Sunday, March 6, 2016

FinTech กับพัฒนาการของภาคการเงิน / โดย ดร. รินใจ ชาครพิพัฒน์


ในปัจจุบันนวัตกรรมใหม่และพัฒนาการด้านเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีการดำเนินชีวิตของเราอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของอินเทอร์เน็ต, การสื่อสาร Telecommunication)และเครื่องมือสื่อสาร (Mobile Device เช่น Smartphone, Tablet) สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุคDigital Mobile และเปลี่ยนแปลง lifestyle จากเดิมที่เคยมีคอมพิวเตอร์ PC หรือ Notebook กลายมาเป็นการที่ทุกคนหรือเกือบทุกคนมี Smartphone หรือ Tablet และใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับ Mobile Deviceทั้งสำหรับการสื่อสาร บันเทิง การค้นหาข้อมูลหรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ และในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้บริการทางด้านเงินในรูปแบบใหม่ๆหรือ FinTech นับวันจะก้าวหน้ามากขึ้น

 FinTech เป็นคำย่อมาจาก “Financial Technology” หมายถึงนวัตกรรมที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีและพัฒนาการด้านการสื่อสารมาช่วยให้การดำเนินกิจกรรมทางการเงินมีความสะดวกต่อผู้ใช้และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับ Lifestyle ของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ในอดีตการมีบัตร ATM ช่วยให้เราสามารถเบิกเงิน โอนเงิน หรือชำระค่าบริการต่างๆ ได้โดยง่าย แต่ในปัจจุบัน แทบทุกธนาคารได้ให้บริหาร Online Bankingซึ่งเปิดโอกาสให้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้จาก Mobile Device เป็นต้น

ในบางครั้งเราอาจจะไม่เห็นพัฒนาการของ FinTech ที่ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกขึ้นอย่างชัดเจน แต่ FinTech ก็อยู่เบื้องหลังธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท Braintree ที่เป็นผู้พัฒนาระบบการชำระเงินแบบ Online สำหรับ Consumer Application ในมือถือ โดยมีภาพรวมการใช้บริการโดยรวมต่อปีอยู่ที่ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการใช้บริการผ่าน mobile กว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปัจจุบันนั้น Braintree ถูกบริษัท Paypal ซื้อไปแล้ว  นอกจากนี้ Application ยอดนิยมอย่าง Airbnb ที่ให้บริการจองที่พักในต่างประเทศจากเจ้าของโดยตรง ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จด้วย FinTech และเช่นเดียวกับกรณีของ Uber ที่ให้บริการรถแท็กซี่โดยบุคคลทั่วไปที่มีให้บริการในหลายประเทศทั่วโลก ก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยความคิดสร้างสรร ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

นอกจากการทำธุรกรรทางการเงินและการชำระค่าบริการแล้ว FinTech ยังครอบคลุมไปถึงการลงทุนและการระดมทุนอีกด้วย เช่น บริษัท Motif Investment ที่เป็น Broker ซึ่งเสนอการให้บริการการลงทุนทางออนไลน์เป็นแบบตระกร้าหุ้นหรือพอร์ตลงทุนที่เรียกว่า Motif โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกพอร์ตการลงทุนในแนวคิดต่างๆ ที่บริษัทนำเสนอ ได้แก่ ด้านแนวคิดของกลยุทธ์การลงทุน Trading Strategy) แนวคิดการลงทุนในอุตสาหกรรม (Sector) เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ภาคการขนส่ง Digital Dollar (หุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจเรื่องการชำระเงิน) เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีให้เลือกหลากหลายโดยเป็นการลงทุนในหุ้นหรือ ETF นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้ลงทุนสร้าง motif หรือพอร์ตการลงทุนของตัวเองได้และหากสมัครใจ ผู้ลงทุนสามารถเลือกที่จะแบ่งปันพอร์ตลงทุนของตนเองให้ผู้ลงทุนรายอื่นสามารถนำไอเดียการลงทุนไปใช้ ซึ่งผู้ลงทุนจะสามารถได้รับผลตอบแทนเพิ่มอีกด้วยในกรณีที่มีผู้ลงทุนรายอื่นซื้อ Motif จากแนวคิดของตน

 อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ บริษัท Circleup ที่ให้บริการ Crowfunding สำหรับธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Consumer Product ที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อการระดมทุนระหว่างผู้ดำเนินธุรกิจและผู้ลงทุน โดยปัจจุบัน Circleup ให้ข้อมูลว่าได้สนับสนุนให้ 149 บริษัทระดมทุนรวมได้ถึง 180 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ใช้ประมาณ 2-3 เดือน และค่าเฉลี่ยในการระดมทุนถึง 1 ล้านเหรียญ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า FinTech เป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจหลากหลายประเภทให้มีความสำเร็จและเชื่อว่าธุรกรรมเหล่านี้จะผสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในอนาคต ทั้งนี้ ในต่างประเทศนั้นให้ความสำคัญอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้ง FinTech Club ของสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่ง เช่น Wharton School of Business, MIT Sloan School of Business หรือแม้กระทั่งนิตยสารระดับโลกอย่าง Forbes ยังได้มีการจัดลำดับ Top 50 FinTech Company ขึ้นในปี 2015(บริษัทที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ทั้ง 3 บริษัท ก็อยู่ในกลุ่ม Top 50) สำหรับในประเทศไทย องค์กรและบริษัทใหญ่หลายแห่ง เช่น AIS, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ได้หันมาให้ความสำคัญกับFinTech ผ่านการจัดตั้งกองทุนและโครงการให้เงินสนับสนุนแก่บริษัท Startup ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับFinTech ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนธุรกิจ Start up ให้เติบโตและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศได้

แม้ว่า FinTech จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาให้ภาคการเงินเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วขึ้นด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง สร้างโอกาสการลงทุน รวมถึงเปิดช่องทางการระดมทุนใหม่ๆ แล้ว แต่พัฒนาการของ FinTech ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นใจของผู้ใช้ในระบบความปลอดภัยของการทำธุรกรรมในช่องทางเหล่านี้ รวมถึงข้อจำกัดทางด้านกฎเกณฑ์ข้อบังคับทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลธุรกรรมเหล่านั้น ซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาของ FinTech ของประเทศไทยให้เติบโตได้ในอนาคต จะเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนของทั้งผู้กำกับดูแลและภาคธุรกิจในการพัฒนากฎหมายและเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือได้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อให้การพัฒนา FinTech ในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการต่อยอดสู่การขยายเศรษฐกิจไทยในอนาคต