Tuesday, December 29, 2015

ความเจ็บปวดและบทเรียนของบัฟเฟตต์ / โดยดร.นิเวศน์


ประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับวอเร็นบัฟเฟตต์ที่คนส่วนใหญ่ได้รับรู้นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องของความสำเร็จ  จรรยาบรรณทางธุรกิจ  และก็การใช้ชีวิตส่วนตัวที่ดีงาม  อุปสรรคในชีวิตของเขาเองก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่น้อยแต่ก็เป็นเรื่องของการต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  ถ้าจะพูดว่าเขานั้นเป็น  “เทพ” ที่ไม่เคย “ด่างพร้อย” ในทุกเรื่องสำหรับคนจำนวนมากก็คงจะไม่ผิด  อย่างไรก็ตาม  คนที่ “ผ่านร้อนผ่านหนาว” มาถึง 85 ปีใน “สมรภูมิ” ที่มีการ “สู้รบ” ที่รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งนั่นคือตลาดหุ้นและโลกของธุรกิจนั้น  มันก็ “เป็นไปไม่ได้” ที่เขาจะไม่เคย  “เจ็บตัว” หรือ  “ทำผิด” อย่างหนักจนเขาเองต้องจดจำเป็นบทเรียนเพื่อที่จะไม่ให้มันเกิดซ้ำ  เพราะเขารู้ว่าถ้ามันเกิดขึ้นอีก  เขาอาจจะ “ตาย” หรือ  “ปางตาย” ได้  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าจะเป็น  “ความเจ็บปวด” ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบัฟเฟตต์และหลายเรื่องน่าจะเป็น “บทเรียน” ที่เขาคงจำขึ้นใจ

เรื่องแรกก็คือการซื้อหุ้นครั้งแรกของเขาเมื่ออายุ 11 ขวบ ในหุ้น Cities Service ร่วมกับพี่สาวในราคาหุ้นละ 38 เหรียญเพราะเขาเห็นว่ามันถูกและมั่นใจว่าจะทำกำไรได้งดงาม   หลังจากซื้อแล้วราคาหุ้นกลับไหลลงไปถึงเกือบ 1 ใน 3 ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์  ในระหว่างนั้นพี่สาวเขาก็เฝ้าถามและ “กดดัน”เขามากแต่เขาก็ไม่ขายจนกระทั่งหุ้นปรับตัวกลับขึ้นมาเป็น 40 เหรียญซึ่งเขาก็ตัดสินใจขายไปทำกำไรได้ 2 เหรียญ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น  หุ้น Cities ก็ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 200 เหรียญ “บทเรียน” เรื่องนี้คงสอนให้บัฟเฟตต์กลายเป็นนักลงทุนระยะ “ยาวมาก” และไม่ขายหุ้นที่ดีมากไปเพียงเพราะกำไรที่ได้เพียงเล็กน้อย

เรื่องที่สองเกิดขึ้นเมื่อเขาอายุ 21 ปีและเป็น “เจ้าของ” ปั๊มน้ำมันชื่อ Sinclair ที่เขาซื้อมาร่วมกับเพื่อนคนหนึ่ง  เขา “ทุ่มเท” ให้กับกิจการนี้มาก  ว่ากันว่าในช่วงวันหยุดเขาถึงกับมาเช็ดกระจกรถให้ลูกค้าที่มาเติมน้ำมัน  แต่แล้วปั๊มนี้ก็  “เจ๊ง”  เพราะปั๊มน้ำมันยักษ์ใหญ่ Texaco มาเปิดฝั่งตรงข้าม  เขาขาดทุนไป 2,000 เหรียญ จากเงินทั้งหมด 9,600 เหรียญที่เขามีอยู่ในเวลานั้นซึ่งคิดแล้วเป็นการ “ขาดทุนหนักที่สุด” คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของการลงทุนของเขา  บทเรียนเรื่องนี้คงสอนให้บัฟเฟตต์เลิกคิดบริหารกิจการเองแบบผู้ประกอบการและเน้นการลงทุนเป็นหลักซึ่ง  “เปลี่ยนชีวิตเขา” อย่างสิ้นเชิง

เรื่องที่สามที่ทำให้เขาเจ็บปวดก็คือการเกิดเรื่อง “ฉาวโฉ่” ในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเงิน Salomon Brothers  เรื่องของเรื่องก็คือ ในปี 1987 ซึ่งเกิดวิกฤติการเงิน  บัฟเฟตต์ได้เข้าไปลงทุนซื้อพันธบัตร “ขยะ” ของบริษัทเป็นเงิน 700 ล้านเหรียญ  แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ประกาศตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมากซึ่งทำให้พันธบัตรที่บัฟเฟตต์ถืออยู่ราคาตกและเขาขาดทุนไปถึง 1 ใน 3  แต่ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ  ในปี 1991 ซาโลมอนบราเดอร์ก็ถูกจับได้ว่าทำผิดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเทรดพันธบัตรกับภาครัฐและทำให้บริษัทตกอยู่ในภาวะเกือบล้มละลายเพราะบริษัทมีหนี้ถึง 37 เท่าของเงินทุน  สุดท้ายบัฟเฟตต์ต้องเข้าไป “กู้” โดยเข้าไปรับหน้าที่เป็นประธานของบริษัท  เขาต้องเข้าไปนั่งทำงานประจำซึ่งเขาบอกว่ามัน  “ไม่สนุกเลย” แต่บริษัทก็รอดมาได้และเงินลงทุนของเขาก็ได้กำไรกลับมางดงาม  แต่วันที่เขาลาออกจากตำแหน่งเป็นวันที่เหมือน “ยกภูเขาออกจากอก”

เรื่องที่เขา “เจ็บ” ต่อมาน่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนในหุ้นเทสโก้  บริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดของอังกฤษและอันดับ 3 ของโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้  บัฟเฟตต์น่าจะซื้อหุ้นเทสโก้ตั้งแต่ปี 2012 และกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในพอร์ทของเขา  ต่อมาเขาก็เริ่มได้ “กลิ่น” ไม่ดีในบริษัทและทยอยขายหุ้นได้กำไรมาบ้างแต่เขาไม่ได้รีบขายเร็วพอ  จนในที่สุดผลประกอบการของบริษัทก็เริ่มแย่ลงและมีการประกาศว่าบริษัทถูกจับได้โดย กลต. ของอังกฤษ ว่ารายงานกำไรผิดจากความเป็นจริง หุ้นของบริษัทตกลงมาอย่างหนัก  เหตุผลใหญ่นอกจากเรื่อง “ฉาวโฉ่”  แล้วก็คือ  ความสามารถในการแข่งขันและทำกำไรของกิจการแย่ลงไปมากเทียบกับคู่แข่ง  บัฟเฟตต์ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในปี 2014 และขาดทุนไป 444 ล้านเหรียญ  นับเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเบิร์กไชร์  และน่าจะเป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีวันลืมของบัฟเฟตต์

เรื่องที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องที่ “คนอื่น” ทำเสียหายและเขา “เจ็บ”  แต่เรื่องที่ 5 นี้เป็นเรื่องที่เขาเองน่าจะ  “เจ็บปวด”  ไม่น้อยเพราะเป็นสิ่งที่เกิดกับบัฟเฟตต์เองในสมัยที่เขาเริ่ม “ดัง” แต่ยังไม่มาก  นั่นเป็นปี 1974-1976 ขณะที่บัฟเฟตต์อายุได้ 44-45 ปี  ที่เขาถูกกลต. สหรัฐจับฐาน  “ปั่นหุ้น”  เรื่องของเรื่องก็คือ  บัฟเฟตต์กำลังเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทเล็ก ๆ  แห่งหนึ่งและเขาสัญญากับผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทว่าราคาหุ้นจะไม่ต่ำกว่าราคาหนึ่งที่กำหนด   ดังนั้น  เขาก็เลย “ทำให้มั่นใจ” ว่าราคาหุ้น “ต่ำบาท” ตัวนี้จะไม่ตกลงมาต่ำกว่าราคาที่ตกลงไว้  เขาทำอย่างไรนั้น  คนนอกคงไม่รู้  และเรื่องราวรายละเอียดที่พูดนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  ความเข้าใจของผมก็คือ  บัฟเฟตต์ไม่ได้รับหรือปฎิเสธข้อหา  แต่ยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 115,000 เหรียญ ให้กลต. และเรื่องราวการ “ปั่นหุ้น” ก็จบลง  ผมเองคิดว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบันที่ “กระแส”  สังคมผ่านระบบสื่ออินเตอร์เน็ตมาแรงมาก  เรื่องนี้อาจจะ “ดูไม่จืด”กรณี “ปั่นหุ้น” นั้น  ผมคิดว่าบัฟเฟตต์คง “กังวลมาก” และมันคงเป็น “บทเรียน” สำคัญที่ทำให้เขาพูดอยู่เสมอเรื่องธรรมาภิบาล  คำพูดของเขาที่ว่า  “มันใช้เวลา 20 ปีที่จะสร้างชื่อเสียง  แต่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีที่จะทำลายมัน”  ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกรณีนี้ด้วย

เรื่องที่ 6 นั้น  ผมยกให้กับเรื่อง “ส่วนตัว”  ที่น่าจะทำให้บัฟเฟตต์ “เจ็บ” เรื่องแรกก็คือ  การที่เขาถูกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปฎิเสธรับเข้าไปเรียนในระดับปริญญาโท  ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์สมัครเข้าเรียนที่โคลัมเบียที่เบน เกรแฮม สอนอยู่แทน  ผมเองไม่รู้ว่าถ้าฮาร์วาร์ดรับ  บัฟเฟตต์จะเข้าไปเรียนไหม  และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราจะรู้จักวอเร็น บัฟเฟตต์ ในวันนี้ไหม  แต่เชื่อว่าเขาก็คงจะ “เจ็บ” บ้างที่ถูกปฎิเสธ

เรื่องที่ 7 น่าจะเป็นเรื่องที่เขาถูกปฎิเสธอีกเช่นกันจาก เบน เกรแฮม เมื่อบัฟเฟตต์ขอทำงานกับเขาหลังจากเรียนจบโดย  “ไม่คิดเงิน”  ด้วยซ้ำเนื่องจากบัฟเฟตต์อยากที่จะเรียนรู้การลงทุนด้วยการทำงานกับอาจารย์  การที่เบน เกรแฮมปฎิเสธเป็นเพราะเขาต้องการรับคนยิวที่ถูก “กีดกัน” ในสมัยนั้น  อย่างไรก็ตาม  บัฟเฟตต์เองก็พยายาม “ตื๊อ” ขอทำงาน  โดยการติดต่อพูดคุยเรื่องหุ้นและการลงทุนกับเกรแฮมในระหว่างที่กลับไปทำงานกับบริษัทโบรกเกอร์ของพ่อที่โอมาฮา  ซึ่งทำให้ในที่สุดหลังจาก 1-2 ปี  บัฟเฟตต์ก็ได้มีโอกาสทำงานกับเกรแฮมจนเกรแฮมเกษียณ

เรื่องสุดท้ายที่น่าจะเป็นเรื่องที่ “เจ็บที่สุดในชีวิตส่วนตัว” ของบัฟเฟตต์ก็คือ  การที่เขา “แยกทาง”กับภรรยาซูซานหลังจากอยู่กันมา 26 ปี  แต่เอาเข้าจริง ๆ  แล้ว  ทั้งคู่ก็ไม่ได้หย่ากันตามกฎหมาย  ตรงกันข้าม  ซูซานเองกลับแนะนำผู้หญิงใหม่คือ Astrid Menks ให้เป็น “คนดูแล”  บัฟเฟตต์  และทั้งคู่ก็ยังออกงานสำคัญ ๆ  ด้วยกันเหมือนสามีภรรยา เวลาส่งการ์ดในวันเทศกาลสำคัญก็เซ็นต์ชื่อร่วมกันทั้งสามคน  ถ้าคนไม่ชอบก็อาจจะเรียกได้ว่า “สามคนผัวเมีย”  และเมื่อซูซานเสียชีวิต  บัฟเฟตต์ก็จดทะเบียนแต่งงานกับแอสทริดจนถึงทุกวันนี้  และนี่ก็คือพฤติกรรมที่  “ไม่ธรรมดา” ของบัฟเฟตต์ ที่หลายคนอาจจะไม่รู้

Thursday, December 24, 2015

แชมป์ตลาดหุ้น / โดย คนขายของ

   
    คุณคิดว่าดัชนีตลาดหุ้นประเทศไหนที่ดัชนีตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา?  ถ้าหาก เราตัดประเทศที่เงินเฟ้อสูงมากๆอย่างเวเนซูเอล่า ที่ดัชนีขึ้นมา 275% แต่เงินเฟ้อราว 800% และ ประเทศที่ตลาดหุ้นยังมีขนาดเล็กมากๆ บางประเทศออกไป เราจะประหลาดใจมากว่าประเทศ ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมากที่สุดนั้นไม่ใช่ประเทศที่เป็นข่าวบ่อยๆ เช่น อเมริกา, จีน หรือ ญี่ปุ่น และก็ไม่ใช่ประเทศในตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย หรือ เวียดนาม แต่เป็นประเทศเดนมาร์ก ประเทศที่มีประชากรเพียง 5 ล้านคน ปีนี้ดัชนี OMX Copenhagen 20 Index ขึ้นมา 34% ในขณะที่ประเทศขนาดใหญ่ในยุโรปอย่างเยอรมันนีดัชนีขึ้นมา 9.5% และ อังกฤษดัชนีติดลบ 7% จริงๆ แล้วตลาดหุ้นเดนมาร์กร้อนแรงมาตลอด ขึ้นจากจุดต่ำสุดตอนวิกฤตปี 2008 ถึง 4 เท่า เรียกว่าขึ้นมาพอๆ กันกับตลาดหุ้นไทย และเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบ 10 ปี จาก 24 ประเทศพัฒนาแล้วที่รวบ รวมโดย Bloomberg

ประเทศเดนมาร์ก หรือที่คนไทยรู้จักฉายาในนาม “แดนโคนม” แท้ที่จริงแล้ว GDP ของเดนมาร์ก มาจากภาคการเกษตรเพียงแค่ 1.5% ตัวเลข GDP Growth ของเดนมาร์กในช่วงห้าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ราวๆ 0.5% ต่อปี แต่ทำไมดัชนีหุ้นถึงปรับตัวได้สูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาก ต่างจากประเทศเกิดใหม่บางประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก แต่ดัชนีตลาดหุ้นไม่ ไปไหน? ผมลองศึกษากิจการที่ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี OMX แล้วพบว่า เดนมาร์กมีบริษัท ชั้นนำของโลก อยู่พอสมควร แต่นั่นยังไม่มีน้ำหนักพอที่สนับสนุนความร้อนแรงของตลาดหุ้นเดนมาร์ก เมื่อเจาะลึก ลงไปอีกผมพบว่า 30% ของบริษัทในดัชนี OMX เป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมยาและ เทคโนโลยีชีวภาพ ประเด็นนี้น่าจะมีน้ำหนักพอที่ผลักดันดัชนี OMX ให้สูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

  บริษัท Novo Nordisk เป็นบริษัทเวชภัณฑ์ยักษใหญ่ของเดนมาร์ก มีมูลค่ากิจการสูงถึง 4 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าบริษัท ปตท. ของไทยถึง 6 เท่า เป็นบริษัทยาที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน มีฐานการผลิตอยู่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน และ บราซิล บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 83% และ มีกำไรสุทธิราวๆ 30% กำไรต่อหุ้นย้อนหลัง 5 ปีเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี และมี ROE สูงมากที่ 64% ในปี 2015 ราคาหุ้นของบริษัทขึ้นมาถึง 50% ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ผลักดันให้ OMX มีผลงานที่โดเด่นกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในยุโรป    

  เมื่อมาศึกษาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสุงสุด 10 บริษัทในตลาด NYSE และ NASDAQ ในปี 2015 พบว่าจาก 10 บริษัทที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด มีถึง 6 บริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น หุ้นของ Eagle Pharmaceuticals เป็นบริษัทยาที่เน้นยาฉีดเป็นพิเศษ อยู่ในตลาด NASDAQ ตอนนี้มีมูลค่ากิจการ ราวๆ 56,000 ล้านบาท ราคาขึ้นมาจากตอนต้นปี 5 เท่า อีกบริษัทหนึ่ง Nymox Pharmaceutical เป็นบริษัทที่เน้นการคิดค้นยารักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นบริษัทที่เล็กมากๆ ในตลาด NASDAQ แต่ราคาหุ้นร้อนแรงมาก ขึ้นมาถึง 8.5 เท่าในปีนี้

  Moody’s Investor Service ได้ออกรายงานในปีที่แล้วประมาณว่า ณ ปัจจุบันมีเพียง 3 ประเทศ เท่านั้น คือ เยอรมัน, ญี่ปุ่น และ อิตาลี ที่มีผู้ที่อายุเกิน 65 ปีมากกว่า 20% ของประชากรในประเทศ   แต่ตัวเลขนี้กำลังเพิ่มขึ้น โดยภายในปี 2020 จะมี 13 ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และ ภายในปี 2030 จะมีถึง 34 ประเทศ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าตลาดถึงให้มูลค่าของบริษัทใน อุตสาหกรรมยา และ เทคโนโลยีชีวภาพในระดับที่สูงมาก

  ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนก็ได้เห็นแนวโน้มแบบเดียวกันนี้ในประเทศไทย โดยหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล ของไทยได้มีการปรับตัวขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ PE ของกลุ่มโรงพยาบาล ในเมืองไทยตอนนี้ มีเกินครึ่งที่ PE มากกว่า 30 เท่า เงินปันผลได้ราวๆ 1% นิดๆ ด้วยมูลค่าที่สูง ขนาดนี้ ผมคิดว่านักลงทุนไทยถ้าสนใจลงทุนในกลุ่มนี้จริงจัง ลองพิจารณาหุ้นระดับโลกหลายๆตัวใน กลุ่มนี้ดู เราอาจจะได้เจอบริษัทที่แข็งแกร่งกว่าในด้านคุณภาพ และยังถูกกว่าในด้านราคาก็เป็นได้

Monday, December 21, 2015

Wind Of Change /โดย ดร.นิเวศน์


สำหรับนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนรายย่อยแล้ว  ตลาดหุ้นในปี 2558 น่าจะเป็นปีที่ “เลวร้าย” อีกปีหนึ่งหลังจากภาวะตลาด “วิกฤติ” ในปี 2551 ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ซับไพร์มในอเมริกาที่ตลาดหุ้นตกลงไปเกือบ 50% แต่หลังจากนั้น  หุ้นไทยก็ปรับตัวดีขึ้นมามาก  ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นจากประมาณ 450 จุดเมื่อสิ้นปี 2551 เป็นประมาณ 1500 จุดเมื่อสิ้นปี 2557 หรือปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.32 เท่าในเวลา 6 ปี คิดเป็นการเติบโตขึ้นถึงปีละประมาณ 22.19% ต่อปีแบบทบต้น  แต่ถ้ารวมปันผลด้วยปีละประมาณ 3% ก็เท่ากับว่านักลงทุนที่ลงทุนหลังวิกฤติตลาดหุ้นในปี 2551 ได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 25% โดยเฉลี่ยแบบทบต้น  ทำให้เป็น “ยุคทอง” ของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย  ที่เหนือไปกว่านั้นอีกก็คือ  นักลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นตัวเล็กซึ่งรวมถึง “VI” จำนวนมากนั้น  สามารถทำกำไรดีกว่านั้นมาก  และทำให้เกิด  “เศรษฐีตลาดหุ้น”  จำนวนไม่น้อย

จริงอยู่  ในเวลา 6 ปีนั้น ก็มีช่วงที่ตลาดหุ้นตกลงมาแรงเป็นระยะแต่ตลาดก็ปรับตัวกลับขึ้นไปอย่างรวดเร็ว   แต่ถ้ามองเป็นรายปีก็จะเห็นว่ามีเพียง 2 ปีที่ตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาคือในปี 2254 ที่ตลาดปิดลบลงเพียง 0.7% และปี 2556 ที่ตลาดตกลงมาประมาณ 6-7% ซึ่งถือว่าน้อยมากจนนักลงทุนแทบไม่รู้สึกเนื่องจากปีก่อนหน้านั้นตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปมากกว่า 30-40%  ดังนั้น  หุ้นและตลาดหุ้นจึงกลายเป็นสถานที่  “ยอดนิยม” และเป็นความหวังและความฝันของคนจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นใหม่และคนที่ทันสมัยและมีฐานะการเงินที่ดี  เป็นคน  “ชั้นสูง” ของสังคม  แต่ดูเหมือนว่าความคิดและความเชื่อนั้นอาจจะกำลัง “สั่นคลอน”  เริ่มตั้งแต่ไตรมาศสองของปีนี้ที่ตลาดหุ้นเริ่มตกลงมา “อย่างต่อเนื่อง”  จนล่าสุด  ดัชนีตลาดลดลงเหลือประมาณ 1285 จุดในวันที่ 18 ธันวาคม 2258 เป็นการลดลงประมาณ 200 จุดหรือ 14.2%  และคนที่เจ็บหนักที่สุดก็คือนักลงทุนรายย่อยที่น่าจะขาดทุนมากกว่านั้นเนื่องจากหุ้นตัวเล็ก “ยอดนิยม” จำนวนมากน่าจะมีราคาลดลงมากกว่านั้น

ประเด็นที่น่าวิตกมากว่าการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นก็คือ  อนาคตของตัวหุ้นและตลาดหลักทรัพย์  เพราะถ้าสถานการณ์และภาวการณ์ต่าง ๆ  ยัง “เหมือนเดิม” เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว  การปรับตัวลงของราคาก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องที่ “ปกติ” และในไม่ช้าราคาและดัชนีหุ้นก็จะปรับตัวกลับขึ้นไป  ตลาดหุ้นไทยก็จะกลับมาคึกคักและเป็นที่นิยมเหมือนเดิมในเวลาอันสั้น  แต่ถ้าไม่ใช่  และหุ้นและตลาดหุ้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปมากทางด้านของ “พื้นฐาน” ของกิจการและตลาด  เราก็จะต้องเตรียมการรับมือกับมันเพื่อที่จะสามารถเอาตัวรอดได้

แน่นอนว่าไม่มีใครรู้อนาคตจริง ๆ  ผมเองก็ได้แต่ “คาดเดา” จากประสบการณ์และประวัติศาสตร์เท่าที่จะทำได้  แต่ปี 2558 นั้น  ผมคิดว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นซึ่งมีโอกาสที่จะเปลี่ยน “โครงสร้าง” ของการแข่งขันและหุ้นของหลายอุตสาหกรรมอย่าง  “สิ้นเชิง”  ได้  การเปลี่ยนแปลงที่ผมเริ่มคิดและเชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นนั้นจะเป็นเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและไม่หวนกลับ  ถ้าจะนึกถึงคำที่ใช้นั้นผมก็อยากจะเรียกมันว่า  “Wind Of Change” ตามเพลงดังของวง The Scorpions ในปี 1989 ที่พรรณนาถึงสถานการณ์ทั่วไปในยุโรปตะวันออกที่กำลังเกิดการ “ล่มสลาย” ของกลุ่มรัฐโซเวียตรัสเซีย ที่ยุติสงครามเย็นและเริ่ม “ศักราชใหม่” ของกลุ่มประเทศยุโรป

Wind Of Change ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจทีวีดิจิตอลที่เปลี่ยนแผนภูมิการแข่งขันของธุรกิจทีวี “อย่างสิ้นเชิง” และผลของมันก็เริ่มเห็นแล้วเพียงแต่ยังไม่สิ้นสุดและผลสุดท้ายจะลงตัวที่จุดไหนยังไม่สามารถบอกได้   แต่เนื่องจากหุ้นกลุ่มบันเทิงเองนั้นเป็นหุ้นกลุ่มเล็กที่มีผลกับตลาดหุ้นน้อย  ดังนั้น  ผลกระทบต่อนักลงทุนและตลาดหุ้นก็มีน้อยมาก

หุ้นกลุ่มใหญ่กลุ่มแรกที่เกิด Wind Of Change อย่างที่ไม่ใคร่มีใครคาดคิดมาก่อนก็คือหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน  ก่อนหน้านี้คนหรือนักลงทุนมีความคิดและเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่า  กิจการที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันป้อนคนไทยทั้งประเทศนั้นจะต้องเป็นหุ้นที่มั่นคงและยิ่งใหญ่  “ตลอดกาล”  ราคาหรือ Market Cap. ของหุ้นนั้นจะต้องใหญ่โต “สมศักดิ์ศรี”  แม้ว่าในบางครั้งอาจจะตกลงมาบ้างเนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมัน  แต่มันก็จะลงมาระดับหนึ่งไม่มากมายนักและในเวลาต่อมาก็จะปรับตัวกลับขึ้นไปเสมอเมื่อภาวะตลาดน้ำมันดีขึ้น   แต่ถึงวันนี้  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  ราคาน้ำมันตกลงไปมากเกินกว่าที่จะเป็นไปได้จากความผันผวนธรรมดา  มันไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงธรรมดา  มันคล้าย ๆ  กับว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันจะกลับมาแพงขึ้นเหมือนเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้เนื่องจาก  “โครงสร้าง” ของการใช้พลังงานและการจัดหาพลังงานของโลกนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหมือน “กระแสลม”  ที่โหมกระหน่ำพัดพาสิ่งเก่า ๆ  ออกไปและมีสิ่งใหม่มาแทนที่  นาทีนี้เราอาจจะยังไม่รู้ชัดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร  แต่เรารู้และรู้สึกว่าธุรกิจน้ำมันอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  เช่นเดียวกับหุ้นของกิจการน้ำมันที่ลดลงมาหลายเท่าและอาจจะไม่กลับไปที่เดิมอีกเลย  ดังนั้น  คนที่คิดจะเล่นหุ้นน้ำมันอาจจะต้อง “ลบความจำ” เดิมที่มีอยู่เกี่ยวกับหุ้นน้ำมันทิ้ง  อย่าไปนึกถึงหรือวิเคราะห์ภาพเก่า ๆ  ที่เราคุ้นเคย

หุ้นกลุ่มใหญ่มากอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมกำลังเป็นห่วงว่ามันอาจจะเกิด  Wind Of Change อีกเช่นกันก็คือ  หุ้นบริษัทมือถือ  นี่คือธุรกิจที่อาจจะกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงโดยที่คนอาจจะยังไม่ตระหนัก  เรายังนึกถึงภาพเก่า ๆ  ของธุรกิจที่มียอดขายเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  และมีกำไรต่อยอดขายและกำไรต่อส่วนของการลงทุนและผู้ถือหุ้นสูงลิ่วเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันจำกัด  แต่นั่นอาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการเข้ามาของบริษัทใหม่และบริษัทเก่าที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยกว่าแต่กำลังมีศักยภาพสูงขึ้นมาก  ผลจากการนั้นอาจจะทำให้  “โครงสร้าง” การแข่งขันของอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงและนั่นอาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของรายได้และการทำกำไรของแต่ละบริษัทที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  เราอาจจะไม่ต้องลบความจำเดิมทั้งหมด  แต่การวิเคราะห์หุ้นกลุ่มสื่อสารมือถือและทางอินเตอร์เน็ตใหม่  โดยการหารูปแบบใหม่ที่เหมาะสมโดยเฉพาะจากต่างประเทศมาเป็นฐานใหม่ของการวิเคราะห์หุ้นในกลุ่มนี้

ผมเองยังไม่แน่ใจว่าจะมีหุ้นกลุ่มไหนที่กำลังอยู่ในโหมด Wind Of Change หรือไม่  แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงหรือคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็คือ  กระแสการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยเราเอง  สถานการณ์หลาย ๆ  เรื่องในด้านของ  “ภาพใหญ่” ของประเทศนั้น  ดูคล้าย ๆ  กับว่าอาจจะไม่ใคร่เหมือนเดิมอย่างที่เราคุ้นเคย  ในด้านอื่นนั้นผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ  แต่ในด้านที่เกี่ยวข้องกับหุ้นและตลาดหุ้นนั้น  ผมต้องศึกษาและวิเคราะห์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านของเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับหุ้นและตลาดหุ้น  ในภาพใหญ่นั้น  ความรู้สึกของผมก็คือ  เรากำลัง  “แก่ตัวลง”  อย่างรวดเร็ว  พละกำลังและความมุ่งมั่นของเราถดถอยลงอย่างรวดเร็ว  ดูเหมือนว่าเรากำลัง  “จมอยู่กับอดีต”  มากกว่าการมองไปที่อนาคตเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน  สินค้าและการผลิตของเรานั้นเป็นสิ่งเก่ามากกว่าสิ่งใหม่  คนจำนวนมากคิดว่าเราอยากจะเป็นแบบ  “ไทย ๆ”  และไม่อยากที่จะเหมือนคนอื่น  เรา “ไม่แคร์” ที่จะต้องก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับของคนอื่นในโลก  ซึ่งนี่ก็คือสัญญาณของความแก่อีกอย่างหนึ่ง  เช่นเดียวกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา 4-5 ปีที่ถดถอยลงมาก  ซึ่งทำให้มันไม่ใช่ความผันผวน  แต่อาจจะเป็น  Wind Of Change ที่ได้ก่อตัวมาระยะหนึ่งแล้ว

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  เมื่อมาคิดอีกทีก็รู้สึกว่าผมอาจจะใช้คำที่ไม่ใคร่ตรงกับต้นกำเนิดของชื่อเพลงที่มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น  เพลง Wind Of Change นั้นสร้างจิตวิญญาณและความรู้สึกแห่งความหวังของชาวยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมันมากในช่วงนั้น  แต่เรื่องที่ผมพูดนั้น  ถ้ามองในแง่ของนักลงทุนแล้วอาจจะกลายเป็นเรื่องที่หดหู่  อย่างไรก็ตาม  มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกับคนทั่วไปและประเทศที่เราจะได้สินค้าและบริการที่ดีและถูกลง  ในเรื่องของประเทศไทยเองนั้น  ผมก็ยังหวังว่า  เมื่อถึงจุดแห่งการเปลี่ยนแปลง  เราจะพลิกมันให้เป็นโอกาสที่จะทำให้เราก้าวหน้าขึ้นได้  ถึงจุดนี้ผมก็เลยต้องกลับมาที่คำสอนที่ผมเคยได้รับรู้มาตลอดที่ว่า  “อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง”  เพราะนั่นคืออาการของคนแก่  มันอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เรากลัว มันอาจจะ “พลิก” ดีขึ้นก็ได้

ลงทุนปี 2559 / โดยวีระพงษ์ ธัม



ปีนี้เป็นปีที่หุ้นหลายกลุ่มและนักลงทุนต่างลำบากกันถ้วนหน้า นักลงทุนที่ถือหุ้นประเภทบลูชิพอย่างธนาคารก็มีผลขาดทุนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ หุ้นสื่อสารที่ปกติเป็นพระเอก “หุ้นปันผล” ก็ทำให้นักลงทุนที่หวังเงินปันผลยามเกษียณเจ็บตัวกันมากมาย หุ้นพลังงานน้ำมันมีราคาปรับตัวลดลงจนไม่รู้ว่าราคาต่ำสุดจะไปอยู่ที่ไหน หุ้นอสังหาก็ประสบปัญหาชะลอตัวอย่างรวดเร็วตามกำลังซื้อจากตลาดล่างและลามขึ้นมาตลาดบน หุ้นส่งออกก็ประสบปัญหาการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นที่หนักเป็นพิเศษคือหุ้นประเภท “หุ้นซิ่ง” “หุ้น Turn Around” ก็ทำให้ความฝันรวยเร็วจบลงพร้อม ๆ การขาดทุนหนัก ที่กำไรสิบครั้งยังไม่พอการขาดทุนเพียงครั้งเดียว คำถามทุกปลายปีคือเราจะปรับกลยุทธ์อย่างไรในปีหน้า สำหรับปีนี้ผมอยากจะเล่าเป็นเรื่องเปรียบเทียบจากนิยายปรกรณัมกรีก

            เมื่อสองพันปีที่แล้ว ฮีเซียด นักกวีชาวกรีก ยุคเดียวกับที่เกิดมหากาพย์เรื่องอีเลียดและโอดิสซีย์ ได้เขียน Ages of Men เปรียบเปรยโลก ว่าถูกแบ่งออกเป็นห้ายุคหลัก ๆ โดยยุคแรกคือ “ยุคทอง” เป็นยุคที่เทพโครโนส (Cronos) ยังดูแลสวรรค์อยู่ ยุคนี้เป็นยุคที่มีพืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์ มีฤดูใบไม้ผลิที่ “ยืนยาว” ไม่สิ้นสุด มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ต้องทำงาน ไม่มีสงคราม ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล มนุษย์จึงขาดการเตรียมพร้อม

            หลังจากยุคทองสิ้นสุดลง ยุคเงิน และยุคทองแดงจึงเริ่มต้นขึ้น เป็นสมัยที่เทพซุส (Zeus) เข้ามาปกครองสวรรค์แทนที่โครโนส ซุสลดฤดูใบไม้ผลิให้สั้นลงและทำให้โลกมี 4 ฤดู มนุษย์ต้องรู้จักสร้างบ้านเพื่อป้องกันลมหนาว ทำการเพาะปลูกเพื่อเก็บไว้กินในช่วงที่ขาดแคลน มนุษย์เริ่มรู้จักคำว่า “กลัว” และมองโลกเป็นจริงมากขึ้น ทุกครั้งที่โลกมีความขาดแคลน มีความขัดแย้ง โลกจะเริ่มสับสนวุ่นวาย มีผู้คนอดอยาก เกิดสงคราม ต่อเนื่องไปถึงยุคที่เลวร้ายที่สุดคือยุคเหล็ก ซึ่งความศรัทธา ความเชื่อ ถูกความกังวลและความกลัวบดบังทั้งหมด เป็นยุคที่มนุษย์ไม่เหลืออะไร และหลังจากนั้นก็คงเป็นภาพจุดสิ้นสุดและการเริ่มต้นขึ้นใหม่ของผู้รอดหรือ “วีรบุรุษ”

            ในภาพยุคทองที่เกิดขึ้นสองครั้งล่าสุดในประเทศไทย คือช่วงที่เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองสุดขีดในช่วงทศวรรษ 2530 มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ทุกอย่างราบรื่นเหมือนวลีทอง “ไม่มีปัญหา” ของนายกสมัยนั้นคือพลเอกชาติชาย และยุคทองที่สองคือช่วงเศรษฐกิจไทยฟื้นฟูจากวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2546 ด้วยการส่งออก เกิดความรุ่งเรืองในประเทศจีนและกำลังซื้อในประเทศก็เติบโต ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เงินสะพัด สำหรับภาคเศรษฐกิจจริงนี่อาจจะไม่เป็น “ทองแท้” เหมือนยุคแรก แต่สำหรับการลงทุนนี่ถือเป็นทศวรรษทองของนักลงทุน

            ยุคทองแรกของเศรษฐกิจไทยผ่านไปพร้อมกับวิกฤตเหมือนที่เราอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ยุคทองที่สองเหมือนจะจบลงพร้อมกับทิ้งคำถามว่า อะไรกำลังอยู่ในประวัติศาสตร์หน้าถัดไป ถ้าวิเคราะห์ “ภาพใหญ่” ในปีนี้เศรษฐกิจถดถอยเพราะกำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน หรือปัจจัยต่างประเทศ แต่นี่คือวัฎจักรที่เปรียบเหมือนฤดูกาล ที่สุดท้ายมันก็จะกลับมา แต่ภาพต่อจากนี้ที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญมากกว่าคือเรื่อง “ภาพอุตสาหกรรม” ยุคนี้เกิดการแข่งขัน “เปิด” กับต่างประเทศโดยเฉพาะเพื่อนบ้าน AEC หลายอุตสาหกรรมเหนื่อยหนักกับการก้าวขึ้นมาของคู่แข่งอย่างประเทศกลุ่ม CLMV ในขณะเดียวกันหลายธุรกิจก็ได้รับประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนต่างนี้จะมีผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นนี่คือปัจจัยแรกที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะยาว

            เรื่องที่สองคือ “เรื่องการแข่งขัน” ซึ่งเหมือนจะกระทบกับภาพย่อยหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะดีอีกต่อไป เพราะเราไม่ได้อยู่ใน “ยุคทอง” อีกแล้ว ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ไม่มีผู้ชนะชัดเจน จะเริ่มลำบากจากการแข่งขัน ธุรกิจปัจจุบันแทบไม่มีเส้นเขตแดน เราจะเห็นกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่ “ย้ายค่าย” ไปทำสิ่งอื่นนอกจากที่ตัวเองเคยทำมาก่อน เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ ดังนั้นธุรกิจไหนที่ไม่มี Barrier to Entry หรือคนมาใหม่กับคนเดิม “ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเท่าไหร่” จะลำบาก แต่ธุรกิจที่มีความสามารถควบคุมทรัพยากรที่ได้เปรียบกว่า จะสามารถรักษาระดับการแข่งขันได้และนี่คือธุรกิจที่เราควรร่วมลงทุนด้วย

            อย่างไรก็ดีในยุคที่แย่ ๆ มีความพิเศษอยู่ที่ว่า เมื่อใดที่เศรษฐกิจ “ภาพใหญ่” กลับคืนมา คนที่แข็งแรงจะแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะผู้อ่อนแอจะออกไปจากตลาด ไม่ต่างจากตลาดหุ้น ดังนั้นคำถามที่ถูกต้องอาจจะไม่ใช่ว่า “ปีหน้าลงทุนอะไรดี” แต่เป็นคำถามว่า “ความสามารถในการแข่งขันของคุณคืออะไร” เพราะการลงทุนคือธุรกิจที่การแข่งขัน “เสรี” มากที่สุดอย่างหนึ่ง ไม่มี Barrier to entry วันที่การแข่งขันสูงขึ้น ในสภาวะที่ตลาดแย่ลงหรือไม่ไปไหน นักลงทุนที่อยู่รอดคือผู้ที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคนอื่น

Tuesday, December 15, 2015

ธุรกิจเงินด่วน / โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ธุรกิจเงินด่วน

ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยลดความ “ร้อนแรง” ลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงวันนี้  หุ้นที่ยังมีราคา “แพงมาก”  คือมีค่า PE และ PB สูงมากและปันผลต่ำมากนอกจากหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนและหุ้นในตลาด MAI แล้วก็คือ  หุ้นในกลุ่มที่ผมจะเรียกว่า  “ธุรกิจเงินด่วน”

นิยามของธุรกิจเงินด่วนของผมก็คือ  ประการแรก  เป็นธุรกิจที่ “ปล่อยเงินกู้” เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือเอาเงินไปใช้อย่าง “เร่งด่วน”  อาจจะภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง  โดยที่วงเงินมักจะไม่ใคร่สูงนักและอาจจะมีหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน  ประการที่สองก็คือ  คนที่มาขอกู้มักจะเป็นคนที่ไม่ได้มีรายได้เป็นรายเดือนอย่างแน่นอน  ส่วนมากน่าจะเป็นผู้ประกอบ “อาชีพอิสระ” หรือเป็นเกษตรกรที่ไม่มีเงินเดือนประจำ  หรือถ้าจะมองว่าเป็นผู้มี “รายได้ต่ำ” ก็อาจจะพูดได้  แต่นี่คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว  เพียงแต่ว่าไม่ใช่กลุ่มนักธุรกิจหรือคนที่มีรายได้สูงหรือคนกินเงินเดือน  และประการสุดท้ายก็คือ  เป็นธุรกิจการเงินที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเนื่องจากกิจการไม่ได้กู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป  โดยที่บริษัทเหล่านี้จำนวนมากก็เรียกตัวเองว่าเป็นบริษัท “ลีสซิ่ง” แต่บางบริษัทก็เรียกเป็นชื่อธรรมดา  อย่างไรก็ตาม  ในแง่ของการทำธุรกิจ  บริษัทเหล่านี้ก็คือบริษัทที่ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าต้นทุนเงินทุนของตนเอง  ความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่การปล่อยกู้ให้ได้อัตราดอกเบี้ยสูงและกู้เงินจากคนอื่นหรือสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ  นอกจากนั้น  ก็จะต้องพยายามไม่ให้มีหนี้เสียมาก  อีกประเด็นหนึ่งก็คือจะต้องพยายาม “เติบโต” โดยการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะทำกำไรให้มากขึ้น

มองจาก “ธรรมชาติ” ของธุรกิจแล้ว  นี่คือธุรกิจที่น่าจะเรียกว่า High Risk, High Return หรือธุรกิจที่น่าจะมีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนก็คาดว่าจะสูง  นั่นก็คือ  ถ้าโชคดีหรือสถานการณ์ทางธุรกิจเอื้ออำนวย  ผลตอบแทนการลงทุนก็จะสูงมาก  แต่ถ้าสถานการณ์เป็นลบ  นั่นก็คือเศรษฐกิจถดถอยลูกค้าประสบปัญหาทางการเงิน  ธุรกิจก็อาจจะขาดทุนรุนแรงได้  เหตุผลก็เพราะว่า  คนที่มากู้นั้น  มักจะมีรายได้ไม่แน่นอนและมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในบางช่วง  มีหนี้จำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้ของตน  นอกจากนั้นก็มักจะมีหนี้  “นอกระบบ” คือหนี้ที่กู้จากญาติมิตรและบุคคลธรรมดาที่ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากด้วย  ดังนั้น  โอกาสที่คนมากู้จะไม่มีเงินมาใช้คืนตามกำหนดหรือกลายเป็น NPL ก็จะสูงกว่าปกติ  นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยงสูง

ในด้านของผลตอบแทนนั้น  เนื่องจากผู้กู้มักจะไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมโดยแบงค์ชาติได้เนื่องจากมีคุณสมบัติ “ไม่เพียงพอ” ที่จะกู้ได้  รวมถึงมักจะไม่มีข้อมูลรายได้และประวัติทางเครดิตในการชำระเงินกู้  ดังนั้น  เขาจึงยินดีที่จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าปกติ  ผลก็คือ  บริษัทจะมีกำไรในการปล่อยกู้สูงกว่าปกติถ้าลูกหนี้ไม่เสียหรือกลายเป็น NPL

มองคร่าว ๆ จากพื้นฐานและการดำเนินงานของ “ธุรกิจเงินด่วน” ดังที่กล่าว  เราก็อาจจะนึกว่า  ในยามนี้ที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะในกลุ่ม  “รากหญ้า” หรือผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดต่างก็ประสบกับปัญหาเนื่องจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำและงานนอกภาคเกษตรเองก็ชะลอตัวลงมาก  ธุรกิจที่ปล่อยกู้ให้กับคนกลุ่มนี้ก็น่าจะประสบปัญหามีรายได้และกำไรลดน้อยลงไปมากคล้ายกับสถาบันการเงินในระบบทั่ว ๆ ไป   แต่ความจริงนั้นกลับตรงกันข้าม  บริษัทธุรกิจเงินด่วนกลับเฟื่องฟูมีรายได้และกำไรเติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจ  เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่ว  บางบริษัทมีมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. สูงกว่าแบ้งค์ขนาดเล็กและกลางบางแบ้งค์แล้วทั้ง ๆ ที่ขนาดของธุรกิจเล็กกว่ามากทั้งทางด้านของทรัพย์สิน  รายได้และกำไรของบริษัท  เหตุผลในแง่ของตลาดหุ้นก็คือ  รายได้และกำไรของบริษัทที่ทำธุรกิจเงินด่วนนั้น   เติบโตเร็วทั้งทางด้านของรายได้และกำไร  ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ  คุณภาพของลูกหนี้ก็ดีมาก  อัตราหนี้เสียนั้น  บางบริษัทอ้างว่าอยู่ในระดับแค่ 1%  บางบริษัทก็สูงกว่าแต่ก็ไม่สูงเท่าไรนัก  คิดเป็นต้นทุนแล้วน้อยเทียบกับส่วนต่างดอกเบี้ยรับที่สูงมาก  ดังนั้น  นักลงทุนจึงเข้าไปไล่ซื้อหุ้นจนทำให้ค่า PE ของหลายบริษัทสูงลิ่วกว่า 40-50 เท่า  เปรียบเทียบกับหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินอื่นที่มักจะไม่เกิน 10 เท่า

คำถามที่สำคัญก็คือ  กิจการของบริษัทเงินด่วนนั้นดีจริงหรือไม่?  และราคาหุ้นนั้นมีความเหมาะสมหรือเปล่า?  โดยเฉพาะถ้าเรา  “มองไปข้างหน้า”  เนื่องจากธุรกิจปล่อยเงินกู้นั้น  มี “ลักษณะพิเศษ” อย่างหนึ่งที่แตกต่างจากธุรกิจอื่นก็คือ  มันเป็นธุรกิจที่  “บินก่อน ผ่อนทีหลัง” นั่นก็คือ รายได้กับต้นทุนนั้นมาไม่พร้อมกันร้อยเปอร์เซ็นต์  วันที่ปล่อยเงินกู้นั้น  รายได้ก็จะมาทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ต้นทุนโดยเฉพาะค่าสำรองหนี้สูญนั้น  อาจจะตามมาภายหลังเมื่อลูกหนี้เริ่มเสียกลายเป็น NPL ซึ่งจะทำให้รายได้หายไปแต่รายจ่ายที่เป็นต้นทุนสำรองหนี้เสียกลับเพิ่มขึ้น

ความโดดเด่นข้อแรกที่กล่าวอ้างว่าธุรกิจ “โตเร็ว”  นั้น  ผมเองคิดว่าคงจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากไม่ได้  ธุรกิจการปล่อยเงินกู้นั้น  ผมคิดว่ามันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนึ่งที่เราจะ “ขาย”  ไม่ยาก  มีเท่าไรก็ขายหมดถ้าเราตั้งราคาต่ำหรือเท่ากับราคาตลาด  ความหมายก็คือ  ถ้าเราอยากจะปล่อยกู้มากขึ้น  เราก็มักจะปล่อยกู้ได้ง่ายถ้าเราไม่สนใจเรื่องความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้  ดังนั้น  บริษัทหรือหุ้นที่โตเร็วในธุรกิจแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นกิจการที่โตเร็วยกเว้นแต่ว่าโตเร็วและลูกหนี้มีคุณภาพดีและอัตราหนี้เสียไม่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ความโดดเด่นข้อสองก็คือ  อัตราหนี้เสียที่ต่ำมากและสำหรับบางบริษัทนั้น  ต่ำจนแทบ “ไม่น่าเชื่อ”  ข้อนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าการวัดอัตราหนี้เสียนั้นอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับบริษัทอื่นและสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์หรือไม่  ประเด็นก็คือ  มาตรฐานการจัดชั้นหนี้ของบริษัทเป็นเรื่องของแต่ละบริษัทและไม่ถูกบังคับโดยแบ้งค์ชาติ  ดังนั้น  ที่บอกว่าต่ำจึงอาจจะไม่จริงถ้าถูกกำหนดให้ทำตาม “มาตรฐาน” เดียวกัน  แต่ถ้าดูจากเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดและประกาศให้นักลงทุนทราบ  บางทีเราก็อาจจะรู้สึกว่าบริษัทเองก็ตั้งมาตรฐานอย่าง  “อนุรักษ์นิยม”  พอสมควร  อาจจะดูว่าไม่ได้ต่างกับมาตรฐานที่ดีเท่าไรนัก  อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรที่ “ซ่อน”  อยู่ในรายละเอียดที่เราไม่รู้หรือไม่  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  วิธีการในทางปฏิบัติในเรื่องของการจัดการ เช่น  การปล่อยเงินกู้ การรับชำระเงิน  การปรับวงเงินกู้หรือตารางการชำระหนี้ ต่าง ๆ  เหล่านี้นั้น  ในบริษัทที่ทำธุรกิจเงินด่วนต่างก็มักจะใช้คน ๆ  เดียวกันทำซึ่งอาจจะทำให้การควบคุมนั้นไม่ถูกต้องได้เนื่องจากไม่มีการ Check & Balance หรือไม่มีการตรวจสอบโดยคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนที่ทำ  ผลก็คือ  หนี้ที่เสียบางส่วนอาจจะถูกปกปิดไว้ได้

ข้อถกเถียงหนึ่งของคนที่มองกิจการธุรกิจเงินด่วนในแง่ดีก็คือ  ธุรกิจเงินด่วนนั้น  เข้ามาแทนที่ตลาดเงิน  “นอกระบบ” ที่ใหญ่โตมาก  เงินด่วนนั้นถึงอย่างไรดอกเบี้ยก็ยังถูกกว่าเงินนอกระบบมาก  ดังนั้นมันขยายได้เร็วและมาก  นอกจากนั้น  ที่หนี้เสียน้อยก็เพราะว่าคนที่กู้นั้น  เขาก็ไม่ต้องการที่จะทำให้เครดิตของตนเองเสียเพราะนี่เป็นแหล่งเงินที่มีต้นทุนถูกที่สุดสำหรับเขา  เหนือสิ่งอื่นใด  พนักงานที่ปล่อยกู้รู้จักลูกค้าเป็นอย่างดีสามารถที่จะตามทวงหนี้ได้ไม่ยากถ้ามีปัญหา  ดังนั้น  การที่ตัวเลขต่าง ๆ  ของธุรกิจเงินด่วนดีกว่าสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้แบ้งค์ชาติจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ

ทั้งหมดนั้น  ผมฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าจะแย้งอย่างไร  ผมเพียงแต่รู้สึกว่าถ้ามัน  “Too good to be true” หรือ “ดีเกินกว่าที่จะเป็นเรื่องจริง”  และเมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้น  ผมก็นึกถึงคำพูดที่ตามมาจาก  “ผู้รู้”  ที่มีประสบการณ์สูงที่บอกว่า  “It’s probably is” คือ “มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น” คือมันคงไม่ใช่เรื่องจริง     เรื่องนี้เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า  ธุรกิจเงินด่วนนั้นดีจริง ๆ หรือไม่? และราคาหุ้นนั้นแพงเกินไปหรือไม่?

Monday, December 14, 2015

ขวัญหนีดีฝ่อ / โดย คนขายของ



ในช่วงตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราได้เห็น หลายบริษัทที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น NOKIA, COMPAQ,และ KODAK มีสถานะที่แตกต่างไป อย่างมากกับเมื่อ 25 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆทำให้นักลงทุนในสมัยนี้ให้ความระมัด ระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกเทคโนโลยีทำให้สูญหายไปจาก ระบบเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ Telegraph ของอังกฤษเคยเขียนถึงอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะถูก ทำลายโดยเทคโนโลยีเช่น ธุรกิจโทรศัพท์สาธารณะ ธุรกิจล้างอัดฟิลม์ และ ธุรกิจขายสารานุกรม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงให้มูลค่ากิจการของบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ สูงมาก เช่นในตอนนี้มูลค่าของ Alphabet Inc. เจ้าของ Google มีมูลค่ากิจการมากกว่า ห้าง Walmart และ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างGE รวมกัน

                แต่ถ้าเรามาย้อนดูอดีตให้ลึกลงไปในรายละเอียด เราจะพบว่าในบางกรณี เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ไม่ได้ สร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนเสมอไป แต่เป็นธรรมดาเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมา ย่อมเกิดกระแส

การประโคมข่าวจากสื่อทั่วไปจนทำให้นักลงทุนบางคนเกิดหวั่นใจ เช่นเมื่อตอนเครื่องเล่นวีดีโอได้วาง ออกขายในตลาดเมื่อราวปี 1972 และเริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างมากในช่วงปี 1980 มีหลายคนเชื่อว่า การเปิดตัวของเครื่องเล่นวีดีโอ จะทำให้ธุรกิจโรงภาพยนต์ล่มสลาย แต่กลับกลายเป็นว่าในทุกวันนี้ธุรกิจ โรงภาพยนต์ยังคงอยู่ได้ แต่ตลาดของเครื่องเล่นวีดีโอรวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านให้เช่า กลับไม่ สามารถอยู่ได้เพราะโดนเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า เช่นอินเตอร์เน็ต และ การดูหนังออนไลน์เข้ามาแทนที่

                การกำเนิดของ e-commerce และ การพุ่งขึ้นของราคาหุ้นของ AMAZON ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนหลายคนเชื่อว่า กิจการที่เกี่ยวกับ e-commerceจะมาแทนที่ร้านค้าปลีกแบบเดิมๆ ผู้คนจะหันไปซื้อของจากร้านออนไลน์เพราะสะดวกสบายกว่า และ มีต้นทุนที่ถูกกว่า ร้านค้าแบบเดิมๆ ที่มีหน้าร้านจริงจะอยู่ไม่ได้ แต่หากเรามาดูตัวเลขทางสถิติของการค้าปลีกทั้งหมดในประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิด e-commerce จากข้อมูลของ ychart.com เราพบว่าในปี 2014 การซื้อของผ่านช่องทาง e-commerce นั้นคิดเป็นเพียง 7.5% ของยอดขายค้าปลีกในสหรัฐ และการเติบโตของตลาด e-commerce ในอเมริกาจากนี้ไปคาดว่าจะอยู่ที่ราว 15% ซึ่งก็ไม่ได้เป็น ตัวเลขที่สูงจนโดดเด่นมากเมื่อนเทียบกับอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น Telehealth Servicesบริการการรักษาทางไกล ซึ่ง inc.com คาดว่าจะโตได้ 49% และ อุตสาหกรรม Peer-to-peer lending เป็นการปล่อยกู้โดยบุคคลธรรมดา ให้แก่ บุคคลทั่วไป และ ธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งน่าจะโตได้ราว 38%

                ถึงแม้ว่ายอดขายของ AMAZON จะดูโตเร็วมากจนอาจทำให้เราเชื่อว่า AMAZON จะทำให้ค้าปลีก แบบมีหน้าร้านในอเมริกาไม่โตเลย แต่ในความเป็นจริงก็คือในห้าปีที่ผ่านมา ยอดขายของห้างสรรพ สินค้าอย่าง Nordstrom และ ร้านเสื้อผ้าอย่าง TJ Maxx ก็ยังทำยอดขายโตได้ราว 40% เมื่อเทียบกับ เมื่อห้าปีที่แล้ว หันมามองเรื่องผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นกันบ้าง ความย่ำแย่ของหุ้น WALMART ในช่วงที่ผ่านมาคงทำให้นักลงทุนจำนวนมากคิดว่า นี่คงเป็นจุดสิ้นสุดของร้านค้าปลีกจำพวก “Big Box Retailers” แต่ถ้าเรามาดูหุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่ของอเมริกาที่ราคาขึ้นมาสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่า Home Depot บริษัทขายของประเภท DIY คล้ายๆกับกิจการ Home Pro ในเมืองไทยทำได้ดีที่สุด โดยราคาขึ้นมาถึง 3 เท่า ในขณะที่ AMAZON ขึ้นมา 2.8 เท่า



                เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน แต่เนื่องจากทุกเทคโนโลยีมีรายละเอียดเฉพาะตัว ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจในหลายแง่มุม เทคโนโลยีใหม่อาจไม่ได้ชนะเทคโนโลยีเก่าเสมอไป มีหลายกรณีที่เป็นลักษณะ “อยู่ร่วมกัน” หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีใหม่ไม่สามารถยืนอยู่ได้ เสื่อมความ นิยมไปก่อน เรื่องที่เป็นอันตรายมากๆ สำหรับนักลงทุนที่ชวนขวัญหนีดีฝ่อ อาจจะไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี ใหม่ๆที่ออกมาจะเป็นอันตรายกับบริษัทที่เขาถือหุ้นอยู่ แต่เป็นเรื่องที่เขาไม่ศึกษาเทคโนโลยีนั้นๆอย่าง ละเอียด อ่านแค่พาดหัวข่าวแล้วก็นำมาใช้ตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งอันนี้ผมเชื่อว่าชวนสยองขวัญกว่า เยอะเลยครับ

Tuesday, December 8, 2015

เก็บเงินริมทาง /โดยดร.นิเวศน์

     
  ช่วงปลายปี 2010 จนถึงต้นปี 2011 หรือเมื่อประมาณ 4-5 ปี มาแล้ว  มีการพูดถึงประเด็นเรื่องการ “สืบทอด”  ตำแหน่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ในเบิร์กไชร แฮททาเวย์ ค่อนข้างมากเนื่องจากบัฟเฟตต์ก็เริ่มแก่ตัวลงและไม่มีใครรู้ว่าใครจะมาแทนเขา  หนึ่งใน “ตัวเลือก” ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่ามีโอกาสสูงสุดก็คือ  David Sokol ผู้บริหารของบริษัท MidAmerican Energy Holding บริษัทลูกของเบิร์กไชร์ที่ดูแลเรื่องของการลงทุนในธุรกิจพลังงาน และยังเป็นผู้บริหารของ Netjets บริษัทให้บริการเช่าใช้เครื่องบินของบัฟเฟตต์ด้วย  นอกจากการเป็นผู้บริหารของบริษัทลูกที่มีขนาดใหญ่โตมากแล้ว  โซโคลยังมีบทบาทในเบิร์กไชร์มาก  ดูเหมือนว่าเขาจะเป็น  “มือขวา” คนหนึ่งของบัฟเฟตต์ในการที่เขามักจะนำเสนอบริษัทหรือกิจการต่าง ๆ  ที่น่าสนใจให้บัฟเฟตต์พิจารณาซื้อ  นอกจากนั้น  เขายังช่วยบัฟเฟตต์แก้ปัญหาเวลาบริษัทลูก ๆ  ในเครือมีปัญหาด้วย  และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ  โซโคลเองนั้นเป็นคน  “บ้านเดียวกัน” กับบัฟเฟตต์  คือ เป็นคนที่เกิดที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา  แถมเรียนจบมหาวิทยาลัยเดียวกับบัฟเฟตต์  ในมุมมองของคนท้องถิ่นแล้ว  เขาก็เป็น “หนึ่ง”  รอง  ๆ จากบัฟเฟตต์  สถานที่สำคัญหลายแห่ง  รวมถึงสนามกีฬาที่จัดประชุมผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์ก็มีชื่อของเขาเข้าไปเกี่ยวข้อง  เขาทำกิจกรรม บริจาคและช่วยเหลือสังคมอย่างกว้างขวางเป็นที่รักและชื่นชมทั่วไปในเมืองบ้านเกิด  อายุเขาก็ยังไม่มากคือเพียง 56 ปี  ดังนั้น  อนาคตของเขานั้นดูเหมือนว่าจะ “โรยด้วยกลีบกุหลาบ”

แต่แล้วโดยที่ไม่มีใครคาดคิด  เขาประกาศลาออกจากเบิร์กไชร์ในวันที่ 28 มีนาคม 2011 และต่อมาในเดือนเมษายนคณะกรรมการตรวจสอบของเบิร์กไชร์ก็ออกมาแถลงถึงผลการตรวจสอบที่แสดงว่าโซโคลมีความ “ไม่โปร่งใส” ในกรณีของการเทคโอเวอร์บริษัทผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่น Lubrizol ของเบิร์กไชร์  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  โซคอลนั้นซื้อหุ้นของ Lubrizol ก่อนที่จะนำเสนอดีลให้กับบัฟเฟตต์  จำนวนเงินที่เขาซื้อประมาณ 10 ล้านเหรียญ และเมื่อการเทคโอเวอร์เกิดขึ้น  เขาทำกำไรได้ประมาณ 3 ล้านเหรียญ  โซโคลแถลงแก้ว่าเขาเองได้บอกกับบัฟเฟตต์ก่อนแล้วว่าเขามีหุ้นและมีก่อนที่จะนำเสนอดีลเทคโอเวอร์กับบัฟเฟตต์  ดังนั้นเขาไม่ผิด  บัฟเฟตต์เองในตอนแรกก็พูดทำนองว่า  โซโคลไม่ได้ลาออกเพราะเรื่องนี้และเขาก็เชื่อว่าสิ่งที่โซโคลทำไม่น่าจะผิดกฎหมาย  แต่ต่อมาภายหลัง  บัฟเฟตต์ก็ยอมรับว่าเขาอาจจะไม่ได้สรุปหรือคิดเรื่องนี้ละเอียดพอ  พูดง่าย ๆ  บัฟเฟตต์เองก็คิดว่าโซโคลทำไม่ถูก  อย่างไรก็ตามต่อมา  กลต. ของสหรัฐก็เข้ามาตรวจสอบเรื่อง “การใช้ข้อมูลภายใน” ของโซโคลและก็สรุปว่าโซโคลไม่ผิด  แต่ทุกอย่างก็จบลงแล้ว  เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างบัฟเฟตต์กับโซโคล

ในวันประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของเบิร์กไชร์ปี 2011 บัฟเฟตต์พูดกับผู้ถือหุ้นว่าเขาทำผิดอย่างแรงที่ไม่ถามโซโคลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น Lubrizol ที่อธิบายและแก้ตัวไม่ได้  เพราะสิ่งที่โซโคลทำนั้นละเมิดกฎของการปฎิบัติงานที่ดีของเบิร์กไชร์และเรื่องของการใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น  บัฟเฟตต์ยังพูดอีกว่าเขาจะไม่มีวันเข้าใจเลยว่าทำไมโซโคลทำสิ่งที่เขาทำ  เขาอธิบายไม่ได้ว่าทำไมโซโคลจึงไม่ปิดบังหรือใช้โนมินีเข้ามาซื้อหุ้น Lubrizol ถ้าเขาคิดว่าเขากำลังทำอะไรผิด  เขาปล่อยข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของเขาอย่างเปิดเผย  บัฟเฟตต์ยังพูดต่อว่า เขาไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมชื่อเสียงของโซโคลจึงถูกทำลายไปด้วยเรื่องฉาวโฉ่ที่เกี่ยวกับเงินเพียง 3 ล้านเหรียญ ทั้ง ๆ  ที่โซโคลเองนั้นเคยสมัครใจที่จะยกเงินค่าตอบแทนหรือโบนัสที่เขาควรจะได้จำนวนถึง 12.5 ล้านเหรียญให้กับเพื่อนร่วมงานคือ Greg Abel ที่บริษัท MidAmerican

ผมเองคิดว่าเรื่องการใช้ข้อมูลภายในเพื่อทำเงินนั้น  มันคงจะเปรียบคล้าย ๆ  กับการที่เราเดินไปตามทางเดินสาธารณะ  แล้วเราไปเห็นเงินที่ตกหล่นอยู่ข้างทาง  เราไม่รู้ว่าเป็นเงินของใคร  และด้วย  “สัญชาตญาณ” ซึ่งเป็นอารมณ์ที่อยู่ในมนุษย์ทุกคน  เราก็จะเก็บ  เงินที่ได้จากการเก็บของตกหล่นนั้น  ถ้าจำได้ตอนเป็นเด็ก  เราจะรู้สึกดีใจมากทั้ง ๆ  ที่มันอาจจะเป็นแค่เหรียญหรือเงินไม่กี่บาท  เพราะมันได้มาฟรี  แทบไม่ต้องออกแรงเลย เรารู้สึกว่าเป็นความโชคดี  เราไม่คิดว่าเราไป “โกง” ใคร  เราไม่ได้ทำผิด  และถ้ามีใครมาอ้างว่าเป็นเงินของเขา เราก็มักจะคืนเงินไป  นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตาม  “ธรรมชาติ”  แต่ในตลาดหุ้นนั้น  กฎเกณฑ์การซื้อขายหุ้นที่ห้ามไม่ให้ใช้ “ข้อมูลภายใน”  ที่เรารู้แต่คนอื่นไม่รู้มาซื้อขายหุ้นก็เพื่อที่จะทำให้ตลาดนั้นมีความยุติธรรมสำหรับทุกคน  ดังนั้น  คนที่ทำและถูกจับได้ก็ผิด  แต่ถ้าถามว่าคนที่ถูกตัดสินว่าผิดในเรื่องนี้หมายความว่าเขามีพฤติกรรม “โกง” เป็นนิสัยหรือไม่ ผมก็คิดว่าไม่ใช่ และก็คงต้องดูเป็นกรณี ๆ  ไป  ในกรณีของโซโคลนั้น  ทางกฎหมายถือว่าไม่ผิดแม้ว่าทางเบิร์กไชร์จะ “รับไม่ได้”  และสังคมเองก็ดูเหมือนว่าจะไม่ยอมรับคำอธิบายของโซโคล  ในโลกยุคปัจจุบันนั้น  ถ้าคุณเป็นคนดังและยิ่งใหญ่  แม้แต่สิ่งที่อาจจะเล็กน้อยหรือไม่จริง  แต่ถ้ามีคำถามถึงความโปร่งใสหรือความมีธรรมาภิบาล  คนก็จะไม่ยอมรับและ “แสดงออก” อย่างแรง  นี่ก็คงเป็น “ธรรมชาติ” ของคนอีกเช่นกัน

วันที่มีข่าวเรื่อง Insider’s Trading ของโซโคล  หุ้นเบิร์กไชร์ตกลงไป 2% ซึ่งต้องถือว่าหนักพอสมควรเนื่องจากเป็นหุ้นตัวใหญ่มากที่ไม่ใคร่ผันผวน  แต่หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็จางหายไป หุ้นเบิร์กไชร์ยังเหมือนเดิม  ความ “น่าเชื่อถือ” ของเบิร์กไชร์ในด้านของ Governance ไม่ถูกกระทบ  ถ้าจะถามว่ามีโอกาสที่จะเกิดกรณีแบบนี้อีกไหม  ผมก็คิดว่ามี  โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่มีจำนวนมากทุกวันก็คงต้องมีบ้างที่จะเกิดความผิดพลาดทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ประเด็นสุดท้ายสำหรับนักลงทุนก็คือ  เราจะทำอย่างไรถ้าเรามีหุ้นของบริษัทที่มีกรณีอินไซ้ด์ของผู้บริหารและในกรณีที่ยังไม่มีหุ้น   หลายคนบอกว่าเราไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับหุ้นเหล่านั้นเลยเพราะ  ผู้บริหารคง “ไว้ใจไม่ได้แล้ว”  และถ้าวอเร็น บัฟเฟตต์ เจอแบบนี้เขาก็คงจะขายหุ้นทิ้งแน่นอน ตัวอย่างเช่นกรณีของหุ้นเทสโก้ที่เกิดกรณีอื้อฉาวแต่งบัญชีซึ่งทำให้บัฟเฟตต์ขายหุ้นเทสโก้ทิ้งหมด

สำหรับคำตอบนี้  ผมเองคิดว่าการพิจารณาเรื่องของธรรมาภิบาลหรือ CG นั้นเราคงจะต้องดูระดับของความเลวร้ายด้วย  กรณีของเทสโก้นั้น  ผมคิดว่าผู้บริหารตั้งใจและวางแผนที่จะหลอกลวงผู้ถือหุ้นและคนทั่วไปเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงและทำมานาน  ในกรณีแบบนี้เราก็คงยอมรับยาก  เหนือสิ่งอื่นใด  บัฟเฟตต์เองอาจจะขายหุ้นทิ้งเพราะพื้นฐานของกิจการมากกว่าเรื่อง CG ด้วยซ้ำ  เนื่องจากเขาพบว่าผลการดำเนินงานของกิจการที่เขาคิดว่า OK นั้น  จริง ๆ  แย่กว่าที่รายงานมากเพราะคู่แข่งเด่นขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่เทสโก้แย่ลงหนัก  

ในกรณีที่ยังไม่มีหุ้นอยู่  เราควรที่จะเข้าไปซื้อหรือไม่โดยเฉพาะถ้าราคาหุ้นร่วงลงมาก ?  ในกรณีนี้ก็อีกเช่นกัน  เราคงต้องดูเป็นกรณี ๆ  ไป  ถ้าเรื่องไม่เลวร้ายอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน  หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น  “ครั้งเดียว”  และน่าจะ “แก้ไขได้”  เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎ  “ตายตัว” ว่าจะไม่เกี่ยวข้อง  บัฟเฟตต์เองนั้น  ครั้งหนึ่งก็เคยเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทอเมริกันเอ้กซเพรสซึ่งเกิดเรื่องอื้อฉาวกรณี  “น้ำมันสลัด” ที่มีการโกงกันอย่างมโหฬาร  แต่บัฟเฟตต์เห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นร้ายแรงครั้งเดียวและแก้ไขได้ในขณะที่กิจการหลักของบริษัทยังดีและแข็งแกร่งมากแต่ราคาหุ้นตกลงไปมาก  เขาเข้าไปซื้อหุ้นอเมริกันเอ้กซเพรสแบบ  “ตีแตก”  ด้วยเงินเกือบครึ่งพอร์ตและทำกำไรมหาศาลจนกลายเป็น “ตำนาน” มาจนถึงทุกวันนี้

บทเรียนสุดท้ายสำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนของผมก็คือ  ชื่อเสียงนั้นสร้างยากและส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายสิบปี  แต่เวลาที่มันถูกทำลายนั้น  มักเกิดขึ้นภายในเวลาชั่วข้ามคืน  ดังนั้น  เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง “โซนอันตราย” ทั้งหมด  การซื้อขายหุ้นของบริษัทที่ตนเป็นผู้บริหารหรือมีความเกี่ยวข้องควรจะต้องเลิกหมด  พูดแบบเปรียบเทียบก็คือต้อง  “เลิกเก็บเงินริมทาง”  อย่างสิ้นเชิง

Thursday, December 3, 2015

Job to be Done / โดยคุณวีระพงษ์ ธัม


การวิเคราะห์ธุรกิจและวิเคราะห์ลูกค้าในยุคนี้ มีความซับซ้อนกว่าเดิมค่อนข้างมาก ในสมัยก่อน เวลาเราเปรียบเทียบการแข่งขันระหว่างบริษัท เรามักจะมองที่ตัวผลิตภัณฑ์และบริการเป็นหลัก เช่น เราเปรียบเทียบบริษัทที่ผลิตหนังสือพิมพ์แข่งกับหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง บริษัทที่ผลิตทีวีแข่งกันระหว่างแต่ละยี่ห้อ บริษัทที่ให้บริการมือถือแข่งกันให้บริการมือถือ ว่าพวกโปรโมชั่น บริการใครดีกว่า แต่นั่นคือการมองกรอบความคิดเก่า ๆ ด้วยวิธี Segmentation ลูกค้าในรูปแบบเดิม แต่แนวโน้มของโลกนั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า Disruption หรือเกิดสิ่งใหม่ เข้ามาทดแทนสิ่งเดิม ทำให้แนวคิดการตลาดเดิมมีข้อจำกัด

            กรอบทฤษฎี Jobs to be Done ของศ.คริสเทนเซน กูรูของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้ามาช่วยวิเคราะห์ภาพการตลาดใหม่ แทนที่จะมองว่าผู้บริโภคซื้อสินค้าอะไร อายุเท่าไหร่ ฐานะเป็นอย่างไร เพศอะไร เป็นกรอบความคิดดั้งเดิม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมองว่าผู้บริโภค “ต้องการ” อะไร ลูกค้าซื้อทีวีไม่ได้ต้องการทีวี แต่ที่ลูกค้าซื้อทีวี เพราะต้องการ “จ้าง” ให้ทีวี ทำหน้าอะไรและ แก้ปัญหาอะไรบางอย่างต่างหาก

            ตัวอย่างคลาสสิกของศ.คริสเทนเซน คือ เรื่องราวของมิลค์เชคของบริษัทเครือข่ายอาหารแห่งหนึ่ง ผู้บริหารต้องการเพิ่มยอดขายเครื่องดื่มมิลค์เชค มีการพูดคุยกันในฝ่ายการตลาด ว่าจะทำอย่างไรดี มีการเริ่มต้นแบ่งลูกค้าเป็น Segmentation ตามอายุ เพศ ผู้บริโภค เพื่อจะหาวิธีที่จะพัฒนาสินค้ามิลค์เชค โดยการเพิ่มรสชาติ เปลี่ยนสูตร ตามที่ผู้บริโภคต้องการ สุดท้ายผลปรากฏว่ายอดขายแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย การแบ่งกลุ่มตลาดลูกค้าลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เจอได้บ่อย ๆ และเป็นเหตุผลที่หลาย ๆ สินค้าไม่ประสบความสำเร็จ การถามแบบนี้เหมือนกับที่เฮนรี่ ฟอร์ดเคยพูดเอาไว้ว่า ถ้าคุณถามลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร ลูกค้าจะตอบว่าเขาต้องการม้าที่วิ่งเร็วกว่าเดิม

            ศ.คริสเทนเซนให้บริษัทกลับมาทำความเข้าใจผู้บริโภคใหม่ แทนที่จะดูแค่จากตัวเลข ก็ให้คนเฝ้าดูพฤติกรรมผู้บริโภคตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน และพบว่ายอดขายของมิลค์เชคของบริษัทกว่า 40% เกิดขึ้นในเวลา 7 โมงถึง 8 โมงเช้า และสูงมากในสาขาที่อยู่นอกเมือง เขาพบว่าลูกค้ามักจะซื้อไปกินนอกร้าน เมื่อทำ Focus group ก็พบว่าคนที่ซื้อนั้นเป็นคนทำงานที่ต้องการซื้ออาหารรองท้องก่อนจะถึงที่ทำงาน พวกเขาไม่ได้อยากกิน “มิลค์เชค” เป็นพิเศษ แต่อยาก “แก้ปัญหา” ที่พวกเขาต้องขับรถฝ่ารถติดเข้าไปที่ทำงาน พวกเขาบอกว่าโดนัท เบเกิล อาจจะอร่อย แต่ไม่สะดวกในการกินระหว่างเดินทาง เพราะทำให้มือเลอะ เครื่องดื่มอื่น ๆ มันละลายเร็วเกินไป และไม่อยู่ท้อง ทำให้พวกเขาเลือก “จ้าง” มิลค์เชคในการทำหน้าที่นี้

            เมื่อฝ่ายการตลาดเข้าใจ Jobs to be done หรือ “หน้าที่ของมิลค์เชค” แล้ว จึงเริ่มเปิดร้านค้ารอบเมืองในลักษณะ Drive-Thru ทำให้คนที่เร่งรีบไปทำงานไม่ต้องเสียเวลาในการลงจากรถมาซื้อ นอกจากนั้นฝ่ายผลิตสูตร ก็สามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นี้มากขึ้น โดยการใส่วุ้น หรือเยลลี่ เพื่อให้คนขับรถ มีความเพลิดเพลินมากขึ้น ยอดขายก็สามารถเพิ่มขึ้นได้เท่าตัว เพราะบริษัทสามารถตอบสนอง “Need” ผู้บริโภคได้ และเข้าใจมิลค์เชค มากไปกว่าเป็นแค่เครื่องดื่มชนิดหนึ่ง

            ธุรกิจอื่น ๆ ก็เช่นกัน ที่บางครั้งเราต้องมองกรอบการแข่งขันให้ลึกกว่าตัวสินค้าและบริการ นี่คือความเสี่ยงและโอกาสหนึ่งของการลงทุนในยุคปัจจุบัน ธุรกิจหนังสือพิมพ์ไม่ได้ลำบากเนื่องจากการแข่งขันในตัวอุตสาหกรรม แต่เกิดจากสิ่งที่มาทดแทน “หน้าที่” ของมัน คือการให้ข้อมูล ซึ่งอินเตอร์เน็ตทำหน้าที่ดีกว่า เร็วกว่า ธุรกิจในอนาคตจะมีเส้นเขตแดนน้อยลงมาก ธุรกิจห้างไม่ได้แข่งกับห้าง แต่แข่งกันทำหน้าที่ “ฆ่าเวลา” “เป็นจุดพบปะสังสรรค์ พักผ่อน” กับสิ่งอื่น ๆ ต่างหาก เราจะพบว่าธุรกิจห้างในประเทศไทยมีอัตราการทำกำไรสูง เพราะทำหน้าที่นี้ได้อย่างยอดเยี่ยม มี Job to be done แทนกิจกรรมอื่นเกือบทั้งหมด จึงสามารถแปลงสิ่งนี้เป็นมูลค่าทางธุรกิจได้

            คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ตกต่ำลง เกิดจากการตอบโจทย์ผู้บริโภคได้น้อยลง ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์เข้ามาทดแทน Job to be Done ของคอมพิวเตอร์ ทำให้หน้าที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลน้อยลงกว่าเดิม พร้อม ๆ ไปกับยอดขายที่ถดถอยลง ศูนย์กลางบ้านสมัยก่อนคือนั่งดูทีวี นี่คือกิจกรรมหลักเวลาอยู่บ้าน แต่หน้าที่นี้ถูกแย่งไปโดย Internet และกิจกรรมอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อของไทยพยายามทำหน้าที่มากกว่าขายของใช้ ทำหน้าที่ให้ความอิ่มที่สะดวก ยอดขายและกำไรก็เพิ่มขึ้นมากมาย เพราะหน้าที่ “ทำให้ลูกค้าอิ่ม” นั้นมีคุณค่าสูง

            ในฐานะบุคคล บริษัท และประเทศ ก็ต้องตอบว่า Job to be Done ของเราคืออะไร บริษัททำ “หน้าที่” อะไรให้กับลูกค้า เพราะถ้ามันสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ทำหน้าที่กว้างขึ้น สามารถแก้ปัญหาลูกค้าได้มากขึ้น มูลค่าของบริษัทจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทางกลับกันบริษัทที่ทำในสิ่งที่ลูกค้าไม่ให้ความสำคัญแล้ว หรือทำได้แย่กว่า แม้บริษัทจะใส่ความตั้งใจแค่ไหน ก็ย่อมจะล้มหายตายจากไปในที่สุด