Thursday, January 22, 2015

ผ่าปีศาจแดง

    

   มหาเศรษฐี Ron Baron  ผู้บริหารกองทุน Baron มูลค่ารวมกันกว่า 26,800 ล้านเหรียญ โดยเน้น กลยุทธ์ “ซื้อกิจการที่ดี และถือมันไว้ตราบเท่าที่มันยังเป็นกิจการที่ดี” ได้ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าว CNBC ถึงหุ้นที่น่า จะสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะห้าปีขึ้นไปว่า เขาเชื่อว่าหุ้นของสโมสรฟุตบอล ชื่อก้องโลกนาม “Manchester United” เป็นหนึ่งในหุ้นที่เขาเลือก ประเด็นนี้ทำให้ผมสนใจที่จะหา ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะดูว่า เพราะเหตุใด Ron Baron จึงคิดเช่นนั้น ดังนั้นในบทความนี้เราจะมา ศึกษา จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ ความเสี่ยงของกิจการทีม “ปีศาจแดง” กัน

  ตอนนี้หุ้นของทีมแมนยูมีการซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ค หลังจากที่ทำ IPO เป็นครั้งที่สอง เมื่อปี 2012 ที่ราคา 14$ ตอนนี้ราคาเคลื่อนไหวอยู่ราว 16$ มีมูลค่ากิจการสูงถึง 88,000ล้านบาท เป็นทีมฟุตบอลที่ มูลค่ากิจการสูงที่สุด ทิ้งห่างจาก Borussia Dortmund ของเยอรมันนี และ Juventus ของอิตาลีเป็น อย่างมาก ตอนนี้หุ้นแมนยู มี PE สูงถึง 72 เท่า PBV 3.46 เท่า กิจการมี ROE แค่ 5.04 และ อัตรา การทำกำไรสุทธิแค่ 5% เงินปันผลก็ไม่มี ดูภาพรวมในเชิงปริมาณอย่างไรก็รู้สึกว่าราคาหุ้นน่าจะเกินมูลค่า ทางพื้นฐานไปมาก แต่เมื่อเราพิจารณาเชิงคุณภาพของกิจการเราพบว่า ทีมแมนยู มี fan page ทาง Facebook มากที่สุดถึง60 ล้านคน มากกว่าทีมฟุตบอลอื่นๆกว่า เท่าตัว มีการเก็บสถิติเรตติ้งคนดูเวลาทีม แมนยูลงแข่งเตะในแมทช์สำคัญๆ พบว่ายอดคนดูทั่วโลกมากกว่าจำนวนคนดู American Idol รอบตัดสินบวกกับการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลแมทช์คืนวันอาทิตย์คู่เปิดสนามถึง 2 เท่า

  รายได้ของแมนยูปีล่าสุดอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนใหญ่ที่สุด44% เป็นรายได้ “เชิงพาณิชย์” ซึ่งมาจากค่าสปอนเซอร์เป็นหลัก รองลงมาเป็นรายได้จากส่วนแบ่งลิขสิทธิ์รายการทีวีคิดเป็น 31% และส่วนน้อยที่สุดคือส่วนแบ่งค่าตั๋วเข้าชมและรายได้จากสนาม คิดเป็น 25% รายได้ด้านค่า สปอนเซอร์ซึ่งอยู่ในหมวดรายได้ “เชิงพาณิชย์” ของทีมแมนยูเฉลี่ยเติบโตปีละ 34.2% จากประมาณ 2,000 ล้านบาท ในปี 2010 มาอยู่ที่ 6,800 ล้านในปี2014 นับว่าเป็น การสร้างการเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ แต่เมื่อดูรายได้โดยรวมทั้งหมดของทีมแมนยู ปรากฎว่า ในช่วงปี 2010-2014 นั้นทำได้โตแค่ 10% เท่านั้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงเงินเดือนและสวัสดิการของนักเตะและสตาฟโคช ก็พุ่งขึ้นปีละ 10%เช่นเดียวกัน จึงทำให้กำไรจากการดำเนินงานของแมนยูย่ำอยู่ที่เดิมไม่ไปไหนมากว่าห้าปีแล้ว

  Ron Baron ให้เหตุผลที่เขาชื่นชอบหุ้นแมนยูว่า รายการฟุตบอลเป็นรายการที่มีคนดูมากที่สุดในโลก และเป็นรายการที่ต้องดูสด ณ เวลานั้นถึงจะได้อรรถรส ประเด็นนี้ผมเข้าใจว่าแกอาจแฝงเป็นนัยยะว่า เพราะต้องดูสด รายการฟุตบอลคงไม่โดนพวก youtube แย่งรายได้ไป ซึ่งดูเหมือนว่ารายการฟุตบอลยังคง ครองแชมป์รายการที่มีคนดูมากที่สุดในโลกไปได้อีกยาวนานแบบที่หาคู่แข่งได้ยาก แมนยูซึ่งเป็นทีมที่มี ฐานแฟนคลับมากที่สุดก็น่าจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อมองในมุมนี้เราคงได้เห็น “ความสามารถ ในการแข่งขัน” ของกิจการอย่างทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้ชัดเจนขึ้น

  แต่กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่ากิจการอย่างทีมฟุตบอลนั้นมีความเสี่ยงอยู่มากที่จะสูญเสียศรัทธาของแฟนบอลไป หากทีมฟุตบอลนั้นๆมีผลงานการเล่นที่ตกต่ำไม่สามารถคว้าแชมป์ต่างๆได้เหมือนในอดีต ทำให้แฟนบอล ติดตามน้อยลง สปอนเซอร์เริ่มถอนตัว สินค้าที่ระลึกขายไม่ออก มูลค่ากิจการอาจไม่สามารถยืนอยู่ได้ที่ PE สูงๆเหมือนแต่ก่อน นอกจากนั้นการที่  Alex Ferguson ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมของแมนยูซึ่งโด่งดัง ได้เกษียณ ตัวเองในปี 2013 กรณีนี้ผมว่าไม่ต่างกับการที่ บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่สูญเสีย CEO ที่เก่งกาจไป ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลประกอบการได้ เช่น Jim Skinner ของ McDonald’s เกษียณอายุในปี 2012 หลังจากเขาออกจากตำแหน่งไป การเติบโตของกำไรสุทธิก็ชลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคงต้องดูกันอีกสัก ระยะว่าแมนยูจะเจอปัญหาเดียวกับ McDonald’s หรือไม่


  สรุปแล้วผมคิดว่า หากสนใจที่จะลงทุนในหุ้นของแมนยู นักลงทุนควรมีความสามารถพอที่จะอ่านออกว่า ทีมปีศาจแดงนี้จะสามารถรักษาฟอร์มการเล่นได้โดดเด่นดังเช่นอดีตหรือไม่ กิจการลักษณะนี้ผมเชื่อว่า คล้ายกับดารานักแสดงที่ยามมีชื่อเสี่ยงใครๆก็อย่างเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่พอชื่อเสี่ยงเริ่มสั่นคลอน ค่าตัว และเพื่อนฝูงก็ลดลงไปด้วย ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆนักลงทุนอาจจะไม่อยากถือหุ้นแมนยูเหมือนในตอนนี้