Friday, July 31, 2015

ข่าวดีเศรษฐกิจไทย / วีระพงษ์ ธัม



   ประเทศไทยในเวลานี้เหมือนกับขาด “ข่าวดี” มาอย่างยาวนาน แทบจะพลิกหาข่าวดีไม่เจอในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ในวิกฤตย่อมเกิดโอกาส ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีแฝงเสมอ ผมจะลองมองต่างมุมกับข่าวเศรษฐกิจไทย

            การส่งออกที่ชะลอตัวอย่างมากในปีนี้ แท้จริงแล้วถ้าดูในรายละเอียด ส่วนที่ส่งออกลดลงอย่างมาก ก็เนื่องจาก “ราคา” สินค้าประเภทโภคภัณฑ์ที่ลดลงอย่างรุนแรง เช่น สินค้าเกษตร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน แต่สำหรับสินค้าบางอย่างเช่น รถยนต์ ก็แสดงให้เห็นตัวเลขที่เติบโต โดยเฉพาะหมวดรถกระบะซึ่งแสดงถึงความแข็งแรงของภาคยานยนต์ของไทย นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้ ประเทศก็เริ่มแก้ไขปัญหาที่คาราคาซังมานาน เช่นการประมง การเกษตรที่มีประสิทธิภาพต่ำ นำมาซึ่งผลดีในระยะยาว ส่วนสินค้าหมวดอิเล็กโทรนิคโดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์หลังจากโดนผลกระทบมาโดยตลอดก็เริ่มตั้งตัวและหาพื้นที่เติบโตได้ ธุรกิจอาหารก็เริ่มสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการส่งออกแม้ฝืดไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นเครื่องจักรสำคัญที่กำลังผ่านช่วงปรับตัว

            ในแง่การส่งออก “บริการ” เราทำได้อย่างโดดเด่น แม้ว่าตลาดรัสเซียจะหดตัวอย่างรุนแรงแต่ยอดนักท่องเที่ยวเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่นโรงแรม สปา บริการทางการแพทย์ ก็มีผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและกำลังเป็นพระเอกของประเทศในอนาคต ยังไม่นับธุรกิจ “โรงเรียน” ซึ่งผมเห็นแนวโน้มเติบโตโดยตลอด โดยเฉพาะธุรกิจโรงเรียนนานาชาติหรือภาคอินเตอร์ เรียกได้ว่าบริษัทจดทะเบียนไทยในหมวดบริการค่อย ๆ ก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคหรือระดับโลกแล้ว

            ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีข่าวร้ายมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ตลาดต่างจังหวัดชะลอตัว และตลาดกรุงเทพฯ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมหดตัวอย่างรวดเร็ว ก็มีข่าวดีซ่อนอยู่ คือ การที่เราเริ่มเห็นนักลงทุนหรือผู้ซื้อจาก “ต่างประเทศ” เข้ามาซื้อคอนโดฯในประเทศไทยจำนวนมาก คอนโดฯบางแห่ง ถึงขั้น “ล็อคห้อง” ให้กับผู้ซื้อต่างชาติกันทีเดียว การที่เราสามารถส่งออก “ที่อยู่อาศัย” แสดงให้เห็นว่าเมืองหลัก ๆ ในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นเมืองที่อยู่อาศัยระดับภูมิภาค กรุงเทพฯน่าอยู่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะภาครัฐและเอกชนช่วยกันมาโดยตลอด จุดสำคัญคือการดึงดูด “คน” ได้ คือพื้นฐานของการสร้าง “เมือง”

            สำหรับการบริโภคในประเทศที่หดตัว สาเหตุหลัก ๆ คือการ “บริโภคเกินตัว” ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่กระแส “ผ่อน Iphone เครื่องแรก” “ผ่อนรถคันแรก” “ผ่อนบ้านหลังแรก” “ผ่อนทีวีจอแบนดูบอลโลก” “ผ่อนบัตรกดเงินต่าง ๆ” ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเราถีบตัวสูงขึ้นเร็วมาก แต่นี่คือช่วงเวลา “เรียนรู้” ของคนไทยในการก้าวจากยุค “นักออม” สู่ยุค “บริโภคนิยม” ตามกระแสโลก บทเรียนเรื่องการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นบทเรียนที่สำคัญของคนไทยรุ่นลูกของ Baby Boomer แต่ในทางกลับกันผู้ที่เคยเรียนรู้บทเรียนนี้มาแล้ว อย่างภาครัฐ หรือภาคเอกชน ก็มีฐานะคงคลังและงบดุลที่แข็งแรงมาก เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงอันดับต้น ๆ ของโลกทีเดียว

            การลงทุนของไทยก็ชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้าดูดี ๆ แล้ว การลงทุนของ “ผู้เล่นรายใหญ่” ก็ไม่ได้ลดถอยลง การลงทุนใหญ่ ๆ ยังมีให้เห็นอยู่ พร้อม ๆ กับการลงทุน Mega Project ของภาครัฐ ซึ่งแม้จะช้าไปบ้าง แต่เราอย่าลืมว่าเราแทบไม่ได้จริงจังในการลงทุนเรื่องเหล่านี้มาเป็นสิบปี สนามบินอย่างสุวรรณภูมิก็ใช้เวลาสร้างหลายสิบปี ดังนั้นการคาดหวังให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นหลักเดือนก็คงเป็นสิ่งที่คาดหวังเกินความสามารถของประเทศ แต่ถ้าใน 2-3 ปีนี้เราเริ่มเห็นการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และนี่จะเป็น “อนาคตใหม่” ของประเทศไทย

            สำหรับข่าวร้ายของเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีเข้ามาทุก ๆ วัน หากวิเคราะห์ดูแล้วนี่คือสิ่งที่โลกกำลังปรับตัว ประเทศในเอเชียซึ่ง “ทำงานหนักมาก” สมควรที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล รัฐที่อ่อนแอกว่าก็ควรจะปรับตัวถอยลง นี่คือธรรมชาติของระบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันกันเกือบสมบูรณ์ เมื่อมีรัฐหนึ่งล่มสลาย ก็ต้องมีรัฐหนึ่งที่รุ่งเรือง รัฐที่รุ่งเรืองเร็วเกินไปก็ควรจะชะลอตัวลงบ้าง และประเทศที่เติบโตเร็วในอนาคตจะประกอบด้วยประเทศในเอเชียอยู่หลาย ๆ ประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างกลุ่ม CLMV

            สุดท้ายในแง่นักลงทุน นี่คือเวลาที่วิเศษ ตั้งแต่การจับจ่ายซื้อสินค้าก็ได้ราคา “ถูกมาก” เรียกได้ว่ามี Sales 50% แทบทุกอาทิตย์ หุ้นไทยก็ชะลอตัวมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจะไม่ถูก แต่ถ้าเลือก “หุ้น” ให้ดี ก็เริ่มมีหุ้น Super Stock PE แค่ 20 เท่าต้น ๆ ให้เห็นแล้ว หลังจากที่ไม่ได้เห็นมายาวนานหลาย ๆ ปี เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือเวลาที่เราควรจะเริ่มเชื่อมั่นในพื้นฐานระยะยาวของประเทศและช่วยให้เศรษฐกิจไทยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ในที่สุด

Wednesday, July 29, 2015

หุ้นในฝัน ปั่น 100 เด้ง /ดร.นิเวศน์

   



  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้  แทบทุกวันเราจะเห็นหุ้นตัวเล็ก ๆ ติดเข้ามาในอันดับหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับในตลาดหลักทรัพย์   ในบรรดาหุ้นตัวเล็กเหล่านั้น  หุ้นกลุ่มหนึ่งที่มักติดอันดับเข้ามาบ่อยมากที่สุดก็คือหุ้นที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นบางคนเรียกว่า  “หุ้นปั่น”  ซึ่งความหมายก็คือ  เป็นหุ้นที่มี  “เจ้ามือ” ที่เป็นนักลงทุน “รายใหญ่” หรือเป็น “เจ้าของบริษัท” เข้ามา  “ทำราคาหุ้น”  ด้วยกระบวนการต่าง ๆ  เช่น  การปล่อยข่าวลือ  การประกาศ “ข่าวดี” ต่าง ๆ  เช่น การเทคโอเวอร์  การทำธุรกิจใหม่  “แห่งอนาคต”  การแจกหุ้นและวอแรนต์ฟรี  การแตกพาร์หุ้น การออกหุ้นใหม่ทั้งที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมและที่ให้นักลงทุนรายใหญ่  และอื่น ๆ  อีกมากที่จะทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยตื่นเต้นและเข้ามาเก็งกำไรในหุ้น  นอกจากนั้น  “เจ้ามือ” เองก็ต้องเข้ามา “เล่น” ซื้อขายหุ้นให้คึกคักและ “ดันราคา” ขึ้นไปอย่างต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว  พื้นฐานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทไม่ดีหรือ  “แย่มาก”  บางบริษัทนั้นแทบจะอยู่ในสถานะใกล้  “ล้มละลาย”

  แน่นอนว่า  “เจ้ามือ” จะไม่เคยประกาศว่าตนเองกำลัง “ปั่น” หรือทำราคาหุ้น  เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย  ตรงกันข้าม  พวกเขาจะบอกหรือแสดงออกว่าที่ราคาหุ้นขึ้นไปนั้นเป็นเพราะบริษัทกำลัง “ฟื้นตัวอย่างยิ่งใหญ่” ที่จะทำให้อนาคตของบริษัทสดใสมากและบริษัทจะมีรายได้และกำไรสูงมากด้วยธุรกิจใหม่ ๆ  ที่บริษัทกำลังจะสร้างหรือซื้อมา  การ “เติบโต” ของบริษัทในอนาคตนั้นจะเป็น “ร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปี” ดังนั้นราคาหุ้นที่คิดจากค่า PE ในวันนี้ก็ควรจะสูงมากได้เท่า ๆ  กับการเติบโตนั่นก็คือ ค่า PE ก็ควรสูงได้เป็น 100 เท่า  และนั่นทำให้เขาซื้อแบบ  “Strong Buy” คือซื้อมากและไม่สนใจราคา และนั่นทำให้ราคาวิ่งอย่างแรง  และนั่นทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยซื้อตาม  และนั่นทำให้ราคาวิ่งแรงขึ้นไปอีก  และนั่นทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยอื่นซื้อตามซึ่งทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปสูงลิ่วเนื่องจากปริมาณหุ้นที่ Float หรือกระจายอยู่ในตลาดมีน้อย  ผลก็คือ   ราคาหุ้นขึ้นไป “เกินพื้นฐาน” มาก  แต่นักเล่นหุ้นก็ไม่สนใจ  เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว  เขาไม่ได้ลงทุนถือหุ้นยาว  พวกเขาเข้ามา “เล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น”

  ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการอธิบายโดยภาพรวม  หลักฐานที่เป็นตัวเลขหรือกรณีศึกษานั้น  ผมเองก็ไม่ค่อยได้เห็นและส่วนตัวก็ไม่สนใจเนื่องจากมันไม่ใช่หุ้นที่เราสนใจลงทุน   อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่ามันก็คงไม่เสียหายและเสียเวลานักที่จะลองดูหุ้นที่เข้าข่าย  “หุ้นปั่น”  ว่าหน้าตาและพฤติกรรมของมันเป็นอย่างไร ผมจะไม่บอกชื่อหุ้นแต่ข้อมูลที่ผมใช้นั้นเป็นข้อมูลจริงที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์

  หุ้นตัวแรกนั้น  ชื่อเดิมผมเองก็จำไม่ได้และบริษัทอาจจะเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง  แต่มองย้อนหลังถึงปี 2554 พบว่ารายได้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3-400 ล้านบาท กำไรไม่ถึง 5 ล้านบาท  ในเวลานั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดก็ประมาณ 100 ล้านบาทเศษ ซึ่งก็อาจจะดูว่าปกติและเหมาะสม  แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่ายอดขายของบริษัทจะลดลงเรื่อย ๆ  และจากกำไรก็กลายเป็นขาดทุน ปี 2555 บริษัทขาดทุนกว่า 50 ล้านบาท ปี 2556 ขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท และปีที่แล้วก็ยังขาดทุนอีกกว่า 50 ล้านบาทในขณะที่รายได้เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท  เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะธุรกิจของบริษัทอาจจะมีปัญหาแข่งขันไม่ได้  และบริษัทเองก็จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้ติดลบซึ่งจะทำให้หุ้นต้องออกจากตลาด  อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียว  มูลค่าหุ้นของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่แล้วที่ Market Cap. ขึ้นมาเป็นกว่า 10,000 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 100 เท่า  กลายเป็นหุ้น 100 เด้งภายในเวลา 3-4 ปี เหตุผลที่ขึ้นนั้น  พูดกันว่าเพราะบริษัทหันไปทำธุรกิจใหม่ “แห่งอนาคต” ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อนและมีศักยภาพหรือมีขนาดของธุรกิจสูงมาก  อย่างไรก็ตาม  ล่าสุดหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงและรายได้และกำไรก็ยังไม่เกิดขึ้น  มูลค่าหุ้นก็ลดลงเหลือ “เพียง”กว่า 4,000 ล้านบาท หรือยังเป็นหุ้น 40 เด้งในเวลา 4 ปี

  หุ้นตัวที่สองนั้น  เคยอยู่ในธุรกิจวัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก  ย้อนหลังไปปี 2554 บริษัทมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทเศษแต่ขาดทุนประมาณ 40 ล้านบาท นั่นอาจจะเพราะปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น มูลค่าตลาดของหุ้นเองอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาทซึ่งก็ดูไม่ผิดปกติ  ถึงปี 2555 บริษัทก็ฟื้นขึ้นบ้าง แต่พอถึงปี 2556 และ 2557 ธุรกิจของบริษัทก็แย่ลงอาจจะเนื่องจากคู่แข่งที่มีมากขึ้น  รายได้ของบริษัทลดเหลือเพียง 100-200 ล้านบาทต่อปี กำไรปีล่าสุดติดลบถึงเกือบ 100 ล้านบาท  แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึงกว่า 30,000 ล้านบาท หรือเป็นการเพิ่มขึ้น 100 เท่าตัวในเวลา 3 ปี เหตุผลน่าจะเป็นเพราะบริษัทได้ประกาศทำธุรกิจใหม่  “แห่งอนาคต” นั่นก็คือ  “พลังงานทดแทน”  ที่บริษัทได้รับสัญญาขายไฟฟ้ามาแล้วจำนวนมาก  ดังนั้น  แม้ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลงในช่วงนี้  หุ้นของบริษัทก็ยังคงราคาอยู่ได้แม้ว่าไตรมาศ 1 ปีนี้บริษัทจะยังแทบไม่มีรายได้และยังขาดทุนอยู่  ดูเหมือนว่าทุกคนมองไปที่อนาคต  ว่าที่จริง บริษัทสามารถเรียกทุนเพิ่มขึ้นได้จำนวนมากเพื่อที่จะทำธุรกิจที่จะ “โตไปได้อีกนาน”

  หุ้น “100 เด้ง” ตัวที่ 3 นั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าบริษัทเคยทำอะไรมาก่อน  แต่ช่วงหลังที่หุ้นบริษัทวิ่งขึ้นมามากนั้นน่าจะเป็นเพราะบริษัทเปลี่ยนไปทำธุรกิจที่มี “อนาคตสดใส” มาก  และสามารถทำได้แทบจะไม่จำกัดนั่นก็คือ  “รายการทีวี”   มองย้อนหลังไปปี 2554 บริษัทมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทและมีกำไรประมาณ 20 ล้านบาทซึ่งก็น่าจะถือว่าใช้ได้แต่คงเป็นเพราะธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจ  “ขนาดเล็ก” ที่มีศักยภาพจำกัด มูลค่าหุ้นของบริษัทจึงเท่ากับเพียงประมาณ 50 ล้านบาท  ในปีต่อ ๆ มาก็ดูเหมือนว่าธุรกิจของบริษัทก็ทรง ๆ  และโตขึ้นบ้างในแง่รายได้  แต่กำไรของบริษัทนั้นก็ไม่ไปไหน  ที่สำคัญปี 2557 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของวงการทีวีที่กลายเป็นดิจิตอล  กำไรของบริษัทก็เหลือเพียง 1 ล้านบาทและล่าสุดในไตรมาศ 1 ปี 2558 นั้นบริษัทขาดทุนกว่า 20 ล้านบาท จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 ล้านบาท  แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ  ราคาหุ้นของบริษัทได้เพิ่มขึ้นมโหฬารทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทสูงถึงกว่า 5,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าในเวลา 3 ปีครึ่ง

  นอกจาก “หุ้นปั่น  100 เด้ง” ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว  ยังมี  “หุ้นปั่น 50 เด้ง”  “หุ้นปั่น 20 เด้ง”  และ “หุ้นปั่น 10 เด้ง” ในเวลา 3-4 ปี อีกหลาย ๆ  ตัวที่ผมไม่มีเนื้อที่จะเขียน  แต่ละตัวก็มี “Story” หรือ “วีรกรรม” ที่ “น่าทึ่ง” แต่ที่สำคัญก็คือ  “ซ้ำซาก” ที่กลายมาเป็น  “สิ่งบ่งบอก” หรือ“อาการ” ของ  “หุ้นปั่น”  นั่นก็คือ

  “หุ้นปั่น” มักจะมีอดีตของผลประกอบการที่ย่ำแย่ขาดทุนต่อเนื่องหรือกำไรน้อยมาก   ข้อสองก็คือ  พวกเขาอ้างว่าบริษัทจะมี  “อนาคต” ที่ “สดใสมาก” ที่อาจจะต้องใช้เวลายาวหน่อยแต่ผู้บริหารมั่นใจว่าจะสำเร็จแน่นอน  ข้อสาม พวกเขาต้องการและมักจะต้องเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาในอดีตของบริษัทและนำเงินนั้นมาสร้างธุรกิจใหม่ที่สดใสมากนั้น   ข้อสี่ บ่อยครั้งพวกเขาจะเปลี่ยนชื่อบริษัทให้สะท้อนถึงความเป็นธุรกิจ  “แห่งอนาคต” ที่น่าตื่นเต้นและทำเงินมหาศาลรวมทั้งอาจจะเพื่อให้คน “ลืม” ความล้มเหลวของอดีต  ข้อห้า  ธุรกิจใหม่ของพวกเขานั้น  บ่อยครั้ง  คำนวณหามูลค่าที่แท้จริงยากเนื่องจากเหตุผลมากมายเช่น  เป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด  เป็นธุรกิจที่อิงอยู่กับกับอนาคตที่ไกลและไม่แน่นอน  เป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับภาวะหรือปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้  และเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีกำไรแต่คาดว่าจะเติบโตมหาศาล  เป็นต้น   และสุดท้าย  หุ้นปั่นแทบจะทุกตัวนั้น  จะใช้เทคนิค “วิศวกรรมทางการเงิน” เช่น  แตกพาร์  แจกวอแร้นต์ฟรี เพื่อสร้างความรู้สึกว่าหุ้นถูกและผู้ถือหุ้นหรือคนเล่นหุ้นได้ผลประโยชน์ “ฟรี”

  คำถามสุดท้ายก็คือ  หุ้นปั่นนั้น  บางทีสามารถขึ้นไปได้ 100 เท่าแต่ขาดทุนได้แค่ 100% น่าเล่นหรือไม่?  คำตอบของผมก็คือ  โอกาสของคนเล่นที่จะได้กำไรขนาดนั้นมีน้อยมากถ้าไม่ใช่เจ้ามือ  แต่โอกาสที่หุ้นปั่นราคา 100 บาทที่เราถืออยู่จะเหลือ 1 บาทกลับมีมากกว่า  ดังนั้น คำตอบของผมก็คือ  ถ้าเจอหุ้นที่มีอาการเป็น “หุ้นปั่น” ดังที่ว่า  เราก็ควรจะถอยห่างไว้  มิฉะนั้น  เราอาจจะทนไม่ไหวที่จะเข้าไปเล่น


Friday, July 24, 2015

ไม่มีกำไร ใช่จะไร้คุณค่า / โดย คนขายของ


  AMAZON.COM ทำ IPO เมื่อปี 1997 ในตอนนั้นบริษัทมีรายได้เพียง 148 ล้านเหรียญ และ ขาดทุนสูงถึง 29 ล้านเหรียญ บริษัทขาดทุนทุกไตรมาสตั้งแต่เข้าตลาด จนกระทั่งผ่านไป 6 ปี จึงเริ่มมีกำไรเป็นครั้งแรกในไตรมาสสี่ของปี 2003 ถ้าเราเห็นตัวเลขแบบนี้เรายังคงลงทุนในหุ้น ​AMAZON ไหม? นักลงทุนหลายๆท่านที่ให้ความสำคัญกับค่าอัตราส่วนทางการเงินเป็นหลัก คงตอบว่า “ไม่” ถึงตอนนี้ AMAZON เข้าตลาดมา 18 ปีแล้วและราคาก็ได้ขึ้นมาราวๆ 500 เท่า แม้ปีหลังๆ AMAZON สามารถทำกำไรได้บ้างแล้ว แต่ในปีนี้บริษัทก็กลับมาขาดทุนอีก ทำไม ตลาดถึงให้มูลค่ากิจการบริษัทที่ขาดทุนบริษัทนี้สูงถึง 220,000 ล้านเหรียญ? มีเรื่องอะไรอื่นๆ อีกไหมที่เป็นเรื่องสำคัญในการประเมินมูลค่าของบริษัทนอกจากกำไร?

  ในปลายปี 2014 Facebook ได้ประกาศการซื้อกิจการที่ทั้งโลกต้องตะลึง ด้วยการซื้อ “WhatsApp” แอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่มีพนักงานแค่ 55 คน บริษัทมีรายได้ 10 ล้านเหรียญ และขาดทุนสูงถึง 138 ล้านเหรียญในปี 2013 แต่ Facebook ตัดสินใจซื้อ “WhatsApp” ด้วยมูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านเหรียญ ถ้าเราคิดหามูลค่ากิจการของ “WhatsApp” แบบที่ได้ เรียนกันมา เราคงไม่เข้าใจว่าทำไม Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook ถึงได้ตัดสินใจ ให้มูลค่ากิจการของ “WhatsApp” สูงขนาดนั้น Bill Aulet อาจารย์ประจำ MIT Sloan Business School of Management ได้อธิบายถึงดีลนี้ไว้ว่า “WhatsApp” นั้นมี ผู้ใช้งานทั้งหมดราว 450 ล้านคน และยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึงวันละ 1 ล้านคน เท่ากับว่า Facebook จ่ายเงินซื้อลูกค้าของ “Whatsapp” หัวละ 49 เหรียญ แต่ Facebook ทำการคำนวณแล้วว่าลูกค้าเหล่านี้จะสามารถช่วย Facebook ทำเงินได้สูงถึง 120 เหรียญต่อหัว ในอนาคต ซึ่งหากมองในมุมนี้เราอาจจะรู้สึกว่าดีลนี้ดูสมเหตุสมผลขึ้นมา

  หุ้นชื่อ PETX ซื้อขายกันในตลาด NASDAQ ออก IPO ในราคา 6 เหรียญเมื่อปี 2013 บริษัททำกิจการเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์เลี่้ยงและมีใบอนุญาติในการวิจัยยาอยู่จำนวนมาก บริษัทนี้ขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เข้ามาซื้อขายในตลาด อย่าว่าแต่กำไรเลยครับ รายได้ยังแทบจะไม่มี แต่ตอนนี้ราคาได้ขึ้นมาสูงถึง 18 เหรียญ มีมูลค่ากิจการสูงถึง 500 ล้านเหรียญ นักลงทุนส่วนใหญ่ เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทด้วยความคาดหวังว่า เมื่อยาทั้งหลายที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ออกสู่ตลาด จะสามารถสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เช่น ในตอนนี้ยาแก้อาการเบื่ออาหาร ของสัตว์เลี่้ยงได้รับการพัฒนาใกล้สำเร็จ มีการคาดการณ์ว่ายาตัวนี้จะสามารถวางตลาดได้ช่วงปลายปี 2016 นอกจากนั้น ตัวเลขขาดทุนของบริษัทมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ราคาหุ้นตอบสนอง ในทางที่ดีขึ้น และเมื่อพิจารณาจากจำนวนสุนัขและแมวในอเมริกาซึ่งมีถึงราว 150 ล้านตัว ดังนั้นหาก PETX ทำได้สำเร็จจริงคงสามารถสร้างลูกค้าได้จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

  การที่บริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนนั้นอาจทำให้นักลงทุนหลายคนละเลยหุ้นเหล่านี้ไป ไม่ได้ทำ การศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม ถ้าบริษัทเหล่านั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตอยู่ บริษัทเหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้ดูแย่เสมอไป อย่าง AMAZON ถึงแม้จะทำกำไรได้ไม่ประทับใจ แต่ยอดรายได้ของ AMAZON เติบโตถึง 625 เท่านับจากวันที่ IPO จนมาอยู่ที่ 92,000 ล้านเหรียญในตอนนี้ นอกจากนั้น AMAZON เป็นบริษัทที่ลงทุนใน R&D สูงมาก ถ้าหากลด ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้ กำไรของบริษัทจะกลับมาโตอย่างมีนัยยะสำคัญ

  แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การลงทุนในบริษัทที่ไม่มีผลกำไรก็มีข้อด้อยอยู่หลายประการ เช่น บริษัทเหล่านั้นมักไม่มีเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น บางบริษัทผู้บริหารทำการขายฝันให้นักลงทุนเฝ้ารอ แต่ฝันนั้นไม่เป็นจริงสักที จนเทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าเงินวิจัยของบริษัทสูญเปล่า เพื่อที่จะประเมินมูลค่าของกิจการที่มีผลประกอบการขาดทุนได้แม่นยำนักลงทุนควรมีความรู้ในเรื่องธุรกิจและอุตสาหกรรมของบริษัทพอสมควร เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น มีความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ บริษัทถือครองอยู่ซึ่งอาจมีมูลค่าเพิ่มในอนาคตเช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ แบรนด์ เทคโนโลยี หรือ ฐานลูกค้าและระบบจัดจำหน่ายเป็นต้น ดังนั้นหากเราเห็นบริษัทศักยภาพดีที่มีผลประกอบการขาดทุน ก็อย่าเพิ่งละเลยในทุกกรณีไป เพราะบริษัทเหล่านั้นอาจสามารถสร้างกำไรในการลงทุนให้ท่าน ได้อย่างงดงามในอนาคต

Sunday, July 19, 2015

นักลงทุน 4 แนว/ดร.นิเวศน์

   
         การลงทุนหรือเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  มีวิธีหรือแนวทางใหญ่ ๆ 4 แบบ  แนวทางแรกคือ  แนว  “เทคนิค”  ที่นักลงทุนระยะสั้นนิยมใช้กันมาก  เครื่องมือหรือข้อมูลที่ใช้ก็คือราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีต  แนวทางที่สองคือแนว Value Investment หรือ VI ที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และตัวบริษัทอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการก่อนลงทุน  แนวทางที่สามคือ Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นเติบโตที่เน้นการค้นหากิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจสูงเป็นพิเศษ  และแนวทางสุดท้ายก็คือ  การลงทุนแบบ Passive หรือการลงทุนที่ไม่เน้นการเลือกหุ้น  แต่เน้นการกระจายการลงทุนในหุ้นจำนวนมากและจัดสรรทรัพย์สินให้เหมาะสมเพื่อที่จะลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

  นักลงทุนแนว “เทคนิค”  มีความเชื่อว่า  การขึ้นลงของราคาหุ้นขึ้นอยู่กับ  “จิตวิทยา” หรือความเห็นหรืออารมณ์ของคนเล่นหุ้นเป็นหลัก  พื้นฐานหรือผลประกอบการหรือความเข้มแข็งของกิจการนั้น  ถ้าจะมีผลก็ไม่เกิน 10%  ดังนั้น เราแทบไม่จำเป็นต้องดู  สิ่งที่ต้องดูจริง ๆ  ก็คือพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละช่วงเวลาซึ่งอาจจะเป็นนาทีเป็นวันหรือเป็นเดือน  เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวที่จะชี้ว่าราคาหุ้นในอนาคตอันสั้นจะวิ่งไปทางไหนและที่ราคาเท่าไร

  ทฤษฎีหรือความเชื่อของนักเทคนิคก็คือ  ข้อแรก ข้อมูลทั้งหมดของบริษัทเช่น กำไรและปันผลในอดีต  และผลประกอบการในอนาคตของบริษัทนั้น  ถูกสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นทั้งอดีตและปัจจุบันหมดแล้วไม่ว่าจะดีหรือร้าย  ดังนั้นไม่ต้องไปวิเคราะห์หรือดูว่าผลประกอบการในอดีตเป็นอย่างไร  ว่าที่จริงแทบไม่ต้องดูด้วยซ้ำว่าบริษัททำอะไรหรือขายสินค้าอะไร  และ  หลักการข้อสองของนักเทคนิคก็คือ  ราคาหุ้นนั้นมักเคลื่อนไหวไปตาม  “เทรนด์” หรือแนวโน้มของมัน  หุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นก็มักจะวิ่งขึ้นต่อไป  หุ้นที่กำลังลงก็มักจะวิ่งลงต่อไป  หุ้นที่กำลังนิ่ง ๆ  ก็จะอยู่อย่างนั้น  จนกว่า “เทรนด์” มันจะ “เปลี่ยน” ซึ่งสิ่งที่จะบอกก็คือ  กราฟของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีตและปัจจุบัน

  โชคดีที่ข้อมูลการซื้อขายหุ้นในปัจจุบันทั้งหมดนั้นถูกเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์  ดังนั้น  การวิเคราะห์กราฟราคาด้วยเกณฑ์ทาง “เทคนิค” ต่าง ๆ  จึงทำได้ง่ายมากและเป็น  “เรียลไทม์” นี่ทำให้ “นักเทคนิค”  สามารถกำหนดจุดซื้อหรือจุดขายของหุ้นแต่ละตัวได้ตลอดเวลา  มันจึงเป็นวิธีการลงทุนที่ทำได้ง่ายแทบจะ  อัตโนมัติสำหรับทุกคนที่ใช้แนวการลงทุนนี้

  ทฤษฎีการลงทุนที่สองก็คือ  การลงทุนแบบ Value Investment หรือ VI  นี่เป็นวิธีการที่นักลงทุนมองว่าหุ้นนั้นก็คือธุรกิจหรือบริษัท   สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  พยายามวิเคราะห์หรือคำนวณหา  “มูลค่าที่แท้จริง” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือความคิดเห็นของคนในตลาดหุ้น  พวกเขาเชื่อว่า  ราคาหุ้นนั้นมักแตกต่างจากมูลค่าที่แท้จริงและเป็น “คนละเรื่อง”  การหามูลค่าที่แท้จริงนั้น  สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการประเมินหรือคาดการณ์ว่ากำไรและปันผลในอนาคตระยะยาวของบริษัทเป็นอย่างไร  ซึ่งถ้าจะทำได้ก็ต้องศึกษายอดขาย  ต้นทุน  ความสามารถในการแข่งขันของกิจการ  ฐานะการเงินและอื่น ๆ อีกมาก  หลังจากนั้นก็จะต้องคำนวณว่าหุ้นควรมีมูลค่าเท่าไร  ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ  “กระแสเงินสด”  หรือปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากบริษัทตลอดไป และเนื่องจากผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทนั้น  มักจะขึ้นอยู่กับสภาวะทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย   ดังนั้น  การวิเคราะห์จึงมักจะต้องเริ่มจากการมองหรือคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดด้วย

  โดยหลักแล้ว  ถ้าปัจจัยอื่นเหมือนกัน  มูลค่าของกิจการนั้นจะสูงขึ้นถ้า  1)  กำไรและปันผลโตเร็วขึ้น  2) อัตราการจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับกำไรหรือ Dividend Payout Ratio สูงกว่าหรือเพิ่มขึ้น  3) กิจการหรือหุ้นมีความเสี่ยงต่ำกว่า  และ  4) อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดต่ำกว่าหรือต่ำลง

  นักลงทุนแนว VI แบบ “ต้นตำรับ” หรือดั้งเดิมนั้น  มักชอบลงทุนในหุ้นที่มีราคาหุ้นต่ำกว่า “มูลค่าที่แท้จริง” มาก  หรือเรียกว่ามี “Margin of Safety” สูง  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ชอบลงทุนในหุ้นที่มีราคา  “ถูกมาก”  วัดจากค่า PE และ PB ที่ต่ำ และปันผลตอบแทนที่สูง  ซึ่งในแนวทางนี้มักจะทำให้พบแต่หุ้นที่มี “คุณภาพ” ต่ำในสายตาของนักลงทุนทั่วไปเป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม  VI ก็มักจะไม่สนใจ  พวกเขาเชื่อว่า  “หุ้นแบกะดิน” เหล่านี้  ส่วนใหญ่แล้วในที่สุดราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปที่มูลค่าที่แท้จริงของมัน   ดังนั้น  การซื้อหุ้นเหล่านี้หลาย ๆ  ตัวเป็นพอร์ตโฟลิโอก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติ

  แนวทางการลงทุนที่สามคือแนวลงทุนในหุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็ว  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ว่าที่จริงก็ใช้หลักการคล้าย ๆ  กับหุ้น VI  ในแง่ที่ว่ามันจะต้องมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน  นอกจากข้อมูลในอดีตแล้ว  นักลงทุนแนว Growth ยังต้องวิเคราะห์หรือคาดการณ์ “อนาคต” ไปไกลและต้องมั่นใจว่าไม่ผิดพลาด   หุ้นที่พวกเขาชอบนั้นมักจะต้องมี  “Story” หรือเรื่องราวที่  “เร้าใจ” ในแง่ที่ว่าบริษัทจะเติบโตเร็วมาก   อาจจะเพราะอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประโยชน์และบริษัทจะเป็นผู้นำหรือได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  รายได้และกำไรจะเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ในอนาคตจนทำให้กิจการมีมูลค่าที่แท้จริงสูงขึ้นมามากและสูงกว่าราคาหุ้นในปัจจุบัน  ดังนั้น  ราคาหุ้นในปัจจุบันจึงไม่เป็นประเด็นว่าจะแพงหรือถูกเมื่อวัดด้วยค่า PE PB หรือปันผลที่ใช้ตัวเลขของอดีตและปัจจุบัน   ในความเป็นจริง  หุ้นต่าง ๆ  เหล่านี้  เนื่องจากมักเป็นหุ้นที่  “ร้อนแรง” และ “เร้าใจ” และเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก  จึงมักจะมีราคาสูงขึ้นมากทำให้ค่า PE และ PB สูงกว่าปกติและมักจะมีปันผลที่ต่ำมาก  อย่างไรก็ตาม  คนที่เล่นหุ้น Growth นั้นเชื่อว่านี่คือวิธีที่จะทำเงินได้เร็วและมากกว่าแนวทางอื่น

  นักลงทุนแนวทางสุดท้ายก็คือ  การลงทุนแบบ Passive หรือแนวลงทุนหุ้น “ตามดัชนี”  เช่น  ซื้อกองทุนรวม “SET 50” ที่ไม่มีการคัดเลือกหุ้นแต่ซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของตลาด 50 ตัว เป็นต้น  คนที่เลือกแนวทางนี้มีความเชื่อตามทฤษฎี  “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ”  ที่บอกว่า  หุ้นในตลาดทุกตัวนั้น  ต่างก็มีราคาที่เหมาะสมกับพื้นฐานอยู่แล้วเนื่องจากมันเป็นราคาที่คนจำนวนมากที่มีความรู้มีข้อมูลและมีเหตุผลมาตกลงซื้อขายกัน  เป็นไปไม่ได้ที่มันจะ  “ผิดราคา” อย่างเป็นระบบ  หรือพูดง่าย ๆ  หุ้นบางตัวและบางครั้งอาจจะ “ผิดราคา” ได้  แต่ซักพักหนึ่งราคาก็จะกลับมาที่ราคาที่ถูกต้องเหมาะสม  โดยเฉลี่ยแล้ว  หุ้นบางตัวและบางเวลาอาจจะแพงแต่บางตัวบางเวลาก็อาจจะถูกไม่มีใครสามารถซื้อหุ้นถูกได้ตลอด  ดังนั้น  ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามเลือกหุ้น  การซื้อหุ้นลงทุนที่ดีที่สุดก็คือ  ซื้อหุ้นกระจายไปทุกตัวและจ่ายต้นทุนค่าธรรมเนียมการซื้อขายและบริหารการลงทุนที่ต่ำที่สุด  นั่นก็คือ ซื้อกองทุนหุ้นอิงดัชนีที่คิดค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนต่ำที่สุด

  การศึกษาจากข้อมูลในอดีต “ทั่วโลก” นั้นพบว่า  การลงทุนแนว VI ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในระยะยาว  รองลงมาน่าจะเป็นการลงทุนแบบ Passive ตามด้วยการลงทุนในหุ้นเติบโต  ส่วนการเล่นหุ้นแนวเทคนิคนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจศึกษาแล้วและน่าจะเป็นแนวที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดเนื่องจากต้นทุนการซื้อขายหุ้นที่สูงมากทำให้ผลตอบแทนต่ำลง    นั่นคือผลการศึกษาที่ใช้ข้อมูลจำนวนมาก  แต่ในเรื่องของนักลงทุนแต่ละคนนั้น  แน่นอน  ต้องมีคนประสบความสำเร็จสูงมากแม้ว่าจะใช้เทคนิคหรือแนวทางที่ด้อยกว่าโดยเฉลี่ย  และในชีวิตจริงนั้น  มีนักลงทุนน้อยคนที่จะยึดแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างเคร่งครัด  นักลงทุนหลายคนใช้แนวทางหลายแบบ “ผสมผสาน” กัน  เช่นบางคนบอกว่าเวลาเลือกหุ้นใช้แนวทาง VI หรือ Growth  แต่  “จังหวะซื้อ” หรือขายก็ “ดูกราฟ”  ทางเทคนิค เป็นต้น  ผมเองไม่รู้ว่าแต่ละคนควรใช้วิธีไหน  ประสบการณ์ส่วนตัวผมก็คือ  ผมชอบหุ้น Growth ที่มีความแน่นอนสูงและซื้อในราคาที่ต่ำหรือราคา “ยุติธรรม”

Thursday, July 16, 2015

วีไอ SLOW LIFE/ วีระพงษ์ ธัม

 

  ในช่วงที่ผ่านมาวิถีชีวิตที่กำลังเป็นกระแสใน Social Media คือเรื่องราวชีวิต Slow Life ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่แสวงหา “ความช้า” ในสังคมคนเมืองที่เร่งรีบ เทคโนโลยีใหม่ ๆ อำนวยความสะดวก ช่วยให้มนุษย์แข่งกับเวลาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราวิ่งแข่งกับเวลา เพราะเชื่อว่ามันเป็นเงินเป็นทอง และดูเหมือนกับว่าโลกการลงทุนยุคนี้ก็เร่งรีบเช่นเดียวกัน มีข่าวสารมากมายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไหลผ่านช่องทางที่หลากหลาย ผมเคยลองนับข้อความทาง LINE และ E-mail ไม่รวมเวปบอร์ด Facebook ที่เกี่ยวกับหุ้นในหนึ่งวัน มีร่วมพัน ๆ ข้อความทีเดียว ท่ามกลางการลงทุนปีนี้ที่มีแต่ “ข่าวร้าย” มาลองดูว่าแนวคิด วีไอ SLOW LIFE จะเหมาะกับการลงทุนในยุคนี้หรือไม่

            ต้นเหตุที่การลงทุนในยุคนี้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาช่วยงานมนุษย์ด้านการลงทุนไม่แพ้ด้านอื่น ๆ ของชีวิต ในการลงทุนแบบเทคนิคอลเราสามารถตีกราฟที่ซับซ้อน ด้วยการใส่ตัวแปรต่าง ๆ มากมายเพียงแค่คลิ้กเดียว ต่างจากยุคที่เซียนหุ้นเทคนิคอลในอดีตที่ค่อย ๆ วาดกราฟลงบนกระดาษเอง ในวิถีวีไอ ข้อมูลอัตราส่วนทางการเงิน ก็มีให้ใช้โดยที่เราไม่ต้องกดเครื่องคิดเลขเองเหมือนแต่ก่อน เมื่อซัก 5-10 ปีที่แล้ว เวลาที่งบออก วีไอจะมีช่วงให้ค่อย ๆ แกะงบ เพื่อค้นหามูลค่าที่ซ่อนอยู่ในงบเหล่านั้น มีโอกาสและเวลาซื้อหุ้นกว่าราคาจะค่อย ๆ ปรับขึ้น มายุคสมัยนี้ งบยังไม่ทันออก หรือออกแค่วันเดียว ราคาหุ้นก็ตอบสนองไปเรียบร้อย เรียกได้ว่า นาฬิกาหุ้นในยุคนี้เร็วกว่าเดิมมาก

            สำหรับผมแล้ว การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดในตลาดหุ้น ถ้าดูผิวเผินเหมือนกับว่าถ้าเราทำอะไร “เร็วขึ้น” น่าจะสามารถรักษาผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีไว้ได้ แต่ผมกลับคิดว่าการทำอะไร “ช้ากว่าเดิม” กลับเหมาะสมกว่า ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

            ข้อแรกคือ ถ้าเราย้อนกลับไปในความหมายของการลงทุน คือ “การคาดหวังผลตอบแทนที่เหมาะสม ด้วยการจำกัดความเสี่ยง” การที่เรา “พยายาม” เพื่อให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ส่วนมากแล้วมักจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงไปในทางเก็งกำไรมากกว่า เช่นการฉวยโอกาสซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้น เพื่อเอากำไรจากการเล่นรอบ หรือหาโอกาสที่หุ้นจะตอบสนองกับข่าวดีหรือผลประกอบการที่ดีชั่วคราว โดยคาดหวังแรงเก็งกำไรจากผู้อื่นมาผสมโรงด้วย โลกธุรกิจช้ากว่าตลาดหุ้น ดังนั้นถ้าเราลงทุนเหมือนทำธุรกิจ เราก็ควรลงทุนช้า ๆ เช่นเดียวกัน

            ข้อสอง ผลการวิจัยของ Vanguard พบว่า ข่าวสารจำนวนมากในตลาดหุ้นเป็นข้อมูลที่ “ไม่จำเป็น” หรือแทบไม่มีผลกระทบในระยะยาวต่อราคาหุ้นที่เราถืออยู่เลย ปัจจุบันเราพูดถึงการวิเคราะห์วิกฤตกรีซ แต่อันที่จริง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีปัญหาอื่น ๆ อีกเช่นโปรตุเกส สเปน ดูไบ จีน ญี่ปุ่น รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจมหภาคในประเทศที่มากมายในแต่ละวัน เราเป็นนักลงทุนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นถ้าเราอ่านข้อมูลเหล่านี้โดยที่แทบจะไม่มีผลในการลงทุนระยะยาว เราต้องใช้เวลาจำนวนมาก โดยที่ได้ผลลัพท์ที่น้อยมาก

            ข้อสาม วิถีชีวิตนี้ Slow Life ทำให้เรามีเวลา “จดจ่อกับสิ่งที่สำคัญ” หนังสือหลาย ๆ เล่มรวมถึงบัฟเฟตต์พูดถึงความสำคัญของการจดจ่อ ผมคิดว่ากิจกรรมลงทุนแบบวีไอเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่ง “ความพยายาม” กับ “ผลลัพท์” จะสัมพันธ์กันน้อยลงถ้าเราเลือกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การจดจ่อในกิจกรรมที่ถูกต้อง และยืนอยู่บนนิสัยที่ถูกต้องต่างหากที่ช่วยให้เรามีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

            ข้อสี่ การ “เล่นหุ้น” ในมุมมองคนรุ่นใหม่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นวิถีชีวิตแบบ Slow Life คือจิบกาแฟ นั่งเทรดหุ้นตามห้าง แต่อันที่จริงชีวิตใน Streaming ของคนส่วนมากกลับ “Super Fast Life” เสียมากกว่า การทำอะไรช้า ๆ เราจะมีโอกาสเป็นอิสระจากฝูงชนได้ง่ายกว่า และมองเห็น “โอกาส” ในภาพใหญ่ง่ายกว่า แทนที่จะต้องวิ่งเข้าไปเก็บเหรียญหน้ารถสิบล้อ ซึ่งส่งผลต่อความเครียดและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การซื้อหุ้นและอดทนรอคอยแบบ Slow Life เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าที่สุดในการได้ผลตอบแทนที่เปลี่ยนชีวิตได้

            ข้อห้า การ Slow Life ในตลาดหุ้น จะทำให้คุณมีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้นนอกตลาดหุ้น ทั้งชีวิตในการทำงาน ครอบครัว การมีเวลาทำกิจกรรมที่เราชอบ หรือมีประโยชน์ต่อสังคม เวลาทุกวินาทีมีความหมายเสมอกันหมด เวลาไม่ใช่ของฟรี แต่เป็นต้นทุนราคาแพงที่สุด และดูเหมือนกับที่กูรูว่า ยิ่งคุณขยับตัวน้อยลง ผลตอบแทนในตลาดหุ้นคุณจะมากขึ้น อย่าเอาราคาหุ้นรายวันมาวัดผลความสำเร็จ แต่วีไอ SLOW LIFE ควรจะเอาทุกมิติของชีวิตมาวัดว่า ชีวิตที่เกิดมา มีคุณค่า อย่างที่วีไอมุ่งแสวงหาหรือไม่ ถ้าเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง วิกฤตไหนเราก็ไม่ต้องไปกังวลเหมือนที่ตลาดกังวลครับ

ค้นฟ้าคว้าดาว /ดร.นิเวศน์



กระบวนการที่ยากและสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนแบบ VI ก็คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุน เหตุผลก็คือ มีหุ้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนกว่า 500 บริษัท ที่ทำธุรกิจหลากหลายมากมาย บริษัทเหล่านี้อยู่ใน “ช่วงชีวิต” ต่าง ๆ เช่น กำลังเริ่มต้น เติบโต เติบโตเร็ว อิ่มตัว ตกต่ำ ซึ่งเราไม่รู้ นอกจากนั้น ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาซึ่งทำให้ความน่าสนใจของหุ้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น การมองหาหุ้นที่จะเข้าไปศึกษาและลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา ต่อไปนี้คือวิธีการหาหุ้นที่ VI รวมถึงผมมักจะใช้

วิธีแรกที่น่าจะง่ายที่สุดก็คือ การติดตามบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ โดยเฉพาะโบรกเกอร์หลาย ๆ แห่งที่จะมีการนำเสนอหุ้นที่ “น่าสนใจ” เป็นหุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อหรือบางครั้งแนะนำให้ซื้อ “อย่างแรง” วิธีนี้มีข้อดีก็คือ เราไม่ต้องไปหาให้เสียเวลา หุ้นถูกเสิร์ฟให้เราถึงที่ แต่ข้อเสียก็คือ เขามักจะวิเคราะห์และแนะนำเฉพาะหุ้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาและมีสภาพคล่องในการซื้อขายมากพอ ซึ่งอาจจะมีหุ้นเพียง 200-300 ตัวเท่านั้นที่โบรกเกอร์ครอบคลุม ประเด็นก็คือ หุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อนั้น บ่อยครั้งมีราคาและปริมาณการซื้อขายปรับตัวขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ความน่าสนใจก็จะลดลงเพราะราคาหุ้นแพงขึ้น ในบางกรณี โดยเฉพาะหุ้นที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อยและสภาพคล่องมีไม่มากนั้น ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาสูงลิ่วแล้วก่อนที่เขาจะแนะนำ ดังนั้น การหาหุ้นจากวิธีการนี้ เราจะต้องระวังว่ามันอาจจะไม่ถูกในแง่ของ VI การเข้าไปซื้ออาจจะเป็นการ “เก็งกำไร” ก็ได้

วิธีที่สอง สำหรับคนที่ขยันและมีเวลา เช่น คนที่ “ลงทุนเป็นอาชีพ” อาจจะติดตามเข้าร่วมฟังรายการ “บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน” หรือที่เรียกว่า “Opportunity Day” ที่มีการจัดที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำเกือบทั้งปี นี่คือรายการที่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก มาบรรยายและให้ข้อมูลรวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับบริษัทแก่นักลงทุน รายการนี้จึงเป็นช่องทางในการที่เราจะได้ข้อมูลค่อนข้างลึกเกี่ยวกับบริษัทรวมถึงในหลาย ๆ กรณี ได้พบกับผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจดทะเบียนซึ่งบางคนบอกว่าจะได้ดู “โหงวเฮ้ง” ว่าน่าจะเป็นคนมีความสามารถและไว้ใจได้แค่ไหน และนั่นก็คือข้อดีของการไปหา ศึกษา และวิเคราะห์หุ้นจากงาน “อ็อปเดย์” อย่างไรก็ตาม ข้อเสียก็อาจจะมีเหมือนกัน นั่นคือ การไปฟังบริษัทมาก ๆ นั้น บางทีก็ทำให้เรา “เคลิ้ม” ได้เหมือนกัน กล่าวคือ บริษัทอาจจะให้แต่ภาพที่ดี ๆ และพยามพูดให้เราเชื่อว่าเขาดีกว่าปกติ เรา ที่มีความรู้น้อยกว่าก็จะคล้อยตามโดยที่ไม่ได้ไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มและทำให้เราวิเคราะห์ผิดพลาดไปได้

ช่องทางที่สามในการหาหุ้นก็คือ การใช้ “ตะแกรงร่อนหุ้น” นี่คือการใช้ข้อมูลเชิงปริมาณในการคัดเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการและงบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน อัตราส่วนที่แสดงความถูกความแพงของหุ้น มาเป็นตัวคัดกรองเพื่อที่จะศึกษาตัวหุ้นที่มีคุณสมบัติที่เราต้องการ ตัวอย่างเช่น บางคนจัดเรียงหุ้นที่มีค่า PE ต่ำที่สุดจนถึงหุ้นที่มีค่า PE สูงที่สุด จากนั้นจึงคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่มีค่า PE ต่ำที่สุดไม่เกิน 20 ตัวเพื่อนำมาศึกษาต่อเป็นต้น หรือบางคนอาจจะมองบริษัทที่มีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงที่สุดเป็นตะแกรงที่จะคัดกรองหุ้น เป็นต้น ข้อดีของแนวทางนี้ก็คือ มันทำได้อย่างรวดเร็วและค่อนข้างจะทั่วถึงคือเราจะไม่พลาดหุ้นที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจเลยเพราะมันทำโดยคอมพิวเตอร์ และหลังจากนั้นเราค่อยมาดูข้อมูลเป็นรายตัวว่าเราสนใจตัวไหนเป็นพิเศษ ส่วนข้อเสียก็คือ ข้อมูลที่เป็นเชิงปริมาณนั้น มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและมันไม่ได้บอกว่าอนาคตจะเป็นแบบนั้นต่อไปหรือไม่ และบางทีมัน “หลอก” ให้เราเข้าใจผิดในคุณสมบัติเชิงคุณภาพได้ ความยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลาย ๆ คนรวมถึงผมด้วยนั้น ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเขียนหรือรันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบนี้ได้

ช่องทางที่สี่ในการหาหุ้นลงทุนก็คือ การติดตามอ่านข่าวสารในหน้าข่าวธุรกิจและข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนและอาจจะมีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ ว่าที่จริงผมหมายรวมถึงการดูและฟังจากสื่อทุกชนิด เพียงแต่การอ่านนั้นมักจะให้ข้อมูลที่มากและเร็วกว่าช่องทางอื่น นี่คือการ “อ่านเพื่อหาหุ้น” ไม่ใช่การอ่านผ่าน ๆ ความแตกต่างก็คือ เมื่อเราอ่านแล้วเราจะต้องคิดต่อว่าหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะได้ประโยชน์และตัวไหนจะเสียประโยชน์ บริษัทไหนจะชนะและบริษัทไหนจะแพ้ในระยะยาว เทรนด์ของธุรกิจไหนจะมาและอุตสาหกรรมไหนจะตกต่ำลง การหาหุ้นจากช่องทางนี้ เป็นการหาหุ้นที่ใช้เวลามากแต่ก็จำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของการหาหุ้นลงทุนใหม่ ๆ แล้ว มันยังเป็นเรื่องของการติดตามข้อมูลของหุ้นตัวเดิมที่ยังอยู่ในพอร์ตด้วยว่าเราควรถือต่อหรือขายทิ้ง

ช่องทางที่ห้าก็คือ การหาหุ้นโดยการถามหรือติดตามความเคลื่อนไหวของ “เซียนหุ้น” หรือบางทีเรียกว่า “CI” หรือ “เล่นหุ้นตามเซียน” นี่คือวิธีการหาหุ้นที่ง่ายและอาจจะให้ผลดี เพราะอย่างน้อยเขาก็คิดว่า ถ้า “เซียน” ซื้อหรือถือหุ้นไว้ หุ้นก็น่าจะดี เพราะเซียนนั้นก็คงต้องวิเคราะห์กันมาเป็นอย่างดีแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด เขาคิดว่าคงจะมีคนอื่นที่ซื้อหุ้นตามเซียนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น หุ้นก็จะมีแรงซื้อมากและอาจจะทำให้หุ้นวิ่งขึ้นได้เร็วและแรงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าเซียนนั้นซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่เมื่อไร ต้นทุนของหุ้นที่ซื้อเป็นเท่าไร และเขาจะขายเมื่อไร ดังนั้น ในบางครั้ง เราอาจจะซื้อในราคาที่เกินกว่าพื้นฐานและเซียนที่ซื้อหรือถือไว้กำลังขาย ผลก็คือ เราอาจจะขาดทุนได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บ่อยครั้ง เซียนก็อาจจะผิดได้ หรือบางทีเซียนที่เรากำลังตามอยู่นั้น อาจจะกำลัง “โฆษณา” หุ้นของตนเพื่อให้หุ้นเป็นที่น่าสนใจและมีราคาดีขึ้นก็ได้

ช่องทางที่หกของการหาหุ้นก็คือ การ “เดินตามห้าง” นี่ก็คือการสังเกตและ “สัมผัส” ความเป็นไปของธุรกิจจริง ๆ ใน “สนาม” ไม่ใช่ดูจากรายงานในหน้ากระดาษหรือบนจอคอมพิวเตอร์ คำว่าเดินตามห้างนั้น รวมไปถึงสถานที่ทุกแห่งที่เราเข้าหรือผ่านไปเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ไปซื้อหรือใช้บริการต่าง ๆ ข้อดีของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ เราจะได้ข้อมูลที่หาไม่ได้จากงบการเงินนั่นก็คือ ความแข็งแกร่ง ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และ แนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการเติบโตของกิจการและตัวหุ้น ข้อควรระวังสำหรับการหาหุ้นแนวทางนี้ก็คือ อย่าใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินสินค้าหรือตัวบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของเขา

สุดท้ายก็คือ การดูข้อมูลจากกิจกรรมการซื้อขายของตัวหุ้นเอง เช่น การซื้อหรือขายของผู้บริหารบริษัท หรือปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของตัวหุ้น นี่อาจจะเป็นสิ่งที่บอกว่า คนที่ “รู้เรื่องดี” กำลังทำอะไรอยู่ ข้อมูลชิ้นนี้อาจจะกระตุ้นให้เราไปศึกษาตัวหุ้นเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม ก็เช่นเดียวกับข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้บริหารหรือเซียนหุ้นรายใหญ่ เราจะต้องระวังว่ามันอาจจะเป็นข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อที่จะ “ลวง” ให้นักลงทุนหลงก็ได้

Monday, July 13, 2015

ตลาดหุ้นจีน- ซุปเปอร์คาสิโน/ดร.นิเวศน์

 
   ตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ตลาดหุ้นจีนดูเหมือนจะเป็นตลาดหุ้นที่ “ร้อนแรงที่สุดในโลก”  เพราะดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับตัวขึ้นมาจากประมาณ 2,100 จุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2014 ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นประมาณ 5,370 จุดในวันที่ 10 มิถุนายน 2015 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ  155% ในเวลาเพียงปีเดียว  แต่แล้ว  ภายในเวลาเพียงไม่ถึงเดือน  ดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ก็ตกลงมาอย่างหนักเป็น “วิกฤตตลาดหุ้น” คือถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2015 ดัชนีก็ลดลงเหลือเพียง 3,659 จุด หรือเป็นการตกลงมาถึง 32% ก่อนที่จะดีดกลับมาประมาณ 6% ภายในเวลาเพียง 2 วัน เมื่อรัฐบาลจีนออกมาตรการ “กู้ตลาดหุ้น” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ดัชนีปิดตลาดวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2015 ที่ 3,878 จุด หรือคิดเป็นการตกลงมาจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนที่แล้วประมาณ 28%

ผมเองไม่รู้ว่าหลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป  แต่เชื่อว่า  “ความผันผวน” ของราคาหุ้นจีนน่าจะดำรงต่อไปอีกนาน  เหตุผลก็เพราะว่าตลาดหุ้นจีนนั้น  เป็น  “ตลาดหุ้นของนักลงทุนส่วนบุคคล” นั่นคือ  ปริมาณการซื้อขายหุ้นน่าจะกว่า 80% นั้น  เป็นการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไป  “เก็งกำไร” ในตลาดหุ้น  ว่าที่จริง  ตลาดหุ้นจีนนั้นไม่ได้เพิ่ง “ผันผวนรุนแรง” หรือเป็นตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมากเมื่อเร็ว ๆ  นี้   ตลาดหุ้นจีนนั้นมีความผันผวนรุนแรงมาโดยตลอด  เพียงแต่ว่างวดนี้ดูเหมือนว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไป “ร่วมวง” มากเป็นพิเศษเนื่องจากจีนได้เปิดตลาดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ง่ายขึ้นมากในปีที่แล้ว  และตลาดหุ้นก็ใหญ่ขึ้นมาก  ดังนั้น  มันจึงเป็นข่าวใหญ่ที่คนสนใจกันทั่วโลกรวมถึงนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนกองทุนรวมหุ้นจีนทั้งที่กำไรและขาดทุนกันอย่างหนัก

ความผันผวนของหุ้นจีนนั้นผมดูแล้วก็คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยเพียงแต่จะรุนแรงกว่าเนื่องจากพฤติกรรมและนักลงทุนในตลาดนั้นมีความคล้ายคลึงนั่นก็คือ  เป็นตลาดที่เต็มไปด้วยนักลงทุนส่วนบุคคลหรือนักลงทุนรายย่อย แต่ในตลาดหุ้นไทยนั้น  เรายังมีนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศที่ค่อนข้างใหญ่กว่าจีนโดยเปรียบเทียบเนื่องจากเราเปิดตลาดหุ้นและเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนนานกว่า    อีกส่วนหนึ่งที่คล้ายกันก็คือ  ลักษณะประชากรศาสตร์และระดับของความมั่งคั่งของคนจีนกับไทยนั้น  มีความใกล้เคียงกันมาก  นั่นคือ  เรามีอายุเฉลี่ยของคนในประเทศและรายได้ต่อหัวของคนพอ ๆ  กัน  และนั่นอาจจะทำให้พฤติกรรมการลงทุนคล้าย ๆ  กัน   ลองมาดูว่าตลาดหุ้นจีนกับไทยคล้ายกันอย่างไรและต่างกันตรงไหน

เรื่องแรกนั้นลองมาดูกันที่ “ความเสี่ยง” ของการลงทุนในตลาดก่อน  ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้นั้น “เปิดใหม่” เมื่อปลายปี 1990 นับจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 24 ปี  ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบหรือขาดทุนเท่ากับ 10 ปี  ปีที่กำไรเท่ากับ 14 ปี  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือขาดทุนประมาณ 42% กำไรประมาณ 58%  ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นเปิดมาตั้งแต่ปี 2518 ถึงปีนี้ก็ 40 ปีแล้ว  ปีที่บวกน่าจะ 22 ปี และปีที่ลบ 18 ปี คิดแล้วเป็นปีที่ขาดทุน 45% และปีที่กำไรเท่ากับ 55% ซึ่งก็ต้องพูดว่าทั้งสองตลาดนั้นมีความเสี่ยงสูงทั้งคู่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาที่ตลาดหุ้นในแต่ละปีนั้นจะให้ผลตอบแทนแต่ละปีเป็นบวกน่าจะไม่ต่ำกว่า 70% ส่วนปีที่ผลตอบแทนติดลบน่าจะต่ำกว่า 30%

ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องของผลตอบแทนรายปี  ตลาดหุ้นจีนนั้นต้องพูดว่าปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกนั้น  มักจะเป็นปีที่ได้ผลตอบแทนที่สูงมาก  คือให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึงปีละ 64.4%  เช่นเดียวกัน ปีที่เป็นลบก็ให้ผลตอบแทนที่เลวร้ายคือประมาณลบ 22.2%  ต่อปีโดยเฉลี่ย  ส่วนในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมดูแค่หลังจากวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา  ผลตอบแทนของปีที่เป็นบวกนั้นเท่ากับ 37% ต่อปีโดยเฉลี่ย  ส่วนปีที่เป็นลบนั้นเท่ากับลบ 21.8% ต่อปี ซึ่งก็ต้องถือว่าผลตอบแทนแต่ละปีนั้นค่อนข้างจะผันผวนรุนแรงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะในปีที่ติดลบ

ถ้ามองใน “ระยะยาว” และลืมความ “ผันผวน” ในแต่ละปี  เราก็จะพบว่าทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นจีนต่างก็ให้ผลตอบแทนที่ดี  หุ้นไทยนั้น  ในเวลา 40 ปี  ราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจาก 100 จุดเป็น ประมาณ 1,485 จุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 คิดแล้วคนที่ลงทุนระยะยาว 40 ปีจะได้กำไรหรือผลตอบแทนปีละประมาณ 7%   ถ้าคิดรวมปันผลปีละประมาณ 3% ก็คือได้ผลตอบแทนปีละ 10% โดยเฉลี่ย  ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม  “ระดับโลก”  เหตุคงเป็นเพราะประเทศไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากระดับ  “ดารา” และน่าจะพอ ๆ  กับผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐที่ได้ผลตอบแทนปีละประมาณปีละ 10% เช่นเดียวกันเพียงแต่ของอเมริกานั้น  สถิติยาวกว่าไทยมาก  คือน่าจะเกือบ 100 ปี

ตลาดหุ้นจีนนั้น  เพิ่งจะเริ่มดำเนินการใหม่มาได้ 24 ปี  ราคาหุ้นในวันเปิดตลาดน่าจะ 100 จุดเช่นกัน  แต่เวลาผ่านไป 24 ปีนั้น  ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับตัวขึ้นไปถึง 3,878 จุด สูง 2.6 เท่าของดัชนีตลาดหุ้นไทย  คิดเป็นผลกำไรจากราคาหุ้นโดยเฉลี่ยทบต้นถึงปีละประมาณปีละ 16.5% หรือกว่า 2 เท่าของหุ้นไทย  ถ้ารวมปันผลด้วยปีละ 3-4% ผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนก็สูงลิ่วถึงประมาณ 20% ต่อปีโดยเฉลี่ย  ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนน่าจะระดับ “ต้น ๆ ของโลก”  เหตุผลก็คงเป็นเพราะประเทศจีนในช่วง 24 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงมากเป็น  “ซุปเปอร์สตาร์” อานิสงค์จากการปรับระบบของประเทศเป็น “ทุนนิยม” และ “เปิดประเทศ” ของ เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำของจีนยุคใหม่

มองย้อนหลังไปตั้งแต่เปิดตลาดหุ้น  หุ้นไทยเคยขึ้นไปแบบ  “ซุปเปอร์บูม” มาหนึ่งครั้งคือในปี  2537 ที่ดัชนีขึ้นไปถึง 1,753 จุด แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ตกลงมาต่อเนื่องเหลือเพียง 200 จุดเศษ ๆ หรือเป็นการลดลงถึงเกือบ 90% หลังวิกฤติในปี 2540 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วราคาก็ยังไม่กลับไปที่จุดสูงสุดเดิมแม้ว่าหุ้นกำลังไต่ระดับขึ้นเป็นซุปเปอร์บูมอีกครั้งหนึ่งในช่วงเร็ว ๆ นี้    ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ก็เช่นเดียวกัน  ตลาดหุ้นเคยเป็น  “ซุปเปอร์บูม” มาหนึ่งครั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2007 ดัชนีขึ้นไปสูงสุดที่ 6,092 จุด แต่หลังจากนั้นมันก็เกิด  “วิกฤติ” ดัชนีร่วงลงมาจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2008 เหลือเพียง 1,628 จุด หรือเป็นการลดลงถึง 73% ในเวลาเพียงปีเศษ ๆ  และจนถึงวันนี้ดัชนีก็ยังไม่กลับไปถึงจุดเดิมแม้ว่าหุ้นกำลังไต่ระดับเป็นซุปเปอร์บูมอีกครั้งหนึ่งในช่วงเร็ว ๆ  นี้

มองโดยสรุปแล้ว  ภาพของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้นั้น  ผมคิดว่าเป็นตลาดหุ้นที่คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยในหลาย ๆ  ด้านเพียงแต่ว่ามัน “สุดโต่ง” ยิ่งกว่า  มันเป็นตลาดหุ้นที่มีการ  “เก็งกำไร”  สูงมากเห็นได้จาก  “ภาพใหญ่”  ต่าง ๆ  ที่ได้กล่าวถึงแล้ว  และ  “ภาพเล็ก”  จากข้อเท็จจริงที่ว่า  หุ้นตัวเล็กที่ทำราคาได้ง่ายนั้นมีค่า PE เกิน 50 เท่าเป็นเรื่องปกติ  ในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้นมีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยที่หุ้นตัวใหญ่ก็ไม่ได้มีค่า PE สูงมากนัก ในขณะที่หุ้นตัวเล็กมีค่า PE 60 เท่าเป็นเรื่องปกติ  แต่ในแง่ของพื้นฐานของตลาดแล้ว  ที่ผ่านมา  ตลาดหุ้นจีนก็คล้าย ๆ กับหุ้นไทยในแง่ที่ว่ามันให้ผลตอบแทนระยะยาวที่งดงามมาจนถึงวันนี้โดยที่หุ้นจีนนั้นให้ผลตอบแทนที่  “สุดยอด”

ถ้าจะให้นิยามกับตลาดหุ้นจีนในวันนี้  ผมคงต้องบอกว่ามันคือ  “ซุปเปอร์คาสิโน” ที่คนเล่นหุ้นเหมือนการพนันที่ทำให้มีความเสี่ยงสูงมาก  แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็น  “ซุปเปอร์” ก็คือ  คุณมีโอกาสรวยมหาศาลถ้าคุณ  “เล่นเป็น”  นั่นก็คือ  ลงทุนระยะยาวผ่านร้อนผ่านหนาวไปให้ได้  ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยก็คงคล้ายกัน   อย่างไรก็ตาม  นั่นคืออดีต  อนาคตไม่มีอะไรแน่นอน  นับจากวันนี้ไป  ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้  ทั้งตลาดหุ้นจีน--และไทย

Sunday, July 12, 2015

เศรษฐกิจ จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน

 
   เมื่อวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ผมเข้าไปกราบพระที่วัดอุโมงค์ และสะดุดใจกับป้ายธรรมอันหนึ่งที่เขียนไว้ว่า "เศรษฐกิจ จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน" ไม่ทราบว่าเป็นเทศน์ของครูบาอาจารย์องค์ใด ผมเดาว่าคงเป็นของท่านอาจารย์พุทธทาส เพราะท่านอาจารย์เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาวัดอุโมงค์ให้ร่มรื่นย์ด้วยต้นไม้ ประวัติศาสตร์ และหลักธรรม
  คนทั่วไปคงไม่คิดว่าเศรษฐกิจกับจิตใจเกี่ยวข้องกัน ที่จริงแล้วสองเรื่องนี้แยกจากกันไม่ออก และผูกพันกันในหลายมิติ เพราะเรื่องเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน และพฤติกรรมของคนถูกกำหนดด้วยจิตใจ ปัญหาเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศเผชิญก็สะท้อนถึงสภาวะจิตใจและพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ หนี้ครัวเรือน การขาดวินัยการคลัง การว่างงาน ตลอดจนการคอรัปชั่น ในทางตรงกันข้ามทุกครั้งที่สำรวจสภาพจิตใจของคนในสังคมว่าสุขหรือทุกข์เพียงใด สภาวะเศรษฐกิจจะโผล่ขึ้นมาเป็นปัจจัยขาประจำ
  ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เรามักได้ยินรัฐบาลพูดถึงความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่เสมอ ประเทศไทยมีดัชนีวัดระดับความเชื่อมั่นของคนหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และนักลงทุน เมื่อใดก็ตามที่ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนตกต่ำ รัฐบาลจะขาดความมั่นใจ และต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ ทั้งมาตรการที่อัดฉีดเม็ดเงินจริงลงไปในระบบเศรษฐกิจ และมาตรการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาจิตตกของประชาชน ในบางประเทศรัฐบาลถึงกับแอบแก้ตัวเลขเศรษฐกิจหรือไม่พูดข้อมูลที่แท้จริง เพราะกลัวว่าจิตใจที่วิตกกังวลของประชาชนจะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยากขึ้นไปอีก
  สำหรับภาคธุรกิจแล้ว จิตใจของเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงสำคัญมากต่อความสำเร็จในระยะยาวทั้งของตัวธุรกิจเองและสังคมที่ธุรกิจนั้นเกี่ยวข้อง ถ้านักธุรกิจมีจิตใจดี ยึดมั่นในหลักบรรษัทภิบาล บริหารธุรกิจด้วยความเป็นธรรมต่อคู่ค้า คู่แข่ง พนักงาน และสังคมรอบข้าง ธุรกิจนั้นมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม เราเห็นธุรกิจขนาดยักษ์ใหญ่หลายแห่งต้องสะดุดขาตัวเองล้มลง เพราะมุ่งหวังแต่ผลกำไรระยะสั้น เร่งขยายธุรกิจจนเกินภูมิคุ้มกันที่ตนมี บริหารธุรกิจแบบเอาเปรียบสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น
  มีหลายตัวอย่างที่จิตใจของนักธุรกิจมีผลต่อระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างหนึ่ง คือการพัฒนาคลัสเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐบาลหลายประเทศพยายามส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้นแต่ไม่สำเร็จ เพราะนักธุรกิจส่วนหนึ่งไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกที่จะต้องร่วมมือกับคู่แข่ง(โดยเฉพาะคู่แข่งที่เล็กกว่า)ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ มองว่าการแข่งขันกับความร่วมมือขัดแย้งกัน หรือต้องการหาประโยชน์เข้าตัวเองให้มากที่สุด ทั้งๆ ที่คลัสเตอร์จะช่วยให้ขนาดของทั้งอุตสาหกรรมใหญ่ขึ้น ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง สร้างฐานสำหรับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และสามารถที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมให้มีทักษะและประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ ถ้านักธุรกิจไม่เปิดใจที่จะร่วมมือกับคู่แข่งเพื่อชนะด้วยกันแล้ว จิตใจของนักธุรกิจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตัวเองและของประเทศในระยะยาว
  ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและคุณภาพของสังคมไทยที่ไหลลงเรื่อยๆ จะไม่มีทางแก้ไขได้ ถ้าภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่คิดว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และไม่คิดว่าตนเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เราต้องไม่ลืมว่าทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจมีผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบทั้งทางตรงและผ่านห่วงโซ่อุปทานที่อาจจะเอาเปรียบคนตัวเล็กๆ ในสังคม การละเลยเรื่องสวัสดิการแรงงาน การผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กลยุทธ์การตลาดที่ทำลายคู่แข่งขนาดกลางขนาดเล็ก การจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ชนะการประมูล การโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้บริโภคมีค่านิยมที่ไม่เหมาะสมหรือบริโภคเกินควร ไปจนถึงการไม่จัดการขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่ตนผลิต ถ้าธุรกิจเปิดใจทบทวนวิธีการทำธุรกิจของตนทุกขั้นตอนให้เป็นธรรมต่อคู่ค้า สร้างผลบวก ลดผลลบที่มีต่อสังคม และปรับปรุงวิธีการทำธุรกิจให้ดีขึ้นแล้ว เชื่อได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและคุณภาพของสังคมไทยจะดีขึ้นมาก
  เศรษฐกิจและสังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และสมดุลก็ต่อเมื่อนักธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่) มีจิตใจที่ต้องการเป็นพลเมืองดีของประเทศ คือต้องการเห็นเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมดีขึ้น และไม่รีรอที่จะลุกขึ้นทำสิ่งที่ตนทำได้ ในเรื่องนี้ผมขอชื่นชมคุณบัณฑูร ล่ำซำ ที่ออกมาเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่นิ่งเฉยต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมไม่ได้ชื่นชมคุณบัณฑูรตรงที่ช่วยให้กลไกการทำงานของนโยบายการเงินมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น แต่ชื่นชมที่คุณบัณฑูรช่วยกระตุกกรอบความคิดและจิตใจของนายธนาคารไม่ให้ทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสภาวะเศรษฐกิจและความตึงเครียดในสังคม
  นอกจากเรื่องจิตใจจะสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับประเทศแล้ว เรื่องจิตใจยังสำคัญมากต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชนบทที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่การแย่งทรัพยากรน้ำ การจัดการสารเคมีตกค้างจากการทำการเกษตร การจัดสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ (ที่ต้องรับภาระเลี้ยงหลานที่พ่อแม่ทิ้งไว้) การจัดตั้งสหกรณ์ชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระดับชุมชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนในชุมชนมีจิตใจต้องการชนะด้วยกัน เคารพในสิทธิ์ หน้าที่ และกติกาของชุมชน รวมทั้งมีจิตอาสาที่จะร่วมมือร่วมใจกันทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนโดยรวมดีขึ้น ชุมชนใดที่ขาดผู้นำและผู้ตามที่มีจิตอาสา และจิตที่ยึดมั่นในความถูกต้องตรงธรรมแล้ว ยากที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนได้ในระยะยาว

  ในระดับครัวเรือนและปัจเจกบุคคลแล้ว เรื่องเศรษฐกิจเริ่มที่จิตใจ เพราะจิตใจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและวิถีชีวิตของแต่ละคน ปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายและปัญหาหนี้ครัวเรือนก็มีมิติด้านจิตใจเป็นปัจจัยสำคัญ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสามารถเชื่อมโยงเรื่องเศรษฐกิจกับจิตใจได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจนมาก การใช้ชีวิตของเราทุกคนต้องมีหลักความพอเพียงในจิตใจ เพื่อควบคุมการกินอยู่ จับจ่ายใช้สอยให้พอประมาณ สมเหตุสมผลกับฐานะและความจำเป็นของตน ไม่ลงทุนจนเกินตัว รวมทั้งต้องรู้จริงในเรื่องที่ตนทำ สามารถวางแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่นับวันดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ จิตใจที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ ความอดทน ความเพียร และการพึ่งตนเอง จะเป็นพลังสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน
  เรื่องจิตใจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนทุกระดับมักมองไม่เห็น เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องภายนอกมากกว่าเรื่องภายในตัวเอง (และบ่อยครั้งเราวิตกกับเรื่องในอนาคตหรือในอดีต มากกว่าที่จะหยุดดูสภาวะจิตในปัจจุบัน) ยิ่งเวลาที่คิดถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยแล้ว คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล ธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการเงิน หรือนักลงทุน มากกว่าที่จะมองว่าเป็นเรื่อง(ภายในใจ)ของตน หรือคิดว่าตนจะมีบทบาทช่วยแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร
  สำหรับผมแล้ว การปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะเกิดผลยั่งยืน ต้องเริ่มที่การปฏิรูปในใจของคนในสังคม โดยเฉพาะคนกลุ่มบนที่ได้รับประโยชน์สูงมากจากพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การปฏิรูปเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่สามารถเปิดใจรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นของคนที่คิดต่าง(ด้วยความบริสุทธิ์ใจ)ได้อย่างไม่มีอคติ สามารถเสียสละผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมในระยะยาว กล้าที่จะแสดงจุดยืนสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้องและต่อต้านวิถีเดิมๆ ที่ทำผิดต่อเนื่องกันมา แม้ว่าอาจจะทำให้คนบางกลุ่มไม่พอใจ และทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี คือไม่รีรอที่จะลุกขึ้นทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคม
  เศรษฐกิจไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน มั่นคง และสมดุลได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศเตือนตัวเองเรื่อยๆ ว่า "เศรษฐกิจ จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน"

ยกเครื่องเรื่องการลงทุน/ดร.วิรไท

 
  เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยเวลานี้ดูจะทำงานตะกุกตะกักอยู่หลายตัว คนพูดกันมากเรื่องการบริโภคชะลอตัวเพราะหนี้ครัวเรือนสูง ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนไม่เพิ่มขึ้น การส่งออกหดตัวต่อเนื่องมาหลายเดือนเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า และสินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เห็นข่าวเกี่ยวกับการใช้จ่ายของภาครัฐเริ่มใจชื้นขึ้นบ้าง เครื่องยนต์เริ่มติดแม้ว่าจะยังเดินหน้าไม่เต็มที่ มีอีกหนึ่งเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน คือการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง
  การลงทุนของภาคเอกชนสำคัญมากเพราะจะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว การลงทุนจะช่วยสร้างการจ้างงานเพิ่ม ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคของประชาชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยต้องอาศัยการลงทุนของภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญ โครงสร้างอุตสาหกรรมไทยต้องมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมทันสมัยที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงขึ้นได้ทั้งระบบ
ทำไมผมถึงคิดว่าสถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนน่าเป็นห่วง ข้อมูลการลงทุนจากฐานข้อมูลต่างๆ ส่งสัญญาณเตือนภัยในหลายมิติ
  มิติแรก ตัวเลขการลงทุนโดยรวมของภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ การลงทุนซ่อมแซมโรงงานและเครื่องจักรที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมช่วยให้ตัวเลขการลงทุนสูงขึ้น 2-3ไตรมาส แต่หลังจากผ่านช่วงซ่อมแซมแล้ว การลงทุนของภาคเอกชนก็ลดลงมาเรื่อยๆ
  มิติที่สอง การลงทุนของภาคเอกชนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่ในไม่กี่อุตสาหกรรม ได้แก่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ได้รับอานิสงค์จากการประมูล 3G อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และการขนส่งซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเครื่องบินใหม่ของการบินไทยและสายการบินต้นทุนต่ำ การลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้มักเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนอุปกรณ์เก่า มากกว่าที่จะสร้างฐานการผลิตใหม่ให้แก่ประเทศ ถ้าหักข้อมูลของสามอุตสาหกรรมนี้ออกแล้ว จะพบว่าการลงทุนของอุตสาหกรรมอื่นน่าเป็นห่วงมาก ตัวเลขการนำเข้าเครื่องจักรซึ่งสามารถสะท้อนการลงทุนในภาพใหญ่ได้ดีหดตัวต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปีแล้ว
  มิติที่สาม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีแนวโน้มไปสู่ภาคบริการมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิต และการลงทุนขนาดใหญ่หลายกรณีเป็นการซื้อหุ้นของกิจการที่มีอยู่แต่เดิม (เช่น ซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย) มากกว่าที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ๆ

          มิติที่สี่ ถ้าดูเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงห้าปีหลังต่างจากช่วงห้าถึงสิบปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพระเอก (champion industries) เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงห้าปีหลังกระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมพระรอง (support industries) เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร และกระดาษ อุตสาหกรรมพระรองผลิตวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ อีกที ทำให้เรามองไม่ออกว่าอุตสาหกรรมใดจะขับเคลื่อนภาคการผลิตไทยในอนาคต และอุตสาหกรรมพระรองไม่ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและเศรษฐกิจไทยได้อย่างก้าวกระโดดเหมือนกับอุตสาหกรรมพระเอก
  มิติที่ห้า ถ้าศึกษาข้อมูลโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และใบอนุญาตขอเปิดโรงงานใหม่จะได้ภาพที่คล้ายกันว่าขนาดของโครงการลงทุนหรือโรงงานที่เปิดใหม่มีขนาดเล็กลง สะท้อนว่าโครงการส่วนใหญ่เป็นการขยายกำลังการผลิตต่อยอดโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้ว มากกว่าที่จะเป็นการตั้งฐานการผลิตใหม่
  มิติที่หก ไม่ใช่แต่นักลงทุนต่างชาติเท่านั้นที่สนใจลงทุนในประเทศไทยน้อยลง นักธุรกิจไทยมีแนวโน้มไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยหลายแห่งเห็นโอกาสที่จะไปซื้อสินทรัพย์ราคาถูกและขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ ธุรกิจไทยขนาดกลางออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานสูงซึ่งถูกกระทบจากนโยบายค่าแรง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หลายธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านเพราะนอกจากค่าแรงถูกกว่าแล้ว ตลาดของประเทศเพื่อนบ้านกำลังขยายตัว และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศด้วย
  การชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนน่ากังวลมาก เพราะในขณะที่การลงทุนในประเทศไทยหดตัว การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านกลับขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งสามประเทศมีขนาดของประชากรที่ใหญ่กว่าเรามาก และเป็นประชากรวัยหนุ่มสาวที่เป็นทั้งแรงงานและกำลังซื้อ การขยายตัวของการลงทุนในประเทศเหล่านี้ไม่ได้ตอบสนองตลาดในประเทศเท่านั้น แต่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับการส่งออกด้วย จึงไม่น่าประหลาดใจที่สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการ (โดยเฉพาะสินค้าที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว) ต้องสูญเสียสัดส่วนการตลาดให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน
  นอกจากนี้ เราเคยเชื่อว่าตลาดญี่ปุ่นเป็นของตายเพราะบริษัทญี่ปุ่นมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศไทย แต่กลับพบว่าสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการมีสัดส่วนตลาดในญี่ปุ่นลดลง คงเป็นเพราะบริษัทญี่ปุ่นไปลงทุนโครงการใหม่ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ นักอุตสาหกรรมบางท่านเกรงว่านโยบาย Thailand Plus One ของบริษัทญี่ปุ่น จะเป็นนโยบาย Exit Thailand เราต้องไม่ลืมว่าคนญี่ปุ่นสุภาพไม่พูดตรงๆ
  ถ้ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดผลต่อเนื่องทั้งวันนี้และวันหน้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ยกเครื่องเรื่องการลงทุน” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมทันสมัยต้องเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์หลักของประเทศ ทำอย่างบูรณาการ และมีผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบพร้อมทั้งมีแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน ควรยกเครื่องเรื่องการลงทุนอย่างน้อยในสี่เรื่องต่อไปนี้
  เรื่องแรก จะต้องทำงาน"เชิงรุก"เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกให้ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตทันสมัย การตัดสินใจลงทุนของบริษัทชั้นนำจะดึงผู้ผลิตอื่นๆ ในห่วงโซ่การผลิตตามมาอีกมากและสร้างความมั่นใจในประเทศไทย การทำงานเชิงรุกต้องทำในหลายมิติ ตั้งแต่การกำหนดอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องมี market intelligence ที่รอบด้านเพื่อติดตามแผนการลงทุนของบริษัทชั้นนำอย่างใกล้ชิด และอาจจะต้องพิจารณาว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรให้มาตรการจูงใจแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับบริษัทชั้นนำ (customized package) ที่ตรงกับความต้องการของบริษัทเหล่านี้เหมือนกับที่ประเทศคู่แข่งของเราทำ มาตรการที่ตรงใจอาจไม่ใช่สิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบที่เราให้มาโดยต่อเนื่อง
  เรื่องที่สอง ต้องเร่งสร้างความชัดเจนทางนโยบายในหลายด้าน โดยเฉพาะกรอบส่งเสริมการลงทุนใหม่ของ BOI ที่ประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่ต้นปี หลายเรื่องยังขาดความชัดเจน เช่น การส่งเสริมการลงทุนแบบคลัสเตอร์ หรือกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติตามเกณฑ์ merit ของ BOI นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งประกาศรายละเอียดของเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมทันสมัยและอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรม เพิ่มเติมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ควรสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เพราะบริษัทชั้นนำไม่ต้องการเลี่ยงกฎหมายด้วยการใช้ nominee และต้องการทราบถึงแนวทางการเปิดเสรีภาคบริการที่อยู่ในบัญชีแนบท้าย
  เรื่องที่สาม ต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยมีประสิทธิภาพ กล้าตัดสินใจ และทำได้จริง ความมั่นใจในประสิทธิภาพของรัฐไทยเสื่อมลงมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ตามมาด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้รัฐไทยเป็นอัมพาต และข่าวร้ายเกี่ยวกับความล้มเหลวของหน่วยงานราชการตั้งแต่เรื่อง ICAO และ IUU จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานราชการไทยมีประสิทธิภาพ และไม่ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม (โดยเฉพาะอาชีวะศึกษา และการผลิตแรงงานมีทักษะ) ต้องเริ่มกระบวนการปฏิรูประบบราชการ ต้องแก้ปัญหาหน่วยงานราชการที่เป็นปัญหาแก่ภาคธุรกิจ (เช่น ทบทวนระบบรางวัลนำจับของศุลกากร ปรับกระบวนการต่ออายุ visa สำหรับนักธุรกิจต่างชาติ) รัฐบาลต้องเดินหน้าจัดการการทุจริตคอรัปชั่นที่เป็นต้นทุนแฝงของธุรกิจเอกชนโดยต่อเนื่อง และที่สำคัญจะต้องเร่งเปิดประมูลโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ที่ประกาศไปนานแล้วให้เดินเครื่องได้จริงโดยเร็ว
  เรื่องที่สี่ ควรกำหนดจุดยืนของประเทศไทยเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะข้อตกลง Trans Pacific Partnership (TPP) ซึ่งมีแนวโน้มจะเจรจาได้สำเร็จหลังจากที่รัฐสภาอเมริกาให้อำนาจประธานาธิบดีโอบามาเดินหน้าแบบ fast track ข้อตกลง TPP จะเป็นมาตรฐานการค้าใหม่ของโลก เพื่อนบ้านสำคัญของเราสามประเทศคือ เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ร่วมอยู่ในข้อตกลง TPP กลุ่มแรกแล้ว ส่งผลให้ธุรกิจที่ไปลงทุนในประเทศเหล่านี้จะได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศดีกว่าการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะสำหรับการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
  ถ้าเราไม่เร่งยกเครื่องเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกกี่รอบ เศรษฐกิจไทยก็จะอ่อนไหว เปราะบาง และตะกุกตะกักไปอีกนาน

หลังชนฝา / โดย คนขายของ

 
   เมื่อสี่สิบปีก่อนดอกเบี้ยฝากประจำ 15% เป็นเรื่องปกติ เมื่อสิบกว่าปีก่อนดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ 5% เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากดอกเบี้ยเป็นขาลงตลอด จนมาถึงตอนนี้ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าผลตอบแทนจากการฝากเงินเพื่อกินดอกเบี้ยอย่างเดียวดูไม่ดึงดูดใจ ยิ่งหากใครอยู่ในวัยเกษียณ หากต้องการเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท ถ้าฝากเงินกินดอกเบี้ยอย่างเดียว เขาเหล่านั้นต้องมีเงิน ในบัญชีฝากประจำอย่างน้อย 25 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องยากที่คนทำงานเป็นพนักงาน เป็นข้าราชการ เป็นลูกจ้าง จะมีเงินเก็บได้ถึงขนาดนั้น ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทำให้คนส่วนใหญ่ ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องออกไปหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนซึ่งมากกว่าการฝากเงินในธนาคาร

  ทางเลือกหนึ่งทีเป็นที่นิยมกันคือการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถ้ามองในเรื่องความเสี่ยงแล้วคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ความเสี่ยงของพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรัฐบาลเป็นประกัน ตอนนี้พันธบัตรของ รัฐบาลไทยให้ดอกเบี้ยอยู่ราวๆ 3.5-4% แต่ถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาลของต่างประเทศ บางประเทศ ให้ดอกเบี้ยสูงมากถึง 8-9% แต่ทั้งนี้ผู้ซื้อต้องรับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอง ทางเลือกที่สอง คือการซื้อทองคำเก็บไว้ ด้วยความเชื่อที่ว่าราคาทองคำในระยะยาวนั้นจะชนะ เงินเฟ้อ ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 15 ปีพบว่าราคาทองขึ้นมามากกว่า 3 เท่า ผู้คนจึงให้ความ สนใจ ทางเลือกที่สาม คือการเข้าซื้อหุ้นในกิจการที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่ง จำเป็น และไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไรคนก็ยังต้องกินต้องใช้ ดังนั้นหุ้นที่เกี่ยวกับการผลิต ไฟฟ้า ประปา จึงน่าสนใจ

  แต่ทางเลือกทั้งสามจะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย 100% ที่นักลงทุนสามารถซื้อและถือลืมไปได้เลย โดยไม่มีโอกาสขาดทุนจริงหรือ? เราจะย้อนไปดูประวัติศาสตร์เพื่อตอบคำถามเหล่านี้กัน ในหนังสือ This time is different: Eight centuries of Financial Folly ได้รวบรวมการผิดนัดชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศต่างๆในรอบ 200 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีถึง 82 ประเทศที่มีปัญหาทางการเงิน บางประเทศมีปัญหามากกว่า 5 ครั้ง ประเทศที่มีความมั่งคั่งสูงอย่าง เยอรมัน หรือ อังกฤษ ก็เคยประสบปัญหาเหมือนกัน ดังนั้น การลงทุนในพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรต่างประเทศ ก็นับว่าไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ แล้วทองล่ะ? ถ้าเราหันมาดูราคาทองคำในรอบสี่สิบปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีรอบการขึ้นใหญ่ อยู่สองรอบ คือในช่วง ปี 1979-1982 และในช่วง 2000-2012 การจับจังหวะของวัฏจักร เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณพลาดไปซื้อทองในปี 1980 ที่ราคา 700$/ounce คุณต้องรอไปอีก 27 ปีถึงจะได้ทุนคืน

  หุ้นสาธารณูปโภคที่ดูเหมือนจะปลอดภัยมาก แต่ในสถานะการณ์การเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงในปัจจุบันนี้ แม้แต่มืออาชีพอย่างผู้จัดการกองทุนชื่อ John Paulson ก็ยังพลาด ซึ่งนิตยสาร FORTUNE รายงานว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้น Athen Water ของกรีซเมื่อปีที่แล้วมูลค่ากว่า สี่พันล้านบาท กิจการนี้เป็นกิจการผูกขาด แต่ตอนนี้กิจการมีปัญหาเนื่องจากขายน้ำประปาให้รัฐ แต่รัฐไม่มีเงินจะชำระหนี้ คาดกันว่าตอนนี้ Paulsonขาดทุนไปมากกว่า 50%แล้ว

  ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอาจจะมีผลดีในแง่กระตุ้นการลงทุนได้มากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนที่ไม่มี รายได้ประจำโดยเฉพาะคนวัยเกษียณไม่สามารถดำรงชีพได้ด้วยดอกเบี้ยเงินฝากเพียงอย่างเดียว คนกลุ่มนี้ต้องดิ้นรนเพื่อหาผลตอบแทนในการลงทุนที่สูงขึ้น แต่เพราะขาดความชำนาญ ทำให้อาจ มองการลงทุนด้วยภาพที่สวยหรูเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น บางคน ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนเลย แต่ต้องออกไปสู้ในตลาดทุนตลาดเงินเพราะรายได้หลังเกษียณ ไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องออกไปสู้เพราะตอนนี้หลังชนฝาแล้ว การตัดสินใจในการลงทุนอาจทำโดย การอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มาสองสามบรรทัดแล้วลงทุนเลย ทำให้ผิดพลาดได้ง่าย  เพื่อที่จะฝ่าวงล้อมทุนนิยมนี้ไปได้ ผมใคร่ขอแนะนำให้ทุกบ้านทุกครัวเรือน เริ่มศึกษาหา ความรู้ในการลงทุนอย่างจริงจัง หากท่านไม่ถนัดในเรื่องเงินทอง ก็อาจจะมองหาลูกหลานที่มีแวว เพื่อปั้นขึ้นมาเป็นดาวเด่นในเรื่องลงทุนของครอบครัวท่าน ทั้งนี้เพราะในภาวะดอกเบี้ยต่ำที่ยาวนาน ความรู้เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกบ้านควรมีเป็นสมบัติของตัวเอง

Monday, July 6, 2015

หุ้นแบ้งค์/ ดร.นิเวศน์



  สัปดาห์ที่แล้วหุ้นกลุ่มแบ้งค์โดยเฉพาะที่เป็นแบ้งค์ขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งปรับตัวลดลงอย่างแรง  ประมาณ 4-5% ในวันเดียวทั้งที่ตลาดหุ้นโดยทั่วไปและหุ้นขนาดใหญ่ตัวอื่นไม่ได้ถูกกระทบอะไรมากนัก  เหตุผลนั้นมีการอธิบายว่าเป็นเรื่องของปริมาณหนี้เสียหรือ NPL ที่จะเกิดเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะจากลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กหรือ SME ที่มีอยู่มากในแบ้งค์ขนาดใหญ่บางแห่ง  ซึ่งจะทำให้แบ้งค์มีต้นทุนสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นและจะทำให้กำไรลดน้อยลงในไตรมาศสองและต่อไปในช่วงที่เหลือของปี  นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มปรับประมาณการกำไรของแบ้งค์ขนาดใหญ่ลง

  นอกจากเรื่องของหนี้เสียของ SME แล้ว  ภาพของธุรกิจแบ้งค์เองนั้นก็ไม่สดใส  สภาวะเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำลงและยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวชัดเจนก็ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อมีน้อยซึ่งจะส่งผลให้กำไรโดยรวมไม่เติบโต  นอกจากนั้น  อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แบ้งค์ต้องประกาศลดเพื่อให้สอดคล้องกับการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบ้งค์ชาติ  แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นกลับลดลงน้อยกว่า  นั่นอาจทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยหรือ Net Interest Margin (NIM) ของแบ้งค์ขนาดใหญ่ลดลงด้วย  ผลก็คือ  กำไรของแบ้งค์โดยเฉพาะที่เป็นแบ้งค์ขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีลูกค้าเป็นกิจการหรือบริษัทต่าง ๆ  จำนวนมากนั้น  น่าจะมีแนวโน้มลดลงพอสมควร

  ในส่วนของแบ้งค์ขนาดเล็กนั้น  ธุรกิจหลักอย่างหนึ่งก็คือ  การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะที่เป็นการเช่าซื้อรถยนต์  ธุรกิจนี้ถูกกระทบมาน่าจะเป็นปีแล้วก่อนที่แบ้งค์ขนาดใหญ่จะประสบปัญหาเรื่อง NPL  ในรอบนี้  เหตุผลก็เพราะว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ”  รอบนี้ดูเหมือนว่าจะเริ่มจากบุคคลธรรมดาที่ก่อหนี้มากขึ้นมากในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ขาดรายได้ที่จะจ่ายหนี้เงินกู้และกลายเป็น NPL  มาได้ระยะหนึ่งแล้วและอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีก นี่ก็เป็นเรื่องของสินเชื่อ  แต่แบ้งค์ขนาดเล็กเองนั้น  ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่สำคัญนั่นก็คือ  ธุรกิจหลักทรัพย์  ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะถูกกระทบเหมือนกันในยามที่ตลาดหุ้นซบเซาอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้  ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำลงในปีนี้ทำให้รายได้จากค่าคอมมิชชั่นลดลง  เช่นเดียวกัน  ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นที่ลดลงก็น่าจะส่งผลให้กิจกรรมด้านของวาณิชธนกิจลดลง  เช่นเดียวกับกิจกรรม “Prop Trade” หรือการลงทุนในหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของแบ้งค์ที่อาจจะมีกำไรลดลง  ผลก็คือ  แบ้งค์เล็กก็อยู่ในฐานะที่ไม่ดีเช่นเดียวกับแบ้งค์ใหญ่

  ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ทำให้หุ้นแบ้งค์เล็กถูก “เทขาย”  มาน่าจะหลายเดือนหรือปีก่อนและหุ้นแบ้งค์ใหญ่ถูกเทขายมากในช่วงนี้  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  ราคาของหุ้นแบ้งค์ทั้งกลุ่มตกลงมาต่อเนื่องจนกลายเป็นหุ้นกลุ่มที่มีราคา  “ถูกที่สุด”  ในตลาดหลักทรัพย์  โดยที่ค่า PE ของแบ้งค์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 เท่ากับ 9.74 เท่า ค่า PB เท่ากับ 1.31 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนเท่ากับปีละ 3.36% ในขณะที่ค่า PE ของตลาดอยู่ที่ 19.89 เท่า  ค่า PB อยู่ที่ 2.02 เท่า และปันผลเท่ากับ 2.94% ต่อปี   มองอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  ราคาของหุ้นแบ้งค์ในขณะนี้ถูกเป็น “ครึ่งหนึ่ง” ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยรวม  อะไรทำให้หุ้นแบ้งค์มีราคาถูก?   หรือหุ้นแบ้งค์ไม่ได้ถูก  แต่ตลาดหุ้นไทยมีราคาแพง?  นี่คือคำถามที่ผมพยายามตอบ

  คำตอบหนึ่งที่คนอาจจะพยายามอธิบายก็คือ  หุ้นแบ้งค์มีราคาถูกกว่าหุ้นกลุ่มอื่นเพราะแบ้งค์นั้นอาจจะประสบปัญหาผลการดำเนินการตกต่ำมากกว่าบริษัทกลุ่มอื่น ๆ  ทั้งหมดเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นกระทบกับแบ้งค์มากกว่าภาค “เศรษฐกิจจริง”   ข้อนี้  ผมเองอยากเถียงว่า   จริงอยู่ในช่วง “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้นจากภาค “การเงิน” นั้น  แบ้งค์อาจจะเสียหายมากกว่าคนอื่น  แต่ในช่วงที่เป็นเรื่องของความ “ซบเซา” ของเศรษฐกิจนั้น  แบ้งค์น่าจะถูกกระทบในระดับกลาง ๆ  คือเท่ากับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ  นั่นก็คือ  หุ้นบางกลุ่มอาจจะดีกว่าและบางกลุ่มก็อาจจะแย่กว่าแบ้งค์  ผลประกอบการของแบ้งค์น่าจะตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั่นคือ  ถ้าเศรษฐกิจโตแค่ 2-3% แบ้งค์ก็น่าจะโตเท่า ๆ  กันหรืออาจจะไม่โตแต่แบ้งค์ก็ไม่น่าจะ  “หายนะ” แบบที่มักเกิดขึ้นเวลามี  “วิกฤติการเงิน” ที่สภาพคล่องทางการเงินหดหายไปอย่างรวดเร็ว

  คำตอบส่วนตัวของผมก็คือ  หุ้นแบ้งค์นั้น  “ไม่ได้ถูก”  แต่หุ้นแบ้งค์ในขณะนี้นั้นน่าจะมีราคาที่  “สมเหตุผล” สำหรับภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจของแบ้งค์ในขณะนี้  เพราะถ้าเราดู  “ประวัติศาสตร์” ของตลาดหุ้นไทยและหุ้นแบ้งค์ในระยะยาวแล้ว  เราก็จะพบว่าค่า PE ของตลาดหุ้น  ซึ่งก็น่าจะใกล้เคียงกับค่า PE ของกลุ่มแบ้งค์ที่เป็น  “ตัวแทนเศรษฐกิจไทย”  นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในระดับประมาณ 10 เท่า เท่านั้น  การที่ค่า PE ของตลาดในช่วงนี้และหุ้นกลุ่มแบ้งค์ในช่วงก่อนหน้านี้เล็กน้อยมีค่าสูงถึงเกือบ 20 เท่าหรือสิบกว่าเท่านั้น  ผมคิดว่าเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นไทยมีการ “เก็งกำไร” ที่สูงกว่าปกติ  และการเก็งกำไรนี้มาจากนักลงทุนไทยโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่เข้ามาลงทุนหรือ  “เล่นหุ้น”  กันมากสังเกตได้จากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากมาหลายปีโดยเฉพาะในหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูงจนทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยนั้น  “สูงที่สุด” ในหมู่ประเทศใน AEC

  การเข้ามา  “เล่นหุ้น” ของนักลงทุนส่วนบุคคลทำให้เกิดภาวะที่คล้าย ๆ  กับมี  “ตลาดคู่” ในตลาดหลักทรัพย์  นั่นคือ  ตลาดของ “นักเก็งกำไร” ที่ประกอบด้วยนักลงทุนส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่  กับตลาดของ “นักลงทุน”  ที่ประกอบไปด้วยนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก   โดยที่ “หุ้นเก็งกำไร”  นั้นก็มักจะเป็นหุ้นขนาดเล็กและ/หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำ และมี Story หรือเรื่องราวที่จะชักจูงให้คนเข้ามาเล่นได้มาก  ในขณะที่หุ้น  “ลงทุน” นั้น  มักเป็นหุ้นขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากที่มีปริมาณหุ้นซื้อขายในตลาดมหาศาลและไม่มีใครสามารถไล่หรือทำราคาได้

ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีจนถึงปัจจุบันนั้น  ผมคิดว่าคนไทยรุ่นใหม่เข้าเล่นหุ้นกันมากขึ้นและได้นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นมาก  พวกเขามักจะเล่นหุ้นที่เป็นหุ้นเก็งกำไรมากกว่าหุ้นลงทุน  ทำให้ตลาดหุ้น “เก็งกำไร”  เช่น  หุ้นในตลาดหุ้น MAI และหุ้นเล็กและหุ้น  “มี Story” ในตลาดหลักทรัพย์มีราคาสูงขึ้นมาก  ค่า PE ในตลาดหุ้น MAI สูงขึ้นไปถึง 63 เท่าในปัจจุบัน  เช่นเดียวกับหุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่มี Story ในตลาด SET ก็มีราคาแพงลิ่วพอ ๆ กัน  “ดีกรี”  หรืออัตราการเก็งกำไรใน  “ตลาดหุ้นเก็งกำไร”  นี้  ผมคิดว่ายังคง  “ร้อนแรง”  พอสมควรเห็นได้จากการที่หุ้นขนาดเล็กและหุ้น IPO ขนาดเล็กก็ยังสามารถแสดง  “อภินิหาร”  ได้แม้ในยามที่ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่เอื้ออำนวย

ใน  “ตลาดหุ้นลงทุน” นั้น  คนที่เป็นผู้เล่นหลักซึ่งได้แก่นักลงทุนต่างประเทศนั้น  ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น  ตรงกันข้าม  พวกเขา  “ทยอยถอนทุน” ออกไปเรื่อย ๆ มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว  แม้ว่านักลงทุนสถาบันของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นพอสมควรแต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  นี้ที่ภาวะเศรษฐกิจและเรื่องอื่น ๆ  ของไทยไม่เอื้ออำนวย  ดังนั้น  ราคา “หุ้นลงทุน”  จึงไม่เพิ่มขึ้นและบางทีกลับลดลง  โดยที่หุ้นกลุ่มแบ้งค์ซึ่งแทบจะเป็นหุ้นของนักลงทุนโดยเฉพาะนั้น  เป็นกลุ่มที่สะท้อนความคิดและมุมมองของ  นักลงทุนได้ดีที่สุด  และนั่นก็น่าจะเป็นที่มาว่าทำไมหุ้นกลุ่มแบ้งค์จึงมีราคา  “ถูก”  เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นกลุ่ม  “เก็งกำไร”

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ผมไม่รู้ว่าหุ้นกลุ่มแบ้งค์ในเวลานี้ถูกหรือต่ำกว่าพื้นฐานหรือไม่  แต่เนื่องจากมันเป็นกลุ่มที่  “ถูกที่สุดในตลาด” ในเวลานี้  และก็ไม่แพงกว่าข้อมูลในประวัติศาสตร์ของมัน  ผมจึงคิดว่ามันเป็นกลุ่มที่ “น่าสนใจ” ถ้าเราคิดว่าประเทศและตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะเกิด “วิกฤติ” ในอนาคตอันใกล้

Sunday, July 5, 2015

ลงทุนปี 2015

ดูการลงทุนปี 2015

เป็นวาระเดียวกันของทุก ๆ ปีที่ผมจะใช้พื้นที่บทความแรกในการ “มอง” การลงทุนปี 2015 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายมากมาย โดยจะขอรวบรวมประเด็นเหตุการณ์ที่เป็นแนวโน้มสำคัญ ๆ มาสรุปให้ดังนี้ครับ

            เหตุการณ์สำคัญอันแรกคือ “จุดเปลี่ยนพลังงาน” ปี 2015 จะเป็นปีแรกที่การส่งออกน้ำมันจากประเทศสหรัฐอเมริกาแซงหน้าประเทศยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม OPEC อย่างซาอุดิอาราเบีย ถ้าเราพูดเรื่องนี้เมื่องห้าหกปีที่แล้วคงไม่มีใครเชื่อ แต่ด้วยเทคโนโลยีเชลล์แก๊ส ทำให้อเมริกาเปลี่ยนจาก “ผู้นำเข้ารายใหญ่” เป็น “ผู้ส่งออกรายใหญ่” แทน ซึ่งทำให้ภาพพลังงานจากฟอสซิลเปลี่ยนไปมาก ราคาน้ำมันถูกกดดันอย่างมากในปี 2014 จนไม่รู้ว่า “จุดสมดุล” ของราคาพลังงานใหม่ จะไปอยู่ที่ไหน

            สำหรับประเทศไทยที่มีการบริโภคน้ำมันสูง นี่อาจจะเป็นข่าวดีที่ช่วยกำลังซื้อในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและการขนส่ง แต่ราคาน้ำมันก็ส่งผลกระทบในด้านลบเช่นเดียวกัน เช่น นักท่องเที่ยวและธุรกิจส่งออกกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาจจะน้อยลง หรือสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงานอาจจะถูกกดดัน แต่บทเรียนหนึ่งในเรื่องนี้คือ การพึ่งพาบางสิ่งบางอย่างมาก ๆ ไม่ส่งผลดี เหมือนกับเวเนซูเอล่า หรือรัสเซียที่พึ่งพาน้ำมันจนทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

            เหตุการณ์สำคัญที่สองคือ “จุดเปลี่ยนอิทธิพลประเทศจีน” จีนกำลังจะเปลี่ยนจากประเทศที่รับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI Inflow) กลายเป็น ประเทศที่ไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าแทน (FDI Outflow) มหัศจรรย์ของการเติบโตเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจ (改革开放) ในทศวรรษที่ 80 คือการรับการลงทุนจากต่างประเทศ จนประเทศจีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงจีนถีบตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันจีนก็มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงได้หลายอย่าง (ประเทศจีนกำลังจะส่งยานลงดวงจันทร์เป็นประเทศที่สองต่อจากอเมริกาในปี 2016) ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทจีนจำนวนมาก ก้าวขาเข้าไปติดอันดับในบริษัทระดับโลก และกำลัง “มุ่งหน้า” ออกมาลงทุนต่างประเทศ

            ในประเทศไทย เราเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเข้ามาใช้บริการในเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ เริ่มมาใช้บริการโรงพยาบาล เริ่มมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เริ่มเห็นการทำ Joint Venture กับบริษัทจีนมากขึ้น และที่เด่นชัดมากคืออิทธิพลของรัฐบาลจีนในภูมิภาคนี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ

            เหตุการณ์สำคัญที่สามคือ “จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยี” ในปี 2015 คาดการณ์ยอดขายของแทปเล็ต จะแซงหน้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ยอดโฆษณาบนอินเตอร์เน็ต จะแซงหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อนอกบ้าน รวมไปถึงจำนวนเบอร์มือถือทั่วโลกจะนำหน้าจำนวนประชากรโลก ประชากรบนโลก Facebook จะแซงหน้าประชากรจีน เกิดวิถีชีวิตออนไลน์ตลอดเวลา เก็บข้อมูลบน Cloud ซึ่งเข้าถึงได้ทุกที่ สิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้เกิด “การค้า” บนโลกออนไลน์ยิ่งเข้มข้นขึ้นไปกว่าเดิม ในประเทศจีน มหาเศรษฐี 3 อันดับแรก ก็มาจากโลกการค้าออนไลน์ทั้งสิ้น อันดับ 1 คือเจ้าของอาลีบาบา อันดับสอง คือเจ้าของไป๋ตู้ อันดับสามคือ เจ้าของเทนเซนต์โฮลดิ้ง) ดังนั้นธุรกิจจึงจำเป็นต้อง “ใช้ประโยชน์” จากเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ และต้องหลีกเลี่ยงการโดนคุกคาม ไม่เช่นนั้นก็เห็นบทเรียนของหลายบริษัทแล้วว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำลายล้าง ( Disruption ) จนธุรกิจขนาดใหญ่ต้องล้มหายตายจากไป

            เหตุการณ์สำคัญที่สี่ คือ “จุดเปลี่ยนของดอกเบี้ยและเงินทุน” ดอกเบี้ยมีทิศทางใหญ่เป็นขาลงมาโดยตลอด และเป็นขาลงอย่างหนักตั้งแต่วิกฤต Subprime แต่ปีหน้า FED กำลังบอกว่าดอกเบี้ยจะเริ่มขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบเจ็ดปี นอกจากนั้น “กระแสเงินทุน” จากมาตรการ QE ก็กลับทิศจากไหลออกเป็นไหลเข้า ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เงินทุนที่หดหาย ย่อมส่งผลกดดันให้ต้นทุนทางการเงินธุรกิจสูงขึ้น ดังนั้นราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่วิกฤต Subprime อาจจะชะลอตัวลง เพราะนักลงทุนจะให้คุณค่าสินทรัพย์ที่มี “เงินปันผล” หรือ “กระแสเงินสด” สูงแทน

            เหตุการณ์สำคัญที่ห้า คือ “จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ไล่ตั้งแต่การเมืองไทยที่น่าจะร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ, การเปิดเสรี AEC ในปลายปี, การเริ่มก่อสร้าง Infrastructure ครั้งใหญ่ของประเทศ, เหตุการณ์สำคัญอีกอย่างคือ “ฟองสบู่หุ้นตัวเล็ก” ที่ก่อตัวมานานจะมีจุดจบอย่างไร เพราะปีที่ผ่านมามี IPO และนักลงทุนรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ดูเหมือนการพัฒนาในเชิง “คุณภาพ” จะตามไม่ทัน “ปริมาณ” รายงานที่ทรงคุณค่าของศาตราจารย์ร็อบบิ้น ผู้ที่มีส่วนในการก่อตั้งตลาดทุนไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน กล่าวไว้ว่า

            “ตลาดหลักทรัพย์ที่ดีจะต้องสามารถทำหน้าที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างราคาในตลาดของหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งกับคุณค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้น ๆ จะต้องสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผลเสมอ ราคาทั้งสองอาจจะแตกต่างห่างไกลกันได้เป็นครั้งคราว แต่ในระยะยาวความสัมพันธ์จะต้องมี มิฉะนั้นแล้ว ตลาดทุนก็จะกลายเป็นแหล่งการพนันไป” ตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีหน้า ควรจะมีจุดเปลี่ยนที่การลงทุนสะท้อนคุณค่าบริษัท มากกว่าการเล่น “ราคา” มิฉะนั้นตลาดหุ้นแบบการพนันจะทำให้สุดท้ายคนที่บาดเจ็บคือ “นักลงทุน” ทุกคน

            ขอใช้โอกาสนี้สวัสดีปีแพะครับ ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ

อคติของแมงเม่า / วีระพงษ์ ธัม

 
   ผมเคยตั้งคำถามว่าสิ่งที่แตกต่างที่สุดระหว่างเซียนกับแมงเม่าคืออะไร ? ยุคสมัยนี้จะบอกว่าแมงเม่ามีข้อมูลน้อยกว่า ผมคิดว่าไม่ใช่อีกต่อไป ด้วยกระแสข้อมูลมากมาย แมงเม่าอาจจะมีข้อมูลเยอะกว่า เร็วกว่าเสียอีก เทคนิคและวิธีการลงทุนก็เป็นสิ่งที่เรียนกันทันโดยใช้เวลาไม่นานนัก และดูเหมือนช่องว่างทุกอย่างที่กล่าวมาจะแคบลงเรื่อย ๆ แต่ก็แปลกที่ผมเห็นเซียนหุ้นสามารถทำผลตอบแทนได้สูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แมงเม่าทำผลตอบแทนได้ต่ำอยู่ตลอดเวลา ข้อสรุปส่วนตัวของผม คิดว่าช่องว่างนี้เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า “อคติของแมงเม่า”

            อคติ ( Bias ) หมายถึง มุมมองที่เรามีต่อสิ่ง ๆ หนึ่ง และหลายครั้งก็ปฏิเสธการมองมุมมองอื่น นำมาซึ่งการตัดสินใจที่มีคุณภาพแย่กว่า และผลลัพท์ที่แย่กว่าในระยะยาว โชคร้ายที่ในการลงทุนในระยะสั้นนั้นมี “โชค” มาเกี่ยวข้องพอสมควร จึงทำอาจจะเกิดผลลัพท์ที่ดีในระยะสั้นได้แม้ว่าจะมีอคติมากแค่ไหน หรือตัดสินใจแย่แค่ไหน อันที่จริงประเทศไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีปัญหาการเมืองสูง ส่วนหนึ่งก็เพราะจากอคติ ที่มากล้นในสังคมไทย ช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากผมต้องเลือกโรงเรียนและดูการศึกษาให้ลูก ผมจึงสังเกตเห็นว่าระบบการศึกษาไทยมีการเรียนวิชาประเภท “ปรัชญา” หรือ “การตีความ” น้อยมาก แม้กระทั่งยุคปัจจุบัน นี่อาจจะเป็นสาเหตุนี้ที่ทำให้เราไม่รู้จัก “มอง” “คิด” “วิเคราะห์” “แยกแยะ” และทำให้อคติเป็นสิ่งที่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน

            สำหรับการลงทุนและธุรกิจแล้ว นิตยสาร Harvard Business Review มีการพูดถึงเรื่องการตัดสินใจ ( Decision Making ) ผลการศึกษาพบว่า เหตุผลหลักของการตัดสินใจที่มีคุณภาพต่ำมีสองเรื่องคือ การมีแรงจูงใจไม่มากพอ เช่น ความตั้งใจในการลงทุนที่น้อยเกินไป หรือที่ได้ยินบ่อย ๆ คือ ลงทุนเพื่อหาค่ากับข้าว แทนที่จะลงทุนเพื่อเปลี่ยนชีวิต และสาเหตุที่สองซึ่งเป็นหลักใหญ่คือ “อคติ” ซึ่งมีตัวอย่างอคติตามหมวดหมู่ดังนี้

            1. อคติที่เกี่ยวกับการกระทำ เรามีแนวโน้มที่จะ “มองโลกในแง่ดี” มากกว่าการ “มองโลกในแง่ร้าย” (Excessive Optimism) แนวโน้มนี้คือ เราคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามที่เราคิด เป็นไปตามที่ผู้บริหารพูด ทั้ง ๆ ที่บางครั้งโอกาสสำเร็จอาจจะต่ำมาก อคตินี้เป็นอคติหลักในตลาดหุ้นเพราะคนที่มองโลกในแง่ร้าย มักจะไม่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากนั้นยังอคติยังทำให้เรามี “ความมั่นใจ” สูงผิดปกติ (Over Confidence) เพราะนักลงทุนย่อมคิดว่าเราลงทุนได้ “เก่งกว่า” กองทุนหรือคนอื่น ๆ (ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ลงทุนเอง) แมงเม่าจะมีอคติเรื่องนี้สูง จึงลงทุนในหุ้นที่ “ยาก” และ “เสี่ยง” กว่า (แต่มักจะคิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง เพราะการมองโลกในแง่ดีและมั่นใจในตัวเอง) ต่างจากนักลงทุนชั้นยอดที่มอง “ความเสี่ยง” และเน้นความปลอดภัยไว้ก่อน

            2. อคติที่เกี่ยวกับวิธีคิด ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้เรามองมุมมองอื่น ๆ ลดลง เช่น ถ้าเราค่อนข้างเชื่อในความคิดของเรา เรามักจะมุ่งที่จะ “เลือก” หาแต่สิ่งที่ “เกื้อหนุน” ความคิดเรามายืนยันสิ่งที่เราคิด (Confirmation Bias) โดยละเลยความคิดอื่นที่หักล้างความคิดหลักของเรา หูเราจะทวนลม หรือมองข้าม ถ้าความคิดนั้นเป็นสิ่งตรงข้าม แต่เราจะเลือกจดจ่อรับฟังเฉพาะสิ่งที่เราคิดไว้ หรือเราค่อนข้าง “ยึดติด” ความคิดเดิมของเรา (Anchoring) หุ้นตัวนี้เคยมีราคาเท่านี้ เราไม่ได้ซื้อ ตอนนี้ราคาขึ้นมาแล้ว เราจะยิ่งไม่อยากจะซื้อ เนื่องจากอคติข้อนี้

            3. อคติที่เกียวกับกรอบการมองต่าง กรอบที่สำคัญที่สุดของนักลงทุนคือ “ราคาต้นทุน” (Sunk Cost Fallacy) ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของเราอย่างไม่น่าเชื่อ เรามีแนวโน้มที่จะขายหุ้นได้ง่ายกว่ามากถ้าเรามีต้นทุนที่ต่ำ และเราจะไม่ขายหุ้นถ้ามีต้นทุนที่สูง ซึ่งกรอบความคิดแบบนี้มักจะพาเราสู่ความล้มเหลว อันที่จริงราคาต้นทุนเราแก้ไขไม่ได้แล้ว ถือว่าไม่มีค่า สิ่งที่มีค่าคือราคาปัจจุบันต่างหาก หรือการที่คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ทำให้สิ่งนี้เป็น “ต้นทุน” และ “กรอบความคิด” ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น (Status Quo Bias) เช่น เราชอบหุ้นตัวนี้ กลุ่มนี้ ไม่อยากจะไปศึกษาตัวใหม่ ๆ เป็นต้น

            นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่อคติในโลกความเป็นจริงมีมากกว่านี้มาก อคติเป็นธรรมชาติที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด สิ่งที่เราทำได้คือให้รู้ว่ามันมีอยู่ในตัวเราเสมอ ๆ พยายามคิดหลาย ๆ ครั้งหลาย ๆ มุม และตีความไปที่ปัญหา ฝึกเทคนิคในการแก้ไขอคติในแต่ละข้อ และให้พยายามเตือนตัวเองว่าอคติเราจะยิ่งมากขึ้น ถ้าเรามีแรงกดดัน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทุกครั้งที่หุ้นวิ่งและหุ้นลง ตัวกระพริบ ความรู้สึกขาดทุน กำไร ยิ่งทำให้อคติเรามากกว่าเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นของอคติขนาดมหึมาของนักลงทุนที่เป็นแมงเม่าเสมอ ๆ