Thursday, May 28, 2015

Innovation ฝันสลาย / คนขายของ

   

    หลังจากที่บริษัท APPLE ประสบความสำเร็จด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถสร้างทั้งยอดขาย และกำไร ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลก ทำให้ผู้บริหาร ของบริษัทต่างๆให้ความสนใจกับกลยุทธ์ทางด้าน “INNOVATION” (นวัตกรรม) มากขึ้น เป้าหมาย ทางด้านยอดขายของบางบริษัทได้มีการแยกชัดเจนว่าต้องมีสัดส่วนจากผลิตภัณฑ์ใหม่ซึงเป็นนวัตกรรม ล่าสุดกี่เปอร์เซนต์ บางบริษัทได้ทุ่มงบด้านวิจัยและพัฒนาอย่างมากมาย ด้วยหวังที่จะเลียนแบบความ สำเร็จของ APPLE บ้าง แต่การพัฒนาและออกสินค้าใหม่นั้นเพื่อเพิ่มผลกำไรนั้นจะสามารถทำขึ้นมา กันได้ง่ายๆหรือไม่?

  ศาสตราจารย์ Dawn Iacobucci อดีตอาจารย์ของ Kellogg School of Management ได้เขียนไว้ ในหนังสือ Kellogg on Marketingว่า อัตราการการล้มเหลวของการออกผลิตภัณฑ์ใหม่โดยทั่วไปอยู่ที่ 40% Harvard Business Review ได้ประเมินว่าอัตราดังกล่าวจะสูงขึ้นไปถึงราว 75% สำหรับ ผลิตภัณฑ์จำพวกสินค้าอุปโภคบริโภค นิตยสาร Forbes รายงานว่าในช่วงปี 1995 บริษัท Michelin ได้ออก ผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นยางพร้อมตัว เซนเซอร์วัดระดับความดันลมยางที่จะส่งสัญญาณเตือนเมื่อยาง โดนเจาะ และระบบยางรุ่นใหม่นี้จะยังสามารถประคองให้รถสามารถแล่นต่อได้อีกถึง 200 กิโลเมตร แม้ว่าทางบริษัทได้ตกลงในความร่วมมือกันกับบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่บางบริษัททั่งค่ายยุโรปและญี่ปุ่น แต่กลับกลายเป็นว่ายางรุ่นนี้ไม่เป็นที่นิยม ปัญหาหลักในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในครั้งนี้อยู่ที่ว่า การที่ จะซ่อมยางรุ่นนี้ ร้านยางทั่วไปไม่สามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่ได้ ต้องทำการซื้อเครื่องมือใหม่ที่ราคาสูง และมีขนาดใหญ่ จนกลายเป็นเหตุให้ผู้ใช้ยางรุ่นนี้หาร้านรับปะยางไม่ได้ จนในที่สุดบริษัทก็ต้องเลิก การผลิต

  อีกนวัตกกรรมหนึ่งที่หลายท่านคงรู้จักกันดีก็คือ เครื่องบินที่สามารถบินได้เร็วเหนือเสียง ที่ชื่อว่า “Concorde” เป็นผลิตผลของการลงทุนร่วมกันมูลค่า 1.3 พันล้านปอนด์ ระหว่าง British Aircraft Corporation และ  Aerospatiale ของฝรั่งเศส ด้วยความเร็วระดับมัค 2 (เร็วกว่าเสียงสองเท่า) ทำให้ย่นระยะเวลาการเดินทางจากลอนดอนไปยังนิวยอร์ค จากเดิม 7-8 ชั่วโมงเหลือเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง ในเครื่องบินมีเพียง 90-120 ที่นั่ง นักธุรกิจสามารถบินไปประชุมที่นิวยอร์คในตอนเช้าและกลับมา ลอนดอนได้ภายในหนึ่งวัน แต่ด้วยเงินลงทุนที่สูง และ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่แพงมาก สายการบิน British Airways ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้เครื่องบินรุ่นนี้ต้องทนแบกขาดทุนอยู่ถึง 6 ปีจึงเริ่มมีกำไร เมื่อดูโดยรวมแล้วนวัตกรรมชิ้นนี้อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ดีเท่าไหร่นัก สุดท้ายทั้ง British Airways และ Air France ได้ประกาศหยุดให้บริการเที่ยวบินเหนือเสียงเชิงพาณิชย์ในปี 2003

  “นวัตกรรม”บางอย่างช่วยในการเพิ่มผลผลิต Productivity) ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เปิดตลาดใหม่ ขยายฐานลูกค้าของบริษัทให้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกนวัตกรรมจะให้ผลในด้านบวกเสมอไป แม้แต่ผู้ผลิต เครื่องดื่มระดับโลกอย่าง Coca-Cola (KO) ก็เคยพลาดมาแล้วในการเปิดตัวสินค้าใหม่ที่ชื่อว่า “New Coke” ซึ่งเป็นโค้กรสชาติใหม่ เปิดตัวในเดือนเมษายน ปี1985 พร้อมกับทำการยกเลิกสายการผลิต รสชาติเดิม ช่วงก่อนเปิดตัว New Coke ราคาหุ้น KO ไต่ระดับจาก 1.29$ มายืนที่ 1.49$ แต่เมื่อ กระแสตอบรับออกมาเป็นลบจากบางพื้นที่ในสหรัฐ ราคาหุ้นก็ตกลงมาอยู่ที่ 1.4$ จนกระทั้งในที่สุด ทางบริษัทต้องประกาศนำโค้กรสชาติเดิมกลับมาผลิตอีกครั้งในวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ราคาหุ้น ก็ได้กลับมาทำจุดสูงสุดของปีที่ 1.56$ จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นได้การออกนวัตกรรมใหม่นั้นมีผลต่อ ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นด้วย ดังนั้นเมื่อบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ทำการออกผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ก็ควร พิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ใช่จะเล็งผลเลิศโดยการไล่ซื้อหุ้นทุกราคาเมื่อมีข่าวออกมา เพราะเชื่อทุกอย่างที่บริษัททำจะประสบความสำเร็จในทุกกรณีไป  

 

Wednesday, May 27, 2015

นิสัยแมงเม่าไทย / วีระพงษ์ ธัม

 
    อย่างที่รู้กันว่า นักลงทุนรายย่อยในประเทศไทย ในระยะยาว ๆ นั้น มีสัดส่วนที่ขาดทุนจากหุ้นมากกว่ากำไร สถิติของบางสำนักอาจจะว่าไปถึง มีคนขาดทุน 80% และมีคนกำไรเพียงแค่ 20% เลยทีเดียว ผมเคยสงสัยว่าอะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้คนจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับผมลองศึกษาเรื่อง “นิสัยคนไทย” ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และผมพบว่านิสัยกลุ่มเดียวกันนี้เอง ที่เป็นอุปสรรคของนักลงทุนเช่นเดียวกัน ซึ่งผมขอเรียกนิสัยเหล่านี้ว่า “นิสัยแมงเม่าไทย” ครับ

            1. เชื่อเรื่องเวรกรรม คนไทยเชื่อเรื่องบุญพาวาสนาส่ง ดังนั้นเราจะแนวโน้มที่จะ “ยอมรับ” สถานะปัจจุบันของเรา ไม่ดิ้นรนขวนขวาย และพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “แข่งเรือแข่งแพแข่งได้ แต่อย่าแข่งวาสนา” คนจำนวนมากอาจจะคิดว่าดวงไม่ดี ที่ซื้อหุ้นตัวนี้ หรือเข้าออกตลอดผิดจังหวะ มากกว่าโทษตัวเอง หรือคนมากกว่านั้นคิดว่าเราไม่อาจเปลี่ยนชะตาชีวิตเราได้ จึงไม่กล้าริเริ่มต้นมองหาโอกาสในการลงทุน เรื่องโชคชะตา ควรตั้งอยู่บนความคิดบนกรอบของวาทะทั้ง 4 ของท่านเหลี่ยวฝาน คือ เราสามารถเปลี่ยนโชคชะตาตัวเองได้ ด้วยการกระทำดี ในความหมายคือ การทำในเหตุที่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งผลลัพท์ที่ดีที่ปลายทางเสมอ ๆ

            2. ยึดถือระบบอุปถัมภ์ เชื่อคนที่มีอายุสูงกว่าหรือตัดสินคนที่ความมั่งคั่ง วัฒนธรรมไทยเคารพผู้อาวุโส และให้เชื่อฟังคนที่มีอายุมากกว่า แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เลือกฟังคนจาก “ความคิดความอ่าน” ความสำเร็จในการลงทุนขึ้นอยู่กับ “วิจารณญาณของคุณ” มากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพราะความเชื่อหรือตำราที่ผิดนำพาสู่ความล้มเหลวเสมอ การพินิจพิจารณาตามหลักกาลามสูตรโดยไม่มีอคติเรื่องใด ๆ จึงสำคัญกว่าจารีตมาก นักลงทุนพอร์ตใหญ่หรือเล็กไม่มีความเกี่ยวข้องกับความคิดหรือไอเดียที่เฉียบคม นักลงทุนที่ชื่อดังอาจจะไม่ได้การันตีความสามารถในการลงทุนอะไร หรือนักลงทุนที่อายุน้อยแต่มุ่งมั่น ก็อาจจะมีประสบการณ์มากกว่านักลงทุนที่อยู่ในตลาดหลายสิบปีก็เป็นได้

            3. พึ่งพาคนอื่น เหตุผลอาจจะเป็นเพราะในอดีต คนไทยต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝนในสังคมการเกษตร เราจึงติดนิสัยในการพึ่งพาสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเอง ในตลาดหุ้น นักลงทุนก็นิยมที่จะหาคนพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นมาร์เก็ตติ้ง นักวิเคราะห์ หรืออาจจะเป็น “เซียนหุ้น” ที่จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากกว่ากับการพึ่งตัวเอง นอกจากนั้น หากเกิดความผิดพลาดในการลงทุน เราก็สามารถ “โทษคนอื่น” ซึ่งเป็นนิสัยที่ติดตัวของคนไทยเช่นเดียวกัน การลงทุนที่ดีที่สุดต้องพึ่งตนเอง เพราะเราจะต้องค้นหาตัวตน วิธีการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองให้ตกผลึกเสียก่อน อย่าคิดพึ่งพาคนอื่น มันจะนำพาหายนะในการลงทุน เพราะหากเกิดเหตุการณ์สุดวิสัยเกิดขึ้น คุณจะแก้ปัญหาเองไม่ได้

            4. ขาดการวางแผน สุภาษิตไทยเรื่อง ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำให้คนไทยแทบจะไม่ต้องเตรียมตัว หรือวางแผนในการรับสภาพขาดแคลนอาหารในฤดูหนาว ดังนั้นนักลงทุนทั่วไปจึงแทบไม่มีการวางแผนลงทุน คิดแต่ว่าอยากรวยเร็ว ๆ ความเป็นจริงคือถ้าไม่วางแผน โอกาสที่เราจะรอคอยค่อย ๆ สร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนจะเป็นไปได้ยาก สิ่งแรกที่ควรทำในการลงทุนคือวางแผนว่าจะเก็บออมเดือนละเท่าไหร่ วางแผนว่าจะได้ผลตอบแทนปีละเท่าไหร่ที่ไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป และเราจะมีความมั่งคั่งเท่าไหร่ที่อายุไหน เราควรจะปรับพอร์ตอย่างไรบ้างในแต่ละปี และถ้ามีอะไรเกิดขึ้น แผน 2 ของเราคืออะไร เราพร้อมที่จะปฏิบัติการฉุกเฉินได้ทุกเวลาหรือไม่ แผนทุกอย่างควรบันทึกอยู่ใน Excel และฝังอยู่ในสมองของนักลงทุน เพราะแผนคือหัวใจของการลงทุน

            5. เกียจคร้าน คนไทยชอบงานง่ายหน่ายงานยาก อยากหาทางลัด รักสบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายในชีวิตการลงทุน คนรุ่นใหม่จำนวนมากเข้ามาเล่นหุ้น เพราะเป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนจะทำเงินง่าย ๆ ร ไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย นอกจากเปิดจอคอมมากดซื้อกดขาย คิดว่าตัวเองกำไรจากหุ้นเพราะว่าเก่งกว่าคนอื่น อันที่จริงการลงทุนเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความอดทนและวินัยสูงมากในการหาความรู้ในการลงทุน หาข้อมูล หาโอกาส คิดวิเคราะห์ รอคอยความสำเร็จ และความเกียจคร้านอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการลงทุน

            6. ไม่รู้แพ้รู้ชนะ การยอมรับความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นนักลงทุนจำนวนมากจะไม่ขายหุ้นที่ขาดทุน เพราะรู้สึกว่าเรา “แพ้” หรือ “ผิดพลาด” และหวังว่า วันพระจะไม่ได้มีหนเดียวสำหรับหุ้นตัวนั้น ๆ จุดสำคัญของการลงทุนคือการยอมรับความผิดพลาด เพราะการลงทุนเป็นกิจกรรมที่คุณอาจจะผิดบ่อยที่สุดแล้วในชีวิต แต่จำนวนครั้งที่ถูกไม่กี่ครั้ง ก็เปลี่ยนชีวิตคุณได้ ในทางกลับกันเราต้องรู้จัก “รู้ชนะ” ด้วย เพราะการลงทุนที่ไม่มีความสุข คือการลงทุนที่ไม่รู้จักพอ หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ชนะเสียที แม้จะกำไรเท่าไหร่คงจะไม่มีความสุข

            7. สอดรู้สอดเห็น คนไทยชอบเรื่องของผู้อื่น ไทยมุง ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ในสังคมออนไลน์ก็มีเรื่อง Drama แชร์กันอย่างมากมาย อันที่จริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราเอาความสอดรู้สอดเห็นไปใช้ในทางที่ดี เช่นการทำ Scuttlebutt หรือการเจาะลึกหุ้น การอ่านเรื่องราวที่หลากหลายช่วยให้บัฟเฟตต์เป็นมหาเศรษฐี ทำให้เราก้าวไปข้างหน้า แต่ถ้าเป็นการสอดรู้สอดเห็นในทางผิด ๆ เช่น ติดตามแต่เรื่องคนอื่น ติดตามข้อมูล Inside ว่า “เจ้า” กำลังเข้าตัวไหน นั่นจะเป็นหลุมพรางใหญ่ เป็นอุปสรรคสำคัญที่เหมือนสุภาษิตฝรั่งว่า Curiosity killed the cat หรือ ความสอดรู้สอดเห็นในเรื่องผิด ๆ ฆ่าแมว(นักลงทุน)มานักต่อนักแล้ว

สัญญาณจากเว็บบอร์ด / ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

   
 ในยุคที่คนจำนวนมากต่างก็เฝ้าหน้าจอและสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตกันวันละหลายชั่วโมง  เว็บบอร์ดยอดนิยมเกี่ยวกับหุ้นคือห้องสินธรในเว็บพันธ์ทิพจึงเป็นที่ที่อารมณ์ ความรู้สึก ความรู้  ความเข้าใจ และความสนใจของคนเกี่ยวกับหุ้นถูกแสดงออกผ่านกระทู้และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  หมดยุคของการพูดคุยตามงานปาร์ตี้หรือการคุยกับช่างตัดผมหรือคนขับแท็กซี่เพื่อตรวจสอบจิตวิทยาของคนเกี่ยวกับตลาดหุ้นอย่างที่ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดไว้ในหนังสือของเขา  เดี๋ยวนี้ถ้าอยากรู้หรือติดตามสถานการณ์ของสังคมในวงกว้างต่าง ๆ  เกี่ยวกับหุ้น  เราก็เข้าไปดูกระทู้และสิ่งที่เขาคุยกันในเว็บไซ้ต์เกี่ยวกับหุ้นที่มีมากมาย

เมื่อเร็ว ๆ  นี้ ผมได้พบกระทู้หนึ่งในเว็บสินธรที่น่าสนใจจึงอยากนำมาวิเคราะห์ดูว่ามัน  “ส่งสัญญาณ”  อะไรเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้  แต่ก็ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ตั้งใจที่จะดูแคลนคนที่ตั้งหรือตอบกระทู้ในทุก ๆ  ด้าน  ผมเพียงแต่ต้องการอธิบายข้อเท็จจริงและให้ข้อสังเกตว่าตอนนี้คนทั่ว ๆ ไป  นักลงทุนมือใหม่  หรือคนที่ไม่เชี่ยวชาญคิดอย่างไรเกี่ยวกับหุ้นและนั่นเป็น “สัญญาณ” อะไรที่เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกและนำมาใช้ในการพิจารณาเรื่องการลงทุนของเรา          หัวข้อกระทู้ก็คือ  “สอบถามเรื่องการลงทุน” และต่อไปนี้คือสิ่งที่มีการโพ้สต์ในกระทู้และข้อสังเกตของผม

“สวัสดีครับพี่ ๆ  นี้เป็นกระทู้แรกของผมครับ  ยังไงแนะนำด้วยครับ  ขอเล่ารายละเอียดครับ  ตัวผมอายุ 27 ครับ  อาชีพเชฟ อยู่ร้านอาหารเล็ก ๆ  ในกรุงเทพฯ เงินเดือนพอเลี้ยงครอบครัวได้ 22,000    ผมมีแผนการไว้ในอนาคตคือ  อีก 5-7 ปีข้างหน้า  จะเลิกทำอาชีพนี้และจะกลับไปอยู่กับภรรยาที่ศรีสะเกษ  แต่ก็กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในอนาคต  เพราะคิดจะสร้างครอบครัวมีลูก 2-3 คน  เลยสนใจอยากเล่นหุ้น  ขอแค่สามารถสร้างรายได้ต่อเดือน 40,000-50,000 ต่อเดือน  ผมต้องทำอย่างไรบ้าง  ต้องมีเงินลงทุนเท่าไร  ควรเริ่มต้นอย่างไรหรือมีที่ไหนที่สามารถสอนผมหรือแนะนำผมได้บ้าง  ถ้าเป็นไปได้สอนผมแบบลงมือทำไปด้วยกัน  จะดีมากเลยครับ

อาจจะเป็นคำถามของหลาย ๆ ท่านทำไมต้องเล่นหุ้นละ  ทำค้าขายก็ได้นี่  คือที่ผมไปสำรวจที่ศรีสะเกษ  ไม่มีแหล่งสร้างรายได้ที่จะได้ตามเป้าที่ผมต้องการ  และเราจะไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวถ้าทำค้าขาย  เพราะต้องวิ่งหาตลาดตลอดเวลา  ร้านของชำก็ไม่มีคนซื้อของเหมือนในกรุงเทพ  นี้คือเหตุผลของผมครับ ผมเองไม่ใช่คนฉลาดมากครับ แต่อยากสร้างครอบครัวที่ไม่ต้องวิ่งหาเงินไปตลอดจนไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว)  ยังไงรบกวนพี่ ๆ ด้วยนะครับ  แนะนำน้องคนนี้หน่อยครับ”

ความคิดเห็นที่ 1  “สามารถสร้างรายได้ต่อเดือน 40,000-50,000 ต่อเดือน”   “เอ่ออ  ต้องใช้ทุนกี่ล้านอ่ะคะ”

จขกท. “ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรอ่ะครับ  อยากรู้เช่นกัน  ก่อนจะได้ขนาดนั้นต้องเริ่มยังไง  ผมเองคงไม่มีทุนขนาดนั้น  เริ่มจากเล็ก ๆ  ไปหาใหญ่  ตามเป้าในอนาคต 40,000-50,000 ต่อเดือน  ต้องทำยังไง  เริ่มลงจากอะไรก่อนดี  เพราะเท่าที่เคยได้ยินข้อมูลมา  บางท่านเริ่มลงทุนจากแค่ 50,000 บาท  ไปจนปัจจุบันมีรายได้มากกว่าปีละ 10,000,000 บาท  ผมเองไม่มีโอกาสได้เจอคนที่เขาทำแบบนี้ได้  เลยมาถามจากพี่ ๆ นะครับ”

ความคิดเห็นที่ 2   “ต้องดูว่ามีเงินทุนอยู่ในมือเท่าไร  ถ้ามีซัก 9-10 ล้าน  ซื้อกองทุนหุ้นปันผลทิ้งไว้ไม่ต้องเฝ้าพอร์ตมาก  ไม่เครียด  เฉลี่ยปันผลปีละ 7-8% ก็พอได้ปีละ 6-7 แสนอยู่ แต่บางปีไม่ปันผลก็มี)  ทุน 5-6 ล้าน ลงทุนในหุ้นรายตัวที่พื้นฐานดี ๆ ซื้อมาขายไประหว่างปีบ้าง  กำไรตามตลาดซัก 10% ก็น่าจะพอหวังได้อยู่แต่ต้องศึกษาดี ๆ    ทุนต่ำกว่า 5 ล้าน อาจจะต้องมาเล่นหุ้นสายเทคนิค  เข้าเร็ว  ออกเร็วอาจจะมีโอกาสได้  แต่ก็มีโอกาสเสียมากเหมือนกัน..  แบบนี้อาจจะเครียดหน่อย”

ความคิดเห็นที่ 3  “มันยากอยู่นะครับ 40,000-50,000 ต่อเดือน  ทุนต้องหนาหน่อย  ที่สำคัญสามารถต้องถึงด้วย  ถ้าทุนพี่ 100,000 ทำกำไรได้เดือนละ 40,000-50,000 ก็เท่ากับกำไรประมาณ 50% (มันยากอยู่นะครับ)  ทำกำไรได้ 15-20% ต่อเดือนทุกเดือนก็เก่งแล้วครับ  พี่ลองซื้อหนังสือหุ้นสายเทคนิคมาศึกษาดูครับ  มีความรู้ให้เราเยอะเลย”

ความคิดเห็นที่ 4  “ถ้าต้องการ 50,000 บาทต่อเดือน = 600,000 บาท/ปี ถ้าลงทุนแบบไม่ต้อง active มาก  หวังจากเงินปันผลเป็นหลัก  คิดเฉลี่ยคร่าว ๆ = 5% ต่อปี ก็ควรมีเงินต้น 12 ล้านบาทครับ  ทั้งนี้คุณต้องมีความรู้ในการลงทุนระดับหนึ่งครับที่จะสามารถบริหารเงินต้นนี้ให้ได้ผลตามเป้าและไม่เสี่ยงเกินไป  โดยสรุป  คุณเริ่มต้นคิดมาถูกทางแล้ว  ต่อจากนี้ก็อยู่ที่การใฝ่หาความรู้เร่งเก็บเงินเพื่อ  “การลงทุนเพื่อชีวิต” ครับ  โชคดีครับผม”

ความคิดเห็นที่ 5  “ถ้าตั้งคำถามแบบนี้  ยังไม่ต้องรีบครับ  ทำงานเก็บเงินไปก่อน  ผมคำนวณให้คร่าว ๆ ก่อน  ห้าหมื่นบาทต่อเดือนก็ปีละ 6 แสน ถ้าเล่นแบบซื้อหุ้นปันผล  หาหุ้นที่ปันผลปีละ 5% (หักภาษีแล้ว)  คุณต้องมีต้นทุนเท่ากับ 600,000/.05 =  12 ล้านบาทครับ   ส่วนที่บอกว่าบางท่านเริ่มลงทุนจากแค่ 50,000 บาท ไปจนปัจจุบันมีรายได้มากกว่าปีละ 10,000,000 บาท อาจจะมีจริงแต่เป็นแค่ 1 ในล้านหรือหลายล้าน  แต่คนที่มีเงินเป็นล้านเหลือแค่หลักแสนหรือหลักหมื่นนั้นมีเยอะกว่ามากมายเพียงแต่ไม่ได้มาเล่าให้ใครฟังครับ  การตั้งคำถามแบบนี้เหมือนถามว่าล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ขายอยู่แผงไหนครับ  ผมจะไปซื้อ  ประมาณนั้นครับ”

จขกท. “555  จากคำตอบพวกพี่ผม  ผมนี้น้ำตาไหลเลย  แต่ชีวิตมันต้องมีทางออก  เท่าที่พูดมา  ถ้าผมต้นทุนน้อย  ควรเริ่มต้นจากการเล่นหุ้นด้านเทคนิคก่อน  ค่อยไปด้านการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 5% (หักภาษีแล้ว) แบบไม่ต้องเฝ้า  ขอบคุณครับ  อย่างน้อยทำให้ผมเห็นทางที่จะวิ่งต่อ  ตอนแรกมืดสนิท  งั้นผมควรซื้อหนังสืออันไหนมาศึกษาดีครับ”

ความคิดเห็นที่ 6  “ทำงานแบ่งเงินมาลงทุนในหุ้นปันผลไปเรื่อย ๆ จนมีเงินลงทุน 15 ล้านบาท  แค่นี้เอง  ไม่ยาก ๆ”

ข้อสังเกตของผมจากกระทู้นี้ก็คือ  หนึ่ง ช่วงนี้หุ้นคงเป็น “ฟองสบู่” อยู่บ้าง  เพราะคนที่มีอาชีพเป็นเชฟและไม่ได้มีเงินมากสนใจลงทุนในหุ้นและมองว่าหุ้นเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ที่อาจจะสามารถทำให้เราร่ำรวยได้โดยไม่ต้องทำอะไรเหนื่อยยากโดยที่เราอาจจะไม่ต้องมีเงินลงทุนมาก  สอง  อาจจะมีคนไม่น้อยที่คิดว่าเราสามารถทำผลตอบแทนจากหุ้นได้เดือนละ 15-20% ถ้าเราเก่งพอสมควรในด้านการซื้อขายหุ้นแบบเทคนิคแต่ถ้าเก่งมากก็อาจจะได้เดือนละ 50%   นี่ก็เป็นสัญญาณฟองสบู่เหมือนกัน  สาม  น่าจะมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่า  ช่วงที่มีเงินน้อย ๆ และต้องเร่งสร้างพอร์ตนั้น  จะต้องเล่นแบบเทคนิค  หลังจากมีเงินมากแล้วค่อยลงทุนแบบกินปันผลแบบสบาย ๆ  ไม่เครียด  และสุดท้ายก็คือ  “นิยาย” ของเซียนหุ้นที่ร่ำรวย  “จากหมื่นเป็นร้อยล้าน”  จากหุ้นภายในไม่กี่ปีนั้น  สามารถสร้างฝันให้กับนักลงทุนเสมอ  และก็เช่นเดียวกัน  นิยายแบบนี้มักแพร่หลายในช่วงฟองสบู่หุ้น

Monday, May 25, 2015

บริษัทมหาอำนาจ / คนขายของ

 

   ถ้าพูดกันถึงประเทศระดับมหาอำนาจของโลก หลายท่านคงนึกถึง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน รัสเซีย เป็นต้น เหตุผลหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้เป็นมหาอำนาจเพราะว่าสามารถต่อรอง เรียกร้อง ให้ประเทศที่มี ขนาดเล็กกว่ายอมทำตามสิ่งที่ต้องการได้เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีแสนยานุภาพทางทหารมีอำนาจ ต่อรองทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า  แต่ถ้าเรามาพูดถึงบริษัทที่เป็นมหาอำนาจบ้าง เราจะนึกบริษัทอะไร กันบ้าง? และ บริษัทเหล่านี้จะมีลักษณะอย่างไร มีจุดไหนที่จะพอเป็นที่สังเกตุได้บ้างว่าบริษัทไหน เป็นบริษัท “มหาอำนาจ”?

  อำนาจอย่างหนึ่งที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นประเด็นหลักในการเลือกหุ้นที่ Warren Buffett จะเลือกลงทุนคือ “อำนาจในการกำหนดราคา” (Pricing Power) บริษัทที่มีอำนาจในด้านนี้สูงโดยมากจะสามารถ ผลักดันต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ลูกค้าได้ จึงทำให้กำไรสุทธิของบริษัทไม่แกว่งไปแกว่งมาเหมือนบางบริษัท ที่ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ด้วยตัวเอง เราจะเห็นได้ว่าบริษัทขายสินค้าประเภทสินค้าโภคภัณฑ์นั้น มีการแกว่งตัวของกำไรสุทธิอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะว่าราคาขายสินค้าต้องอิงกับราคาตลาดโลก ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ด้วยตัวเอง ดังเช่น อัตรากำไรสุทธิของบริษัท Exxon Mobil ในช่วง สิบปีที่ผ่านมามีอัตราต่ำสุดที่ 6.2% และ ทำจุดสูงสุดที่ 10 .7% แต่ของบริษัทค้าปลีกอย่าง Walmart นั้นอยู่ในช่วงที่แคบกว่ามากคือ 3.24% - 3.88% ดังนั้นหากพูดกันถึงเรื่องการประเมินกำไรในอนาคต นักลงทุนสามารถทำการประเมินกำไรของบริษัทที่มี Pricing Power สูงๆได้ง่ายกว่า

  อำนาจอย่างที่สองคือ อำนาจต่อรองกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ บริษัทที่มีอำนาจด้านนี้สูงๆ สามารถได้ เครดิตจากซัพพลายเออร์เป็นระยะเวลายาวนานกว่าระยะเวลาเก็บเงินจากลูกค้า จึงสามารถนำเงินที่ได้ จากลูกค้ามาหมุนเวียนใช้ในธุรกิจได้ก่อน เป็นผลให้การใช้หนี้สินระยะสั้นในการดำเนินงานน้อย สร้างความสามารถในการแข่งขันได้เหนือคู่แข่ง เป็นผลให้อัตรากำไรสุทธิดีกว่า อย่างเช่นผู้ผลิต กระเบื้องรายหนึ่งของไทย มีระยะเก็บหนี้เพียง 5 วัน และ ระยะชำระหนี้ 49 วันต่างกันถึง 44 วัน บริษัทนี้สามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 17% แต่อีกบริษัทหนึ่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน มีระยะเก็บหนี้ 50 วัน แต่ระยะชำระเจ้าหนี้กลับเร็วกว่า คือ 43 วัน บริษัทนี้ทำกำไรสุทธิได้แค่ 0.4% ในปีที่ผ่านมา

  อำนาจอย่างที่สามคือ อำนาจชี้นำเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม บริษัทพวกนี้โดยส่วนมากจะเป็นผู้นำ ในตลาดสินค้านั้นๆ มีส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างมากทำให้เข้าถึงการประหยัดต่อขนาด Economies of Scale) ที่สูงกว่า ทำให้สามารถบีบบังคับคู่แข่งรายอื่นได้ สมัยเมื่อประมาณสามสิบปีก่อน SONY ออกเครื่องเล่นวีดีโอระบบ Betamax ซึ่งใช้ม้วนเทปขนาดเล็ก และเป็นเทคโนโลยีของ SONY เองแต่ Matsushita เจ้าของแบรนด์ “National” และ JVS ไม่ยอมรับในเทคโนโลยีนี้ จนทำให้ระบบ Betamax ของ SONY ต้องพ่ายแพ้แก่ระบบ VHS จนทำให้ SONY เสียส่วนแบ่งการตลาดในที่สุด

  เป็นที่รู้กันดีว่า ปตท. เป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดของไทย โดยมีมวลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมองออกไปในตลาดโลก เป็นที่น่าแปลกใจมากที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องหนังหรูหราอย่างบริษัท “HERMES” ของฝรั่งเศสนั้นกลับมีมูลค่ากิจการที่สูงกว่าบริษัทปิโตเลียมที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิต ที่ซับซ้อนอย่าง ปตท ณ ปัจจุบัน HERMES มีมูลค่ากิจการถึง 1.2 ล้านล้านบาท ทั้งๆที่บริษัทมี รายได้แค่  140,000 ล้าน และ กำไร 29,000 ล้านบาท แต่ ปตท มีรายได้รวมเกือบ 3 ล้านล้าน และ กำไรราว 56,000 ล้านบาท อาจจะเป็นไปได้ไหมครับว่านักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อในพลังอำนาจที่ HERMES มี เพราะกระเป๋าของ HERMES นั้นเป็นที่รู้กันว่าแพงขึ้นทุกปีไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจ จะเป็นอย่างไร แต่ราคาน้ำมันนั้น แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการยังไม่สามารถทำนายถึงราคาน้ำมัน ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ

Q&A เปลี่ยนชีวิต / วีระพงษ์ ธัม


    ทุกต้นเดือนพค. กิจกรรมที่ผมชอบที่สุดคือนั่งไล่อ่าน Q&A ของประชุมผู้ถือหุ้นที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียน โดยอ่านผ่านหลาย ๆ สื่อ เช่นรายงานการประชุม ข่าวหนังสือพิมพ์ Blog หรือ Webboard ของ Thaivi.org หนึ่งในบริษัทที่ผมไม่พลาดเลยคือ Q&A ของบริษัท Berkshire Hathaway เพราะผู้ตอบคำถาม คือที่สุดต้นแบบนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ และชาร์ลี มังเกอร์ ผมขอรวบรวมคำถามและขอสรุปเนื้อหาที่ผมชอบในปีนี้ ดังนี้ครับ

            Q: อยากให้แชร์ไอเดียว่า 5 องค์ประกอบสำคัญของบริษัทที่คุณซื้อแล้วสามารถถือได้นาน 10 ปี

            Munger: มันไม่เคยมีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้ตลอด ทุก ๆ บริษัทแตกต่างกันเสมอ ๆ แต่สิ่งที่เราทำคือการเรียนรู้ประสบการณ์จากอดีต

            Buffett: ผมไม่มี 5 องค์ประกอบอะไรแบบนั้น แต่ผมชอบบริษัทที่ผมพอจะมีไอเดียและเหตุผลเพียงพอว่าบริษัทจะเป็นอย่างไรใน 5 ปีข้างหน้า คำถามที่สำคัญของผมคือ ผมอยากจะเป็นหุ้นส่วนกับผู้บริหารของบริษัทรึเปล่า และสามารถพึ่งพาในการตัดสินใจหรือพฤติกรรมของพวกเขาในอนาคตได้หรือไม่ แค่คำถามนี้ผมก็ตัดตัวเลือกออกไปได้จำนวนมาก

            Q: อะไรที่คุณจะแนะนำจากความสำเร็จ 50 ปีของ Berkshire ที่ช่วยสร้างธุรกิจที่จะยั่งยืนได้

            Munger: ชื่อเสียงคือสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องสร้างและรักษามันเอาไว้ นั่นคือส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญกว่าคือการที่มีนิสัยที่ดีขึ้นเมื่อคุณอายุมากขึ้น มังเกอร์บอกว่าผมพยายามจะมีนิสัยที่ดีขึ้นเมื่อผมร่ำรวยขึ้น หลักการเก่า ๆ ที่ใช้มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ยังคงใช้ได้เสมอ

            Buffett: ใช่ เมื่อคุณแก่ตัวลง คุณจะมีชื่อเสียงเท่ากับที่คุณมีคุณค่าคู่ควรกับมัน คุณหลอกคนอื่นได้ไม่นาน และมันเป็นเรื่องเดียวกันกับชื่อเสียงของบริษัท และชื่อเสียงที่ดีคือสิ่งที่ช่วย Berkshire มาตลอด

            Q: คุณคิดว่าหลักการ Value Investing (VI) สามารถใช้ได้ที่อื่นในโลกหรือไม่

            Buffett: หลักการของ VI ไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะที่ไหน หรือเมื่อไหร่ หลักการของผมคือ หุ้นคือธุรกิจ ความผันผวนเป็นเพื่อนชั้นดีของนักลงทุน และลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่เข้าใจซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างในการแข่งขันได้ ถ้าคุณเพิ่งเริ่มลงทุน คุณแค่ประเมินมูลค่า ซื้อในเวลาที่มันยังถูกมาก และขายในตอนที่มันแพง มันเป็นเกมที่ไม่ยากเลย ถ้าคุณสามารถควบคุมอารมณ์ได้

            Q: คุณทำอย่างไรถึงจะมีเพื่อนจำนวนมาก และทำยังไงให้เค้าชอบที่จะอยู่กับคุณและทำงานกับคุณ

            Buffett: ผมเคยเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องนี้มาก่อน แต่ผมเริ่มเรียนรู้จากอาจารย์หลายคนในชีวิต และเลือกทำตามในสิ่งที่ผมนับถือในตัวอาจารย์เหล่านั้น สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำคือ ลองเขียนสี่นิสัยที่คุณชอบเกี่ยวกับเพื่อนในชั้นเรียน และสี่นิสัยที่คุณไม่ชอบ หลังจากนั้นก็พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง

            Q: ถามถึงมุมมองเกี่ยวกับการกุศล

            Buffett: ผมสัญญาจะบริจาคเงินส่วนตัว 99% ของเงินที่ผมมีอยู่ และไม่คิดว่ามันจะเป็นอะไรที่ยากลำบาก เพราะ 1% ที่เหลือก็มากเกินพอที่ผมจะใช้มัน ผมสามารถซื้อทุกอย่างและผมก็ไม่ได้อยากได้อะไรมากไปกว่าที่ผมมีอยู่ ผมมีชีวิตที่เรียบง่าย และโชคดีที่ผมรู้ว่าอะไรที่ผมชอบอะไรที่ไม่ชอบ ส่วน 99% นั้นก็จะส่งมอบไปสู่คนที่มีความจำเป็นในเงินก้อนนี้มากกว่าผม

            Q: คุณทำอย่างไรถึงสามารถเริ่มลงทุนจากพอร์ตขนาดเล็ก ๆ และเปลี่ยนชีวิตได้?

            Buffett: ผมมีครูที่ดี มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างล้นเหลือ และมีความสามารถการควบคุมอารมณ์ได้ดี ที่สำคัญคือผมสนุกกับมันตั้งแต่ผมอายุ 9 ขวบ และยิ่งสนุกกับมันเมื่อผมได้หลักการลงทุนที่ถูกต้องจากหนังสือ The Intelligent Investor ตอนที่ผมอายุ 19 อันที่จริงการลงทุนไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเลย

            Munger: การลงทุนเป็นเกมที่ง่ายสำหรับคนที่สามารถจัดการกับมันได้อย่างถูกต้อง แต่ท้ายที่สุดผมไม่อยากเป็นตัวอย่างหรือเป็นไอดอลของคนที่ลงทุนสำเร็จและร่ำรวยมหาศาล ผมคิดว่ามันไม่เพียงพอสำหรับชีวิต ๆ หนึ่ง คุณค่าของการลงทุนไม่ใช่แค่หาหุ้นไปวัน ๆ เพื่อความมั่งคั่งในชีวิต แต่เพื่อความหมายอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น

Monday, May 18, 2015

ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต



    ถ้าจะถามว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ VI จำนวนมากที่เราเห็นอยู่ในวันนี้มาจากอะไร  คำตอบผมคงเป็นว่า  พวกเขาหรือพวกเราถ้ารวมผมเข้าไปด้วยก็คือ  เราเริ่มการลงทุนอย่างจริงจังและเป็นการลงทุน  “เพื่อชีวิต”  อย่างเต็มตัวในช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของตลาดหุ้นไทย  นั่นก็คือ  เราเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงหลังปี 2540 ที่เป็นปีวิกฤติครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย  หลังปี 2540 เฉพาะอย่างยิ่งประมาณปี 2542-2543 นั้น  เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคง  GDP ของไทยเริ่มเติบโตประมาณ 4-5%  ต่อปีและรักษาระดับนั้นต่อไปได้ยาวนาน  อานิสงค์ส่วนหนึ่งที่สำคัญจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมากประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานก่อนหน้านั้นและในเวลาต่อมา  ทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ  อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมาอย่าง  “มโหฬาร” เหลือเพียงไม่เกิน 2-3% ต่อปีต่อเนื่องกันมานับสิบปี  นี่ทำให้การบริโภคของคนไทยเติบโตขึ้นมากเพราะคนไทยสามารถกู้เงินได้ง่ายและมากเพื่อการใช้จ่ายส่งผลให้การผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเติบโตเร็วขึ้นทวีคูณ

ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น  มีการปรับโครงสร้างหนี้และลดระดับการกู้เงินลงไปมากทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นมาก  สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนจาก 4-5 เท่าลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือระดับที่ปลอดภัยส่วนใหญ่น่าจะไม่เกิน 1 เท่าตัว    เช่นเดียวกัน  ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่อิงอยู่กับผู้บริโภคก็เติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจในระดับน่าจะไม่ต่ำกว่าปีละ 6-7% ซึ่งก็ตามมาด้วยการจ่ายปันผลที่ดีที่ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในแต่ละปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% ต่อปี

ระดับราคาและความถูกความแพงของตลาดหุ้นในช่วงปี 2542-43 วัดโดยค่า PE และค่าอื่น ๆ  นั้นส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่า 10 เท่า  บางปีนั้นต่ำเหลือเพียง 7-8 เท่าและก็มีบ้างที่เกิน 10 เท่าแต่ก็ไม่สูงถึง 20 เท่า  แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ  หุ้นจำนวนมากและไม่ได้เป็นหุ้นหรือกลุ่ม  “ยอดนิยม” ของสถาบันนั้น  มีราคาที่ถูกมีค่า PE ที่ต่ำกว่า 10 เท่าทั้ง ๆ  ที่มีการเติบโตของรายได้หรือกำไรเท่า ๆ  กับหรือสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ๆ ที่มีสภาพคล่องสูง  และนั่นนำมาซึ่งการลงทุนของนักลงทุน  “VI รุ่นแรก”  ที่เข้ามาลงทุนโดยใช้หลักการของ เบน เกรแฮม ที่เน้นศึกษาข้อมูลพื้นฐานอย่างจริงจังและซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก  ถ้าจะเปรียบเทียบกับความคิดของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เคยพูดไว้ในปี 1974 ก็คือ  “ผมรู้สึกเหมือนคนที่กำลังกลัดมันในฮาเรม  นี่คือเวลาที่จะเริ่มลงทุน”

ก็อย่างที่เห็น  เวลาสิบกว่าปีนับจากปี 2542-2543  จนถึงวันนี้  ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจประมาณ 7- 8 เท่าตัว ตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยแบบทบต้นประมาณ 15-16% ต่อปี กลายเป็นยุคทองของการลงทุนในตลาดหุ้น  แต่สิ่งที่ “มหัศจรรย์”  จริง ๆ อยู่ที่นักลงทุน VI จำนวนมากที่สามารถเลือกและซื้อขายหุ้นรายตัวทำกำไรและผลตอบแทนสูงจนไม่น่าเชื่อ  บางคนได้กำไรเป็น 100เท่าตัว  ผลตอบแทนทบต้นต่อปีเกิน 20-30% เป็นระยะเวลายาวนานกว่าสิบปี  นักลงทุนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเศรษฐีทั้ง ๆ ที่มีเงินลงทุนส่วนตัวไม่มาก  หลายคนที่มีเงินเริ่มต้นสูงกลายเป็นมหาเศรษฐี  “หุ้น VI” ที่ครั้งหนึ่งเป็นหุ้นมีราคาถูกมากนั้น  ส่วนใหญ่กลายเป็นหุ้นมีราคาแพงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ๆ มาก   หุ้นที่เคยเล็กบางตัวในวันนี้มีราคา  “หลุดโลก” คนที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นในวันนี้ไม่น่าที่จะสามารถสร้างผลกำไรที่งดงามอย่าง VI รุ่นก่อน  ผมคิดว่าเราไม่สามารถลงทุนหุ้นเพื่อ “เปลี่ยนชีวิต”  ได้ง่ายเหมือนเมื่อ 5 10 หรือ 15 ปีที่ผ่านมาในตลาดหุ้นไทย ความรู้สึกของผมในเวลานี้ก็คงคล้ายที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดในปี 1973 ว่า   “ผมรู้สึกเหมือนคนกลัดมันในทะเลทราย  ผมไม่สามารถหาหุ้นอะไรที่จะซื้อได้เลย”

ถ้าจะมีที่ไหนที่จะเป็นโอกาสในการลงทุนคล้าย ๆ  ตลาดหุ้นไทยในปี 2542-2543 ผมคิดว่าตลาดหุ้นเวียตนามเป็นจุดหนึ่ง  ผมเองได้เขียนบทความเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับประเทศเวียตนามว่าจะเป็น  “The Next Thailand”  ในแง่ของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ  เวียตนามในวันนี้ก็คือไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และกำลังฟื้นตัว  นั่นก็คือเศรษฐกิจเวียตนามกำลังโตเร็วมาก  การโตนี้ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่โตเร็วขึ้นมากอานิสงค์จากการลดค่าเงินด่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาและการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเกาหลีและไต้หวันเช่นเดียวกับในกรณีของไทย    การบริโภคในประเทศเองผมก็คิดว่าน่าจะโตได้ดีเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ลดลงมากและรายได้ที่มากขึ้นของคนเวียตนาม  นอกจากนั้น ผมคิดว่าในไม่ช้าระบบการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านและรถยนต์ที่ยังมีน้อยมากก็จะพัฒนาขึ้นซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคเติบโตขึ้นทวีคูณ  การเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของเวียตนามนั้นจะต่อเนื่องยาวนานไปอีกหลายสิบปีเหมือนไทยในปี 2542-43

ตลาดหุ้นเวียตนามโดยรวมในวันนี้เองนั้นก็คล้าย ๆ ตลาดหุ้นไทยหลังปี 2540  ประการแรก  หุ้นเวียตนามเพิ่งเผชิญ “วิกฤติ” และตกลงมาครึ่งหนึ่ง  ดัชนีเวียตนามเมื่อ 7-8 ปีก่อนสูงถึง 1170 จุด ปัจจุบันแค่ประมาณ 550 จุด  สอง ระดับ PE ของตลาดเวียตนามนั้นค่อนข้างต่ำ  น่าจะประมาณไม่เกิน 10-15 เท่า  แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ  ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นที่นิยมของสถาบันต่างประเทศจำนวนประมาณ 10-20 ตัว มีค่า PE คล้าย ๆ หุ้นขนาดใหญ่ของไทยที่มีค่า PE 10-20 เท่า  หุ้นขนาดเล็กจำนวนมากกลับมีค่าไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ต่ำกว่า 1 เท่าและมีปันผลต่อราคาหุ้นกว่า 5% บางตัวสูงถึง 10% โดยที่ภาพรวมของการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้น  ผมคิดว่าสูงกว่าของไทยในช่วงปี 2542-43  เนื่องจากเศรษฐกิจของเวียตนามต่อจากนี้น่าจะโตได้ถึงปีละ 6-7% ในขณะที่หลังวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตปีละประมาณ 5%

จุดอ่อนของเวียตนามก็คือ  ค่าเงินเวียตนามอาจจะตกลงทำให้เราขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวถ้าเศรษฐกิจเวียตนามดีขึ้นเรื่อย ๆ  ค่าเงินก็อาจจะไม่อ่อนลงหรือกลับแข็งขึ้น  จุดอ่อนข้อที่สองก็คือ  เรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทและกฎระเบียบของเวียตนามที่ยังอ่อนเมื่อเทียบกับของไทย  แต่นี่ก็น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อเวียตนามเปิดประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จุดอ่อนข้อสามอยู่ที่คุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนที่คุณภาพยังไม่ดีนักเนื่องจากระบบเศรษฐกิจของเวียตนามยังไม่เป็นเสรีร้อยเปอร์เซ็นต์  ทำให้การแข่งขันไม่รุนแรงพอ  ดูเหมือนว่าบริษัทที่ “ไม่พัฒนาพอ” ก็ยังอยู่ได้ในขณะที่บริษัทที่ “ชนะ” ก็ไม่ได้ “กินรวบ” และเติบโตโดดเด่นจนมีมูลค่าตลาดมาก ๆ   เหนือสิ่งอื่นใด  บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดยังเป็นรัฐวิสาหกิจ  ดังนั้น  คุณภาพของกิจการจึงอาจจะไม่โดดเด่นเหมือนในไทย  จุดอ่อนข้อสี่ก็คือ  หุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดีและสภาพคล่องในการซื้อขายสูงรวมทั้งราคาไม่แพงนั้น  มักจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศเต็ม 49%) ถ้าต้องการซื้อเรามักจะต้องซื้อจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศที่ราคาสูงกว่ากระดานปกติ 20-30% และจุดอ่อนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การหาข้อมูลและการเยี่ยมบริษัทและพบปะผู้บริหารทำได้ยาก  ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์กิจการได้ง่ายเหมือนตลาดไทย

ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดต่าง ๆ  ดังกล่าว  การลงทุนในเวียตนาม  “รอบแรก” เมื่อเกือบหนึ่งปีมาแล้วของผมจึงเป็นการซื้อหุ้นกระจายจำนวนมากกว่า 50 บริษัทโดยใช้ “ตะแกรงร่อน”  แบบ VI คือในด้านของราคา  ผมเลือกหุ้นที่มีค่า PE PB ต่ำ และปันผลตอบแทนสูง   ส่วนในด้านของคุณภาพ  ผมเลือกหุ้นที่มี ROE หรือ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง  ใน “รอบสอง” ที่ผมกำลังคิดจะซื้อหุ้นเพิ่มหลังจากการเยี่ยมเยียนเวียตนามครั้งที่สอง  ผมคงเจาะหาหุ้นเป็นรายตัวและซื้อในปริมาณเม็ดเงินที่มากขึ้น  ผมเองหวังว่า  การลงทุนในเวียตนามช่วงนี้จะเหมือนกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2540 นั่นคือ  วันหนึ่งมันจะเติบโตขึ้นมากและ  “เปลี่ยนชีวิต” เราอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอีกซัก 10-20 ปี

Sunday, May 10, 2015

จิตวิทยาของคนเล่นหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


 แม้ว่า Value Investor ผู้มุ่งมั่นส่วนใหญ่อาจจะบอกว่าตนเองไม่ใคร่สนใจภาวะตลาดหลักทรัพย์มากนักเพราะว่าเขา  “ลงทุนหุ้นเป็นรายตัว”  ไม่ได้ลงทุนในดัชนีหุ้น  แต่การดูภาวะตลาดหุ้นว่ามันน่าจะแพงหรือถูกก็ไม่ได้เสียอะไร  แต่ข้อดีก็คือ  อย่างน้อยมันอาจจะช่วยเตือนให้เราระมัดระวังมากขึ้นในยามที่คน  “กำลังโลภ”  หรือกล้ามากขึ้นในยามที่คน  “กำลังกลัว”  อย่างที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดไว้

    วิธีที่จะดูว่าภาวะตลาดหุ้นอยู่ในช่วงไหนนั้น  นอกจากการดูตัวเลขดัชนีหุ้นหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น  ค่า P/E  P/B  Dividend Yield หรือเครื่องชี้อย่างอื่นเช่น จำนวนของหุ้น IPO และราคาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก ๆ  แล้ว  อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเห็น “ภาพใหญ่” ก็คือ  การวิเคราะห์เรื่องของ  “จิตวิทยา”  ของคนเล่นหุ้น   เพราะจิตวิทยาหรือความคิดของคนแต่ละคนจะสะท้อนไปถึงหรือเป็นตัวกำหนดการซื้อหรือขายหุ้นของเขา  และเมื่อรวมเอาความคิดของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  มันก็จะสะท้อนไปถึงหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  ซึ่งในที่สุดก็สะท้อนไปที่ดัชนีตลาด  พูดแบบรวม ๆ  ก็คือ  ถ้าคนมองโลกในแง่ดีกับหุ้น  ราคาหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นไป  ตรงกันข้าม  ถ้าคนมองโลกในแง่ร้าย  หุ้นก็จะปรับตัวลงมา  ประเด็นก็คือ  มองโลกในแง่ดีแค่ไหน?  หรือมองโลกในแง่ร้ายแค่ไหน? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนส่วนใหญ่มองโลกไปในแง่ไหน?

    ก่อนที่เราจะพูดถึงว่าคนมองโลกในแง่ไหนนั้น  สิ่งที่จะต้องกำหนดก่อนก็คือ  ระดับของ  “จิตวิทยาสังคม”  ที่นักวิชาการได้กำหนดไว้เป็นขั้น ๆ  เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 นั่นก็คือ  สิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  Optimism หรือคนเริ่มมีความหวังหรือ  “มองโลกในแง่ดี”  และถ้าคนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี  สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  พวกเขาจะอยากลงทุนซื้อหุ้นเพราะมองว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น  บริษัทจดทะเบียนจะขายสินค้าได้มากขึ้นและมีผลกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถจ่ายปันผลได้สูงขึ้นหรือสูงกว่าการลงทุนอย่างอื่นที่มีอยู่เช่นการฝากเงิน  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็จะทยอยปรับตัวขึ้น  อาจจะถึง 10%

    ขั้นที่สองของจิตวิทยาสังคมก็คือ  Excitement หรือนักเล่นหุ้นจะเริ่มรู้สึก  “ตื่นเต้น” หลังจากที่หุ้นที่พวกเขาถือและดัชนีหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นมาถึงระดับหนึ่งที่ก็ยังไม่สูงมากจากจุดเริ่มต้น  คนที่ทำกำไรได้แล้วก็อาจจะเริ่มลงทุนเพิ่ม  นักเล่นหุ้นที่เคยเล่นและเลิกไปแล้วก็อาจจะเริ่มกลับเข้าตลาด  เม็ดเงินที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มก็จะผลักดันให้หุ้นและดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นไปอีก  ดัชนีหุ้นในช่วงนี้อาจจะขึ้นไปแล้วถึง 20%

    ขั้นที่สามคือ Thrill หรือที่เรียกว่าขั้น  “เร้าใจ”  ถึงจุดนี้  คนที่เข้ามาตั้งแต่แรกก็เริ่มทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากการเล่นหุ้นและได้ประกาศหรือบอกต่อกับคนที่รู้จัก  หลายคนก็เริ่มเขียนหนังสือหรือแนะนำวิธีการลงทุนที่จะทำกำไรได้มหาศาลในเวลาอันสั้นผ่านสื่อต่าง ๆ  อัจฉริยะหรือเซียนหุ้นเริ่มปรากฏตัวขึ้น  การลงทุนในตลาดหุ้นกลายเป็นกิจกรรมที่ดีและทำเงินได้ดีกว่าการทำงานหรือลงทุนอย่างอื่น  คนที่ไม่เคยสนใจหุ้นแต่มีเงินก็เริ่มเข้ามาซื้อขายหุ้น  การลงทุนดูเหมือนจะง่ายและทำเงินได้ดี  เม็ดเงินที่เข้ามาดันดัชนีหุ้นให้ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว  หุ้นอาจจะขึ้นไปแล้ว 40%

    ขั้นที่สี่คือ Euphoria หรือขั้น  “เคลิบเคลิ้ม”  นี่คือช่วงที่หุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึงจุดสุดยอด  คนจำนวนมากคิดว่าหุ้นนั้นสามารถให้ผลตอบแทนได้มหาศาลในเวลาอันสั้น  หุ้นเกือบทุกตัวที่เป็น IPO ต่างก็ปรับตัวขึ้นไปมหาศาลตั้งแต่วันเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก  หุ้นตัวเล็กตัวน้อยนั้น  ถ้ามีขาใหญ่หรือเซียนหุ้นเข้ามาเล่นก็จะวิ่งขึ้นมโหฬารภายในเวลาอันสั้น  การขึ้นลงของราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับข่าวหรือการคาดการณ์อนาคตมากกว่าพื้นฐานในปัจจุบัน  นักเล่นหุ้นระยะสั้นที่อายุน้อยและประสบความสำเร็จกลายเป็น  “มหาเศรษฐี”  จากเงินเริ่มต้นเพียงน้อยนิดปรากฏตัวขึ้นเป็นว่าเล่นกลายเป็น  “ไอดอล” ของคนจำนวนมาก  และนี่ก็ดึงดูดนักเล่นหุ้นหน้าใหม่ที่ไม่มีทั้งประสบการณ์และเงินแต่มี “ความฝัน”  ว่าจะรวยได้อย่างรวดเร็ว  เข้ามาในตลาดหุ้น  คนเลิกคิดว่าหุ้นนั้น  “มีความเสี่ยงสูง”  ช่วงนี้หุ้นอาจจะขึ้นมาจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 50% ถึงกว่า 100% แล้ว  และเริ่มจะตกลงเมื่อทุกคนที่สนใจเล่นหุ้นต่างก็อยู่ในตลาดหมดแล้ว

    ขั้นที่ห้านั้นเป็นช่วง “ขาลง”  ของตลาดหุ้นที่เรียกว่า Anxiety หรือช่วง “กังวล”  นี่คือช่วงที่นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เพิ่งเข้ามาในตลาดในช่วงที่ราคาหุ้นและดัชนีตลาดอยู่ในระดับสูงมาก  แทนที่จะกำไรง่าย ๆ เหมือนช่วงก่อนหน้านั้น  พวกเขากลับขาดทุนแม้จะไม่มากนัก  ราคาหรือดัชนีหุ้นตกลงมา  อาจจะแค่ 10%  นี่ทำให้เขากังวล  อย่างไรก็ตาม  นักวิเคราะห์และเซียนหุ้นต่างก็ปลอบใจว่านี่เป็นการปรับตัวเล็ก ๆ  น้อย ๆ  อนาคตหรือไตรมาศหน้าหุ้นก็จะปรับตัวขึ้น  ไม่มีอะไรน่าห่วง  บริษัทมีพื้นฐานที่ดี  เศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็จะดีขึ้นแน่นอน  เหนือสิ่งอื่นใด  หุ้นไม่ได้มีราคาแพงเทียบกับประเทศอื่นหรือเทียบกับการลงทุนอื่นหรือการฝากเงิน

    ขั้นที่หกก็คือ  Denial หรือ  “การปฏิเสธ”  นี่คือช่วงที่หุ้นตกลงมาอีก  อาจจะ 15-20% จากจุดสูงสุด  คนเล่นหุ้นต่างก็ไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจ ผลประกอบการ  หรือภาวะทางการเงินนั้นไม่เอื้ออำนวย  และหุ้นอาจจะตกลงมาเพื่อสะท้อนความเป็นจริง  คนที่ยังถือหุ้นอยู่ “ปฏิเสธที่จะขาย”  แม้ว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้น  พวกเขาเชื่อว่าหุ้นจะต้องกลับมา  แน่นอน  นักลงทุนจำนวนไม่น้อยได้ขายหุ้นไปแล้ว  พวกเขาอาจจะขาดทุนกำไรไปบ้าง  และนั่นทำให้หุ้นตก

    ขั้นที่เจ็ด  Fear หรือขั้น  “กลัว” นี่คือช่วงที่ราคาหุ้นตกลงไปมาก อาจจะ 20% ขึ้นไป  ข่าวเกี่ยวกับหุ้นและภาวะทางเศรษฐกิจการเงินและตลาดหุ้นน่ากลัว  คนที่ขาดทุนจากหุ้นมีมากมาย  ข่าวที่เกี่ยวกับหุ้นและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหายไปมาก  ข่าวคน “เจ๊ง” หุ้นเริ่มออกมาเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับ “ข่าวร้าย” ของบริษัทจดทะเบียน  สถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงขั้นที่แปดคือ Desperation หรือช่วง  “เข้าตาจน” หลายคนต้องเอาตัวรอดโดยอาจจะต้องขายหุ้นเท่าที่จะทำได้เพื่อรักษาเงินที่ยังเหลืออยู่และนั่นก็อาจจะทำให้หุ้นตกแรงจนถึงจุดที่แม้แต่หุ้นที่ดีก็ตกลงมามากราวกับว่ามันไม่มีค่า  ซึ่งนี่คือจิตวิทยาในขั้นที่ 9 ที่เรียกว่า  Panic หรือขั้น  “ขวัญผวา”  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นักลงทุนตกใจกลัวอย่างรุนแรงและเทขายหุ้นโดยที่ไม่ได้สนใจมูลค่าพื้นฐานที่ควรเป็น  จนถึงขั้นที่ 10 ของจิตวิทยาที่เรียกว่า Capitulation หรือการ  “ยอมแพ้” ซึ่งจะตามมาด้วยขั้นตอนต่ำที่สุดทางจิตวิทยาคือ Despondency หรือ การ  “สิ้นหวัง”  ซึ่ง ณ.  จุดนั้นก็จะกลายเป็น “โอกาสที่ยิ่งใหญ่” ของการลงทุน  เพราะมันเป็นจุดที่หุ้นตกลงมาต่ำสุด

    ขั้นตอนการฟื้นตัวของหุ้นและตลาดหุ้นจะเริ่มต้นที่ขั้น 12 คือช่วง Depression หรือช่วง  “หดหู่”  ช่วงที่ 13 ช่วง Hope หรือช่วงของ  “ความหวัง”  และช่วงที่ 14 คือ Relief หรือช่วง  “ผ่อนคลาย” ซึ่งจะตามมาด้วยช่วง ที่หนึ่งคือ Optimism หรือนักลงทุนกลับมามองโลกในแง่ดีอีกครั้งหนึ่ง

    ถ้าจะถามว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนี้จิตวิทยาของนักลงทุนอยู่ในช่วงไหน  คำตอบของผมคงอยู่ที่ช่วงระหว่าง 3ถึง 5 นั่นก็คือ  ระหว่างช่วงเร้าใจ เคลิบเคลิ้ม และกังวล ซึ่งถ้าอยู่ที่ช่วงเร้าใจ  นั่นแปลว่าหุ้นยังอาจจะขึ้นได้อยู่อีกหนึ่งช่วงสุดท้าย  ถ้าเป็นช่วงเคลิบเคลิ้ม ก็แปลว่ามันกำลังอยู่ในจุดที่สูงที่สุดแล้ว  และถ้าเป็นช่วงกังวล  นั่นก็หมายความว่าหุ้นได้ผ่านจุดสูงที่สุดไปแล้วและกำลังจะตกลงมาเป็น “ขาลง” อย่างต่อเนื่อง  ระยะเวลาของแต่ละช่วงนั้น  เป็นสิ่งที่บอกไม่ได้ว่านานเท่าใด  และทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการกำหนดและคาดการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน

อนาคตตลาดหุ้นไทย


ตลาดหุ้นไทยได้ครบรอบ 4 ทศวรรษในวันที่ 30 เมษายน 2558 ซึ่งต้องบอกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาพร้อม ๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน ผมอยากจะใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับตลาดหุ้นไทย ที่สร้างความมั่งคั่งให้ทั้งบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งระดมทุนที่มีคุณภาพ และช่วยยกระดับให้บริษัทจดทะเบียนไทยจำนวนมากก้าวขึ้นมาเป็นระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลกได้ และผมจะใช้เวลาสั้น ๆ เพื่อวิเคราะห์ภาพสิ่งที่เกิดขึ้นของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน และมุมมองสู่อนาคต

    ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมาได้ไกลแค่ไหน ผมจะลองยกสถิติต่าง ๆ มาเปรียบเทียบให้ดู จำนวนบริษัทจดทะเบียน ณ สิ้นปี 2014 มี 613 บริษัท มีมูลค่าตลาดหรือ Market Capitalization ราว 14 ล้านล้านบาท ตลาดหุ้นในภูมิภาคที่มีขนาดใกล้เคียงกับเราคือตลาดหุ้นของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้คือสิงค์โปร์ มีขนาดใหญ่กว่าเราราว 80% ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เล็กกว่าเราครึ่งนึง ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามมีขนาดแค่ 1 ใน 10 ของไทย ตลาดหุ้นอื่น ๆ ยังมีขนาดเล็กมาก หรือกำลังจัดตั้ง แต่อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นเรายังคงอยู่ในระดับกลาง ๆ คือไม่เล็กมากเกินไป แต่ก็ยังไม่ใช่ตลาดหุ้นที่มีบทบาทมากนักในเวทีโลก เรายังอยู่ในกลุ่มที่กึ่ง ๆ จะเป็น Emerging หรือ Frontier market ในสายตากองทุนใหญ่ ๆ ของโลกอยู่

    ถ้าเทียบสัดส่วน Market Capitalization เรามีสัดส่วนราว 2% ของตลาดเอเชีย และเป็นแค่ 0.6% ของโลก แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในอันดับ 24 ของทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก 65 แห่งที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchange เรียกได้ว่าแม้อันดับจะดูไม่ขี้เหร่ แต่ตลาดหุ้นใหญ่ ๆ มีส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ “สูงมาก” ถ้าเราอยากจะอยู่ในอันดับ Top 20 เราต้องมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันมากกว่า “เท่าตัว” สถิติที่น่าเหลือเชื่อคือตลาดหุ้น 20 แห่งแรก มีส่วนแบ่งถึง 95% ของตลาดหุ้นทั้งหมดของโลก ดูเหมือนตลาดหุ้นก็มีลักษณะ Winner takes all พอสมควร บริษัทใหญ่ ๆ นิยมเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ใหญ่กว่า เนื่องจากมีเม็ดเงินสะพัดกว่า

    เหตุผลนี้ทำให้ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นต่าง ๆ ในโลกมีลักษณะแย่งพื้นที่พอสมควร วิธีหนึ่งคือการควบรวมของตลาดเข้าด้วยกัน เช่น Euronext, London Stock Exchange, Japan Exchange Group เพื่อสร้างตลาดที่สามารถ “เรียกลูกค้า” ทั้งจากบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุน เช่นเดียวกับ AEC ที่กำลังรวมกลุ่มตลาดหุ้นในภูมิภาคจัดตั้ง ASEAN STARS ให้เป็นรูปธรรม ปัจจุบันตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่เป็น 5 อันดับของโลกคือ 1. NYSE (ก่อตั้งปี 1817) ในนิวยอร์ค 2. NASDAQ (ก่อตั้งปี 1971) ในนิวยอร์ค 3. London Stock Exchange (ก่อตั้งปี 1801) ในลอนดอน 4. Japan Exchange Group (ก่อตั้ง 2013 จากการควบรวมตลาด Tokyo และ Osaka) ในโตเกียว 5. Shanghai Stock Exchange (ก่อตั้งปี 1990) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสิ้น บ่งบอกความสำคัญของตลาดทุนต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างดี

    กลับมาที่ตลาดหุ้นในภูมิภาค AEC ตลาดหุ้นไทยมีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น อัตราเงินปันผลสูง มีระบบสนับสนุนนักลงทุนรายย่อย มีสภาพคล่องสูง และพักหลังบริษัทไทยที่เป็นลักษณะกิจการครอบครัวจำนวนมากนิยมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี สาเหตุหลักคงเห็นว่ากิจการที่เข้าตลาดจำนวนมากเติบโต และมีมูลค่ากิจการสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการแบ่งปันข้อมูลกับนักลงทุนซึ่งช่วยสอดส่องดูแล พัฒนาบริษัท เพราะนักลงทุนรุ่นใหม่ ๆ คิดว่าตัวเองเป็น “หุ้นส่วน” กับกิจการมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจากนั้นเรายังมีตลาดหุ้นรองอย่าง MAI ที่แม้ว่า Venture Capital ยังไม่เฟื่องฟูนัก แต่ MAI ก็ช่วยสนับสนุนการะดมทุนให้กับบริษัทขนาดกลางเล็กได้เป็นอย่างดี

    สำหรับผลตอบแทนสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นในรอบ 40 ปีผ่านมา คิดเป็นประมาณ 7% ต่อปี รวมเงินปันผลราว 3-4% ดังนั้นตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10% ต่อปี หรือถ้าเริ่มต้นลงทุน 1 ล้านบาทเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก็จะกลายเป็นเกือบ 50 ล้านบาท นี่คือเส้นทางที่คนธรรมดา สามารถมั่งคั่งได้ อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงตลาดหุ้นไม่เคยราบเรียบ นักลงทุนส่วนหนึ่งขาดทุนหนักจากความผันผวน แต่นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยความไม่ราบเรียบของตลาดหุ้นเป็นโอกาสชั้นดี เพราะตลาดทุนคือโอกาสของทุกคนที่ใช้มันเป็นครับ

Monday, May 4, 2015

หุ้นสามัญชน / คนขายของ


     สิ่งหนึ่งที่ Warren Buffett เน้นย้ำเรื่องการลงทุนคือให้ลงทุนในกิจการที่นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจ เป็นอย่างดี แม้ Buffett จะลงทุนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่นจนอายุย่าง 85 ปี จากพอร์ตเล็กๆ จนกลายมาเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก Buffett เองก็ยังยอมรับว่ามีกิจการบางอย่างที่ยากเกินไป สำหรับเขา กิิจการเหล่านี้เขาไม่เข้าใจในตัวธุรกิจดังนั้นเขาจึงหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในบริษัทเหล่านั้น เพราะมันเป็นการยากที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริง อุตสาหกรรมบางอย่างมีความยากในการประเมิน กำไรในอนาคต ทั้งนี้เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ หรือ ความรู้เฉพาะทาง ดังนั้นจึงเป็นการยาก สำหรับสามัญชนคนทั่วไปจะประเมินกำไรในอนาคตเพื่อหามูลค่าที่แท้จริงได้ โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า นักลงทุนโดยทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในกิจการที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  หนึ่ง กิจการที่มีราคาขายต่อหน่วยลดลงตลอด ขอยกตัวอย่างหนึ่งที่ผมคุ้นเคย เพราะเคยอยู่ในวงการ นี้มาก่อน คือกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่ใช้ตามบ้าน ซึ่งก็เหมือนกิจการ เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยทั่วไปซึ่งราคาต่อหน่วยเป็นขาลงตลอด สมัยเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ราคาเครื่อง ปรับอากาศขนาด 12,000 BTU ราคาราวๆ 30,000 บาท สมัยนี้เหลืออยู่ 12,000-18,000 บาท คือหายไปราวๆ 50% เมื่อราคาต่อหน่วยลดลง การที่จะได้กำไรเท่าเดิมนั้น หมายความว่าบริษัท ต้องขายให้ได้ปริมาณมากขึ้น หรือไม่ก็ต้องลดต้นทุนต่อหน่วยลง กิจการประเภทนี้จะอยู่นิ่งไม่ได้ บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทนี้ หากผู้บริหารไม่มีความชำนาญพอ พนักงานไม่ตื่นตัว มีโอกาส ที่จะล้มหายไปจากวงการสูง เครื่องปรับอากาศยังมีข้อดีที่เทคโนโลยีไม่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากเป็นพวก โทรศัพท์มือถือ เราจะเห็นได้เลยว่า ผู้ชนะเมื่อสิบยี่สิบปีที่แล้ว พอมาถึงยุคนี้แทบไม่มีใครรู้จัก

สอง กิจการที่ราคาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์มีความผันผวนสูง เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ ค่าระวาง เรือขนส่งสินค้าทางทะเล ผมยังจำได้ว่าในตอนต้นปี 2008 ราคาน้ำมันทะลุ 100 เหรียญต่อบาเรล ไปทำจุดสูงสุดราวๆ 140 เหรียญ ในตอนนั้นมีกูรูผู้เชี่ยวชาญบอกว่าน้ำมันจะไปถึง 200 เหรียญ แต่กลายเป็นว่าตอนต้นปี 2009 ราคาน้ำมันกลับอยู่ที่ 40 เหรียญ เราจะเห็นได้ว่า ถ้าเราลงทุนในหุ้น ที่ขายน้ำมันดิบ รายได้ในปี 2009 มีโอกาสที่จะลดลงมากกว่า 50% ซึ่งโดยมากการลดลงของกำไร ก็มักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้น แม้แต่คนที่อยู่ในวงการยาวนาน มีความชำนาญ เฉพาะทางสูงมาก ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ยิ่งถ้าเราเป็นนักลงทุนรายย่อยธรรมดา หากไปลงทุนในกิจการประเภทนี้ นับว่าเป็นการเสี่ยงอย่างมาก

  สาม กิจการที่มีคู่แข่งเกิดใหม่ในอัตราสูง Steve Jobs ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่น APPLE II ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในอเมริกาตอนช่วงปี 1977-1980 จนทำให้ในที่สุดยักษ์ใหญ่ IBM ตัดสินใจเข้ามาทำตลาด PC ในปี 1981 Compaq อดีตผู้ผลิต PC อีกบริษัทหนึ่งก็ถูกก่อตั้งในปี 1982 และ DELL เกิดขึ้นในปี 1984 และมีผู้ผลิต PC อีกมากมายเกิดขึ้นหลังจากนั้นจนทำให้ APPLE มีปัญหาในการทำกำไรและประสบภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรกในปี 1996 เมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่ง ขายดีมากๆ ย่อมเป็นเป้าหมายให้บริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมแข่งขัน ในช่วง “ตะลุมบอน” ยังไม่รู้ใครแพ้ใครชนะ นักลงทุนธรรมดาที่ไม่ได้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมนั้นๆคงยากที่จะมองออก ดังนั้นการคอยเฝ้าสังเกตุการณ์รอให้ฝุ่นจางก่อน คงเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าการด่วนตัดสินใจถือหางฝ่ายไหน

  แต่หากว่าเราเป็นนักลงทุนที่มีความชำนาญพิเศษในอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็ไม่ควรปล่อยองค์ความรู้ที่มีให้ เปล่าประโยชน์ ในช่วงที่ผ่านมาผมเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง พบว่ามีนักลงทุน ซึ่งเป็นผู้รับเหมาท่านหนึ่งให้ความสนใจลงทุนในบริษัทนี้เพราะเขารู้ถึงสภาวะความต้องการผลิตภัณฑ์ นั้นๆเป็นอย่างดี เรียกได้ว่ามี “ความได้เปรียบในการแข่งขันในการลงทุน” เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ใน วงการอื่น แต่ถ้าเราเป็นนักลงทุนธรรมดาสามัญชน ไม่ใช่คนในวงการ ไม่มีความเข้าใจในธุรกิจ ขอให้นึกถึงคำแนะนำของ Jack Welch อดีต CEO ของ GE ที่ว่า “หากไม่มีความสามารถในการแข่งขัน จงอย่าแข่งขัน” กลับมาลงทุนในกิจการที่คุณคุ้นเคยดีกว่าครับ

ฟองสบู่ของนักลงทุน / ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล


  ในแวดวงตลาดหุ้นและการลงทุนนั้น  เราคุ้นเคยกับเรื่องของการ  “เฟ้อ” ของราคาหลักทรัพย์หรือที่มักเรียกกันว่า  “ฟองสบู่”  ซึ่งความหมายก็คือ  ราคาหลักทรัพย์ปรับขึ้นไปสูงกว่า “พื้นฐาน” ที่ควรเป็นอันมาก  ซึ่งอาการแบบนั้น  ในที่สุดแล้วมันก็มักจะ “แตก”  นั่นก็คือ  ราคาก็จะตกลงมาแรงจนถึงราคาพื้นฐานหรือต่ำกว่านั้น    เช่นเดียวกับราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์   สิ่งอื่น ๆ  ที่ปรับตัวขึ้นไปมากเกินกว่าที่ควรเป็นมาก  อาจจะไม่ใช่เรื่องของราคา  แต่เป็นเรื่องของปริมาณหรือแม้แต่ความรู้สึกทางสังคม  เราก็อาจจะเรียกว่าเป็น  “ฟองสบู่” ได้เหมือนกัน  และฟองสบู่ที่ว่านั้น  ในที่สุดมันก็มักจะ “แตก” และทุกอย่างก็จะปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งเป็นระดับที่น้อยลงไปมาก   หนึ่งใน  “ฟองสบู่”  ที่ผมเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ  กับการปรับตัวขึ้นอย่างแรงของหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กก็คือ  “ฟองสบู่ของนักลงทุนส่วนบุคคล”

  อาการ “ฟองสบู่ของนักลงทุน” นั้น  เห็นได้ชัดจากเครื่องชี้มากมายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี  เรื่องแรกก็คือ  จำนวนคนทั่วไปที่ไม่ได้เชี่ยวชาญการลงทุนเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นเองนั้น  เพิ่มขึ้นมาก  บางคนอาจจะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวม  ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนว่าเขาต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อการ “เกษียณ”  และดังนั้นก็อาจจะไม่เกี่ยวกับการเร่งตัวของนักลงทุนหรือการเล่นหุ้น  แต่เมื่อดูไปแล้วผมเองก็สงสัยว่าพวกเขาจำนวนไม่น้อยนั้นกลับเป็นนัก “เก็งกำไร” จากการผันผวนของตลาดหุ้น  หลักฐานอยู่ที่ว่า  คนที่ลงทุนในกองทุนรวมจำนวนไม่น้อยเข้าไปซื้อกองทุน “ทริกเกอร์ฟันด์” โดยเฉพาะของตลาดหุ้นต่างประเทศ  โดยหวังที่จะทำกำไรเร็วและออกจากการลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม

  นอกจากหุ้นแล้ว  นักลงทุนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากนั้น  ยังพร้อมที่จะเข้าไปเล่นอะไรก็ได้ถ้าเขาคิดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะสั้น  เช่น  วอแร้นต์ ทอง  น้ำมัน  คอนโด หรือบางทีก็อาจจะรวมไปถึงตราสารหรือการลงทุนที่ซับซ้อนอื่น ๆ  เช่น  กองทุนรวมอสังหาฯหรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อนบางกอง  และอาจจะรวมไปถึงการซื้อขาย “เงินดิจิตอล”  ที่มีความเสี่ยงสูงมากแต่ในความคิดของเขาอาจจะ  “ไม่เสี่ยง”  อย่าลืมว่าในช่วง  “ฟองสบู่”  นั้น  คนจะ “ไม่กลัวความเสี่ยง”

  สัญญาณที่สองของฟองสบู่ของนักลงทุนก็คือ  มี  “เซียน”  เกิดขึ้นมาก   ความเป็นเซียนนั้น  มักจะเกิดขึ้นจากการที่เขาสามารถทำเงินจากการลงทุนได้สูงมากในเวลาอันสั้นด้วยการลงทุนซื้อขายหุ้นหรือทรัพย์สินบางตัวในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งของตนและข้อเท็จจริงหรือเรื่องราวนั้นถูกเผยแพร่ออกมาผ่านสื่อที่มีคนติดตามกันมากทั้งที่เป็นสื่อมวลชนและสื่อสังคมอื่น ๆ  ที่มีมากมายในวันนี้  นอกจากนั้น  บางคนก็อาจจะเป็น “เซียน” ได้จากการที่พอร์ตมีขนาดใหญ่เป็น  “พันล้านบาท”  โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสถิติหรือผลตอบแทนการลงทุนที่เห็นเป็นประจักษ์

  ความหลากหลายของ “เซียน”  หรือบางครั้งก็เรียกว่า “กูรู” การลงทุนเองนั้น  ก็มีมากมายตามฐานะ  ผลงาน  หรือ ชีวิต ของแต่ละคนที่ได้รับการกล่าวขวัญหรือได้มีการเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ  ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น  เราแทบจะเห็น “เซียน”  เกิดใหม่  แทบจะทุกเดือนหรือบางทีติดต่อกันหลายสัปดาห์  กูรูคนใหม่นั้นก็มักจะมีผลงานและชีวิตที่ “น่าทึ่ง” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับที่อายุของเซียนคนใหม่เองนั้นก็มีแนวโน้มจะน้อยลง  บางคนอายุเพิ่งจะ 30 ปีเศษก็ประสบความสำเร็จและอ้างว่ามีความมั่งคั่งเป็นร้อยหรือพันล้านบาทแล้วจากการลงทุนไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ  นอกจากนั้น  ชีวิตของเซียนเองก็ดูว่าเหมือน  “เทพนิยาย”  หรือ  “มหัศจรรย์” ขึ้นทุกที  ประวัติการทำงานหรือผลงานนั้นบางทีไม่รู้ว่าเคยทำอะไรแต่ความสำเร็จจากการลงทุนนั้นมาง่ายแทบจะ “พลิกฝ่ามือ”  แต่เขาก็มักจะเล่าว่ามันผ่าน  “อุปสรรคและวิกฤติ”  มามากมายก่อนที่จะมาเป็น  “เขาในวันนี้”

  ฟองสบู่ของนักลงทุนเองนั้น  ยังเห็นได้จาก  “ความคาดหวังผลตอบแทน” จากการลงทุนที่สูงเกินกว่าที่จะเป็นในระยะยาว  นักลงทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ในขณะนี้น่าจะคิดว่าตนเองสามารถลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 15-20% ต่อปีในระยะยาวได้อย่างไม่ยากเย็นนัก  เหนือสิ่งอื่นใด  พวกเขาได้รับคำบอกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวของตลาดหุ้นไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 12% ต่อปี ซึ่งไม่จริง)  ดังนั้น  ด้วยการลงทุนเองพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่านั้น  คนที่ลงทุนเองและประสบความสำเร็จ  “อย่างงดงาม”  ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีจึงมักจะตั้งเป้าผลตอบแทนของตนเองสูง  คนที่คิดว่าตนเอง  “ไม่เก่ง”  ก็อาจจะตั้งไว้ปีละ 15%  หรือพอร์ตโตเป็นเท่าตัวใน 5 ปี  รายที่คิดว่าตนเองก็เป็น  “เซียน” อาจจะตั้งไว้สูงถึงขนาดว่า  “10 ปีโต 10 เท่า”  หรือโตปีละประมาณ 26% หรือมากกว่านั้น  ซึ่งก็แปลว่าภายในเวลาไม่กี่ปีก็จะมีเงินเป็นร้อยเป็นพันหรือหมื่นล้านบาทได้ในชั่วชีวิตนี้

  แนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จนั้น  มีมากมายตาม  “เซียน” หรือ  “กูรู”  ที่ประสบความสำเร็จสูง  ทฤษฎีการเงินที่เป็นวิชาการและได้รับการพิสูจน์จากนักวิชาการในระดับสากลที่บอกว่าการลงทุนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะตลาด  ทฤษฎีการเงินที่บอกว่าผลตอบแทนการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยง  ผลตอบแทนที่สูงในตลาดหุ้นนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงนั้น  ไม่มีใครสนใจที่จะฟัง   ในตลาดหุ้นไทยวันนี้  ดูเหมือนว่าทุกทฤษฎีหรือหลักการนั้น  สามารถทำกำไรได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำได้ถูกต้องแค่ไหน  ในบางช่วง  Value Investment ดูเหมือนว่าจะโดดเด่นมากเมื่อ  เซียนหุ้น VI กำลังมาแรงและทุกคนต่างก็เป็น VI   ในบางช่วง  “เทคนิคอล” เองก็เป็นวิธีการที่ทำกำไรได้ดี  ถ้าคุณมี “วินัยกับกราฟ” ในหลาย ๆ  โอกาส  “เกร็ดการลงทุน” ของ “เซียน”  คนนั้นคนนี้คือวิธีที่จะทำเงินได้มากกว่าการยึดทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งตายตัว

  “อิทธิพล” และ  “บารมี”  ของนักลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งของ “ฟองสบู่นักลงทุน”  ผมเชื่อว่าเวลานี้  นักลงทุนกลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อในระดับสูงมากที่คนค้าขายของหรูของแพงให้ความสนใจ  รถหรูระดับเฟอร์รารี่  คอนโดราคายูนิตละเป็นร้อยล้านบาท อาหารหรูหราจากเชฟระดับมิชลินหลายดาว นั้นผมคิดว่ามีลูกค้าที่เป็นนักลงทุนที่มีความมั่งคั่ง “ระดับมหาเศรษฐี” ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีอยู่ไม่น้อย   นี่ยังไม่รวมรถหรูระดับเบนซ์  คอนโดราคา 10 ล้าน และสินค้าหรูอย่างอื่นที่มีลูกค้าที่เป็นนักลงทุน  “อาชีพ”  ที่มีความมั่งคั่งเกินอายุอยู่ไม่น้อย  ในส่วนของบริษัทหรือธุรกิจเองนั้น  อิทธิพลของนักลงทุนต่อผู้บริหารหรือการจัดการบริษัทนั้นผมเห็นว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับระดับที่ควรจะเป็นอย่างเช่นในต่างประเทศ  นักลงทุนส่วนบุคคลไทยนั้น  ผมคิดว่ามีสิทธิมีเสียงและเป็นกลุ่มคนที่บริษัทต้องคำนึงถึงมาก   พวกเขาต้องให้ข้อมูล  ต้องฟัง  และอาจจะต้องปฏิบัติตาม   ในหลาย ๆ กรณีในระยะหลังนั้น  นักลงทุนส่วนบุคคลสามารถเข้าไป “ยึดกุม” การบริหารของบริษัทได้ด้วยซ้ำ  

  สื่อสารเกี่ยวกับการลงทุนที่มีมากมายในปัจจุบันและแทบทุกรายการนั้นเน้นที่การลงทุนของนักลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีฟองสบู่ของนักลงทุนอยู่  แม้แต่รายการที่เป็นMass และเป้าหมายคือชาวบ้านทั่ว ๆ ไปนั้น  บางครั้งก็เริ่มเห็นการสัมภาษณ์นักลงทุนหรือดึงนักลงทุนที่  “ประสบความสำเร็จสูง” มาร่วมรายการ  “เซเลบ” ที่เป็นนักลงทุนและเป็น  “คนรุ่นใหม่”  มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และนั่นก็คือสัญญาณทั้งหมดที่ทำให้ผมเชื่อว่าเรากำลังมีฟองสบู่ของนักลงทุน  ผมเองเชื่อว่า  “ฟองสบู่”  นี้จะต้องแตกซักวันหนึ่ง  อาจจะตามการชะลอตัวลงยาวนานหรือการ “แตก” ของ  “ฟองสบู่” ตลาดหุ้น—ถ้ามี  และหลังจากนั้น  นักลงทุนก็จะกลับไปมีสถานะตามเดิมก่อนที่จะเกิดฟองสบู่ นั่นก็คือ  เป็นคนธรรมดา ๆ