Friday, August 7, 2015

Warrant=Worry / ดร.นิเวศน์

 
    ถ้าจะถามว่ามีหลักทรัพย์อะไรที่ผมไม่ชอบและไม่อยากเกี่ยวข้องหรือลงทุนถ้าไม่มีเหตุผลพิเศษจริง ๆ  แล้วละก็  มันก็คือ  Warrant หรือ “สิทธิที่จะซื้อหุ้นออกใหม่ของบริษัท”   โดยธรรมชาติแล้ว  หลักทรัพย์ที่มีการคิดค้นขึ้นมาและมีการนำออกมาใช้อย่างแพร่หลายในโลกทุกประเภทนั้น  มันก็จะต้องมีประโยชน์ต่อบริษัทหรือหน่วยธุรกิจที่ออกมัน  และก็แน่นอน  มันก็ต้องมีประโยชน์ต่อการดำรงอยู่หรือการเติบโตของธุรกิจและต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของวอแรนต์ที่มีการนำออกมาใช้กันมากมายในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมเห็นว่าจำนวนมากเป็นการออกมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ผิดจากที่ควรเป็นเพื่อผลประโยชน์ของคนบางคนหรือบางกลุ่มมากกว่าที่จะเป็นผลดีต่อตัวบริษัทหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ  ต่อมูลค่าของบริษัท  ซึ่งก็คือไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม  และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มันอาจจะเป็น  “ยาพิษ” ต่อนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในราคาสูงเพราะคิดว่าวอแรนต์เป็นสิ่งที่ดีและจะทำให้บริษัทเติบโตหรือมีคุณค่ามากขึ้น

  เหตุผลหลักของผมก็คือ  วอแรนต์นั้น  มีโอกาสที่จะถูกใช้สิทธิหรือแปลงเป็นหุ้นได้ในราคาที่กำหนดไว้ตายตัวซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดของหุ้นในอนาคต  บางทีต่ำกว่ามาก  และนี่จะทำให้“สัดส่วน” ของผู้ถือหุ้นเดิมลดลง  ยิ่งมีการออกวอแรนต์จำนวนมากและราคาแปลงสภาพหรือราคาใช้สิทธิต่ำ  ผู้ถือหุ้นเดิมก็จะถูก  “Dilute” หรือถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทมากเท่านั้น  และในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าเรามีบริษัทที่ออกวอแรนต์จำนวนมากเมื่อเทียบกับหุ้นทั้งหมดของบริษัทในราคาใช้สิทธิค่อนข้างต่ำ  ซึ่งนี่ก็จะทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านั้นมีความน่าสนใจลดลง  ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาวที่  ลงทุนในหุ้นที่เราคิดว่าจะมีกำไรต่อหุ้นโตขึ้นเรื่อย ๆ  ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า  แต่พอถึงเวลานั้นกลับมีหุ้นใหม่ที่ถูกใช้สิทธิจากวอแรนต์เข้ามาเพิ่มทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ผลก็คือ กำไรต่อหุ้นไม่โตและดังนั้นราคาหุ้นก็จะไม่ไปไหน  หุ้นแบบนี้เราจึงไม่ค่อยสนใจ  มันเหมือน  “ตาลยอดด้วน” คือต้นตาลที่ถูกตัดยอดเสียแล้ว  โอกาสที่จะโตไปมาก ๆ  ก็ไม่มี  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  หุ้นที่มีวอแรนต์ออกมานั้น  จะเป็นหุ้นที่ทำให้ผมกังวล  และหุ้นทุกตัวนั้น  ก่อนที่จะซื้อ  ผมจะต้องตรวจสอบดูว่ามันมีวอแรนต์ไหม

  เป็นที่น่าตกใจว่า  มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากออกวอแรนต์มากมายเหมือนกับไม่สนใจว่าในอนาคตบริษัทอาจจะมีหุ้นเพิ่มขึ้นมากและทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ดูคร่าว ๆ  วอแรนต์ในตลาดหุ้นหลักหรือ SET มีกว่า 100 หลักทรัพย์จากหุ้นทั้งหมด 500 กว่าบริษัท หรือประมาณ 20% แต่ในตลาดหุ้นขนาดเล็กหรือ MAI นั้น  เรามีวอแรนต์ถึงประมาณ 50 หลักทรัพย์จากหุ้นเพียงร้อยกว่าตัว  คิดแล้วเรามีวอแรนต์ถึงประมาณ 40% ของหุ้น  จริงอยู่ว่าบางบริษัทนั้นมีวอแรนต์หลายตัวที่ออกมาขาย  แต่ผมคิดว่าจำนวนบริษัทที่ออกวอแรนต์นั้นมีมากเกินไป  และเหตุผลที่บริษัทออกวอแรนต์นั้น  ผมคิดว่าเกิดจากแรงจูงใจที่จะ  “ขับดันราคาและ/หรือมูลค่าหุ้น” มากกว่าเหตุผลทางการเงินของบริษัท

  ประเด็นที่สองที่ผมคิดว่าน่ากังวลยิ่งกว่าก็คือเรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้นของเหล่านักวิเคราะห์หรือนักลงทุน  เท่าที่ผมเห็นนั้นดูเหมือนว่าคนจะไม่สนใจเรื่องของ Dilution ในอนาคต  ในทางบัญชีเองนั้น  ผมก็ไม่เห็นว่าปริมาณหุ้นที่จะมาจากวอแรนต์ในอนาคตจะถูกนำมาคิดในงบบัญชีปัจจุบัน  ดังนั้น  บริษัทที่ออกวอแรนต์มากมาย  คิดเป็นปริมาณหุ้นก็อาจจะหลาย ๆ  สิบเปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมดนั้น  จึงไม่ถูกกระทบอะไรเลยทั้ง ๆ ที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะ “มหาศาล”  กำไรต่อหุ้นอาจจะหายไปครึ่งหนึ่งก็ได้  นักบัญชีหรือนักวิเคราะห์อาจจะเถียงว่าวอแรนต์นั้นอาจจะไม่ถูกใช้สิทธิในอนาคต  ดังนั้น  ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาลงบัญชีในวันนี้  แต่ข้อถกเถียงของผมก็คือ  มันก็อาจจะถูกใช้สิทธิได้  ดังนั้น  ถ้าเราจะ “อนุรักษ์นิยม” ซึ่งก็เป็นหลักการของนักบัญชี  เราก็ควรจะ  “สำรอง”  ไว้ก่อนไหม  เหมือน ๆ  กับที่เราสำรองค่าเผื่อ “หนี้สูญ” หรือ “ทรัพย์สินเสื่อมค่า”  ทั้ง ๆ  ที่หนี้หรือทรัพย์สินนั้นอาจจะยังไม่เสียแต่มีโอกาสเกิดขึ้นพอสมควร   พูดง่าย ๆ  ข้อเสนอผมก็คือ  บริษัทไหนออกวอแรนต์ก็จะต้องคิดจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเลยเวลาคิดกำไรต่อหุ้น  หรือไม่ก็ต้องคิดเป็น  “ต้นทุน” ของการออกวอแรนต์เพื่อเอาไปหักจากรายได้หรือกำไรประจำปีของบริษัท  นี่ก็จะทำให้บริษัทต้องคิดก่อนว่าคุ้มไหมที่จะออกวอแรนต์แต่ละครั้ง

  ผมเองไม่ใช่นักบัญชีและก็ไม่แน่ใจว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นถูกต้องเป็นไปได้แค่ไหน  แต่ถ้ามองตาม Common Sense หรือสามัญสำนึกแล้ว  มันน่าจะเป็นอย่างนั้น   ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรายอมให้ออกวอแรนต์ได้อย่างไม่จำกัดและไม่มีผลอะไรต่อบัญชีในวันนี้  โดยผมสมมุติว่าบริษัท W นั้น  ตั้งขึ้นมาเพื่อ  “ขายวอแรนต์” โดยไม่ทำอย่างอื่น  สิ่งที่บริษัททำก็คือออกวอแรนต์ราคาใช้สิทธิต่ำมากขายแก่บุคคลทั่วไปที่เป็น  “ลูกค้า”   ราคาวอแรนต์ที่ขายหน่วยละ 1 บาท จำนวน 100 ล้านหุ้น บริษัทก็ได้เงินปีละ 100 ล้านบาท  ต้นทุนสินค้าก็มีแค่ของใช้และค่าเช่าสำนักงาน  ค่าแรงพนักงานขายและธุรการเล็กน้อย สิ้นปีบริษัทอาจจะทำกำไรได้ปีละ 90 ล้านบาท  ดังนั้นถ้าเราให้ค่า PE แค่ 20 เท่า เท่ากับ PE ตลาด  หุ้นก็มีมูลค่าถึง 1800 ล้านบาทเข้าไปแล้ว  กลายเป็นหุ้นที่คนอยากเล่นกันมากและก็น่าจะวิ่งขึ้นไปอีกเพราะว่าอีกซักระยะหนึ่งก็จะมีวอแรนต์ชุดสองตามมาในราคาใช้สิทธิที่น่าสนใจยิ่งกว่า “วอร์ 1” โดยที่  “วอร์ 2” เองนั้น  ก็“ไม่มีต้นทุน”  กำไรที่ได้ก็ “มโหฬาร”

  บางคนอาจจะเถียงว่าในชีวิตจริงใครจะทำ  การขายวอแรนต์แล้วเอามาเป็นรายได้ทำไม่ได้ในทางบัญชี  เรื่องนี้ถ้าเป็นปัญหาผมก็สามารถสมมุติเรื่องใหม่  แปลงเป็นว่าบริษัท G นั้นทำธุรกิจปกติขายสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการโฆษณามหาศาล  ต้นทุนโฆษณาปีละ 100 ล้านบาท แต่ผลประกอบการของบริษัทนั้นไม่มีกำไร  วันหนึ่งบริษัทก็คิด “ลดต้นทุน” โดยการออกวอแรนต์ให้กับบริษัทโฆษณาแทนการจ่ายเป็นเงินซึ่งบริษัทโฆษณาก็ยินดี  ดังนั้น  พอสิ้นปีบริษัท G ก็มีกำไร 100 ล้านบาท หุ้นก็วิ่ง  เช่นเดียวกับวอแรนต์ที่วิ่งขึ้นไปยิ่งกว่า และนั่นก็เป็นเหตุผลที่บริษัทโฆษณายินดีรับวอแรนต์แทนเงิน  ทุกฝ่ายต่างก็มีความสุข  รวมถึงคนที่เล่นหุ้น G ในตลาดหุ้นที่เห็นว่าบริษัทกำลัง  “Turnaround” หรือฟื้นตัวจากภาวะย่ำแย่

  เรื่องราวที่ผมสมมุติขึ้นมานี้  แม้ว่าจะยังไม่เห็นหรือไม่ชัดเจนว่ามีใครทำบ้าง  แต่ผมคิดว่าในตลาดหุ้นทุกวันนี้  วอแรนต์ถูกนำมาใช้ในวิธีการต่าง ๆ  เสมือนหนึ่งว่ามัน  “ไม่มีต้นทุน”  และมันสามารถขับดันราคาหรือมูลค่าหุ้นได้โดยเฉพาะในระยะเวลาอันสั้น  อย่างไรก็ตาม  “ความจริงที่แท้จริง” ของหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ  มูลค่าของบริษัทหรือหุ้นนั้น  จะต้องเกิดจากการกระทำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ  ไม่ใช่การพิมพ์ตัวอักษรและตัวเลขง่าย ๆ ไม่กี่ตัว  ดังนั้น  แม้ว่าในระยะสั้น ๆ  คนจะ “ถูกลวง” ว่าวอแรนต์นั้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้  แต่ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นในตลาดก็จะต้องกลับมาสู่มูลค่าที่แท้จริงตามตัวธุรกิจที่แท้จริง  ผลที่เราจะคาดได้ก็คือ  คนที่เข้าไปเล่นหุ้นที่มีการนำวอแรนต์มา “เล่น” และราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปหรือมูลค่าหุ้นรวมวอแรนต์ปรับตัวขึ้นไปมากเกินความเป็นจริง  ก็จะขาดทุนอย่างหนัก  ความเสียหายของคนเล่นวอแรนต์อาจจะเป็น  “หายนะ”

  สิ่งที่เราในฐานะ VI จะทำได้นั้นก็คงเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ  คือเรา “เฉย” เสียกับหุ้นที่มีวอแรนต์พ่วงเต็มไปหมด  ไม่ต้องพูดว่าเราจะเล่นตัววอแรนต์เองเลย    แต่ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นมานาน  ผมก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง  ระบบการรายงานทางบัญชีของเราจะสามารถสะท้อนเรื่องของการออกวอแรนต์ของบริษัทจดทะเบียนอย่างที่มันควรจะเป็น   และเช่นเดียวกัน  ผมก็หวังด้วยว่าวันหนึ่งหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของเราจะออกกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมไม่ให้คนใช้วอแรนต์ในทางที่จะฉกฉวยประโยชน์จากสังคมของการลงทุนโดยรวม  สำหรับผมแล้ว Warrant = Worry