Monday, September 1, 2014

นิสัยแห่งความสำเร็จของการลงทุน

     
 
    คนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นมักจะมีนิสัยที่สำคัญหลาย ๆ  ประการ  และต่อไปนี้คือบางส่วนที่ผมคิดว่าเราควรจะต้องมีหรือต้องฝึกฝนไว้:

          ข้อแรกคือ  เวลาลงทุนอะไรก็ตาม  คิดถึงเรื่องความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากกว่ากำไร  ในการคิดถึงเรื่องนี้นั้น  ผมมักจะดูหรือวิเคราะห์ถึง  “พื้นฐาน”  ที่แท้จริงของบริษัท  การดูเรื่องนี้แปลว่าเราจะต้องคิดถึงผลประกอบการในระยะยาวหลาย ๆ  ปี  ในกรณีของบริษัทปกติก็อย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไป  ในกรณีของกิจการที่เป็นสัมปทานหรือมีใบอนุญาตที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ส่วนใหญ่ผมก็จะต้องคิดไปถึงเวลาที่ครบกำหนด  ผมมักจะ  “หลอก”  ตัวเองว่า  เมื่อซื้อหุ้นแล้ว  ผมไม่มีสิทธิที่จะขายในเวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี  ดังนั้น  เวลาเราคิดแบบนี้   เราจะไม่เอาข่าวหรือการคาดการณ์ผลประกอบการในระยะสั้น ๆ  เพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปี มาเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุน  มีอยู่บ่อย ๆ  ที่ผมพลาดลงทุนในหุ้นที่ราคาพุ่งพรวดเพราะกำลังมีเหตุการณ์ที่ดี ๆ  เกิดขึ้นและผมก็คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น  อย่างไรก็ตาม  ผมก็ไม่ซื้อมัน  เหตุเพราะว่าผมคิดว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว  อนาคตต่อไปก็ “ไม่แน่นอน”  ถ้าเราถือหุ้นยาวไปก็อาจจะขาดทุนได้    ความมี “วินัย” ที่แรงกล้าแบบนี้ทำให้เราพลาดโอกาสทำกำไรง่าย ๆ  แต่ก็ช่วยให้เราไม่ขาดทุนกับหุ้นตัวไหนได้ง่าย ๆ  และแม้ว่าบางตัวจะ  “สะบักสะบอม”  ในช่วงแรก  แต่เมื่อถือยาวต่อไปมันก็มักจะ “ได้ทุนคืนมา”

            ข้อสองคือ  ถ้าเราเลือกหุ้นที่พื้นฐานดีในระยะยาวและ/หรือมีระบบในการลงทุนที่ถูกต้อง  เช่น มีพอร์ตการลงทุนที่เราคิดว่าเหมาะกับตัวเราแล้ว  เช่น  มีจำนวนเงินลงทุนในหุ้น 50% มีหุ้นกู้หรือพันธบัตร 30%  มีสินทรัพย์ทางเลือกเช่น ทอง 10%  ที่เหลือเป็นเงินสด  เราก็ควรจะรักษาการลงทุนของเราให้  “คงเส้นคงวา”  ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปมาเมื่อประสบกับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง  อย่าตื่นเต้นหรือตกใจง่ายกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง  ว่าที่จริงอะไรก็ตามถ้าไม่กระทบกับบริษัทที่เราลงทุนตรง ๆ  และแรง  โดยส่วนใหญ่แล้วเราก็ไม่ต้องทำอะไร  นิสัยสำคัญที่เราจะต้องสร้างก็คือ  เราต้องทำใจให้สงบ  เป็นคนที่  “ใจเย็นเป็นน้ำ”  เวลาลงทุน    ผมเองไปลอนดอนบ่อย  สิ่งที่เห็นเป็นประจำก็คือป้ายคำขวัญที่ทำเป็นของที่ระลึกที่เขียนว่า  “Keep Calm  and Carry on” หรือ “ใจเย็นและสู้ต่อไป”   ซึ่งผมเข้าใจว่าเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่คนอังกฤษพยายาม “ปลอบใจ”  ให้คนใจเย็น ๆ  มีขวัญกำลังใจที่จะเอาชนะสงคราม  ตอนหลังสินค้าก็เอามาทำเป็นคำโฆษณามากมายเช่น Keep Calm and Have a Cupcake หรือ ใจเย็น ๆ  แล้วก็กินขนมเค้กซักชิ้น และอื่น ๆ  อีกมาก

           นิสัยข้อสามที่ผมคิดว่าควรจะเตือนตัวเองให้ปฏิบัติตลอดเวลาก็คือ  “สังเกตและคิดแบบนักลงทุน”  นี่จะทำให้เราพบโอกาสในการลงทุนเช่นเดียวกับฝึกฝนให้เราเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี  สูตรที่ผมใช้ก็คือ  พยายามคิดว่าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ต่างก็ “แข่งขันกัน”  ผู้ชนะนั้นจะได้ “รางวัล” มากน้อยตามระดับการชนะนั้น  ซึ่งก็จะส่งผลให้เขาหรือบริษัทหรือองค์กรอะไรก็ตามมี  “ค่า” ต่อ  “เจ้าของ”  ตามที่ควรจะเป็น   แน่นอน  บางสิ่งบางอย่างเช่นวัดหรือศิลปินที่ไม่มีสังกัดนั้นไม่มี  “เจ้าของ” ซึ่งในฐานะของนักลงทุนเราก็ทำอะไรไม่ได้  แต่ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนนั้น  เราสามารถเป็นเจ้าของได้  และนี่ก็คือโอกาสที่เราจะลงทุน  ในช่วงที่เรายังไม่คุ้นเคยกับการคิดแบบนี้  สิ่งที่เรามักจะสับสนก็คือ  เราไม่รู้ว่าใครแข่งกับใคร  บ่อยครั้งเราอาจจะสรุปว่ามัน  “ไม่มีคู่แข่ง”  แต่ในความคิดผมแล้ว  สิ่งมีชีวิตหรือองค์กรของสิ่งมีชีวิตนั้นมีคู่แข่งและแข่งกันเสมอ  เพียงแต่บางครั้งเราอาจจะยังหาไม่พบ

          นิสัยข้อสี่ที่สำคัญก็คือ  หมั่นศึกษาหาความรู้โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์และจิตวิทยานอกเหนือไปจากการศึกษาเรื่องการลงทุน  การอ่านหนังสือควรเป็นนิสัยที่ติดตัว  ผมเองมีคติว่าเราต้องกินอาหารที่ดีทุกวันเช่นเดียวกับต้องบริโภค  “อาหารสมอง”  เป็นประจำ  ดังนั้น  ทุกสัปดาห์ที่ผมไปจ่ายตลาดเพื่อหาอาหารมากินตลอดสัปดาห์แล้ว   ผมก็มักจะต้องไปจ่าย  “อาหารสมอง”  ในร้านหนังสือที่มีหนังสือดี ๆ  ที่ผมต้องใช้เวลาอยู่กับมันพอ ๆ  กับการจ่าย “อาหารกาย” อาหารสมองหรือความรู้ที่เราได้รับนั้นจะช่วยให้เรามีพื้นฐานและความคิดในการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ  ได้อย่างถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการลงทุน

           ข้อที่ห้า  นิสัยที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนก็คือ  อย่าเล่น  “หุ้นปั่น”  ทุกกรณี  และพยายามหลีกเลี่ยงหุ้นที่มี Story หรือเรื่องราวที่น่าสนใจที่ทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงมากในเวลาอันสั้นแล้ว  วิธีสังเกตว่าตัวไหนเข้าข่ายเป็นหุ้นปั่นหรือหุ้นที่มี Story นั้น  นอกจากข่าวและเหตุผลดี ๆ  ที่ออกมาจากบริษัทหรือแหล่งข่าวอื่น ๆ  แล้ว  ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นก็เป็นข้อมูลสำคัญที่จะชี้ว่ามันเป็นหุ้นดังกล่าวหรือไม่  เกณฑ์คร่าว ๆ  ก็คือ  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงติดต่อกันหลายวันคิดแล้วหุ้นอาจจะขึ้นไปเป็น 100% ในเวลาเพียงไม่เกิน 2-3 สัปดาห์  ส่วนปริมาณหุ้นเองก็สูงขึ้นมาก  อัตราการหมุนเวียนหุ้นนั้นอาจสูงเป็น 50-100% ของปริมาณหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายในการซื้อขายเพียงวันเดียว เป็นต้น  นอกจากนั้น  ในเวบบอร์ดเกี่ยวกับหุ้นที่แพร่หลายมีผู้ติดตามกันมากนั้นก็มักจะมีคนโพสต์ข้อความเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าวมากผิดปกติ    นิสัยไม่สนใจหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูงและราคาหุ้นขึ้นไปมากแล้วนั้น  ผมคิดว่าจะช่วยปกป้องให้เราไม่ขาดทุนหรือล้มเหลวจากการลงทุนในระยะยาว   เหตุผลหนึ่งก็คือ  มันทำให้เราต้องเน้นการเลือกหุ้นลงทุนเฉพาะในกิจการที่มีผลประกอบการเป็นหลักแทนที่จะเน้นที่ข่าวและปัจจัยเอื้ออำนวยในระยะสั้นซึ่งอาจจะไม่ได้กระทบกับพื้นฐานจริง ๆ  ของบริษัท

          นิสัยแห่งความสำเร็จของการลงทุนข้อที่หกก็คือ  ลงทุนเฉพาะในสิ่งที่ตนเองรู้และเข้าใจ  นั่นก็คือ  ไม่ลงทุนตามคนอื่นตราบใดที่ตนเองยังไม่เข้าใจตัวกิจการจริง ๆ  นั่นหมายความว่า  เราอาจจะไม่ยอมลงทุนในหุ้นของอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น ปิโตรเคมีเลยเนื่องจากมันเป็นอุตสาหรรมที่อยู่นอกเหนือความรู้ของเรา  นิสัยข้อนี้อาจจะทำให้เรามีหุ้นที่สามารถลงทุนได้น้อยลง  อย่างไรก็ตาม  ข้อดีก็คือ  ทำให้เรามีเวลาศึกษาวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวมากขึ้น  นอกจากนั้น  ความถูกต้องของการวิเคราะห์ก็จะสูงขึ้น  การลงทุนของเราก็จะ Focus หรือไม่กระจายมากเกินไป  และนี่ก็จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของเรามีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น

          นิสัยสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การเน้นคุณค่าเวลาจะซื้อหรือทำอะไรต่าง ๆ  นี่ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนแต่รวมถึงการซื้อของอย่างอื่นหรือแม้แต่การทำงาน  พูดง่าย ๆ  ทำอะไรก็ต้องดูว่าเราจะได้ผลตอบแทนสูงกว่ารายจ่ายหรือต้นทุนที่เราทุ่มเทลงไป  เมื่อเราทำแบบนี้จนกลายเป็นนิสัย  การลงทุนของเราก็จะมีแนวทางหรือแนวคิดแบบเดียวกัน  และนั่นจะทำให้การลงทุนของเราเป็นเรื่องของ Value Investment หรือเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าโดยอัตโนมัติ  ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ  เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ  ถ้าจะว่าไป  ไม่มีเซียน VI คนไหนที่จะรักษาสถิติหรือผลงานการลงทุนที่ดีได้โดยปราศจากการมีนิสัยการลงทุนที่ดีด้วย  และไม่มีใครคนไหนที่จะกลายเป็นเซียนได้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติและพัฒนานิสัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการเป็น VI  ผมเชื่ออย่างนั้น