Tuesday, March 1, 2016

โคมไฟดวงแรก /โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

 

 คนเราจะรวยหรือจนนั้นผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่าขึ้นอยู่กับ “ความสว่าง” ของ “โคมไฟวิเศษ 3 ดวง” รวมกัน  โคมไฟดวงแรกก็คือ “เงินตั้งต้น” ที่เราอาจจะได้มาจากโชคเช่นการ “เกิดมารวย”  การเกิดมาฉลาด  หรือแม้แต่การถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1  หรือการทำงานได้เงินและเก็บออมไว้  ส่วนโคมไฟดวงที่สองก็คือผลตอบแทนแบบทบต้นที่เราทำได้จากการลงทุน  และโคมไฟดวงที่สามก็คือระยะเวลาของการลงทุน  โดยที่โคมไฟทั้งสามดวงนั้น  ความสว่างมากก็คือ  หนึ่งมีเงินตั้งต้นมาก  สองได้ผลตอบแทนการลงทุนแบบทบต้นสูง  และสาม มีระยะเวลาการลงทุนยาวนาน  ตามลำดับ  โดยที่บทความทั้งหลายที่ผมเขียนในคอลัมน์นี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของโคมไฟดวงที่สองและสาม  นั่นก็คือ  การทำผลตอบแทนการลงทุนให้ดีโดยการลงทุนแบบ VI และการลงทุนระยะยาวในหุ้น  ส่วนโคมไฟดวงแรกนั้น  ผมพูดถึงน้อย  และนี่ก็คือสิ่งที่ผมจะพูดถึงในวันนี้

การมีเงินตั้งต้นสำหรับการลงทุนนั้นมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงแรกของชีวิตการลงทุน  ถ้าเราไม่มีเงินลงทุนหรือมีน้อยมาก  โอกาสที่เราจะรวยจากการลงทุนก็จะยาก  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ  ถ้าโคมไฟดวงแรกนั้น “มืดสนิท”  โคมไฟดวงอื่นก็จะทำงานไม่ได้  ดังนั้น  การเพิ่มความสว่างให้กับโคมไฟดวงแรกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  และการเพิ่มนี้ก็ควรที่จะทำต่อไปเรื่อย ๆ  อย่าเลิกทำงานหาเงินและออมเงินตราบที่เงินที่หาได้นั้นยังมีจำนวนมากกว่าเงินปันผลจากการลงทุนนี่เป็นกฎคร่าว ๆ   ที่จริงถ้าจะให้ดีหรือเราต้องการรวยเร็วขึ้นและงานที่เราทำนั้น “มีคุณค่า”  ในความรู้สึกของเราและไม่น่าเบื่อ  ผมเองก็คิดว่าเราก็ควรจะทำไปเรื่อย ๆ  จนรายได้จากการทำงานนั้น “ไม่มีความสำคัญต่อไป”  คืออาจจะคิดเป็นแค่ 20-30% ของเงินปันผลเท่านั้น

ประสบการณ์ของผมก็คือ  ผมเริ่มลงทุน “เพื่อชีวิต” อย่างจริงจังประมาณปี 2538-39 เมื่ออายุ 40ปีต้น ๆ  ด้วยเงินออมที่ไม่มากนักแต่ก็ไม่น้อยเมื่อเทียบกับผู้บริหารระดับใกล้เคียงกันทั้ง ๆ ที่ผมเพิ่งทำงานและสามารถมีเงินเก็บได้เพียงประมาณ 10 ปีเศษ ๆ  หลังจากเรียนจบปริญญาเอก  เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าผมเองเป็นคนที่มีนิสัยประหยัดและไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น  นี่เป็นนิสัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเด็กและจำความได้  ผมคิดว่าโดยเฉลี่ยแล้วผมน่าจะออมเงินมากกว่า 30% ของรายได้ในแต่ละปีของผม  แต่เหตุผลที่ทำให้ผมสามารถออมเงินได้มากนั้นไม่ใช่เพราะนิสัยประหยัดเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเพราะผมไม่ได้สร้าง  “ภาระ”  ที่จะต้องจ่ายเงินมากในชีวิตประจำวันด้วย  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  ผมไม่ซื้อทรัพย์สินใหญ่ ๆ เช่นบ้านและรถยนต์ที่จะต้องจ่ายค่าผ่อนจำนวนมากในแต่ละเดือน  และนี่ก็คือเคล็ดลับสำคัญในการเพิ่มความสว่างให้แก่โคมไฟดวงแรก นั่นคือ  อย่าสร้างรายจ่าย “ถาวร” โดยเฉพาะที่เป็นรายการใหญ่ ๆ โดย  “ไม่จำเป็น”

ถ้าเราเกิดมา  “จน” นั่นคือ  พ่อแม่มีฐานะยากจนและมีรายได้ต่ำตลอดชีวิต  นั่นก็หมายความว่าเราจะหวังได้เงินเริ่มต้นเพื่อนำมาลงทุนจากครอบครัวไม่ได้  ทางเดียวที่จะสร้างและเพิ่มความสว่างให้กับโคมไฟดวงแรกก็คือ  การทำงานที่มีรายได้สูงพร้อม ๆ  กับการเก็บออมในอัตราที่สูงด้วย  แต่การสร้างรายได้ที่สูงจากการทำงานนั้น  สำหรับคนที่เกิดมาจนส่วนใหญ่แล้วแทบจะมีทางเดียวนั่นก็คือ  พยายามเรียนหนังสือให้สูงในสายวิชาที่  “ทำเงิน” ซึ่งมักจะเป็นวิชาในสายที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เช่น  แพทย์หรือวิศวกรรมจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง  หลังจากนั้น  ก็พยายามพัฒนาตนเองเพื่อที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้บริหาร  ในกรณีแบบนี้  บ่อยครั้งเราก็มักจะต้องเรียนเพิ่มในระดับสูงขึ้นเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจสูงขึ้นไปอีกหรือได้รับการยอมรับมากขึ้น  นี่ก็วิธีเพิ่มความสว่างของไฟดวงแรกโดยโดยใช้แรงกายและใจของเราล้วน ๆ  บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องที่หนัก  น่าเบื่อหน่าย  และใช้เวลามาก  และนั่นก็คือเส้นทางในการหาและเพิ่มเงินเริ่มต้นของผม  แต่เนื่องจากผมเน้นไปที่การเรียนมากจนถึงปริญญาเอก  ทำให้เงินที่ได้มาจากการทำงานถูกใช้ไปหมด  กว่าโคมไฟดวงแรกจะถูกจุดติด  ผมก็อายุ 32 ปีเข้าไปแล้ว

สำหรับคนที่เกิดมาไม่จนแต่ก็ไม่ได้รวยพอที่จะได้เงินจากครอบครัวเป็นเรื่องเป็นราวนั้น  เส้นทางทำเงินนอกจากการเรียนให้ดี  ทำงานเป็นลูกจ้าง  และไต่เต้าขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง แล้ว  อีกหนทางหนึ่งก็คือ การเริ่มต้นทำธุรกิจขนาดย่อมในสายงานที่ตนมีความรู้และมีประสบการณ์จากการทำงาน  ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีที่จะเพิ่มความสว่างให้กับโคมไฟดวงแรกที่ดีและมีความเป็นไปได้แต่ก็มักจะต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และหาช่องทางรวมถึง “คอนเน็คชั่น” หรือลูกค้าหรือคนที่จะติดต่อทำธุรกิจด้วย  ดังนั้น  ก่อนที่จะเริ่มได้ก็มักจะต้องใช้เวลาพอสมควรยกเว้นแต่ว่าทางบ้านจะมี  “ฐานธุรกิจ”  เดิมอยู่แล้วที่ทำให้การเริ่มธุรกิจนั้นง่ายขึ้น “หลายเท่า”

คนที่เกิดมาจากครอบครัวที่มีฐานะดีนั้น  ต้องถือว่าโชคดีและมักจะทำให้โคมไฟดวงแรกสุกสว่างตั้งแต่อายุยังน้อย  บางคนก็จะได้รับเงินเป็น “ของขวัญ” ในโอกาสต่าง ๆ  บางคนได้รับเงินมาเป็นเงิน  “ตั้งตัว”  เพื่อที่จะ “ต่อยอด”  เพื่อที่จะ  “ทำธุรกิจ”  หรือเพื่อที่จะ  “ลงทุน”  ในตลาดหุ้นในยุคปัจจุบันที่การลงทุนในหุ้นนั้นก็เป็นกิจกรรมที่ทำได้โดยที่ไม่ได้เกิดความรู้สึกว่าเอาเงินไป  “เล่น” อย่างที่เป็นในยุคก่อน  คนที่ได้เงินจากครอบครัวที่มีฐานะนั้น  บางทีเขาก็ไม่รู้หรอกว่ามัน “ช่วย”  ให้เขารวยเร็วขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับคนที่ต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงตนเองและบางทีก็ต้อง  “เลี้ยงพ่อแม่” ด้วยอย่างคนรุ่นก่อนบางคน  เหตุผลก็เพราะเขามักได้เงินมาอย่างง่าย ๆ  ดังนั้น  เงิน 2-3 ล้านบาทจึงอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามาก  แต่คนในรุ่นผมที่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังจนอยู่นั้น  กว่าจะได้เงินแสนก็กินเวลาเป็นปี ๆ  เงินเป็นล้านบาทนั้นแทบจะเป็นความฝันและอาจจะต้องใช้เวลายาวเป็นหลาย ๆ  ปีกว่าจะเก็บออมได้

วิธีการได้เงินหรือได้แสงไฟจากโคมไฟดวงที่หนึ่งเองก็เป็นประเด็นต่อเนื่องไปถึงโคมไฟดวงที่สองและสาม  ถ้าเราได้เงินมาง่ายและเรารู้ว่าอย่างไรเสียเงินส่วนนี้ก็จะมีอยู่หรือมีมาเรื่อย ๆ  เนื่องจากเหตุผลเช่น  งานของเรามั่นคงและรายได้มีแต่จะเพิ่มขึ้น  หรืออย่างไรเสียพ่อแม่ก็จะต้องสนับสนุนหรือให้เงินเพิ่มอีกถ้าเรา “หมดตัว”  ด้วยเหตุใดก็ตาม  กรณีแบบนี้ก็เหมือนกับว่าเรามี  “หลังอิง”  ที่แน่นหนามั่นคงมาก  ดังนั้น  เราก็ “กล้าเสี่ยง”  มากขึ้น  กล้าที่จะเพิ่มความสว่างของโคมไฟดวงที่สองหรือเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน   เร่งให้มันสว่างสุด ๆ  อาจจะโดยการเล่นหรือลงทุนในหุ้นแบบเน้นหุ้นน้อยตัวมาก ๆ  เล่นหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูง  หรือแม้แต่เล่นมาร์จิน  ซึ่งผลจากการนี้ก็อาจจะทำให้ผลตอบแทนสูงลิ่ว—หรือไม่ก็ “เจ๊ง” ไปเลย  แต่นี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนหลายคนร่ำรวยมหาศาลในเวลาอันสั้น   ในขณะที่คนที่ได้เงินต้นหรือแสงสว่างจากโคมไฟดวงที่หนึ่งมาด้วยความยากลำบากและไม่สามารถเสียเงินนั้นไปได้  เขาก็จะไม่กล้าเสี่ยงมากเกินไป  เขาไม่กล้าที่จะเร่งความสว่างของโคมไฟดวงที่สองมากเกินไป  ดังนั้น  โอกาสที่เขาจะรวยเร็วมาก ๆ ก็จะน้อยลง  เช่นเดียวกับที่โอกาสที่จะเจ๊งก็คงจะน้อยลงมากเช่นกัน

บทสรุปสำหรับเรื่องทั้งหมดก็คือ คนแต่ละคนนั้นมีโคมไฟดวงแรกที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับโชคและความพยายามรวมถึงการกำหนดกลยุทธ์ของเขาด้วย  การวิเคราะห์โคมไฟดวงที่หนึ่งจะบอกให้เรารู้ว่าเราจะมีฐานะความมั่งคั่งอย่างไรและเราจะต้องมีกลยุทธ์แบบไหนที่จะทำให้เส้นทางนั้นราบรื่นและไปได้เร็วที่สุดในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้  อย่าไปตามอย่างวิธีการของคนอื่นโดยเฉพาะถ้าเรารู้ว่าโคมไฟของเขากับของเรานั้นแตกต่างกันมาก  ผมเองนั้นเชื่อว่าเส้นทางชีวิตและความมั่งคั่งนั้น เราเองมีความสามารถในการกำหนดมันได้แค่ในระดับหนึ่ง  แต่  “ดวง”  หรือโชคชะตานั้น  น่าจะเป็นพลังที่เราฝืนได้ยาก  ดังนั้น  เราต้องยอมรับมัน  เราอาจจะต้องยอมรับว่าเราอาจจะทำได้แค่นี้  หรือรวยได้แค่นี้  แล้วก็จงสบายใจและพอใจกับมัน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ความมั่งคั่งนั้น  พอถึงจุดหนึ่งแล้ว  ความหมายต่อชีวิตมันก็มีไม่มาก  เฮนรี่ ฟอร์ด เจ้าของผู้ก่อตั้งธุรกิจรถฟอร์ดที่มีชื่อเสียงและรวยระดับโลกเคยกล่าวในขณะที่ใกล้ตายด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมส่วนหนึ่งเพราะทำงานหนักว่า  เขาอยากใช้เงินทั้งหมดที่ได้มาซื้อสุขภาพของเขาคืนมา  แต่มันก็ทำไม่ได้  ดังนั้น  จงพอใจกับสิ่งที่เราทำได้ในเรื่องของเงินทองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใครหรือกับมาตรฐานอะไรที่ไม่ใช่ตนเอง