Tuesday, March 15, 2016

ปัญหาของกลยุทธ์การลงทุน / โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล


คนที่ศึกษาและติดตามเรื่องการลงทุนผ่านสื่อต่าง ๆ  มานานก็จะพบกับ “กลยุทธ์การลงทุน”  หรือ  “เทคนิคในการลงทุน”  มากมายที่มีคน  “นำเสนอ”  หรือ  “บอกต่อ”  ว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีและจะนำไปสู่  “ความสำเร็จในการลงทุน”  โดย  “อัตโนมัติ”  และบ่อยครั้งพวกเขาก็แสดงผลงานและตัวเลขย้อนหลังให้เห็น  หรือไม่ก็ยกประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำมาและได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ  จริงอยู่สิ่งที่ทำหรือกลยุทธ์ที่ใช้อาจจะไม่ใช่ผลตอบแทนสูงสุด  แต่มันก็ให้ผลตอบแทนที่ “ดี” และมี“ความเสี่ยงต่ำ” เสมอ  ดังนั้น  คนที่คิดหรือรู้ว่าตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการลงทุนจริง ๆ จึงสนใจที่จะใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ  เหล่านั้นที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมกับตัวเองที่สุด   แต่ทั้งหมดนั้นจริงหรือไม่?  และมันมีปัญหาอะไรที่อาจจะทำให้กลยุทธ์บางอย่างนั้น  ใช้ไม่ได้จริง ๆ ในทางปฏิบัติ  ลองมาดูกลยุทธ์การลงทุนหลาย ๆ  อย่างที่เราได้ยินบ่อย ๆ

เรื่องแรกก็คือ  การลงทุนระยะยาวในหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดประมาณ 10-12% ต่อปีแบบทบต้น  ดังนั้น  ถ้าเราเลือกหุ้นไม่เป็น  เราก็ซื้อกองทุนรวมอิงดัชนี  เช่น SET50 แล้วก็ถือไว้เรื่อย ๆ  ไม่ต้องทำอะไรไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง  ตัวเลขย้อนหลังซัก 15 ปีของตลาดหุ้นไทยได้แสดงให้เห็นว่าคนที่ทำแบบนี้จะได้ผลตอบแทนทบต้นที่น่าประทับใจถึง ประมาณ 14% ต่อปีรวมปันผล  หรือถ้ามองย้อนหลังไป 41 ปีตั้งแต่ตั้งตลาดหลักทรัพย์  ผลตอบแทนรวมปันผลก็น่าจะยังอยู่ในระดับประมาณเกือบ 10% ต่อปีแบบทบต้น  ประเด็นก็คือ  กลยุทธ์การลงทุนแบบนี้อาจจะได้ผลดีใน“อดีต”  และได้ผลตอบแทนดีเฉพาะ  “บางช่วงเวลา”  เช่น  เวลาที่ตลาดหุ้นตกต่ำมาก ๆ  และหุ้นมีราคาถูกกว่าปกติ  เช่น  เมื่อ 15 ปีที่แล้วที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติและตลาดหุ้นตกต่ำลงมากเหลือเพียง 200 กว่าจุดจาก 1700 กว่าจุด  การลงทุนถือกองทุนรวมอิงดัชนีระยะยาวก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมถึง 14% ต่อปีในเวลา 15 ปี  แต่ถ้าเข้าลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้นสูงสุดในปี 2537 ที่ 1700 กว่าจุด  หรือประมาณ 22 ปีที่แล้ว  การลงทุนในตลาดหุ้น 22 ปีจนถึงวันนี้ก็จะได้ผลตอบแทนน้อยมากประมาณ 2% ต่อปีรวมปันผลแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนอาจจะเถียงว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว  ถ้าเราถือหุ้นระยะยาว  เช่น  อย่างน้อย 30 ปีขึ้นไป  ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยก็น่าจะค่อนข้างดี  โอกาสที่จะแย่นั้นน้อยกว่ามาก  และถึงจะแย่ก็ยังได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ  เช่น  5-6% ขึ้นไป  โดยอาจจะยกตัวเลขของตลาดหุ้นอเมริกาหรือตลาดหุ้นไทยในอดีตมาประกอบ    แต่ในความเห็นผม  ผมคิดว่า “อนาคต”  ต่อจากนี้ก็ไม่แน่ว่าพฤติกรรมผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยอาจจะเหมือนเดิมในช่วง 41 ปีที่ผ่านมาหรือตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงที่ยาวกว่านั้นมาก  เหตุผลของผมก็คือ  ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมานั้นตรงกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วมาก  เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐที่อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจของอเมริกาโตเร็วมากเช่นเดียวกัน  ถ้าเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้โตช้าลงมาก  ตลาดหุ้นไทยก็อาจจะไม่เหมือนเดิม  ดังนั้น  การลงทุนในช่วงเวลาที่หุ้นมีราคาไม่ถูกและอนาคตเศรษฐกิจอาจจะแย่ลง “อย่างถาวร”  การลงทุนระยะยาวในหุ้นก็อาจจะไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีก็ได้  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ  ญี่ปุ่น  ที่ตลาดหุ้นในระยะกว่า 25 ปีที่ผ่านมานั้น  ดัชนีตกต่ำลงจาก สามหมื่นกว่าจุดเหลือเพียงหมื่นกว่าจุด  คนที่ถือกองทุนรวมอิงดัชนีระยะยาวจะเสียหายหนักมาก

กลยุทธ์การลงทุนเรื่องที่สองก็คือ  การลงทุนแบบ  Dollar Cost Average ( DCA )  นี่คือการลงทุนระยะยาวในหุ้นหลายตัวที่เราคิดว่าดี  โดยที่เราจะเก็บสะสมหุ้นเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ  ด้วยเม็ดเงินคงที่ทุกเดือนหรือทุกปีโดยไม่สนใจราคาหุ้นว่าจะขึ้นหรือลง  ถ้าราคาหุ้นขึ้น  พอร์ตเราก็โตขึ้น  ไม่มีอะไรเสียหาย  ถ้าราคาลง  เราก็จะได้หุ้นจำนวนมากขึ้นหรือได้หุ้นในราคาต่ำลง  อนาคตถ้าหุ้นขึ้นปรับตัวกลับขึ้นไป  พอร์ตเราก็จะโตเร็วขึ้น  เพราะจำนวนหุ้นเรามากขึ้นกว่าการขึ้นตามปกติ   แนวความคิดหรือกลยุทธ์นี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า  ถ้าหุ้นดี  ราคาหุ้นในระยะยาวก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น  การทำ DCA มีแต่จะดีและปฏิบัติง่าย    แต่ประเด็นก็คือ  ถ้าหุ้นไม่ดีหรือราคาหุ้นตัวนั้นแพงเกินไปล่ะ  การซื้อหุ้นในแต่ละเดือนหรือแต่ละปีในอนาคตโดยไม่คำนึงถึงราคาหุ้น  โดยเฉพาะหุ้นที่ราคากำลังตกลงมาเรื่อย ๆ  ก็อาจจะไม่ให้ผลดี  ยิ่งถ้า “พื้นฐาน”  ของกิจการกำลังเปลี่ยนแปลงในทางเลวร้ายลงอย่างถาวร  การทำ DCA ก็จะกลายเป็น  “หายนะ”เหมือนกับการ  “ขุดหลุมฝังตัวเอง” แทนที่จะหนีออกจากหลุม  ดังนั้น  การทำ DCA ที่จะให้ผลดีนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าในวันที่เราซื้อหุ้นทุกครั้ง  พื้นฐานของกิจการยัง  “ดีเยี่ยม” เหมือนวันที่เราเริ่มลงทุนในหุ้นตัวนั้น

กลยุทธ์ที่สาม ก็คือการขายหุ้น “ทำกำไร”  บางส่วน  เพื่อ “ลดต้นทุน” ของหุ้น  หรือ “เอาทุนคืนมา”  ดังนั้น  ต้นทุนของหุ้นที่เราถือก็จะต่ำลง  หรือในบางกรณี  “ไม่มีต้นทุนเลย” ดังนั้น  เราก็จะรู้สึกไม่มีแรงกดดันหรือเกิดความเครียดเวลาหุ้นตัวนั้นตกลงมา  เพราะอย่างไรเสียเราก็จะยังไม่ขาดทุน  หรือไม่มีทางขาดทุนเลยเนื่องจากเราไม่มีต้นทุนแล้ว  ที่เหลือก็มีแต่กำไรทั้งสิ้น   นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่หลายคนบอกว่าเขาทำแล้วได้ผลดีมาก  เพราะได้ขายหุ้นไปเอาทุนคืนมาก่อนที่หุ้นจะปรับตัวลงมามาก   แต่ทั้งหมดของกลยุทธ์นี้นั้น  แท้ที่จริงแล้วตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้ว ราคาของหุ้นได้ขึ้นไปมากพอสมควรที่ทำให้เราสามารถขายและ “ล็อก” กำไรไว้และเอาไป  “ลดต้นทุน” หุ้นที่เหลืออยู่  แต่ถ้าไม่ใช่  แทนที่หุ้นจะขึ้นกลายเป็นหุ้นตกลงมา  กลยุทธ์นี้ก็ใช้ไม่ได้  นอกจากนั้น  การขายหุ้นเพื่อ “ลดต้นทุน” โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงพื้นฐานหรือผลประกอบการที่ดีขึ้นเทียบกับราคาก็อาจจะเป็นการ  “ขายหมู”  เพียงเพื่อที่จะทำให้ตัวเอง  “สบายใจ” ว่า  เราจะไม่เจ็บจากการที่ราคาหุ้นอาจจะลดลงในอนาคต  ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่าเราควรจะหาวิธีการอื่นที่ทำให้ตนเองสบายใจโดยไม่ต้องเสียโอกาสหรือประโยชน์จากการลงทุนในหุ้นมากกว่า

กลยุทธ์ที่สี่ที่ผมจะพูดนั้น  อาจจะไม่มีการพูดถึงเป็นเรื่องเป็นราวแต่ผมคิดว่ามีคนทำไม่น้อยก็คือ  การซื้อเมื่อหุ้นลงมาที่  “แนวรับที่แข็งแกร่ง”  ของหุ้นแต่ละตัว  เสร็จแล้วก็รอขายเมื่อหุ้นขึ้นไปในระดับหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนพอสมควร  อาจจะ 5-10%   นี่มักเป็นการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยที่เฝ้าติดตามและอาจจะเคย  “เล่นหุ้น” ตัวใดตัวหนึ่งมาหลายครั้งต่อเนื่อง  หุ้นเหล่านั้นมักจะเป็นหุ้นที่  “แข็งแกร่ง” ไม่ใช่ “หุ้นปั่น” หรือหุ้นขนาดเล็กที่ราคาหวือหวามาก ๆ  ที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะขาดทุนมหาศาล  พวกเขาจะเผ้าดูราคาหุ้นต่อเนื่องมาตลอดและคิดว่าเขาเริ่มจะเห็น “Pattern”  หรือรูปแบบของราคาที่ปรับตัวขึ้นลงและก็อาจจะพบว่าพอราคาลงมาถึงจุดหนึ่งก็จะหยุดแล้วซักระยะหนึ่งก็จะปรับตัวขึ้นไป  อาจจะ 5-10%  ดังนั้น  พอเขาพบว่าหุ้นตัวนั้นปรับตัวลงมาถึงจุดนั้น  เช่น  อาจจะ 10 บาทต่อหุ้น  เขาก็จะเข้าไปช้อนซื้อเพื่อที่จะคอยให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปและเขาสามารถขายทำกำไรได้  ปัญหาของกลยุทธ์นี้ก็คือ  ในวันที่เขาซื้อหุ้นครั้งหลังสุดนั้น   รูปแบบของราคาหุ้นอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีก  หุ้นอาจจะตกลงไปต่ำกว่า 10 บาท  แต่แทนที่จะหยุดเหมือนเดิมมันกลับไหลลงไปถึง 8 บาทและก็อาจจะไม่ปรับตัวขึ้นมาถึง 10 บาทอีกนานมากเนื่องจากพื้นฐานของกิจการอาจจะยังไม่ดีไปอีกนานแม้ว่าบริษัทก็อาจจะยังเป็นกิจการที่ “แข็งแกร่ง”  อยู่เหมือนเดิม

ข้อสรุปของผมสำหรับคนที่ชอบใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ  ที่มีคนบอกว่าดีก็คือ  ในทุก ๆ  กลยุทธ์และทุก ๆ สถานการณ์นั้น  เราต้องวิเคราะห์ว่าพื้นฐานของตลาดและตัวหุ้นแต่ละตัวที่เราเกี่ยวข้องนั้นเป็นอย่างไร  ดีหรือร้าย  ดูว่าดัชนีหรือราคาหุ้นที่เราเห็นนั้น  ถูกหรือแพง  แน่นอนว่าไม่มีใครมีข้อมูลที่สมบูรณ์หรือความสามารถในการวิเคราะห์ที่สุดยอดไม่ผิดพลาด  ประเด็นก็คือ  เราต้องประเมินเรื่องของพื้นฐานและราคาตลอดเวลาและพยายาม  “ประมาณ”  ว่ามันถูกหรือแพงในภาพใหญ่ ๆ  ถ้าดูแล้วมันอยู่ในระดับที่เรามีโอกาสชนะมากกว่าแพ้พอสมควรไม่ว่าในด้านซื้อหรือขาย  เราถึงจะตัดสินใจโดยอิงกับกลยุทธ์ที่เราชอบ  แต่ถ้าประเมินแล้วเป็นทางตรงกันข้าม  เราก็อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้กลยุทธ์ดังกล่าว  สำหรับผมเองนั้น  ผมแทบไม่ใช้เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่กล่าวมาเลย  ผมคิดว่าการลงทุนนั้น  ความยืดหยุ่นสำคัญมาก    มี “กฎเหล็ก” น้อยมากที่ผมจะไม่ยอมผ่าน  หนึ่งในนั้นก็คือ  พื้นฐานเมื่อเทียบกับราคาจะต้องถูกหรือสมเหตุผลในการที่จะซื้อขายหุ้น  ผมไม่ตั้งเกณฑ์อะไรล่วงหน้า