Sunday, March 13, 2016

"Bitcoin & Blockchain" FinTech ที่กำลังเขย่าระบบการเงินโลก /โดยคุณเจษฏา สุขทิศ


บทความฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ บิทคอยน์ (Bitcoin) และบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งจัดเป็น2 ฟินเทค (FinTech) ที่กำลังค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาปฏิวัติระบบเงินตราโลก อาจจะดูซับซ้อนไปบ้างแต่เชื่อว่าเป็นความรู้ที่ควรค่าแก่การศึกษาแน่นอน จะได้ไม่ตกเทรนด์กันนะครับ

ขอเริ่มต้นด้วย Bitcoin ก่อนเลยนะครับ Bitcoin จัดเป็นสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) ที่เกิดขึ้นในปี 2008และเริ่มมีความแพร่หลายในการใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสำคัญที่สุดก็มาจากต้นทุนที่ถูกกว่าในการทำธุรกรรม หากเปรียบเทียบการซื้อขายผ่านบัตรเครดิตซึ่งมีต้นทุนการทำธุรกรรม 2 – 4% ขณะที่ Bitcoin มีต้นทุนการทำธุรกรรมโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 1% ถูกกว่ากันหลายเท่าตัวครับ

นอกจากนี้ความโปร่งใสของ Bitcoin จากการที่ระบบในการขุด Bitcoin เป็น open source คือเปิดเผยและตรวจสอบได้ รวมไปถึงจำนวน Bitcoin ที่มีการกำหนดไว้ชัดเจน 21 ล้านเหรียญ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้ใช้เกิดความชัดเจนว่าอุปทานของ Bitcoin เองจะไม่มากเกินไป ปัจจุบันเริ่มมีร้านค้าทั้ง online & offline เริ่มเปิดให้มีการใช้ Bitcoin ในการทำธุรกรรมมากขึ้นยกตัวยอย่างเช่น Amazon eBay Tesla Expedia เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปัญหาเกี่ยวกับ Bitcoin ที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นไม่น้อยเช่นกัน เช่นกรณีของ Mt.Gox ซึ่งเป็นตัวกลางสำหรับแลกเปลี่ยน Bitcoin ที่มีกรณีทุจริต และทำให้ผู้ถือ  Bitcoin ต้องสูญเสียไปนับร้อยล้านบาท หรือหลายกรณีที่มีการกล่าวหาว่า Bitcoin ถูกนำไปใช้กับธุรกิจใต้ดินต่าง ๆ อย่างยาเสพย์ติด หรือการก่อการร้าย

การเกิดขึ้นของ fintech ซึ่งกำลังเขย่าวงการการเงินโลกในปัจจุบันนั้นรวดเร็วมาก และมีความไม่เสถียรอีกมาก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการค้าที่เกิดทางช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยต้นทุนที่ถูกกว่ามากของการทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin ผมยังมองว่ามีโอกาสไม่น้อยเช่นกันที่วันนึง Cryptocurrency จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเงินตราที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ บล็อกเชน (Blockchain) ก็เป็นอีกส่วนประกอบที่สำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

Blockchain คือระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทั้งหมดของ Bitcoin และอาจรวมไปถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน และสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ อีกในอนาคต เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกรรมการเงินปกติ ที่จะต้องมีตัวกลางคือสถาบันการเงิน หรือสำนักชำระบัญชี แต่ระบบ Blockchain จะไม่มีตัวกลางอย่างที่เคยเป็นมา ยกตัวอย่างเช่นเวลาคนทำธุรกรรมด้วย Bitcoin จะมีรหัส token สร้างขึ้นมาแล้วทำการสื่อสารกับ Blockchain เพื่อทำการตรวจสอบว่า Bitcoin นั้น ๆ คือของจริงหรือไม่ก่อนทีจะมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นจริง

เท่ากับว่า Blockchain คือระบบโครงข่ายในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin หรืออาจลามไปถึงธุรกรรมซื้อขายออนไลน์ทั่ว ๆ ไป ธุรกรรมหลักทรัพย์เช่นหุ้น พันธบัตรในอนาคต หรืออาจรวมถึงเงินตราสกุลต่าง ๆ ที่ตัดตัวกลางซึ่งก็คือสถาบันการเงินต่าง ๆ ออกไป เมื่อตัดตัวกลางออกไปแน่นอนต้นทุนก็ต้องถูกลงด้วย เหล่าสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลาง รวมไปถึงสำนักชำระบัญชีต่าง ๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีอีกในอนาคตได้เลย หากเทคโนโลยีนี้เข้ามาแทนที่

ใช่ครับนอกจากนี้เทคโนโลยีบล็อกเชน ยังอาจถูกนำไปใช้ในงานอื่น ๆ เช่นการเก็บสถิติการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสมากขึ้น การให้ยืม Cloud Storage ระหว่างกัน, ระบบ Peer to peer lending และอื่นๆ  อีกมากมาย ซึ่งล่าสุดแม้แต่เหล่าธนาคารเองก็ตัดสินใจเข้าลงทุนในการทำ Blockchain มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยล่าสุด เหล่าสถาบันการเงินอย่างธนาคาร Citibank , ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ รวมไปถึงบริษัท VISA ก็ได้เข้าลงทุนในบริษัทบล็อกเชนชั้นนำอย่าง Chain.com ไปเรียบร้อยแล้ว

ก็ต้องดูกันต่อไปครับว่าคลื่นเทคโนโลยีทางการเงินครั้งนี้จะเปลี่ยนโลกเราไปขนาดไหน