Sunday, September 21, 2014

ทำงานไป ลงทุนไป

     
     ในระยะหลังประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมาหรือตั้งแต่สิ้นปี 2551 ในวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยตกต่ำลงเหลือเพียง 450 จุด  มาจนถึงปัจจุบันที่ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 1400 จุด  สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “VI”  จำนวนหนึ่งร่ำรวยขึ้นมากจนสามารถลาออกจากการเป็นพนักงานที่ทำงานกินเงินเดือนในกิจการธุรกิจหรือบริษัทต่าง ๆ  และหันมาเป็นนักลงทุน  “เต็มตัว”  หรือจะเรียกว่าเป็น  “นักลงทุนอาชีพ” ก็ไม่ผิด  เหตุผลที่พวกเขาลาออกมาลงทุนเต็มตัวนั้นก็เพราะว่าเขาจะได้มีเวลาศึกษาและค้นหาหุ้นที่น่าลงทุนซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้เวลามากและบ่อย ๆ  ต้องใช้เวลาในเวลางาน  เช่น การไป Visit Company เยี่ยมชมบริษัท  หรือไปพบผู้บริหารในงาน Opportunity Day ซึ่งจัดในเวลางาน

           การทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาและค้นหาหุ้นลงทุนนั้น  นักลงทุน “ผู้มุ่งมั่น”  ที่กล่าวถึงนั้นเชื่อมั่นว่ามันจะทำให้พวกเขาลงทุนได้ดีขึ้น  สามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น “คุ้ม” กับรายได้ที่จะเสียไปจากการทำงาน  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้ามีเงินในพอร์ต 10 ล้านบาท  และถ้าเขาทำผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้จากปกติปีละ 5-10%  ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะทำได้ “ไม่ยาก”  เขาก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท  ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนทั้งปีของเขา  ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจลาออกจากงาน  และมุ่งมั่นสู่  “ดวงดาว”  นั่นก็คือ  รวยเป็นเศรษฐีจากตลาดหุ้น  และนั่นก็คือนักลงทุนที่  Aggressive หรือกล้าหาญและมั่นใจสุด ๆ  อาจจะ  เนื่องจากผลงานที่ทำมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นโดดเด่นมาก ๆ  ผลตอบแทนทำได้ปีละอาจจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย

            เช่นเดียวกัน นักลงทุนรุ่นหนุ่มสาวที่เพิ่งจะจบการศึกษาหลายคนที่พ่อแม่มีเงินมากและอาจจะไม่ได้มีธุรกิจใหญ่พอที่จะต้องให้ลูกมาดูแลธุรกิจหรือไม่อยากให้ลูกเข้ามาทำงานในธุรกิจของตนเอง  อาจจะรู้สึกว่าการลงทุนโดยเฉพาะแบบที่เป็น  “VI”นั้น  ก็เป็น  “การทำธุรกิจ”  เหมือนกัน  ดังนั้น  พวกเขาก็เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ  โดยการขอเงินพ่อแม่มาลงทุน   การลงทุนในช่วงแรกด้วยเงินไม่มากอาจจะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีทำให้เกิดความมั่นใจทั้งตัวเองและพ่อแม่  ดังนั้น  เขาจึงได้เงินลงทุนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ     ด้วย “ฝีมือ”  และอาจจะด้วยโชคหรืออะไรก็ตามแต่  ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังสูงลิ่วทำให้พอร์ตของเขาโตขึ้นเป็นสิบล้านบาทขึ้นไปในเวลาอันสั้น  ดังนั้น  เขาก็เลิกทำงานอย่างอื่นทั้งหมดและหันมาเป็นนักลงทุนอาชีพเต็มตัว  ลึก ๆ  แล้วเขาอาจจะกำลังคิดถึง วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่แทบไม่เคยทำงานประจำอย่างอื่นหลังจากเรียนจบ  แต่ประสบความสำเร็จระดับโลก  ว่าที่จริงเขาอาจจะคิดว่าเขาเก่งไม่แพ้บัฟเฟตต์เลย  เพราะผลตอบแทนของเขาที่ผ่านมานั้นสูงกว่าสถิติของบัฟเฟตต์มากแม้ในช่วงที่บัฟเฟตต์ยังมีพอร์ตเล็ก ๆ  ในช่วงต้นของชีวิตการลงทุน

          ประเด็นที่ผมจะพูดต่อไปก็คือ  เราควรที่จะเลิกทำงานประจำเป็นคนกินเงินเดือนแล้วมาลงทุน  เป็นนักลงทุนอาชีพเต็มตัวไหม?  และจะเลิกทำงานเมื่อไร?  หรือสำหรับคนที่พ่อแม่มีเงินมากพอ  ควรหรือไม่ที่เราจะเริ่มชีวิตการลงทุนตั้งแต่เรียนจบ  หรือเราควรที่จะทำงานไป-ลงทุนไป?

          ผมเองอยากจะเริ่มที่เรื่องของการทำงานประจำหรืองานที่ต้อง  “ใช้แรง”  เสียก่อนว่าทุกคนควรที่จะต้องทำเพื่อเป็น  “ประสบการณ์ของชีวิต”  การทำงานใช้แรงหรือทำงานประจำในหน่วยงานหรือการทำงานที่ต้องประสานเกี่ยวข้องกับคนอื่นนั้น  จะช่วยให้เราเป็นคนที่ “สมบูรณ์” ขึ้น  มันไม่ใช่เรื่องของการหาเงินเพียงอย่างเดียว  แต่มันเป็นเรื่องของสังคมที่คนควรจะมีเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวข้องกันซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่ดีขึ้น  เข้าใจชีวิตของคนอื่นได้ดีขึ้น  ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้การลงทุนในอนาคตของเราดีขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว  ดังนั้น  ผมคิดว่าการเริ่มต้นเป็นนักลงทุนเต็มตัวตั้งแต่อายุยังน้อยและยังไม่ได้ผ่านการทำงานแบบใช้แรงมานานพอนั้น  เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร  วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น  ทำงานใช้แรงมานานหลายปีทีเดียวตั้งแต่เรียนชั้นประถมและมัธยมรวมถึงช่วงจบมหาวิทยาลัยไปอีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปีในฐานะนักวิเคราะห์หุ้นก่อนที่จะเริ่มชีวิตการลงทุนอาชีพ  ดังนั้น  คนที่เรียนจบใหม่ ๆ  จึงควรที่จะต้องทำงานไปด้วยถ้าอยากจะลงทุน  คนที่ไม่ทำงานเลยเอาแต่จะลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น  บางทีอาจจะเป็น  “ข้ออ้าง”  ของคนที่  “ขี้เกียจ”  ทำงานที่ต้องใช้แรงงานก็ได้  โดยเฉพาะถ้าเขาลงทุนโดยไม่ได้ใช้เวลาศึกษาอะไรมากนัก

         สำหรับคนที่ไม่ได้มีพ่อแม่รวยและต้องพึ่งตนเองเป็นหลักนั้น  การทำงานกินเงินเดือนหรือการใช้แรงทำงานนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก  รายได้จากการทำงานนั้นเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอและมักจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วโดยเฉพาะคนที่มีความสามารถและทุ่มเทให้กับการทำงาน  และถ้าโชคดีได้งานที่ชอบ   การทำงานก็ไม่ได้เป็นภาระที่หนักอกหรือต้อง “ฝืนใจทำ”   มันก็อาจจะเป็นกิจกรรมที่ทำแล้ว “มีความสุข”  ว่าที่จริงในยุคสมัยปัจจุบันและในอนาคต  การทำงานมีโอกาสที่จะทำให้เรา “ร่ำรวย” ได้เหมือนกัน  ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่คนทำงานกินเงินเดือนนั้น  “ไม่มีโอกาสรวย”   แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การทำงานนั้น  เป็นกิจกรรมที่ดีเยี่ยมในแง่ของสังคมและบ่อยครั้งในแง่ของการทำเงิน  เหนือสิ่งอื่นใด  มันเป็นการได้ผลตอบแทนที่มักจะมีความเสี่ยงต่ำ  ดังนั้น  ก่อนที่เราจะละทิ้งมัน  เราควรจะพิจารณาให้รอบคอบจริง ๆ

         ข้อเสียของการทำงานสำหรับนักลงทุนก็คือ  พวกเขาคิดว่ามันทำให้เขาไม่มีเวลาไปวิเคราะห์หุ้นเท่าที่ควรและเขา  “เชื่อว่า”  มันทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยลงไม่ต่ำกว่า 5% หรือ 10% หรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี  แต่ในประเด็นนี้ผมเองคิดว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้น  อาจจะไม่จริง  เหตุผลก็คือ  ในสมัยนี้เรามีเทคโนโลยีที่สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ  เพื่อเอามาศึกษานอกเวลาได้อย่างสะดวก  การไปเยี่ยมบริษัทเองนั้น  ก็อาจจะไม่ได้เพิ่มคุณค่าของการวิเคราะห์มากนัก  ดังนั้น  ความจำเป็นต้องลาออกจากงานเพื่อมาศึกษาหุ้นจึงมีความจำเป็นน้อยโดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้มีพอร์ตใหญ่โตมากมายอะไรนัก

         ส่วนตัวผมเองคิดว่ากลยุทธ์ที่ดีกว่าก็คือ  เราควรที่จะทำงานไป-ลงทุนไปเรื่อย ๆ   การทำงานนั้นเป็นขั้นตอนแรกที่จะสะสมเงินทุนเริ่มต้นที่จะต้องนำไปลงทุนซื้อหุ้นในตลาด  รายได้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จากการทำงานจะทำให้เรามีเงินเติมลงไปในพอร์ตเรื่อย ๆ  ทำให้พอร์ตโตเร็วขึ้นซึ่งในที่สุดก็จะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงิน  นั่นก็คือ  คร่าว ๆ  พอร์ตควรจะใหญ่เป็นประมาณอย่างน้อย 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือนโดยเฉลี่ยซึ่งจะทำให้เราสามารถเลิกทำงานประจำได้โดยไม่เดือดร้อน  อย่างไรก็ตาม  เรายังไม่ควรเลิกทำงาน  เหตุผลก็คือ  รายจ่ายในอนาคตของเราอาจจะเพิ่มขึ้นมาก  อาจจะเนื่องจากการแต่งงาน  มีลูก  เจ็บป่วยรุนแรง  และเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่น ๆ  รวมถึงการที่หุ้นอาจจะตกลงมารุนแรงทำให้ความมั่งคั่งที่เหลืออยู่ไม่พอใช้จ่ายอย่างสบายใจ  การทำงานต่อไปจะทำให้เรามี  “Margin of Safety” หรือความปลอดภัยเพิ่มขึ้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

         การที่เราจะเลิกทำงานและหันมาลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น  ผมคิดว่าเราควรยึดหลักว่า  หนึ่ง เราชอบทำงานหรือไม่  ถ้าชอบ  เราก็ไม่จำเป็นต้องเลิกเลย  ทำไปลงทุนไป  แต่ถ้าไม่ได้รักหรือชอบงานที่ทำ  เราก็ต้องคำนึงถึงว่ามันทำเงินให้เราคุ้มค่าหรือเพียงพอหรือไม่ที่เราจะทำต่อ  ผมเองคิดว่าตราบใดที่ผลตอบแทนจากการทำงานยังสูงถึง 20-30% ของรายได้จากการลงทุนต่อปี  ผมก็เห็นว่ามันยังคุ้มค่าที่จะทำ  เพราะการทำงานประจำด้วยจะทำให้พอร์ตหรือเงินเราโตเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  แต่หากว่ามันน้อยกว่านั้นแล้ว  การเลิกทำงานและลงทุนเพียงอย่างเดียวก็อาจจะดีกว่าและทำให้เรามีความสุขในชีวิตมากกว่า