Thursday, January 29, 2015

2558 ปีแห่งความท้าทายและโอกาสลงทุน


คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง โดย เกศรา มัญชุศรี
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านนะคะ ทักทายกันเป็นครั้งแรกสำหรับปีนี้ หากมองย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวในปี 2557 ที่ผ่านมา แม้ตลาดเงินตลาดทุนโลกจะมีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัยทั้งการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกา ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในยูโรโซน และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ก็ถือเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุนในพันธบัตรและหุ้น เนื่องจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศและไทยโดยรวมให้ผลตอบแทนถึงประมาณ 7-9%

ส่วนการลงทุนในหุ้น ผลตอบแทนจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาคกล่าวคือ ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนประมาณ 10-12% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ตลาดหุ้นอื่นในเอเชียก็เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง เริ่มจากตลาดหุ้นจีนที่ดัชนีเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก สูงกว่า 50% และใน 10 อันดับแรกก็เป็นตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียถึง 7 แห่งรวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งให้ผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 15.32% เนื่องจากการเมืองภายในเริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยตลาดหุ้นไทยเมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 45,466 ล้านบาทต่อวัน และมีหลักทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 46 หลักทรัพย์

สำหรับปี 2558 บรรยากาศการลงทุนน่าจะเป็นปีที่มีความท้าทายอีกปีหนึ่ง เริ่มจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของหลายประเทศที่มีแนวทางแตกต่างกันอย่างชัดเจนขึ้น (Policy Divergence) โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐ กับกลุ่มยุโรปและญี่ปุ่น กล่าวคือเราน่าจะเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจต้องดำเนินมาตรการ QE ต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดวิกฤตปัญหาภาวะเงินฝืด (Deflation)
ประเด็นที่ต้องจับตาคือ ปฏิกิริยาของผู้ลงทุนกลุ่มที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง (Risky Assets) หาก Fed ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น รวมทั้งการดำเนินมาตรการ QE ของประเทศอื่นอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ.มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทยในปี 2558 นับว่ามีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ส่วนของโครงการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ล่าสุดรัฐบาลก็ตั้งเป้าว่าจะเร่งโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่หลายสายให้สามารถประมูลและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2558

นอกจากนี้ไทยเรายังได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตในอัตราสูง ประกอบด้วย ไทย จีน พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมุ่งที่จะผลักดันและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนในภูมิภาคนี้ กล่าวคือเป็นแหล่งระดมทุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจและเสริมสร้างศักยภาพตอบรับกับโอกาสการขยายธุรกิจในภูมิภาค โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งในรูปแบบของการออกหุ้นสามัญและการออกตราสารหนี้ รวมไปถึงหุ้นใหม่ ๆ จากกลุ่มประเทศ GMS ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะให้การสนับสนุนและชักชวนผู้ประกอบการในต่างประเทศมาระดมทุนในตลาดไทย

ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าตัวท่านผู้อ่านจะมีอาชีพใด ต้องถือ ว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราทุกท่าน ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา หาความรู้ ทำความเข้าใจ และเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าความสำเร็จจากการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องลงทุนทั้งในเรื่องของเวลา และหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าสถานการณ์ภายนอกประเทศในปีนี้อาจคาดการณ์ได้ยาก การลงทุนระยะสั้นอาจมีความผันผวน และมีปัญหามากมายที่คอยท้าทายผู้กำหนดนโยบาย แต่ดิฉันยังเชื่อว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีได้ในปี 2558 อันเนื่องมาจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดธุรกิจที่เติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ รวมทั้งโอกาสการลงทุนในบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใหม่ในตลาดทั้งจากในและต่างประเทศ
สุดท้ายนี้ ดิฉันขออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือได้ประสาทพรให้กับท่านผู้อ่าน ให้พบกับความสำเร็จ ความสมหวัง มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมทั้งประสบความสำเร็จในการลงทุน และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ท่านผู้อ่านทุกท่านและครอบครัวค่ะ

เก็บตก "กลยุทธ์การลงทุน" จากเซียนหุ้นจีน


เก็บตก "กลยุทธ์การลงทุน" จากเซียนหุ้นจีน

ในระหว่างการร่วมงานเปิดตัว Shanghai-HK “Stock Connect” ผมมีโอกาสได้ฟังวิทยากรชั้นนำของจีน

บรรยายเกี่ยวกับกลยุทธ์และจิตวิทยาการลงทุนหัวข้อที่ชื่อว่า “ทำใจอย่างไร ให้มีโอกาสรวยมากที่สุด” ซึ่งบรรยายเป็นภาษาจีนล้วนๆ จึงขอถือโอกาสนี้ถ่ายทอดเนื้อหาดังกล่าวแบบย่อๆ ดังนี้

เราจะสามารถประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้น หรือ เล่นหุ้นเก่งแบบไม่รู้ตัว หากมีคุณลักษณะ 5 ประการ ที่เหมาะสมกับการลงทุน

เริ่มจากหนึ่ง มี ‘ความเชื่อ’ ที่เหมาะสมในการลงทุน ประกอบด้วย

  • เงิน นั้น ไม่สำคัญอย่างที่คุณคิด
  • โอเคเหมือนกันที่จะเสียเงินบ้างในตลาดหุ้น
  •  การเล่นหุ้น ก็เหมือนกับเล่นเกมอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ การฝึกซ้อมให้มีสภาพจิตใจดังกล่าว มีความสำคัญในการเล่นให้ประสบความสำเร็จ นักลงทุนที่ชำนาญจะรู้ตัวว่าตนเองเหมือนจะสามารถชนะตั้งแต่ก่อนการแข่งขันแล้ว และมักจะเป็นจริงโดยส่วนใหญ่

โดยหากมองว่า เงิน นั้น ไม่สำคัญ ก็จะสามารถใช้กลยุทธ์ Cut your loss, and let profit run โดยง่าย รวมถึงสามารถจะเอาชนะอุปสรรคระหว่างทางได้ง่ายกว่า

สอง ‘สภาพจิตใจ’ ที่เหมาะสมกับการลงทุน


อย่าโทษปี่โทษกลอง หากการลงทุนนั้นเกิดขาดทุนขึ้นมา เนื่องจากว่าตัวเราเองจะปัดความรับผิดชอบทั้งหมด และทำให้ลืมที่จะหาสาเหตุที่เกิดการขาดทุนในแต่ละครั้ง ทำให้พลาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองจากความผิดพลาดดังกล่าว พยายามพิจารณาว่า ณ เวลาที่เราต้องตัดสินใจในทุกๆ ครั้ง เวลาพลาดขึ้นมา เป็นเพราะเราให้น้ำหนักเรื่องใดมากเกินไป เรากลัวหรือว่ากล้าเกินไป ในอนาคต หากสถานการณ์ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นอีก เราจะได้สามารถใช้บทเรียนที่ผ่านๆ มาประกอบในการตัดสินใจในครั้งต่อไปให้ดียิ่งๆ ขึ้น

ตัวอย่างของการตัดสินใจที่ผิดพลาดดังกล่าว มีดังนี้

  •  เราอดทนไม่เพียงพอ ต่อภาวะตลาดตอนนั้นหรือเปล่า
  •  เราโกรธที่ตลาดลงสวนทางกับที่ได้ลงทุนไปหรือไม่
  • เรา กลัว ในช่วงเวลาที่ ผิด ใช่ไหม
  • เรา มองโลกในแง่ดีเกินไป เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใช่หรือไม่

จำไว้ว่า ผู้ชนะจะทราบว่าเขาควรรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่ผิดพลาด สำหรับผู้แพ้จะไม่รับผิดชอบเรื่องใดๆ

สาม ‘กลยุทธ์ทางจิตใจ’ ที่เหมาะสมกับการลงทุน

มองโสตสัมผัสทั้งหมดประกอบในการพิจารณาลงทุน

  •  มองสัญญาณ
  •  ระลึกได้ว่าคุ้นๆ
  • บอกกับตนเองว่า จะผิดพลาดอย่างไรหากลงทุนลงไป
  • อย่าเทรดดีกว่า หากมองหรือรู้สึกว่าจะแย่

การไม่ยึดติดกับความเชื่อดั้งเดิมของตนเองมากเกินไปและพิจารณาการลงทุนด้วยการใช้จิตสัมผัสของตนเอง จะช่วยให้สามารถเทรดหุ้นได้ดีขึ้นมาก

สี่ การมองทิศทางตลาดให้ต่างจากกระแสที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองเหมือนกัน จะสามารถใช้เป็นโอกาสในการทำกำไรได้ในหลายๆ โอกาส

แน่นอนว่าต้องใช้จังหวะเวลาที่เหมาะสม ใช้ความกล้า ความเข้าใจในสถานการณ์ และความมั่นใจในความคิดของตนเองเป็นหลัก ซึ่งตรงจุดนี้ ผมก็ใช้อยู่ค่อนข้างบ่อย

โดยนักกลยุทธ์และจิตวิทยาจากการลงทุนของจีนท่านนี้ ได้พูดถึงคุณลักษณะของนักค้าหุ้นที่ดีต้องมีนิสัยอยู่ 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ความยืดหยุ่นในความคิดของตนเอง ในการมองแนวโน้มและเลือกหุ้น การจะซื้อหรือขายหุ้น และ การเลือกซื้อหุ้นหรือพักเงินไว้ในพันธบัตร สอง ความเชื่อในความคิดของตนเอง โดยได้ยกตัวอย่างตลาดหุ้นจีนที่ตอนนี้เริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากซบเซามากว่า 4-5 ปี ซึ่งเขาบอกว่าถ้ามองว่าเศรษฐกิจจีนจะดีต่อไปในอนาคต ก็ไม่ต้องกังวลว่าตลาดหุ้นจะไม่กลับมาคึกคัก

ท้ายสุด ท่านได้ตบท้ายว่าการเทรดหุ้นให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ต้องสามารถถ่วงดุลระหว่างความเชื่อในแนวทางและความคิดของตนเองกับความยืดหยุ่นในการมองว่าตนเองได้มาผิดทางแล้ว

ตรงนี้ เหมือนเส้นบางๆ ซึ่งก้าวข้ามกันได้ไปมา ยกตัวอย่าง ตลาดหุ้นสหรัฐ เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ในช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐทดสอบแรงเทขายจากนักลงทุนประเภทต่างๆ จนดัชนีหุ้นสหรัฐร่วงลงมากว่าร้อยละ 9 จากจุดสูงสุด ตรงนั้นหลายคนมองว่าคงไปต่อยาก ทว่าเมื่อผ่านจุดนั้นไปได้ นักลงทุนท่านใดที่มีความยืดหยุ่นในการมองว่าตนเองได้มาผิดทาง จะสามารถมองออกก่อนเพื่อนว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังไปต่อได้อีก

นั่นคือ นักลงทุนที่เทรดหุ้นได้ดี จะมองความผิดพลาดของตนเองที่เกิดขึ้นว่าเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ยิ่งมีมาก ก็จะยิ่งเก่งมาก

โดยสรุป ผมมองว่าฝั่งจีนชอบให้นักลงทุน ไม่โลภ ใช้ความรู้สึกที่มีความรู้และประสบการณ์เป็นตัวนำทาง กล้าจะผิดพลาด และไม่ยึดติดกับความคิดใดๆ มากจนเกินไปในการเทรดหุ้นครับ 

มุมมองการลงทุน ปี 2015

เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงเรื่องการลงทุนในปีนี้ในตอนแรกไป ครั้งนี้ผมขอเขียนให้จบแล้วกันครับ  
เริ่มจาก Theme หลักกันก่อน ได้แก่

หนึ่ง ปีนี้น่าจะเป็นแห่งความผันผวนของราคาหุ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังจากนิ่งมากว่า 2 ปี เนื่องจากนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกการตรึงค่าเงิน

สอง เหตุการณ์ใหม่ๆ จากภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics จะเกิดบ่อยขึ้น อาทิ การเลือกตั้งในอังกฤษ กรีซ ISIS การก่อการร้ายในประเทศพัฒนาแล้ว

สาม แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงทั่วโลก จากราคาน้ำมันและการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ลดลง

ภายใต้ Theme ดังกล่าว สามารถแบ่งการลงทุนหลักๆ ได้ออกเป็น 3 ภูมิภาค

ได้แก่ หนึ่ง ตลาดพัฒนาแล้ว อย่าง สหรัฐอเมริกาและยุโรป คงไม่มีใครเถียงแล้วว่าสหรัฐอเมริกา ไม่มีปัญหาการเติบโตของจีดีพี เหลือเพียงแต่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าที่เคยคาดจากการลดลงของราคาน้ำมัน ซึ่งอาจจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ส่วนยุโรปนั้น ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาเงินฝืดรออยู่ ซึ่งมาตรการ QE ที่ประกาศไป จะสามารถช่วยให้ยังประคองตัวไปได้ต่อ

สอง ตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้ (ICIS) ในแง่ของการเติบโตเศรษฐกิจแบบเป็นกอบเป็นกำ คงต้องหวังจากภูมิภาคนี้เท่านั้น ส่งหนึ่งที่ภูมิภาคนี้มีอยู่อย่างชัดเจน คือ การเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่เห็นเป็นรูปธรรม โดยมิได้พึ่งการปั๊มเงินจากธนาคารกลางเป็นหลัก รวมถึงกำลังซื้อจากประชาชนที่ 3 ประเทศแรกก็มีอยู่กว่าหนึ่งในสามของโลกแล้ว

และสาม ญี่ปุ่น ที่พยายามเติบโตอีกครั้งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายก ชินโซ อาเบะ โดยปีหน้าคงไปได้ต่อ แต่ในระยะยาวยังไม่รู้ออกหัวหรือก้อย

โดย Top 5 ของการลงทุนในปีนี้ในความคิดของผม ได้แก่


อันดับที่หนึ่ง พันธบัตรระยะเวลา 10 ปีของสหรัฐ / ตลาดหุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซกเตอร์ Technology และ Financials

ข้อดี ของตลาดสหรัฐ คือ มีระดับความไม่แน่นอนของตลาดต่ำ เศรษฐกิจดูไม่เลว กำไรของตลาดหุ้นเติบโตในระดับสูงกว่าร้อยละ 8 รวมถึงเป็นผู้นำในตลาดสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในหลายรายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ความเสี่ยงเดียวของตลาดสหรัฐ ได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยที่อาจมีขึ้นในปีนี้ หรือ ‘Janet Jittery’

อันดับที่สอง ตลาดหุ้นจีน

ราคาหุ้นตอนนี้ถือว่ายังถูกมาก นอกจากนี้จีนยังได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นแล้วว่าเป็นของจริง จะเห็นได้ว่า Hard Landing ที่เคยพูดกันตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วยังไม่เกิดขึ้น โดยปีนี้ แทบไม่มี สำนักวิจัยแห่งไหนฟันธงว่าจีนเกิดวิกฤต แม้การเติบโตช้าลงแต่ก็ยังสูงอยู่ดี นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า บริษัทที่เข้าตลาดหุ้นในช่วงหลัง เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยุคดิจิทัล ทั้ง Tencent Alibaba และ Xiomi ที่สำคัญ สัญญาณที่ชัดเจนในปีที่แล้วคือรัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินแบบชัดเจน

ข้อเสียตลาดจีนมีอยู่อย่างเดียว คือ รัฐยังสามารถแทรกแซงหุ้นได้บางส่วน ผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ

อันดับที่สาม ตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะหุ้นตัวใหญ่ที่เน้นส่งออก

ผมคิดว่าปี 2015 ตลาดญี่ปุ่นยังไปต่อแบบขึ้นๆ ลงๆ เป็นระยะ แต่แนวโน้มโดยรวมยังขึ้นต่อเหมือน 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักลงทุนไทยชอบลงทุนตลาดที่มีรูปแบบเช่นนี้มาก แต่ปี 2016 เป็นต้นไป ตลาดญี่ปุ่นนั้นจะต้องดูละเอียดและระวังมากขึ้น

อันดับที่สี่ ตลาดหุ้นเยอรมัน

หลายท่านอาจจะแปลกใจ ยุโรปออกจะแย่ๆ ทำไมยังติดอันดับด้วย สิ่งหนึ่งที่ผมมองมาจาก Downside Risk

ในตอนที่เฟดทำ QE การซื้อพันธบัตรในแต่ละครั้งสามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับดัชนี S&P ร้อยละ 1.63 หากพิจารณาว่า ธนาคารกลางยุโรปจะประกาศการซื้อพันธบัตร 10 ครั้งในปีนี้ (นั่นคือ 10×1.63 = 16.3%) ก็จะสามารถเพิ่มผลตอบแทนของหุ้นยุโรปได้ประมาณร้อยละ 16.3 ในปี 2015 ช่วงที่วิกฤตยุโรปรุนแรงที่สุด ตลาดหุ้นยุโรปตกลงสูงสุดร้อยละ 19 ดังนั้น ผลตอบแทนที่แย่ที่สุดในปี 2015 ของตลาดหุ้นยุโรป น่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0 จนถึงติดลบแบบ Single Digit

ข้อดีของยุโรปในปีนี้ ได้แก่ บริษัทเยอรมันจะสามารถใช้ค่าเงินยูโรที่อ่อนมากในปีนี้ให้เป็นประโยชน์จากการส่งออกได้มากกว่าปีที่ผ่านๆ มา

อันดับที่ห้า ทองคำและเงินดอลลาร์

ทองคำน่าสนใจในปีนี้ เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ

หนึ่ง ปีนี้จะเป็นปีแห่งความผันผวนของราคาหุ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังจากนิ่งมากว่า 2 ปี เนื่องจากนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกการตรึงค่าเงิน และเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย และ สอง เหตุการณ์ใหม่ๆ จากภูมิรัฐศาสตร์จะเกิดบ่อยขึ้น

ส่วน ดอลลาร์นั้นน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ เหตุการณ์ใหม่ๆ จากภูมิรัฐศาสตร์จะเกิดบ่อยขึ้น และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงทั่วโลก จากราคาน้ำมันและการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ลดลง

ท่านผู้อ่านอาจลองนำมุมมองการลงทุนนี้ ประกอบการตัดสินใจในการปรับพอร์ตของท่านได้ครับ  

วิถีของอาชีพ VI (1)


วิถีชีวิต (Lifestyle) เป็นคำที่เริ่มได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน ไม่ใช่สูตรสำเร็จเหมือนแต่ก่อน วิถีความสำเร็จพิมพ์นิยมที่ว่าต้องเรียนให้เก่ง ทำงานบริษัทดี ๆ สร้างฐานะให้มั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น ลูก ๆ เติบโตมา ก็เรียนจบมหาวิทยาลัยดีเหมือนกับรุ่นพ่อคงเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งของวิถีชีวิตสมัยใหม่เท่านั้น


เพราะในยุคหลัง ๆ ผมเริ่มสังเกตว่าวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม รวมไปถึงมีแบบฉบับที่แตกต่างกันมากขึ้น เพราะรูปแบบการดำเนินชีวิต ทัศนคติ มุมมองต่อโลก การให้คุณค่าของแต่ละคนไม่เท่ากัน ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่าง ทำให้ผู้คน "เลือก" อาชีพแตกต่างกันมากขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น คนเลือกจะทำงานฟรีแลนซ์หรืองานอิสระมากขึ้น เพราะต้องการเวลาในชีวิต ต้องการใช้ชีวิตในสิ่งที่อยากจะเป็น ไม่ใช่ตามสังคมจารีตประเพณี คนรุ่นใหม่ค้นพบว่าอันที่จริงไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหนในสังคม อาชีพแต่ละอย่างก็มีคุณค่าและมี "โอกาส" ต่างจากแต่ก่อนที่ค่อนข้างดูถูกบางสาขาอาชีพ และยกย่องบางสาขาอาชีพมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี วิถีของคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการนับ 1-2-3 อย่างการทำงาน 30 ปีไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งบริหาร และรับเงินเกษียณอาจจะเป็นวิถีในอดีต พวกเขาอยากนับ "ข้าม" ตัวเลขที่ไม่ต้องการหรือหาทางลัด ตัวอย่างเรื่องความต้องการรวยเร็วก็เป็นกระแสนี้ หลาย ๆ ปีให้หลัง ถนนทุกสายจึงมุ่งหาเส้นทางลัดสู่อิสรภาพทางการเงิน "การรวยเร็วจากการเล่นหุ้น" เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ผิดจากโจทย์ที่ผิด

ผมจึงลองย้อนวิถีของอาชีพ VI ในมุมที่ผมเห็นมากกว่าสิบปีที่ผ่านมา รวมไปถึงจากการอ่านชีวประวัติของนักลงทุนระดับโลก ว่าวิถี VI แต่ละวิถีเป็นอย่างไรบ้าง แต่ต้องบอกก่อนว่า วิถีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และอาจจะผสมผสานมากกว่าหนึ่งวิถีทาง และบอกไม่ได้ว่า วิถีไหนจะดีกว่ากัน เพราะมันคือ "เส้นทางชีวิต" ซึ่งคนแต่ละคนมีปัจจัยต่างกัน จึงให้คุณค่า และเป้าหมายแตกต่างกัน


วิถี VI แรกสุด เป็นวิถีแห่งการลงทุนอย่างแท้จริง ใครเคยอ่านหนังสือชีวประวัติ Buffett โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ก็จะเป็นภาพลักษณะเดียวกัน คือเก็บหอมรอมริบทุกบาททุกสตางค์ เพื่อมา "ลงทุน" เรียกได้ว่าประหยัดอดออม ความฟุ่มเฟือยเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับ VI วิถีนี้ เพราะพวกเขารู้ว่าเงินทุกบาทในวันนี้มีมูลค่ามหาศาลในวันข้างหน้า เพราะมุ่งเน้นหา "ผลตอบแทน" ในการลงทุนเป็นหลักใหญ่ ผมจึงขอตั้งชื่อวิถีนี้ว่า "วิถีมั่งคั่ง"

นักลงทุน VI ที่อยู่ในวิถีมั่งคั่งนี้ กิจกรรมหลักจะเป็นการเน้นหาหุ้นตัวใหม่ ๆ ฟัง Company Visit ถ้าไปพบเพื่อน ๆ ก็มักจะมีทำพรีเซนเตชั่นเพื่อแชร์ข้อมูล แนวคิดของหุ้นแต่ละตัวให้ฟังกัน เข้าฟังสัมมนา อ่านหนังสือการลงทุนอย่างเข้มข้น เพื่อค้นหาหุ้นที่มี "ส่วนลด" หรือหุ้นที่ราคาถูกกว่ามูลค่าของมัน จุดเด่นที่ชัดเจนที่สุดอีกจุดหนึ่งคือ "ความถี่ในการเปิดดู Streaming เพื่อเช็กราคาหุ้น" วิถีนี้อาจจะเปิดหลาย ๆ ครั้งต่อวัน รวมไปถึงความกระตือรือร้นในการศึกษาหุ้นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะ IPO หรือหุ้นที่ยังไม่รู้จัก และยังคงประหยัดอดออม ใช้จ่ายเงินต่ำกว่า "ความมั่งคั่ง" ที่ตัวเองมีอย่างต่อเนื่อง คนที่อยู่ในวิถีนี้ได้ยาวนานอย่างมั่นคงที่สุด ผมเห็นแค่คนเดียวคือ Warren Buffett

วิถี VI ที่สอง คือวิถีอิสระ วิถีนี้การมุ่งเน้น "ผลตอบแทน" อาจจะน้อยลงไปกว่าวิถีมั่งคั่ง แต่แลกมาซึ่งอิสระในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของเวลา กิจกรรมการลงทุนของวิถีนี้ อาจจะเป็นแค่ "กิจกรรมเสริม" เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวเพื่อการเกษียณที่ดีกว่าหรืออาจจะลด "ความมุ่งมั่น" เรื่องการสร้างผลตอบแทนลดลง เพราะมีกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเข้ามาในชีวิต

นักลงทุน VI วิถีอิสระ อาจจะเน้นการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนหรือทำ DCA (Dollar Cost Average) ทุก ๆ เดือน ผ่านกิจกรรมออมหุ้น ซึ่งคนแรก ๆ ที่พูดถึงน่าจะเป็นคุณสุมาอี้ในบล็อก Dekisugi.net หรืออาจจะซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม และถือไปเรื่อย ๆ ตราบที่กิจการยังเติบโตอยู่ เรียกได้ว่า VI กลุ่มนี้ หาผลตอบแทนจากการเลือกกิจการที่ดีเป็นหลัก ส่วนการมุ่งเน้นหา "ส่วนลด" ของหุ้นนั้นเป็นปัจจัยรอง ดังนั้นพฤติกรรมของนักลงทุนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนหุ้นไม่บ่อยนัก ซื้อแล้วจะถือยาวกว่าค่าเฉลี่ย VI วิถีอื่น ๆ สิ่งที่ VI กลุ่มนี้แลกมา คือ "ความอิสระ" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระหน้าที่ที่จะต้องขวนขวายหาหุ้นตลอดเวลา รวมไปถึงอิสระทางใจจากความกังวลในการลงทุนหุ้นตัวใหม่ ๆ นักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะไม่ดูหุ้นเลยทั้งสัปดาห์ หรืออาจจะเช็กราคาเฉพาะเมื่อตลาดหุ้นปิด แต่จุดสำคัญคือ VI วิถีอิสระ จะยังคงมี "เงิน" ลงทุนในหุ้นเกือบ 100% หรืออาจจะมีเงินสดเพราะรอหาซื้อหุ้นเท่านั้น

ติดตามตอนสองอีกสองสัปดาห์ครับ ระหว่างนี้ ผมขอฝาก "วิถี VI" ทุกวันพฤหัสบดี 22.00-22.30 น. ซึ่งอยู่ในรายการ "มือใหม่ Turnpro" ทางช่อง Money Channel ถือเป็นรายการที่ 3 ของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ที่จะตอบโจทย์ว่า การมุ่งหน้าสู่ วิถี VI ที่ประสบความสำเร็จจะเป็นอย่างไรครับ

Monday, January 26, 2015

The Zulu Principle

   
   เมื่อผม  “เริ่มเดินทาง” สาย Value Investment อย่างจริงจังประมาณ 20 ปีมาแล้วนั้น  การอ่านหนังสือการลงทุนจากต่างประเทศเป็นกิจกรรมที่ผมทำอย่างเข้มข้น  หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะแนว VI ที่  “โด่งดัง”  หรือเป็นหนังสือขายดีแบบ Best Seller แทบทุกเล่ม  เช่นเดียวกับหนังสือ Classic ที่ยอดเยี่ยมและไม่ขึ้นกับกาลเวลานั้น  ผมอ่านแทบทุกเล่ม  หนึ่งในหนังสือที่ผมรู้สึกว่าอ่านง่ายและได้ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากก็คือ  “The Zulu Principle”  หรือ  “หลักการของซูลู”  เขียนโดย Jim Slater  นักลงทุนชื่อดังชาวอังกฤษ หนังสือเขียนมาตั้งแต่ปี 1992 แต่ผมอ่านเวอร์ชั่นของปี 1997 ปีที่ไทยเกิดวิกฤติทางการเงิน

แนวความคิดของ จิม สเลเตอร์ ที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ก็คือเขาต้องการที่จะแนะนำให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นคนชั้นกลางของอังกฤษหันมาลงทุนอย่างชาญฉลาดในตลาดหุ้นและมีความสุขกับมัน  เขาบอกว่านักลงทุนรายย่อยทุกคนนั้น   สามารถที่จะเป็น  “ผู้เชี่ยวชาญ” ในอุตสาหกรรมหรือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ไม่ยาก  และถ้าทำแบบนั้นแล้ว  พวกเขานอกจากจะสามารถทำกำไรจากหุ้นที่เติบโตดีอย่างโดดเด่นมากแล้ว  ยังจะมีความสุขจากกระบวนการลงทุนนั้นด้วย

ในหนังสือ  The Zulu Principle นั้น  จิม สเลเตอร์ บอกว่าเขาได้ความคิดจากภรรยา  นั่นคือ  ในวันหนึ่งภรรยาเขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับชนเผ่าซูลูในอาฟริกาที่มีความโดดเด่นน่าสนใจมากจากหนังสือ Readers Digest  และเพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น  ภรรยาเขาก็รู้เรื่องราวเกี่ยวกับซูลูมากกว่าตัวเขาเอง  และทันใดนั้น  เขาก็รู้สึกว่า  ถ้าภรรยาเขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับซูลูทั้งหมดในห้องสมุดของท้องถิ่น  หล่อนก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านของซูลูที่โดดเด่นในเมือง Surrey   และถ้านางสเลเตอร์ตัดสินใจเดินทางไปประเทศอาฟริกาใต้  ใช้เวลาซัก 6 เดือนศึกษาที่มหาวิทยาลัยโจฮานเนสเบิร์กและใช้เวลาบางส่วนในชุมชนอนุรักษ์ของชนเผ่านี้  หล่อนก็สามารถที่จะเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเกี่ยวกับชนเผ่าซูลูได้

จิม สเลเตอร์บอกว่า  มันไม่ได้ใช้เวลามากมายนักที่จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ  คนทั่วไปที่ใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงศึกษาบริษัทต่าง ๆ  ที่ผลิตหรือขายสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมหนึ่งนั้น  ในที่สุดก็จะรู้จักกับบริษัทและอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง  และเขาก็จะไม่ตัดสินใจอะไรผิดพลาดได้ง่าย    เขาจะรู้ว่าบริษัทไหนดีและบริษัทไหนไม่ดี  บริษัทไหนจะประสบความสำเร็จในด้านไหนมากกว่าบริษัทอื่น  เขาจะรู้ก่อนคนอื่นว่าบริษัทไหนจะมีข่าวอะไรดี ๆ  ออกมา  การที่คนพยายามศึกษาบริษัทต่าง ๆ  ในหลาย ๆ  อุตสาหกรรมมากเกินไปนั้น  สุดท้ายเขาก็จะไม่รู้อะไรอย่างจริงจัง  วิธีที่ดีกว่าก็คือ  พยายามจับแค่หนึ่งหรือสองอุตสาหกรรมก็พอ

นอกจากวิธีการเรียนรู้แบบซูลูแล้ว  สเลเตอร์ยังบอกด้วยว่าการลงทุนในหุ้นนั้นเป็นทั้งเรื่องของการทำเงินที่งดงามและเป็นงานอดิเรกที่น่าสนใจในแง่ที่คุณจะได้รับความรื่นรมย์จากการใช้ความคิดและวิชาการ  นอกจากนั้นเขายังแนะนำให้นักลงทุนเข้าร่วมใน Investment Club หรือชมรมการลงทุนที่ซึ่งแต่ละคนจะช่วยกันเลือกหาหุ้นจากประสบการณ์ของตน  สเลเตอร์มองว่านักลงทุนรายย่อยนั้นมีข้อได้เปรียบบางอย่างเหนือนักลงทุนมืออาชีพ    เนื่องจากมีเงินลงทุนน้อย  ดังนั้น  พวกเขาสามารถลงทุนในบริษัทเล็กและสามารถเลือกเฉพาะหุ้นที่ดีที่สุดสิบตัวได้ในขณะที่นักลงทุนมืออาชีพต้องซื้อหุ้นจำนวนมากที่ทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีมากได้

ในส่วนของการเลือกหุ้นนั้น  สเลเตอร์แนะนำว่าเราควรลงทุนในหุ้นที่มี PE ต่ำ  มีความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งอาจจะมาจากยี่ห้อของสินค้าที่โดดเด่นหรือมีสิทธิบัตรเฉพาะเช่นพวกยาเป็นต้น    และเมื่อพบหุ้นเหล่านี้แล้วก็จะดูต่อไปว่าบริษัทมีการเติบโตที่โดดเด่นหรือไม่  ซึ่งความหมายของการเติบโตก็คือ  บริษัทควรมี EPS หรือกำไรต่อหุ้นเติบโตในอัตราอย่างน้อย 15% ต่อปี  และการเติบโตนี้  ในความเห็นของเขาก็คือ  ควรมาจากการที่บริษัทสามารถ  “Clone” หรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วซ้ำ ๆ  เช่น เปิดร้านเครือข่ายเพิ่ม  เปิดภัตตาคารเพิ่ม หุ้นที่ทำได้แบบนี้จะมีอนาคตที่น่าสนใจมาก  ในส่วนของผู้บริหารของบริษัทนั้น  สเลเตอร์ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถตัดสินความสามารถหรือความซื่อสัตย์โดยเฉพาะของบริษัทเล็กที่โตเร็วได้   ดังนั้น  สิ่งที่เขาแนะนำก็คือ  ให้เริ่มดูจากตัวเลขต่าง ๆ  ของบริษัทก่อน  โดยที่  กฎสำคัญเป็นดังต่อไปนี้:

หนึ่ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น  บริษัทจะต้องกำไรทุกปีไม่มีข้อยกเว้น

สอง  กำไรในช่วง 4 ปีหลังนั้นจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีและ EPS หรือกำไรต่อหุ้นปกติจากการดำเนินงานในปีล่าสุดจะต้องสูงสุด  ซึ่งนี่จะเป็นสัญญาณว่าบริษัทกำลัง “เดินหน้า” จริง ๆ

สาม หุ้นอสังหาริมทรัพย์จะต้องถูกตัดออกเพราะว่ามันเป็นเรื่องของทรัพย์สินมากกว่าการเจริญเติบโต  ทรัพย์สินนั้นอาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้แต่มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถของผู้บริหาร

สี่  หุ้นควรจะมีโบรกเกอร์วิเคราะห์ติดตาม  และคำแนะนำจะต้องเป็น  “ซื้อ” กฏข้อนี้มีขึ้นเพราะสเลเตอร์คิดว่านักลงทุนรายย่อยนั้นไม่สามารถที่จะได้ข้อมูลลึก ๆ ของบริษัท  ดังนั้น  การได้นักวิเคราะห์มาช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์จะทำให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น

ห้า สเลเตอร์ค่อนข้างจะระมัดระวังเกี่ยวกับหุ้นวัฏจักรเช่นหุ้นรับเหมาก่อสร้างมาก  ถ้าจะเป็นบริษัทที่โตเร็ว  หุ้นพวกนี้จะต้องเข้าข่ายตามกฎทั้งหลายที่กล่าวมาด้วย  ซึ่งนี่ก็มักจะทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ตกรอบไม่ถือว่าเป็นหุ้นเติบโตเร็ว

สุดท้ายก็คือ  จิม สเลเตอร์ แนะนำว่าเราควรที่จะดูค่า PEG หรือค่า PE เมื่อเทียบกับการเจริญเติบโตของบริษัท  นั่นก็คือ  ค่า PE หรือระดับราคาหุ้นที่เราจ่ายเมื่อเทียบกับศักยภาพในการเจริญเติบโตของบริษัท  โดยหุ้นที่น่าสนใจก็คือหุ้นที่มีค่า PEG ต่ำกว่า 1 เท่า  โดยที่สเลเตอร์มองว่าหุ้นที่เรามองหาควรจะมีการเติบโตระหว่าง 15% ถึง 25% ต่อปี  เพราะหุ้นที่โตเกินนี้จะเป็นการโตที่ไม่ยั่งยืน  ดังนั้น  ถ้ามองในแนวนี้  หุ้นที่มี PE เกิน 25 เท่าโดยทั่วไปก็จะไม่น่าสนใจในสายตาของสเลเตอร์

นอกจากเรื่องของตัวเลขดังกล่าวแล้ว  อีกสิ่งหนึ่งที่สเลเตอร์แนะนำก็คือ  เราควรหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในบริษัทที่ผู้บริหารใช้ชีวิตอย่าง  “หรูหราฟู่ฟ่า” เกินไป  ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารใช้รถหรูเบอร์ป้ายทะเบียนรถพิเศษ  หรือถ้าผู้บริหารเข้าไปถือหุ้นค่อนข้างมากในสโมสรฟุตบอลนี่ก็จะเป็น “หายนะ”  เพราะมันเป็นเรื่องของ  “อีโก้” ที่ยิ่งใหญ่แต่มักเป็นกำไรที่ “จิ๊บจ๊อย”

  จิม สเลเตอร์ เป็นนักลงทุนที่มี  “สีสัน”  ในตลาดหุ้นของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะอายุประมาณ 40-50 ปี  เขาเป็นนักเทคโอเวอร์ประเภทซื้อบริษัทมาแล้วตัดขายทรัพย์สินทำกำไรรวดเร็วจนมีชื่อเสียงและเคยถูกดำเนินคดีแต่ก็หลุดมาได้  เขาเคยเล่นทองและคอมโมดิตี้  เป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังและอื่น ๆ  อีกมาก  เขาเคยรวยและ “จน”  จนแทบล้มละลายครั้งหนึ่ง งานอดิเรกของเขาคือการเล่นหมากรุกและเขาเคยบริจาคเงินเพื่อกิจกรรมนี้หลายล้านบาท  ดูเหมือนว่าเขาจะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้กลยุทธ์ในการต่อสู้เฉกเช่นเดียวกับที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบเล่นไพ่บริดจ์  ว่าที่จริงสเลเตอร์เองนั้นต้องถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกับ วอเร็น บัฟเฟตต์ เพราะเขาเกิดในปี 1929 ในขณะที่บัฟเฟตต์เกิดปี 1930  ถึงปัจจุบันนี้  ชื่อของสเลเตอร์ก็เลือนหายไปแล้วแต่หนังสือหลายเล่มที่เขาเขียนนั้นก็จะยังอยู่ในชั้นของนักลงทุนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยรวมถึงตัวผมเอง  และ “หลักการของซูลู” ก็จะเป็นแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อไปอีกนาน


Thursday, January 22, 2015

ผ่าปีศาจแดง

    

   มหาเศรษฐี Ron Baron  ผู้บริหารกองทุน Baron มูลค่ารวมกันกว่า 26,800 ล้านเหรียญ โดยเน้น กลยุทธ์ “ซื้อกิจการที่ดี และถือมันไว้ตราบเท่าที่มันยังเป็นกิจการที่ดี” ได้ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าว CNBC ถึงหุ้นที่น่า จะสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะห้าปีขึ้นไปว่า เขาเชื่อว่าหุ้นของสโมสรฟุตบอล ชื่อก้องโลกนาม “Manchester United” เป็นหนึ่งในหุ้นที่เขาเลือก ประเด็นนี้ทำให้ผมสนใจที่จะหา ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะดูว่า เพราะเหตุใด Ron Baron จึงคิดเช่นนั้น ดังนั้นในบทความนี้เราจะมา ศึกษา จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ ความเสี่ยงของกิจการทีม “ปีศาจแดง” กัน

  ตอนนี้หุ้นของทีมแมนยูมีการซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ค หลังจากที่ทำ IPO เป็นครั้งที่สอง เมื่อปี 2012 ที่ราคา 14$ ตอนนี้ราคาเคลื่อนไหวอยู่ราว 16$ มีมูลค่ากิจการสูงถึง 88,000ล้านบาท เป็นทีมฟุตบอลที่ มูลค่ากิจการสูงที่สุด ทิ้งห่างจาก Borussia Dortmund ของเยอรมันนี และ Juventus ของอิตาลีเป็น อย่างมาก ตอนนี้หุ้นแมนยู มี PE สูงถึง 72 เท่า PBV 3.46 เท่า กิจการมี ROE แค่ 5.04 และ อัตรา การทำกำไรสุทธิแค่ 5% เงินปันผลก็ไม่มี ดูภาพรวมในเชิงปริมาณอย่างไรก็รู้สึกว่าราคาหุ้นน่าจะเกินมูลค่า ทางพื้นฐานไปมาก แต่เมื่อเราพิจารณาเชิงคุณภาพของกิจการเราพบว่า ทีมแมนยู มี fan page ทาง Facebook มากที่สุดถึง60 ล้านคน มากกว่าทีมฟุตบอลอื่นๆกว่า เท่าตัว มีการเก็บสถิติเรตติ้งคนดูเวลาทีม แมนยูลงแข่งเตะในแมทช์สำคัญๆ พบว่ายอดคนดูทั่วโลกมากกว่าจำนวนคนดู American Idol รอบตัดสินบวกกับการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลแมทช์คืนวันอาทิตย์คู่เปิดสนามถึง 2 เท่า

  รายได้ของแมนยูปีล่าสุดอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนใหญ่ที่สุด44% เป็นรายได้ “เชิงพาณิชย์” ซึ่งมาจากค่าสปอนเซอร์เป็นหลัก รองลงมาเป็นรายได้จากส่วนแบ่งลิขสิทธิ์รายการทีวีคิดเป็น 31% และส่วนน้อยที่สุดคือส่วนแบ่งค่าตั๋วเข้าชมและรายได้จากสนาม คิดเป็น 25% รายได้ด้านค่า สปอนเซอร์ซึ่งอยู่ในหมวดรายได้ “เชิงพาณิชย์” ของทีมแมนยูเฉลี่ยเติบโตปีละ 34.2% จากประมาณ 2,000 ล้านบาท ในปี 2010 มาอยู่ที่ 6,800 ล้านในปี2014 นับว่าเป็น การสร้างการเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ แต่เมื่อดูรายได้โดยรวมทั้งหมดของทีมแมนยู ปรากฎว่า ในช่วงปี 2010-2014 นั้นทำได้โตแค่ 10% เท่านั้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงเงินเดือนและสวัสดิการของนักเตะและสตาฟโคช ก็พุ่งขึ้นปีละ 10%เช่นเดียวกัน จึงทำให้กำไรจากการดำเนินงานของแมนยูย่ำอยู่ที่เดิมไม่ไปไหนมากว่าห้าปีแล้ว

  Ron Baron ให้เหตุผลที่เขาชื่นชอบหุ้นแมนยูว่า รายการฟุตบอลเป็นรายการที่มีคนดูมากที่สุดในโลก และเป็นรายการที่ต้องดูสด ณ เวลานั้นถึงจะได้อรรถรส ประเด็นนี้ผมเข้าใจว่าแกอาจแฝงเป็นนัยยะว่า เพราะต้องดูสด รายการฟุตบอลคงไม่โดนพวก youtube แย่งรายได้ไป ซึ่งดูเหมือนว่ารายการฟุตบอลยังคง ครองแชมป์รายการที่มีคนดูมากที่สุดในโลกไปได้อีกยาวนานแบบที่หาคู่แข่งได้ยาก แมนยูซึ่งเป็นทีมที่มี ฐานแฟนคลับมากที่สุดก็น่าจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อมองในมุมนี้เราคงได้เห็น “ความสามารถ ในการแข่งขัน” ของกิจการอย่างทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้ชัดเจนขึ้น

  แต่กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่ากิจการอย่างทีมฟุตบอลนั้นมีความเสี่ยงอยู่มากที่จะสูญเสียศรัทธาของแฟนบอลไป หากทีมฟุตบอลนั้นๆมีผลงานการเล่นที่ตกต่ำไม่สามารถคว้าแชมป์ต่างๆได้เหมือนในอดีต ทำให้แฟนบอล ติดตามน้อยลง สปอนเซอร์เริ่มถอนตัว สินค้าที่ระลึกขายไม่ออก มูลค่ากิจการอาจไม่สามารถยืนอยู่ได้ที่ PE สูงๆเหมือนแต่ก่อน นอกจากนั้นการที่  Alex Ferguson ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมของแมนยูซึ่งโด่งดัง ได้เกษียณ ตัวเองในปี 2013 กรณีนี้ผมว่าไม่ต่างกับการที่ บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่สูญเสีย CEO ที่เก่งกาจไป ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลประกอบการได้ เช่น Jim Skinner ของ McDonald’s เกษียณอายุในปี 2012 หลังจากเขาออกจากตำแหน่งไป การเติบโตของกำไรสุทธิก็ชลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคงต้องดูกันอีกสัก ระยะว่าแมนยูจะเจอปัญหาเดียวกับ McDonald’s หรือไม่


  สรุปแล้วผมคิดว่า หากสนใจที่จะลงทุนในหุ้นของแมนยู นักลงทุนควรมีความสามารถพอที่จะอ่านออกว่า ทีมปีศาจแดงนี้จะสามารถรักษาฟอร์มการเล่นได้โดดเด่นดังเช่นอดีตหรือไม่ กิจการลักษณะนี้ผมเชื่อว่า คล้ายกับดารานักแสดงที่ยามมีชื่อเสี่ยงใครๆก็อย่างเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่พอชื่อเสี่ยงเริ่มสั่นคลอน ค่าตัว และเพื่อนฝูงก็ลดลงไปด้วย ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆนักลงทุนอาจจะไม่อยากถือหุ้นแมนยูเหมือนในตอนนี้ 

Monday, January 19, 2015

กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง


เด็กจบปริญญาตรีใหม่ ๆ  หรือเพิ่งเริ่มทำงานมาได้สักพักหนึ่งบางคนนั้น  บางทีก็ “ฝัน” ที่จะร่ำรวยด้วยการลงทุนในหุ้น  พวกเขารู้สึกว่าหุ้นนั้นสามารถทำให้คนรวยได้เร็วและเหนื่อยน้อยที่สุด  ว่าที่จริงพวกเขาอาจจะคิดว่าการทำงานกินเงินเดือนนั้น  “ไม่มีทางรวย” เพราะเขาอาจจะลองนับดูเงินเดือนที่จะได้รับหรือได้รับแต่ละเดือนแล้วก็พบว่ามันแค่พอกินพอใช้หรือบางทีก็ไม่ใคร่พอด้วยซ้ำ  โอกาสที่จะรวยนั้นไม่มีแน่นอน  แต่ถ้า  “เล่นหุ้น”  และประสบความสำเร็จอย่าง  “เซียน”  หลาย ๆ  คนที่อ้างว่าเริ่มลงทุนด้วยเงินเพียงน้อยนิดหลักหมื่นหรือแสนบาทแล้วกลายเป็นเงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาทในเวลาไม่กี่ปี  โอกาสรวยเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีก็เป็นไปได้  ดังนั้น  คนหวังรวยเร็ว ๆ  ซึ่งก็เป็นแนวความคิดของเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากจึงมุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้นและทุ่มเทให้กับการลงทุนหรือเล่นหุ้นจนอาจจะ “ลืม”  คิดถึงความเป็นจริงที่อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่ตนเองรับรู้มา  หรือความเป็นจริงของตนเองที่อาจจะไม่เหมาะกับการยึดถือการลงทุนเป็นอาชีพตั้งแต่เริ่มต้นทำงานหลังจากเรียนจบ

ผมคิดว่าคนที่หวังจะร่ำรวยเร็ว ๆ จากเงิน “เริ่มต้น” ที่น้อยหรือไม่มีเลยนั้น  จำเป็นที่จะต้องกำหนดกลยุทธ์ใหญ่หรือยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องสำหรับตนเองเสียก่อน  ประการแรกก็คือ  ดูว่าตนเองมีจุดแข็งหรือความสามารถโดดเด่นทางด้านไหน  ถ้าเป็นคนเรียนเก่งและจบมาทางสายวิทยาศาสตร์  เช่น วิศวกรรมหรือแพทย์   หรือไม่ก็จบทางด้านที่เกี่ยวกับการเงินหรือธุรกิจในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ  ในกรณีแบบนี้  เราก็มี  “แต้มต่อ” ในเรื่องของการทำงานในองค์กรธุรกิจ  และถ้าเราขยันขันแข็งและมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี  โอกาสที่เราจะทำเงินได้มากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมั่นคงก็จะมีมาก  และนี่เป็นหนทางที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้  ว่าที่จริงในสังคมไทยยุคใหม่นี้  พนักงานที่ทำงานจนร่ำรวยหรือมีความมั่งคั่งนั้น  มีไม่น้อยเลยและจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแบบอย่างของประเทศที่เจริญแล้ว    ดังนั้น  ถ้าใครมีคุณสมบัติดังกล่าว  ผมคิดว่าเราต้องใช้มันเต็มที่  นั่นก็คือ  มุ่งหน้าสู่การทำงานในธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็ว  ในบริษัทที่เปิดโอกาสให้เราเติบโตได้จนสามารถกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง  และเมื่อถึงจุดนั้น  เราก็จะมีความมั่งคั่งโดยที่มีความเสี่ยงน้อย  และในกรณีอย่างนี้  การทุ่มเทให้กับการทำงานคือสิ่งที่เราจะต้องทำอย่างเต็มที่

  ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้น “บูม” มานานนับสิบปีอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้และทำให้มีนักลงทุนที่รวยจากการลงทุนในหุ้นจำนวนมากรวมถึงคนหนุ่มสาวที่อายุเพิ่งจะสามสิบบวกลบ  คนจำนวนมากจึงคิดว่าตลาดหุ้นหรือการลงทุนคือสิ่งที่สามารถทำให้เรารวยได้เร็วและง่าย  ดังนั้น  เส้นทางการลงทุนจึงเป็นเส้นทางที่หลายคนเลือกตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ  หรือเพิ่งทำงานมาไม่นาน  หลายคนทุ่มเทกับการวิเคราะห์หาหุ้นลงทุนโดยที่ให้ความสำคัญกับงานประจำน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเขาอาจจะคิดว่างานนั้นเป็นแค่  “ส่วนเสริม” ของการมุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่ง  พวกเขาอาจจะคิดว่าเมื่อถึงวันหนึ่งในอีกไม่นาน  เขาจะลาออกจากงานและมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว  ส่วนบางคนนั้น  พวกเขาปฏิเสธการทำงานหรือเลิกทำไปแล้วทั้ง ๆ  ที่เงินลงทุนยังไม่มากพอที่จะมี  “อิสรภาพทางการเงิน”  แต่พวกเขาคิดว่าเขาสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีพอที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและมีส่วนเกินที่จะนำไปลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคนที่ร่ำรวยได้  เขาเชื่ออย่างนั้นเนื่องจากผลงานที่ผ่านมาหลายปีนั้นสูงขนาดปีละอาจจะ 50% หรือ เกิน 100% และเขามั่นใจว่าการทำผลตอบแทนปีละ20%-30% ขึ้นไปนั้น  เป็นสิ่งที่ง่ายมากไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในอนาคต  ซึ่งผมคิดว่า  พวกเขาคิดผิด!

  ผมคิดว่าการที่จะพิสูจน์ได้ว่านักลงทุนคนไหนมี  “ความสามารถสูงเป็นพิเศษ” ได้จริงนั้น  เขาจะต้องผ่านการลงทุนที่ยาวนานระดับอย่างน้อย 15-20 ปีขึ้นไป  และสร้างผลตอบแทนที่ผมอยากเรียกว่า “Total Return” อย่างน้อย 20% ต่อปีแบบทบต้น  โดยที่เงินเริ่มต้นที่จะเริ่มบันทึกจะต้องมีนัยสำคัญสำหรับเขานั่นก็คือ  ไม่ใช่เงินเล็กน้อยที่เขาอาจจะเสียไปครึ่งหนึ่งโดยไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ  ตัวอย่างเช่น  เงินเริ่มต้นที่จดบันทึกผลตอบแทนนั้น  อาจจะเท่ากับรายได้จากการทำงาน 4-5 ปี ของเขา และเขาก็ไม่มีแหล่ง “เงินสำรอง” อื่น  เช่น เงินจากพ่อแม่ที่มีฐานะและพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนเมื่อเกิดความจำเป็น  และด้วยการวัดแบบนี้  ผมเชื่อว่า  เราอาจจะพบว่าจำนวน  “เซียนหุ้น”  ในตลาดหุ้นไทยอาจจะลดลงไปมาก  เหตุผลที่ผมต้องกำหนดระยะเวลาการวัดผลงานที่ยาวนานนั้นเป็นเพราะว่าในช่วงเวลาสั้น ๆ  นั้น  เป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงบูมจัดที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนจะสูงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถมากนัก  ส่วนเรื่องผลตอบแทนทบต้นปีละ 20% นั้นผมตั้งไว้เพราะพอร์ตเริ่มต้นของคนหนุ่มสาวอาจจะไม่ใหญ่นักซึ่งทำให้อาจจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าปกติได้  ในกรณีที่เริ่มลงทุนด้วยพอร์ตขนาดใหญ่เป็น 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น  ผมคิดว่าผลตอบแทนถ้าได้ถึง 15% ต่อปีขึ้นไปก็ต้องถือว่ามีฝีมือในการลงทุนเป็นพิเศษแล้ว

  ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดอีกเรื่องหนึ่งก็คือคำว่า Total Return หรือ  “ผลตอบแทนรวม”  ของการลงทุน  เพราะนี่เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจเวลาวัดผลหรือวัดความสามารถในการลงทุนของตนเอง  ก่อนอื่นต้องกำหนดเสียก่อนว่าเม็ดเงินหรือพอร์ตการลงทุนรวมของตนเองคือเท่าไรเสียก่อน   บางคนอาจจะคิดว่าเงินที่ตนเองเอามาลงทุนใน  “หุ้น” คือพอร์ตรวมของตนเอง   ดังนั้น  เวลาวัดผลก็จะดูว่าในแต่ละปีได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นเท่าไรแล้วก็บวกด้วยปันผล  ในกรณีแบบนี้ผมคิดว่าไม่เหมาะ  เพราะถ้าส่วนที่เรานำมาลงทุนในหุ้นนั้นมีเพียงนิดเดียว  ต่อให้ผลตอบแทนในหุ้นจะสูงมาก  มันก็ไม่ทำให้เรารวยหรือทำให้ผลตอบแทนเม็ดเงินของเราทั้งหมดสูงขึ้นมาได้มาก  วิธีที่ผมคิดว่าดีกว่าก็คือ  กำหนดว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้างที่เราไม่ได้ใช้เองและสามารถนำไปหารายได้ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ถือว่าเป็นเงินลงทุนหมด

  ตัวอย่างเช่น  เงินฝากธนาคารและหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่มีรายได้จากดอกเบี้ย  คอนโดที่เราซื้อมาไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัยแต่นำไปปล่อยเช่าซึ่งค่าเช่าก็เป็นผลตอบแทน แบบนี้ถือเป็นเงินที่ต้องนับรวมในพอร์ตการลงทุน  ส่วนบ้านที่เราใช้อยู่อาศัยนั้นไม่นับเป็นเงินลงทุนเช่นเดียวกับรถยนต์ที่เราใช้  ส่วนเครื่องเพชรและทองรูปพรรณที่เราใช้ในการแต่งตัวนั้นไม่ถือเป็นเงินลงทุนในขณะที่ทองแท่งนั้น  แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่มัน “พร้อมขาย” และเราตั้งใจซื้อเพื่อลงทุนก็ต้องนับรวมในพอร์ตของเรา    เมื่อเรากำหนดได้ทั้งหมดแล้วว่าอะไรเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน  เราก็จะคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินทุกรายการตาม  “ราคาตลาด” ในตอนต้นปีของแต่ละปี  กรณีที่ไม่มีราคาตลาดที่เราสามารถขายได้ชัดเจนเช่น  คอนโด  เราก็ควรกำหนดราคาที่ “อนุรักษ์นิยม” เช่น ใช้ราคาที่ซื้อมาแม้ว่าเราจะคิดว่าราคามันน่าจะเพิ่มขึ้นแล้ว เป็นต้น  ส่วนกรณีของทองแท่งนั้น  เราสามารถใช้ราคาตลาดได้เนื่องจากมันสามารถถูกนำไปขายได้จริง  หลังจากนั้นเราก็รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าวและกำหนดว่านี่คือทุนทั้งหมดที่เรามีในการลงทุน

  ผลตอบแทนรวมหรือ Total Return นั้นก็คือมูลค่าของทรัพย์สินที่เรามีทั้งหมดตอนปลายปี  ลบตอนต้นปีแล้วหารด้วยมูลค่าพอร์ตทั้งหมดตอนต้นปีคูณด้วย 100  ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนต่อปี  และเราทำแบบนี้ปีแล้วปีเล่า  ถ้าตัวเลขเฉลี่ยแบบทบต้นสูงถึง 15%-20%  ก็แสดงว่าเรามีความสามารถในการลงทุนสูงจริง  แต่ความสามารถนี้ไม่ใช่เกิดจากการลงทุนในหุ้นหรือเลือกหุ้นเก่งเพียงอย่างเดียว  แต่มันหมายความว่าเราสามารถจัดสรรเงินลงทุนในทรัพย์สินที่ถูกต้องด้วย  นั่นก็คือ  เราจัดสรรเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูง  นั่นก็คือหุ้นซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น  อย่างไรก็ตาม  การจัดเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นด้วยนั้น  มันสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนได้  และนั่นก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงบ้างโดยไม่ลงทุนในหุ้นทั้ง 100%  และนี่ก็คือตัวเลขที่จะบอกว่าเรามีความสามารถในการลงทุนมากพอที่จะใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองหรือไม่




Thursday, January 15, 2015

สงคราม Digital Economy





ในระหว่างที่ประเทศไทยกำลังตื่นตัวเรื่อง Digital Economy และเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ 4G ประเทศอื่น ๆ ในโลกก็ล่วงหน้าไปในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไกลนับสิบ ๆ ปี ยกตัวอย่างเพียงแค่ขนาดของธุรกิจ "dot com" ในโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง GOOGLE ก็มีขนาดกว่า 357,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 12 ล้านล้านบาท พอ ๆ กับขนาดบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งหมดรวมกัน

Digital Economy เริ่มต้นจากธุรกิจ e-commerce ที่อาศัยวิวัฒนาการอันยาวนานของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ที่ web browser อย่าง Netscape Navigator ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในปี 1994 และในปีถัดมา Jeff Bezos ก็สร้างแพลตฟอร์ม Amazon.com ขึ้น และถือเป็น e-commerce แห่งแรกของโลกที่ให้บริการ 24 ชม. ออนไลน์ ในปีเดียวกันเว็บไซต์ประมูลออนไลน์ระดับโลกอย่าง eBay ก็ถือกำเนิดขึ้นโดยไม่ได้นัดหมาย

ในปี 1995 นี่เองที่คำว่า Digital Economy ซึ่งกำลังถูกพูดถึงในประเทศไทย ก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบหนังสือที่เป็น Best Seller ยาวนานมากเล่มหนึ่ง นำพามาซึ่งกระแส dotcom และ e-commerce ที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดหุ้น Nasdaq และ 5 ปีต่อจากนั้น ด้วยความคิดลักษณะที่ว่า Zero Marginal Cost หรือแนวคิดว่าต้นทุน Digital Economy จะ "คงที่" ยอดขายส่วนเพิ่มคือ "กำไรล้วน ๆ" ทำให้นักลงทุนฝันถึงความหอมหวน และฟองสบู่ลูกแรกของหุ้น dot com ก็ถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2000 และแตกออกอย่างรุนแรง หุ้น Amazon ราคาหล่นจาก 100 กว่าเหรียญจนเหลือ 6 เหรียญ พร้อม ๆ กับหุ้นจำนวนมากที่ล้มหายตายจากไป แต่อย่างไรก็ดีถ้าคุณเลือกหุ้นถูกตัวอย่าง Amazon หรือ Google ในเวลานั้น ผลตอบแทนทบต้นสิบสี่ปีจนถึงทุกวันนี้คือกว่า 30% ทีเดียว เรียกได้ว่าชนะ Peter Lynch หรือ Warren Buffett สบาย ๆ

แต่ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดอย่างสหรัฐอเมริกา คงเริ่มมองตาปริบ ๆ เมื่อเห็นยักษ์ตัวใหม่จากจีน เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ปี 2014 มีบริษัทอย่าง Alibaba.com เข้าตลาดหลักทรัพย์ และส่งให้ Jack Ma เป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศจีน รวมไปถึงบริษัทอย่าง JD.com ที่สร้างความมั่งคั่งให้ Liu Qiangdong ขึ้นมาติดอันดับ Top10 อันที่จริงธุรกิจ e-commerce จีนถือกำเนิดมายาวนาน และโตอย่างรวดเร็ว แต่เราไม่ได้ยินบ่อยนัก เพราะตัวธุรกิจมีขอบเขตจำกัดพอสมควรในประเทศจีน โดยไม่ได้ทำธุรกิจระหว่างประเทศมากนัก

นอกจากนั้นมีผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Digital Economy มากมาย เช่น Xiaomi โทรศัพท์มือถือที่ชิงส่วนแบ่งตลาดได้อย่างรวดเร็วด้วยการขายโทรศัพท์ผ่านออนไลน์ สร้างปรากฏการณ์ขายโทรศัพท์เป็นล้าน ๆ เครื่องหมดภายในไม่กี่ชั่วโมง

และถ้าใครติดตามข่าว ธุรกิจแท็กซี่ที่ไม่คาดคิดว่าจะถูกธุรกิจ e-commerce แย่งส่วนแบ่งตลาดได้อย่างไร ก็ถูก Uber สร้าง Platform การเรียกรถ แก้ปัญหาโลกแตก เช่น แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร รวมถึงผนวกกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ จนเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีปัญหาจากข้อกฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ แต่ Uber ก็กำลัง Filing เข้าตลาดหุ้นด้วยขนาดบริษัทที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมากกว่า 40,000 ล้านเหรียญ (บริษัทที่แทบไม่มีสินทรัพย์อะไรเลย แต่มูลค่าใหญ่กว่า ปตท.เสียอีก)



สงครามธุรกิจ e-commerce แข่งขันกันรุนแรงไม่ต่างกับค้าปลีก และผู้เล่นจำเป็นต้องสร้าง eco-System ของตัวเองให้ได้มากที่สุด เช่น eBay ที่ซื้อ paypal เข้ามาจัดการเรื่องการจ่ายรับเงิน Alibaba หรือ Taobao มี Alipay หรือ Tencent มี Tenpay เป็นต้น นี่คงเป็นสาเหตุที่ Apple สร้าง Apple Pay ขึ้นมาเช่นเดียวกัน

นี่คือสงครามย่อยเรื่อง "ระบบการจ่ายเงิน" ซึ่งเป็นหัวใจหนึ่งของการค้าออนไลน์

ส่วนต่อมาคือทำการตลาด สร้างการ "เข้าถึง" ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิด Network Effect การสร้างฐานตลาดถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและใช้เวลามากที่สุด จำนวนลูกค้าคือปัจจัยแห่งชัยชนะของธุรกิจนี้ ธุรกิจอย่าง Amazon กว่าจะทำกำไรเหรียญแรกได้ ก็จนกระทั่งปี 2003 นั่นคือ 8 ปีที่บริษัทขาดทุนโดยตลอด โมเดลในการ "ดูด" ลูกค้ามีมากมาย ตัวอย่างคือ Affiliate Market เช่น การแบ่งปัน Banner และให้รางวัลกับเจ้าของเว็บที่สามารถส่งต่อลูกค้ามา รวมไปถึงการสร้างสังคมบนร้านออนไลน์ เช่น เว็บบอร์ด แฟนเพจ เป็นต้น

ที่สำคัญกว่าในเวลาต่อมา คือ "แปลง" จำนวนลูกค้า ให้กลายเป็น "รายได้" ของบริษัท ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ก็มีกลยุทธ์มากมาย บางบริษัทขายโฆษณา บางบริษัทเพิ่ม SKU จำนวนสินค้าที่ขายให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยง เช่น Am-azon เริ่มจากการขาย "หนังสือ" เพียงอย่างเดียวและขยายมาที่สินค้าอื่น ๆ ด้วยการ "ซื้อ" ธุรกิจอื่น ๆ

JD.com ถ้าดูผิวเผิน คือร้านค้าที่ขายทุกอย่าง แต่ปัจจุบันมียอดขายกระจุกในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กว่า 80% และกำลังอยากจะเพิ่มการขายสินค้าอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสินค้าออนไลน์จะต้องมี Platform ที่ฉลาด ที่สามารถ "เลือก" สินค้าชิ้นเดียวจากนับล้าน ๆ อย่างให้ตรงใจคนซื้อขึ้นมาที่หน้าจอ

สุดท้ายคือโมเดลธุรกิจ ถ้ามองในแง่การขาย e-commerce อย่าง Alibaba หรือ eBay ก็ทำ Third Party อย่างเดียว นั่นคือเป็นคนกลางขายของคนอื่น ส่วน Amazon ก็ผสมการขายของเก็บสต๊อกเอง หรือเป็น First Party ด้วย ส่วนนี้คือ "ไอเดีย" และ "ยุทธศาสตร์" อย่างแท้จริงบน e-commerce ซึ่งไร้ขีดจำกัด ใครจะไปคิดว่า "ไอเดีย" มีมูลค่าสูงมากใน Digital Economy และนี่คือเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นมหาสงครามทางธุรกิจในอนาคตครับ

Tuesday, January 13, 2015

กฎ 3 ข้อของ "อาชีพนักลงทุน"



   ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าตอนนี้ "อาชีพนักลงทุน" กำลังเป็นที่สนใจในหมู่วัยรุ่นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่ากระแสความสนใจที่จะเข้ามาชิมลาง ลองลงทุนก็มีให้เห็นกันอยู่ตลอด

แต่ถ้าลองแวะเวียนเข้าไปตามเว็บบอร์ดของเด็กวัยรุ่น ก็เริ่มมีคำถามตั้งกระทู้หลายอันว่า "อยากมีอาชีพนักลงทุนต้องทำอย่างไร ?"

เรื่องแบบนี้อาจต้องพึ่งพาคนหัวอกเดียวกัน แบบ "ธำรงชัย เอกอมรวงศ์" หรือ "คุณหยง" ซึ่งปัจจุบันทำอาชีพเป็นนักลงทุน ซึ่งหมายถึง ไม่ได้มีงานประจำอื่น รายได้ส่วนใหญ่มาจากการนั่งเทรดในห้องค้าล้วน ๆ ซึ่งตรงตามคอนเซ็ปต์ที่น้อง ๆ ต้องการเป๊ะๆ

"คุณหยง" ให้ไอเดียกับเรื่องนี้ว่า ถ้าน้อง ๆ หรือแม้กระทั่ง ใครก็ตามที่ต้องการออกจากอาชีพประจำเพื่อมาเทรดก็สามารถทำได้ แต่อยากแนะนำให้จำ "กฎ 3 ข้อของอาชีพนักลงทุน" ให้ขึ้นใจ จึงจะสามารถประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ได้

กฎข้อที่ 1 "ต้องศึกษาการลงทุนอย่างจริงจัง" อาชีพนักลงทุนก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่จะต้องสร้างความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับตัวเอง เพื่อให้สามารถซื้อขายถูกจังหวะ เลือกหุ้นได้ถูกตัว ซึ่งสำหรับตัว "คุณหยง" เองแม้ตลาดหุ้นจะปิดทำการแล้ว แต่หน้าที่ของนักลงทุนยังไม่จบ เพราะจะต้องใช้เวลาต่อจากนั้นทำการบ้าน ด้วยการวางแผน เตรียมข้อมูลการลงทุน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 5 ทุ่ม-เที่ยงคืน ดังนั้นการศึกษาในฐานะนักลงทุน จึงต้องทำอย่างจริงจังราวกับ "เอาชีวิตเข้าแลก" เพื่อให้สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

กฎข้อที่ 2 "ต้องอดออม" หลายคนอาจเคยเข้ามาลงทุนแล้ว และสามารถสร้างกำไรได้อย่างดี จึงมองว่าตลาดหุ้นเป็นช่องทางที่หาเงินได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว "นักลงทุนมืออาชีพ" ต่างรู้ดีว่า ไม่ใช่ทุกภาวะตลาดที่จะสามารถทำกำไรได้ตลอดเวลา เมื่อมีได้-ก็ต้องมีเสีย ดังนั้นจึงจะต้องสร้างนิสัยการ "อดออม" โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้เงินอย่างมีวินัย เช่น หากทำกำไรได้ 100 บาท จะนำมาใช้ได้เพียง 1 บาท เท่านั้น ซึ่งจะช่วยทำให้อยู่รอดในตลาดระยะยาวได้

กฎข้อที่ 3 "ต้องให้เวลากับการลงทุน" ในยุคสมัยนี้ไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นเท่านั้นที่ใจร้อนต้องการจะร่ำรวยอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะหลายคนได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนที่มีจนล้นแผงหนังสือ จนเกิดความมั่นใจว่าจะทำได้ตามสูตรสำเร็จเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กว่าที่ "นักลงทุนมืออาชีพ" จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องผ่านอุปสรรคมากมาย (เยอะเกินกว่าที่จะอธิบายในหนังสือ) ดังนั้นอาชีพนี้จึงไม่ได้การันตีว่าจะทำให้ทุกคนรวยได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้หากทำได้แล้วจะลองมาชิมลางในอาชีพนี้ดูก็น่าจะพอไหวแต่ถ้าไม่อยากเหนื่อยไม่อยากทำงานหนัก ไม่อยากอดทน แต่อยากรวย...อาชีพนี้อาจไม่เหมาะกับคุณ

Monday, January 12, 2015

แอบรักออนไลน์



  สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ดูละครหลังข่าวเรื่องใหม่ชื่อ  “แอบรักออนไลน์”  เพียงหนึ่งหรือสองตอนผมก็รู้สึกว่าละครเรื่องนี้น่าจะ “ฮิต” พอสมควรโดดเฉพาะสำหรับ  “คนเมือง”  หรือคนที่อยู่ในเมือง  มีการศึกษาและฐานะค่อนไปทางดี  ไม่ใช่ตลาด  “Mass” หรือผู้ชมที่อยู่ในชนบทซึ่งจะเป็นอีกตลาดหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่จะพูดถึงละครเรื่องนี้  เราก็ควรจะทำความเข้าใจเสียก่อนว่าตลาดละครหรือรายการต่าง ๆ  ในทีวีที่เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่นั้น  น่าจะมีอยู่ซัก 2-3 ตลาดนั่นก็คือ  ตลาดกลุ่ม “รากหญ้า”  นี่คือรายการที่เป็นที่นิยมของคนในชนบทเป็นส่วนใหญ่  รายการจะเน้นไปที่ความสนุกสนานแบบ “ตรงไปตรงมา”  เป็นเรื่องชีวิตและความฝันของ  “ชาวบ้าน”  นักแสดงและดาราที่นำเสนอก็จะมีความเป็น  “ชาวบ้าน”  ที่ผู้ชมสัมผัสได้เพราะไม่ได้มี  “ตระกูลรุนชาติ”  เนื้อหาก็มักจะมีเรื่องของความ  “ตลกโปกฮา” ปะปนอยู่เสมอ  หรือไม่ก็เป็นการ “ขายฝัน” ว่าจะร่ำรวยและมีฐานะดีขึ้นในชั่วข้ามคืนจากอะไรบางอย่างที่เป็นไปได้แต่โอกาสเกิดน้อย เช่น  การ “ถูกหวย” หรือการได้แต่งงานกับเศรษฐีหรือ  “คุณชาย” ที่มีตระกูลสูง

  ตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่งก็คือตลาด  “คนเมือง”  หรือคนที่อาศัยอยู่ในเมือง  คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปที่มีการศึกษาและฐานะดีกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนในประเทศ  ละครหรือรายการที่พวกเขาชอบดูนั้น  จะเป็นเรื่องที่  “ซับซ้อน” ขึ้นมาบ้าง  จะต้องมีการคิดคาดการณ์ปฏิกิริยาและความคิดของตัวละครหรือเรื่องราวต่าง ๆ  แม้ว่าจะเดาไม่ยากนัก  เนื้อเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องของ  “คนเมือง”  เช่น  เป็นชีวิตในสำนักงาน  ชีวิตของคนที่มีอาชีพที่มีคนรู้จักและเกี่ยวข้องกันมาก เช่น เป็นหมอ  เป็นแอร์โฮสเตส  ข้าราชการ   คนบันเทิงอะไรต่าง ๆ  เหล่านี้  ดาราหรือผู้นำเสนอรายการเองนั้น  ก็จะต้องเป็นคนที่ดู  “ไฮโซ”  หน้าตาจะต้อง  “อินเทรนด์”  ออกแนว “ลูกครึ่ง” หรือแบบ  “เกาหลี”  การแต่งหน้าแต่งตัวนั้นจะต้องออกแนว  “เป๊ะเวอร์” บ้านจะต้อง  “อลังการ” แม้ว่าตามเรื่องเจ้าของจะเป็น  “คนจน”  ส่วนเนื้อเรื่องหรือสาระนั้นก็จะออกแนว  “ชิงรักหักสวาท” หรือแนว  “โรแมนติกคอมเมดี้” ที่เน้นความน่ารัก  ซาบซึ้งและความตลกที่ “ไม่ได้ตั้งใจแสดง”

  ส่วนอีกตลาดหนึ่งที่น่าจะมีขนาดใหญ่ก็คือ  ตลาด  “ทั้งหมด”  นั่นก็คือ  เป็นรายการที่ดูกันได้ทุกกลุ่มทุกชนชั้น  แนวก็จะพยายามครอบคลุมเรื่องที่เป็น  “กลาง ๆ”  เช่น  เรื่องราวประวัติศาสตร์ย้อนยุคที่มีการ “ดัดแปลง” ให้  “ดูดี” ในสายตาของคนยุคปัจจุบัน  เช่น  ดารานำแสดงอาจจะเป็น “ลูกครึ่ง”  ที่ดูสวยหล่อ  ธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัยและไม่มีใครเขาทำกันแล้วก็จะต้องมีดัดแปลงให้สมจริงขึ้น  ถ้าเป็นรายการวาไรตี้หรือทอล์คโชว์ก็จะต้องเป็นเรื่องที่กลาง ๆ  และคนส่วนใหญ่สนใจ เช่น  เป็นเรื่องแปลก  เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน  ดาราหรือแขกรับเชิญนั้นก็จะต้องไม่จำกัดเฉพาะที่เป็น  “ไฮโซ” แต่จะต้องไม่ใช่  “ชาวบ้าน” จากชนบทที่จะทำให้รายการเปลี่ยนไปทันทีเป็นแบบ Mass  ถ้าเป็นเรื่องของละครก็จะออกแนวยุค “ซิกตี้” หรือประมาณซัก 40-50 ปี ที่คนไทยเริ่มพัฒนาประเทศเป็นแบบสมัยใหม่ที่ยังมี  “คุณชายรุ่นสุดท้าย” ที่หล่อเหลาขับรถหรูเป็นชายในฝันของหญิงทุกคนแต่ยังมี  “ท่านแม่” ที่อาจจะคอยกีดกันความรักที่มีกับ “สามัญชน”  อะไรทำนองนี้

  ผมพูดออกนอกเรื่องไปไกลก็เพื่อจะให้ภาพตลาดของสื่อซึ่งนอกจากจะสะท้อนถึงธุรกิจด้านของทีวีและอีกหลาย ๆ  เรื่องแต่นี่ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมจะพูดถึง  สิ่งที่ผมต้องการวิเคราะห์จริง ๆ ก็คือ Content หรือเนื้อหาต่าง  ๆ ที่ถูกนำเสนอโดยเฉพาะที่ผ่านทางทีวีซึ่งยังเป็นช่องทางหลักของไทยนั้น  แท้ที่จริงมันเป็นสิ่งที่  “สะท้อนภาพของสังคม”  กล่าวคือ  ถ้าสังคมกำลังเป็นอย่างไรหรือคนกำลังนิยมอะไร  ละครในทีวีก็จะแสดงออกอย่างนั้น  ทีวีนั้น  ผมคิดว่าไม่ใช่ “ผู้นำ” แต่เป็น “ผู้ตาม”  แต่ในขณะเดียวกัน  เมื่อทีวีมีการนำเสนอ มันก็จะส่งผลให้คนอื่น ๆ  ทำตามหรือคิดตามด้วย  ซึ่งก็จะช่วย “กระพือ”  ให้สิ่งนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็น “กระแส”  หรือมีคนทำกันมากขึ้นนิยมกันมากขึ้นจนกว่ามันจะเป็นกระแสหลัก  หรือไม่อย่างนั้น  ความนิยมก็จะค่อย ๆ  หายไปเมื่อสิ่งนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่คนหรือสังคมต้องการให้มันคงอยู่อย่างถาวรจริง ๆ  แต่เป็นเพียง  “แฟชั่น” ที่ขึ้นอยู่กับ  “ช่วงเวลา”  อันสั้นนั่นก็คือ  “ดัง” ถึงขีดสุดแล้วก็ค่อย ๆ  “ดับ” ไป

  ละครเรื่องแอบรักออนไลน์นั้น  ผมคิดว่าสะท้อน “สังคมยุคใหม่” อย่างน้อย 2 เรื่องที่ผมไม่ใคร่ได้เห็นในละครหลังข่าวเรื่องอื่นมากนักนั่นก็คือ  เรื่องแรก  สังคมไทยตอนนี้เป็นสังคมที่น่าจะ  “ออนไลน์” กันอย่างมีนัยสำคัญและละครหลังข่าวเริ่ม “สะท้อน” มันออกมา   คนที่อ่านบทความนี้อาจจะมีความรู้สึกเหมือนว่าสังคมไทยนั้นติดต่อและพูดคุยผ่านอินเตอร์เน็ตมานานแล้วเนื่องจากตนเองทำมานานและเพื่อน ๆ  ก็ออนไลน์มาตั้งนานแล้ว  แต่ถ้าไปถาม  “ชาวบ้าน” ทั่ว ๆ ไป  ผมคิดว่าเราจะได้คำตอบมาอีกอย่างหนึ่ง  เนื้อเรื่องของละครนั้น  จะเดินผ่านข้อความออนไลน์ที่นักแสดงส่งถึงกันเป็นจำนวนมาก  แม้แต่คนที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกันและอาจจะนั่งใกล้ ๆ  กันก็อาจจะส่งข้อความกันแทนที่จะพูดกัน  และผมเชื่อว่า  การออนไลน์นั้นก็อาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และอยู่กับเราอย่างถาวรได้

  เรื่องที่สองที่ละครสะท้อนมันออกมาและผมเห็นว่าน่าสนใจมากก็คือ “หุ้น”   ในอดีตนั้น  เรื่องของหุ้นที่จะปรากฏออกมาทางละครหลังข่าวนั้น  อย่างมากก็เป็นแค่ว่าตัวแสดงนั้นประกอบอาชีพเกี่ยวกับหุ้นและไปทำอะไรบางอย่างที่ทำให้กระทบกับตัวแสดงคนอื่น  เช่น  ไปเทคโอเวอร์ธุรกิจที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนอะไรทำนองนี้  แต่ในกรณีของแอบรักออนไลน์นั้น  ดาราตัวเอกทั้งหมดอยู่ในบริษัทโบรกเกอร์ซึ่งให้บริการในการซื้อขายหุ้นให้กับลูกค้า  ฉากหลักของเรื่องนั้นอยู่ในออฟฟิสที่มีหน้าจอคอมพิวเตอร์ซื้อขายหุ้น  ว่าที่จริงมีแม้กระทั่งฉากการแสดงการวิเคราะห์หุ้นด้วยกราฟและตัวเลขที่ใช้ในการตัดสินใจเรื่องการซื้อขายหุ้นด้วย

  ตัวเอกของเรื่องเองนั้น  ก็เป็นการบอกว่าเรื่องหุ้นนั้น  เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่เป็นชนชั้นนำของสังคม  โดยที่พระเอกอันดับหนึ่งเรียนจบจากคณะวิศวชั้นนำระดับประเทศ  แต่ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ นางเอกซึ่งจบจากบอสตันที่ถือว่าเป็นสถานที่ศึกษาของคนชั้นสูงของไทย  นี่ก็หมายความว่าอาชีพหรืองานทางการเงินโดยเฉพาะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหุ้นนั้น  เป็นความเท่  เป็นงานที่มีเกียรติ  และเป็นงานที่คนใฝ่ฝันอยากทำ  ในอีกมุมหนึ่ง  การที่ให้นางเอกเรียนจบมหาวิทยาลัยดังจากเมืองนอกแทนที่จะเป็นพระเอก  ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของสังคมไทยที่ผู้ชายไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำหรือผู้ที่เหนือกว่าอย่างในละครรุ่นเก่าอีกแล้วที่ผู้ชายต้องเป็นคุณชายและนางเอกเป็นคนธรรมดา

  ยังมีฉากและเรื่องราวอีกมากที่บ่งบอกให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมมาเป็นสังคมยุคใหม่ในละครเรื่องนี้    ในอเมริกานั้น  เราเห็นหนังเกี่ยวกับเรื่องของหุ้นมาตลอดเวลานานแล้ว  เรื่องล่าสุดที่ผมดูมาก็คือ  The Wolf of Wall Street ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ  “ความโลภและมุมมืด” ในตลาดหุ้น  หุ้นและตลาดหุ้นในอเมริกาอาจจะถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในระดับ Mass ในสังคมมานานแล้ว  เรื่องราวเกี่ยวกับหุ้นถ้าจะทำเป็นหนังจะต้องมีจุดเฉพาะเช่น  ความโลภอย่างหนัก เป็นต้น    แต่ในตลาดหุ้นไทยนั้น  หุ้นคงกำลัง “ไต่ระดับ” ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยบางกลุ่มมากขึ้นเรื่อยแต่ยังไม่ถึงกับเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่  ละครเรื่องแอบรักออนไลน์นั้น  เป็นจุดที่บอกว่า  ตอนนี้หุ้นกำลัง  “มาแรง” และมีคนเกี่ยวข้องสนใจมากพอที่จะนำเสนอในละครได้แล้ว  ดังนั้น  เราคงต้องระวังและจับตาดู  เพราะอะไรที่มาแรงเกินไปนั้น  แม้ว่าในระยะยาวมันก็ยังไปต่อได้  แต่ในระยะสั้น  มันก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลงแรงเช่นกัน    สำหรับผม  การเปิดตัวของละครเรื่องนี้ทำให้ผมกังวลเกี่ยวกับหุ้นเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้    อย่างไรก็ตาม  ในด้านของความบันเทิงแล้ว  ผมก็ขอ  “แอบรัก”  ผลงานของคุณ แอน ทองประสม  ที่ผมคิดว่าทำได้ดีมาก  ทั้งการแสดงและการทำละครเรื่องนี้

ดร.นิเวศน์

Sunday, January 11, 2015

สแกน "หุ้นในดวงใจ" "ฐิติ กิตติพัฒนานนท์"

      
คุณค่าของความสำเร็จไม่ได้มาจากขนาดของทรัพย์สิน แต่การมีเงินเลี้ยงดูทั้งครอบครัว คือ เรื่องภูมิใจของ “ฐิติ"

นักลงทุนบางคนอาจวัดคุณค่าของความสำเร็จจากจำนวนเงินที่พอกพูนในบัญชี แต่สำหรับ “ปิง-ฐิติ กิตติพัฒนานนท์” เซียนหุ้นไซด์ใหญ่ น้องรักเบอร์หนึ่งของ “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะความสำเร็จของ “คุณพ่อลูกสอง” คือ ความภาคภูมิใจที่ได้เลี้ยงดูคนในครอบครัวทั้ง 11 ชีวิต ให้กินอิ่มนอนหลับ ด้วยเงินที่ได้จากการลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว

สำนวนไทยที่ว่า “หาเช้ากินค่ำ” น่าจะเหมาะกับชีวิตวัยเด็กของปิง ฉะนั้นจึงไม่แปลกหากคนสนิทมักได้ยินเขาพูดเสมอว่า แม้พอร์ตหุ้นจะพุ่งแตะ “หลักร้อยล้าน” แต่ไม่เคยลืมคุณค่าของเงิน กว่าจะหามาได้แต่ละบาทช่างยากเย็นแสนเข็น เบื้องหลังของการมีเงินจะมีใครรู้บ้างว่า วันที่ขาดทุนหุ้นต้องแอบร้องไห้อยู่ในใจบอกใครไม่ได้ แม้กระทั่งลูกเมีย เครียดแค่ไหน เจ็บมากเท่าไหร่ ไม่เคยมีใครรับรู้

“น้องรักเสี่ยยักษ์” ก้าวขาเข้าตลาดหุ้น ตามคำเชื้อเชิญของรุ่นพี่ที่ทำงานในปี 2537 ด้วยการควักเงิน 7,500 บาท ร่วมลงขันซื้อหุ้นตัวหนึ่ง แม้เขาจะจำไม่ได้ว่า ประสบความสำเร็จในหุ้นตัวแรกของชีวิตหรือไม่ แต่ “กำไรก้อนแรก” จำนวน 300,000 บาท ของปิงเกิดขึ้นในปี 2538 จากหุ้น IPO บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO ด้วยการชักชวนน้องของแม่มาลงทุน โดยมีข้อแม้ว่า ต้องแบ่งกำไรตามเงื่อนไขที่กำหนด

จากนั้นไม่นานตังค์ในกระเป๋าของ “ปิง” เริ่มหนาขึ้นเป็น 700,000 บาท หลังหันมาลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrants) ด้วยการทุ่มสุดตัวเล่นมาร์จิ้น 60 เปอร์เซ็นต์ เงินสด 40 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือ 911 ในปี 2544 พอร์ตลงทุนไหลรูดเหลือแค่ “หลักหมื่นบาท” ทำให้ความฝันอยากมีเงิน 1 ล้านบาท “สลายไปในพริบตา”

“อยากสู้ต่อ” เมื่อเกิดความคิดนี้ในสมอง “ปิง” จึงตัดสินใจไปขอภรรยาถอนเงินสินสอด 500,000 บาท ไปซื้อหุ้น IPO บมจ.ปตท.หรือ PTT จำนวน 20,000 หุ้น ราคา 35 บาท แต่ผลการลงทุนในครานั้น คือ “ขาดทุน” เมื่อรวมกับการตัดขายขาดทุนหุ้นตัวอื่นๆ เพราะต้องนำเงินไปรักษาพ่อที่ป่วยหนัก ทำให้เหลือเงินในพอร์ตเพียง 250,000 บาท

ด้วยความที่อยากเล่นหุ้นต่อ ทำให้เขาแก้ปัญหา ด้วยการนำรถยนต์ส่วนตัวไปรีไฟแนนซ์ได้เงินกลับมา 200,000 บาท โดย “ปิง” ได้นำเงินไปซื้อ หุ้น จีเอฟพีที หรือ GFPT และ หุ้น บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ หรือ ZMICO การลงทุนในครั้งนั้น ทำให้พอร์ตลงทุนพุ่งทะยานเป็น 10 ล้านบาท ในปี 2547 แต่ถึงแม้จะได้ครอบครองเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกในชีวิต แต่การลงทุนในช่วงนั้นออกแนวไม่ค่อยราบรื่น

ผ่านมาถึงปี 2549 “ปิง” เหลือเงินติดตัวแค่ 7 ล้านบาท หลังเล่นหุ้นแนวเทคนิเคิลในช่วงตลาดขาลง ช่วงนั้นเขาตัดสินใจถอนเงินออกจากพอร์ต 5 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปซื้ออาคารพาณิชย์ แถวสามย่าน ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านที่เซ้งไว้ในราคา 8.5 ล้านบาท ตามคำขอของผู้เป็นแม่ ส่งผลให้เหลือเงินเล่นหุ้นเพียง 2 ล้านบาท

แต่เมื่อเขาสนิทกับ “เสี่ยยักษ์” ในปี 2550 หลังมีโอกาสเจอกันในงานสัมมนา "7 เซียนหุ้น" “ปิง” ก็นำคำสอนเรื่องการลงทุนที่ว่า “ซื้อหุ้นทางต่ำ” ของ “เสี่ยยักษ์” มาช่วยปั้นพอร์ต ของตัวเอง จากทุน 2 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งหุ้นหลายๆตัวที่สร้างกำไรแทบไม่ใช่หุ้นตัวเดียวกับ “เซียนหุ้นรุ่นลายคราม” แต่การปรับเทคนิคการลงทุน ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการสำรวจพื้นฐานต่างหาก คือ ตัวช่วยชั้นเยี่ยม!!

คำสอนบทหนึ่งที่ “ปิง” นำมาปรับใช้ คือ นักลงทุนจะประสบความสำเร็จได้ต้องรู้จักคำว่า “ถูกที่-ถูกเวลา-ถูกน้ำหนัก” ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำให้ “เสี่ยยักษ์” สามารถชนะหุ้น PTT หลังทุ่มเงิน 140 ล้านบาท ซื้อหุ้น PTT จำนวน 4 ล้านหุ้น ต้นทุน 70 บาท และขายออกเมื่อราคาดีดตัว

ความหมายของคำว่า “ถูกที่” คือ ต้องซื้อหุ้นถูกตัว หลังวิเคราะห์ข้อมูลมาแล้วอย่างถี่ถ้วน “ถูกเวลา” คือ ซื้อถูกจังหวะ เพราะจะทำให้สามารถโกยกำไรได้ในระยะสั้นๆ “ถูกน้ำหนัก” คือ ซื้อครั้งละมากๆ หากเดินตามยุทธศาตร์นี้อาจมีโอกาสได้กำไรในหุ้นตัวเดียวคราวละมากๆ แต่การซื้อแบบ “ถูกน้ำหนัก” นักลงทุนหลายคนทำไม่ค่อยได้ เพราะเงินบนหน้าตักมีไม่มากพอ

“แม้วันนี้ฐานะการเงินจะดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ผมก็ยังคงใช้ชีวิตติดดินเช่นเคย รวยหุ้นไม่ได้แปลว่า จะกินข้าวข้างถนนไม่ได้ ทุกวันนี้ไม่เคยคิดว่าตัวเองรวย” “ปิง-ฐิติ กิตติพัฒนานนท์” บอกความเป็นตัวตนให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง

เขา เล่าว่า “พระเอก” ที่ทำให้พอร์ตลงทุนแตะ 20-30 ล้านบาท ต้องยกให้ หุ้น ทุ่งคาฮาเบอร์ หรือ THL ถือเป็นตัว “จุดพลุ” ตอนนั้นราคาหุ้นวิ่งอยู่ 1.50 บาท หลังดูเทคนิเคิลทำให้เชื่อว่า ถ้าผ่าน 1.52 บาท ไปได้ ราคาวิ่งแน่ ด้วยความที่ชอบความท้าทายเลยจัดหนัก ซื้อไม่นานราคาวิ่งไป 1.60 เลยจัดอีกดอกที่ 1.70 บาท ซื้อไปซื้อมามีต้นทุนเฉลี่ย 1.90 บาท จากนั้นมีข่าวว่าบริษัทได้รับใบอนุญาตให้ทำเหมืองทองคำ คราวนี้หุ้นวิ่งใหญ่เลย ถือไม่ถึงเดือนไปปล่อยที่ 2.80 บาท ได้กำไรกลับมาประมาณ 5 ล้านบาท

จากนั้นก็เล่นหุ้นแบบสะเปะสะปะไปเรื่อยๆ เช่น หุ้น จี สตีล หรือ GSTEL ซื้อ 0.80 บาท ปล่อย 1.70 บาท แต่ตัวนี้ได้กำไรไม่เยอะ มาได้มากๆ คือ หุ้น ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น หรือ PTTAR ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหุ้น พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC, หุ้น ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA และหุ้น บ้านปู หรือ BANPU เป็นต้น

ตอนนั้นเราพูดกับ “พี่ยักษ์” กลางโต๊ะอาหารว่า หุ้น PTTAR น่าสนใจนะ แกลุกขึ้นตบโต๊ะแล้วพูดว่า “เราจะรวยแล้ว” ผมเข้าไปเก็บตอน 9 บาท ปล่อยออก 11 บาท ใช้เวลาไม่ถึงเดือน ตอนนั้นไม่ได้มีสตอรี่อะไรเลย แต่ราคาหุ้นต่ำมาก เพราะราคาน้ำมันแย่ ก่อนจะมาเก็บอีกครั้งที่ 12 บาท ขาย 17 บาท และกลับไปซื้อใหม่ 18-19 บาท ขาย 27 บาท สรุปแล้วได้กำไรจากหุ้น PTTAR หลายล้านบาท

ส่วนหุ้น STA ถือเป็นตัวทื่ทำให้ “เฉียดรวย” ทุน 36 บาท (พาร์ 5 บาท) ใช้เวลาไม่ถึงปีได้กำไรมาประมาณ 4-5 ล้านบาท ก่อนลงมือช้อนเคยไปบอก “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” และ “พี่ยักษ์” แต่แกบอกว่า ไม่ชอบเล่นหุ้นคอมมูนิตี้ สำหรับหุ้น บ้านปู ซื้อ 225 บาท ขาย 270 บาท

“เซียนหุ้นหลักร้อยล้าน” เล่าถึง “หุ้นในดวงใจ” ว่า หุ้นที่พลิกพอร์ต จาก “หลักสิบล้าน” เป็น “หลักร้อยล้าน” ในปี 2552 คือ หุ้น ช.การช่าง หรือ CK และ หุ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE ตอนโน้นหุ้น CK ซื้อขายอยู่แค่ 5 บาท ขณะที่ หุ้น ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC วิ่งขึ้นจาก 2 บาท มายืน 12 บาท เมื่อลองเข้าไปดูรายละเอียด ทำให้พบว่า ราคาหุ้น CK ที่ 5 บาท เหมือนราคาฟรี

เพราะตอนนั้น CK กำลังรอเซ็นสัญญาเขื่อนไซยะบุรี มูลค่า 100,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทในเครือมีมูลค่าดีๆหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ทีทีดับบลิว หรือ TTW, บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL และบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL จากการประเมินในครานั้น ทำให้รู้ว่า ต้นทุนที่ CK ถือหุ้น TTW อยู่ที่ 4 บาท แต่ราคาหุ้น TTW วิ่งไปซื้อขายที่ 7 บาท ขณะที่ CK มีต้นทุนหุ้น BECL แค่บาทกว่า ส่วนหุ้น BMCL ตีราคายาก เพราะช่วงนั้นยังขาดทุนอยู่

จากเหตุผลที่บอกไป ทำให้จัดหนักหุ้น CK ในราคา 5.50 บาท ช่วงที่ราคาขึ้นไป 11 บาท เราไม่ยอมขาย สุดท้ายไปปล่อยที่ 9 บาท (หัวเราะ) ทำให้ได้กำไรกลับมากว่า 20 ล้านบาท ด้วยความที่เชื่อเส้นกราฟที่สัญญาณบ่งบอกว่า ราคาจะขึ้นไป 30 บาท เลยไม่ยอมปล่อย หลังทิ้งหุ้น CK ไม้แรก ก็มาซื้อหุ้น CK อีกครั้ง หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ ในราคา 7 บาทกว่า และปล่อยออก 12-20 กว่าบาท ปัจจุบันขาย CK หมดเกลี้ยงแล้ว

ส่วนหุ้น TRUE ตอนนั้นมองว่า แม้บริษัทจะมีหนี้สินเยอะ แต่ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ในฐานะหุ้นใหญ่ ไม่มีทางปล่อยให้เจ๊งแน่นอน เริ่มมาซื้อหุ้น TRUE ตอนปี 2555 ทุน 5 บาท ก่อนจะขายในส่วนของมาร์จิ้นออกในราคา 9 บาท และเก็บในส่วนของเงินสดเอาไว้ จากนั้นไม่นานราคาหุ้นหักหัวลง ชีวิตช่วงนั้นต้องแอบร้องไห้อยู่ในใจ บอกใครไม่ได้ ทำได้แค่ย้ำกับตัวเองว่า “แพ้ไม่ได้” สุดท้ายตัดใจเก็บอีกครั้งที่ 7 บาท และขายออกบางส่วนในราคา 12 บาท สถานการณ์พลิกทันที..

“ขายเฉพาะหุ้น TRUE ตัวเดียว ก็ได้กำไรมากกว่าร้อยล้าน”

“ปิง” เล่าต่อว่า ปัจจุบันมีหุ้นหลักๆอยู่ในมือแค่ 2 ตัว คือ หุ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และหุ้น อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD แต่ตัวที่เป็น “ดวงใจอันดับหนึ่ง” ต้องยกให้หุ้น TRUE ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 13 ล้านหุ้น เคยมีมากถึง 20 ล้านหุ้น

ส่วนหุ้น ITD เพิ่งจัดมา เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 20 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 5.7 บาท ก่อนหน้านี้เคยชอบ หุ้น โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA ตอนนั้นมีอยู่ในมือประมาณ 4 ล้านหุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 21 บาท แต่ขายออกไปหมดแล้ว หลังเจอหุ้นในดวงใจตัวใหม่อย่างหุ้น ITD

ทำไมถึงชอบหุ้น TRUE และ ITD เขาตอบคำถามนี้ว่า สำหรับหุ้น TRUE ผมชอบแผนการเพิ่มทุนที่เบ็ดเสร็จของเขา ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนบริษัทนำไปจ่ายหนี้ 52,000 ล้านบาท ทำให้เหลือหนี้เพียงกว่า 40,000 ล้านบาท ฉะนั้นบริษัทจะประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ปีละ 4,000 ล้านบาท ทำให้วันนี้บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ต่ำมาก ฉะนั้นหากบริษัทจะกู้เงินกับแบงก์ย่อมทำได้ง่าย

ขณะที่ค่าเสื่อมระบบ 2G กำลังจะหมดในช่วงไตรมาส 3/2557 ฉะนั้นธุรกิจจะเริ่มกลับมามีกำไร ไม่แน่อาจได้เห็นบริษัทโชว์กำไรในช่วงไตรมาส 3 นี้ อีกอย่างการที่บริษัทจับมือเป็นพันธมิตรกับ “ไชน่าโมบายล์” คงจะช่วยเสริมธุรกิจกันได้เป็นอย่างดี

ส่วนหุ้น ITD ชอบเพราะบริษัทมีงานก่อสร้างอลังการงานสร้างมากมาย เช่น 1.โครงการทวาย โดยรัฐบาลไทย-เมียนมาร์ จะเพิ่มงานก่อสร้างให้ ITD ระยะเวลา 16 ปี มูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท คาดว่าเฟส 1 จะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 20,000 ไร่ โดย ITD จะร่วมมือกับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ หรือ ROJNA 2.โครงการสัมปทานท่าเรือน้ำลึก และระบบทางรถไฟในประเทศโมซัมบิก ซึ่งบริษัทได้รับสัมปทานเต็มเฟส 8 ปี มูลค่า 240,000 ล้านบาท

3.โครงการลงทุนในเหมืองโปแตส จังหวัดอุดรธานี มูลค่าโครงการ 35,000 ล้านบาท 4.โครงการเหมือง Bauxite ประเทศลาว มูลค่า 30,000 ล้านบาท 5.โครงการทางด่วนยกระดับ Dhaka ประเทศบังคลาเทศ มูลค่าโครงการ 38,000 ล้านบาท โครงการที่เล่าไป ITD จะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขณะเดียวกันบริษัทยังได้งานก่อสร้างของรัฐบาลอีกหลายงาน เช่น โครงการน้ำ และโครงการ 2 ล้านล้านบาท

“จากการส่องพื้นฐานหุ้น ITD เชื่อว่าไม่เกิน 2 ปี ราคาอาจขึ้นไปแตะ 15 บาท นี่เป็นความเชื่อส่วนตัวของผมนะ ตลอดชีวิตการลงทุน ผมขาดทุนหุ้นมาก็เยอะ แต่ด้วยความที่ปล่อยของไว ทำให้ไม่ค่อยเจ็บหนัก ปกติจะวาง “จุดตัดขาดทุน” ไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่รอไม่ถึงก็ไปแล้ว”

ระหว่างทยอยซื้อหุ้นหลักเล่นหุ้นเก็งกำไรควบคู่ด้วยหรือไม่? เขาตอบว่า แน่นอน หุ้นเก็งกำไรแม้ไม่ได้รักแต่ต้องเล่นเพื่อฝึกสมอง ส่วนใหญ่จะเล่นเป็นรอบๆ พร้อมเปิดไอแพดโชว์หุ้นในมือให้ดู ตอนนี้ก็เล่นอยู่หลายตัว เช่น หุ้น รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL หุ้น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN และหุ้น เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง หรือ GEL เป็นต้น

เล่นหุ้นเก็งกำไร แค่ต้องการหาค่ากับข้าว บางครั้งการเดินตามรอยผู้ใหญ่แล้วดี ก็ควรทำไม่ใช่หรือ นักลงทุนรายใหญ่บางรายกว่าจะประสบความสำเร็จหลายคนก็เล่นหุ้นเก็งกำไรมาทั้งนั้น วันนี้หากจะวัดเบอร์กระดูกของผมกับรายใหญ่คงเทียบกันไม่ได้ แต่เราสามารถเดินตามคนเก่งๆได้ ตั้งแต่ถือหุ้นยาวๆ ใจเริ่มนิ่งมากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนซื้อหุ้นเยอะๆ ทุกคืนนอนไม่เคยหลับ

ปัจจุบันยังไม่ได้เล็งจะช้อนหุ้นตัวไหนเพิ่มเติม เพราะหุ้นหลายตัวในตลาดแพงมากแล้ว แต่ล่าสุดเพิ่งลงทุนใน บริษัท ไทย เนชั่นแนล โปรดัคท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ริช เอเชีย สตีล หรือ RICH ร่วมกับนักลงทุนอีก 2 ราย (ดร.พศิน สืบทรัพย์อนันต์ และ เดือนดารา ลิ้มธนากุล) ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 30 บาท (พาร์ 10 บาท)

ส่วนตัวจะถือหุ้นประมาณ 6 ล้านหุ้น จากหุ้นทั้งหมด 18 ล้านหุ้น โดยบริษัทย่อยดังกล่าวมีแผนจะแตกพาร์เหลือ 1 บาท และอาจเตรียมเข้าตลาดหุ้นกลางปี 2558 ดีลนี้ “พี่ยักษ์” เป็นคนแนะนำ หลังแกเข้าไปลงทุนในหุ้น RICH ราคา 0.30 บาท การลงทุนลักษณะนี้ให้ผลตอบแทนที่ดี ฉะนั้นหากมีดีลดีๆก็คงเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม

ถามถึงกลยุทธ์การเลือกหุ้น เขา เล่าว่า ข้อแรก ลงทุนในหุ้นเทิร์นอะราวด์ ข้อสอง ลงทุนในหุ้นที่มีสตอรี่ ข้อสาม ถามตัวเองก่อนว่า ชอบหุ้นแบบไหน ส่วนตัวไม่ชอบเล่นหุ้นปั่น หรือหุ้นซิ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่นักลงทุนวีไอ เพราะชอบเล่นเป็นรอบๆ ระยะเวลาของรอบเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี วิธีการหาหุ้นด้วยเทคนิเคิล ส่วนใหญ่จะเน้นดูกราฟ DAY ด้วยการอาศัยสัญญาณ MACD และ Modified Stochastic คิดง่ายๆ “เข้าด้วยเครื่องมืออะไร จงออกด้วยเครื่องมือนั้น”

ส่วนตัวไม่เคยวางเป้าหมายเรื่องตัวเลขของพอร์ตว่า อนาคตต้องขึ้นไปยืนระดับใด ทุกวันนี้ถือว่ามีเงินใช้พอเพียงแล้ว แต่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ได้จากตลาดหุ้นมากกว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี ตลาดหุ้นทำให้รู้จักคุณค่าของเงิน เขาย้ำ นักลงทุนเก่งๆ ส่วนใหญ่จะประหยัดกันทั้งนั้น อย่างตัวเราเองเคยจนมาก่อน ยิ่งทำให้ต้องใช้เงินอย่างรู้คุณค่า กว่าจะมีวันนี้ได้เราต้อง “ขยัน กล้า บ้า อึด”

“ห้องนอน คือ ห้องเทรดหุ้นของนักลงทุน FULL TIME นามว่า “ปิง” แม้วันนี้จะมีห้อง VIP ส่วนตัวอยู่ที่บล.เอเชีย เวลท์, บล.พัฒนสิน และบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) แต่ก็ไม่ชอบไป ส่วนใหญ่จะใช้เวลาดูหุ้นตั้งแต่ตลาดเปิดจนถึงบ่ายสามโมง เพราะหลังจากนั้นต้องไปทำหน้าที่พ่อ รับลูก 2 คน ที่โรงเรียน”

“ฐิติ” ทิ้งท้ายบทสนทนาที่ยาวนานเกือบ 5 ชั่วโมงว่า “ตั้งแต่รู้จัก "พี่ยักษ์" มา 7 ปี นอกจากจะได้มุมมองเรื่องการลงทุน และความมั่นใจในการลงทุนแล้ว แกยังสอนเรื่องการใช้ชีวิตด้วย ทุกวันนี้ "พี่ยักษ์" เปรียบเหมือนพ่อคนที่สองของผมก็ว่าได้ เพราะแกให้ทั้งโอกาส และความรู้"


“นักลงทุนที่เก่งสุดในชีวิตของผม คือ "แม่" ท่านลงทุน เพื่อการศึกษาของลูก โดยที่ไม่เคยได้อะไรกลับคืนมา

คาราบาวกรุ๊ป CBG อวดฝัน กินรวบตลาด CLMV



"บมจ.คาราบาวกรุ๊ป" โชว์แผนรุกตลาดในและนอกประเทศ หวังคว้ายอดขาย “หมื่นล้านบาท” ภายในปี 59 “เสถียร เศรษฐสิทธิ์”

  "คาราบาวแดง “ดังเปรี้ยงปร้าง” เพราะ Brand Ambassador นามว่า “ยืนยง โอภากุล” หรือ “แอ๊ด คาราบาว” เพราะเขาเป็นคนจริงจัง เมื่อคิดจะทำแล้วต้องชนะเท่านั้น” “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG เล่าที่มาของความสำเร็จให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง

ความสัมพันธ์ของ “แอ๊ด” หรือ “สหายเชี่ยว” กับ “เสถียร” หรือ “สหายคง” ถูกกระชับแนบแน่นในช่วงเหตุการณ์ “6 ตุลา” หลัง “เสถียร” หนีภัยเผด็จการเข้าไปอยู่ป่าในช่วงปี 2519 ก่อน “แอ๊ด” จะตามเข้ามาสมบทในปี 2520 เมื่อการเมืองคลี่คลาย หลังเข้าสู่รัฐบาล “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ทั้งคู่พากันออกมาจากป่า ก่อนจะชักชวนกันออกมาจัดตั้ง บมจ.คาราบาวกรุ๊ป เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2545




แต่ก่อนจะจับมือกันสร้าง “คาราบาวกรุ๊ป” ช่วงออกจากป่าใหม่ๆ “เสถียร” ได้รับการชักชวนจากเพื่อนให้มาร่วมกันทำโรงงานเพื่อผลิตตะปู จากนั้นไม่นานก็หันมาธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร ภายใต้ชื่อโครงการ “สุธาวิลล์” จำนวน 7,000 หลัง ในจังหวัดสมุทรปราการ

แต่เมื่อเมืองไทยเข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้เขาเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ ด้วยการจัดตั้งบริษัท ตะวันแดง จำกัด ในปี 2542 เพื่อเปิดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงแห่งแรกบนถนนพระราม 3 ก่อนจะมาเปิดสาขา 2 ในเลียบทางด่วนถนนรามอินทรา

ผ่านมาถึงปี 2545 “แอ๊ด” ชักชวน “เสถียร” ให้ร่วมหุ้นทำ “ธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” แต่ความฝันของ “เสถียร” ที่ว่า อยากมีสูตรเครื่องดื่มชูกำลังเป็นของตัวเอง จึงพูดโน้มน้าวจิตใจ “แอ๊ด” ให้ลองหันมาช่วยการวางแผนการตลาดคาราบาวแดง

ในช่วงที่อยู่ระหว่างจัดทัพ “เสถียร” มีความกังวลว่า อารมณ์ศิลปินของแอ๊ดอาจทำให้บริษัทไม่เกิดเป็นรูปเป็นร่าง แต่สุดท้าย “สองเพื่อนรัก” ก็สามารถร่วมกันปั้นแบรนด์ “คาราบาวแดง” จนกลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลังที่มียอดขายอันดับ 1 ในประเทศกัมพูชา เฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันยังสร้างแบรนด์คาราบาวแดง จนมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 36,000 ล้านบาท ขึ้นแท่นอันดับ 2 รองจากแบรนด์ M-150 ของ “โอสถสภา” ส่วนอันดับ 3 คือ กระทิงแดง ปัจจุบัน “เสถียร” และ “แอ๊ด” ถือหุ้น คาราบาวกรุ๊ป ในสัดส่วน 34.30 เปอร์เซ็นต์ และ 14.20 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ปัจจุบัน “คาราบาวกรุ๊ป” ประกอบธุรกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ด้วยการลงทุนในบริษัทย่อย 3 แห่ง นั่นคือ บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด หรือ CBD ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “คาราบาวแดง” และเครื่องดื่มเกลือแร่ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “สตาร์ท พลัส” โดยบริษัทวางแผนไว้ว่า หากอนาคตจะมีแบรนด์ใหม่ๆ ก็จะนำดำเนินการโดย CBD

บริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม จำกัด หรือ DCM ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัท ผ่าน “ร้านค้าแบบดั้งเดิม” (Traditional Trade) และ “ร้านค้าแบบสมัยใหม่” (Modern Trade) หลังหมดสัญญากับบมจ.เสริมสุข เมื่อ 2 ปีก่อน โดยบริษัทเชื่อว่า DCM จะช่วยให้การจัดจำหน่ายคล่องตัวมากขึ้น และเข้าถึงชนบททั่วประเทศ ในอนาคตอาจเป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการรายอื่นด้วย

สุดท้าย คือ บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด หรือ APG ผู้ผลิตและจัดหาขวดแก้ว เพื่อใช้ในการบรรจุเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่นๆของกลุ่มบริษัท ซึ่งหน่วยธุรกิจนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะปัจจุบันเมืองไทยมีโรงงานผลิตขวดขนาดใหญ่เพียง 3 แห่ง ซึ่งช่วงเวลาหนึ่งเคยเกิดภาวะขาดแคลนขวดแก้ว ทำให้บริษัทต้องสั่งซื้อขวดจากต่างประเทศมาชดเชยส่วนที่ขาด

เหตุการณ์ในครานั้นทำให้บริษัทตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตขวดแก้วแห่งที่ 4 กำลังการผลิต 650 ล้านขวดต่อปี โดยในปี 2556 บริษัทใช้ขวดในการบรรจุเครื่องดื่มคาราบาวแดงทั้งในประเทศและต่างประเทศประมาณ 760 ล้านขวด โดยในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายจะใช้ขวดเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันหากความต้องการใช้ขวดขยายตัวมากขึ้น บริษัทอาจลงทุนเพิ่มเตาการผลิตใหม่อีก 1 เตา เพื่อใช้เองและจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายอื่น

“ยอดขายหมื่นล้านบาท ภายใน 2 ปีข้างหน้า (2558-2559)”

“เสถียร เศรษฐสิทธิ์” โชว์เป้าหมาย ก่อนเล่าถึงแผนธุรกิจระยะสั้นให้ฟังว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนรอบนี้ นอกจากจะนำไปชำระเงินกู้ 3,000 ล้านบาท เพื่อลดดอกเบี้ยปีละ 100 ล้านบาท จากมูลหนี้ทั้งหมด 4,525 ล้านบาท บริษัทยังจะนำเงินที่เหลือไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ

สำหรับแผนลงทุนระยะสั้น เราจะเน้นขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม) หลังมองว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมืองไทยจะได้เปรียบเพื่อนบ้าน เพราะสินค้าของไทยมีมาตรฐานสูงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยเฉพาะประเทศข้างเคียง

ฉะนั้นเมื่อเปิด AEC เราก็มีโอกาสในการทำธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังเป็นสินค้าพื้นฐานที่ผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้นิยมดื่มมานานกว่า 30-40 ปี แต่อาจไม่เยอะเหมือนในประเทศไทย เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศยังเล็กกว่าเมืองไทย

เขา เล่าต่อว่า บริษัทวางเป้าหมายว่า อยากขึ้นแท่นผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทย และกลุ่มประเทศ CLMV หลังประสบความสำเร็จในการทำตลาดในประเทศกัมพูชา ด้วยการขึ้นแท่นเบอร์ 1 ยอดขายเฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อปี

“ตั้งแต่วันแรกที่โดดเข้ามาทำธุรกิจนี้ ผมคิดเรื่องเป้าหมายเบอร์ 1 ทุกวัน แต่ในความเป็นจริงของการทำธุรกิจ เราต้องค่อยๆไปทีละสเต็ป ออกแนว “กินที่ละคำ ทำทีละเมือง” ”

สาเหตุที่แบรนด์คาราบาวแดง ประสบความสำเร็จในกัมพูชามาจากการที่เราลงไปช่วยคู่ค้าทำการตลาด ด้วยการใช้กลยุทธ์ Pull Strategy หรือ กลยุทธ์ผลัก เช่น การทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อผลักสินค้าออกไป และกลยุทธ์ Push Strategy หรือ กลยุทธ์ดึง เช่นการทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้า จากกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ปีแรกเรามียอดขายเดือนละ 2,000-3,000 ลังต่อเดือน ก่อนจะทะยานขึ้นมาเป็น 50,000 ลังต่อเดือน

เมื่อเราต้องการเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทย และกลุ่มประเทศ CLMV ฉะนั้นควรมียอดขายเครื่องดื่มคาราบาวแดงเป็นอันดับ 1 ที่ไหนสักแห่ง ซึ่งเราก็เลือกประเทศกัมพูชา เพราะว่าประเทศดังกล่าวชื่นชอบสินค้าที่มาจากเมืองไทย เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในเมืองหลวง (พนมเปญ)

ตอนโน้นเรามองว่า ถ้ายังใช้กลยุทธ์ตั้งรับอยู่เหมือนเดิมจะทำให้เราเติบโตช้า ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการหันมาเน้น “กระจายสินค้า” ออกไปในท้องถิ่นห่างไกล โดยเราจะนำสินค้าคาราบาวแดงขึ้นรถบรรทุกส่งออกไปขายในต่างจังหวัด ทำให้หลังจากนั้น 2 ปี เราประสบความสำเร็จในกัมพูชาอย่างมาก

“เมื่อกลยุทธ์ Pull Strategy และ Push Strategy ประสบความสำเร็จในประเทศกัมพูชาได้ เราก็ควรจะนำกลยุทธ์นี้ไปใช้ในประเทศพม่าและเวียดนามได้เช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างมาก ตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาวะเศรษฐกิจ ปัจจุบันเรามียอดขายในประเทศพม่าเดือนละ 100,000 กว่าลัง ติดต่อกัน 2 ปี”

เขา เล่าต่อว่า ตลาดสำคัญรองลงมาจากประเทศพม่า คือ ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งบริษัทส่งไปขายนานกว่า 10 ปีแล้ว ถือได้ว่าสินค้าของเราเป็นเบอร์ 1 ในแง่ยอดขายมาโดยตลอด เพราะสร้างยอดขายเฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาท

ขณะเดียวกันตลาดเยเมน ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่สร้างยอดขายให้เราได้อย่างดี จากนี้บริษัทจะพยายามขยายวอลุ่มไปเรื่อยๆ หากมีจำนวนมากพอ ก็อาจพิจารณาโอกาสการลงทุน ด้วยการตั้งฐานผลิตนอกประเทศ

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทเน้นหนักไปในประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์ และต่างประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ เราตั้งเป้าไวว่า ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า (2558-2560) สัดส่วนรายได้จะกลายเป็น 50:50 เปอร์เซ็นต์

“ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” บอกว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมา คือ การที่เราจะขึ้นไปเป็นผู้นำได้จะต้องทำงานอย่างหนัก ยิ่งภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยสดใสมากนัก ทำให้ต้องทำงานอย่างละเอียดทุกเรื่อง

“วันนี้บริษัทมีสัดส่วนการกระจายสินค้าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยจะพยายามกระจายสินค้าให้ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการที่เรามีบริษัทจัดจำหน่ายเป็นของตัวเอง ถือเป็นรากฐานสำคัญในการกระจายสินค้าไปสู่ร้านค้าต่างๆทั่วประเทศ เปรียบเสมือนสะพานที่จะทำให้เราสามารถผลิตสินค้าตัวใหม่ๆได้มากขึ้นมา”

เมื่อถามถึง “จุดแข็ง” ของบริษัท “เสถียร” ตอบว่า อยู่ที่การมีธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าเป็นของตัวเอง เขาย้ำ เพราะการมีธุรกิจนี้จะช่วยให้การกระจายสินค้าทำได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะตัวแทนย่อยในระดับอำเภอ จากเดิมที่เคยใช้การบริการของกลุ่มเสริมสุข

นอกจากนั้นการมีโรงงานผลิตขวดเป็นของตัวเองจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้มากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจุดสำคัญ เพราะธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากตรึงราคาขายกันมา 10 ปีแล้ว การที่เราจะเติบโตต้องอาศัยวอลุ่มที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีทีมงานด้านการตลาดที่แข็งแกร่ง โดยในปี 2557 เราจะใช้เงินประมาณ 400 ล้านบาท โดย 60 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นรายจ่ายของกลุ่มสาวบาวแดงที่จะเข้าไปจัดกิจกรรมการตลาดในจุดต่างๆ เพื่อเข้าถึงตัวลูกค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ถือเป็นการตลาดที่ดีแนวทางหนึ่ง ซึ่งจะเพิ่มจากในอดีตที่เคยพึ่งพาเพียงวงดนตรีคาราบาวเท่านั้น ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน “สาวบาวแดง” มากกว่า 500 คน

“เสถียร” ทิ้งท้ายว่า รายได้ในปี 2558 อาจเติบโตประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีรายได้จากยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันต้นทุนยังลดลง จากการที่บริษัทมีโรงงานผลิตขวดเป็นของตัวเอง ซึ่งเปิดดำเนินการผลิตไปเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ “กำไร” ของบริษัทเพิ่มขึ้น และภายหลังการระดมทุนจะทำให้เรามีเงินไปคืนเงินกู้ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยลดลงด้วย

ส่วนรายได้ปี 2557 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 8,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะพยายามทำกำไรสุทธิให้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยในปีนี้รายได้จากต่างประเทศจะเข้ามาชดเชยยอดขายในประเทศที่หดตัวลงเล็กน้อย หลังภาพรวมตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง



“แม้แบรนด์คาราบาวแดงจะเป็นอันดับ 2 แต่ในหลายๆจังหวัดยอดขายของเราเป็นเบอร์หนึ่ง”  

Saturday, January 10, 2015

ข่าวลงทุน-หุ้น: ปรับพอร์ตรับ “การเปลี่ยนขั้ว QE” ปีแพะ 2558





  ปรับพอร์ตรับ “การเปลี่ยนขั้ว QE” ปีแพะ 2558



สำหรับภาพรวมการลงทุนในปีนี้นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างค่อนข้างเยอะทีเดียว
โดยเรื่องสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการเปลี่ยนขั้ว
QE จากฟากสหรัฐฯ มาเป็นการอัดฉีดกระตุ้นจากทางยุโรป
และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ



ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าในปี
2558 ญี่ปุ่นจะทำการอัดฉีดเงินเพิ่มปีละประมาณ
80 ล้านล้านเยน
ขณะที่ยุโรปจะอัดฉีดประมาณ
1 ล้านล้านยูโรในปี 2558 – 59 ในส่วนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมสมัยที่สหรัฐฯ
พิมพ์แบงค์ ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มา ณ
จุดนี้เกิดสถานการณ์พลิกผันคือสหรัฐฯ หยุดพิมพ์แบงค์
กลายเป็นญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มปริมาณเงิน
ค่าเงินดอลลาร์จึงเริ่มกลับมาแข็งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินเยน
และยูโรพลิกกลับไปอ่อนค่า โดยเงินเยนได้อ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ไปแล้วกว่า
50% นับจากปี 2556


ขณะที่เงินยูโรได้อ่อนค่าไปแล้วประมาณ
12% นับจากช่วงต้นปี
2557 และเป็นที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มตรงนี้จะยังคงอยู่ต่อเนื่องในปีแพะที่กำลังจะมาถึง
ดังนั้นเม็ดเงินลงทุนมีโอกาสที่จะไหลไปยังสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มค่าเงินที่แข็ง
ขณะที่สภาพคล่องในตลาดการลงทุนโลกจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจากการกระตุ้นของยุโรป
และญี่ปุ่น

โภคภัณฑ์ตก เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยไม่รีบขึ้น
นอกจากผลต่อตลาดปริวรรตเงินตราแล้ว
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน ทองคำ และอาหาร
เนื่องจากราคาโภคภัณฑ์มักจะมีหน่วยเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อมูลค่าของเงินดอลลาร์สูงขึ้น
ก็เท่ากับว่าต้องใช้เงินดอลลาร์น้อยลงในการซื้อโภคภัณฑ์
จึงเป็นที่มาให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

อีกเหตุผลหนึ่งคือการเพิ่มขึ้นของดอลลาร์ทำให้กำลังซื้อโภคภัณฑ์ของนานาประเทศต่ำลงเพราะต้องใช้เงินสกุลท้องถิ่นตัวเองมากขึ้นในการซื้อเงินดอลลาร์
โดยราคาน้ำมันดิบ
WTI ได้ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดเกือบ 40% แล้วในปี 2557 ที่ผ่านมา ผลของราคาโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง
ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงตาม จากเดิมที่ตลาดเคยคาดการณ์ว่าหลายประเทศในเอเชียจะทำการขึ้นดอกเบี้ยในปี
2558 การปรับลดลงของเงินเฟ้อได้เอื้อให้ธนาคารกลางหลายประเทศไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย
และให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้น
นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ลดลงยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประเทศที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันอีกด้วย






มุมมองการลงทุนในในปีแพะ 2558
การเปลี่ยนขั้ว
QE โดยสรุปแล้วจะส่งผลให้ราคาโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ
แรงกดดันในเงินเฟ้อน้อย ธนาคารกลางไม่ต้องรีบเร่งในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
และสภาพคล่องในตลาดการเงินการลงทุนจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ขณะที่
IMF คาดการณ์การเติบเศรษฐกิจโลกในปี 2558 ที่ระดับ 3.8% เติบโตกว่าปี 2557 ที่ระดับ 3.3% ซึ่งนำมาโดยประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย
อย่างจีน อินเดีย และอาเซียนที่คาดว่าจะเติบโตสูงถึง
6.6% ปี 2558 จึงน่าจะเป็นปีที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น
โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ และเอเชีย ทำผลงานได้ดีพอสมควร ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก
การลงทุนประเภท
Yield Play เช่น หุ้นปันผลสูง กองทุน REITs ตราสารหนี้ High Yield น่าจะกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้งเนื่องจากกระแสการทำ
Carry Trade จากทางฟากฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นที่มีการอัดฉีดสภาพคล่องออกมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่กลุ่มสินทรัพย์ที่ควรลดน้ำหนักการลงทุนน่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ที่อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำมากและอาจได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ในส่วนของการลงทุนในประเทศไทย
จากเสถียรภาพทางการเมืองที่มีมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี
2558 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น
การลงทุนในหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีประมาณ
10 – 15% โดยกลุ่มที่น่าจะได้รับประโยชน์คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐ
การขยายตัวของเมืองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล
ขณะที่แนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดลงของราคาโภคภัณฑ์อย่างกลุ่มพลังงาน
ปิโตรเคมี และอาหาร
ในด้านตลาดตราสารหนี้ไทยคาดในครึ่งปีแรกตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาวจะยังคงทำผลงานได้ดีจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศรวมถึงดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงในระดับต่ำ
ขณะที่ควรระมัดระวังในครึ่งปีหลัง
ควรปรับพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นลงเพื่อลดผลกระทบจากแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
ในขณะที่การลงทุนใน
REITs & Infrastructure Fund  ก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจจากระดับเงินปันผลในอัตราที่สูง
สุดท้ายนี้ก็ขอให้ท่านนักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีสมดังใจหวังในปีนี้ครับ