Sunday, November 29, 2015

ปรับใจสู่ความเป็นจริง / ดร.นิเวศน์




   ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันอาจจะเป็น “จุดเริ่ม”  ของการเปลี่ยนแปลง  “ทิศทาง”  ของภาวะตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศไทย  ไม่ใช่เพราะดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ตกต่ำลงมาตั้งแต่ต้นปี  เพราะดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหุ้นของไทยนั้นตกลงมาน้อยมาก  แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ  การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยรวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของไทยนั้นถดถอยลงต่อเนื่องมาหลายปีอย่างเห็นได้ชัดและผมก็ยังไม่เห็นว่าเราจะสามารถปรับตัวให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไร  นอกจากนั้น  ดัชนีตลาดหุ้นของไทยเองก็มีราคาแพงกว่าที่ควรเป็นเมื่อเทียบกับอดีต  สิ่งเดียวที่ผมเห็นว่ายังทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นยังเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลก็คือการที่ทางเลือกอื่นนั้นก็ไม่ได้ดีกว่า  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นต่ำมากเป็นประวัติการณ์และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น  เช่นเดียวกับทรัพย์สินอย่างอื่นเช่นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาแพงลิ่วหรือการลงทุนในทองคำที่มีความเสี่ยงสูงและไม่จ่ายผลตอบแทนเป็นเงินสดเลย  ด้วยเหตุดังกล่าว  ผมเองจึง“คาดเดา”  ว่า  ดัชนีตลาดหุ้นนับจากนี้ไปอีกหลายปีนั้นน่าจะเป็นตลาดหุ้น “Sideways”หรือตลาดหุ้นที่ดัชนี “ไม่ไปไหน” อีกหลายปี  แต่ในระหว่างนั้นก็จะปรับตัวขึ้นลงสลับกันไป

ถ้าดัชนีหุ้นเป็น “ไซ้ต์เวย์”  ตามที่คาดเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยเป็นเวลานาน  สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ  เราควรที่จะ “ปรับใจ” เพื่อที่จะรับกับสถานการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า  วิธีคิดและกลยุทธ์ต่าง ๆ  ของเราก็อาจจะต้องปรับตามเพื่อที่จะสอดรับกับสถานการณ์นั้นเพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถ  “เอาตัวรอด”  หรือยังสามารถสร้าง “ผลตอบแทนที่เหมาะสม”  ได้   มาดูกันว่านักลงทุนแต่ละแนวน่าจะต้องเตรียมใจรับกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่นักลงทุนที่เลือกหุ้นไม่เป็นแต่อยากได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควรในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ซึ่งนิยมลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ   ก่อนหน้านี้พวกเขาหวังว่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 10-12% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาว  ซึ่งจะทำให้เงินของเขาเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก 6-7 ปี   ผมคิดว่าเราควรปรับความคิดใหม่ว่านั่นคือเรื่องใน “อดีต” ที่อาจจะไม่หวนกลับมาอีกแล้ว  การที่ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 10% แบบทบต้นนั้นน่าจะหมายความว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วมาก  เป็น “ดารา” ของโลก  แต่นับจากนี้ไปในอนาคตเราคงทำไม่ได้แล้ว  ดังนั้น  ผมคิดว่าเราควรปรับใจว่าเราคงจะได้น้อยลง  ถ้าจะมองแบบอนุรักษ์นิยมก็น่าจะคิดว่าเราได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 5-7% แบบทบต้น ซึ่งก็หมายความว่าเงินของเราอาจจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในเวลาประมาณ 10-15 ปี  “ความฝัน” ที่จะเกษียณและมีชีวิตที่จะอยู่อย่างสบายก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

คนที่เล่นหุ้นเป็น “งานอดิเรก” ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนที่เล่นหุ้นที่มี Story น่าตื่นเต้น  เล่นหุ้นที่มี “ข่าวดี” ตามหน้าหนังสือพิมพ์หุ้นหรือข่าวตาม Social Media  เล่นหุ้นที่มีนักลงทุนรายใหญ่เข้าไปเล่น  และเล่น “หุ้นปั่น” ที่มีราคาวิ่งขึ้นไปแรงมากโดยที่ “ไม่มีข่าวอะไรเลย”ยกเว้น  “ข่าวลือ”  และหุ้นทั้งหมดนั้นมักเป็นหุ้นตัวเล็กหรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำ  ผมก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับว่าการทำเงินจากการ  “ตามแห่”  หรือเล่นหุ้นตามกระแสนั้น  ยากที่จะทำกำไรได้  การขาดทุนจะกลายเป็นเรื่องปกติ  ส่วนกำไรนั้นจะหาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ  และนี่จะเป็นงานอดิเรกที่มีต้นทุนสูงเกินไป

เช่นเดียวกัน นักเล่นหุ้นขาใหญ่หรืออาจจะไม่ได้ใหญ่นักแต่ก็มีเงินส่วนตัวและวงเงินมาร์จินมากพอที่จะ  “ไล่ราคา” หุ้นตัวเล็ก ๆ  หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำและขายทำกำไรได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่  “ไม่เคยพลาด” และทำให้หลายคนร่ำรวยมีเงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาทจากเงินต้นไม่มากนัก  แต่นับจากวันนี้ผมก็คิดว่าวิธีการแบบนี้ก็น่าจะได้ผลน้อยลง  หลายครั้งแทนที่จะกำไรก็อาจจะขาดทุนอย่างหนักได้โดยเฉพาะถ้าตลาดหุ้นไม่เป็นใจซึ่งจะทำให้คนทำต้อง  “ติดหุ้น” หรือในกรณีเลวร้ายต้องถูกโบรกเกอร์ฟอร์สเซลหรือบังคับขายหุ้นเพื่อลดมาร์จินซึ่งมักจะทำให้กลายเป็น  “หายนะ” ของการเล่นหุ้นของ  “เจ้ามือ” ในท้ายที่สุด

คนที่เล่นหุ้น Growth หรือหุ้นที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าคือ  “ผู้ชนะ”  หรือประสบความสำเร็จสูงมากกลุ่มหนึ่งในตลาดหุ้น  ลักษณะของหุ้นที่พวกเขาเล่นนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีการเติบโตของกำไรสูงมาระยะหนึ่งหรือไม่ก็เริ่มมีกำไรเติบโตสูงขึ้นมาอย่างเด่นชัดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมหรือตัวบริษัทที่เอื้ออำนวยให้บริษัททำกำไรได้ดีขึ้นมากจากอดีตที่ “เซื่องซึม”  หรือ “ธรรมดา”   คนที่เล่นหุ้นเหล่านี้ก็คือคนที่สามารถมองเห็นแนวโน้มหรือการเปลี่ยนแปลงก่อนคนอื่นและเข้าไปลงทุน  หลังจากนั้นพวกเขาก็จะช่วยกันเผยแพร่หรือกระตุ้นให้นักลงทุนคนอื่นสนใจผ่านสื่อต่าง ๆ  จนเกิดเป็น “กระแส” ของหุ้นว่ามันเป็นหุ้นที่โตเร็วและมีศักยภาพสูง  ผลต่อมาก็คือการที่คน “แห่” กันเข้าไปซื้อหุ้นและดันราคาให้ขึ้นไปสูงลิ่วอย่าง  “ไม่น่าเชื่อ”  ส่วนหนึ่งเนื่องจาก Free Float ของหุ้นที่มักจะต่ำเมื่อเทียบกับปริมาณของคนที่เข้าไปซื้อหุ้น  ราคาของหุ้นเติบโตเร็วเหล่านั้นสูงจนค่า PE หลาย ๆ  ตัวนั้นเกินกว่า 40-50 เท่า ค่า PB ก็สูงบางทีเป็น 10 เท่าโดยที่ปันผลตอบแทนนั้นต่ำกว่า 1% ต่อปี  แต่นับจากวันนี้ผมก็คิดว่าสถานการณ์แบบนี้ก็จะเกิดยากขึ้นมาก

เหตุผลก็คือ  ด้วยสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวย  ผลประกอบการของหุ้น Growth ก็เริ่มปรากฏให้เห็นว่ามันไม่สามารถที่จะโตได้แบบนั้นในระยะยาว  ประเด็นสำคัญก็คือ  ตัวบริษัทเองนั้น  ส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพหรือความสามารถพอที่จะ “ฝ่า”กระแสของภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงไปได้มากนัก  และนั่นทำให้นักลงทุนเริ่ม  “ขาดความมั่นใจ” ต่ออนาคตของบริษัทที่ถูกวาดภาพไว้อย่างสวยหรู  ผลก็คือ  พวกเขาบางคนจะเริ่มขายหุ้นทำให้ราคาหุ้นตกลงมาทำให้ค่า PE ลดลง  ในเวลาเดียวกัน  กำไรที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มากพอที่จะสนับสนุนค่า PE ที่สูงได้  บางกรณีที่เลวร้าย  กำไรของบริษัทกลับลดลง  และนี่ทำให้หุ้นกลายเป็น “หายนะ”   ดังนั้น  ผมเองคิดว่าคนที่เล่นหุ้น Growth จะต้อง “ปรับใจ” ให้เข้ากับความเป็นจริงที่ว่า  หุ้นนั้นไม่สามารถที่จะโตได้เร็วและยาวนานมากหากมันไม่ใช่ซุปเปอร์สต็อก  ดังนั้น  ค่า PE ของหุ้นนั้นไม่อาจจะสูงมากอย่างที่เคยเป็นได้

สุดท้ายสำหรับ VI “พันธุ์แท้”  ทั้งหลายที่ก็ทำผลงานการลงทุนได้ประทับใจมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนหลายคนคิดว่าตนเองนั้นจะยังคงทำผลตอบแทนต่อปีเฉลี่ยอย่างน้อยก็ปีละ 20-30% ในระยะยาวได้จากการลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า “มูลค่าพื้นฐาน” ที่แท้จริงมากพอ  มี  Margin of Safety สูง  ผมเองคิดว่า VIจำนวนมากนั้น  “Over Rated” หรือให้คะแนนความสามารถของตนเองเกินความเป็นจริงเนื่องจากสถิติที่โดดเด่นเหนือกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดมากในอดีตที่ผ่านมา  ซึ่งสาเหตุนั้นผมคิดว่ามาจากการที่หุ้นที่เรียกว่า “VI” นั้นได้รับความนิยมสูงและราคาปรับตัวขึ้นไปมากประกอบกับการที่ VI นั้นมักจะมีการซื้อขายเปลี่ยนตัวหุ้นสูงเป็นแนว  “เทรดหุ้น VI” คือเปลี่ยนตัวเล่นไปเรื่อย ๆ  ขายหุ้น VI ที่ปรับตัวขึ้นเร็วและเข้าไปจับหุ้น VI ตัวใหม่ที่ราคายังไม่ขึ้น  ผลจากการนี้ทำให้หุ้น “VI” เกือบทุกตัวมีราคาแพงขึ้นมากจนไม่อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้น VI ต่อไปแล้ว  ดังนั้น  ในอนาคต VI เองก็จะต้องปรับใจยอมรับว่าการหาหุ้น VI ที่มีราคาถูกจะยากขึ้นเรื่อย ๆ  และการที่จะทำผลตอบแทนปีละ 20-30% นั้นยากมาก  ควรจะหวังว่าถ้าทำได้ปีละ 12-15% ก็สุดยอดแล้ว

และทั้งหมดนั้นก็คือสิ่งที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตไปอาจจะอีกหลายปี  แน่นอน มีโอกาสที่จะผิด  หุ้นยังอาจจะดีต่อไปอีกหลายปี  บางทีอาจจะดีมาก “หักปากกา” ของคนที่มองตลาดใน“ภาพลบ”  หลาย ๆ  คน  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยอาจจะกลับมา  “วิ่งฉิว” อย่าง “คาดไม่ถึง”  ซึ่งผมเองก็คงจะ “เงิบ” ไป  แต่นั่นคงไม่ปัญหา  เพราะจริง ๆ  แล้วผมเองก็อยากที่จะ “คาดผิด”  เพราะนั่นคงจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของผมเองดีขึ้นมาก

Thursday, November 26, 2015

เหมือนกัน แต่ ไม่เหมือนกัน / โดย คนขายของ


เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีนักลงทุนไทยหลายท่านได้เริ่มลงทุนในธุรกิจที่เรียกว่ากลุ่ม “Modern Trade” หรือ “ค้าปลีกสมัยใหม่” เช่นหุ้นของ CP7-11, BIGC และ HomePro เพราะได้ศึกษาการเติบโตของธุรกิจ ประเภทนี้ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป และเห็นว่าการเติบโตในลักษณะที่เคยเกิดขึ้นในต่างแดน กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะจับกระแสได้ถูกต้อง นักลงทุนเหล่านั้นสามารถสร้างผลกำไรในการลงทุน ได้อย่างมากมาย ผ่านมาร่วมสิบปี นักลงทุนไทยหลายท่านเริ่มสนใจไปลงทุนในต่างประเทศ เมื่อมาถึง ขั้นตอนแรกที่จะเริ่มลงทุน มักเลือกหุ้นที่มีความคุ้นเคย หรือ ที่เคยประสบความสำเร็จในการลงทุนใน หุ้นกลุ่มนั้นๆในไทยมาก่อน เช่น ค้าปลีก ร้านอาหาร ผู้ผลิตเครื่องดื่ม หรือ กลุ่มสื่อสาร เพราะเห็นว่า หุ้นเหล่านี้อยู่ในกระแสหลักของโลกที่ชนชั้นกลางมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้รสนิยมในการบริโภคคล้ายคลึงกัน บทสรุปนี้จะถูกต้องหรือไม่? เราลองมาดูกรณีศึกษา ที่เกิดขึ้นจริงของหุ้นเหล่านี้ในต่างประเทศกัน

ในขณะที่หุ้น Hypermarket อย่าง BIGC Supercenter ในไทย ราคาหุ้นได้ขึ้นมาถึง 10 เท่าในรอบ สิบปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าหุ้น Hypermarket ที่ทำธุรกิจในจีน อย่างหุ้น Sun Art Retail Group ไม่สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ถือหุ้นขนาดนั้นได้ Sun Art เกิดจาการร่วมทุนของ บริษัท Groupe Auchan ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส กับ RT Mart ของไต้หวัน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีนี้บริษัทมีสาขาในจีนสูงถึง 396 สาขา มีส่วนแบ่งการตลาด 14% นับว่าเป็นHypermarket ที่ใหญ่ที่สุดในจีน Sun Art ทำการขายหุ้นให้บุคคลทั่วไปในปี 2011 ที่ราคา 7.2 HKD ผ่านมา 4 ปี ราคาหุ้นกลับอยู่แค่ 5.66 HKD ขาดทุนไปราวๆ 20% ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่นักลงทุนควรศึกษาเวลาซื้อหุ้นต่างประเทศ นอกจากรู้เรื่องของบริษัทที่จะซื้อหุ้นแล้ว ควรศึกษาสภาวะแวดล้อมของการแข่งขันด้วย ตลาดHypermarket ของจีนนั้นมีผู้เล่นมากมายถึง 10 บริษัท ทุกบริษัทไม่มีใครสามารถสร้างส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 20% ทำให้การแข่งขันสูงมาก แต่ในไทย เมื่อก่อนมีผู้เล่นสามราย ตอนนี้เหลือแค่สองราย ทำให้ระดับความเข้มข้นของการแข่งขัน ต่างกันมาก นอกจากนั้น ในตลาดจีนยังมีบริษัท China Resources Enterprise ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ ห้าง Walmart และห้าง Carrefour ร่วมแข่งขันด้วย แถมยังมีร้านค้าออนไลน์อีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ อัตรากำไรสุทธิของ Sun Art ที่เคยสูงถึง 3.41% ในปี 2013 ได้ลดลงมาเหลือแค่ 2.8% ในไตรมาสล่าสุด ในขณะที่ตัวเลขของBIGC อยู่ที่เกือบ 5%

ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจรับ เงินสดและไม่ต้องสร้างอาคารเองเพราะอาศัยเช่าพื้นที่ศูนย์การค้า ทำให้การคืนทุนค่อนข้างเร็ว หุ้นร้านอาหารของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในรอบสิบปี เช่น หุ้นของร้านอาหาร S&P ปรับตัวขึ้น มาถึง 6 เท่าในระยะเวลา 10 ปี แต่ถ้าเรามาดูหุ้นร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่น ที่เราคุ้น เคยกันดีเพราะมี สาขาในประเทศไทยอย่าง Mos Food Services เจ้าของร้าน Mos Burgerราคาปรับขึ้นมาแค่ หนึ่งเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะกิจการอาหารในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ถือครองเงินสด อยู่ในปริมาณมาก ไม่ยอมนำไปลงทุนเพิ่ม การขยายงานเน้นอนุรักษ์นิยม ทำให้ ROE (อัตราส่วนผล ตอบแทนผู้ถือหุ้น) ต่ำมากๆ ผมศึกษา ROE ของหุ้นร้านอาหารในญี่ปุ่น 11 บริษัท พบว่า ROE สูงสุดทำได้แค่ 6.88% ในขณะที่ ROE ของหุ้น S&P ของไทยทำได้สูงถึงเกือบ 30%

ในตอนนี้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบาย มีหลายโบรกเกอร์ให้ บริการซื้อขายหุ้นของต่างประเทศได้ แต่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศให้ได้ผลดี นักลงทุนควรศึกษา หาความรู้เกี่ยวกับประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเมืองการปกครอง, พฤติกรรมผู้บริโภค, วัฒนธรรมการทำธุรกิจ, ภาพรวมของอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ ประกอบการตัดสินใจ  การลงทุน ที่เคยให้ผลตอบแทนที่ดีในไทย อาจสามารถนำไปใช้ในต่างประเทศได้ หากแต่ต้องมีการศึกษาหา ความรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับแต่งประกอบด้วย การด่วนสรุปว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกันต้องมีลักษณะเหมือนกัน ดังเช่นว่า หุ้นค้าปลีกในจีนควรมี PE เท่ากับหุ้นค้าปลีกในไทย หรือหุ้นค้าปลีกออนไลน์ในจีนควรมี การเติบโตเหมือนหุ้นค้าปลีกออนไลน์ของอเมริกา อาจทำความเสียหายให้แก่เงินลงทุนได้ ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่สภาวะแวดล้อมต่างกัน ดังนั้นการประเมินมูลค่าจึงควรใช้ บรรทัดฐานที่ต่างกันเพื่อความถูกต้องแม่นยำของนักลงทุน

Monday, November 23, 2015

วันหวย (หุ้น)ออก / โดยดร.นิเวศน์

   

    การศึกษาเรื่องของยีนส์มนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตวิทยานั้นพบว่า  คนเรานั้นมีพฤติกรรมที่  “ชอบลุ้น”  ซึ่งนี่ก็คงเกี่ยวข้องกับการ  “พนัน” หรือการชอบ “เสี่ยง” เราจะรู้สึกตื่นเต้นที่จะเห็น “ผลลัพธ์” ที่จะออกมาว่ามันดีหรือไม่ดีนั่นคือเราจะชนะหรือแพ้  เราจะได้หรือจะเสีย  หรือเราจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีมีโอกาสที่จะชนะหรือได้หรือไม่  ถ้าเราชนะหรือได้  เราก็จะดีใจ  แต่ถ้าออกมาแย่หรือเสีย  เราก็จะเสียใจ  หลังจากนั้น  เราก็จะเริ่มไปลุ้นเรื่องใหม่หรือรอลุ้นเรื่องเดิมในรอบต่อไป ถ้ามี)   ยิ่งรางวัลที่จะได้รับนั้นสูงเมื่อเทียบกับฐานะของเราถ้าเราชนะ  เราก็ยิ่งอยากลุ้นเพิ่มเป็นทวีคูณแม้ว่าโอกาสที่จะแพ้นั้นสูงลิ่วจนไม่คุ้มที่จะเสี่ยง  แต่เราก็อยากที่จะเสี่ยง  และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมคนที่มีเงินน้อยจึงชอบ “แทงหวย”  และคนที่มีเงินมากจึงชอบ  “เล่นหุ้น”  โดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไรหรือ  “หุ้นปั่น”  ที่มีโอกาส “ได้เสีย”  สูงโดยเฉพาะที่เป็นการ “ได้เสีย” แบบว่า  ถ้าได้แล้ว “ได้มาก”  แต่ถ้าเสียก็  “เสียน้อย”  แต่โอกาสได้นั้นอาจจะ 1 ใน 100 หรือ 1 ในล้าน  แต่โอกาสเสียนั้นอาจจะ 99 ใน 100 หรือ 999,999 ในล้านครั้ง  ตัวอย่างเช่น  การแทงหวยที่ใช้เงินเพียงไม่ถึง 100 บาทก็อาจจะได้รางวัลเป็นล้านบาทได้  เช่นเดียวกับการซื้อชาเขียวราคาไม่ถึง 20 บาทต่อขวดแต่อาจจะได้ทองหรือรถเบ้นซ์  หรือการเล่น “หุ้นปั่น” ที่อาจจะกำไรได้หลายเท่าจากหุ้นราคาอาจจะ “ไม่ถึงบาท”

ช่วงเวลาของการ “ลุ้น” นั้น  เป็นเวลาที่น่าตื่นเต้น  บางครั้งเราแทบจะหยุดทำกิจการอื่น ๆ  เพื่อคอยดู “ผลที่ออก”  ผมยังจำได้ถึงประสบการณ์ช่วงแรกที่ผมไปทำงานในโรงงานน้ำตาลในต่างจังหวัดสมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว  ในช่วงที่โรงปิดหีบเพื่อซ่อมเครื่องจักรเป็นเวลาประมาณ 8 เดือนต่อปีนั้น  โรงงานจะมีเสียงดังมากเพราะทุกแผนกจะต้องซ่อมเครื่องจักรในส่วนของตน  แต่พอถึงวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนในช่วงเช้า  โรงงานทั้งโรงนั้นแทบจะ “เงียบสนิท” เหมือน “โรงงานร้าง”  ไม่มีคนมาทำงาน  เหตุผลก็เพราะคนงานแทบทุกคนต่างก็ใจจดใจจ่อเงี่ยหูฟังวิทยุประกาศผลรางวัลที่หนึ่งและรางวัลใหญ่ทั้งหลายและรางวัลเลขท้าย 2 และ 3 ตัว   คนที่ถูกรางวัลก็จะดีใจตามรางวัลที่ถูก  ส่วนคนที่ “ถูกกิน” ก็จะเสียใจ  และทั้งสองฝ่ายต่างก็แทบไม่เป็นอันทำงานในวันนั้นทั้งวัน  หลังจากวันนั้น  ทุกคนก็กลับมาทำงานตามปกติ  ในระหว่างที่รอ “วันหวยออก” งวดต่อไป  พวกเขาต่างก็จะคอยเสาะแสวงหา  “เลขเด็ด” ที่จะมา “แทง” ต่อ  ไม่มีใครเลิกเล่น

ปัจจุบันนี้ผมไม่รู้ว่าสภาพของโรงงานยังเป็นแบบเดิมหรือไม่ในวันหวยออก  แต่ความเชื่อผมก็คิดว่าน่าจะยังเป็นอยู่บ้าง  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นคงเป็นเรื่องของคนมีเงินที่พยายามหาเงินจากเงินของตัวเองในตลาดหุ้นที่ผมรู้สึกว่าในบางมุมมีลักษณะของการเสี่ยงที่คล้าย ๆ  กับหวยเหมือนกันนั่นก็คือ  ตลาดของหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก ๆ  ที่ราคาขึ้นลงหวือหวาที่เปิดโอกาสให้คน  “แทงหุ้น” และ “ลุ้นหุ้น”  เพียงแต่ว่าสำหรับหุ้นแล้ว  มัน  “ออกทุกวัน”  หลายคนแทบจะไม่เป็นอันทำอะไรเลยในช่วงตลาดเปิด  บางวันที่ “แทงถูก” มีกำไรจากหุ้น  เขาก็ดีใจ  บางวันขาดทุน  เขาก็เสียใจ  พอตลาดปิดเขาก็จะกลับไป “เสาะแสวงหา”  “หุ้นเด็ด”  ตัวใหม่ที่จะเล่นในวันต่อไป  และก็คงคล้าย ๆ  กับคนแทงหวยที่โรงงานนั่นก็คือ  ผมเองไม่เคยเห็นว่ามีใคร  “รวย” จากหวยเลย  นาน ๆ  ครั้งก็จะเกิด  “เสี่ย” ขึ้นมาเพราะถูกรางวัลใหญ่ได้เงินเป็นแสนบาทในสมัยนั้น  แต่พอเวลาผ่านไป  “เสี่ย”  ก็หมดตัวเพราะ “เสียหวย”  และ “ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย”  อื่น ๆ   คนเล่นหุ้นเก็งกำไรหรือหุ้นปั่นก็คงจะคล้ายกันที่บางช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นร้อนเป็นกระทิงก็จะมีคนได้กำไรมาก  แต่เมื่อเล่นต่อเนื่องกันไปนาน ๆ  เงินก็ถูก  “คืนไปหมด”  โดยเฉพาะเวลาหุ้นตกหรือเกิดวิกฤติตลาดหุ้น  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ทุกคนก็ยังอยู่กับหวยและหุ้น  คงเป็นเรื่องยากที่จะ “รวยแล้วหยุด” หรือ  “จนแล้วหยุด”  เพราะมันอยู่ในยีนส์

ในฐานะของ VI ผู้มุ่งมั่นนั้น  เราเองก็ไม่อาจจะหลีกหนีจากความ “ชอบลุ้น”  ไปได้  สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ  เราควรพยายามลดการลุ้นหุ้นในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือน  การลุ้นเป็นไตรมาศนั้นน่าจะพอยอมรับได้  แต่วันที่ “หวยออก” จริง ๆ  ของหุ้นนั้น  สำหรับผมแล้ว  มันไม่ใช่ราคาหุ้นที่จะขึ้นหรือลงในวันสิ้นไตรมาศ  ผมคิดว่าราคาหุ้นนั้นมันไม่ได้สำคัญเท่ากับตัวเลขผลประกอบการประจำไตรมาศของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ซึ่งก็จะประกาศในเวลาไม่เกิน 45 วันนับจากวันสิ้นสุดแต่ละไตรมาศ  วันที่ประกาศงบของหุ้นแต่ละตัวก็มักจะใกล้เคียงกันทุกปี  บางบริษัทก็อาจจะประกาศประมาณ  5 วันก่อนวันสิ้นสุด บางบริษัทก็ประกาศเร็วหรือช้ากว่านั้น  และนั่นก็คือวันที่ผมจะใจจดใจจ่อ “ลุ้น” ว่างวดนี้กำไรจะเป็นอย่างไร  ถ้าดีขึ้นมากก็มีความสุข  ถ้าแย่ลงหนักก็จะเป็นทุกข์  เมื่อตัวเลขออกมาแล้วผมก็จะดูสาเหตุว่าทำไมตัวเลขจึงเป็นแบบนั้นและก็จะคาดการณ์ต่อไปว่า  “งวดหน้า”  มันจะเป็นอย่างไรจะดีขึ้นหรือแย่ลงระดับไหน  แต่ผมก็มักจะไม่คิดคำนวณเป็นตัวเลขแน่นอนแบบนักวิเคราะห์  ผมชอบแบบว่า Approximately Right หรือประมาณว่าถูกก็พอ

การดูและติดตาม  “หวยที่ออก”  นั้น  ผมไม่ดูเฉพาะหุ้นที่ตนเองถืออยู่  ผมจะดูแทบทุกตัวโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ผมสนใจและหุ้นตัวใหญ่ ๆ  ส่วนหุ้นที่ผมไม่สนใจนั้น  ผมก็จะมองผ่าน ๆ  ให้พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัท  การดูตัวเลขผลประกอบการรายไตรมาศและรายปีของบริษัทจดทะเบียนนั้น  ผมคิดว่ามันมีประโยชน์ในแง่ที่มันสอนให้เราเข้าใจ Pattern หรือรูปแบบของผลประกอบการของบริษัท  ซึ่งสิ่งนี้มักจะสะท้อนไปถึงลักษณะของตัวหุ้นว่ามันเป็นหุ้นประเภทไหนใน 5-6 แบบตามการจัดของปีเตอร์ ลินช์  การที่เราติดตามผลประกอบการไปเรื่อย ๆ  ต่อเนื่องยาวนานหลาย ๆ  ปี  เราก็จะ  “ซึ้ง” เข้าไปในใจว่าผลประกอบการของบริษัทนั้น  ในระยะยาวแล้วมันก็สะท้อนมาจากธรรมชาติของธุรกิจเองว่ามันแบบไหน

หุ้นจำนวนมากนั้น  พอประกาศงบมา  ถ้าเราไม่คุ้นเคยหรือไม่มีประสบการณ์กับมันมาก่อนเราก็จะรู้สึก  Surprise หรือประหลาดใจมาก  เช่น  จากที่ไม่เคยกำไรดีหรือขาดทุนก็อาจจะกำไร “โตกระโดด” ดูน่าตื่นเต้นมาก  บางทีบริษัทกำไรดีติดต่อกันมา 2-3 ปี  อยู่ ๆ ก็ขาดทุนเสียอย่างนั้นโดยไม่มีเหตุผลพิเศษ  ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นลงมากตามกันไป  หุ้นที่มีตัวเลขแนวนี้  ถ้าเราวิเคราะห์ดี ๆ  ก็อาจจะพบว่าเราไม่สามารถใช้ตัวเลขมาประเมินราคาได้จริง ๆ  อาจจะเนื่องจากการที่มันขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาสินค้าไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมามันจะดี  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นก็จะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ทั้งสิ้น  คือเราเก็งว่ากำไรน่าจะดีต่อไปทั้ง ๆ  ที่ “งวดหน้า” ตัวเลขอาจจะออกมาตรงกันข้าม

ปกติผมเองนั้นเน้นการลงทุนในหุ้นที่มั่นคง แข็งแกร่งและเติบโต  ดังนั้น  ผมก็จะตามตัวเลขของบริษัทที่ผมคิดว่ามันหุ้นแบบนั้นทั้งที่ถืออยู่และยังไม่ได้ถือ  สิ่งที่ผมลุ้นก็คือ  ยอดขายและกำไรของบริษัทก็ควรจะต้องเป็นแบบนั้นและก็ไม่ควรมี  “ข้อแก้ตัว”   ถ้าตัวเลขออกมาผิดกับที่มันควรจะเป็นเช่น  แทนที่ยอดขายและกำไรจะเพิ่ม  มันกลับลดลงทั้งยอดขายและกำไร  แบบนี้ถ้าจะอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดีหรือคู่แข่งเข้ามาแย่งชิงตลาดโดยการลดราคาสินค้า  ผมก็จะต้องดูว่ามันสมเหตุผลไหม  เพราะหุ้นที่เติบโตเร็วนั้น  มันควรที่จะโตได้โดยตัวของมันเองไม่ใช่อิงกับเศรษฐกิจเป็นหลัก เป็นต้น

บ่อยครั้ง นอกจากการดูหวยของผลประกอบการแล้ว  ผมก็มักจะเหลือบดูราคาหุ้นในช่วงนั้นด้วย  ที่มักจะสะท้อนตามผลประกอบการ  อย่างไรก็ตาม  หุ้นหลาย ๆ  ตัวราคาก็ไม่สะท้อนเท่าที่ควร  บางตัวก็ไปในทางตรงกันข้ามซึ่งมักจะเกิดน้อย  ผมเองก็พยายามอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้น  บ่อยครั้งผมก็รู้สึกว่าหุ้นจำนวนไม่น้อยในตลาดนั้น  ถูก “ควบคุมราคา” โดยคนบางคนหรือบางกลุ่มทำให้ราคาไม่เป็นธรรมชาติซึ่งผมก็ไม่สนใจอยู่แล้ว  แต่ในหุ้นบางตัวที่ราคาไม่สะท้อนกับผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง  บางทีผมก็ถือโอกาสซื้อ  และนี่ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการ  “ลุ้นหุ้น” ในแบบฉบับ VI

Thursday, November 19, 2015

5 เทรนด์อสังหาฯ /วีระพงษ์ ธัม

         
   ช่วงที่ผ่านมาผมใช้เวลาพอสมควร ในการเลือกที่อยู่อาศัยในอนาคตให้กับครอบครัว ทำให้ได้เห็นแนวโน้มบางอย่างที่น่าจะมาจากสภาพสังคม แนวคิด วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนเมือง และนี่คือ 5 เทรนด์ที่ผมคิดว่ากำลังจะเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ และอาจจะเป็นกระแสหลักในอนาคต ทำให้ได้ไอเดียในการลงทุนในหุ้นและเลือกบ้านครับ

            กระแสแรกคือ การโตกลับข้างของเมือง Urbanization หรือวิถีชีวิตคนเมือง จะยิ่งทำให้คนเมืองเป็นเมืองยิ่งกว่าเดิม ในอดีตคนส่วนหนึ่งเบื่อการอาศัยในเมือง จึงไปสร้างบ้านชานเมืองที่มีสภาพแวดล้อมดีกว่า บ้านกว้างกว่า มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า ทำให้เมืองโตออกไปในแนวราบจนกรุงเทพฯ มีขนาดเมืองใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เกิดเมืองรอบนอก หรือเราเรียกว่าปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การเดินทางเข้าเมืองยากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาจราจร เพราะงานส่วนมากกระจุกตัวในเขตตัวเมืองชั้นในอยู่ดี เหตุผลนี้เองทำให้เกิดเมืองแนวสูงขึ้น แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคอนโดฯ ในเมืองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนระยะหลัง ๆ เมื่อต้นทุนที่ดินในเมืองสูงขึ้น เกิดการกระจายคอนโดออกไปชานเมืองตามแนวรถไฟฟ้า ย้อนรอยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นแนวคิดที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ดีเมืองจะกระชับขึ้นเรื่อย ๆ ความหนาแน่นของประชากรจะกระจุกตัวยิ่งกว่าเดิม

            กระแสที่สองคือ เกิดการพัฒนาเขตเมืองเก่าอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไปต่างประเทศจะเห็นว่าเขตเมืองเก่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูง เป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวชอบเดินทางมาสัมผัสวัฒนธรรมต้นกำเนิดของเมือง ซึ่งประเทศไทยก็มีจุดขายเป็นการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาเมืองเก่าจึงถูกส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและเอกชน เดิมทีเมืองเก่านั้นอาจจะเป็นแค่เรื่องภาพลักษณ์ เช่นห้ามปรับปรุงตึกเพราะต้องการอนุรักษ์ของเก่า แต่ในอนาคตเรากำลังสร้างกิจกรรมที่มีวิถีชีวิตและธุรกิจเกิดขึ้น เห็นได้จากเราปรับปรุงตึกเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ มิวเซียมสยาม มีห้องสมุดสาธารณะดี ๆ เอาโกดังข้าวยุคในอดีตตามริมแม่น้ำพัฒนาให้เกิดแหล่งการค้า เกิดการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ตามจุดที่มีวิถีชีวิตเก่าแก่ เกิดการสร้าง Cluster ชุมชนแบบเดียวกับ Cluster ธุรกิจ

            กระแสที่สามเกิดขึ้นจากเห็นผลสองข้อแรก คือกระแสการเอาตึกเก่า เช่นบ้านเก่า ตึกแถวเก่าในเมืองมาปรับปรุง และกระแสนี้อันที่จริงสร้างวงจรแห่งความรุ่งเรืองขึ้นด้วย เพราะเดิมที คนไม่อยากอยู่ตึกแถว เพราะความทรุดโทรมของสภาพแวดล้อม แต่ถ้าต่างคนต่างปรับปรุงบ้าน สภาพแวดล้อมโดยรวมก็จะดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น มูลค่าอสังหาฯก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งถ้าเห็นทิศทางของต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะพบเลยว่าตลาดบ้านใหม่ เล็กกว่าตลาดปรับปรุงบ้านเก่า ขนาดธุรกิจอสังหาฯ สร้างบ้านในไทยจริง ๆ เริ่มโตช้าลงมาก แต่บริษัทอสังหาฯ ที่ผ่านมาโตแบบกินรายเล็กเสียมากกว่า ไม่น่าแปลกใจที่ช่วงหลัง ๆ จะเห็นกระทู้ปรับปรุงบ้านเก่ามากมาย เกิดรายการหนังสือหรือทีวีเฉพาะเรื่องการปรับปรุงบ้าน ธุรกิจปรับปรุงบ้านเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด

            กระแสที่สี่คือ การเกิดธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น เอาตึกแถวมาทำโฮสเทลเล็ก ๆ กลางเมือง มีร้านกาแฟชิค ๆ หรือ Co-Working Space ที่เป็นแหล่งรวมของธุรกิจในรูปแบบใหม่ มีการพัฒนาพื้นที่ให้มีคุณค่ามากขึ้นทั้งในเชิงที่อยู่อาศัยและการค้า เราจะเลิกมองคุณค่าของที่อยู่อาศัยเป็น “พื้นที่ใช้สอย หรือพื้นที่ดิน” แต่จะมอง “อรรถประโยชน์” ของมันแทน เนื่องจากความหนาแน่นของเมืองและคน ทุกพื้นจึงมีคุณค่าและเกิดไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ อีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจะเกิดคือ ธุรกิจรับปรับปรุงคอนโดทั้งตึก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศที่เป็นเจ้าพ่อคอนโดอย่างญี่ปุ่น เพราะคอนโดในประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1950 มีหลายตึกถูกปรับปรุงยังต่อเนื่อง

            กระแสที่ห้าคือ พัฒนาการของที่อยู่อาศัย ผมสังเกตว่าส่วนหนึ่งที่คอนโดโตเร็วขึ้นมาก ๆ เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ Gen X, Y ซึ่งเป็นลูกของ Baby Boomer เข้าสู่ช่วงวัยทำงานช่วงต้น คอนโดตอบโจทย์สมบูรณ์แบบคือการแยกครอบครัวมาอยู่คนเดียว ดังนั้นเราจะเห็นคอนโดส่วนใหญ่มีสัดส่วนเต็มไปด้วยห้องแบบหนึ่งห้องนอน แต่ถึงจุดหนึ่งที่เกิดการสร้างครอบครัว และลูกของ Gen X, Y เติบโตขึ้น ห้องหนึ่งห้องนอนคงไม่เพียงพอ และการย้ายไปอยู่บ้านนอกเมืองอาจจะไม่ทางเลือก การพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืนตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

            นอกจากที่อยู่อาศัยจะหนาแน่นขึ้นแล้ว พื้นที่สีเขียวจะสำคัญยิ่งกว่าเดิม การแบ่งเจียดพื้นที่เป็นสีเขียวไม่ใช่การเสียพื้นที่ใช้สอย แต่เป็นการเพิ่มมูลค่าต่างหาก ไอเดียบ้านกล่อง ๆ เต็มพื้นที่ ห้างกล่อง ๆ เต็มพื้นที่ อาจจะเก่าไปแล้ว ยิ่งถ้ากรุงเทพฯ อยากจะเป็นเมืองน่าอยู่ของ ASEAN ไม่ใช่เมืองน่าเที่ยวอย่างเดียว ทุกคนต้องมองไกลกว่านั้น เรามีอดีตที่น่าอยู่มาก ๆ เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สำหรับอนาคตแล้วถ้าทิศทางการพัฒนาเราถูกต้อง ในเมืองจะเจริญ ในบ้านมีแต่ความสุขครับ

Sunday, November 15, 2015

หุ้นมือถือ / ดร.นิเวศน์

     

   สัปดาห์ที่แล้วข่าวใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมและตลาดหุ้นก็คือ  การประมูลคลื่นความถี่วิทยุย่าน 1800 MHz เพื่อที่จะใช้กับโทรศัพท์มือถือระบบ 4G  เหตุผลแรกก็คือ  มันจะเป็น “ก้าวใหญ่” ของการพัฒนาระบบสื่อสารของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” และตามทันประเทศอื่น ๆ  หลังจากที่ไทยค่อนข้างจะล้าหลังมานาน  เหตุผลต่อมาก็คือ  การแข่งขันของผู้เข้าประมูลนั้นมีความจริงจังและรุนแรงซึ่งทำให้ตัวเลขเม็ดเงินของผู้ชนะ 2 ราย คือ AIS และ TRUE สูงมากกว่าที่เคยคือสูงถึงรายละประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่ออายุสิทธิการใช้ 15 ปี ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าที่คาดถึงเท่าตัว  และสุดท้ายสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทสื่อสารที่เข้าประมูล 4 ราย ที่ต่างก็ตกลงมาอย่างทั่วหน้าทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  โดยที่หุ้น AIS ตกลงมาประมาณ 6.6% ในวันที่กำลังประมูลและตัวเลขราคาการประมูลสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าตกใจ  หุ้น TRUE ตกลงมาถึง 8% หุ้น DTAC ตกลงมา 8.2% และหุ้น JAS ซึ่งถึงแม้จะไม่ตกแต่ก็ได้ตกลงมาก่อนแล้วตั้งแต่วันเริ่มประมูลที่ประมาณ 6%  ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคาค่าใบอนุญาตใช้คลื่นที่สูงมากนั้น  มีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทมาก  เพราะมันจะเป็นตัวที่บอกว่ากำไรของบริษัทเหล่านี้จะมากหรือน้อยในอนาคต

วันต่อมาหลังจากที่รู้ตัวผู้ชนะและผู้แพ้แล้ว  หุ้นของผู้ชนะคือ AIS ก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 1%  หุ้น TRUE นั้นอยู่ที่เดิม  ส่วนหุ้นผู้แพ้การประมูลคือ DTAC ปรับลดลงถึงประมาณ 7.6%  และหุ้น JAS ปรับลดลง 5.5%   การที่หุ้นของบริษัทผู้ชนะไม่ได้ปรับขึ้นและหุ้นผู้แพ้ปรับลดลงรุนแรงทั้ง ๆ  ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่แพงลิ่วนั้น  ถ้าจะตีความก็คือ  นักลงทุนมองว่าถึงจะเป็นผู้ชนะและจะสามารถขยายธุรกิจมือถือได้อย่างสะดวก  กำไรของบริษัทก็อาจจะไม่ดีนักเพราะต้นทุนของการให้บริการจะสูงในขณะที่รายได้ก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนักเนื่องจากถูก กสทช. บังคับไม่ให้เพิ่มค่าบริการจากเดิม  ส่วนในกรณีของผู้แพ้นั้น  คนก็มองว่าในอนาคต  ธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะ DTAC ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงทำให้กำไรลดลง  ในส่วนของ JAS เองนั้น  แม้ว่ายังไม่ได้ทำธุรกิจมือถือเลย  ดังนั้นจึงไม่ควรถูกกระทบอะไรทั้งสิ้น  แต่นักลงทุนก็คงมองว่า  ในอนาคตถ้ามี 4G แล้ว  ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตมีสายของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบเนื่องจากคนอาจจะหันไปใช้อินเตอร์เน็ตไร้สายของโทรศัพท์มือถือมากกว่า  ดังนั้น  หุ้น JAS จึงถูกกระทบแรงรอง ๆ  จาก DTAC

บทเรียนของ หุ้นมือถือ ในครั้งนี้ก็คือ  ข้อแรก  หุ้นของกิจการให้บริการสินค้าที่มีลักษณะเป็น  “โภคภัณฑ์” นั่นคือ  การแข่งขันของการขายสินค้าหรือบริการขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลักนั้น  มีความไม่แน่นอนสูงและหา “ผู้ชนะ” อย่าง  “ถาวร”  ได้ยาก  ช่วงเวลาที่กิจการจะมีผลประกอบการที่ดีน่าประทับใจก็คือช่วงที่ความต้องการสินค้าหรืออุปสงค์มีมากแต่ผู้ให้บริการหรืออุปทานมีจำกัด  ซึ่งในช่วงเวลาอย่างนั้น ราคาของสินค้าหรือบริการก็จะสูงกว่าต้นทุนมาก  แทบทุกบริษัทก็จะทำกำไรได้สูงกว่าปกติโดยที่แต่ละบริษัทนั้นไม่ต้องมีความสามารถพิเศษหรือเก่งกว่าคู่แข่งแต่อย่างใด  และนี่ก็คือเหตุผลที่บริษัทมือถือสามารถทำกำไรได้ดีมากและราคาหุ้นก็สูงขึ้นไปตามกัน  เพราะธุรกิจนี้มีผู้ให้บริการที่จำกัดเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่วิทยุของไทยที่ถูกยึดครองโดยหน่วยงานรัฐมานานและเพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เอกชนเข้ามาใช้ได้ผ่านการประมูลคลื่นบางส่วนเมื่อไม่กี่ปีมานี้   แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ให้บริการหรือผู้ขายมีมากพอ  ราคาสินค้าและบริการก็จะลดลงจนทำให้กำไรลดลงจนเหลือแค่กำไรปกติ  เมื่อนั้น  หุ้นก็จะกลับมาสู่ราคาที่เหมาะสมซึ่งก็ไม่ควรจะสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของมัน

บทเรียนอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ  หุ้นที่ถูกควบคุมโดยรัฐและกฎเกณฑ์พิเศษนั้น  จะมีความเสี่ยงเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับที่บางทีก็คาดการณ์ได้ยากมาก  เหตุเพราะว่ากฎต่าง ๆ  สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในเวลา  “ข้ามคืน”  และผลกระทบนั้นบางครั้งสูงมากและทำให้กำไรลดลงไปมากได้  เหตุผลก็เพราะว่าบ่อยครั้ง  ธุรกิจเหล่านี้  เป็นธุรกิจที่มีการควบคุมหรือกำหนดต้นทุนและราคาโดยคนไม่กี่คน  ไม่ได้กำหนดโดยตลาดเสรี  นี่ทำให้ต้นทุนและราคาไม่สะท้อนความเป็นจริง  และบางครั้งมันก็สูงไปมาก  แต่วันหนึ่งมันก็อาจจะถูกทำให้ลดต่ำลงโดยคนอีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ตลาดเสรีอีกเช่นกัน  ธุรกิจมือถือเองก็เป็นเช่นนั้น  และการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะกำลังเริ่มต้นขึ้นในกรณีของโทรศัพท์มือถือ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ หุ้นมือถือ และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตกลงมาแรงนั้น  นาทีนี้คนก็ยังน่าจะมองไปที่เหตุการณ์เฉพาะเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงกว่าปกติมาก  นักลงทุนส่วนใหญ่ยังอาจจะไม่ได้คิดว่าถึงค่าประมูลจะไม่ได้สูงขนาดนั้น   มันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับ ธุรกิจมือถือ ที่เคยอยู่อย่างสบายและทำกำไรดีมาก่อนเนื่องจากจำนวนผู้เล่นและคลื่นความถี่ที่จำกัด   ก่อนหน้านี้พวกเขาคิดว่าการประมูลน่าจะเป็นผลดีต่อบริษัทมือถือที่จะสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น  นักวิเคราะห์ต่างก็เชียร์ว่าถ้ามีการประมูลเมื่อไรก็จะเป็น  “ข่าวดี” โดยเฉพาะสำหรับหุ้นบางตัวแต่ก็ไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับหุ้นตัวอื่น  พวกเขาไม่เคยวิเคราะห์  “โครงสร้างการแข่งขัน” ในอุตสาหกรรมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่เป็นลบ  นั่นก็คือ  การแข่งขันที่มากขึ้นจะทำให้ราคาการให้บริการลดลง  ผลก็คือ  รายได้โดยรวมของอุตสาหกรรมไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายกับเพิ่มขึ้น  พูดง่าย ๆ  ผู้บริโภคได้บริการที่ดีขึ้นในราคาเท่าเดิมส่วนผู้ให้บริการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น  สถานการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตโดยที่ความต้องการของผู้บริโภคยังมีเท่าเดิม

ถ้ามองว่าเรากำลังจะมีการประมูลใบอนุญาตอีกครั้งในเร็ว ๆ  นี้ในคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือกำลังการผลิตหรือการให้บริการก็จะเพิ่มขึ้นอีก  และถ้ามีผู้ให้บริการรายใหม่เช่น JAS ชนะด้วย  นี่ก็จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่อุปทาน “ล้น” และผู้เล่นรายใหม่ต้องเข้ามาแย่งลูกค้าจากรายเก่าด้วยการลดราคาลงแล้ว  ผมก็คิดว่าหุ้นมือถือทั้งกลุ่มก็จะถูกกระทบรุนแรงอีกครั้ง  การทำ  “สงครามราคา”  ก็จะรุนแรงมากเนื่องจากธุรกิจนี้มีต้นทุนคงที่สูงมากจากค่าธรรมเนียมและการลงทุนในอุปกรณ์ที่สูง  แต่ต้นทุนแปรผันคือค่าใช้จ่ายในการให้บริการอื่น ๆ  นั้นต่ำมากซึ่งทำให้ผู้เล่นที่ยังไม่มีลูกค้าสามารถลดราคาค่าบริการลงไปได้ต่ำมากเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าแทนที่จะปล่อยให้กำลังผลิตว่างอยู่โดยไม่มีการใช้

เรื่องราวของการเปิดให้ใบอนุญาตดิจิตอลทีวีหลายสิบช่องเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานั้น  ปัจจุบันก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของการแข่งขันของสถานีทีวีแล้วในแง่ที่บริษัทที่มีอยู่เดิมมีกำไรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับที่ผู้เล่นรายใหม่ต่างก็  “บาดเจ็บ” อย่างหนักเนื่องจากสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่ารายได้จากการขายโฆษณาทีวีของตนจะมากพอที่จะคุ้มกับต้นทุนการดำเนินงานของสถานี  ประเด็นก็คือ  ก่อนการประมูล  ผู้เล่นรายใหม่เองคิดว่าเขาจะสามารถขายโฆษณาได้ในจำนวนเวลาที่มีและในอัตราที่สูงระดับหนึ่งซึ่งในความคิดของเขาก็คือค่อนข้างจะต่ำมากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาเห็นอยู่ในโครงสร้างการแข่งขันเดิม  ดังนั้น  เขาคิดว่าสิ่งที่ประมาณการไว้นั้นค่อนข้าง  “อนุรักษ์นิยม”  อยู่แล้ว  แต่หลังจากที่เริ่มเปิดดำเนินการกันทุกราย  เขากลับพบว่าสิ่งที่เขาคาดการณ์นั้นกลับผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง  ตัวเลขรายได้ต่ำกว่าที่คาดมาก  เหตุผลก็เพราะว่า  เมื่อทุกสถานีเปิดขึ้นมา  ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในแง่ที่แย่ลงมากและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  ธุรกิจทีวีอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเยี่ยมอีกต่อไปแล้ว  ดังนั้น  คนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านั้นจะต้อง “คิดใหม่”

ผมเองก็ไม่มั่นใจเต็มร้อยว่า ธุรกิจมือถือ ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหรือไม่  เหตุผลก็เพราะว่าผู้เล่นในธุรกิจเองนั้น  ถึงอาจจะมีเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังน้อยไม่เหมือนธุรกิจทีวี  นอกจากนั้น  เรื่องของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเองก็ดูเหมือนว่ายังอยู่ในช่วง  “ขาขึ้น”  เมื่อเทียบกับทีวีที่อาจจะเป็น “ขาลง”  อย่างไรก็ตาม  ผมเองเชื่อว่า  ธุรกิจมือถือเองนั้น  น่าจะถดถอยลงมากกว่าที่จะดีขึ้นนับจากนี้ไป

Tuesday, November 10, 2015

นิสัยบัฟเฟตต์ / โดยดร.นิเวศน์


ถ้าจะพูดถึงคนที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากระดับโลกและจะเป็น  “ตำนาน” ที่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไปอีกนานนั้น  แน่นอนว่าบัฟเฟตต์ต้องเป็นหนึ่งในนั้น  นิสัยหรือพฤติกรรมของคนที่อยู่ในระดับนี้ส่วนใหญ่ที่เราได้รับรู้ก็คือ  พวกเขามีชีวิตที่หรูหรา  อยู่ในสังคมของ “คนชั้นสูง”  มีความรู้สึกและวางตัวที่อาจจะเรียกว่า  “เย่อหยิ่ง”  และ “โอ้อวดตนเอง” เป็นต้น  แต่สำหรับบัฟเฟตต์เองแล้ว  เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น  หรือถ้าจะมีก็น้อยกว่าคนอื่นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงมาก  ผมไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเป็นเพราะว่าบัฟเฟตต์เป็น  Value Investor และ VI นั้นโดยธรรมชาติมักจะมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนรวยกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้น  พอรวยแล้วก็ยังไม่ได้เปลี่ยนนิสัยแบบคนที่รวยจากอาชีพอื่น

มาดูกันว่าบัฟเฟตต์มีนิสัยแบบไหนที่ค่อนข้างจะแปลกจากคนรวยและมีชื่อเสียงอื่น—และคนธรรมดา  บางทีนิสัยแบบบัฟเฟตต์นั้นอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด  และถ้าเป็นแบบนั้น  การเรียนรู้นิสัยบัฟเฟตต์ก็น่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนที่จะนำมาใช้

นิสัยแรกที่ผมเห็นก็คือ  การให้ความรัก  นับถือ และเชื่อใจคนอื่นอย่างเต็มที่เมื่อเขาเข้าไปร่วมงานด้วย  นั่นคือ  เมื่อเขาตัดสินใจเข้าไปซื้อธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเบิร์กไชร์แล้ว  เขาก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานและการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องยกเว้นเฉพาะการลงทุนใหญ่ ๆ และการจัดสรรกำไรเท่านั้น  เขาจะให้ความรัก ความนับถือ  และเชื่อใจต่อคนหรือซีอีโอที่บริหารงานมากและดูเหมือนว่าจะไม่เคย “ตั้งคำถาม” อะไรกับการทำงานหรือตัดสินใจของพวกเขาเลย  สิ่งที่เขาบอกกับซีอีโอก็คือ  ให้พวกเขาคิดและทำเหมือนกับว่าพวกเขานั้นเป็นเจ้าของบริษัทเท่านั้น  การให้ความรัก  นับถือและเชื่อใจแก่คนอื่นนั้น  ทำให้บัฟเฟตต์ได้รับความรัก  ความนับถือและเชื่อใจตอบจากคนอื่นเท่า ๆ  กัน  เห็นได้จากการที่ผู้บริหารหรือซีอีโอของเบิร์กไชร์นั้นมักจะอยู่กับบัฟเฟตต์ไปตลอดไม่ไปไหนและบัฟเฟตต์เองก็แทบจะไม่เคยให้ใครออก  เขาบอกว่าระบบของเบิร์กไชร์นั้น  “ไม่มีการเกษียณ”  สำหรับซีอีโอ

นิสัยที่สองที่แตกต่างจากคนอื่นของบัฟเฟตต์ก็คือ  ความ  “จงรักภักดี”  ที่มีต่อสิ่งรอบตัว  ที่สำคัญก็คือ  เมื่อบัฟเฟตต์ซื้อธุรกิจมาแล้ว  เขาก็จะเก็บรักษามันไว้  “ตลอดไป”  แม้ว่าหลายกิจการนั้นพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนไปแล้วเขาก็มักจะไม่ขายทิ้งเหมือนนักลงทุนอื่น  เขายังเก็บหุ้นไว้เพราะเขาอยู่กับมันมานานและรู้จักผู้บริหารเป็นอย่างดี  เขายินดีที่จะได้รับผลตอบแทนที่ลดลงและในที่สุดอาจจะล้มหายตายจากไป  ผมคิดว่าเขาคงคิดว่าเขาได้รับผลตอบแทนจากบริษัทมานานและมากพอแล้ว  ดังนั้น  ถ้าเขาจะเสียหายบ้างจากการที่ไม่ได้ขายมันไปก่อน  มันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก  นอกจากเรื่องของธุรกิจแล้ว  ผมก็รู้สึกว่าบัฟเฟตต์นั้นชอบทำอะไรซ้ำ ๆ  เดิม ๆ  เช่น  เขาชอบกินอาหารเช่น  สเต็กร้านเดิม ๆ ดื่ม โค๊กแบบเดิม ๆ เป็นสิบ ๆ ปีอย่างไม่รู้เบื่อ  ดูเหมือนว่าเขาจะ “จงรักภักดี” ต่อสิ่งที่เขาคิดว่าดีอยู่แล้วมาก  ความคิดของเขาก็คือ  ไม่รู้จะ “เสี่ยง” ไปทำไมกับของใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าดีหรือไม่

ความคิดที่อิสระและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก  นี่คือนิสัยอีกอย่างหนึ่งของบัฟเฟตต์  เขาไม่เคยทำตามคนอื่นหรือตามความคาดหวังของสังคม  เขาไม่เคยกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นคน “ตกยุค” เช่นในช่วงที่หุ้นไฮเท็คเติบโตเป็น “ฟองสบู่” ช่วงปีทศวรรษปี 1990 ถึง 2000 เขาเองก็ไม่สนใจลงทุนในหุ้นเหล่านั้นเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากซึ่งทำให้การคาดการณ์รายได้และกำไรทำได้ยากมากและเขาเองก็ไม่รู้จักธุรกิจดีพอ  ผลงานการลงทุนของเขาจึงดูไม่ดีนักเมื่อเทียบกับคนที่ลงทุนในหุ้นไฮเท็คเหล่านั้น   เช่นเดียวกัน  ในบางช่วงการแข่งขันทางด้านการขายประกันภัยรุนแรงมากและทุกคนต่างก็ขายประกันในราคาที่  “ขาดทุน” เพื่อที่จะสร้างยอดขายให้เติบโตและทำกำไรในระยะสั้น  บัฟเฟตต์ปฎิเสธที่จะทำตาม   เขา “ยอม” ถูกมองเป็นบริษัทที่กำลัง “ถดถอย” ในขณะที่บริษัทอื่นโตขึ้น  แต่แล้วเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป  ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คแตก  และบริษัทประกันที่ขายประกันราคาถูกเกินไปต้องขาดทุนหนัก  บัฟเฟตต์ก็กลับมามีผลงานที่โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม

นิสัยที่สี่ของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขากำหนดขอบเขตและมาตรฐานของตนเองหรือพูดหยาบ ๆ  ก็คือ  เป็นตัวของตัวเองสูง  เขาไม่สนใจและไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ทุกเรื่องหรือทุกอุตสาหกรรม  เพราะเขาเลือกเฉพาะอุตสาหกรรมและบริษัทที่เขารู้เท่านั้น  เขากำหนด Circle of Competent หรือขอบเขตความสามารถของเขาที่เขาจะทำได้ดีและเขาจะไม่ออกจากขอบเขตนี้   สิ่งที่บัฟเฟตต์ทำนั้น  เขาก็จะหาธุรกิจหรือบริษัทที่ดูได้ง่ายเข้าใจง่ายและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง  เขาพูดว่าเขาพยายามหารั้วเตี้ย ๆ ซักหนึ่งฟุตเพื่อที่ว่าเขาจะได้ข้ามมันไปง่าย ๆ   เขาไม่ต้องการรั้วสูง ๆ  เพื่อที่จะแสดงความสามารถในการกระโดดข้ามมัน  ดังนั้น  เราจึงเห็นหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้น  ส่วนมากจึงเป็นหุ้นของธุรกิจธรรมดามากเช่น บริษัทขายซ้อสมะเขือเทศ  ร้านเฟอร์นิเจอร์  ร้านขายเครื่องประดับเพชร  บริษัทรถไฟ  ธนาคาร และอื่น ๆ  ที่เข้าใจไม่ยากและไม่เห็นจะมีอะไรน่าตื่นเต้นในยุคที่เครื่องมือสื่อสารอย่างไอแพดเปลี่ยนรุ่นทุก 2- 3 ปีและมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ  เกิดขึ้นตลอดเวลา

มาตรฐานที่บัฟเฟตต์ใช้เองนั้น  เขาบอกว่าเขาไม่สนใจมาตรฐานของสังคมหรือคนอื่น  เขาไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองตนเองอย่างไร  เขาแนะนำว่านักลงทุนควรที่จะมี  Inner Score Card หรือมาตรฐานที่อยู่ภายในใจของเรา  นั่นก็คือ  ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือสนใจว่าคนอื่นเขาจะมองเราอย่างไร  เราควรที่จะกำหนดมาตรฐานของตนเองว่าเราตั้งเป้าไว้เหมาะสมและทำได้ตามเป้าหรือไม่  เช่น ถ้าเราคิดว่าเราควรทำผลตอบแทนการลงทุนได้ปีละ 12% ทบต้นโดยการลงทุนในหุ้นที่มีระดับความความเสี่ยงที่ยอมรับได้  เช่นต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 5-6 ตัวและไม่มีหุ้นตัวใดที่มีสัดส่วนสูงเกิน  30%  ในกรณีแบบนี้   เราก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ  ไม่ใช่ว่าพอเห็นคนอื่นกำลังทำผลตอบแทนดีเยี่ยมกว่าเรา  เราก็พยายามไปเปรียบเทียบกับเขาเพราะกลัวว่าเราจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถเท่า  เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้น  กลยุทธ์และวิธีการต่าง ๆ  ก็จะรวนไปหมด  และเราก็อาจจะไม่มีความสุขในการลงทุนหรือทำงาน

นิสัยสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงและแปลกไปจากเพื่อนระดับเดียวกันของเขาก็คือ  บัฟเฟตต์นั้นแม้ว่าจะรวยเป็นอันดับ 1-3 ของโลกมานาน  แต่เขาเป็นคนที่มีความสมถะและประหยัดมาก  ดูเหมือนว่าเขาจะชอบผู้บริหารที่เน้นการลดต้นทุนการดำเนินงานโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก  เขาไม่ชอบความฟุ่มเฟือยในทุกกรณี  เขาไม่ชอบผู้บริหารที่กินเงินเดือนสูงมากโดยที่ไม่ได้อิงกับผลการดำเนินงานของบริษัท  ตัวบัฟเฟตต์เองนั้นถ้าจำไม่ผิดเขารับเงินเดือนในฐานะของซีอีโอเบิร์กไชร์ปีละแค่ 100,000 เหรียญซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทที่ใหญ่ขนาดเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา  ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองนั้น  ทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่บ้านเดิมที่อยู่มาหลายสิบปีที่เขาซื้อมาในราคาไม่กี่หมื่นเหรียญและน่าจะเป็นบ้านระดับชนชั้นกลาง  เขายังขับรถเองและใช้ชีวิตเหมือนคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่

หลายคนคงเถียงในใจว่านิสัยส่วนตัวของบัฟเฟตต์นั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนของเขา  แต่ผมเองเชื่อว่านิสัยส่วนตัวกับการลงทุนนั้นคงจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่  ผมเองได้อ่านประวัติของ VI ระดับโลกและได้ศึกษา VI เด่น ๆ หลายคนในตลาดหุ้นไทยที่ผมรู้จัก  ผมพบว่านิสัยของพวกเขาหลาย ๆ  คนนั้น  มีบางส่วนคล้าย ๆ  กับของ บัฟเฟตต์  ที่กล่าวถึง  ผมคิดว่านิสัยบางอย่างนั้นเอื้ออำนวยให้คน ๆ  นั้นกลายเป็นนักลงทุนและเข้าใจและตัดสินใจในการลงทุนได้ดีขึ้น  นิสัยบางอย่างก็ขัดแย้งกับการเป็นนักลงทุนและทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ดีได้ยาก  ดังนั้น  ก่อนที่จะลงทุนโดยเฉพาะในแนว VI  เราควรวิเคราะห์นิสัยของตนเองก่อนว่า  เรามีแนวโน้มที่จะเป็น VI ที่ดีได้ไหม

Sunday, November 8, 2015

มูลค่าของสาวก / วีระพงษ์ ธัม

   
    มูลค่าของธุรกิจต่าง ๆ เกิดจากปัจจัยจำนวนมาก และปัจจัยที่สร้างมูลค่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ในฐานะนักลงทุนเน้นคุณค่าที่เน้นการมอง “มูลค่า” ของธุรกิจเป็นหลักนั้น จะต้องศึกษาแหล่งสร้างมูลค่าตลอดเวลา โดยเฉพาะระยะหลัง มูลค่าของธุรกิจมีโครงสร้างเปลี่ยนไปจากในอดีตมาก สินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ที่ดินทำเลดี อาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ทันสมัย ที่เคยเป็นมูลค่าหลักของระบบธุรกิจมาก่อน มีบทบาทลดลง เปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนและจับต้องไม่ได้มากขึ้น เช่น มูลค่าของตราสินค้าหรือแบรนด์ มูลค่าของระบบการจัดการ มูลค่าของผู้บริหารที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่เริ่มเห็นในเศรษฐกิจยุคใหม่ คือมูลค่าของลูกค้า ซึ่งผมขอใช้ศัพท์ที่แทนความหมายในยุคนี้ได้ดีที่สุด คือ “มูลค่าของสาวก”

            ในเชิงทฤษฎี กลยุทธ์ในการแข่งขันสร้างคุณค่า (Value Disciplines) นั้น สร้างได้จากสามรูปแบบ คือ 1. การผลิตที่ยอดเยี่ยม (Operational Excellence) คือเน้นต้นทุนที่ต่ำกว่า 2. มีสินค้าใหม่ที่เป็นผู้นำตลาด (Product Leadership) เช่นมีเทคโนโลยีเหนือกว่า สินค้าดีกว่าเร็วกว่าฉลาดกว่า 3. มีลูกค้าที่ใกล้ชิด (Customer Intimacy) ซึ่งผมสังเกตว่าการผลิตที่ยอดเยี่ยม ไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบที่ใหญ่ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การผลิตจากจีนหรือประเทศเกิดใหม่ท่วมโลก และเครื่องจักรรุ่นใหม่ก็มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิมตลอดเวลา ส่วนเรื่องสินค้าใหม่นั้น หลายครั้งเราจะเห็นได้ว่ามันสามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บริษัทไม่ได้ครองทรัพยากรบางอย่างซึ่งคู่แข่งไม่สามารถแย่งชิงไปได้ ดังนั้น เรื่องที่สามคือลูกค้าที่ใกล้ชิดนั้น มีมูลค่าสูง เพราะลูกค้าประเภทสาวกนั้นไม่เพียงแต่จงรักภักดีในสินค้า แต่ศรัทธาในสินค้าและบริการของบริษัทอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อตอบสนองศรัทธาที่มีอยู่ อีกทั้งยังช่วยบริษัทกระจายความเชื่อของพวกเขาอีกด้วย หลายครั้งสาวกก็จะรวมตัวกันตั้งเป็นลัทธิสินค้านั้น ๆ และมีการทำกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างเข้มข้น

            ถ้าจะยกตัวอย่างสิ่งที่สะท้อนมูลค่าสาวกให้เห็นภาพเช่น มูลค่าของสโมสรฟุตบอล ซึ่งโดยปกติแล้ว จะมีสินทรัพย์จับต้องได้เพียงแค่มูลค่านักฟุตบอล สนามฟุตบอล และเครื่องมืออุปกรณ์ แต่สโมสรที่มีสาวกมาก ๆ อย่าง Real Madrid, Manchester United มีมูลค่าตลาดกว่าหนึ่งแสนล้านบาท บริษัท Apple มีมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท และสามารถขายสินค้าได้กำไรมากกว่าคู่แข่งมาก สาวกเสื้อผ้า ZARA ทั่วทั้งโลก ทำให้เจ้าของอย่าง Mr. Ortega กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้ในปีล่าสุดโดย Forbes

            ในประเทศไทย ค่ายหนังบางค่ายหรือช่องรายการโทรทัศน์ทำเงินได้ตลอดเวลาจากสาวก โรงพยาบาลสร้างลูกค้าที่ศรัทธายอมจ่ายค่ารักษาราคาแพง ขนาดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังสามารถสร้างสาวกได้ เห็นได้จากโครงการบ้านแพงกว่าราคาตลาด แต่สามารถขายปิดโครงการได้อย่างรวดเร็ว อันที่จริงคนไทยมักจะเป็นสาวกมากกว่าสร้างสาวก เช่น เรามีสาวกเกาหลี ญี่ปุ่น กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลที่บริษัทไทยยังออกไปต่างประเทศได้อย่างไม่แข็งแรงนัก

            วิธีสังเกตมูลค่าสาวกเบื้องต้น คือดูจากความสามารถในการหารายได้ของบริษัทที่เหนือกว่าคู่แข่ง สาวกยอมจ่ายแพงกว่าแค่ไหนแสดงถึงพลังทางการตลาดที่สูงกว่ามาก อีกมิติหนึ่งคือจำนวนของสาวก ยิ่งมีจำนวนกว้างขวาง กระจายตัวมาก ก็ยิ่งมีมูลค่ามาก และถ้าสาวกที่เพิ่มขึ้นสามารถสร้าง Network Effect หรือเกิด Synergy อะไรบางอย่างซึ่งกันและกันได้ เช่น ยุคหนึ่ง Blackberry สามารถคุยกันเองได้ผ่านโปรแกรม Chat ของตัวเอง ถ้าคนใช้เยอะขึ้น ประโยชน์ของขนาดกลุ่มก็จะยิ่งมากขึ้น อีกเรื่องซึ่งอาจจะสำคัญที่สุดคือสาวกจะต้องเป็นสาวกระยะยาว ไม่ใช่เป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งไม่เฉพาะกับธุรกิจ เพราะการทำแผนธุรกิจจะผิดไปหมด และนักลงทุนยังประเมินมูลค่าผิดอีกด้วย

            การที่บริษัทจะสร้างความศรัทธา ต้องเริ่มต้นจากการมองหา “คุณค่า” สำหรับลูกค้าที่เหนือกว่าคู่แข่ง หลังจากนั้นก็หาวิธีการ “สื่อสาร” คุณค่านั้นให้ดีกว่าคู่แข่ง สุดท้ายก็เพิ่มความคาดหวังให้ลูกค้า จนความคาดหวังของลูกค้าสูงจนไม่สามารถใช้สินค้าของคู่แข่งได้อีกต่อไป (เพราะสินค้าคู่แข่งมอบคุณค่าให้ต่ำกว่า) หลังจากนั้นลูกค้าก็พัฒนามาเป็นสาวก และสร้างลัทธิหรือกลุ่มที่มีวิถีคล้าย ๆ กัน และยังช่วย “กระจาย” ความเชื่อของพวกเขาไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ กลไกทั้งหมดนี้ต้องเกิดจากความเข้าใจในการมองหา “คุณค่า” อย่างมากของบริษัท

            ข้อสรุปของผมคือ จงหาบริษัทที่ตั้งใจทำให้ลูกค้าเป็นสาวก เพราะบริษัทที่มีลูกค้าที่เป็นพระเจ้านั้นดูแลยากและให้คุณค่าน้อยกว่ามากครับ

Monday, November 2, 2015

TPP กับหุ้น/ โดยดร.นิเวศน์

เรื่องของการเปิดเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศอื่นนั้น  เท่าที่ผ่านมาก็มักจะไม่เป็นประเด็นการโต้แย้งกันมากมายนัก  เหตุผลก็เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีข้อเสียอะไรกับคนไทยที่เป็นคนธรรมดามากนัก  แต่ข้อดีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจนั้นค่อนข้างชัดเจนกว่าในแง่ที่ว่าการค้าขายโดยเฉพาะการส่งออกจะมากขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกจะได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีการนำเข้าจากประเทศที่เป็นคู่สัญญากับเรา  ทำให้สินค้าของเราได้เปรียบคู่แข่งส่งผลให้สามารถส่งออกไปขายได้มากขึ้น  ในส่วนของการนำเข้าเองนั้น  ก็ดูเหมือนว่าเราก็อาจจะนำเข้าเท่าเดิม  เพียงแต่เปลี่ยนจากการนำเข้าจากประเทศอื่น  เราก็นำเข้าจากประเทศคู่สัญญาแทน  ดังนั้น  การทำสัญญาเปิดการค้าเสรีจึงเป็นสิ่งที่ให้ผลดีและไม่ค่อยจะมีอะไรเสียมากนัก  สถิติการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีสัญญากับเราก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการส่งออกไปประเทศอื่น  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นการส่งออกรถยนต์ของไทยไปออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังมีสัญญาเปิดการค้าเสรี  นี่ยังไม่พูดถึงจีนและประเทศใน AEC ที่การค้าขายระหว่างกันเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเรามีข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างขวาง

การพยายามเปิด “ตลาดเสรี” ของไทยนั้น  ต้องถือว่าเราทำมาตลอดในประวัติศาสตร์  ตั้งแต่สมัย “สุโขทัย” ถ้าเราเชื่อ “ศิลาจารึกหลักที่1” ที่ว่า… “ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว  เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย  ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า” และส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทยก็พบว่ารัฐไทยนั้นค่อนข้าง“เปิด” ในแง่ของการต้อนรับและค้าขายกับต่างชาติมาตลอด  ว่าที่จริงถ้าจะพูดว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในยุค 50-60 ปีหลังที่เติบโตขึ้นมามหาศาลนั้น  เกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญก็คือ  เราเป็นประเทศ “เปิด” ที่เป็นทางเลือกที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ต้องการ  “ย้ายฐานการผลิต”  จากประเทศของตนที่มีต้นทุนสูงกว่า  มาสู่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำและถูกจำกัดทางด้านการค้าจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาน้อยกว่า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น  การ “เปิด” ประเทศของไทยดูเหมือนว่าจะลดน้อยลง  ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากภาวะทางการเมืองที่ทำให้ไทยไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่มีการโต้แย้งในสังคมได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมานั้น  ไทยได้มีสัญญาทางการค้าเสรีกับประเทศอื่นค่อนข้างมากอยู่แล้ว  ดังนั้น  ปัญหาที่เราจะเสียเปรียบคู่แข่งทางด้านการค้าที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซียที่อยู่สูงกว่าเราเล็กน้อย  และเวียตนามที่อยู่ต่ำกว่าเราเล็กน้อย  ก็ไม่มี  พูดง่าย ๆ  ถึงแม้เราจะห่างเหินจากการเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศมานาน  เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก  แต่แล้ว  โดยไม่คาดคิด  กลุ่มการค้าเสรีกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า  TPP หรือ Trans-Pacific Partnership หรือข้อตกลงทางการค้าระดับภูมิภาคทรานส์แปซิฟิกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาก็กำลังเกิดขึ้นและประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม

ความสำคัญของ TPP ก็คือ  มันประกอบด้วยประเทศขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 3 ของโลกคืออเมริกาและญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ  ริมมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวน 12 ประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 40% ของโลก  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับไทยและประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในเรื่องของการส่งออกก็คือ TPP มีอเมริกาอยู่  การเข้าร่วมใน TPP ก็หมายถึงการที่ได้เข้าถึงตลาดอเมริกาที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมหาศาล  ประเทศที่อยู่ใน TPP เมื่อส่งสินค้าเข้าอเมริกาต่อไปจะไม่เสียภาษีหรือเสียน้อยกว่าประเทศที่อยู่นอก TPP มาก  พูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ  เมื่อ TPP มีผลบังคับใช้  สินค้าไทยก็จะเสียเปรียบสินค้าจากเวียตนามและมาเลเซียมากรายการใหญ่ ๆ  เช่น   สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกจากไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากเวียตนามและมาเลเซียได้เพราะสินค้าไทยอาจจะต้องเสียภาษีถึง 17% ในขณะที่คู่แข่งไม่เสียภาษีเลย

บางคนอาจจะเถียงว่าทุกวันนี้เราส่งออกไปอเมริกาไม่ได้มากมายนักเพียงแค่ 10% ต้น ๆ  ของสินค้าส่งออกไทยทั้งหมด  ดังนั้น  ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจจะไม่มากแม้ว่าไทยอาจจะไม่ได้อยู่ใน TPP แต่ถ้ามองลึกลงไปผมคิดว่าผลกระทบนั้นน่าจะสูงทีเดียว  ประเด็นแรกก็คือ  อเมริกานั้นเป็นประเทศ “ผู้นำเข้าตลอดกาล”  นั่นก็คือ  อเมริกานั้นจะนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกต่อเนื่องยาวนาน  หรือเป็นผู้นำเข้าสุทธิได้ไปเรื่อย ๆ  โดยไม่มีปัญหาเนื่องจากทุกประเทศต่างก็ต้องการเงินดอลลาร์มาเป็นเงินทุนสำรองของประเทศ  ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ  นั้นมักจะพยายามเป็นผู้ขายหรือผู้ส่งออกไม่อยากเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อเพื่อที่ว่าตนจะได้มีเงินดอลลาร์มาเป็นเงินทุนสำรอง  ดังนั้น  สหรัฐจึงเป็นดินแดนที่คนอยากจะค้าขายด้วย  เพราะขายแล้วมักได้เปรียบดุลการค้า  ซึ่งนั่นรวมถึงไทยและหลาย ๆ  ประเทศในเอเชีย  ดังนั้น  แม้จะขายให้อเมริกา 10%  แต่เราก็ได้เปรียบดุลการค้ามาก ไม่เหมือนขายกับประเทศอื่นที่บางทีเราเสียเปรียบ

ประเด็นที่สองและอาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การได้ขายเข้าไปในตลาดอเมริกาได้มากกว่าคู่แข่งมากนั้น  จะทำให้บริษัทในมาเลเซียและเวียตนามมียอดขายที่สูงซึ่งจะก่อให้เกิดEconomies of Scale ซึ่งก็คือทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตต่ำลง  และนั่นจะทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดอื่นนอกเหนือจากอเมริกาด้วย  ผลก็คือ ข้อแรก  สินค้าไทยจะส่งออกได้น้อยลงในตลาดอื่นด้วย  และข้อสองที่ตามมาก็คือ   บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ  ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าขายทั่วโลกต่างก็จะอยากเข้าไปลงทุนในเวียตนามและมาเลเซียมากขึ้นแทนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย  ดังนั้นการลงทุนในประเทศไทยก็จะน้อยลงและที่จะแย่ขึ้นไปอีกก็คือ  บริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทยอยู่แล้วก็อาจจะย้ายฐานไปอยู่ในประเทศทั้งสอง  ตัวอย่างที่เห็นก็เช่น บริษัทซัมซุงที่ได้ย้ายโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จากไทยไปเวียตนามแล้ว  เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทที่ย้ายไปอยู่มาเลเซีย  ผลก็คือ  การจ้างงานและการส่งออกของไทยก็จะลดลงและจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่ใช่แค่ว่าเศรษฐกิจจะไม่โตขึ้นแต่อาจจะกลายเป็นติดลบก็เป็นได้

ล่าสุดดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะประกาศแล้วว่าจะขอเข้าร่วม TPP และต่อไปฟิลิปปินส์ก็อาจจะตามมา  แต่ดูเหมือนว่าไทยจะยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เนื่องจากยังมีคนคัดค้านและระบบภายในประเทศของเราก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่พร้อมซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องกันมาน่าจะเกือบ 10 ปีมาแล้ว  สิ่งที่ไทยควรจะเข้าใจก็คือ  ประเทศในอาเซียนเกือบทั้งหมดนั้นต่างก็เป็นคู่แข่งกันหรือกำลังจะเป็นคู่แข่งกันในเกือบทุกอุตสาหกรรมในด้านของการส่งออกเพราะเราต่างก็มีวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจที่คล้ายกันนั่นก็คือ  เราต่างก็อาศัยการลงทุนของบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก  ในอดีตที่ผ่านมานั้น  มาเลเซียและไทยได้เปรียบเนื่องจากเรา  “เปิดประเทศ” และต้อนรับนักลงทุนต่างชาติมากกว่าเราจึงก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อนบ้านใน AEC แต่ในขณะนี้ดูเหมือนว่าเราจะเริ่ม  “ล้าหลัง” ซึ่งถ้าเราไม่รีบปรับตัวเราก็อาจจะ  “แพ้”  สิ่งนี้ประกอบกับการที่ประชากรของเราแก่ตัวลงมากกว่าประเทศคู่แข่งมากทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเราถดถอยลงอย่างน่าใจหาย หลายปีมานี้เราน่าจะเติบโตช้าที่สุดในอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ  ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในอนาคตก็ดูเหมือนว่าเราจะยัง “รั้งท้าย” อยู่   ยิ่งถ้าเราไม่เข้าร่วม TPP เราก็อาจจะยิ่งถูก  “ทิ้ง”  ไว้ข้างหลัง  และไม่แน่ว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าเราอาจจะกลายเป็น  “คนป่วยแห่งเอเซีย”  อย่างที่ครั้งหนึ่งฟิลิปปินส์เคยเป็นก็เป็นได้

ที่พูดมาทั้งหมดนี้  ผมก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น  แต่อย่างไรก็เป็นข้อกังวลลึก ๆ  ในฐานะของนักลงทุนระยะยาวที่ผลตอบแทนและอนาคตภาพใหญ่ของการลงทุนผูกติดอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ  ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือในฐานะของคนไทยที่อย่างไรก็ยังต้องอยู่และตายในประเทศนี้  ผมก็หวังที่จะเห็นประเทศไทยที่ยังเติบโตและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ  เพราะนั่นจะทำให้เป็นสังคมที่คนอยู่กันอย่างมีความสุข  สังคมที่เศรษฐกิจ “ถดถอย” นั้น  มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ  มากมายและจะหาความสงบได้ยาก  เพราะเศรษฐกิจและสังคมนั้น  จริง ๆ แล้วก็แทบเป็นเรื่องเดียวกันในโลกยุคปัจจุบัน

Sunday, November 1, 2015

มหาสงครามค้าปลีก / โดย คนขายของ

 
   ถ้ามีคนถามว่าบริษัทค้าปลีกไหนที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลก คุณจะนึกถึงบริษัทอะไร? ห้าง Walmart ที่ขายของเหมือน ห้างโลตัส บิ๊กซี บ้านเรา หรือ กิจการขายของตกแต่งบ้านอย่าง Home Depot ใช่หรือไม่? แต่คำตอบจากตัวเลขล่าสุดเมื่อกลางเดือนตุลาคมคงทำให้หลายคนแปลกใจ ในตอนนี้ AMAZON.COM กลายเป็นบริษัทค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้วยมูลค่ากิจการสูงถึง 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำไมนักลงทุนถึงให้มูลค่ากิจการขายของออนไลน์ที่มียอดขายในปีที่แล้ว เพียง 20% ของ Walmart แถมยังขาดทุนด้วยมูลค่าสูงถึงขนาดนี้? บริษัทนี้มีอะไรดี ซ่อนอยู่บ้าง? เราจะลองสำรวจ AMAZON (AMZN) เปรียบเทียบกับ Walmart (WMT) กัน

WMT ก่อตั้งเมื่อปี 1962 ใช้เวลา 24 ปีที่จะทำยอดขายทะลุ 10,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่ AMZN ก่อตั้งเมื่อปี 1994 ใช้เวลาเพียง 12 ปีในการบรรลุตัวเลขเดียวกัน ในตอนนี้ WMT มียอดขายต่อปีเกือบ 5แสนล้านเหรียญ ในขณะที่ตัวเลขของ AMZN อยู่ที่ราว 9หมื่นล้าน แต่WMT ใช้พนักงานกว่า 2,200,000 คนทั่วโลกเพื่อทำยอดขายนี้ ในขณะที่ AMZN มีพนักงาน154,000 คน ถ้าเราดูยอดขายต่อหัวของพนักงาน จะเห็นว่าของ AMZN สูงกว่า WMT เกือบสามเท่า นั่นแสดงว่าค่าใช้จ่ายในการขาย (SG&A) ของ AMZN น่าจะน้อยกว่า WMT ซึ่งควรทำให้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานของ AMZN สูงกว่า WMT

อย่างไรก็ตามเมื่อเราหันมาดูอัตรากำไรจากการดำเนินงานของ AMZN เราพบว่าอยู่ที่0.8% แต่ WMT ทำได้ถึง 5.3% ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ทั้งนี้เพราะ AMZN เป็นบริษัทค้าปลีกกึ่งเทคโนโลยี ทำให้บริษัทแตกต่างจากบริษัทค้าปลีกทั่วไป เพราะบริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาที่สูงราว 1 หมื่นล้านเหรียญต่อปี AMZN มีการขยายธุรกิจใหม่ๆออกมาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังออนไลน์ ธุรกิจขายอีบุ๊คส์ และ พัฒนา consumer electronics เช่นเครื่องkindle และโทรศัพท์มือถือ ถ้า AMZN หยุดค่าใช้จ่าย R&D ในส่วนนี้แล้วหันมาเป็นผู้ค้าปลีกแบบ WMT อัตรากำไรจากการ ดำเนินงานจะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 12% และตัวเลขขาดทุนสุทธิจะกลายมาเป็นกำไรสุทธิทันที

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม AMZN ยังไม่มีทีท่าจะลดค่าใช้จ่ายด้าน R&D ลงมาเพื่อทำตัวเลขกำไรให้สวยหรู ในทางกลับกัน บริษัทกลับทุ่มงบ R&D สูงขึ้นทุกปี จาก 450 ล้านเหรียญเมื่อปี2005 มาเป็น 1 หมื่น ล้านเหรียญในตอนนี้ แม้มีการลงทุนใน R&D สูงแต่ดูเหมือนว่าการลงทุนของ AMZN นั้นไม่สูญเปล่า ยอดขายของ AMZN เติบโตแบบก้าวกระโดดมาตลอด โดยทุกๆสามปี ยอดขายจะโตขึ้นมาหนึ่งเท่า โดยตลอด  ถ้ามองในแง่การเติบโตของยอดขายเราจะเห็นได้ว่า การเติบโตของ WMT ช้าลงไปมาก โดยสามปีที่ผ่านมายอดขายโตเฉลี่ยปีละราวๆ 3% และกำไรสุทธิแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย

เมื่อไม่นานนี้ AMZN ได้พัฒนา application ที่สามารถแสกนบาร์โค๊ตของสินค้าเสร็จแล้ว โปรแกรมจะแสดงราคาสินค้าที่ขายผ่านเว็ป amazon.com ขึ้นมาทันที มีหลายคนเอาไปใช้กับ ของที่ขายอยู่ในห้าง Walmart ทำให้บริษัทต้องประกาศว่าหากสินค้าใด amazon.comขายถูกกว่า ทางบริษัทยินดีลดราคามาขายในราคานั้นทันที ซึ่งก็คงทำให้ WMT ต้องปวดหัวกับ มาร์จิ้นที่ถูกบีบให้ลดลง ซึ่งเป็นจากผลจากการพัฒนาของ AMZN โดยใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทำให้การซื้อสินค้าทางออนไลน์เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบาย  

                WMT เป็นตัวอย่างหนึ่งของบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในอดีต แต่พอบริษัทมีขนาดใหญ่ มากๆ การบริหารงานก็เริ่มขาดการริเริ่มสิ่งใหม่เหมือนเมื่อสมัยก่อนที่ WMT เป็นคนนำเทคโนโลยี มาใช้กับการบริหารสินค้าคงคลัง พักหลัง WMT ใช้กลยุทธ์ซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลสูง เพื่อเอาใจผู้ถือ หุ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเงินมหาศาลที่จ่ายไปนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสร้างความสามารถในการแข่งขัน



ถึงแม้ว่าผู้ถือหุ้น WMT อาจดีใจในระยะสั้น แต่ในตอนนี้เราได้เห็นแล้วว่า ตลาดกลับให้ราคาผู้ที่พัฒนาตัวเองอย่างไม่เคยหยุด อย่าง AMZN ซึ่งไม่เคยปันผล และไม่เคยซื้อหุ้นคืน แต่กลับทุ่มเงินไปกับการ พัฒนาความสามารถในการแข่งขันอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าอาจจะมีบางครั้งที่ผิดพลาดไปบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็น การเรียนรู้ ถ้าคุณซื้อหุ้น WMT เมื่อปี 2005 ผ่านมาสิบปีคุณจะได้กำไรเพียง 32% แต่หุ้น AMZN ในช่วงเวลาเดียวกันให้ผลตอบแทนถึง 12 เท่า ท่ามกลางสงครามค้าปลีกในอเมริกาที่แข่งขันกันอย่าง เข้มข้น ถึงแม้สงครามยังไม่จบ แต่ถ้าเราเลือกถูกข้าง ผลตอบแทนการลงทุนนั้นต่างกันอย่างที่เห็น

Corner / ดร.นิเวศน์

       บ่อยครั้งในตลาดหุ้นจะมีหุ้นบางตัวที่ราคาวิ่งขึ้นไปสูงลิ่ว  “เกินพื้นฐาน”  ไปมากโดยที่หา “เหตุผล” ไม่ได้  หุ้นที่มี PE เป็น 50 หรือ 100 เท่า และค่า PB สูง 5 หรือ 10 เท่านั้น  โดยปกติก็จะต้องเป็น  “Super Stock” นั่นคือ  มันควรที่จะมีคุณสมบัติทางธุรกิจดีเยี่ยม  มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนเหนือกว่าคู่แข่ง  มีกำไรดี  มีการเติบโต  มีฐานะทางการเงินดี  มีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง และอื่น ๆ  อีกมาก  หรือไม่อย่างนั้นหุ้นก็อาจจะต้องเป็นกิจการที่กำลัง “ฟื้นตัว” จากภาวะวิกฤติและกำไรอาจจะยังไม่มาแต่เห็นได้ชัดว่ากำไรจะโตก้าวกระโดดในไม่ช้า  แต่หุ้นแบบนี้ก็จะต้องมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดที่ต่ำเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจของบริษัทวัดจากยอดขายและเปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน


หุ้นที่มีราคาแพงมากโดยที่ไม่ได้เป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกหรือไม่ได้เป็นหุ้นที่กำลังฟื้นตัว  และที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเดียวกันที่มีคุณสมบัติดีกว่า  มีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือกว่า  มียอดขายและกำไรสูงกว่าและมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งกว่า  แต่หุ้นกลับมีราคาแพงกว่าและบ่อยครั้งมีมูลค่าตลาดของหุ้น หรือ Market Cap. สูงกว่านั้น  คำอธิบายก็มักจะออกมาว่าเป็นเพราะนักลงทุนคาดว่าบริษัทจะ  “โตเร็วกว่า”  แต่ถ้าดูจริง ๆ  ก็จะพบว่ามันก็คงไม่โตเร็วนัก และถึงโตเร็วกว่าบ้าง  แต่มันก็คงจะไม่เท่าคู่แข่งที่โตกว่ามากในเวลาอันสั้น  ดูอย่างไรมันก็อธิบายไม่ได้ว่าราคามันสูงขนาดนั้นได้อย่างไรมองในแง่ของ  “พื้นฐาน”  และนั่นก็นำมาสู่เรื่องของการ “เก็งกำไร” และการ “ปั่นหุ้น” แต่ในบางกรณีเราก็ไม่มั่นใจนักว่ามันคืออะไร  ตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อเร็ว ๆ  นี้ก็คือการที่หุ้นของแบ้งค์ขนาดกลางตัวหนึ่งมีราคาและมูลค่าหุ้นสูงขึ้นมาเท่าหรือใหญ่กว่าแบ้งค์ขนาดใหญ่บางตัว  หรือหุ้นของบริษัทเช่าซื้อบางตัวที่ใหญ่กว่าหุ้นของแบ้งค์เล็กที่ทำเช่าซื้อเป็นหลักและยังมีธุรกิจอื่นอีกหลายอย่างที่ใหญ่กว่าบริษัทเช่าซื้อมาก

ทฤษฎีของผมก็คือ  หุ้นที่มีราคาสูงลิ่วโดยที่เหตุผลไม่รองรับเท่าที่ควรนั้น  อาจจะมาจากสิ่งที่เรียกกันในแวดวงของนักลงทุนว่าหุ้นตัวนั้น  ถูก  “Corner”  หรือแปลเป็นไทยว่าหลักทรัพย์ถูก  “ต้อนเข้ามุม” 

 ซึ่งความหมายหรือคำจำกัดความก็คือ  คนที่  Corner หรือต้อนหุ้นเข้ามุมก็คือคนที่ควบคุมจำนวนหุ้นหรือหลักทรัพย์หรือโภคภัณฑ์ไว้มากพอที่จะทำให้สามารถปั่นหรือกำหนดราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์หรือโภคภัณฑ์นั้นได้  พูดง่าย ๆ  ถ้าหุ้นถูกต้อนเข้ามุมแล้ว  เราแทบจะทำให้ราคามันขึ้นไปได้สูงลิ่ว  อาจจะเป็น 10 เท่าได้ในเวลาอันสั้นโดยที่พื้นฐานของกิจการไม่ได้มีอะไรที่จะสนับสนุนราคาหรือมูลค่าหุ้นขนาดนั้น

ประวัติศาสตร์ของการทำ Corner ที่ค่อนข้างจะ “บันลือโลก” ก็คือการทำ Cornerตลาดของแร่เงินของพี่น้องตระกูล Hunt ที่พยายามกวาดซื้อแร่เงินในตลาดโลกในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้น 1980  ซึ่งทำให้แร่เงินมีราคาเพิ่มขึ้นจาก 11 เหรียญต่อออนซ์เป็น 50 เหรียญต่อออนซ์  อย่างไรก็ตาม  สุดท้ายราคาแร่เงินก็ตกกลับไปสู่ราคาที่ต่ำกว่า 11 เหรียญภายในเวลา 2 เดือนอันเป็นผลจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎการใช้มาร์จินในการซื้อขายโภคภัณฑ์ของตลาด  ทำให้พี่น้องตระกูล Hunt ต้องล้มละลาย  หลังจากนั้นก็ยังมีกรณีของการ Corner ตลาดทองแดงและโภคภัณฑ์อื่น ๆ  รวมถึงการ Corner ตัวหุ้นในหลาย ๆ  ประเทศโดยเฉพาะที่เป็นตัวใหญ่และเป็นที่สนใจของสังคม  กรณีหนึ่งที่ดังมากก็คือการ Corner หุ้นโฟล์กสวาเกนในปี 2008 โดยบริษัท Porsche หรือที่บ้านเราเรียกปอร์เช่ ซึ่งทำให้หุ้นโฟล์กกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในเวลาสั้น ๆ  แต่ดีลนั้นก็ไม่สำเร็จและทำให้ Adolf Merckle นักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในอุตสาหกรรมคนหนึ่งของเยอรมันต้องฆ่าตัวตายเนื่องจากไปชอร์ตหุ้นโฟล์กไว้มากและต้องขาดทุนมหาศาลเมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก

การ Corner หุ้นตัวเล็ก ๆ  นั้น  แน่นอน คงไม่เป็นข่าวหรือมีประวัติศาสตร์ให้เราศึกษา  แต่จากประสบการณ์ที่ผมพบในตลาดหุ้นไทยมานานนั้น  ผมคิดว่าการทำ Corner หรือ“ต้อน” หุ้นตัวเล็ก ๆ  หรือหุ้นที่มี Free Float หรือหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยแม้ว่าหุ้นอาจจะมีขนาดใหญ่  น่าจะมีการทำกันอยู่เรื่อย ๆ  โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นสดใสเป็นตลาดหุ้นกระทิงที่นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยสนใจการเล่นหุ้นในตลาดมากเป็นพิเศษ   ผมลองคำนวณคร่าว ๆ  หลายครั้งก็พบว่าจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดของหุ้นตัวเล็กหรือมีหุ้นหมุนเวียนในตลาดต่ำนั้น  บางทีเงินเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาทก็สามารถ Corner หุ้นได้อย่างสบายมาก   และเมื่อคิดถึงขนาดของพอร์ตของนักเล่นหุ้นส่วนบุคคลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย  ๆ   กอร์ปกับการที่สามารถใช้มาร์จินซื้อหุ้นได้อีกเท่าตัว  รวมถึงการที่อาจจะมีการ “เล่นกันเป็นทีม” ของนักลงทุนหลายราย  การ Corner หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยจึงน่าจะทำได้ง่ายและน่าจะมีการทำกันไม่น้อย  หลักฐานก็คือ  หุ้นตัวเล็กที่มี Free Float ต่ำจำนวนมากมีค่า PE เป็นหลายสิบถึงร้อยเท่าและมี PB ที่สูงลิ่วทั้ง ๆ  ที่กิจการไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก

กลยุทธ์ Corner หุ้นนั้น  ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ได้ทำเงินให้กับนักเล่นหุ้นจำนวนมาก  หลายคนกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุยังน้อย  เหตุผลที่ประสบความสำเร็จนั้น  แน่นอน  ส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือภาวะตลาดหุ้นที่สดใสและการที่คนไทยที่มีเงินเหลือไม่มีช่องทางการลงทุนที่ดีกว่าจึงนำมาลงทุนในตลาดหุ้น  แต่หุ้นที่ถูกCorner นั้น  ในที่สุดก็จะมีมูลค่าและราคาสูงตลอดไปไม่ได้และวันหนึ่งจะต้องตกลงมามาก  และนั่นคือวันที่จะต้องมีคนเสียหายขาดทุนหนัก  บางครั้งก็คือคนที่ทำ Corner เสียเองอย่างที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในประวัติศาสตร์

ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  การทำ Corner นั้น  ผิดกฎหมายไทยหรือไม่?  ผมคงไม่สามารถตอบได้เนื่องจากไม่ใช่นักกฎหมาย  สิ่งที่ผมรู้ก็คือ  การที่จะจับหรือฟ้องร้องคนที่ทำCorner นั้น  ผมคิดว่ายากมาก  ประเด็นก็คือ  ทุกคนมีสิทธิที่จะซื้อหุ้นในตลาดโดยไม่ต้องมีหน้าที่อะไรยกเว้นซื้อเกิน 25% ของหุ้นทั้งหมดที่จะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด  แต่ข้อเท็จจริงก็คือหุ้นที่อยู่ในตลาดหรือ Free Float จริง ๆ  นั้นมักจะมีไม่ถึง 25% ด้วยซ้ำ  สิ่งที่ต้องทำเมื่อซื้อถึง 5% ก็แค่รายงาน  แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้อเสียอะไร  เพราะนั่นมักจะเป็นการ “ส่งสัญญาณที่ดี”ในการที่จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้น  ดังนั้น  เรื่องของ Corner นั้น  ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับหุ้นจำนวนมากและไม่มีใครจะทำอะไรได้มากนักตราบที่หุ้นในตลาดยังมีขนาดเล็กมากอยู่  ในบางครั้งหุ้นนั้นก็อาจจะถูก  Corner โดยไม่มี  “เจ้ามือ” ก็เป็นไปได้แต่เป็นผลการกระทำ “ร่วม” ของนักลงทุนหลาย ๆ คนที่อาจจะรู้จักกันดีหรือบางทีก็อาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ  แต่หุ้นขึ้น  ทุกฝ่ายก็มีความสุข  ส่วนการขายหุ้นเมื่อหุ้นมีราคาสูงขึ้นไปมากนั้นเองก็ไม่มีกฎอะไรที่จะห้ามหรือเป็นความผิด  ดังนั้น  คนที่ทำ Corner นั้น  ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะผิดอย่างไรถ้าเขาจะทยอยขายหุ้นออกไปจนหมดและทำกำไรมหาศาลตราบที่ยังมีคนซื้อหุ้นอยู่

หน้าที่ของ Value Investor เองนั้น  ผมคิดว่าเราไม่ควรเข้าไปร่วมวงทำหรือก่อให้เกิดCorner ในหุ้นแต่ละตัว  เพราะราคาที่ไม่ใช่  “ธรรมชาติ”  นั้น  ในที่สุดก็ต้องลงมา  การทำนายหรือคาดการณ์ว่ามันกำลังขึ้นหรือลงเป็นเรื่องที่ยาก  เช่นเดียวกับการอดทนไม่ตอบสนองต่อความยั่วเย้าของราคาหุ้นที่กำลังถูกต้อนเข้ามุม  นี่ก็เป็นบททดสอบ VI ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า  เราจะเป็นVI ได้แค่ไหน?