Friday, December 26, 2014

สมัยนิยม 2015 หุ้นไทย



      ในสมัยราชวงศ์ถังการรัดเท้าให้เล็กเป็นที่นิยมในหมู่สาวชาววัง ในยุโรปสมัยบารอค Baroque)สาวหุ้นอวบๆท้วมๆเป็นที่นิยมเพราะเชื่อว่าร่างกายที่สมบูรณ์จะสามารถคลอดลูกได้ง่าย และมี น้ำนมเพียงพอที่จะเลี้ยงดูลูกๆของเธอ ในประวัติศาสตร์การลงทุนนั้น สิ่งที่ได้รับความนิยม ในแต่ละยุคสมัยก็ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะสังคม, การเมือง เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อมต่างๆ  ในบทความนี้เราจะมาดูความนิยมในการลงทุนหุ้นในอดีต และ มองออกไปในปี 2015 ที่กำลัง จะมาถึงนี้ว่ากระแสนิยมกันหันเหไปในทิศทางใด

  ในปี 2000 หลังจากที่ดัชนี NASDAQ ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 5,132 จุดในเดือนมีนาคม ซึ่งในขณะนั้น PE เฉลี่ยประมาณ 175 เท่า ก็ได้กลับเป็นขาลงทำให้ฟองสบู่ที่เริ่มฟอร์มตัว มาร่วม สิบปีได้แตกสลาย การถล่มลงของหุ้นเทคโนโลยีในช่วงปี 2000-2002 ทำให้ความมั่งคั่ง ของนักลงทุนหายไปกับสายลมราวๆ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงที่นักลงทุนเข็ดขยาดกับการ “ซื้ออนาคต” หากเราดูข้อมูลทางสถิติของ Fidelity Investment จะเห็นว่าในช่วงปี 2000-2002 หุ้นที่เรียกว่า “โตช้า ไม่หวือหวา ปันผลดี PE ต่ำ” กลับมาได้รับความนิยมและให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หุ้นประเภท “กำไรน้อยแต่เติบโตดี ปันผลน้อยหรือไม่มี และ  PE สูง” (หุ้นเติบโต)

  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึงปี 2007 ซึ่งเป็นปีก่อน Hamburger Crisis ความกลัวของนักลงทุนที่ บาดเจ็บจากวิกฤต dot-comได้เริ่มเลือนลางไป หุ้นที่นิยมเรียกกันว่า “หุ้นเติบโต” ก็กลับมาเป็น ที่นิมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเสื่อมความนิยมอีกทีหลังวิกฤตเกิดขึ้นในปี 2008

  ในปี 2014 ในตลาดหุ้นไทย หุ้นในตลาด MAI ซึ่งเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็กได้รับความนิยมอย่างสูง ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ MAI มี PE 71 เท่า PBV 5.70 และ ปันผลเฉลี่ย 0.86% ในขณะที่ หุ้นในSET มี PE 17.58 PBV 2.1 และ ปันผลเฉลี่ย 2.98% แต่หลังจากเกิด การเทกระจาด ในตลาดหุ้นไทยลบร้อยกว่าจุด, วิกฤตทางเศรษฐกิจของรัสเซีย และ การถดถอย ของราคาของ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ผมเริ่มเห็นแนวโน้มการหันมาลงทุนในหุ้นที่เรียกว่า “โตช้า ไม่หวือหวา ปันผลดี PE ต่ำ” ในตลาดหุ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง หุ้นที่เชื่อว่าเป็น “หุ้นเติบโต” ของไทยหลายตัว เหมือนว่าจะถูกตลาดลด PE ลงหลังจากความเสี่ยงของสภาวะแวดล้อมเริ่มเพิ่มขึ้น

  แล้วอะไรละจะเป็นที่นิยมในปี 2015? เมื่อเร็วๆนี้ธนาคารกลางของสวิสเซอร์แลนด์ได้ประกาศให้ ดอกเบี้ย LIBOR 3 เดือนอยู่ที่ -0.75% ลดลงจากเดิมที่อยู่ที่ -0.5% เพื่อไล่เงินออก แต่รัสเซีย กลับต้องประกาศ เพิ่มดอกเบี้ยจาก 10% เป็น 17% เพื่อให้คนนำเงินมาฝาก ตอนนี้ดอกเบี้ย พันธบัตร 10 ปีของเยอรมันอยู่แค่ 0.58% ของญี่ปุ่นอยู่แค่ 0.35% แต่ทำไมยังมีคนซื้อ? ทั้งนี้ผมเชื่อว่าคนที่มีความมั่งคั่งสูงในโลก เน้นที่จะรักษามูลค่าของสินทรัพย์ มากกว่าที่จะเน้น สร้างกำไร ในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงในเศรษฐกิจโลกเช่นทุกวันนี้

  สำหรับหุ้นไทยในปี 2015 โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า หุ้นที่มีความมั่นคงสูง มีสภาพคล่องซื้อขาย พอสมควร และให้เงินปันผลมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ น่าจะเป็นที่นิยมในช่วงครึ่งปีแรกของปี ทั้งนี้เพราะดอกเบี้ยของไทยยังคงน่าจะอยู่ในระดับต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจยังไม่เห็น ชัดเจนนัก และเงินจากการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เข้ามาในระบบจริงจัง ส่วนในครึ่งปีหลัง หากทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น หุ้นพวก “กำไรน้อยแต่เติบโตดี ปันผลน้อย หรือไม่มี และ  PE สูง” อาจกลับมาได้รับความนิยมกันอีกรอบก็เป็นได้

  แต่ไม่ว่าสมัยไหนจะนิยมอะไร นักลงทุนที่เป็นนักลงทุนระยาวควรเลือกเฉพาะกิจการที่มี “ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน” Durable Competitive Advantage) เท่านั้น ทั้งนี้เพราะ สิ่งที่จะสามารถทำให้บริษัทมีชีวืตรอดผ่านวิกฤตทั้งหลายได้ คือ DCA เวลาบริษัท จะล้มละลาย PE เท่าไหร่ก็ล้มได้PBV เท่าไหร่ก็ล้มได้ ดูอย่างสถาบันการเงิน ยักษ์ใหญ่บางแห่งในอเมริกา ที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูในปี2008 ตอนปลายปี 2007 มี PE แค่ 8 เท่าเอง ก็ขอฝากไว้ให้นักลงทุน ทุกท่านได้พิจารณาไม่ว่าจะลงทุนในสมัยใด

Thursday, December 25, 2014

10 หุ้นเด่น-การเติบโตสูง ต้อนรับปี 58

อีกเพียง 1 สัปดาห์จะล่วงเข้าสู่ปีใหม่ 2558 แล้ว ภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์สุดท้ายของปียังมีให้ลุ้นว่าจะยืนนิ่งปิดตลาดในแดนบวกถึงวันสิ้นปีหรือไม่



หลังจาก 16 วันที่ผ่านมา (1-16 ธ.ค. 2557) ดัชนีตกฮวบไปถึง 132.08 จุด หรือคิดเป็น 8.29% ในภาวะฝุ่นตลบ มีหุ้นหลายตัวราคาหลุดปัจจัยพื้นฐาน เพราะนักลงทุนตื่นกลัว แต่ถ้าใจนิ่งๆ จะมองเห็น "ของดี" ที่แฝงตัวอยู่

10 หุ้นเด่น ราคาถูก-ฟรีโฟลต์สูง


ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ยังมีหุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (PER) ต่ำกว่า 17.55 เท่า ซึ่งเป็น PER ของตลาดหุ้นไทยปีนี้ หลายตัว และเมื่อร่อนตะแกรงคัดหุ้นที่ราคาปิดต่อกำไรสุทธิ (P/E) ต่ำ อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV RATIO) น้อย อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูง อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) ดี แถมยังมีการกระจายของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) มากกว่า 30%


ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส พบว่า มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวถึง 30 แห่งโดย 10 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA), บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP), บมจ.ศุภาลัย (SPALI), บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ศรีราชาคอนสตรัคชั่น (SRICHA), บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) แล้วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (19 พ.ย.-19 ธ.ค) มีราคาปรับตัวลดลง -6.37%, -5.30%, -1.78%, -5.38%, -1.28%, -3.00%, -19.59%, -7.52%, -14.51% และ -7.10% ตามลำดับ

วางกลยุทธ์ช้อนหุ้น 3 กลุ่ม


"ประกิต สิริวัฒน์เกตุ" ผู้จัดการกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส แนะนำว่า การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นเป็น 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด จากเดิมให้ไว้ที่ 30% โดยแนะเลือกหุ้นตามกลยุทธ์รายตัวใน 3 กลุ่มหลัก ดังนี้


กลุ่มแรก เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง โดยกลุ่มที่ได้อานิสงส์ชัดเจน ได้แก่ กลุ่มขนส่งทางอากาศ และขนส่งทางเรือ อาทิ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV), บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) และ บมจ.ทิปโก้ แอสฟัลท์ (TASCO)


กลุ่มสอง หุ้นที่มีสถิติให้ผลตอบแทนชนะตลาดในช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งตามข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่ามีหุ้นหลายตัวที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกด้วยความน่าจะเป็นเกิน 70% อาทิ บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI), บมจ.จีเอฟพีที (GFPT), ธนาคารกรุงไทย (KTB), บมจ.ซีฟโก้ (SEAFCO) ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.63%, 5.31%, 3.18% และ 2.81% ตามลำดับ


กลุ่มสาม หุ้นปันผลเด่น โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกจะให้น้ำหนักกับหุ้นที่มีDividend Yield สูงกว่า 4% ในงวดปี 2558 และมีราคาหุ้นต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม (Fair Value)

จุดต่ำสุดปีนี้ผ่านไปแล้ว



ด้าน "ยศพณ แสงนิล" รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และดัชนีไม่น่าจะลดลงรุนแรง หรือต่ำกว่าระดับ 1,500 จุด อีกแล้วจนกว่าจะสิ้นปี หลังจากปัจจัยลบต่าง ๆ ได้คลี่คลายลง


"ปัจจุบัน P/E ของตลาดหุ้นไทยเทียบกับอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นปี 2558 อยู่ที่ 14 เท่า ดังนั้นหุ้นไทยตอนนี้จึงไม่แพงเลย และมีโอกาสช่วงที่เหลือของปีนี้จะเห็นดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1,550 จุด"


ตลท.ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนราว 12.6% โดยกลุ่มหุ้นที่มีผลตอบแทนเด่นที่สุด 5 อันดับในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การแพทย์ ขนส่ง อิเล็กทรอนิกส์ หลักทรัพย์ และธนาคาร มีผลตอบแทนสูงสุดถึง 49.7%, 35.6%, 32.9%, 29.8% และ 27.2% ตามลำดับ


ส่วนกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ ได้แก่ ปิโตรเคมีลดลง -26.7% และพลังงาน -8%


แม้ตอนนี้ภาวะตลาดหุ้นจะกลับมาดีขึ้น แต่นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และจัดพอร์ตให้เหมาะสม โดยนักลงทุนระยะยาวจะต้องศึกษาพื้นฐานหุ้นให้ดี ส่วนระยะสั้นต้องระวังแรงเก็งกำไรที่อาจทำให้ "เจ็บตัว" โดยไม่ทันตั้งตัวด้วย


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค เทคนิคหุ้น VI


เปิดกลยุทธ์ลงทุน 3 ขาใหญ่ ปี′58

เปิดกลยุทธ์ลงทุน 3 ขาใหญ่ ปี′58 "เล่นยาก" ต้องเลือก "Super Stock Pick"

แม้การลงทุนในปี 2557 เหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะดัชนีทะยานตัวขึ้นต่อเนื่องมาปิดระดับสูงสุดที่ 1,600.16 จุด ในวันที่ 26 ก.ย. 57 จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 1,298.71 จุด หรือเพิ่มขึ้น 23.21% แต่ช่วงเดือนสุดท้ายตลาดกลับหักมุมจากปัญหาราคาน้ำมันร่วงและความกังวลต่าง ๆ ทำให้ดัชนีตกฮวบจนเกิดปรากฏการณ์ "แบล็กมันเดย์" ในวันที่ 15 ธ.ค. วันเดียวดัชนีได้ร่วงลงต่ำสุดในการซื้อขายระหว่างวันถึง 138.95 จุด เกือบ 10% เรียกได้ว่าทุนหายกำไรหด จนนักลงทุนหวั่นใจกับการลงทุนในปี 2558

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนช่วงปี 2557 ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบัน (27 ธ.ค. 56-17 ธ.ค. 57) ดัชนีปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1,480.20 จุด จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 1,298.71 จุด หรือเพิ่มขึ้น 13.97% ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลอยู่ที่ 2.86% แต่ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ฯถือว่าน่าพึงพอใจ แต่นักลงทุนยังค่อนข้างผิดหวัง โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่พร้อมใจกันส่ายหัวกับปรากฏการณ์หุ้นลงท้ายปี





"ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์ 3 นักลงทุนขาใหญ่ที่มีพอร์ตลงทุนหลักพันล้านบาท มาช่วยวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนในปี 2558 ว่าจะเป็นอย่างไร

ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา
แนะปรับลดพอร์ตลงทุนหุ้นไทย

"ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สต็อคทูมอร์โรว์ จำกัด ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนแบบ "หุ้น 5 เด้ง" กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2557 เป็นปีแห่งการเก็งกำไรหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสามารถสร้างกำไรได้ 3-4 เท่าตัวจากเงินลงทุนเริ่มต้น แต่ภาพรวมการลงทุนวางกลยุทธ์ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากดัชนีมีความผันผวนมาก นับเป็นปีที่ยากต่อการสร้างผลตอบแทนในระดับสูง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปี 2558 แนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้นไทยลงประมาณ 5% ของพอร์ตเดิม และหันมาถือครองเงินสดมากขึ้น เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อตลาดปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าลงทุนเพิ่มในตลาดหุ้นไทย ขั้นแรกแนะนำให้เลือกหุ้นที่มีมูลค่าทางบัญชี (Price Per Book Value : PBV) ต่ำกว่า 1 เท่าประมาณ 50 บริษัท โดยไม่ต้องสนใจว่าบริษัทจะมีกำไรหรือไม่ ขั้นต่อมาให้วิเคราะห์โอกาสการเติบโตรายบริษัทให้เหลือเพียง 10 บริษัท ซึ่งจะทำให้ได้บริษัทที่น่าลงทุนในระดับหนึ่ง

"การคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ต ไม่จำเป็นต้องเน้นว่าบริษัทต้องมีกำไร แต่ให้ใช้เกณฑ์มาตรฐานบางอย่างมากลั่นกรองก่อน ซึ่งผมมองว่าการใช้ PBV ยังถือเป็นเครื่องมือที่ดี หลังจากนั้น เราค่อยมาสกรีนหุ้นออกทีละตัว เอาแบบที่เรามองเห็นอนาคตจริง ๆ โดยวิธีนี้จะดีกว่าเมื่อเทียบกับการที่เราไปวิ่งไล่ตามหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปแล้ว" นายปิยพันธ์กล่าว

ธำรงชัย เอกอมรวงศ์
2 ปัจจัยบวกพยุงตลาด Sideway

"ธำรงชัย เอกอมรวงศ์" นักลงทุนขาใหญ่สไตล์เทคนิคอลกล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปีนี้สร้างผลตอบแทนการลงทุนค่อนข้างผิดหวัง จากครึ่งปีแรกผลตอบแทนอยู่ระดับ 60-70% แต่ครึ่งปีหลังเกิดดราม่าตลาดเปลี่ยนไปแบบคนละภาพ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากพอร์ตของผมลดลงเหลือประมาณ 30-40%

สำหรับตลาดหุ้นไทยปี 2558 น่าจะมีลักษณะแกว่งตัวออกด้านข้าง (Sideway) หมายถึงดัชนียังไปต่อได้ แต่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากนัก และไม่ได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจนต่ำไปกว่าระดับ 1,400 จุด เนื่องจากประเทศไทยมี 2 ปัจจัยบวก ได้แก่ การเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ทำให้จะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จนส่งผลให้ต้นทุนการเงินของบริษัทต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำ แม้ภาพรวมของยอดขายในปีหน้าจะหดตัว แต่บริษัทต่าง ๆ ก็ยังจะเติบโตต่อไปได้

ประเด็นถัดมาคือ การที่ประเทศไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากสภาพคล่องที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศอัดฉีดออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจด้วย จึงส่งผลให้หุ้นหลายบริษัทที่ไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายพลังงานยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ส่วนตัวมีมุมมองว่ายังสามารถเลือกลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กได้อยู่ เพียงแต่ความคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนอาจจะลดลงจากปี 2557 เนื่องจากภาพรวมของดัชนีปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้ จะเลือกใช้กลยุทธ์คัดเลือกหุ้นแบบ "รายตัว" โดยยังให้ความสำคัญกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีประเด็น (Story) อยู่ แต่กระแสข่าวบวกที่ออกมาสนับสนุนต้องมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงจะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข่าวและผลสะท้อนที่ตามมา เช่น การลดทุน และเพิ่มทุน จะช่วยให้บริษัทได้รับผลอย่างไรบ้าง เป็นต้น

"ปี 2558 เราจะใช้วิธีอ่านงบฯอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว แต่ต้องคาดการณ์และวิเคราะห์มากขึ้น คือเรียกว่าต้องใช้วิธีแบบ Super Stock Pick อ่านโอกาสโตของธุรกิจมากกว่าการดูงบการเงิน ดังนั้น การลงทุนปีหน้าจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก" นายธำรงชัยกล่าว

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ปี′58 หุ้นไทยลงทุนยากขึ้น

"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ต้นแบบนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) มีความเห็นว่า ในปี 2558 การลงทุนในตลาดหุ้นจะทำได้ยากยิ่งกว่าปี 2557 เพราะแม้ตลาดจะปรับตัวลงบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นในตลาดถูกลงจนน่าสนใจ

เห็นได้จากราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ตลาดหุ้นที่อยู่ประมาณ 15-16 เท่า ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนที่พี/อีตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับราว 10 เท่า

"การที่ตลาดหุ้นไทยมีพี/อีระดับนี้ไม่ได้ถือว่าตลาดอยู่ในช่วงที่น่าซื้อ สำหรับนักลงทุนสไตล์ VI จึงมองว่ายังไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน" ดร.นิเวศน์กล่าว

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ภาพรวมยังไม่ถือว่าฟื้นตัวดีนัก อีกทั้งยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย จึงทำให้การออกไปลงทุนต่างประเทศต้องใช้ความระมัดระวังสูง

ส่วนความเสี่ยงในประเทศ ควรจับตาในเรื่อง "ปัญหาการเมือง" โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่จะเกิดขึ้น ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งยังต้องติดตามความคืบหน้าโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลด้วยว่า จะเกิดได้จริงในช่วงไหน เพราะตลาดได้รับรู้ข่าวดังกล่าวไปแล้วเหลือเพียงรอให้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

"ดร.นิเวศน์" แนะนำว่า ในปี 2558 นักลงทุนควรจับตา "เมกะเทรนด์" ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวประเมินว่ากลุ่มหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ "กลุ่มอุปโภคบริโภค" อาทิ กลุ่มค้าปลีก, อาหาร, ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงกลุ่มสินค้าอุปโภคที่มีราคาแพง เช่น บ้าน ยานยนต์ ฯลฯ เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มขยายตัว แต่ไม่ได้อยู่ในอัตราที่สูงนัก ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคมีแรงซื้อค่อนข้างจำกัด

ต้นแบบนักลงทุน VI ของไทยทิ้งท้ายว่า "การใช้วิธีลงทุนแบบรายกลุ่ม และลงทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยหวังว่าจะได้กำไรแบบปี′57 คงไม่พอแล้ว แต่ต้องมองรายละเอียด ปีหน้าการลงทุนจะยากขึ้น ต้องคัดหุ้นรายตัวแบบ Super Stock Pick"

Monday, December 22, 2014

Happy Money


เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือชื่อ “Happy Money” เขียนโดย Elizabeth Dunn และ Michael Norton หรือถ้าแปลเป็นไทยก็คือ  “เงินที่มีความสุข” ซึ่งเนื้อหาหลักก็คือ  “การใช้เงินที่จะก่อให้เกิดความสุขสูงสุดแก่ผู้ใช้”  ซึ่งเรื่องนี้คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคนและก็มักจะใกล้เคียงกันนั่นก็คือ  ใช้เงินเพื่อสนองความต้องการของตนเองในด้านต่าง ๆ  ตามที่ใจต้องการสูงสุดในขณะนั้นเราก็จะมีความสุขสูงสุด   แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่านั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ผิด  เพราะจากการศึกษาทางด้านจิตวิทยามากมายบอกว่า  ความสุขที่ได้จากการจ่ายเงินซื้อสิ่งของหรือบริการแต่ละอย่างด้วยเงินที่เท่ากันนั้นไม่เท่ากัน   สิ่งของหรือบริการบางอย่างจะให้ความสุขสูงกว่าและยาวนานกว่าสิ่งอื่น  ดังนั้น  ถ้าเรา  “ใช้เงินเป็น”  เราก็จะมีความสุขมากกว่าด้วยเงินที่เท่ากัน  มาดูกันว่าสิ่งของหรือบริการประเภทไหนให้ความสุขมากกว่าและการใช้เงินแบบไหนที่จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อ
หลักการใหญ่ข้อแรกที่ผู้เขียนนำเสนอก็คือ  การใช้เงินซื้อ  “ของ” นั้น  มักจะให้ความสุขน้อยกว่าการ“ซื้อประสบการณ์”  เพราะของนั้น  อาจจะให้ความสุขในขณะที่ซื้อ  แต่เวลาใช้ไปซักพักหนึ่งเราก็มักจะรู้สึกชิน  ความสุขก็จะหายไป  แต่ประสบการณ์นั้น  จะอยู่ในความทรงจำไปอีกนานและทำให้เรามีความสุข   วัตถุและสิ่งของนั้น  แม้ว่าจะเป็นของหรูราคาแพงเช่น เพชรพลอย  เครื่องเล่นไฟฟ้าราคาแพง  หรือแม้แต่บ้านหรูนั้น  มักจะให้ความสุขไม่เท่ากับประสบการณ์ที่น่าประทับใจที่เราได้ประสบอย่างเช่นการท่องเที่ยวที่สุดแสนจะโรแมนติคหรือท้าทายที่ “ตรึงอยู่ในความทรงจำ”
ประสบการณ์ที่จะทำให้มีความสุขมากนั้น  ควรที่จะมีคุณสมบัติ  เช่น  มันนำเราเข้าไปรู้จักและมีความสัมพันธ์กับคนอื่น  หรือมันมีเรื่องราวที่น่าประทับใจที่เราจะมีความสุขที่จะเล่ามันซ้ำ ๆ  ไปอีกนานทุกครั้งที่มีโอกาส  หรือมันเป็นประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกที่บ่งบอกตัวตนของเราอย่างใกล้ชิด  หรือมันเป็นประสบการณ์ที่เป็นโอกาสแบบ  “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่เราจะได้ประสบ เป็นต้น   ในความรู้สึกของผมเอง  ผมคิดว่าการ  “ซื้อประสบการณ์”  นั้น  มีคุณค่าและมีความสุขกว่าการซื้อสิ่งของจริง ๆ ถ้าจะนับว่าผมใช้เงินไปกับอะไรที่ค่อนข้างมากในแต่ละปี  คำตอบก็คือการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือ  ได้ไปพบเห็นอะไรที่ดูแปลกตาและ  “มหัศจรรย์” ซึ่งทำให้ผมจำได้และต้องพูดหรือนึกถึงทุกครั้งที่มีโอกาส  ตัวอย่างเช่น  การได้เห็นปิรามิดในอียิปต์หรือเมืองเพตราที่เกิดจากการสลักหรือเจาะภูเขาสีชมพูเพื่อสร้างบ้าน  โบสถ์ และสิ่งก่อสร้างทั้งหลายของเมืองในจอร์แดน  เป็นต้น  ผมคิดว่านี่เป็นการใช้จ่ายเงินที่คุ้มค่าและให้ความสุขจริง ๆ  ดังนั้น  การซื้อประสบการณ์ที่ดีมากนั้นจึงควรที่จะเป็นสิ่งที่เราคิดถึงเป็นอันดับต้น ๆ  ในกรณีที่เรามีเงินพอที่จะทำได้
ข้อสองของการที่จะทำให้การใช้เงินก่อให้เกิดความสุขมากขึ้นก็คือ  “ทำให้มันเป็นการเลี้ยงฉลอง” หรือพูดง่าย ๆ  อย่าทำอะไรหรือจ่ายเงินซื้ออะไรแบบเป็นเรื่อง  “ทำประจำ”  เพราะการที่เราทำอะไรซ้ำ ๆ  เป็นประจำนั้นจะทำให้เราเคยชิน  เราจะไม่รู้สึกว่าการทำอย่างนั้นจะเป็นความสุข  การมีหรือทำอะไรหรือกินอะไรที่เรามีอย่าง  “เหลือเฟือ”  นั้น   ความสนุก  ความอร่อย  หรือความสุขจะหายไปมาก  แต่อะไรที่เรานาน ๆ  จะมีโอกาสได้ทำหรือได้กินหรือได้ใช้มันนั้นจะดูมีคุณค่าและก่อให้เกิดความสุขได้มากกว่า   พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมยังจำได้ว่าในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอยู่นั้น  ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่บ้านผมจะซื้อน้ำอัดลมมาประมาณครึ่งลังหรือประมาณ 12 ขวดถ้าจำไม่ผิด  และผมจะดื่มมันได้หลายวัน  ผมรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องดื่มที่ผมชอบและมีความสุขที่ได้ดื่มมันมาก  เหตุผลก็เพราะมันแทบจะเป็นโอกาสเดียวของปีที่ผมจะได้  “เฉลิมฉลอง” และดื่มมันอย่างมีความสุข  เมื่อผมโตขึ้นและสามารถดื่มมันทุกวัน  ความสุขจากการดื่มน้ำอัดลมก็เหลือเพียงนิดเดียว  เทคนิคในการทำให้เรื่องต่าง ๆ เป็นการ  “เลี้ยงฉลอง” นั้น  ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงต้องค้นหา  แม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการดื่มกาแฟร้านดังเราก็อย่าไปกินทุกวัน  อาจจะกินแค่วันศุกร์หรืออะไรทำนองนี้  และกาแฟแก้วนั้นก็จะอร่อยเป็นพิเศษ  เพราะมันเป็นกาแฟที่เรา  “ตั้งใจรอ”  มาหลายวัน
“ซื้อเวลา”  นี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นการใช้เงินอย่างฉลาดและคุ้มค่าให้ความสุขมากกว่าเรื่องอื่น ๆ  อีกหลาย ๆ  เรื่อง  เหตุผลก็คือ  เรามักจะ “เสียเวลา” ไปกับเรื่องที่ “ไม่รื่นรมย์” เป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก  “งานบ้าน” ที่เป็นงานประจำที่น่าเบื่อหน่าย  วิธีการที่จะตัดสิ่งที่น่าเบื่อและไม่ก่อให้เกิดความสุขแก่เราที่ง่ายที่สุดก็คือ  “จ้างให้คนอื่นทำ”  หรือลดหรือไม่ต้องทำเองแต่ไป“ซื้อ” มากินเพื่อที่จะตัดเวลาที่เราต้องทำกินเอง เป็นต้น  หลักการสำคัญของเรื่องการซื้อเวลานั้นก็คือ  งานนั้นถ้าเราทำเองจะต้องใช้เวลามากและเราไม่ชำนาญ  นอกจากนั้น  มันเป็นงานที่เราไม่ได้มีความสุขที่จะทำ  ตัวอย่างวิธีการ “ซื้อเวลา” ง่าย ๆ  ก็เช่น  เราไปซื้อเครื่องดูดฝุ่นที่ทำงานเองอัตโนมัติมาใช้ให้มันดูดฝุ่นเวลาเราไม่ได้อยู่ที่บ้าน  อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มากก็คือ  เรายอมซื้อบ้านที่แพงขึ้นมากและมีพื้นที่ใช้สอยต่ำแต่มันอยู่ใกล้ที่ทำงานในเมืองแทนที่จะซื้อบ้านที่ใหญ่และอยู่นอกเมืองซึ่งห่างจากที่ทำงานมากซึ่งทำให้เราต้อง “เสียเวลา” เดินทางไปกลับทุกวันอย่างนี้เป็นต้น  การซื้อเวลาจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นที่จะทำอะไรต่าง ๆ  ที่มีความสุขและหลีกเลี่ยง “ความทุกข์” ที่เกิดจากการต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้ให้ความรื่นรมย์แก่เรา
“จ่ายก่อน  บริโภคทีหลัง”  นี่เป็นแนวคิดที่แปลกและหลายคนก็ไม่ใคร่จะเชื่อว่ามันจะเพิ่มความสุขได้  คนส่วนใหญ่ต้องการเลื่อนการจ่ายเงินออกไปให้นานที่สุดแต่ต้องการบริโภคหรือได้ใช้สินค้าก่อน  คนคิดว่า “บินก่อนผ่อนทีหลัง” นั้นมีความสุข  แต่จริง ๆ  แล้ว  การมานั่งผ่อนไปอีกหลายเดือนนั้นอาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา  การจ่ายพร้อมบินเองก็ไม่ได้ให้ความสุขเหมือนกับว่าเราจ่ายไปแล้วตั้งนาน  เพราะว่าเมื่อจ่ายไปแล้วหลังจากนั้นเราก็ “ตั้งตาคอย” ว่าเราจะได้ไปเที่ยวอย่างมีความสุข   ในวันที่กำลังเที่ยวนั้น  เราก็เที่ยวอย่างสบายใจราวกับว่า  “เที่ยวฟรี”  จิตวิทยาของคนนั้น  เราชอบที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีต่ออนาคตที่ดี ๆ  ที่กำลังจะมาถึง  ดังนั้นในช่วงที่เรารอคอยเราจะมีความสุขมาก  แต่พอเรื่องนั้นมาถึงแล้วจริง ๆ  ความสุขก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว  ลองนึกดูว่าถ้าเราจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อเครื่องมือสื่อสารรุ่นใหม่ล่าสุดที่ทุกคนรอคอย  ช่วงที่เรากำลังรอนั้นเราจะมีความสุขมาก  แต่เมื่อได้แล้วไม่กี่วันอารมณ์ความสุขก็จะหายไป  ดังนั้น  ถ้าเรามีโอกาสคราวหลังเวลาซื้ออะไรให้พยายามจ่ายก่อน  อย่าจ่ายทีหลัง  แต่เรื่องนี้ผมคิดว่าน้อยคนจะอยากทำ
เรื่องสุดท้ายของการจ่ายเงินที่จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าปกติก็คือ  การ  “ลงทุนในคนอื่น”  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  “ให้เงินคนอื่น” เพื่อช่วยเหลือเขาหรืออาจจะแค่ให้เขาดีใจที่ได้รับเงินหรือของที่เขาอยากได้  การทำบุญทำทานหรือการบริจาคเงินเพื่อการกุศลก็เป็นรายการใหญ่อันหนึ่งในเรื่องของการ  “ลงทุนในคนอื่น” นี่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องแปลกที่ว่าเราให้เงินคนอื่นแล้วเรากลับมีความสุขมาก  เราไม่เสียดายหรือ?  มีคนเคยถาม วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่าเขารู้สึกอย่างไรหลังจากที่เขาประกาศบริจาคเงินส่วนใหญ่ของเขาให้กับสาธารณกุศลโดยเฉพาะกองทุนของบิลเกต  เขาตอบว่าเขา  “มีความสุขมาก” เขาไม่ได้พูดเล่น  การศึกษาพบว่าคนที่บริจาคหรือให้เงินคนอื่นนั้น  จะได้รับความสุขทางใจสูง  แต่มีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องสมัครใจเองจริง ๆ  ไม่ได้ถูกบังคับหรือเสมือนถูกบังคับให้บริจาค  และเขารู้ว่าเงินของเขานั้นจะไปถึงคนหรือองค์กรที่เขาเห็นว่าจะสามารถสร้างความแตกต่างได้  ไม่ใช่ให้ไปแล้วก็ไม่มีความหมายอะไรกับผู้รับ
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้เงินที่จะก่อให้เกิดความสุขสูงสุดที่คนจำนวนมากอาจจะไม่ตระหนัก  บางทีเราอาจจะต้องคิดเหมือนกันว่าเราจำเป็นต้องเป็นเจ้าของบ้านไหม?  ถ้าการเป็นเจ้าของนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ให้ความสุขอะไรมากมาย  เงินที่เหลือจากการไม่ซื้อบ้านนั้น  อาจจะสามารถ  “ซื้อความสุข”  อย่างอื่นได้มากกว่าก็เป็นได้  ผมพูดเรื่องนี้เพราะนึกถึงตัวเองที่เพิ่งจะมีบ้าน  “ของตัวเอง”จริง ๆ  เมื่อ 2-3 ปีมานี้เองโดยที่ไม่รู้สึกว่าความสุขหายไปไหนเลยในหลายสิบปีที่ผ่านมา  
CR. ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล 

Friday, December 19, 2014

7 จุดอ่อนของ VI

    

   การลงทุนให้ประสบความสำเร็จของ VI นั้น นอกจากจะต้องยึดมั่น “แก่น” ของการลงทุนวิธีนั้น ๆ อย่างมั่นคงแล้ว เราก็ควรจะเข้าใจ “จุดอ่อน” หรือ “ข้อจำกัด” ของวิธีการลงทุนนั้น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า จุดอ่อนของการลงทุน “วิธีนั้น ๆ” จะไม่ใช่จุดที่ทำให้การลงทุน "ของเรา” ล้มเหลว และ ทำให้เราเสียศรัทธาในการลงทุนวิธีนั้นไป

     การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) เป็นการลงทุนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีผู้ที่ประสบความสำเร็จได้จำนวนมาก มีวิถี มีแบบอย่าง มีหลักการที่ถ่ายทอดกันอย่างเป็นระบบ และจับต้องได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของนักลงทุน VI จำนวนมาก แต่ไม่มีวิธีการลงทุนอะไรที่ไม่มีจุดอ่อน และนี่คือจุดอ่อนหลัก ๆ ของการลงทุนแบบ VI

1. “เชื่อ” ในมูลค่าที่เราประเมินมากจนเกินไป อันที่จริงการลงทุนแบบ VI ไม่ได้เป็นการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแน่นอน 100% แม้ว่าจะมีส่วนต่างความปลอดภัยแค่ไหน หรือกิจการมีความแข็งแรงมากเพียงใด ก็อาจจะเกิด “เหตุการณ์” บางอย่างที่ไม่คาดฝัน ตัวอย่างล่าสุดอย่างหุ้นกิจการค้าปลีกที่ยิ่งใหญ่อย่างเทสโก ก็ประสบปัญหาและวอร์เรน บัฟเฟตต์ก็เสียหายจากการลงทุนครั้งนี้ อีกมุมหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราไม่เข้าใจสิ่งที่เห็นอย่างถ่องแท้ หรือมองข้ามจุดอ่อนของกิจการบางอย่าง สรุปคือ เราอย่าดูถูกนายตลาดหรือ Mr. Market เพราะเขาฉลาดกว่าคุณมาก

   นอกจากนั้น ความเสียหายอาจจะขยายผลมากขึ้นมาก ถ้าเรา “ซื้อถัวเฉลี่ย” ขาลง รวมไปถึงการใช้บัญชีเงินกู้ หรือมาร์จิ้นโลน หลักการ VI อาจจะทำให้เราคิดว่าราคาหุ้นยิ่งลงยิ่งถูก อยากขายบ้านขายรถมาซื้อหุ้น แต่การจำกัดสัดส่วนของหุ้นแต่ละตัว จะช่วยลดความเสียหาย สำหรับมือใหม่ ผมคิดว่าเราไม่ควรถือหุ้นเกิน 25% ต่อตัว ไม่ว่าเราจะมั่นใจแค่ไหน

2. คุณเข้าใจหลักการ หรือความรู้ในการลงทุนน้อยเกินไป แม้ว่าคุณคิดว่าเพียงพอแล้ว แต่ความรู้ที่จำเป็นในธุรกิจที่คุณจะลงทุนเยอะกว่าที่คุณคิดมาก เป็นสิ่งที่คุณต้องมีภาระในการ “อ่าน” “อ่าน” “อ่าน” และ “อ่าน” ซึ่งเหมือนเป็นกิจกรรมหลักของการลงทุนแบบ VI ความเข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้ช่วยให้เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำขึ้นเรื่อย ๆ แต่จุดอ่อนนี้คือจุดแข็งที่สุดของการลงทุนแบบ VI เพราะความรู้เกือบ “ทุกเม็ด” สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิตการลงทุน และสามารถนำไปต่อยอดได้นับไม่ถ้วน

3. จำเป็นต้องมี “นิสัย” และ “ทัศนคติ” ของการลงทุนที่ถูกต้องตั้งแต่แรก นิสัยเป็นส่วนที่ค่อย ๆ สร้างมาตั้งแต่คุณเกิดและชีวิตทั้งหมด “ก่อน” ที่คุณจะเริ่มลงทุน และยิ่งถ้าคุณเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้นที่ร้อนแรงมาก ๆ ยิ่งทำให้โอกาสที่คุณจะ “เสียนิสัย” ที่จำเป็นต้องการลงทุนแบบ VI มากขึ้นและแก้ไขยาก นิสัยของการลงทุนที่ถูกต้อง เช่น ความอดทนรอคอย ไม่ตื่นเต้นกับราคาหุ้น แต่สนใจที่คุณค่าบริษัท ความมีวินัยที่จะพยายาม “รักษาเงินต้น” ก่อนที่จะ “มุ่งหวังกำไร” นิสัยที่กล้าในเวลาที่ควรตัดสินใจ มีความเป็นตัวของตัวเองและอิสระจากฝูงชน เป็นต้น

4. การลงทุนแบบ VI ไม่จับจังหวะตลาดเท่าไหร่นัก นั่นหมายถึงว่า คุณมีโอกาสถือหุ้นโดยที่ราคาหุ้นไม่ไปไหนเลย ในขณะที่คนอื่นอาจจะทำกำไรมากมาย ซึ่งหมายถึงเรา “เสียโอกาส” ของการทำรอบของเงินทุน ยิ่งไปกว่านั้นความอดทนในการถือหุ้นมักจะหมดลง ทำให้เราขายหุ้นก่อนหุ้นจะขึ้น นักลงทุน VI ใช้ “โอกาส” ในการซื้อหุ้นในตลาดหุ้นได้ ต่อเมื่อตลาดหุ้นเป็นตลาดที่ Undervalued หรือต่ำกว่ามูลค่าเท่านั้น แต่ถ้าตลาดเป็นตลาดเก็งกำไร VI จะได้ประโยชน์น้อยกว่าในขาซื้อ แต่เป็นโอกาสในการขายแทน ซึ่งถ้าเป็นการลงทุนแบบอื่น อาจจะได้โอกาสจากตลาดตลอดเวลาถ้าสามารถเก็งตลาดได้ถูกต้อง

5. VI มักจะจำกัดความถนัดตัวเองไปในหุ้นไม่กี่กลุ่ม อาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่อง Circle of Competence แปลว่า หุ้นนอกกลุ่มที่เรารู้ เราจะไม่ลงทุน ซึ่งนั่นคือการมีข้อจำกัดในการลงทุนและเป็นการตัดโอกาสการลงทุนไป การลงทุน VI จำเป็นต้องมีความรู้มาก ดังนั้นโอกาสที่เราจะรู้จักหุ้นทุกตัว หรือเข้าไปลงทุนในหุ้นทุกตัว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แตกต่างจากวิธีการลงทุนแบบอื่น ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้จักหุ้นลึกซึ้งเหมือนการลงทุน VI หรือในบางวิธีการ การรู้จักหุ้นก็ไม่มีความจำเป็น

6. เรื่องการบริหารความเสี่ยง VI ไม่มีแนวคิด cut loss ด้วย “ราคา” หุ้น หรือมี “กฏเกณฑ์” ที่ชัดเจน เช่นถ้าหุ้นลง 10% เราจะตัดขาดทุน แต่การบริหารความเสี่ยงขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเรา “คิดผิด” รึเปล่ามากกว่า อีกส่วนหนึ่งคือ VI บริหารความเสี่ยงด้วยส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) และบริหารด้วยการสร้างพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีการที่อาศัยศิลปะที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก

7. จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดคือ การลงทุน VI ให้ชนะ ต้องอาศัย “จิตใจ” ที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน การยกตัวอย่างของบัฟเฟตต์เรื่อง คุณต้องทนขาดทุนได้ 50% คือตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของการเอาชนะ “จิตใจ” ของตัวเอง ถ้าเราบันทึกความรู้สึกของตัวเองทุก ๆ วันหรือทุก ๆ เดือน เราจะเห็นความปะปนของความตื่นเต้น ความสิ้นหวัง ดีใจ เสียใจ ที่เกิดขึ้นในใจตนเองตลอดเวลา และด้วยความเป็นวาระจิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของคนนั่นเอง ทำให้ความล้มเหลวในการลงทุนของการลงทุน VI จำนวนมาก เกิดจากการยอมแพ้ “ใจ” ตนเอง

   เมื่อทราบดังนี้แล้วก็ขอให้ VI ทุกท่าน  เปลี่ยนจุดอ่อน ให้เป็นจุดแข็งนะคับ  เพราะเดี๋ยวนี้ตลาดผันผวน พวกเราต้องอยู่เหนือตลาดคับ  อย่าขาดทุน

Thursday, December 18, 2014

3 ข้อคิดยามตลาดหุ้นผันผวน


เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้คนรอบข้างของผู้เขียนมีมุมมองที่เป็นบวกกับหุ้นอย่างมาก เรียกได้ว่ามีหลายคนตัดสินใจออกจากงานที่ทำอยู่ประจำมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา เพื่อหวังว่าน่าจะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกับเพื่อนกลุ่มนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ข้อคิดดีๆ หลายข้อยามตลาดผันผวน ที่อยากจะมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านนะครับ


ข้อคิดที่ 1 การลงทุนเป็นเรื่องของเหตุผล แต่กำไรขาดทุนมักเป็นเรื่องของอารมณ์ 
ข้อคิดอันนี้ถือว่าเป็นอะไรที่น่าจะเข้ากันได้ดีกับสถานการณ์ปัจจุบันมากครับ เพราะหลายครั้งที่นักลงทุนก้าวเข้ามาในตลาดหุ้น ก็เพราะมีเป้าหมายว่าอยากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนแบบเดิม เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เป็นต้น 

ถ้าเรามองถึงผลตอบแทนย้อน หลังของ SET Index ในอดีตที่ผ่านมา การคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 8-12% ต่อปีน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไร ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้นักลงทุนหลายท่านตัดสินใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แต่พอนักลงทุนได้เข้ามาลงทุนจริงๆ กลับกลายเป็นว่าโดนอารมณ์ของ "กำไร" และ "ขาดทุน" เข้าครอบงำจนการตัดสินใจหลายๆ ครั้ง "ผิดพลาด" จากเดิมที่ต้องการ8-12% ต่อปี กลายเป็น 4-5% ต่อวัน เป็นต้น จากการสัมภาษณ์เพื่อนของผมกลุ่มนี้ ทุกคนเห็นตรงกันว่า จากเดิมที่เคยตั้งใจว่าจะเข้ามาลงทุน โดยหวังจะลงทุนระยะยาว กลายเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น โดยปัจจุบันมีหลายคนที่เลิกลงทุนไปเลยก็มี

จุดเปลี่ยนของทุกคนที่กลายร่างมาเป็นนักเก็งกำไรก็คือเรื่องของกำไรขาดทุนรายวันที่ทุกคนนั่งดูตลาดทุกวัน รวมถึงข่าวต่างๆ ที่คอยมากระทบ ทำให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป ซึ่งผมได้เสริมเข้าไปว่าจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ข่าวก็ได้ ที่ทำให้ทุกคนเปลี่ยน แต่เป็นทัศนคติต่อการลงทุนต่างหากที่ทำให้ทุกคนเปลี่ยนไป ทัศนคติที่อยากจะได้ 4-5% ต่อวัน มันคือทัศนคติของนักเก็งกำไรรายวันที่ไม่ได้สนใจในพื้นฐานของการลงทุนแม้แต่น้อย แต่สนใจในเรื่องของ Sentiment ตลาดรายวันมากกว่าว่าจะไปในทิศทางไหน


ข้อคิดที่ 2 นักลงทุนสถาบัน vs นักลงทุนรายย่อย 
ใครกันแน่ที่ได้เปรียบ หัวข้อนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควรในกลุ่มเพื่อนผม ผมขอสรุปแบบนี้ก็แล้วกันนะครับ นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยต่างก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่าง กันไป แต่เราในฐานะนักลงทุนรายย่อยสามารถใช้ข้อได้เปรียบของนักลงทุนสถาบันมาใช้ ประโยชน์ได้เช่นกัน นั่นคือการลงทุนในกองทุนรวมนั่นเอง

เป็นความจริงที่นักลงทุนสถาบันมักมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลได้ลึกกว่า เพราะนักลงทุนสถาบันจะมีการเข้าไปทำ CompanyVisit บริษัทจดทะเบียนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นในฐานะนักลงทุนรายย่อย เราก็ลองลงทุนในกองทุนรวมซึ่งมีนักลงทุนสถาบันบริหารอยู่ เราก็จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ แต่นักลงทุนรายย่อยก็มีข้อได้เปรียบนะครับ นักลงทุนรายย่อยปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนได้ตามสะดวก ไม่จำเป็นต้องมีการดำรงสัดส่วนขั้นต่ำเหมือนกับการบริหารกองทุนรวม นักลงทุนรายย่อยจึงมีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากทีเดียวครับ


ข้อคิดที่ 3 การคำนวณพอร์ตการลงทุนควรทำเป็นลักษณะ Total Portfolio 
หลายๆ คนมักไม่จัดทำบัญชีการลงทุน กล่าวคือไม่มีการบันทึกว่าเราลงทุนอะไรไปแล้วบ้าง เงินส่วนใหญ่ของเราอยู่ในสินทรัพย์อะไร อย่างกลุ่มที่ผมไปนั่งสัมภาษณ์ ไม่มีใครทำเลยแม้แต่คนเดียว การบันทึกการลงทุนจะช่วยให้เรารู้ว่าการลงทุนของเราเหมาะสมหรือไม่ใน สถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ถ้าเป็นช่วงที่ Risk Off Mode เราลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเป็นจำนวนเท่าไหร่ และมากเกินไปหรือไม่ ควรจะปรับลดลงหรือไม่

การบันทึกพอร์ตโฟลิโอของเราทั้งหมด จะทำให้เรารู้ว่าบางครั้งผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอของเราก็เพิ่มขึ้นมาได้ อัตโนมัติ เช่น การลงทุนใน LTF หรือ RMF ผลตอบแทนที่เราได้จากการลดหย่อนภาษีจะช่วยให้มูลค่าพอร์ตเราโตขึ้นทันทีที่ เราได้เงินภาษีคืน โดยนักลงทุนสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวมาลงทุนต่อได้ โดยจะเป็นรูปแบบกองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนหุ้นก็ได้

กล่าวโดยสรุป ผมอยากให้ท่านนักลงทุนลองพิจารณาดูถึงพอร์ตโฟลิโอของเราว่ามีลักษณะอย่างไร ถือครองสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงใช้ประโยชน์จากกองทุนรวม เพื่อช่วยให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เราอาจจะเลือกลงทุนในกองทุนพร้อมกับหุ้นรายตัวบางตัวไปด้วยก็ได้ และสุดท้าย โปรดลงทุนโดยใช้เหตุและผล อย่าได้ใช้อารมณ์ตลาดเพียงระยะสั้นที่เข้ามากระทบจนทำให้การตัดสินใจของเรา ผิดพลาดไป

พบกันใหม่คราวหน้าครับ

Tuesday, December 16, 2014

ปรัชญา VI จากหนังสือลงทุน

   
 

    ตั้งแต่หนังสือการลงทุนเล่มแรกที่ผมเขียนคือ  “ตีแตก” ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2542 แล้ว  ผมก็ยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง  ถึงวันนี้ผมนับดูแล้วมีรวมกันเกือบ 20 เล่ม  ทุกเล่มนั้น  สิ่งที่ผมต้องคิดนอกจากเนื้อหาของหนังสือแล้วก็คือ “ชื่อ” ของหนังสือ  เพราะชื่อนั้นมีส่วนสำคัญที่จะทำให้หนังสือขายได้ดีหรือไม่ดีไม่น้อยไปกว่าเนื้อหา  ถ้าจะว่าไปก็คงเหมือนกับสินค้าที่จะขายดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ  “หีบห่อ” ไม่น้อย  ดังนั้น  ก่อนที่จะออกหนังสือ  ผมจึงต้องตั้งชื่อเรื่องที่ผมคิดว่ามันจะสื่อถึงประเด็นสำคัญที่มีต่อการลงทุนที่เข้ากับสถานการณ์ในขณะที่หนังสือออกวางแผง  ผลก็คือ  ถึงวันนี้ ผมมี  “ชื่อ” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการลงทุนแบบ VI เกือบ 20 ชื่อซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูก็พบว่าแต่ละชื่อนั้น  เหมือนกับเป็น “ปรัชญา” ที่สำคัญสำหรับ VI  ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มต้นด้วยหนังสือชื่อ  “ลงทุนเพื่อชีวิต-ด้วยหุ้น”  นี่เป็นปรัชญาหรือหลักการลงทุนที่ผมเห็นว่าสำคัญและจะเปลี่ยนวิถีการลงทุนของเราโดยสิ้นเชิง  คนที่เข้ามา “เล่นหุ้น” โดยกันเงินส่วนหนึ่งเข้ามาซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  ไม่ใช่การลงทุน “เพื่อชีวิต”  แต่น่าจะเป็นการลงทุนเพื่อความสนุกสนานหรือความโลภหรือความต้องการทำกำไรเพื่อนำเงินมาใช้เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  โอกาสที่ชีวิตจะ  “เปลี่ยนแปลง” ไปจึงแทบไม่มี  เราจะเข้าไปลงทุนก็เฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นคึกคักและก็เลิกเล่นเมื่อทุกอย่างเหงา  เงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมีไม่มาก  ชีวิตในระยะยาวของเราก็เหมือนเดิม  แต่การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น  เป็นการลงทุนที่เราตั้งความหวังว่าเมื่อเราแก่ตัวลงหรือมีอายุมากขึ้น  เราก็จะมีเงินมากพอที่จะทำให้เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงาน  มันจึงมีความสำคัญมากและไม่ใช่เรื่อง  “เล่น”  และสำหรับบางคนนั้น  มันเป็นหนทางที่จะทำให้  “รวย”  เป็นเศรษฐีได้  ดังนั้น  วิธีการลงทุนจึงต้องแตกต่างจากคนอื่น  ที่สำคัญก็คือ  เราต้อง “ทุ่มเท” ทรัพยากร  ทั้งทางด้านเม็ดเงินและแรงกายแรงใจที่จะทำให้มันบรรลุผล  นี่คือสิ่งเราต้องเลือก

หนังสือชื่อ “เซียนหุ้นพันธุ์แท้”  “เซียนหุ้นมือทอง”  และ “เทคนิคพิชิตหุ้น”  นั้น  บ่งบอกให้รู้ว่า  การลงทุนนั้น  ไม่ใช่ว่าจะแค่รู้จักชื่อหุ้นและสามารถสั่งซื้อสั่งขายได้โดยการการดูราคาหุ้นที่ขึ้นลงทุกวันและอ่านข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายวันหรือติดตามจากสื่อสมัยใหม่เท่านั้น   แต่การลงทุนที่ถูกต้องนั้นเราจะต้องเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง  เราต้องเรียนรู้จาก “เซียน” ที่เป็น  “ตัวจริง”  ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์   การเล่นหุ้นตามคนอื่นโดยที่เราไม่ได้รู้เหตุผลที่แท้จริงในแง่ของมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น  โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะยาก  และนี่ก็คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า  “เล่นหุ้นตามเซียน” ที่ผมเขียนขึ้นในปีที่หุ้นที่  “เซียน”  เล่นกันมากมีการปรับตัวขึ้นอย่างมากมาย  แต่เนื้อหาที่แท้จริงของหนังสือก็คือ  “อย่าเล่นหุ้นตามเซียน”

วิธีการลงทุนที่ผมคิดว่าดีที่สุดในระยะยาวก็คือ  การพยายาม  “ชนะอย่างเต่า”  ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก  ว่าที่จริงถ้าจะหาคุณลักษณะการลงทุนของผมโดยเปรียบเทียบกับสัตว์แล้ว  ผมคิดว่าผมก็คือ  “เต่า”  นั่นก็คือ  ผมเน้นว่าผมเลือกที่จะ “เดินทาง” หรือลงทุนอย่างช้า ๆ  ไม่เลือกหุ้นที่หวือหวาที่อาจจะให้ผลตอบแทนเร็วมากแต่อาจจะมีความเสี่ยง  ผมอยากที่จะเดินไปเรื่อย ๆ  ไม่หยุด  ผมคิดว่าถ้าเรามี  “เวลา” ในการลงทุนยาวนานเหมือนอายุเต่า  เงินของเราก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ  โดยที่เราไม่ต้องรีบ    นอกจากนั้น  การเป็น  “เต่า” ที่มีกระดองหนาป้องกันตัวและสามารถอยู่ได้ในทุกสถานที่และสถานการณ์แม้แต่ในน้ำนั้น  ก็เปรียบเสมือนกับการลงทุนของเราที่จะต้องออกแบบพอร์ตการลงทุนของเราให้ปลอดภัยในทุกสถานการณ์รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่มักจะต้องเกิดขึ้นเสมอได้

ชื่อหนังสือสองเล่มที่จะบอกถึงความจริงแท้แน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งและเราจะต้องผ่านมันไปได้ก็คือ  “เล่นหุ้นในภาวะวิกฤติ”  และ  “เล่นหุ้นปีทอง”  ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงวิกฤติและทุ่มเททุกอย่างลงทุนในปีทอง  ว่าที่จริงในทั้งสองช่วงนั้น  ผมลงทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งสองช่วง  เหตุผลก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าปีไหนเป็นปีวิกฤติและปีไหนจะเป็นปีทองจนกระทั่งมันผ่านไปแล้วเราไม่รู้ล่วงหน้า   สิ่งที่เราต้องทำตลอดเวลาก็คือ  ออกแบบหรือเลือกหุ้นลงทุนที่จะทำให้เราอย่าเสียหายมากเกินไปเมื่อเกิดวิกฤติและกำไรดีแต่อาจจะไม่ดีเท่าคนอื่นที่เล่นเก็งกำไรมากเมื่อเป็นปีทอง  โดยวิธีนี้  ในระยะยาวแล้วเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  เหตุผลเพราะว่า  เวลาหุ้นตก 50% นั้น  เราจะต้องทำผลตอบแทนขึ้น 100%  เราถึงจะเท่าทุน  ดังนั้น  โดยทั่วไป  การป้องกันหุ้นตกย่อมดีกว่าพยายามทำกำไรให้มากขึ้น

ในการลงทุนนั้น  ถ้าเราหวังที่จะ  “รวย”  ไม่ได้หวังแค่ได้ผลตอบแทนปกติ  บ่อยครั้งเราต้องกล้าที่จะ  “ตีแตก”  นั่นก็คือ  ลงทุนในหุ้นบางตัวในจำนวนเงินที่มากกว่าปกติมาก  มันเป็นหุ้นที่เรา  “เดิมพัน”  สูงมาก  ถ้าเราชนะเราจะได้เงินมากอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  แต่ถ้าเราแพ้  เราก็อาจจะเสียหายหนัก  ดังนั้น  การที่เราจะลงทุนในหุ้นตัวนั้น  เราจะต้องมั่นใจมากว่าโอกาสที่เราจะชนะมีมาก  และโอกาสที่เราจะแพ้มีน้อย  และถ้าแพ้  เราก็จะต้องไม่เสียหายหนักเกินไปจนอยู่ไม่รอด  ซึ่งหลักเบื้องต้นง่าย ๆ ของผมก็คือ  อย่าถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 50% ของพอร์ต  นอกจากนั้น  บริษัทจะต้องมีความเสี่ยงที่จะ “หายนะ” ต่ำมาก  และสุดท้ายก็คือ  อย่าคิดว่าเราพบหุ้นที่เราสามารถ  “ตีแตก”  ได้ปีละหลาย ๆ  ตัว  ผมคิดว่าหุ้นที่สมควรที่เราจะตีแตกนั้น  ถ้าภายใน 5 ปีมีหนึ่งตัวก็สุดยอดแล้ว

หุ้นที่จะตีแตกหรือหุ้นที่เราคิดจะลงทุนเป็น “แกน” ของพอร์ตของเราในระยะยาวนั้น  ผมคิดว่าควรที่จะอยู่ในกลุ่มที่ผมเรียกว่า  “ซุปเปอร์สต็อก-มหัศจรรย์ของหุ้น VI” ซึ่งก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกมาในช่วงที่หุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” หรือหุ้นที่มีคุณสมบัติทางธุรกิจดีสุดยอดนั้น  สร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างงดงาม  บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและบริษัทเป็นผู้นำที่มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้วยเหตุผลหลายอย่างรวมถึงขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งหรือแทบจะเป็นบริษัทใหญ่บริษัทเดียวในอุตสาหกรรม  ดังนั้น  มันจึงทำกำไรได้สูงกว่าปกติและสามารถขยายตัวและเพิ่มความได้เปรียบมากขึ้นไปอีก  ส่งผลให้หุ้นมีการเติบโตต่อเนื่องยาวนาน   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้น  เราก็ต้องพึงระวังว่าราคาหุ้นจะไม่สูงเกินไป

การลงทุนนั้น  เนื่องจากมันเป็นเรื่องระยะยาวมากแทบจะตลอดชีวิต  มันจึงควรเป็นอย่างชื่อหนังสือเรื่อง “การลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ” ไม่เคร่งเครียด  และสำหรับบางคนนั้น  เมื่อ “รวย” แล้วก็ควรเป็นการ  “รวยหุ้นอย่างพอเพียง”  ตามชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่ง   นั่นก็คือ  ไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น  รู้จักหาความสุขไม่ใช่จากการใช้เงิน  แต่หาความสุขโดยมีเงินเป็นตัวสนับสนุนในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เงิน นอกจากนั้น  ในการลงทุนเราก็ควรจะนึกถึงเรื่อง  “ธรรมะกับการลงทุน” ที่เป็นชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่จะช่วยชี้นำการใช้ชีวิตในตลาดหุ้นที่เต็มไปด้วยกิเลศและความโลภด้วย

สุดท้ายก็คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกในโอกาสที่ผมอายุครบ 60 ปีเมื่อปีที่แล้วชื่อ “ก้าวเล็ก ๆ  ในตลาดหุ้น  ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า  ชีวิตคนเราที่จะประสบความสำเร็จนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องเริ่มจาก  “ก้าวที่เล็ก ๆ” โดยที่ก้าวของผมก็มาจากความคิดที่ว่าผมจะ  “รวยด้วยหุ้น”  ตามชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงแต่เขียนมานานแล้ว   และทั้งหมดนั้นก็คือ  “ปรัชญา VI” ที่ได้มาจากชื่อหนังสือการลงทุนที่ผมเขียนขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ดร.นิเวศน์  เหมวชิรากุล

Friday, December 12, 2014

เปิดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทย 2557

เปิดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทย 2557  “หมอเสริฐ” น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แห่งโรงพยาบาลกรุงเทพ ยังรักษาบัลลังก์เศรษฐีหุ้นไทยได้อีกปี นั่งแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 2557 โชว์ความมั่งคั่ง 5.8 หมื่นล้าน รวยเพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้าน ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ บิ๊กบอสพฤกษา ขยับนั่งอันดับ 2 รวย 4.2 หมื่นล้าน เสี่ยคีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของบีทีเอส ติดอันดับ 3 รวย 3.9 หมื่นล้าน ด้านตระกูลจิราธิวัฒน์ คว้าแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 2 มั่งคั่งรวม 6.9 หมื่นล้าน



การจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย ซึ่ง วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาในปีนี้นับเป็นปีที่ 21 แล้ว



ภาพรวมของเศรษฐีหุ้นไทยในปี 2557 ซึ่งวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2557 จำนวน 6,473 ราย มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 1,831,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 รวม 571,731 ล้านบาท หรือ 45.39%



สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2557 ปรากฏว่า ตำแหน่งแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยประจำปี 2557 ได้แก่ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ หมอเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยถือครองหุ้นสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวมมูลค่า 57,909.48 ล้านบาท รวยขึ้น 21,313.28 ล้านบาท หรือ 58.24%  ซึ่งเป็นการครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว



สำหรับหุ้นที่ถือครอง ประกอบด้วย หุ้น บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ     ที่หมอเสริฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 20.19% รวมมูลค่า 57,866.71 ล้านบาท นอกจากนี้ยังถือหุ้น บมจ.โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) ในสัดส่วน  0.79% มูลค่า 42.77 ล้านบาท

 ความมั่งคั่งของหมอเสริฐแชมป์เศรษฐีหุ้นปี 2557 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจากปี 2547 ที่เข้ามานั่งเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 26 ถือครองหุ้นมูลค่า 1,562.42 ล้านบาท  จนในที่สุดก็ก้าวขึ้นเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นในปี 2556 เป็นปีแรก ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 36,596.20 ล้านบาท ต่อเนื่องมาในปี 2557 นี้ หมอเสริฐก็ยังคงรักษาบัลลังก์แชมป์เศรษฐีหุ้นไว้ได้อีกปี โดยมีมูลค่าความมั่งคั่งถึง 57,909.48 ล้านบาท


เศรษฐีหุ้นอันดับ 2  ได้แก่ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) หลังจากร่วงลงไปอยู่อันดับ 5 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้น PS ที่ถือครองในสัดส่วน 54.59% รวมมูลค่า 41,579.50 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 16,126.15 ล้านบาท หรือ 63.36% เนื่องจากราคาหุ้น PS ได้ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 34.25 บาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่ใช้คำนวณมูลค่าความมั่งคั่งของเศรษฐีหุ้นในปีนี้ จากที่หล่นไปแตะ 19.50 บาท เมื่อปีที่แล้ว โดยราคาปรับขึ้นมา 14.50 บาท หรือ 75.64%


เศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 3 ในปีนี้ เป็นของ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) โดยร่วงลงมาจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว หุ้นที่คีรีถือครองรวมมูลค่าทั้งสิ้น 39,200.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,980.24 ล้านบาท หรือ 14.55% ประกอบด้วย หุ้น BTS ในสัดส่วน 32.58% มูลค่า 38,811.65 ล้านบาท หุ้น บมจ.แสนสิริ (SIRI) 0.6% มูลค่า 129.92 ล้านบาท และหุ้น บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย ( VGI) 0.54% มูลค่า 258.46 ล้านบาท



ด้าน สมโภชน์ อาหุนัย อดีตกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผันตัวไปเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในชื่อ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)  กระโดดขึ้นมาเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 4  จากอันดับ 10 เมื่อปีที่แล้ว  โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 36,565.50 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้นถึง 26,429.71ล้านบาท หรือ 260.76% ประกอบด้วยหุ้น EA ในสัดส่วน 40.47% มูลค่า 36,533.78 ล้านบาท และหุ้น บมจ.อีเทอเนิล เอนเนอยี (EE) อีก 0.94% มูลค่า 31.72 ล้านบาท



สาเหตุความมั่งคั่งของสมโภชน์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 200% ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น เนื่องมาจากความร้อนแรงของหุ้น EA ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาด mai โดยปรับขึ้นจากราคาจอง 5.50 บาท ไปอยู่ที่ 6.70 บาท ณ 30 กันยายน 2556 และราคาก็พุ่งขึ้นมาถึง 24.20 บาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 17.50 บาท หรือ 261%



ปีนี้ อดีตแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 7 ปีซ้อน อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หล่นจากอันดับ 4 ลงมาอยู่อันดับ 5 โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 24,788.62 ล้านบาท ลดลง 952.14 ล้านบาท หรือ 3.70% ประกอบด้วย หุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) 22.07% มูลค่า 24,779.45 ล้านบาท และ บมจ.แมนดาริน โฮเต็ล (MANRIN) 1.36% มูลค่า 9.16ล้านบาท



ส่วนเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 6 ในปีนี้ ขยับขึ้นจากอันดับ 7 เมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ นิติ โอสถานุเคราะห์ ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 24,020.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,396.59 ล้านบาท หรือ 28.98% นอกจากนิติจะเป็นทายาทของอาณาจักรโอสถสภาแล้ว ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีพอร์ตการถือหุ้นมากถึง 14 บริษัท ซึ่งราคาหุ้นส่วนใหญ่ในพอร์ตได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนแทบทั้งสิ้น



ด้าน วิชัย ทองแตง เจ้าพ่อเคเบิลยักษ์ใหญ่แบรนด์ CTH ร่วงจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้วมาเป็นเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 7 ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 20,294.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165.46 ล้านบาท หรือ 0.82% ประกอบด้วยหุ้น BGH ในสัดส่วน 6.71% มูลค่า 19,235.87 ล้านบาท หุ้น บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) 7.23% มูลค่า 454.59 ล้านบาท หุ้น บมจ.ปุ๋ยเอ็นเอฟซี (NFC) 8.04% มูลค่า 272 ล้านบาท และหุ้น บมจ.อาร์พีซี (RPC) 21.40% มูลค่า 332.31 ล้านบาท



เศรษฐีหุ้นอันดับ 8 ปีนี้ ตกเป็นของเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่อย่าง หทัย ศิริวิริยะกุล เจ้าของอาณาจักรน้ำตาลที่มีโรงงานใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลอันดับ 3 ของประเทศ ในชื่อ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) โดยถือครองหุ้น KTIS สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 42.82% รวมมูลค่า 18,678.85 ล้านบาท



ทั้งนี้ KTIS ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเริ่มเข้าเทรดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 โดยราคาหุ้นปรับขึ้นมายืนที่ 12 บาท เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 จากราคาจองที่ 10 บาท ส่งผลให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นในทันทีที่เข้าตลาดฯ ซึ่งนอกจากหทัยแล้วยังมีทายาทในตระกูลศิริวิริยะกุล พาเหรดเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้อีกหลายคน



ส่วน  พิชญ์ โพธารามิก ทายาทคนเดียวของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดิศัย โพธารามิก         ผู้ก่อตั้ง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ร่วงลงไปจากอันดับ 3 ในปีที่แล้วมาอยู่อันดับ 9 ในปีนี้ โดยถือครองหุ้น รวมมูลค่าทั้งสิ้น 16,560.72 ล้านบาท ลดลง 9,921.27 ล้านบาท หรือ 37.46%  ประกอบด้วย หุ้น บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) ในสัดส่วน 71.87% มูลค่า 4,205.60 ล้านบาท และ หุ้น JAS 25.84% มูลค่า 12,355.11 ล้านบาท



ทั้งนี้ หลังจากที่พิชญ์นำ MONO ซึ่งทำธุรกิจการให้บริการข้อมูลและบริการด้านบันเทิง เข้าจดทะเบียนในตลาด mai เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ไปแล้วนั้น ราคาหุ้น MONO ได้ปรับลดลงจากราคาจองที่ 11.40 บาท มาอยู่ที่ 4.18 บาท ในวันที่ 30 กันยายน 2557 ลดลง 7.22 บาท หรือ 63.33% ส่วนราคาหุ้น JAS ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ความมั่งคั่งจากมูลค่าหุ้นที่ถือครองลดลงไปจากปีก่อน



ปีนี้ เจ้าของอาณาจักร ไมเนอร์ กรุ๊ป วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค หรือที่รู้จักกันในนาม บิล ไฮเนกี้ ร่วงมาอยู่ในอันดับ 10 จากอันดับ 8 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 13,061.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,860.74 ล้านบาท หรือ 16.61% ประกอบด้วย หุ้น บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) 8.55% มูลค่า 12,660.44 ล้านบาท และหุ้น บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) ในสัดส่วน 6.61% มูลค่า 400.92 ล้านาท



สำหรับอันดับเศรษฐีหุ้นของสองสาวทายาทอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าปีนี้อันดับจะลดลงแต่มูลค่าหุ้นที่ถือครองกลับเพิ่มสูงขึ้นจากราคาหุ้น บมจ.เอสซี แอสเซท (SC) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.90 บาท  ณ 30 กันยายน 2557 โดยลูกสาวคนเล็ก แพทองธาร ชินวัตร หล่นจากอันดับ 64 มาอยู่อันดับ 82 ถือหุ้น บมจ.เอสซี แอสเซท (SC) 29.11% มูลค่า 4,215.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 545.32 ล้านบาท หรือ 14.86% และลูกสาวคนกลาง พิณทองทา ชินวัตร หล่นจากอันดับ 66 มาอยู่อันดับ 84 ถือหุ้น SC 28.17% มูลค่า 4,079.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 527.72 ล้านบาท หรือ 14.86%



ทั้งนี้หลังจากที่ ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งเซ็นทรัลได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ก้าวเข้ามาครองแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยไปเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ จิราธิวัฒน์ ก็ยังรักษาแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยไว้ได้อีกเป็นปีที่ 2 โดยเครือญาติเศรษฐีหุ้นในตระกูล 32 คน ถือครองหุ้นรวมกันทั้งสิ้น 69,391.88 ล้านบาท มั่งคั่งเพิ่มขึ้น 2,603.99 ล้านบาท หรือ 3.90%



ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 2 ได้แก่ ตระกูลปราสาททองโอสถ ของ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้ โดยเมื่อรวมกับสองทายาท ปรมาภรณ์ และ พล.ต.ต.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ถือครองหุ้นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 65,314.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,247.03 ล้านบาท หรือ 55.26%



กลับมาติด Top 5 ตระกูลเศรษฐีหุ้นได้อีกครั้งในปีนี้ สำหรับ ตระกูลวิจิตรพงศ์พันธุ์ โดยขึ้นมาเป็นตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ 3 หลังจากตกไปอยู่อันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดย ทองมาและทิพย์สุดา พร้อมด้วยลูกสาวทั้งสองคน     คือ มาลินี และ ชัญญา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ถือครองหุ้นรวมกันเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 50,313.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,887.40 ล้านบาท หรือ 65.36%



ตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ ตระกูลกาญจนพาสน์ โดย 5 เครือญาติในตระกูล ได้แก่ คีรี อนันต์ ชัยสิทธิ์ สาคร และ ซุยพาง กาญจนพาสน์ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 49,393.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,126.15 ล้านบาท หรือ 19.69% และตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ได้แก่ ตระกูลทองแตง ที่ครอบครัวทองแตง ได้แก่ วิชัย นงลักษณ์ วิอร อติคุณ อัฐ และ อิทธิ ถือครองหุ้นรวมกันเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 44,082.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,489.30 ล้านบาท หรือ 44.09%



สำหรับแชมป์เก่า ตระกูลมาลีนนท์ ที่ครองแชมป์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานถึง 14 ปี มาในปีนี้ ตกลงไปอยู่อันดับ 6 โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 40,640.26 ล้านบาท ลดลง 8,482.18 ล้านบาท หรือ 17.27% เนื่องจากราคาหุ้น บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ที่เครือญาติมาลีนนท์ถือครอง ปรับลดลงจาก 56.75 บาท มาอยู่ที่ 47 บาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 ลดลง 9.75 บาท หรือ 17.18%

"Qianhai เขตเศรษฐกิจพิเศษยกกำลังสอง"

 
   เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปร่วมประชุม Qianhai Conference ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อปักธงให้โลกรู้จักเมือง Qianhai (หรือเฉียนไห่) หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Qianhai อย่างเป็นทางการครบรอบสองปีพอดี

  คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมด้วย) คงไม่เคยได้ยินชื่อ Qianhai มาก่อน เมื่อผมได้รับเชิญให้ไปร่วมงานนี้ ต้องรีบปรึกษาอากู๋ Google ว่าเมืองนี้อยู่ตรงไหนในจีน มีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมถึงคิดจะจัดการประชุมนานาชาติใหญ่โตเรื่องการเงินกับการพัฒนา เชิญคนใหญ่คนโตทั้งอดีตรัฐมนตรี ข้าราชการผู้ใหญ่ นักวิชาการ จากทั้งยุโรป เอเชีย และจีนเอง มาร่วมมากมาย เมื่อได้คำตอบจากอากู๋แล้ว ไม่รีรอที่จะตอบรับคำเชิญ

  Qianhai จัดได้ว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษยกกำลังสอง เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ที่ตั้งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Shenzen ที่เรารู้จักกันดี ประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยว ผิง จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Shenzen ในปี 1980 โดยมีวัตถุประสงค์ที่ให้เป็นพื้นที่ทดลองแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม และกลไกตลาด ก่อนที่จะนำไปใช้ทั่วประเทศจีน สามสิบปีเศษผ่านไป Shenzen เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จากหมู่บ้านชาวประมงชายแดน กลายเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่สามสิบอันดับแรกของโลก เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญ ท่าเรือ Shenzen ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนหลายแห่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Shenzen ตลาดหลักทรัพย์ Shenzen เป็นตลาดหลักทรัพย์อันดับสองของจีน คนไทยแต่เดิมชอบไปซื้อของราคาถูกที่ Shenzen ทั้งของจีนทำเองและจีนทำเลียนแบบ ผมไป Shenzen รอบนี้ตกใจกับราคาของและราคาอาหารตามร้านทั่วไป เกือบทุกอย่างแพงกว่าเมืองไทย สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตของคน Shenzen ที่สูงขึ้นทั้งคุณภาพและราคา

  Qianhai เป็นบริเวณพื้นที่ริมทะเลขนาดสิบห้าตารางกิโลเมตรของ Shenzen ส่วนที่อยู่ใกล้กับฮ่องกง รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ Qianhai เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับธุรกิจบริการทันสมัย (modern service industry) ที่เน้นความเป็นนานาชาติ ระบบตลาดเสรี และให้มีกฎเกณฑ์กติกาที่โปร่งใสเป็นสากลเพิ่มขึ้นยิ่งไปกว่าที่ Shenzen ได้รับอนุญาตไว้แต่เดิม ธุรกิจบริการที่ Qianhai ให้ความสำคัญประกอบด้วยสี่ด้านหลัก คือ บริการการเงิน โลจิสติกส์สมัยใหม่ การบริหารจัดการข้อมูลและระบบสารสนเทศ และบริการที่ต้องอาศัยผู้เชียวชาญมืออาชีพ (professionals) โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

  การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในช่วงหลังต่างไปจากสมัยที่รัฐบาลจีนตั้ง Shenzen เพราะตอนนี้เป็นแนวคิดจากล่างขึ้นบน รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ริเริ่มทำข้อเสนอให้รัฐบาลกลางพิจารณาสนับสนุนให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในเขตของตนเอง รวมทั้งขอให้รัฐบาลกลางให้สิทธิ์พิเศษต่างๆ ตามเป้าหมายของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง ซึ่งอาจจะมีเป้าหมายที่ซ้อนทับกันบ้างระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ๆ

  การจัดตั้งเมือง Qianhai ก็เป็นแนวคิดจากล่างขึ้นบน รัฐบาลท้องถิ่น Shenzen ต้องการทำเรื่องใหม่ๆ หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการพาณิชย์และอุตสาหกรรมแล้ว จึงเสนอให้รัฐบาลกลางพิจารณาสนับสนุนให้ Qianhai เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับบริการทันสมัย รัฐบาลท้องถิ่น Shenzen ต้องลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน Qianhai เอง ข้อดีของจีนคือว่าเมื่อรัฐบาลกลางตัดสินใจให้การสนับสนุนด้านนโยบายแล้ว จะกดปุ่มให้หน่วยงานระดับประเทศร่วมกันสนับสนุน Qianhai อย่างเต็มที่ แก้ไขกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ เพื่อให้ Qianhai สามารถทดลองทำธุรกรรมทันสมัยได้ โดยหวังว่าจะเป็นบทเรียนสำคัญก่อนที่จะขยายผลไปพื้นที่อื่นต่อไป

  โจทย์สำคัญในวันนี้ของ Qianhai คือจะกำหนดกลยุทธ์ของตัวเองอย่างไรในฐานะน้องใหม่ที่เกิดขึ้นมาแทรกกลางระหว่าง Shenzen กับฮ่องกง ซึ่งก้าวหน้ากว่า Qianhai หลายช่วงตัว ในด้านหนึ่ง Qianhai จะต้องแข่งขันกับทั้ง Shenzen และฮ่องกง ในอีกด้านหนึ่ง Qianhai จะต้องร่วมมือกับท้ัง Shenzen และฮ่องกง โดยอาศัยความได้เปรียบที่รัฐบาลกลางมอบให้ โดยเฉพาะความได้เปรียบเรื่องกฎเกณฑ์ กติกา และความได้เปรียบจากการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อบริการทันสมัยไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศจีน ความได้เปรียบเหล่านี้เป็นความได้เปรียบเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะรัฐบาลจีนกำลังดำเนินการเปิดเสรีในหลายๆ ด้าน เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลเปิดเสรีอย่างจริงจัง ธุรกิจจะตั้งอยู่ที่ไหนในประเทศจีนก็จะได้ประโยชน์เหมือนกัน

  หัวใจของ Qianhai ดูจะเป็นบริการด้านการเงิน ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีบริษัทเข้าไปจดทะเบียนใน Qianhai รวมกันประมาณ 16,000 บริษัท และกว่าร้อยละ 60 เป็นธุรกิจการเงิน บริเวณถนนที่กำลังก่อร่างเป็นศูนย์กลางการเงินของ Qianhai เริ่มเห็นธนาคารชื่อดังๆ ของจีนเปิดสาขาแข่งกันให้บริการอยู่มากมาย บริการการเงินในเขต Qianhai ได้รับสิทธิ์พิเศษหลายอย่างเหนือกว่าที่ทำได้ในบริเวณอื่นของประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนกำลังทดลองเกี่ยวกับการเปิดเสรีบัญชีเคลื่อนย้ายเงินทุน และการทำให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลสากล สาขาของสถาบันการเงินที่ตั้งใน Qianhai จึงได้รับสิทธิ์พิเศษเกี่ยวกับสองเรื่องนี้เป็นหลัก อาทิเช่น ธนาคารใน Qianhai สามารถนำเงินหยวนจากนอกประเทศจีน (รวมทั้งจากฮ่องกง) มาปล่อยกู้ต่อให้แก่บริษัทจีนที่จดทะเบียนใน Qianhai ได้ สามารถจัดตั้งกองทุนประเภทต่างๆ ที่นำเงินหยวนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนใน Qianhai สามารถให้บริการบริหารเงินสดข้ามประเทศ บริการระบบชำระเงินและบริการหลังบ้านสำหรับธุรกรรมเงินหยวนข้ามประเทศ บริการ wealth management ข้ามประเทศ นอกจากนี้ บริษัทที่จดทะเบียนใน Qianhai ได้รับอนุญาตให้ออก dimsum bond (พันธบัตรสกุลเงินหยวน) ในต่างประเทศได้ด้วย

  ในด้านบริการการเงินนั้น Qianhai ยังต้องแข่งขันกับเซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นกัน และมีระบบสถาบันการเงินก้าวหน้ากว่า Qianhai อยู่หลายสิบปี แต่แนวโน้มของการเปิดเสรีเคลื่อนย้ายเงินทุน และการส่งเสริมให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลสากลนั้น จะทำให้ตลาดทางการเงินในประเทศจีนใหญ่โตขึ้นอีกหลายเท่าตัว ทั้งรัฐบาลจีนและสถาบันการเงินจีนจึงเชื่อว่าโอกาสที่จะทำธุรกิจการเงินใหม่ๆ ยังมีไม่จำกัด ไม่ต้องกลัวว่า Qianhai จะสู้เซี่ยงไฮ้หรือฮ่องกงไม่ได้ หรือจะไม่มีธุรกิจการเงินให้ทำ

  Qianhai เป็นเหมือนกับอีกหลายเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ที่รัฐบาลต้องการใช้เป็นแล็บทดลองเรื่องใหม่ๆ ก่อนที่จะขยายผลเป็นนโยบายในระดับประเทศต่อไป ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงจากหลายสถาบันการเงินหลายแห่งเล่าให้ฟังในที่ประชุมว่าธุรกรรมการเงินใน Qianhai กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว นักวิชาการหลายคนกังขาว่าเป็นธุรกรรมที่ถูกสั่งมาให้ลงบัญชีที่ Qianhai หรือเป็นธุรกรรมที่เกิดจากกลไกตลาดอย่างแท้จริง นอกจากนี้ หลายคนสงสัยว่าบทเรียนจากที่ Qianhai จะนำไปใช้ทั่วประเทศจีนได้มากน้อยเพียงใด เพราะ Qianhai เป็นเพียงเมืองทดลองขนาดเล็กๆ ที่สามารถควบคุมกำกับดูแลได้ใกล้ชิด จะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเมื่อนำนโยบายเหล่านี้ไปขยายผลทั่วประเทศจีน ที่สำคัญเมื่อรัฐบาลจีนตัดสินใจผ่อนคลาดกฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายทุนข้ามประเทศเป็นการทั่วไป และยอมให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลสากลมากขึ้นแล้ว Qianhai จะอยู่ได้จริงหรือ เพราะเป็นศูนย์การเงินที่ตั้งขึ้นใหม่ เทียบชั้นกับฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ไม่ได้

  ในการประชุมครั้งนี้ เรื่องใหญ่ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือนโยบายใหม่ของรัฐบาลจีน ที่ต้องการสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) เชื่อมเมืองสำคัญทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ลงมาผ่านเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง Qianhai ผ่านทะเลจีนใต้ อ่าวไทย ช่องแคมมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง ต่อไปจนถึงแอฟริกา และยุโรป การสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลจีนที่ไปไกลกว่าเรื่องการค้าการลงทุนมาก เป็นแนวทางที่จะขยายอิทธิพล บารมีความยิ่งใหญ่ของจีนให้ไพศาลมากขื้น ทั้งด้านการเมือง กรอบความคิด และวัฒนธรรม หนีไม่พ้นที่รัฐบาลจีนจะเป็นพี่ใหญ่ผลักดันแนวคิดนี้ และสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ วันนี้เราจึงเห็นรัฐบาลจีนลุกขึ้นมาตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) รวมทั้ง Maritime Silk Road Management Fund รวมๆ กันคิดเป็นเงินทุนประเดิมกว่าสองแสนล้านดอลลาร์

  แนวคิดนี้เส้นทางสายใหม่ทางทะเลอาจจะยังไม่มีโครงการลงทุนชัดเจนเป็นรูปธรรม และจะต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่เพื่อนบ้านจีนหลายประเทศยังไม่ไว้ใจ (ในการประชุมครั้งนี้ ไม่มีผู้แทนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อขัดแย้งทางทะเลกับจีนเข้าร่วมเลย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์) แต่เชื่อได้ว่ารัฐบาลจีนคงจะทำจริง และจะทำเร็ว รัฐบาลท้องถิ่น Shenzen หวังว่า Qianhai จะเป็นทั้งศูนย์กลางด้านการเงินที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล และศูนย์กลางโลจิสติกส์ทันสมัย และจะเป็นตัวละครที่สำคัญสำหรับเส้นทางสายไหมทางทะเล นอกจาก Qianhai มีชัยภูมิที่ตั้งที่เหมาะสมแล้ว ชื่อเมือง Qianhai ยังได้เปรียบกว่าเมืองอื่นอีกมาก เพราะ Qianhai แปลว่าเปิดสู่ทะเล

  Qianhai จะไปได้ไกลแค่ไหนคงต้องรอดูต่อไป ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำโครงการยากๆ ให้เกิดขึ้นได้สำเร็จ และยังมีเงินที่จะทุ่มทุนสร้างอีกมาก แต่ระบบตลาดในประเทศจีนวันนี้พัฒนาไปไกลมาก และรัฐบาลจีนมีแนวโน้มจะเปิดเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกเรื่อง ช่วงเวลาที่ Qianhai ได้เปรียบด้านสิทธิประโยชน์เหนือเมืองอื่นอาจจะสั้นกว่าที่หลายคนคิด ดังนั้น Qianhai (และเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกหลายแห่งของจีน) จึงนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องลุกขึ้นวิ่งอย่างรวดเร็ว

  วันนี้ในเมืองจีนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว เมืองไทยเรามีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกันมาหลายรัฐบาล แต่ยังไม่เห็นเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม หลายเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยยังเป็นแนวคิดที่กำหนดจากบนลงล่าง (มากกว่าที่จะเป็นการผลักดันจากคนในท้องถิ่นแบบล่างขึ้นบน) การประสานงานกันของหน่วยงานราชการยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ไม่สามารถแก้ไขกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีเพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษจัดตั้งได้จริง และเดินหน้าได้ตามวัตถุประสงค์ เขตเศรษฐกิจต่างๆ ไม่มีพลวัตภายใน และไม่มีแรงจูงใจระดับท้องถิ่นที่จะเร่งกันทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษประสบความสำเร็จ และที่สำคัญการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยดูจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (เช่น แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยการให้สิทธิพิเศษในการจ้างแรงงานต่างด้าว) มากกว่าที่จะปักธงทำเรื่องสมัยใหม่ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

 cr. ดร. วิรไท  สันติประภพ   http://portal.settrade.com/blog/veerathai/2014/12/11/1502

Tuesday, December 9, 2014

อึ้ง-ทึ่ง-เสียว

         


    บรรยากาศของตลาดหุ้นในช่วงนี้  ถ้าจะให้ผมบรรยายด้วยคำเพียง 3 คำ  ผมคิดว่าคำที่เหมาะสมที่สุดก็คือ  อึ้ง-ทึ่ง-เสียว  เพราะเหตุการณ์  เรื่องราว  และสถานะของหุ้นจำนวนไม่น้อยทำให้ผมเกิดความรู้สึกวนเวียนอยู่ในสามอาการดังกล่าวนั่นก็คือ  อึ้ง  เพราะเรื่องราวที่ปรากฏเป็นข่าวหรือบริษัทมีการกระทำหรือได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันท้าทายจริยธรรมและความเชื่อปกติของสังคมนักลงทุนมากจนทำให้เรา  พูดไม่ออก  หรือ  ไม่กล้าพูด หรือ  ไม่อยากพูด   ผม  ทึ่ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างนั้น  มัน  แหกกฎเกณฑ์หรือทฤษฎี  หรือมันเกินไปจาก  ประสบการณ์หรือ  ภาวะปกติ ที่ผมคุ้นเคยไปมาก  และสุดท้าย  มัน  เสียว  เพราะหลาย ๆ  เรื่องที่เกิดขึ้นหรือเป็นข่าวนั้น  ดูเหมือนว่ามันน่ากลัวหรือดูมีความเสี่ยงสูง  แต่คนก็เข้าไปทำกันอย่าง  บ้าคลั่ง ราวกับว่ามันมีแต่ได้กับได้ในขณะที่ผมดูแล้วมันมีอันตรายสูงและตัวเอง  เสียว จนต้องพยายามลดความเสี่ยงลง

                        ที่จริงผมเคยเจอสถานการณ์แบบ อึ้ง-ทึ่ง-เสียว มาแล้วในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมสุด ๆ ในช่วงประมาณปี 2536 ถึง 2538 อาการหลาย ๆ  อย่างในตลาดหุ้นในช่วงนั้นก็คล้าย ๆ  กับในช่วงนี้  ความแตกต่างดูเหมือนว่าจะเป็น  รายละเอียด ของเหตุการณ์และความรุนแรงของแต่ละเรื่อง  นอกจากนั้น  ความแตกต่างอีกข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ  ในช่วงนั้น  เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตเร็วมากระดับ 7%-10ต่อปี จนทุกคนคิดว่าเรากำลังเป็น  เสือ ทางเศรษฐกิจของเอเชีย  ในขณะที่ปัจจุบัน  เศรษฐกิจไทยกำลัง  มีปัญหา และน่าจะเติบโต  รั้งท้าย ในเอเชีย  อย่างไรก็ตาม  คนต่างก็คิดว่าเราน่าจะกำลัง  ฟื้นตัว  ในขณะที่ช่วงปี 2536-2538 นั้น  เราโตอย่าง  ไร้คุณภาพ เป็น  ฟองสบู่ ทางเศรษฐกิจ  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  อาการในตลาดหุ้นนั้น  คล้ายคลึงกัน  สิ่งที่ยังไม่รู้ก็คือ  มันจะจบเหมือนกันหรือไม่?

                        เรื่องที่ทำให้ อึ้ง” นั้น  ค่อย ๆ  ทยอยออกมาเป็นระยะ  หลาย ๆ  เรื่องก็จะเกี่ยวข้องกับคน นอก ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นและตลาดหุ้นในทางใดทางหนึ่งหรือนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ในตลาดหุ้น  ในอดีตนั้น  เราก็จะพบเหตุการณ์เช่นว่าคนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงในวงราชการที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นที่มีแผนจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  หรือมีนักการเมืองบางคนมาเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นบางตัวอะไรทำนองนี้แต่ก็ไม่มีใครจะพูดอะไรเพราะมันเป็น  สิทธิ อันชอบธรรมของทุกคนตราบที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรของตลาด

                        ประเด็นที่ทำให้คน อึ้ง” นั้น  อยู่ที่ว่า ดีล  หรือเงื่อนไขที่ได้มานั้น  บางทีมันก็  ดีเกินไป และคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันต้องเป็นอย่างนั้น  ใครได้ประโยชน์และใครเสียประโยชน์  และถ้าเป็นคนอื่นเขาจะได้เงื่อนไขแบบนั้นหรือไม่  ประเด็นที่สำคัญยังอยู่ที่ว่าไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนที่จะเข้าไปตรวจสอบหรือขัดขวางการดำเนินการอะไรอย่างจริงจัง   ว่าที่จริงพวกเขาก็อาจจะทำอะไรไม่ได้จริง ๆ  และเขาก็อาจจะไม่อยากทำเพราะเหตุผลสารพัดที่ไม่อยากจะพูด  นั่นก็คือ  พวกเขาก็  อึ้ง  เหมือนกัน  ในช่วงปัจจุบันนั้น  ผมเองก็คิดว่ามันมีหลายเรื่องที่ผมรู้สึกว่ามันแปลก และมีความไม่ชอบมาพากล  แต่ในเมื่อมัน  ไม่ผิดกฎเกณฑ์อะไร ผมก็ได้แต่เก็บความคิดและความรู้สึกเอาไว้  และนี่ก็คือความหมายของคำว่า  อึ้ง

                        เรื่องน่า ทึ่ง ที่ผมเห็นนั้นมีมากมาย  ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องที่  ไม่น่าเป็นไปได้โดยสามัญสำนึกหรือโดยประสบการณ์  ปกติ  นี่เป็นสิ่งที่มักปรากฏขึ้นในยามที่ตลาด  ไม่ปกติ  โดยเฉพาะในยามที่ตลาดบูมมาก ๆ  เป็น ฟองสบู่”  ในอดีตนั้น  สิ่งที่เห็นชัดเจนและเป็นเรื่องน่าทึ่งก็คือราคาหุ้นขนาดเล็กโดยเฉพาะที่เป็นหุ้น  IPO นั้น  มีราคาที่สูงมากเกินกว่าผลประกอบการที่ทำได้ไปมากจนไม่น่าเชื่อ  และราคาที่ปรับขึ้นมานั้น  ส่วนมากก็ปรับขึ้นตั้งแต่วันแรก ๆ  ของการเข้ามาซื้อขายในตลาด  ในช่วงเร็ว ๆ นี้หุ้น IPO มีความน่าทึ่งยิ่งกว่าในช่วงปี 2536-2538   เพราะหลายตัวปรับขึ้นถึง 200ในวันแรกนอกจากนั้น  หุ้นตัวเล็กที่มีเรื่องราวน่าสนใจก็มีราคาสูงมากจนไม่น่าเชื่อ  ค่า PE เฉลี่ยของหุ้น MAI ที่เป็นหุ้นตัวเล็กนั้น  สูงถึง 60-70 เท่า  และที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือ  ปริมาณการซื้อขายของหุ้นตัวเล็กที่มีมูลค่าตลาดเพียงหลักพันล้านบาทนั้น  บ่อยครั้ง  สูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ระดับแสนล้านบาท

                        นอกจากเรื่องของราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้นขนาดเล็กที่ กลบรัศมี  หุ้นตัวใหญ่แล้ว  ความน่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ  ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมหนักนั้น  เราก็มักจะพบความน่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  มักจะมีรายการ  หนูกินช้าง” หรือ  ปลาเล็กกินปลาใหญ่” ในอดีตนั้น  เราเห็นบริษัทเงินทุนเอกธนกิจพยายามเทคโอเวอร์ธนาคารไทยทนุที่เป็นธนาคารที่ใหญ่กว่ามาก  แม้แต่ในต่างประเทศอย่างในตลาดสหรัฐเองนั้น  เวลาที่ตลาดหุ้นบูมหนักในบางครั้งเราก็จะเห็นความน่าทึ่งแบบนี้ที่ปลาเล็กหรือหุ้นบริษัทเล็กที่  ร้อนแรง  เทคโอเวอร์บริษัทใหญ่หรือกินปลาใหญ่ที่อ่อนแอ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้เราก็เริ่มได้ยินข่าวแบบนี้บ้างแล้วในตลาดหุ้นไทย

                        เรื่องน่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  การเป็นเศรษฐี  ช่วงข้ามคืน”  ของคนหลาย ๆ  คนโดยเฉพาะที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นครั้งแรกหรือในหุ้นเล็กที่  มีการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นไป มโหฬาร” ภายในระยะเวลาอันสั้น  ความร่ำรวยของคนหลายคนในช่วงเวลาอันสั้นนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง  โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการที่ถ้าเขาไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนในตลาด เหตุผลก็เพราะว่า  หลายบริษัทนั้น  ไม่ได้มีกำไรอะไรมากมายนักและมีขนาดเล็ก  ถ้าอยู่นอกตลาดก็อาจจะเป็นแค่บริษัทขนาดเล็กธรรมดา ๆ ที่เจ้าของไม่สามารถที่จะเป็นมหาเศรษฐีได้อย่างแน่นอน

                        ความ เสียว  นั้น  น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมเป็นส่วนตัวมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสังคมนักลงทุนไทย  เหตุเพราะว่านักลงทุนส่วนใหญ่  รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น  นักวิเคราะห์  โบรกเกอร์ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็ยังมองว่าตลาดหุ้นไทยและหุ้นส่วนใหญ่นั้น  ยังแข็งแรงดีอยู่  ราคาหุ้นโดยส่วนรวมก็ยังไม่แพงเทียบกับเพื่อนบ้านแม้ว่าบางคนจะดูว่าหุ้นตัวเล็กมีราคาสูงเกินไปเป็น  ฟองสบู่” แต่ถ้ามีปัญหาก็คงไม่กระทบกับหุ้นทั้งตลาด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สภาพของเศรษฐกิจ การเงิน สังคม  การเมืองและตลาดหุ้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรน่าวิตก  ค่า PEตลาดหุ้นไทยที่สูงถึง 19 เท่าและพอ ๆ  กับจุดสูงสุดในช่วงวิกฤติตลาดหุ้นรอบที่แล้วก็อาจจะไม่ได้แปลว่าหุ้นไทยมีราคาแพง  เหตุผลก็เพราะอัตราดอกเบี้ยในช่วงนั้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ที่ต่ำติดดิน  ดังนั้น  PE 19 เท่าจึงไม่ถือว่าแพง  แต่ถ้ายังคิดว่าแพงก็มีเหตุผลว่าคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในเวลานี้ก็สูงกว่าในอดีต  ดังนั้น  สรุปว่าตลาดหุ้นไทยไม่น่ากลัว

                        สิ่งที่ผมกังวลนั้น  เกิดจากเหตุการณ์และสถานการณ์หลาย ๆ  เรื่องที่โอกาสจะเกิดขึ้นอาจจะไม่สูงแต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็มี ศักยภาพ  ที่จะทำให้เกิดอาการช็อกได้กับตลาดหุ้น   ตัวอย่างเช่นเศรษฐกิจไทยในปีหน้า  ถ้ายังแย่อยู่แบบปีนี้  ผลก็อาจจะรุนแรงได้เพราะมันอาจจะเปลี่ยนความเชื่อ” ของนักลงทุนว่าหุ้นจะดี  เช่นเดียวกับด้านของการเมือง  ถ้าทุกอย่างไม่ได้  ลงตัว  ปัญหาก็อาจจะรุนแรงได้  ประเด็นสำคัญก็คือ  ทุกครั้งที่หุ้นปรับตัวขึ้นมามากและดัชนีหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงกว่ามาตรฐานระยะยาวแล้ว  โอกาสที่มันจะปรับตัวลงแรงก็มักจะมีสูงขึ้นเมื่อตลาดหุ้นประสบปัญหา  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้  ประกอบกับสัญญาณของความ  อึ้ง” และ “ทึ่ง” ดังที่กล่าว  ผมจึงรู้สึก เสียว จนบอกไม่ถูก 

มุมมอง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร