Tuesday, March 22, 2016

เกษียณอายุให้มีความสุข /โดยดร.สันติ กีระนันทน์


เริ่มต้นปีใหม่ 2559ด้วยความหวังใหม่อีกครั้งหนึ่งครับ ทุก ๆ ครั้งที่มีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลใด เราก็อาจจะใช้โอกาสนั้นเป็นกุศโลบายเพื่อเริ่มสิ่งใหม่ ๆ หรือแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดก่อนหน้านั้น ซึ่งก็จะเป็นกำลังใจให้สามารถก้าวข้ามสิ่งบกพร่องและเริ่มสิ่งที่ดีขึ้นเสมอ

ผมมีความคิดว่าในช่วงปีใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างนี้ มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือการคำนึงถึงช่วงเวลาทำงานที่ยังคงเหลือก่อนที่จะถึงเวลาเกษียณจากงานประจำในปัจจุบันนี้ การคิดเช่นนี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำตอนที่เหลือเวลาการทำงานอีกไม่กี่ปี แต่ควรจะทำตั้งแต่เริ่มต้นทำงานด้วยซ้ำไป เพราะยิ่งระลึกถึงเรื่องนี้ได้เร็วเท่าไรก็จะทำให้ระยะเวลาการทำงานยังคงเหลือมากพอที่จะแก้ไขสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้การวางแผนเพื่อให้เกิดอิสรภาพทางการเงินเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากทิ้งเวลาไปนาน ไม่ให้ความสนใจกับการวางแผนการเงินของตนเองเพื่อเป้าหมายการเกษียณอายุอย่างมีความสุข กว่าจะนึกได้ อาจจะเหลือเวลาการทำงานอีกไม่กี่ปี ซึ่งหากมีทรัพย์สินเงินทองไม่เพียงพอหลังการเกษียณแล้ว ก็อาจจะแก้ไขได้ยากแล้ว

ก่อนจะชวนคิดกันเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข ผมอยากจะชวนคุยเรื่องอิสรภาพทางการเงิน หรือ financial freedom อีกครั้งหนึ่ง เพราะอาจจะยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงินหมายความว่ามีเงินมากตั้งแต่ยังไม่เกษียณอายุ ดังนั้นก็สามารถเลิกทำงานได้เลย ซึ่งทำให้ชีวิตมีความเป็นอิสระ ไม่ต้องกังวลใจหรือเหนื่อยยากกับการทำงาน ผมอยากจะแสดงความเห็นว่า การคิดเช่นนั้น มีส่วนถูกอยู่มาก แต่อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะหลายครั้งจะมีคนที่แย้งว่า หากเลิกทำงานไปเลย คิดหรือว่าชีวิตจะมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ายังไม่ได้อายุมากหรือเข้าสู่วัยชราที่จะไม่มีเรี่ยวแรง หากยังมีเรี่ยวแรงดีอยู่แล้วไม่ได้ทำงาน จะเที่ยวไปเรื่อย ๆ หรือใช้ชีวิตไปวัน ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในความไร้ประโยชน์ของชีวิตตนเอง ดังนั้น ความหมายของอิสรภาพทางการเงินก็คือ มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอที่จะไม่ให้ปัจจัยความต้องการทางการเงินนั้น มาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน หลายครั้งที่การตัดสินใจเลือกอาชีพของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น มีเหตุผลของรายได้เป็นเหตุผลหลัก มากกว่าเหตุผลของความชอบและความสุขที่จะเกิดขึ้นกับงานที่ได้ทำ หากเลือกงานด้วยเหตุผลของรายได้เป็นหลักเพียงอย่างเดียวแล้ว ผลที่ตามมาอาจจะทำให้ชีวิตการทำงานเต็มไปด้วยความเครียด ความสุขในชีวิตก็จะหายไปอย่างหน้าเสียดาย ลองคิดดูว่า ในช่วงชีวิตที่ยังเป็นวัยทำงาน (อายุไม่เกิน 60 ปี) เป็นช่วงที่ร่างกายยังมีกำลังวังชา เป็นช่วงชีวิตที่ยังไม่ชอบอยู่นิ่ง หรือพูดง่าย ๆ ว่ายังอยากทำงานอยู่ ซึ่งหากสามารถเลือกงานตามความชอบ โดยไม่ต้องคิดถึงปัจจัยความจำเป็นทางการเงินเป็นปัจจัยหลักแล้ว ก็อาจจะเลือกงานที่ชอบแม้ว่าอาจจะได้รายได้ไม่มากที่สุด หรือมากไปกว่านั้น คนบางคนที่อยากทำงานเพื่อสังคม เมื่อชัดเจนแล้วว่ามีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องขวนขวายหาเงินมากแล้ว ก็อาจจะตัดสินใจทำงานเพื่อสังคม พัฒนาส่วนรวมให้ดีขึ้น อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีความเป็นอิสระทางการเงิน คือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยความต้องการทางการเงินเป็นหลักเสมอไป

การวางแผนทางการเงิน หรือ financial planning นั้น นอกเหนือจากเพื่อวัตถุประสงค์ของการมีอิสรภาพทางการเงินก่อนวัยเกษียณแล้ว ยังทำให้มั่นใจว่า เมื่อเกษียณจากการทำงานประจำแล้ว ก็จะยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่น้อยกว่าช่วงที่ยังทำงานอยู่ การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสองนั้นได้ จะต้องเริ่มคำนึงถึงเรื่องทั้งสองนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน เพราะยิ่งเริ่มต้นวางแผนและปฏิบัติตามแผนได้เร็วเท่าไร ก็จะพบอิสรภาพทางการเงินได้เร็วขึ้น และมั่นใจว่าชีวิตหลังเกษียณแล้วก็จะมีคุณภาพดีด้วย

ความตระหนักรู้ของคนไทยในเรื่องการวางแผนทางการเงิน

ผมได้อ่านงานวิจัยเรื่อง “การเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงิน เพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 40 – 60 ปี” ของคณาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการค้นพบที่น่าสนใจหลายอย่าง อย่างแรกก็คือ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชีวิตหลังเกษียณจากการทำงาน จะอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ถึงรายละเอียดและขั้นตอนการวางแผนของคนเหล่านั้นที่มีความมั่นใจว่าหลังจากเกษียณจากงานประจำแล้ว จะยังใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป กลับเห็นว่า ความเชื่อเหล่านั้นอาจจะเป็นความเชื่อที่มีโอกาสผิดพลาดสูง เพราะกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น มีความผิดพลาดในขั้นตอนการวางแผน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะที่เงินออมไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งข้อผิดพลาดที่พบนั้นมีอยู่ 7 ประการ คือ

1.     เริ่มวางแผนช้า โดยกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น มีเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น ที่เคยวางแผนทางการเงินและคำนึงถึงเป้าหมายเพื่อการเกษียณ โดยที่การคิดถึงเป้าหมายเพื่อการเกษียณนั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่คิดให้ได้ว่า จำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้หลังเกษียณนั้น เป็นเท่าไร หรือที่เรียกว่า retirement sum ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าว จะเกิดจากการออมในแต่ละเดือนจากการทำงาน ดังนั้น ผู้ที่จะมั่นใจได้ว่า หลังเกษียณแล้วจะมีชีวิตที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นคำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องการดังกล่าวนั้น แล้วต้องปฏิบัติตามแผนการออม นอกจากนั้น จากการศึกษาของคณะผู้วิจัย ได้พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น อายุเฉลี่ยของผู้เริ่มต้นการวางแผนคือ อายุ 42 ปี ซึ่งค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับผลการศึกษาที่มีในประเทศอื่น ๆ

2.     มีความมั่นใจเกินควร เรื่องนี้อาจจะขยายความว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น มีจำนวนผู้ตอบสูงถึงร้อยละ 71 ที่มั่นใจว่า คุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียง หรือมีคุณภาพชีวิตดีกว่าปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่คนกลุ่มนี้ยังไม่เคยวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณเลย กลุ่มนี้อาจจะทำเพียง “วางแผนการทำงาน” คือ คิดว่ามีความก้าวหน้าในชีวิตการงานตามขั้นตอน หรือวางแผนที่จะทำงานแต่ละช่วงชีวิตเพื่อให้ได้รายได้ตามเป้าหมาย แต่ไม่ได้คิดเรื่องวัยเกษียณจริง ๆ จัง ๆ และในหลายราย อาจจะเชื่อว่า การวางแผนการทำงานนั้นเพียงพอที่จะมั่นใจได้แล้วว่าหลังเกษียณอายุก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างดีจากเงินออมที่ได้เก็บไว้โดยไม่มีแผน

3.     การวางแผนโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม ในเรื่องนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น แสดงความเห็นว่า จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงด้วยสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น รวมทั้งไม่เข้าใจถึงปัจจัยสำคัญเรื่องเงินเฟ้อ ว่ามีส่วนบั่นทอนมูลค่าของสินทรัพย์ที่ตนเองได้อดออมหรือลงทุนไว้อย่างไร และจะจัดการอย่างไร เพื่อเอาชนะปัจจัยลบของเงินเฟ้อได้ ขออธิบายข้อผิดพลาดข้อนี้โดยแยกเป็น 2 เรื่องสำคัญนะครับ คือ

เรื่องแรกเป็นการวางแผนที่อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจโดยทั่วไป คือ คิดว่าหากอายุมากขึ้น ก็จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มสัดส่วนขึ้น ผมเข้าใจว่า กลุ่มตัวอย่างคงคิดว่า ในปัจจุบันนี้หากจะลงทุนในหุ้น (ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่ามีความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์อย่างอื่น ซึ่งในฉบับถัด ๆ ไป ผมจะขอแสดงความเห็นด้วยและความเห็นคัดค้านในความเชื่อที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางนี้) จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงต้องรอว่าในอนาคต หากทำงานนานขึ้น มีรายได้มากขึ้นก็จะลงทุนในหุ้นมากขึ้น ซึ่งความคิดเช่นนี้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เพราะในขณะที่ยังรายได้ไม่มากนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นนั้น สามารถทำได้โดยง่าย ไม่ว่าจะลงโดยตรง หรือลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ซึ่งมีทั้งกองทุนรวมหุ้นหรือ equity fund ทั่วไปที่มีให้เลือกลงทุนอย่างหลากหลายพร้อมด้วยข้อมูลที่เพียบพร้อม หรือลงทุนในกองทุนประเภท LTF หรือลงทุนใน RMF ที่มีสัดส่วนของหุ้นค่อนข้างมาก หรืออาจจะเลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทีมีทางเลือก หรือที่เรียกว่า employee choice โดยเลือกประเภทที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นค่อนข้างมาก ก็จะสามารถทำได้ตั้งแต่ยังอายุน้อยหรือรายได้ไม่มากนัก ซึ่งการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น ทำให้หากเกิดความผิดพลาด ก็สามารถแก้ไขได้ เพราะยังเหลือเวลาทำงานอีกมาก แต่หากไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงเมื่ออายุมากแล้ว หากเกิดความผิดพลาดก็ไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ อายุเป็นปัจจัยในการพิจารณาเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากหรือน้อยเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ยังอาจจะมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เช่น การคาดการณ์ถึงความสามารถในการหารายได้ในอนาคต ภาระที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว และปัจจัยอย่างอื่น ๆ อีก หากเรามีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจากการลงทุนเพื่อเกษียณอายุได้ดีขึ้น

ส่วนเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคือ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นตลอดเวลานั้น จะบั่นทอนมูลค่าของสินทรัพย์ที่เราถือครองอยู่ คำว่าเงินเฟ้อ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจยาก เรื่องนี้อธิบายง่าย ๆ คือ ลองนึกถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาช่วงต่าง ๆ นะครับ เรารับประทานก๋วยเตี๋ยวชามละเท่าไร ตั้งแต่เด็ก ๆ ผมรับประทานก๋วยเตี๋ยวชามละ 2 บาท 3 บาท จนเป็นชามละ 5 บาท 10 บาท 15 บาท จนมาถึงชามละ 35 หรือ 40 บาท ในขณะนี้ (ตามร้านก๋วยเตี๋ยวข้างถนนทั่วไปนะครับ) จะเห็นว่าสินค้าที่เรารับประทานหรือใช้งานนั้น มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา ดังนั้น เงิน 20 บาทในอดีตที่มีค่าทำให้เราอิ่มอาหาร 1 มื้อได้ ปัจจุบันไม่สามารถทำให้เราอิ่มได้ แปลว่าหากเราย้อนไปตั้งแต่อดีตที่เห็นว่ามีเงิน 20 บาท ก็ทำให้อิ่มได้ 1 มื้อนั้น และหากเชื่อเช่นนั้นในอดีตว่า เก็บเงินมื้อละ 20 บาทก็พอ มาถึงปัจจุบันก็อาจจะทำให้เรามีเงินไม่พออิ่ม หรือการใช้เงินเพียง 20 บาทต่อมื้อก็จะไม่อิ่มอีกต่อไป หรือคุณภาพชีวิตก็จะแย่ลงด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม ความแพงขึ้นของสินค้าและบริการต่าง ๆ นั้น อาจจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ มูลค่าของเงินเล็กลงเรื่อย ๆ หรือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเองครับ

4.     การประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร เรื่องนี้ คณะผู้วิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่า หลังจากที่เกษียณอายุแล้ว แต่ละเดือนหากมีกระแสเงินสดเกิดขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 34 ของรายได้ก่อนเกษียณ ก็จะเพียงพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่งอัตราส่วนนี้เรียกว่า income replacement ratio เรื่องนี้มีความเสี่ยงมากพอสมควรที่จะใช้ตัวเลขของฝรั่งล้วน ๆ ซึ่งแนะนำว่า อัตราส่วนดังกล่าวนั้น ควรจะมีประมาณร้อยละ 60 – 90 (แล้วแต่ว่ารายได้ก่อนการเกษียณมากหรือน้อยแค่ไหนด้วย) อย่างไรก็ดี อัตราส่วนร้อยละ 34 ก็อาจจะน้อยไปจริง ๆ ซึ่งแสดงว่า คนส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความประมาทในการวางแผนหลังเกษียณ โดยอาจจะลืมไปว่า หลังจากที่เกษียณแล้ว ก็คือเข้าสู่วัยชรานั้น จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้นตามความเสื่อมของร่างกาย นอกจากนั้นยังต้องไม่ประมาทว่า อาจจะมีโรคร้ายที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากต้องการจัดการความเสี่ยงเรื่องนี้แล้ว ก็อาจจะจำเป็นต้องมีการวางแผนประกันชีวิตโดยเลือกแผนประกันชีวิตที่มีการประกันสุขภาพด้วย ซึ่งเรื่องการบริหารความเสี่ยงโดยใช้การประกันชีวิตพ่วงการประกันสุขภาพนั้น ก็จำเป็นจะต้องหาความรู้ในเรื่องดังกล่าวมากพอสมควร

กลับมาคุยเรื่องการประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอีกครั้งหนึ่งนะครับ ทางที่ง่ายที่สุดก็คือ ปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงิน หรือที่เรียกว่ certified financial planner (CFP) ซึ่งเขาจะมีแบบอย่างของการคิดหรือวิเคราะห์ถึงความต้องการใช้เงินในวัยหลังเกษียณ หรือแม้แต่ความต้องการใช้เงินในช่วงชีวิตก่อนวัยเกษียณด้วยซ้ำไป เพราะการทราบ “กระแสเงินสดเป้าหมาย” หรือ Target cash flow ดังกล่าวนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยให้การวางแผนการเงินส่วนบุคคล หรือการวางแผนเพื่อการบริหารความมั่งคั่ง (wealth planning) ทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

5.     การประมาณอายุคาดเฉลี่ยน้อยเกินควร หมายความว่า คนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีอายุตลอดชีวิตนั้น น้อยกว่าค่าเฉลี่ยจริง ๆ ด้วยเหตุที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ aging society คือ อายุเฉลี่ยของผู้คนอยู่ในช่วงสูงวัย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีคนแก่มากกว่าเด็ก สาเหตุสำคัญก็คือ วิทยาการในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก ช่วยชะลอวัยได้ดีกว่าในอดีต คนแต่ละคนแก่ช้าลง หรือมีสุขภาพดีขึ้น ตายยากขึ้นกว่าอดีต ดังนั้น การคาดการณ์ว่าจะอยู่ได้หลังจากเลิกทำงานเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าความเป็นจริงนั้น ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้การวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณนั้นมีความผิดพลาด เผื่อเงินออมหรือเผื่อความสามารถในการหารายได้ไว้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่ยังคงดำเนินต่อไปอีกเป็นเวลานาน ผลก็คือ คุณภาพชีวิตในวัยหลังเกษียณลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตอนที่แก่มาก ๆ อาจจะมีค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ และต้องไม่ลืมว่า ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไร โอกาสเจ็บป่วยก็มากขึ้น การคาดหวังการดูแลจากลูกหลานนั้นควรจะเป็นแหล่งสุดท้าย เพราะสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก จากครอบครัวซับซ้อนที่ประกอบไปด้วยคนหลายรุ่นในหนึ่งครอบครัว กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีเพียงพ่อแม่และลูกเท่านั้น และเมื่อลูกโตขึ้น ก็อาจจะแยกครอบครัวออกไปโดยเร็ว ทิ้งให้คนแก่อยู่กันตามลำพัง ทำให้ความคาดหวังการดูแลจากลูกหลานเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อย ๆ


6.     การออมเงินไว้น้อยเกินควร จากงานวิจัยของคณะผู้วิจัยนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ การคำนวณความเพียงพอของความมั่งคั่งหลังวัยเกษียณนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ได้นับเอามูลค่าของสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์เข้าไว้ในการคำนวณด้วย ซึ่งทำให้มองเห็นว่าน่าจะมีความมั่งคั่งเพียงพอเพื่อการเกษียณแล้ว ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจคือ อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย หรือเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ยาก การมีอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากในกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนที่เตรียมไว้เพื่อวัยเกษียณนั้น อาจจะมีความเสี่ยงต่อผู้วางแผน เพราะเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน อาจจะเป็นการยากที่จะขายอสังหาริมทรัพย์นั้นออกไปได้โดยเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันเวลาต่อความต้องการใช้เงินของผู้ออม ดังนั้น การวางแผนการออมเพื่อวัยเกษียณนั้น อาจจะจำเป็นต้องมีทั้งสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดหรือ marketable securities ประเภทต่าง ๆ ตามระดับของความเสี่ยงซึ่งจะมีผลต่อผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นด้วย และควรจะต้องมีสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย แต่มีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิน ส่วนจะมีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทั้งสองประเภทเป็นสัดส่วนเท่าไรนั้น คงต้องคำนึงถึงความต้องการใช้เงินหลังวัยเกษียณเป็นหลัก ประกอบกับประเภทของอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์สภาพคล่องเหล่านั้น ว่ามีอะไรบ้างอย่างละเอียดแยกแยะแต่ละประเภท


7.     การเกษียณอายุก่อนกำหนด เรื่องนี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ คือเรื่องอิสรภาพทางการเงิน กล่าวคือ คนจำนวนหนึ่งที่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน ก็วางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีความมั่งคั่งเท่าไร และเมื่อถึงจำนวนที่ต้องการแล้วก็คิดว่าจะเกษียณอายุก่อนถึงเวลาอันควร ซึ่งหากการคำนวณดังกล่าวมีความผิดพลาด ก็จะทำให้ผู้วางแผนเสียโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังวัยเกษียณไปอย่างน่าเสียดาย ผมจึงพยายามอธิบายเรื่องการเกษียณอายุก่อนถึงเวลาอันควรว่า อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของความต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน แต่ทางที่ดีคือ เมื่อคิดว่ามีความมั่งคั่งเพียงพอแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนอาชีพที่เคยเหนื่อยมากเกินไปเพราะต้องการรายได้มาก ๆ เป็นอาชีพที่ให้ความสุขในการทำงานและได้รายได้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอย่างดีต่อไปจนถึงเวลาที่สมควรจะเกษียณดีกว่า อีกสาเหตุหนึ่งของการเกษียณอายุก่อนกำหนดนั้น ผมพบเห็นจำนวนไม่น้อยว่าคนทำงานเดี๋ยวนี้ เมื่อมีความกดดันมาก ๆ โดยไม่สามารถหาทางออกหรือหาทางผ่อนคลาดความกดดันเหล่านั้นได้ ก็จะตัดสินใจเลิกทำงานโดยขอเกษียณอายุ ทั้ง ๆ ที่ในหลายกรณี เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานมีความเสียดายคนทำงานคนนั้นอย่างยิ่ง แต่เมื่อตัดสินใจเลิกทำงานไปแล้ว หลายคนก็เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ ก็ตัดสินใจลาออกจากงานโดยคิดว่าจะเกษียณก่อนถึงเวลา หลายคนบอกว่าไปตายเอาดาบหน้า แล้วก็ไปตายได้ตามประสงค์จริง ๆ หลายคนก็หลอกตัวเองว่า ไม่เป็นไรหรอก ต่อไปนี้ก็จะอยู่อย่างสมถะ เกษียณตอนที่ยังมีแรงดีกว่าไปเกษียณเอาตอนที่หมดแรงแล้ว เพราะคงไม่สามารถทำอะไรได้ ความเป็นจริงก็คือ แม้จะเกษียณตามอายุที่สมควรแล้ว ก็ยังคงมีแรงทำสิ่งต่าง ๆ ที่อยากทำได้อีกมาก และที่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างสมถะนั้น บางครั้งเป็นสิ่งที่เรากำหนดเองไม่ได้ เพราะอาจจะมีความต้องการใช้เงินอย่างใหญ่เกิดขึ้นอย่างที่เราไม่ได้คาดการณ์มาล่วงหน้า การเกษียณอายุก่อนกำหนดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง และเป็นความท้าทายต่อชีวิตที่เหลือโดยไม่จำเป็น การแก้ไขความดื้อรั้นในเรื่องนี้ คงต้องว่า “สติ” เท่านั้น ที่จะเป็นหนทางของการแก้ไขปัญหาข้อนี้

ชวนคุยเรื่องข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งเป็นผลการวิจัยของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยหอการค้าร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่า การหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาดเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงของคนทั่วไป เพียงทำความเข้าใจตัวเอง และทำความเข้าใจถึงเครื่องมือที่จะช่วยในการลงทุนและการออม โดยเข้าใจลักษณะของเครื่องมือเหล่านั้น เข้าใจเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนในเครื่องมือเหล่านั้น ก็จะสามารถวางแผนและออกแบบการออมเพื่อวัยเกษียณได้โดยไม่ยากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อย่าหลอกตัวเอง คนแต่ละคนมีวิถีการดำเนินชีวิตและดำรงชีวิตต่างกัน ตัวเราเองจะเป็นผู้ที่ตอบตัวเองได้กระจ่างมากที่สุดโดยอาจจะอาศัยประสบการณ์ของผู้อื่น เช่น นักวางแผนทางการเงิน ช่วยให้เราอยู่ในกรอบการวิเคราะห์ที่ง่ายขึ้น

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีการจ่ายสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการหักเงินเดือนส่วนหนึ่งของผู้มีเงินได้ กับเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ แล้วนำไปบริหารจัดการโดยมืออาชีพที่เป็นผู้จัดการกองทุนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซึ่งในที่ทำงานที่เราทำงานนั้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อดูแลการจัดการผลประโยชน์และเลือกนโยบายการลงทุน อย่างไรก็ดี ในอดีตนั้น การเลือกนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในสถานประกอบการแต่ละแห่งนั้น คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะเลือกเพียงนโยบายการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกว่า single policy ซึ่งหากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องการลงทุน และเครื่องมือการลงทุนที่ดีพอ ก็อาจจะเลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่สามารถสร้างหลักประกันหลังวัยเกษียณของลูกจ้างได้ว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนตอนที่ยังทำงานอยู่

ในยุคที่ยังเป็น single policy นั้น ผมเคยได้รับโทรศัพท์ของกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขององค์กรหนึ่ง โทรมาปรึกษาว่า ไหนว่าการลงทุนในตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แล้วทำไมในปีนั้น ผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในองค์กรนั้นจึงมีผลขาดทุนเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงคือในปีนั้น มีการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าของทรัพย์สินที่ลงทุน ซึ่งก็คือตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตดี ๆ นั้น ต้องมีการทำการตีมูลค่าตามราคาตลาดหรือ mark to market ซึ่งก็จะเกิดผลขาดทุนเกิดขึ้น เพราะเมื่อไรก็ตามที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้มูลค่าตราสารหนี้ลดลง (เพราะดอกเบี้ยที่จ่ายโดยผู้ออกตราสารหนี้นั้นคงเดิม เมื่อเทียบกับตลาดซึ่งอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยไม่เพิ่มขึ้นนั้น มีความน่าสนใจน้อยลง จึงทำให้มูลค่าของตราสารหนี้นั้นลดลง) ดังนั้น การที่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เลือกนโยบายการลงทุนที่ลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ เมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเป็นขาขึ้น จึงทำให้กองทุนของตนเองนั้นมีผลตอบแทนที่ลดลงหรือเป็นลบได้เลย หากคณะกรรมการไม่เข้าใจเครื่องมือที่ลงทุนก็จะมีเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นนี่แหละครับ

ยิ่งไปกว่านั้น การมีเพียง single policy ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ไม่ตอบโจทย์ความเหมาะสมของสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับอายุหรือปัจจัยที่กำหนดระดับความเสี่ยงของผู้มีเงินได้แต่ละคน ทางออกที่สำคัญและเป็นสิ่งที่นายจ้างรวมทั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควรจะพิจารณา คือ การกำหนดให้มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างแต่ละคนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองในแต่ละช่วงชีวิตการทำงาน หรือการเปลี่ยนแปลงไปของปัจจัยที่มีผลต่อระดับความเสี่ยงและความต้องการผลตอบแทนของคนทำงาน ซึ่งการกำหนดนโยบายที่หลากหลายนี้เรียกว่า employee choices หรือนโยบายการลงทุนที่มีทางเลือก

ข้อแนะนำสำหรับคนทำงานก็คือ หากสถานที่ทำงานของท่านมี employee choices อยู่แล้ว ควรจะต้องพิจารณาว่า สัดส่วนของสินทรัพย์ในแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร ควรจะมีความหลากหลายตั้งแต่มีสัดส่วนของหุ้นค่อนข้างมาก (หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน) ไปจนถึงสัดส่วนของหุ้นน้อยและเป็นตราสารหนี้ภาครัฐค่อนข้างมาก ซึ่งตามทฤษฎีที่พิจารณาโดยให้ตัวแปรอื่นที่มีผลต่อระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนทนได้มีความนิ่งไว้ จะเห็นว่า หากลูกจ้างมีอายุน้อย ก็ควรจะเลือกนโยบายการลงทุนที่มีหุ้นมาก ๆ เพื่อการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวค่อนข้างมาก และเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ซึ่งเป็นการสะสมความมั่งคั่งมามากแล้ว ก็จะลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงเรื่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของกลุ่มสินทรัพย์ที่ลงทุนเพื่อการเกษียณอายุนั้นลง เพราะในช่วงปลายของการทำงาน ไม่ควรจะมีความไม่แน่นอนกับความมั่งคั่งนั้นมาก เพราะเหลือเวลาในการแก้ไขไม่มากแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า การมี employee choices ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนจัดการกับชีวิตหลังเกษียณได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากสถานที่ทำงานของท่านยังคงเป็น single policy ก็มีคำแนะนำอีกแบบหนึ่งก็คือ ควรจะพูดคุยกับคณะกรรมการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสถานประกอบการให้มีความเข้าใจในเรื่อง employee choices มากขึ้นเพื่อให้เห็นความสำคัญของนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เหมาะสมกับลูกจ้างแต่ละวัย เหมาะสมกับลูกจ้างแต่ละคนที่มีวิถีการดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน การมีเพียง single policy ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตได้ และยิ่งไปกว่านั้นเสถียรภาพของประเทศชาติ เริ่มต้นที่ประชาชนแต่ละคนต้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม หากทำไม่ได้ก็จะกลายเป็นภาระของภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากลองวิเคราะห์ให้ดี อาจจะเห็นได้ว่า ปัญหาของความวุ่นวายในประเทศ มักจะมีพื้นฐานของปัญหาเกิดจากคุณภาพชีวิตของคนในประเทศไม่ดีเท่าที่ควร หากคุณภาพการดำเนินชีวิตของคนในชาติไม่ดี ก็จะเป็นปัจจัยที่ผู้ไม่หวังดีนำมาสร้างความแตกแยกจากความเข้าใจผิดได้ง่ายมาก

เริ่มต้นเป็นเรื่องความคิดคำนึงถึงอนาคตของคนทำงานแต่ละคน มาจบลงด้วยความคิดคำนึงในอนาคตของชาติ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันนะครับ


ติดตามอ่านบทความการลงทุนดี ๆ ได้ที่ www.thaistockvi.com
Facebook : https://www.facebook.com/setvii