพอมีคำตอบที่อยากจะเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านดังนี้ครับ



หนึ่ง เงินสด สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่..แย่มาก แต่อาจให้โอกาสการลงทุนที่..ดีมาก

ในเวลานี้อัตราผลตอบแทนของการฝากเงินในสถาบันการเงินของกลุ่มประเทศยูโรโซน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ต่างให้อัตราผลตอบแทนเกือบจะเป็นศูนย์ ดังนั้นการถือครองเงินสดโดยหวังว่าจะได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยนั้น ในระยะยาวคงจะให้ผลตอบแทนที่..แทบจะไม่ได้อะไรเลย

ในช่วงเหตุการณ์ล่มสลายของบริษัทเลห์แมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจชั้นนำของโลกเมื่อเดือนกันยายนปี 2551  บัฟเฟตต์ได้ออกมาพูดถึงกลยุทธ์การลงทุนของเขาว่า “การลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินสดอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่การถือเงินสดของนักลงทุนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็อาจสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพวกเขาโยกเงินสดกลับไปลงทุนในเวลาที่เหมาะสม” ประโยคดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บัฟเฟตต์พร้อมที่จะ “ใช้เงินสดทันที..เมื่อโอกาสมาถึง”


สอง เปลี่ยนจาก “การถือ..เงินสด” เป็น “กลยุทธ์การลงทุนด้วย..เงินสด”

ตามที่รู้กันว่า บัฟเฟตต์ไม่ได้ถือเงินสดเพราะว่า เขาต้องการผลตอบแทนจากดอกเบี้ย แต่บัฟเฟตต์ถือว่าการถือเงินสดเป็น..กลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่ง เขามักจะเฝ้ารอเวลาที่ “ตลาดหุ้นถล่ม” ด้วยความอดทนอย่างสูง จากนั้นจึงนำเงินสดที่บริษัทตนถือครอง เข้าไปกวาดซื้อของถูกๆ..ที่อยู่เต็มไปหมดทั่วตลาดหุ้น

อลิซ โชรเดอร์ (Alice Schroeder) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “The Snowball: Warren Buffett and the Business of Life.” ได้พูดถึงกลยุทธ์ดังกล่าวของบัฟเฟตต์ไว้ว่า “เขามองการถือเงินสดต่างจากนักลงทุนทั่วๆไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันได้เรียนรู้จากบัฟเตต์ก็คือ โอกาสของการถือเงินสด เขาจะมองว่า การถือเงินสดก็คือ อนุพันธ์ประเภทหนึ่ง ที่ไม่มีวันหมดอายุ และสามารถเปลี่ยนไปสินทรัพย์ได้ทุกชนิดได้อย่างรวดเร็ว”


สาม  ต้อง “ถือเงินสด” มากขนาดไหน?

หากดูงบดุลของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ย้อนหลังไปซัก 3 ปีคือปี 2552 2553 และ 2554 จะพบว่า เงินสดต่อการลงทุนระยะยาว มีอัตราส่วนดังนี้ 30.5:126.3,  38.2:177.4 และ  37.2:125.1 (หน่วยเป็นพันล้านดอลลาร์) สรุปง่ายๆก็คือ จำนวนเงินสดต่อการลงทุนระยะยาว จะมีค่าประมาณ 19-23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บัฟเฟตต์พร้อมที่จะนำ “เงินสด” ที่เตรียมไว้เข้าไปลงทุนอยู่ตลอดเวลา และเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจขึ้น เมื่อนั้นตลาดหุ้นและอีกหลายตลาดก็จะต้องพบกับมรสุมทางเศรษฐกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เวลานั้นก็จะเป็นโอกาสของบัฟเฟตต์ที่จะเข้าไปซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ดีๆเข้ามานั่นเอง

จากข้อมูลที่ได้จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาพบว่า บริษัทเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์ในสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ 2555 มีเงินสดรวมกันทั้งสิ้นสูงถึง 40.7 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 7.7 เปอร์เซ็นต์เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งแสดงว่าบัฟเฟตต์กำลังเก็บสะสมกระสุนเงินสดอีกครั้งหนึ่งแล้ว


สี่  เงินสดคือ สินทรัพย์ที่ “ปลอดภัยที่สุด”

ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 พบว่า นักลงทุนทั่วโลกพากันหนีตายออกจากตลาดหุ้น โดยการเปลี่ยนสินทรัพย์ของตนให้กลายไปเป็น “เงินสด” ทั้งๆที่พวกเขาก็รู้ว่าการถือเงินสดโดยการฝากไว้ในสถาบันการเงินจะให้ผลตอบแทนเกือบเท่ากับ “ศูนย์” นอกจากนั้นหากนำอัตราเงินเฟ้อเข้ามาคำนวณด้วยแล้ว ผลตอบแทนที่ได้ก็คงออกมา “ติดลบ” อย่างแน่นอน

นอกจากนั้นยังพบว่า บรรดากองทุนต่างๆที่ได้ขายหน่วยลงทุนออกมาอย่างมากมายก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่หน่วยลงทุนเหล่านี้มักจะมีราคาพาร์หรือราคาต้นทุนต่อหุ้นอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ และบรรดาผู้จัดการกองทุนก็มักจะภาคภูมิใจในหน่วยลงทุนของตนและออกมาพูดอวดว่า หุ้นของตนไม่มีทางที่ราคาจะต่ำกว่า 1 ดอลลาร์อย่างแน่นอน ในที่สุดหุ้นของกองทุนเหล่านี้ก็หลีกหนีชาตะกรรมไปไม่พ้น โดยพบว่าราคาหุ้นของกองทุนเหล่านี้ตกลงอย่างไม่มีหูรูดจนราคาลงไปต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อหุ้น เนื่องจากภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และการขาดทุนจากการที่เลห์แมนล้มละลาย ภายหลังพบว่า ระหว่างปี 2550-2554 มีกองทุนที่ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินสูงถึง 21 กองทุน เพราะหากไม่ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว ก็จะเกิดผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ และอาจเกิดวิกฤตสภาพคล่องแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้


“เงินสด” จึงมีความสำคัญต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก ทำให้นึกถึงคำพูดของแดนนี บอยล์ (Danny Boyle)  ผู้กำกับชาวอังกฤษซึ่งกำกับภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกเรื่อง “Slumdog Millionaire”

เขาได้พูดถึงเงินสดไว้ว่า “There’s lots of things that can be solved with cash.”  แปลตามความได้ว่า “มันมีปัญหาตั้งมากมาย ที่สามารถจะแก้ไขได้ด้วย..เงินสด” ดังนั้นเราจึงควรที่จะเก็บเงินสดไว้บ้าง เพราะ “เงินสด” สามารถแก้ไขปัญหาได้เกือบทุกปัญหานะครับ

Cr. ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์