Tuesday, October 27, 2015

ลงทุน ลงทุน และลงทุน / ดร.สันติ

     หลังจากที่จบบทความชุด “การจัดอันดับเครดิต” ลงไปแล้ว ก็พยายามคิดว่า อนุกรมถัดไปจะเขียนเรื่องอะไรดี คิดวนไปวนมา ก็เลยกลับมาที่การลงทุนในเครื่องมือทางการเงิน (financial instrument) ซึ่งมีอยู่หลากหลายในขณะนี้ คิดว่าจะพยายามนำเรื่องราวที่เป็นพื้นฐานความเข้าใจของการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่า บางเรื่องนั้น อาจจะเป็นการคุยซ้ำในสิ่งที่รู้และคุ้นเคยอยู่แล้ว ก็จะขอร้องท่านผู้อ่านว่า กรุณายอมรับว่า หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะเป็นการนำมะพร้าวห้าวมาขายสวน แต่ก็หวังว่าจะทำให้เจ้าของสวนอย่างท่านผู้อ่าน ได้รับทราบข้อมูลเหล่านั้นในมุมมองที่อาจจะแตกต่างไปบ้างครับ และการรับทราบข้อมูลหรือมุมมองที่แตกต่างไป อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านที่ทราบเรื่องเหล่านั้นดีอยู่แล้ว ยิ่งมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์ต่อชีวิตการลงทุนของท่านเพิ่มขึ้น


   ปัจจุบันนี้ นักลงทุนแต่ละท่านที่ปรารถนาความสำเร็จในการลงทุนแต่ละทางเลือกนั้น เข้าใจเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน (risk and return) กันเป็นอย่างดีแล้ว และนักลงทุนหลายท่านก็มีความชำนาญในกลยุทธการลงทุนและการเก็งกำไรอย่างชนิดที่หาตัวจับยาก บางท่านก็ทราบถึงพฤติกรรมการลงทุนของตัวเอง และจัดประเภทตัวเองได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนเน้นคุณภาพ หรือ value investor – VI หรือบางท่านก็เป็นนักเก็งกำไร หรือ speculator ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องมือที่นักลงทุนแต่ละคนใช้เพื่อการลงทุน ใช้เพื่อการเก็งกำไร และใช้เพื่อการบริหารความเสี่ยง ก็มีหลากหลายและมีพัฒนาการมากมาย ท่านเคยคิดย้อนกลับไปถึงพื้นฐานของเครื่องมือเหล่านั้นหรือไม่ว่า แท้ที่จริงแล้ว การใช้เครื่องมือเหล่านั้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลตอบแทนและรับความเสี่ยงในแต่ละระดับนั้น ท่านกำลังเล่นอยู่กับอะไรกันแน่ เราลองมาสำรวจพื้นฐานของเครื่องมือเหล่านี้กันทีละเครื่องมือนะครับ

      ผมขอตั้งขอสังเกตในเบื้องต้นนี้ก่อนถึงการใช้คำศัพท์ทั่ว ๆ ไป เช่น คำว่า “หลักทรัพย์” หรือที่เรียกว่า securities ซึ่งตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ว่า มี 10 ประเภท ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากจะแบ่งประเภท ก็คงจะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มตราสารทุน (equity instrument) กลุ่มตราสารหนี้ (debt instrument) กลุ่มใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (warrant) และกลุ่มหน่วยลงทุน (unit trust) ซึ่งหมายความว่า เครื่องมือทางการเงินประเภทอนุพันธ์ (derivatives) นั้นไม่ใช่“หลักทรัพย์” ตามความหมายแห่งบทบัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และคำว่า “การลงทุน” นั้น อาจจะใช้สำหรับเครื่องมือทางการเงินประเภทที่เป็นหลักทรัพย์เท่านั้น และสำหรับเครื่องมือทางการเงินประเภทอนุพันธ์นั้น วัตถุประสงค์หลักของเครื่องมือก็คือใช้เพื่อการบริหารความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทใดก็ตาม นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักของนักลงทุนผู้แสวงหาผลตอบแทนจะใช้เพื่อการลงทุน หรือจะใช้เพื่อการบริหารความเสี่ยงก็ตาม นักลงทุนก็อาจจะใช้เครื่องมือทางการเงินเหล่านั้นเพื่อการ “เก็งกำไร” หรือ speculation ได้ทั้งสิ้น และการเก็งกำไรนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปรกติ หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์แต่ประการใด เพราะว่า การเก็งกำไรนั้นก็ถือว่าเป็นการทำธุรกรรมปรกติของนักลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทน โดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และในทางตรงกันข้าม การเก็งกำไรที่เหมาะสมนั้น อาจจะถือได้ว่าเป็นการสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน เพราะผู้ที่มีความสามารถเก็งกำไรและประสบความสำเร็จ อาจจะมีมุมมองของการลงทุน (view taking) ที่แตกต่างไปจากนักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการตกลงซื้อขายกันได้ อันเป็นการสร้างสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในตลาดนั่นเอง

ถ้าเป็นเช่นนั้น อะไรที่เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ในการซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินในตลาดการเงิน คำตอบก็คือ “การสร้างราคา” หรือที่เรารู้จักกันในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้งหลายว่า “ปั่นหุ้น” นั่นเอง เพราะพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการเอาเปรียบ สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดกับนักลงทุนคนอื่น ๆ และหน้าที่การกำกับดูแลไม่ให้เกิดการสร้างราคานั้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ดำเนินการซื้อขาย เช่น ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. นั่นเอง

หุ้นสามัญ (common stock)

การลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญนั้น อาจจะนับได้ว่าเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด และมีนักลงทุน (รายย่อย) ที่สนใจในการลงทุนประเภทนี้มากที่สุด ซึ่งหากพิจารณากันถึงแนวคิดที่นักลงทุนในหุ้นทราบกันนั้น มักจะเชื่อกันว่า นักลงทุนในหุ้นหวังผลตอบแทน 2 ประเภท คือ ผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น ที่เรียกว่ากำไรจากการซื้อขาย (capital gain) กับผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend)

นักลงทุนในหุ้นสามัญ

ในอดีตนั้น จะมีกลุ่มนักลงทุนที่เรียกตัวเองว่านักลงทุนคุณค่า หรือ Value Investor – VI จะเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ราคาหุ้นมีเสถียรภาพไม่หวือหวามากเกินไป และแน่นอนครับ เมื่อเป็นนักลงทุนที่มองถึงผลตอบแทนจากเงินปันผลเป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงมักจะเป็นนักลงทุนที่ทำตัวเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้ลงทุนไปจริง ๆ โดยอาจจะกล่าวได้ว่า ปรัชญาของนักลงทุน VI นี้ เป็นคนที่อยากลงทุนหรืออยากทำกิจการที่ตนเองไปซื้อหุ้นสามัญนั้น และเฝ้ามองดูการเติบโตของบริษัท และรอคอยการแบ่งปันผลแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาให้กับเจ้าของ (นักลงทุน) ในรูปเงินปันผล และก็จะอยู่กับบริษัทนี้ไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่บริษัทนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นฐานสำคัญในทิศทางที่ลดต่ำลง หรือเรียกว่าเป็นการลงทุนที่เจ้าของบริษัท (นักลงทุน) ได้เติบโตไปกับการดำเนินงานของบริษัทอย่างแท้จริง

       เมื่อกล่าวถึงนักลงทุนประเภท VI ในย่อหน้าก่อนหน้านั้น สังเกตว่าผมได้พูดว่า “ในอดีตนั้น” เพราะว่า นักลงทุนประเภท VI ทุกวันนี้ อาจจะมีนิยามหรือมีพฤติกรรมในการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผลได้กล่าวถึงในย่อหน้าก่อนนี้ไปพอสมควร นักลงทุน VI เดี๋ยวนี้นั้น อาจจะไม่ได้คิดว่าจะเติบโตไปกับบริษัทที่ตัวเองสนใจลงทุน หรืออาจจะไม่ได้คิดว่า ที่จริงแล้วอยากเป็นเจ้าของกิจการที่ตนเองสนใจซื้อหุ้นเพื่อลงทุนนั้น แต่นักลงทุน VI ปัจจุบันนี้เป็นบุคคลที่ทำการบ้านอย่างมากไม่แตกต่างกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับฟังข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในงานทุกงานที่ทำได้ หาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนมาทำการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้เพื่อแสวงหาหุ้นที่มีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น (intrinsic value) หรือทำหน้าที่แบบนักวิเคราะห์ที่จะให้ความเห็นว่าหุ้นของบริษัทที่ตนเองทำการวิเคราะห์นั้น นักลงทุนควรจะซื้อหรือขายหรือถือไว้ โดยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยมหภาค หรือปัจจัยที่เป็นเรื่องของบริษัทนั้นเอง เพื่อหามูลค่าที่เหมาะสม หากพบว่าราคาตลาดขณะนั้นต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม ก็เชื่อได้ว่า ในเวลาต่อมาราคาตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นเพื่อเข้าหาราคาที่เหมาะสม ดังนั้น หากซื้อไว้ในขณะนี้ ก็จะสามารถเพิ่มความน่าจะเป็นในการทำกำไรได้ในอนาคต

     การที่นักลงทุน VI ในปัจจุบันนี้ ทำการบ้านอย่างที่กล่าวนั้น แล้วค้นพบว่าหุ้นใดที่น่าจะซื้อเพื่อการลงทุนตามเกณฑ์ที่กล่าวนั้น ก็จะลงทุนในหุ้นนั้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ แล้วเฝ้ารอให้ราคาเปลี่ยนแปลงในทิศทางขาขึ้น และเมื่อถึงราคาเป้าหมายแล้ว ก็อาจจะขายเพื่อทำกำไร โดยไม่ได้สนใจว่ากิจการนั้นเป็นกิจการที่ตนเองสนใจอยากลงทุนในระยะยาวหรือไม่ สนใจเพียงปัจจัยราคาตลาดที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือเรียกได้ว่า จะเฟ้นหาของดีราคาถูกอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อค้นพบแล้วก็จะลงทุนอย่างไม่ลังเล และผลที่ตามมาก็มีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จด้วยกลยุทธดังกล่าวไม่น้อย แล้วก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักลงทุน VI
ผมชวนคุยไปถึงเรื่องนักลงทุน VI ที่มีพฤติกรรมที่สามารถเข้าใจได้ แตกต่างกันไปเป็น 2 แบบนั้น ไม่ได้มีความประสงค์จะชี้ว่าแบบใดผิดหรือแบบใดถูก เพียงเพื่อจะบอกว่า นักลงทุน VI นี้ เป็นนักลงทุนที่มีความมุ่งมั่นในการ “ทำการบ้าน” เพื่อหาของที่ตนเองอยากลงทุน เพียงแต่ความอยากลงทุนของ VI ทั้งสองกลุ่มนั้น อาจจะมีแรงผลักดันกันคนละอย่าง กลุ่มแรกนั้น แรงผลักดันที่สำคัญก็คือ ความชอบในกิจการที่ตนเองลงทุน และมีความสุขกับการอยู่กับกิจการนั้นไปในระยะยาว พร้อมกับผลตอบแทนที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ VI กลุ่มที่สองนั้น อาจจะไม่ได้มีความรักชอบกิจการที่ตนเองลงทุนเป็นการพิเศษ เพียงแค่เห็นโอกาสของการเติบโตและโอกาสการทำกำไรจากการลงทุน โดยอาศัยความทุ่มเทในการหาข้อมูลและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ซึ่งแสดงว่าความสำเร็จจากการลงทุนนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยวัตถุประสงค์ใดหรือแรงจูงใจใดก็ตาม พื้นฐานสำคัญคือการแสวงหาความรู้ ทำความรู้จักในสิ่งที่ตนเองสนใจลงทุน ถึงจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ได้รับความสำเร็จจากการลงทุน

ลงทุนในหุ้นสามัญ ลงทุนอะไร

     หากเราจะลองพิจารณาถึงผลตอบแทนที่นักลงทุนในหุ้นสามัญหวังว่าจะได้รับ คือ กำไรจากการซื้อขาย (capital gain) และเงินปันผล (dividend) นั้น อาจจะคิดได้ว่า บริษัทที่มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปจนทำให้นักลงทุนได้รับส่วนต่างของราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่ากำไรจากการซื้อขายนั้น น่าจะเกิดขึ้นเพราะว่ามีคนที่อยากได้หุ้นสามัญนั้นเพิ่มขึ้น จึงแข่งกันเสนอซื้อหุ้นสามัญนั้น การแข่งกันเสนอซื้อหุ้นสามัญนั้นทำให้ต้องเสนอราคาซื้อที่สูงขึ้นจึงจะทำให้ได้หุ้นสามัญนั้นมาครอบครอง และเหตุที่อยากได้หุ้นนั้นมาครอบครองเพราะหวังว่าในอนาคต บริษัทนั้นจะเติบโตขึ้นไปมีกำไรมากขึ้น ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า ความมั่งคั่งของเจ้าของหุ้นสามัญก็จะเพิ่มขึ้นตามไป สรุปความง่าย ๆ ว่า นักลงทุนในหุ้นสามัญที่หวังกำไรจากการซื้อขายนั้น ซื้อ “ความเติบโต” ของบริษัท ถ้าบริษัทมี “เรื่องราวของความเติบโต” หรือ growth story ก็จะทำให้เกิดความต้องการในหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างที่กล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น

      การที่บริษัทมี “เรื่องราวของความเติบโต” จึงกลายเป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น และอาจจะเป็นสิ่งที่ “ผู้ไม่หวังดี” สร้างเรื่องราวของความเติบโตขึ้น เพื่อชักจูงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการ “ปั่นหุ้น” การกำกับดูแลเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และทันเวลาอย่างทั่วถึง จึงเป็นมาตรการจำเป็นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และถือปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรมเหมาะสม

       และสำหรับนักลงทุนทั่วไปก็คงพอเข้าใจแล้วนะครับว่า ทำไมหลายบริษัทจึงมีการให้ข้อมูลข่าวสารที่แสดงถึงและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ได้มีการจัดให้พบกันระหว่างบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุน ในรูปแบบของงาน opportunities day อยู่เสมอ ๆ เพื่อให้นักลงทุนได้มีโอกาสพบปะซักถามผู้บริหารบริษัท จะได้ประเมินถึงโอกาสของความเติบโตของบริษัทจดทะเบียนนั้น ๆ ได้ และหากพิจารณาเรื่องนี้ในทางทฤษฎีการเงิน เรื่อง agency problem หรือปัญหาตัวการและตัวแทนแล้ว จะเห็นได้ว่า การจัดให้มีการพบปะกันระหว่างผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทนั้น เป็นการลดปัญหาตัวการและตัวแทน กล่าวคือ นักลงทุนที่ซื้อหุ้นสามัญหรือเป็นเจ้าของบริษัทนั้น ได้มีโอกาสสอบทานและซักถามถึงการดำเนินงาน รวมทั้งรับทราบโอกาสและปัญหาของบริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หรือประชุมวิสามัญ เนื่องจากการจัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายซึ่งต้องมีระเบียบปฏิบัติเป็นขั้นตอน แต่การจัดให้มีการพบกันระหว่างนักลงทุนและผู้บริหารของบริษัทนั้น เป็นการทำเพื่อเผยแพร่รับทราบข้อมูลข่าวสาร นักลงทุนก็สามารถประเมินอนาคตของบริษัทได้ด้วยตัวเอง และนำข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไปทำการบ้าน ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทใดก็จะเล่นกับเรื่องอนาคตของการเติบโตของบริษัทเสมอ

      นอกเหนือจากผลตอบแทนกำไรจากการซื้อขายหรือ capital gain แล้ว นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งก็หวังกระแสเงินสดที่แบ่งปันจากส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเรียกว่าเงินปันผลหรือ dividend เราอาจจะสังเกตธรรมชาติของบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลที่เป็นเงินสด (cash dividend) เป็นจำนวนมาก และจ่ายสม่ำเสมอว่าเป็นบริษัทที่มีความเจริญเติบโตมาถึงระดับหนึ่งแล้ว และยังไม่ได้จำเป็นจะต้องขยายการลงทุนใหญ่ ๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งบริษัทลักษณะนี้ หากจะนึกถึงบทเรียนที่เราเรียนกันในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะทราบได้ว่า บริษัทอย่างนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่า cash cow ตามการแบ่งกลุ่มบริษัทของ Boston Consultig Group (BCG) โดยที่บริษัทลักษณะนี้ ได้มีการพัฒนามาจนแข็งแกร่ง แต่ยังไม่ได้มีโอกาสในการขยายธุรกิจไปในทิศทางอื่นอีก ก็ไม่ค่อยมีความจำเป็นที่จะต้องนำเม็ดเงินจากกำไรที่ได้ไปลงทุนต่อ จึงนำเม็ดเงินนั้นมาแบ่งปันแจกจ่ายให้กับเจ้าของบริษัท

      อาจจะคิดง่าย ๆ ว่า นักลงทุนในหุ้นสามัญนั้น ล้วนแล้วต้องการลงทุนในบริษัทที่ดี ๆ และมีราคาหุ้นสามัญที่ไม่แพงทั้งนั้น เพียงแต่ความหมายของบริษัทดี ๆ นั้น อาจจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บริบทของนักลงทุนแต่ละประเภท นักลงทุนประเภทที่ชอบเงินปันผล อาจจะอยากได้บริษัทที่โตเต็มที่และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อมาจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ ในขณะที่นักลงทุนที่ชอบกำไรจากการซื้อขาย อาจจะแสวงหาบริษัทที่มี growth story อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ต้องระมัดระวังว่า growth story นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะหากไม่ใช่เรื่องจริง การประเมินราคาที่ได้รวมปัจจัยของการเติบโตตามเรื่องราวที่ไม่จริงนั้น ก็จะกลายเป็นราคาที่สูงเกินจริง นักลงทุนก็จะเสียประโยชน์

    หลายครั้งเราอาจจะเห็นว่า บริษัทจดทะเบียนที่นักลงทุนได้ซื้อหุ้นสามัญไปนั้น จ่ายเงินปันผล แต่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด กลับจ่ายเป็นหุ้นสามัญ ที่เรียกว่า stock dividend ซึ่งแน่นอนครับว่า การจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญนั้น ย่อมมีผลต่อนักลงทุนแตกต่างจากการจ่ายเป็นเงินปันผล อย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ การจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญนั้น ไม่ได้ทำให้บริษัทผู้จ่ายปันผลต้องจ่ายเงินสดออกจากบริษัท ซึ่งนั่นหมายความว่านักลงทุนที่เป็นเจ้าของบริษัทก็จะไม่ได้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น การที่บริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญแล้วทำให้นักลงทุนมีความมั่งคั่งนั้น อาจจะเกิดได้จากการที่ราคาหุ้นสามัญที่มีการซื้อขายในตลาดนั้นลดลงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหลายบริษัทจดทะเบียนสามารถใช้จังหวะเวลาที่ถูกต้อง ประกอบกับการให้นักลงทุนในสาธารณะเห็นถึง growth story แล้วประกาศจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ การที่ราคาหุ้นสามัญลดลงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มูลค่าของหุ้นที่นักลงทุนถือโดยรวมนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจจะพิจารณาได้ว่า ถ้าลำดับของเหตุการณ์เป็นไปอย่างที่กล่าวนั้น นักลงทุนอาจจะเปลี่ยนการได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผล เป็นผลตอบแทนจากกำไรที่เกิดขึ้นจากการซื้อขาย

      อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนไม่น้อยที่ประสบผลสำเร็จจากการจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ แล้วทำให้ราคาที่ลดลงของหุ้นสามัญน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งนับเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น แต่ก็มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม การจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญจึงอาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ทำให้ทุกบริษัทที่ใช้กลยุทธอย่างนี้ประสบความสำเร็จเหมือนกัน นักลงทุนที่ทำการบ้านมาดี จึงต้องติดตามวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องการจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

     อันที่จริงแล้ว เรื่องเงินปันผลนั้น ในทฤษฎีทางการเงิน เป็นเรื่องที่ยากจะสรุปให้ชัดเจน ข้อบ่งชี้จากทฤษฎีทางการเงินในเรื่องนี้ก็คือ นักลงทุนมีหลากหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความพึงพอใจในเรื่องเงินปันผลที่แตกต่างกัน บางกลุ่มไม่ชอบให้จ่ายเงินปันผล แต่ชอบให้เก็บกระแสเงินสดไว้ในบริษัทเพื่อลงทุนสร้างความเติบโตต่อไป (อย่างที่แสดงไว้ในตอนต้นว่าเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ชอบ capital gain) นักลงทุนบางกลุ่มชอบให้จ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด (cash dividend) เพราะถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงจากการถือครองหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ ข้อบ่งชี้สำหรับบริษัทจดทะเบียนก็คือ หากบริษัทได้ปฏิบัติตามนโยบายเงินปันผลอย่างไรแล้ว ก็จะมีกลุ่มนักลงทุนที่สนใจลงทุนในบริษัทตามความพึงพอใจของตนเอง บริษัทจึงไม่ควรเปลี่ยนนโยบายเงินปันผลอย่างรุนแรง หรือไม่มีแนวนโยบายเงินปันผลที่ชัดเจน เพราะจะทำให้นักลงทุนไม่สามารถเลือกตามความพึงพอใจของตนเองอย่างแน่ชัด

    มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่า มีเรื่องราวที่ท่านผู้อ่านคุ้นเคยและมีประสบการณ์จากการลงทุนในหุ้นหลายเรื่องราวอยู่แล้ว แต่ผมพยายามนำมาเล่าให้ฟัง (อ่าน) แบบรวบยอดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่า หลักที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภทนั้นมีอยู่ แต่เมื่อเป็นเวลาที่ลงสนามการลงทุนจริง ๆ บางทีการนึกถึงหลักเหล่านั้นยามที่ฝุ่นตลบในสนามการลงทุน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การเป๋ไปเป๋มาในสนามการลงทุน จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย หวังว่าหลักเหล่านี้จะยังสามารถกลับเข้ามาสู่การวิเคราะห์เพื่อความสำเร็จในการลงทุนต่อไป

     ในครั้งต่อไป ผมคิดว่าจะนำเครื่องมือทางการเงินและหลักการลงทุนในเครื่องมือนั้น ๆ มาถ่ายทอดอีกเป็นเรื่อง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ

Monday, October 19, 2015

ยีนส์กับการลงทุน / ดร.นิเวศน์

 

   ผมรู้จัก “ยีนส์” ครั้งแรกสมัยที่ผมเรียนวิชาชีววิทยาในระดับมัธยมศึกษา  ในตอนนั้นผมไม่ได้สนใจอะไรนักเพราะคิดว่ามันเป็นแค่ความรู้ที่เอาไว้สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นสาขาที่ผมไม่สนใจที่จะเรียนต่อ  ผมกลับมาสนใจเรื่องของยีนส์เมื่อประมาณ 10 ปีมานี้เองเนื่องจากยีนส์ถูกนำมาอธิบายเรื่องของจิตวิทยามากขึ้นเรื่อย ๆ  จนกลายเป็นสาขาหนึ่งเรียกว่า  “จิตวิทยาวิวัฒนาการ”

ความรู้เรื่องของยีนส์ที่เป็นตัวกำหนดอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วแบบ  “ก้าวกระโดด”  จนถึงวันนี้ผมคิดว่าแทบทุกพฤติกรรมของคนเรานั้นสามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ของยีนส์  

  ยีนส์น่าจะมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนแต่ละคน  “เกินครึ่ง”  ส่วนที่เหลือก็มาจากการอบรมสั่งสอนและสังคมที่เราอยู่  ดังนั้น  ถ้าจะเข้าใจเรื่องของคนผมคิดว่าเราต้องเข้าใจเรื่องของยีนส์ของมนุษย์ที่ถูกออกแบบมา—เพื่อที่จะเอาตัวรอด  เติบโต  และเผยแพร่เผ่าพันธุ์ของมัน  โดยที่ยีนส์ในมนุษย์นั้น  ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโลกในช่วงกว่าหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมา  และดังนั้น  เราจึงต้องเข้าใจว่าทำไมบางครั้งเราจึงทำอะไร  “แปลก ๆ”  ในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมากมายแล้ว

ธุรกิจหรือบริษัทที่ผลิตสิ่งของหรือบริการนั้น  ถ้ามองลึก ๆ  จริง ๆ  แล้วก็คือกลุ่มคนที่เข้ามารวมกันเพื่อทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น  ดังนั้น  ความคิดและพฤติกรรมทั้งหลายของบริษัทก็คือความคิดและพฤติกรรมของคน  บริษัทต้องเอาตัวรอด  เติบโต  และขยายตัวแตกหน่อไปเรื่อย ๆ เหมือนคน   บางคนอาจจะบอกว่าบริษัทนั้น  “ไม่มีวันตาย”  ถ้าไม่เจ๊ง   ผมเองคิดว่านี่ก็เหมือนกับยีนส์ที่  “ไม่มีวันตาย”  แม้ว่าคนจะตายแต่ยีนส์ในตัวคนนั้นอาจจะ “ส่งผ่าน”  ต่อไปยังลูกหลานแล้ว  ยกเว้นคน ๆ  นั้นไม่มีลูก  โดยนัยดังกล่าว  บริษัทก็จะต้องทำทุกอย่างคล้าย ๆ  คนนั่นก็คือ  ต้อง “แข่งขัน” แย่งชิงทรัพยากรกับคนอื่นแต่ในเวลาเดียวกันก็ต้อง “ร่วมมือ” กับคนอื่นเพื่อที่จะเอาตัวรอดและขยายตัวต่อไป  โดยที่วิธีการ  ความคิดและอารมณ์ของบริษัทนั้นก็คงคล้าย ๆ  กับคน  ตัวอย่างเช่น  บริษัทแต่ละแห่งมีความสามารถไม่เท่ากัน  เวลาตัดสินใจส่วนใหญ่ก็ใช้เหตุผลแต่อารมณ์ก็มีส่วนอย่างมาก เป็นต้น

สิ่งของและบริการที่เป็นสินค้าที่มีการผลิตขึ้นในโลกนี้สุดท้ายแล้วก็เพื่อตอบสนองต่อคนที่ต้องการเอาตัวรอด  เติบโต  และเผยแพร่เผ่าพันธุ์  สินค้าและบริการที่จะเป็นที่ต้องการมากนั้นจะต้องช่วย  “เพิ่มโอกาส” ให้คนเอาตัวรอด  เติบโตและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้มากขึ้น  สินค้าหรือบริการอะไรที่ “ใกล้” กับเรื่องของการเอาตัวรอด  เติบโต และเผยแพร่เผ่าพันธุ์ จะเป็นที่ต้องการมากกว่าสินค้าที่  “ห่าง” จากความต้องการดังกล่าว  สินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถช่วย “เพิ่มโอกาส”  ดังกล่าว  อาจจะเพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็ได้ใช้สินค้านั้นอยู่แล้วความต้องการก็จะไม่เพิ่ม  แต่ถ้ามีสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมในการเพิ่มโอกาสอยู่รอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์  คนก็จะต้องการสินค้านั้นเพิ่มหรือแทนที่สินค้าเดิม  ด้วยแนวความคิดแบบนี้   เราก็จะสามารถวิเคราะห์เรื่องของเทรนด์หรือเมกาเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในสินค้าต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

ภาวการณ์ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  เกิดขึ้นเพราะคนที่ตัดสินใจซื้อขายหุ้น  คนที่ซื้อขายหุ้นนั้น  พวกเขาทำเพื่อการ  “เอาตัวรอดและเติบโต”  ดังนั้น  บางครั้งพวกเขาก็กลัวและต้อง  “หนีตาย” ขายหุ้นทิ้งโดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น  เหมือนกับการที่คนในสมัยดึกดำบรรพ์หนีเสืออย่าง  “ไม่คิดชีวิต”  ไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น  เวลาที่เขาคิดว่าหุ้นกำลังขึ้นเป็น “กระทิง”  ยีนส์อาจจะบอกว่าต้องรีบ  “กอบโกย”  ช้าไม่ได้  “อาหารจะหมด”  ถ้า “แย่งไม่ทัน”  นี่ก็ก่อให้เกิดภาวะความผันผวนของราคาหุ้นตลอดเวลา  การที่เราเข้าใจเรื่องของยีนส์ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมจะช่วยให้เราลงทุนในตลาดหุ้นได้ดีขึ้น

การวิเคราะห์หุ้นของเรานั้น  สิ่งที่ต้องทำเพิ่มจากการวิเคราะห์ปกติตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว  สิ่งหนึ่งที่เราควรทำเพิ่มเติมก็คือการวิเคราะห์  “เหตุจูงใจ” ของแต่ละคนที่เป็นคนให้ข่าวสารและข้อมูล  เพราะเราควรจะต้องยึดมั่นหลักการสำคัญที่ว่าคนจะทำอะไรก็ตามก็เพราะยีนส์จะเป็นตัวกำหนดที่แท้จริงไม่ใช่สมองที่เป็น “ผู้ปฎิบัติ”  และสิ่งที่คนจะทำก็คือ  การเอาตัวรอด  เติบโต  แพร่พันธุ์  อะไรที่ไม่สอดคล้องคนเราก็จะไม่ทำ  พูดอีกทางหนึ่งก็คือ  คนเรานั้นจะทำอะไร  “เพื่อตัวเอง”  แม้ว่าบางครั้งจะทำ  “เพื่อคนอื่น”  แต่สุดท้ายแล้วเขาก็จะได้รับการ   “ตอบแทน” ในแง่ของการเป็นที่รักนับถือชมชอบซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถ  เอาตัวรอดได้ดีขึ้นและ/หรือ เผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้ดีขึ้น  การที่ต้องวิเคราะห์เรื่องแรงจูงใจนั้นเป็นเพราะว่าคนให้ข้อมูลหรือข่าวสารนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากเราและอาจจะ “หลอก” เราให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขาแต่เป็นโทษกับเราได้

ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้  ไม่ได้หมายความว่ายีนส์จะมีความคิดหรือชีวิตจิตใจที่สั่งการและเรารับรู้ได้  กระบวนการทำงานนั้นก็คือ  ยีนส์จะเป็นตัวสร้างฮอร์โมนและสารอะไรต่าง ๆ  ที่ประกอบเป็นตัวเราและสมองและประสาทต่าง ๆ  ของเราที่ทำให้เรามีความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ทำให้เรารัก  ชอบ  เกลียด  กลัว  เสียใจ  ดีใจกับบางสิ่งบางอย่างเพื่อที่ว่าเราจะได้พยามไขว่คว้า  หลีกหนี หรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ  ในทางที่จะทำให้เรามีโอกาสอยู่รอดได้ดีขึ้น  เติบโตและเผยแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นโดยที่เรา  “ไม่รู้ตัว”   เรื่องนี้คงไม่เป็นประเด็นถ้าเรายังอยู่ในยุคหมื่นปีที่แล้วที่ยีนส์ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นไร่นาป่าเขาและไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตและตลาดหุ้น  เพราะเราคงทำไม่ผิดจากสิ่งที่ควรทำ  แต่ในศตวรรษที่ 21 ที่สังคมเรามีความซับซ้อนมากนั้น  การ “ทำตามใจ” นั้น  อาจจะเกิดความเสียหายได้  เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป  ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการซื้อขายหุ้นบ่อยแทบทุกวันเพราะ  “อยากได้กำไรหรือหนีการขาดทุน”  นั้น  เป็นหนทางที่  “ลดโอกาสเอาตัวรอด”  แต่เราทำเพราะเราแยกไม่ออกว่าตลาดหุ้นตกหรือขึ้นนั้น  แตกต่างจากการเห็นเสือหรือหมู

ยีนส์ของคนทั้งโลกนั้นมีความเหมือนกันเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์  อาจจะแตกต่างกันไปบ้างก็เพราะคนบางกลุ่มอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกับคนกลุ่มอื่น  

เช่น  คนที่อาศัยอยู่ในแถบที่หนาวเย็นก็อาจจะมีสีผิวที่แตกต่างกับคนที่อยู่ในแถบร้อนรวมทั้งอาจจะมีความสามารถและพฤติกรรมที่แตกต่างกับคนในแถบร้อน  “เล็กน้อย”  จนแทบไม่มีความหมาย  ดังนั้น  เวลาที่จะดูว่าสินค้าหรือบริการอะไรจะเป็น  “เมกาเทรนด์” ในประเทศไทยต่อไปนั้น  วิธีง่าย ๆ  อย่างหนึ่งก็คือการดู “เมกาเทรนด์”  ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศที่ร่ำรวยกว่า  เหตุผลก็เพราะว่าคนในประเทศหรือสังคมที่รวยกว่าจะมี  “กำลังซื้อ”  หรือมีรายได้มากพอที่จะใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการของคนก่อน  ส่วนคนไทยนั้น  เนื่องจากเรายังมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ถึงวันหนึ่งเราก็จะเริ่มมีกำลังซื้อพอที่จะใช้สินค้าหรือบริการนั้น  ซึ่งเราก็จะใช้แน่นอน  เพราะนั่นคือสินค้าที่  “ยีนส์”  ของมนุษย์ต้องการ  กล่าวโดยสรุปก็คือ  คนนั้นเหมือนกันทั้งโลก  สิ่งที่แตกต่างก็คือรายได้  คนบางคนมีปัญญาที่จะซื้อใช้  แต่คนบางคนไม่มีเงินพอ  ถ้าเมื่อไรเขามีเงินพอ  เขาก็ใช้  ถ้าสองประเทศต่างก็มีรายได้เท่ากัน  พฤติกรรมและการใช้จ่ายและการบริโภคจะใกล้เคียงกันมาก

การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของยีนส์และวิวัฒนาการของคนนั้น  แต่เดิมเรามักต้องอ่านจากหนังสือภาษาอังกฤษ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้เราก็มีโอกาสที่ได้อ่านหนังสือแปลและโชคดีที่เราเริ่มมีคนไทยที่เริ่มเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้  โดยหนังสือที่ผมเห็นว่าเขียนได้ดีมากและแนะนำให้อ่านก็คือหนังสือชื่อ “500 ล้านปีของความรัก” ทั้ง 2 เล่ม เขียนโดย นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา  หนังสือทั้งสองเล่มนี้แน่นอนว่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องของหุ้นและการลงทุนเลย  แต่ผมคิดว่าเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตและการลงทุนซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตในยุคปัจจุบัน

Friday, October 16, 2015

Beyond Finance / โดย คนขายของ

นักลงทุนส่วนมากที่ประสบความสำเร็จในระดับสูง ล้วนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านการเงินอย่าง ทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะเรื่องอัตราส่วนทางการเงิน การอ่านงบดุล และ การประเมินมูลค่าบริษัท แต่ดูเหมือนว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เป็นนักการเงิน ทำงานในแวดวงการเงิน จะเป็นนักลงทุนที่ประสบ ความสำเร็จทุกรายไป แสดงว่าอาจจะมีอีกหลายปัจจัยเป็นตัวประกอบนอกจากความรู้เรื่องการเงิน เพียงอย่างเดียว เป็นไปได้หรือไม่ว่าถึงแม้ว่านักลงทุนที่มีความรู้ทางการเงินเท่ากัน แต่มี “พื้นฐานทางจิตใจ” ที่ต่างกันจะได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างกัน?

Warren Buffett จบจาก Columbia University และ Sir John Templeton จบจาก Yale ซึ่งก็คงเหมือนกับนักลงทุนหลายๆคน แต่ทั้งสองกลับเป็นนักลงทุนที่เป็นระดับตำนาน สร้างผลตอบแทนได้สูงต่อเนื่องยาวนาน 

Buffett เคยกล่าวไว้ว่า “คุณไม่สามารถเข้าถึงความสำเร็จ ในการลงทุนได้ ถ้าคุณยังไม่สามารถคิดได้อย่างอิสระ” หรือนี่คือสิ่งที่ Buffett กำลังจะบอกพวกเราว่า “ระบบความคิด” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก? ผมคิดว่า John Templeton คงคิดแบบนี้ด้วยเหมือนกัน จึงทำให้เขาเลือกใช้ชีวิตบริหารเงินกองทุนจาก “Bahamas” หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเขา เคยให้สัมภาษณ์ว่า ผลงานการบริหารกองทุนดีขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยที่เขายังทำงานอยู่ในนิวยอร์ค

   
   เป็นที่ทราบกันดีว่ารากฐานของความคิดก็คือ “จิตใจ” หนังสือพิมพ์ Financial Times ได้ลงบทความเมื่อปีที่แล้ว พูดถึงหลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัย Georgetown University ซึ่งได้มีการบรรจุวิชา “สมาธิ” ซึ่งสอนโดยบาทหลวงชาวคริสเตียนไว้ในหลักสูตร ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า วิชาเลือกนี้ได้รับการลงทะเบียนจากนักศึกษาอย่างล้นหลามทั้งๆที่ไม่ได้เป็นวิชาทางบริหารธุรกิจ จากการประมินผลของนักศึกษาที่ลงวิชานี้พบว่านักศึกษามีระบบความคิดที่แจ่มชัดขึ้นและสามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น

       หลายท่านอาจจะประหลาดใจเมื่อทราบว่า Ray Dalio ผู้บริหารกองทุน Bridgewater ซึ่งเป็น กองทุนบริหารความเสี่ยงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนั้น นั่งสมาธิมาเป็นเวลากว่า 44 ปีแล้ว โดยเขาได้รับแรงดลใจจากวง The Beatles ซึ่งไปศึกษาการทำสมาธิแนว “TM” (Transcendental Meditation) Dalio จะนั่งสมาธิวันละสองครั้ง ครั้งละ 20 นาที เขากล่าว่าการทำสมาธินอกจากทำให้จิตใจสงบแล้ว ยังช่วงสร้างไอเดียในการลงทุนใหม่ๆให้เขาด้วย นอกจากนั้นยังเน้นย้ำว่า สมาธิเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้เขามีความสำเร็จในทุกวันนี้ จากรายงานของนิตยสารฟอร์บส Dalio มีสินทรัพย์สุทธิมากกว่าหมื่นห้าพันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผู้ที่ร่ำรวยอันดับที่ 60 ของโลก

Bill Gross เป็นนักลงทุนระดับโลกอีกผู้หนึ่งซึ่งได้รับฉายาว่า “Bond King” สมัยที่เขา ยังทำงานอยู่ที่ PIMCO กองทุนพันธบัตรที่เขาบริหารอยู่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เขาเคยให้สัมภาษณ์ CNN ไว้ว่าเขาตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเพื่อทำการเช็คสถานการณ์ล่าสุดทั่วโลกจากที่บ้าน และเริ่มเข้า ออฟฟิสตอนหกโมงเช้า Gross บอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของวันไม่ใช่การเทรดตราสารหนี้ใน ช่วงที่ตลาดเปิด แต่เป็นช่วงเวลา 8:30-10:00 ซึ่งเขาจะไปเล่นโยคะที่ฟิตเนสซึ่งอยู่ใกล้กันที่ทำงาน เขากล่าวว่า ไอเดียในการลงทุนที่ดีมักออกมาตอนร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งจะออกมามากเมื่อ เวลาเราทำสมาธิ หรือออกกำลังกาย

ถ้าเราลองศึกษาประวัติของนักลงทุนชั้นนำของโลกหลายๆท่าน เราจะพบว่า เขาไม่ได้ศึกษาเฉพาะ เรื่องการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ศึกษาในแขนงความรู้ต่างๆมากมาย 

   หลายคนเป็นนักเล่นไพ่ตัวฉกาจ หลายคนเป็นนักเดินทาง ไปมาแล้วแทบทุกประเทศในโลก มีความเข้าใจพื้นฐานทางเศรษฐกิจและ การเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างดี ทุกวันนี้มีนักลงทุนรุ่นใหม่หลายท่านเริ่มสนใจในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วยการศึกษาด้านการเงินก่อน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อท่านได้ศึกษา มาพอสมควรแล้วควรศึกษาความรู้ในแขนงอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้มุมมองของเรากว้างขึ้น แหลมคมขึ้น และถ้าหากเราเชื่อว่า ความคิดเกิดขึ้นที่ใจ ใจที่ดีย่อมนำมาซึ่งความคิดที่ดี ก็ขอให้ลองศึกษาเรื่อง การฝึกจิตฝึกใจดูบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านบ้างไม่มากก็น้อยในอนาคต

Monday, October 12, 2015

หนังสือเล่มเล็ก / ดร.นิเวศน์

       

     ชีวิตประจำวันหรือ  “งานประจำ” ของผมทุกวันนี้ไม่ใช่การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์และสั่งซื้อขายหุ้น  ไม่ใช่การเฝ้าติดตามราคาหุ้นรายนาทีหรือรายชั่วโมง  เพราะปกติผมจะซื้อหรือขายหุ้นปีละไม่กี่ครั้งและครั้งละไม่กี่วัน  ผมคำนวณคร่าว ๆ  แล้วหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อมาจะถูกถือไว้โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 5 ปี  ดังนั้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นของผมจะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของผม  สำหรับโบรกเกอร์แล้ว  ผมน่าจะเป็น  “ลูกค้ารายย่อย--ขนาดใหญ่”  แม้ว่าช่วงที่มีการซื้อขายแต่ละครั้งอาจจะมีปริมาณมาก  การซื้อขายหุ้นของผมจึงไม่ใช่  “งานลงทุน” แต่เป็นงานเล็ก ๆ  ที่ต้องทำเป็นบางครั้งเมื่อผมเจอหุ้นที่จะซื้อหรือขาย

การ  “ติดตามหุ้น” นั้น  สิ่งที่ “ไม่สำคัญ” แต่ผมก็ทำตลอดเวลาก็คือการดูจอราคาหุ้นเป็นระยะเมื่อนั่ง  “ทำงาน”  ที่บ้านซึ่งก็คือ  “สำนักงาน” ของผม   การดูราคาหุ้นนั้น  ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องของ  “สัญชาติญาณ” ของคนที่น่าจะ  “อดไม่ได้”  ที่จะต้องเฝ้าดู “ทรัพย์สมบัติ” ของตนถ้ามัน  “กอง”  อยู่ตรงหน้า หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือการที่คนชอบ  “ลุ้น” ว่าตนเอง “ได้หรือเสีย”   บน  “จอคอมพิวเตอร์”  ขณะที่ผมนั่งทำงานอื่นอยู่ที่โต๊ะ   แต่ในกรณีที่ผมต้องออกไปทำงานหรือมีกิจธุระนอกบ้าน  ผมก็ไม่จำเป็นต้องติดตามราคาหุ้น

 พูดอย่างสรุปก็คือ  ผมไม่ได้ใช้เวลากับการดูราคาหุ้นเป็นเรื่องเป็นราว  ผมจะ  “จับตาดู” หุ้นบางตัวในบางช่วงเวลาเพื่อมองหา  “โอกาส”  ในการที่จะซื้อหรือขายเท่านั้น

การติดตามหุ้นที่สำคัญของผมนั้น  คือการติดตามการดำเนินงานและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ผมลงทุนอยู่และบริษัทอื่นที่ผมสนใจแต่ยังไม่ได้ลงทุน   การติดตามการดำเนินงานนั้น  ผมใช้วิธีการอ่านจากหนังสือ  หนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ รวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ตและทางทีวีที่ผมพบเจอโดยไม่ได้ตั้งใจ  นอกจากนั้น  ผมก็ยังติดตามบริษัทจากการไป  “จ่ายตลาด”  ซื้ออาหารและของใช้ประจำวันที่ผมทำเป็นประจำเกือบทุกสัปดาห์รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ผมทำเป็นระยะ  ดังนั้น  นี่ก็ไม่ใช่งานที่ผมต้อง “ใช้เวลา” เป็นเรื่องเป็นราว  ส่วนการติดตาม  “ผลการดำเนินงาน”  ที่เป็นตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทนั้น  ผมก็ใช้เวลาเพียงปีละ 4 ครั้ง คือในช่วงที่มีการประกาศผลประกอบการรายไตรมาศและรายปี

การเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะบริษัทใหม่ ๆ  ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดนั้น  ผมโชคดีที่ว่าผมทำรายการทีวีที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน  ทุกสัปดาห์ผมจะได้คุยและซักถามผู้บริหารประมาณ 2-3 บริษัท  ดังนั้น  ผมก็จะได้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทจำนวนมากเนื่องจากผมทำรายการนั้นมาหลายปีแล้ว  บริษัทหลายแห่งนั้นผมเคยพูดคุยด้วยหลายครั้งและนั่นก็พอเพียงที่ผมจะใช้เป็นฐานหลักของการวิเคราะห์หุ้นรายตัว  ผมคิดว่าผมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปพบบริษัทเพื่อที่จะศึกษาตัวบริษัทมากนัก  ดังนั้น  ผมไม่ไปงาน Opportunity Day หรือไปคุยกับผู้บริหารบริษัทก่อนที่จะพิจารณาซื้อหุ้น  มีบางบริษัทที่ผมถือหุ้นจำนวนมากที่ผมอาจจะไปเยี่ยมเยียนติดตามการดำเนินงานอยู่บ้างเหมือนกันแต่นั่นเป็น  “ข้อยกเว้น” ไม่ใช่เรื่องปกติ

การไปพบผู้บริหารหรือผู้ให้ข้อมูลที่เรียกว่า IR ของบริษัทเป็นการ  “ส่วนตัว” นั้น  ข้อดีก็คือ  บางครั้งเราอาจจะได้ข้อมูลลึก ๆ  หรือความเข้าใจในสถานการณ์ที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เป็น “เรื่องดี ๆ”  ของบริษัท  เช่นเดียวกับเรื่องที่ “ไม่ดี” ที่เราอาจจะเห็นหรือรู้สึกได้  ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราสามารถ  “ฉกฉวยโอกาส” ในการซื้อหรือขายหุ้นและทำกำไรหรือลดการขาดทุนได้อย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้นก็อาจจะทำให้เข้าใจในตัวบริษัทมากขึ้นซึ่งทั้งสองเรื่องนั้น  สำหรับ VI หลายคนแล้วก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวด  สำหรับบางคนแล้วเขาแทบจะบอกว่าถ้าไม่เจอผู้บริหารเขาก็จะไม่ซื้อหุ้นเลย   อย่างไรก็ตาม  การไปพบบริษัทแบบนั้นก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันในความเห็นของผมนั่นก็คือ  การไปพบผู้บริหารอาจจะทำให้เราถูก “ชักนำ” ให้เกิด  “ความลำเอียง” ว่าบริษัทมีคุณสมบัติดีกว่าที่ควรจะเป็นและ/หรือเชื่อว่าบริษัทจะสามารถเติบโตได้รวดเร็วต่อเนื่องด้วยความสามารถของบริษัทและผู้บริหารทั้ง ๆ  ที่ข้อมูลผลประกอบการของกิจการที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้บอกอย่างนั้น  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  เราอาจจะถูกชักนำให้  “เชื่อในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์”  สำหรับผมเองที่เน้นการลงทุนระยะยาวที่ต้องอิงอยู่กับ  “พื้นฐานระยะยาว” ของบริษัทเป็นหลักนั้น  หุ้นที่จะเข้าข่ายควรจะต้องได้รับการ  “พิสูจน์ด้วยตัวเลขผลประกอบการ” มาพอสมควรแล้วว่าเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม  ความจำเป็นต้องพบผู้บริหารมีน้อย

งานหลักที่สำคัญและใช้เวลามากของผมจริง ๆ ในทุกวันนี้น่าจะอยู่ที่การอ่านหนังสือที่เป็น  “ความรู้ที่หลากหลาย”  และต้องเป็น  “ความรู้ที่แท้จริง”  นั่นก็คือ  เป็นความรู้ที่ได้รับการศึกษาและพิสูจน์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ความรู้ที่ผมสนใจศึกษานั้นรวมถึงเรื่องของจิตวิทยา  ประวัติศาสตร์  สังคมวิทยาและการเมือง  สงครามและการแข่งขัน  เรื่องของการเงินและการแข่งขันทางธุรกิจ  ความรู้เกี่ยวกับสถิติและความน่าจะเป็น  และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก เป็นต้น   เมื่ออ่านและเข้าใจหัวใจหรือข้อสรุปของความรู้นั้นแล้ว  ผมก็จะพยายาม “เชื่อมโยง” ความรู้ต่าง ๆ  เหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ  ในชีวิต  ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมทำนั้นจะเป็นแนวทางที่ ชาร์ลี มังเกอร์  คู่หูและหุ้นส่วนของบัฟเฟตต์ทำหรือไม่  แต่ที่ได้ทำมานานผมรู้สึกว่าผมมีความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ของโลกมากขึ้น  ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลมากขึ้น  และนี่อาจจะช่วยให้ผมสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้นอย่างที่มังเกอร์บอก

การอ่านหนังสือเพื่อทำความเข้าใจกับความรู้ ทฤษฎี ประวัติศาสตร์และเรื่องราวมากมายของโลก  อาทิเช่น  เรื่องของตลาดเสรีและระบบทุนนิยมที่บุกเบิกโดย อาดัม สมิทธิ  ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งของ ชาร์ล ดาร์วิน  สงครามและการแข่งขันระหว่างประเทศที่ฉายภาพโดดเด่นจากสงครามใหญ่โดยเฉพาะสงครามโลกทั้งสองครั้ง  การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แนวทางแบบ Value Investment ของเบน เกรแฮม และการเกิดขึ้นของทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มนักวิชาการนำโดย ยูจีน ฟามา มาร์โควิทซ์และชาร์ป   ทฤษฎีการแข่งขันทางธุรกิจโดยเฉพาะในด้านของการกำหนดกลยุทธ์ที่นำเสนอโดย Aries กับ Jack Trout ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของโลกและไทย   และการขึ้นลงและวิกฤติตลาดหุ้นทั่วโลก  เป็นต้น  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลามากมายโดยเฉพาะถ้าเราต้องเริ่มต้นจากศูนย์เนื่องจากเราไม่ได้เรียนมาเลยจากห้องเรียนหรือ  “ติดลบ”  เนื่องจากเราเรียนมาด้วยข้อมูลหรือทฤษฎีที่ผิด

ด้วยปริมาณข้อมูลและความรู้มากมายที่อาจจะมีประโยชน์มหาศาลในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะอ่านหรือศึกษาได้หมดในเวลาอันสั้น  และสำหรับคนที่ยังมีภารกิจงานประจำที่ต้องทำตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ผมคิดว่าเขาคงมีเวลาไม่พอ  ส่วนตัวผมเองนั้นก็ต้องยอมรับว่าความรู้หลากหลายเหล่านั้น  ส่วนใหญ่ผมได้มาหลังจากที่เลิกทำงานประจำมาเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว  นอกจากนั้น  ผมได้ค้นพบว่า  วิธีที่จะเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ  ได้รวดเร็วขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ  พยายามอ่าน  “หนังสือเล่มเล็ก”  ที่อธิบายหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ  ซึ่งระยะหลัง ๆ  ผมได้เห็นว่ามีออกมามากขึ้น

     หนังสือเล่มเล็กนั้นมีข้อดีคือมันช่วยสรุป  “หัวใจ”  ของเรื่องต่าง ๆ  เอาเฉพาะ “แก่น” หรือ  “พื้นฐาน” ของเรื่องโดยไม่สนใจรายละเอียดที่บางครั้งทำให้เรา  “หลงทาง” หรือสับสน  “หนังสือเล่มเล็ก”  ในความหมายของผมนั้นอาจจะรวมถึงหนังสือ  “การ์ตูน” สั้น ๆ  หรือภาพยนตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวที่เป็น   “ภาพใหญ่” ได้ในเวลาอันสั้น  และนี่ก็คือเทคนิคการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ผมอยากให้ทดลองดู  มันอาจจะส่งผลกระทบให้เราได้อย่างมหาศาลกับการลงทุน—และชีวิต

Sunday, October 4, 2015

ลงทุนในตลาด Sideways / ดร.นิเวศน์

    ตลาดหุ้นไทยนับจากสิ้นปีที่แล้วดูเหมือนว่าจะ “ดูไม่ดี” เลย   ดัชนีตลาดหุ้นปิดตลาดสิ้นปี 2557 ที่ประมาณ 1,498 จุด ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2558 ดัชนีตกลงมาเหลือ 1,346 จุด หรือตกลงมาประมาณ 10% หลายคนอาจจะมองว่านี่คือ “ตลาดหมี” ที่ตลาดหุ้นตกลงมาต่อเนื่องยาวนาน  แต่ผมเองคิดว่าโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะเป็นตลาดหมีมองไปข้างหน้าอีกหลายปีนั้นน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก  เป็นไปได้มากกว่าที่ในอีกซัก 5 ปีข้างหน้านั้น  ตลาดน่าจะเป็น  ตลาด “Sideways” หรือตลาดที่ดัชนีหุ้น  “ไม่ไปไหนยาวนาน” แม้ว่าระหว่างนั้นหุ้นก็อาจจะ “ตกลงมาแรง” และ “ขึ้นไปแรง” เป็นช่วง ๆ


เหตุผลที่ผมเชื่ออย่างนั้นเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมายาวนานหลายปีซึ่งถือว่าเป็นตลาดหุ้น “กระทิง” โดยที่การปรับตัวขึ้นนั้นมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ  ประการแรกก็คือ  กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตขึ้น  ในระยะประมาณ 6 ปี จากปี 2008  ถึงสิ้นปีที่แล้ว  กำไรเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึงปีละเกือบ 15%  (ส่วนสำคัญมาจากการที่ฐานของกำไรที่ต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาและอีกส่วนหนึ่งมาจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% มาที่ 20%)  และประการที่สองก็คือ  ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากประมาณ 7 เท่าเป็น 17.8 เท่า นั่นทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 450 จุด เป็น 1,498 จุด หรือตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นถึงปีละ 22% โดยเฉลี่ยแบบทบต้นในเวลา 6 ปี  และนั่นทำให้ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยขึ้นมาถึงจุดที่จะไปต่อได้ยากเนื่องจากเหตุผล 2 ประการเช่นกันนั่นก็คือ  ข้อแรก  กำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะโตขึ้นน้อยลงมากนับจากนั้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มจะโตช้าลงมาก  โดยที่ในระยะอีก 5 ปีข้างหน้าผมคิดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจจะโตได้ปีละไม่เกิน 10% ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่น่าจะโตช้าลง  “อย่างถาวร”   และข้อสอง  ค่า PE ของตลาดเองที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็น่าจะต้องปรับตัวลงสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ผมคิดว่าน่าจะไม่เกิน 10 เท่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

ผลของการที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตเพียง 10% ต่อปี  และค่า PE ปรับตัวลงมาเหลือ 10 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้านั้นจะทำให้ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,350 จุด  ซึ่งต่ำกว่า 1,498 จุดประมาณ 10%  ดังนั้น  ผมจึงสรุปว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะเข้าสู่  “ตลาด Sideways” ตั้งแต่ปี 2558 นี้แม้ว่าดัชนีในช่วงต้นปีกลับปรับตัวขึ้นไปกว่า 1,600 จุด  แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ดัชนีลดลงเหลือ 1,346 จุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558   เราคงต้องติดตามต่อว่าดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรไปเรื่อย ๆ  ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า  ผมเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตลาดจะต้องเป็น Sideways อย่างที่คาดเดา  แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง  เราควรมีกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไรที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้?

กลยุทธ์แรกที่อาจจะคิดได้ก็คือ  สำหรับนักลงทุนระยะยาว  เราก็ขายหุ้นทิ้งทั้งหมด  เพราะถ้าผ่านไป 5 ปีแล้วดัชนีหุ้นไม่ขึ้นเลย  การลงทุนระยะยาวก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย  จะลงทุนไปทำไม?  คำตอบของผมคือ  ถึงราคาหุ้นไม่ขึ้น  เราก็ยังได้รับปันผลประมาณ 3%  ต่อปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการฝากเงินแล้ว  เราก็อาจจะไม่ขาดทุนอะไร  ส่วนการลงทุนอย่างอื่นก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านั้น   ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ถ้าเราเลือกหุ้นลงทุนที่ดี  เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดซึ่งอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนสูงขึ้น  อาจจะถึง 7-8% ต่อปี  นั่นก็จะทำให้การลงทุนในหุ้นยังเป็นการลงทุนที่ดีกว่าการออกจากตลาดอย่างสิ้นเชิง  ส่วนในกรณีของนักเล่นหุ้นระยะสั้นนั้น  พวกเขาอาจจะไม่ได้ถูกกระทบอะไรมาก  เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า  ในระยะสั้น ๆ  หุ้นอาจจะขึ้นลงได้แรงเป็นระยะ ๆ  ดังนั้นพวกเขาก็สามารถเทรดหุ้นทำกำไรได้แม้ว่าโดยรวมแล้วอาจจะยากกว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงยาวนาน   ความเห็นโดยรวมของผมก็คือ  เราอาจจะยังลงทุนซื้อขายหุ้นอยู่  แต่อาจจะไม่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์  เราควรถือเงินสดไว้พอสมควรเพื่อที่จะฉกฉวยโอกาสช่วงที่หุ้นอาจจะปรับตัวลงมาแรงซึ่งจะทำให้เราสามารถซื้อหุ้นราคาถูกได้  นอกจากนั้น  เมื่อหุ้นมีราคาปรับตัวขึ้น  เราก็อาจจะขายหุ้นทิ้งบ้างเพื่อทำกำไร  การ  “ซื้อแล้วถือ” อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลดีเหมือนอย่างในช่วงที่หุ้นเป็นตลาดกระทิง

กลยุทธ์ต่อมาก็คือ  การออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ดูแล้วมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตได้ดีและราคาหุ้นยังถูกกว่า  นี่ก็เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ   อย่างไรก็ตาม  ประสบการณ์และความรู้จักตลาดและหุ้นในต่างประเทศของเรานั้นมักจะน้อยกว่าการลงทุนในประเทศมาก  ดังนั้น  โอกาสที่เราจะทำผลตอบแทนได้ดีก็น้อยลง  วิธีการแก้อย่างหนึ่งก็คือการซื้อกองทุนรวมอิงดัชนีตลาดของหุ้นต่างประเทศ  แต่นี่ก็ไม่รับประกันว่าเราจะทำผลตอบแทนได้ดี  เพราะตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มีราคาแพงไม่น้อยไปกว่าตลาดหุ้นไทย  การเข้าตลาดผิดจังหวะเวลาก็อาจจะทำให้เราเสียหายได้

ถ้าเรายังเลือกที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่อาจจะกำลังเป็นตลาด Sideways กลยุทธ์ในการเลือกหุ้นของเราก็ควรที่จะต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดนั่นก็คือ  ภาวะที่ค่า PE ของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปจะค่อย ๆ  ปรับลดลงต่อเนื่องยาวนาน  ซึ่งนั่นทำให้ราคาหุ้นจะขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยกำไรของบริษัทที่จะต้องเติบโตขึ้นมากกว่าการปรับลดลงของค่า PE  ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีค่า PE ลดลงปีละ 10%  กำไรของบริษัทนั้นจะต้องโตขึ้นมากกว่า 10% ต่อปี เช่น 15% ต่อปี จึงจะทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นได้ 5% ต่อปี  และถ้าหุ้นตัวนี้ให้ปันผลตอบแทนปีละ 3%  ก็เท่ากับว่าหุ้นตัวนี้ยังให้ผลตอบแทนรวมปีละ 8% ซึ่งก็จะเป็นผลตอบแทนที่ดีในยามที่หุ้นไม่ไปไหน  และนี่ก็คือเงื่อนไขข้อแรกที่ว่าหุ้นที่เราจะเลือกลงทุนนั้นจะต้องเป็นหุ้นที่เติบโตแม้ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

นอกจากหุ้นที่เราเลือกควรจะเป็นหุ้นที่ยังโตแล้ว  อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ  “คุณภาพ” ของบริษัทควรจะดีมากด้วย  และคำว่าคุณภาพนี้ก็คือมันเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  หรือถ้าจะพูดในภาษาของ VI ก็คือ  มันมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตมีอนาคต  ผลประกอบการของบริษัทมีความมั่นคงไม่ผันผวนรุนแรงแม้ว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะ “เลวร้าย”  หรือพูดง่าย ๆ  มันเป็นหุ้น “Defensive”   ส่วนในด้านของตัวเลขทางการเงินก็จะดีกว่าบริษัทที่มีคุณภาพต่ำกว่านั่นก็คือ  ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงกว่า 15% ต่อปี  บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงและไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินถาวรมากเพื่อที่จะรักษาดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์หรือขยายงาน   เป็นบริษัทที่มีหนี้สถาบันการเงินน้อยหรือเป็นบริษัทที่มีกำไรสามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้อย่างสบายรวมทั้งลักษณะของธุรกิจมีความแน่นอนของผลประกอบการสูงมาก  หรือถ้าจะสรุปอย่างง่าย ๆ  ก็คือ  บริษัทที่เราเลือกนั้นควรจะมีลักษณะของ “Super Company”  เหตุผลที่เราต้องเลือกหุ้นที่มีคุณภาพสูงนั้น  เป็นเพราะคุณภาพจะเป็นเครื่องรับประกันว่าบริษัทจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้และเมื่ออุปสรรคผ่านพ้นไป  มันก็จะกลับมาเติบโตใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และนี่จะทำให้ค่า PE ของหุ้นไม่ปรับตัวลงมามากตามภาวะตลาด

ประเด็นสุดท้ายก็คือ  เราควรจะเลือกหุ้นที่มีผลตอบแทนปันผลที่ดีในยามตลาด Sideways  เพราะปันผลนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ Downside Risk หรือความเสี่ยงที่เราจะเสียหายน้อยลงในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง  มีการศึกษาในตลาดหุ้นอเมริกาว่าในช่วงที่เป็นตลาด Sideways ยาวนานนั้น  ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้จากการลงทุนในหุ้นนั้น  90% มาจากเงินปันผล  ในขณะที่ในช่วงตลาดหุ้นกระทิง  ผลตอบแทนจากปันผลเป็นเพียงประมาณ 20% เท่านั้น  นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปันผลในช่วงตลาด Sideways  และทั้งหมดก็เป็นแนวทางการลงทุนและเลือกหุ้นหากตลาดหุ้นเป็นตลาด Sideways  แน่นอนว่าไม่มีใครบอกได้ 100% ว่าตลาดหุ้นใน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรจริง ๆ  กลยุทธ์ที่กล่าวถึงนั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่พยายามลดความเสี่ยงในการลงทุน  หากตลาดไม่เป็นไปตามที่คาด  ผมเองก็คิดว่าความเสียหายจากการยึดกลยุทธ์นี้ก็มีไม่มาก  อย่างมากก็แค่เสียโอกาส  เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับนักลงทุนก็คือ  เราจะต้องติดตามสถานการณ์และประเมินตลอดเวลาว่าตลาดและหุ้นที่เราลงทุนนั้นกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนและปรับตัวตาม

หุ้นโตไว ในประเทศโตช้า / โดย คนขายของ

 

   แนวทางการสร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุนในหุ้นแบบระยะยาว คือการถือหุ้นในระยะหลายๆปีเพื่อ สร้างอิสระภาพทางการเงินมักถูกตั้งข้อสังเกตุว่า กลยุทธ์การลงทุนแบบนี้ใช้ได้เฉพาะการลงทุนใน ประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องยาวนานอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งคนที่ลงทุนในหุ้น สมัยปี 1960สามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมหาศาลถ้าถือหุ้นผ่านมาในระยะเวลามากกว่า 50 ปี แต่ยากที่จะนำมาใช้ลงทุนในประเทศที่ไม่ได้เป็น“อภิมหาอำนาจ” ทั้งนี้เพราะประเทศโดยส่วนมาก มักจะมี “ยุคทองทางเศรษฐกิจ” เกิดขึ้นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็จะประสบวิกฤตไม่ สามารถกลับมารุ่งเรื่องได้อีก ทำให้การลงทุนในหุ้นแบบระยะยาวไม่น่าที่จะสามารถสร้างความมั่งคั่ง ได้จริงข้อสรุปดังกล่าวนี้จะเป็นจริงในทุกกรณีหรือไม่ เราจะลองมาดูกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกัน

                เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงปี 1970-1990 ดัชนีนิเกอิซึ่งอยู่ที่ราวๆ 2,000 จุดในปี 1970 ได้ทะยานขึ้นไป 19 เท่าเป็น 38,000 จุดในปี 1990 แต่หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 25 ปี ดัชนีนิเกอิก็ไม่เคยขึ้นไปถึงจุดนั้นได้อีกเลย GDP ของญี่ปุ่นที่เคยโตสูงถึง 7% ในปี 1988 กลับลดลงมาเหลือแค่ 0-2% ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจาก ตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าว แสดงว่าเราไม่ควรซื้อหุ้นญี่ปุ่นตั้งแต่หลังจากปี 1990 หรือไม่? จากการ ศึกษาราคาหุ้นของบริษัทญึ่ปุ่นบางบริษัทกลับพบว่า ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะไม่เป็นใจ ไหนจะมีเรื่อง สังคมผู้สูงอายุ และภัยธรรมชาติ มาเป็นอุปสรรคในการเติบโต แต่กลับมีบางบริษัทกลับสามารถ สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างน่าประทับใจ

                ถ้าคุณขายหุ้นของ “TOYOTA” ไปตอนดัชนีนิเคอิสูงสุดที่ 38,000 จุดในปี 1990 เพราะคิดว่า ยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่นได้หมดลงแล้ว คุณอาจจะต้องเสียใจเพราะว่าราคาหุ้นของโตโยต้าก็ยังคงโตต่อไปได้แม้ดัชนีโดยรวมไม่เป็นใจและการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ ในปี 2000 สิบปีให้หลัง ราคาหุ้นขึ้นไป 260% เมื่อเทียบกับปี 1990นอกจากนั้นกำไรสุทธิของโตโยต้าก็ยังโต อย่างต่อเนื่องมาตลอด ในปี 2003 ดัชนีนิเคอิทำจุดต่ำสุดในรอบยี่สิบปีที่ราว 8,000 จุด หรือลงมา กว่า 80% จากปี1990 แต่กำไรสุทธิของโตโยต้าในปี 2003 ก็ยังโตกว่าในปี 1990 ถึง 156%

                บริษัท Fast Retailing เจ้าของร้านเสื้อผ้าแบรนด์ “UNIQLO” นำหุ้นเข้าทำ IPO ในปี 1994 โดยเข้าตลาดหุ้นที่ฮิโรชิมา ก่อนที่จะย้ายมาเทรดในตลาดหุ้นโตเกียวในปี 1999 ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายงานอย่างรวดเร็ว มีทั้งการควบรวมกิจการร่วมทุน พร้อมทั้งขยายสาขาให้ครอบคลุมทั้งใน ประเทศและต่างประเทศ กำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 2005-2014 เติบโตขึ้นมาเท่าตัว ในขณะที่ ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา 4เท่า คิดเป็นผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นแบบทบต้นมากกว่า 15% ต่อปี

                สเปนเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งยุคทองของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคงผ่านไปแล้ว ในรอบสิบปีที่ ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตของ GDPของสเปนเฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่า 1% นอกจากนั้นยังมีปัญหาหนี้สิน และอัตราการว่างงานที่สูงถึง 22% แต่ถึงกระนั้นบริษัทของสเปนอย่าง INDITEX เจ้าของร้านเสื้อผ้า แบรนด์ ZARA ยังสามารถสร้างรายได้โตมา2.6 เท่า และกำไรโตขึ้นมา 3 เท่าในระยะเวลาสิบปี และถ้าคุณถือหุ้น INDITEX ในช่วงสิบปีนี้มาและไม่เคยขายออกไปเลย จากเงิน 1 ล้านบาทจะกลายเป็น5 ล้านบาทในวันนี้


                ในประเทศที่ GDP โตช้าและมีปัญหาเชิงมหภาค แต่ยังมีบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทสามารถเติบโต ได้อยู่ ปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้บริษัทเหล่านี้เติบโตได้ นอกจากการมีผู้บริหารที่เก่งกาจ ทีมงานที่ดีเยี่ยม และ สินค้าเป็นที่ยอมรับ บริษัทเหล่านี้ยังมีแผนการขยายตลาดออกไปในต่างประเทศแบบเชิงรุก ทำให้ ผลประกอบการของบริษัทไม่ขึ้นอยู่กับผลกระทบทางมหภาคของประเทศใดประเทศหนึ่ง โลกในปัจจุบันมีหลายมาตรการซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้ายของทุน เช่นการทลายลงของกำแพง ภาษี และ การให้สิทธิประโยชน์แก่ทุนต่างชาติของรัฐบาลต่างๆ จากกรณีศึกษาข้างต้นทำให้ผมเชื่อว่า ยังมีบริษัทจดทะเบียนของไทยที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นในระดับสูงได้ แม้ว่าภาพรวมทาง มหภาคของประเทศอาจจะยังดูไม่ดีนัก ในช่วงต่อจากนี้บริษัทที่มีความสามารถในการขยายธุรกิจใน ต่างประเทศดูน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อ AECก่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวในเร็ววันนี้