Sunday, March 9, 2014

Value Investor หุ้นตัวเล็ก - ตัวใหญ่ มุมมอง VI

        


          Value Investor จำนวนมากหรืออาจจะเรียกว่าส่วนใหญ่ ชอบลงทุนในหุ้นตัวเล็กหรือบริษัทขนาดเล็ก เหตุผลก็คือ พวกเขาเชื่อว่าหุ้นตัวเล็กนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติได้  หลักฐานที่ปรากฏในตลาดหุ้นก็ “ชัดเจน” หุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่า บางตัวเป็นสิบเท่าภายในเวลาเพียงไม่เกิน 1- 2 ปี ที่ผ่านมานั้น มักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. ไม่เกิน 3-4 พันล้านบาท หลายตัวอาจจะไม่เกินพันล้านบาทด้วยซ้ำ หุ้นตัวเล็กนั้นมีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนไม่เฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไรเล่นหุ้นรายวัน แต่เป็นขวัญใจของ VI ด้วย ว่าที่จริง VI ระดับ “เซียน” ที่ทำผลตอบแทนมหาศาลในช่วงเร็ว ๆ ต่างก็รวยมาด้วยหุ้นตัวเล็กเป็นส่วนใหญ่ แทบจะเป็นข้อสรุปได้เลยว่า ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในหุ้นสูงมากโดยเฉพาะเมื่อพอร์ตของคุณยังเล็กอยู่นั้น ไม่มีทางอื่นนอกจากลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก

        ลองมาดูกันว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และความเสี่ยงอยู่ที่ไหน

          ประเด็นแรก มองกันที่พื้นฐาน หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะมีโอกาสเติบโตสูงในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น มักจะเติบโตเต็มที่หรือเติบโตไปมากแล้ว การที่หุ้นตัวใหญ่จะมียอดขายและกำไรเติบโตขึ้นอีกเท่าตัวภายในเวลา 3-4 ปี นั้นน่าจะทำได้ยากมาก ในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นบางบริษัทสามารถเติบโตเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวได้ภายในระยะเวลาเดียวกัน แนวความคิดก็คือ หุ้นตัวใหญ่นั้นมักจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงและมักอยู่ในตลาดที่อิ่มตัวหรือใกล้จะอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะโตต่อไปก็จะน้อยลงในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะอยู่ในธุรกิจที่ตลาดกำลังโตหรือไม่ก็ยังเป็นกิจการที่เล็กและมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย ดังนั้น จึงสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งได้

           ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในเรื่องของตลาดที่อิ่มตัวนั้นบ่อยครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง แน่นอนว่าการเติบโตระดับที่เกินปีละ 15-20 % ในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไปสำหรับบริษัทขนาดใหญ่นั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แต่การโตปีละ 7-10% ก็น่าจะยังทำได้อยู่ไม่น้อย แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เริ่มจะเกิดขึ้นในเมืองไทยก็คือ บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่ม “Go Inter” นั่นคือเริ่มขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และถ้าหากว่าทำสำเร็จ ข้อจำกัดเรื่องตลาดอิ่มตัวก็จะหมดไป ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่ก็ยังมีโอกาสโตไปได้เรื่อย ๆ ในระดับที่น่าประทับใจซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นยังสูงขึ้นได้เรื่อย ๆ นี่ทำให้ผมนึกถึงหุ้นโค๊กที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ลงทุนเมื่อราวสิบกว่าปีก่อนในช่วงนั้นถ้าไม่คิดถึงตลาดต่างประเทศแล้วโค๊กก็น่าจะเป็นหุ้นที่ “อิ่มตัว” เพราะคนอเมริกันทุกคนดื่มโค๊กกันแทบจะแทนน้ำแต่หลังจากนั้น โดยเฉพาะเมื่อจีนและประเทศกำลังพัฒนาเปิดกิจการโค๊กก็โตขึ้นจากการขยายกิจการไปต่างประเทศและทำให้หุ้นโค๊กปรับตัวขึ้นมหาศาล

            แน่นอนว่าหุ้นตัวเล็กที่เติบโตสูงนั้นสามารถเติบโตได้มากกว่าหุ้นตัวใหญ่แต่ความเสี่ยงของหุ้นตัวเล็กก็สูงกว่ามาก ถ้ามองจากสถิติโดยรวมบางทีก็อาจจะพบว่าหุ้นตัวเล็กจำนวนมากนั้น ไม่ได้โตไปไหนเลย เคยเล็กอย่างไรก็เล็กอย่างนั้น หุ้นตัวเล็กหลายตัวที่โตขึ้นนั้น บางทีก็โตแบบไม่มีคุณภาพ นั่นคือ โตโดยที่กำไรไม่เพิ่มหรือโตโดยที่ต้องลงทุนไปมากจนแทบไม่คุ้มที่จะโต อาจจะมีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่โตจริงและโตมากซึ่งทำให้เกิดภาพว่าหุ้นตัวเล็กโตเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงในแง่ของธุรกิจนั้น หุ้นตัวเล็กก็น่าจะสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ดังนั้น สำหรับ VI หรือนักลงทุนที่ไม่ใช่ “เซียน” แล้ว การเล่นหุ้นตัวเล็กก็อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหนือกว่า ถ้าจะพูดไป การลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่ยังเติบโตดีในระดับ 15% ต่อปีนั้นผมคิดว่าดีกว่าเล่นหุ้นตัวเล็กที่มีโอกาสโต 30% แต่ความเสี่ยงสูงกว่ามาก

                ประเด็นที่สอง คือเรื่องที่หุ้นตัวเล็กนั้นไม่มีนักวิเคราะห์หุ้นติดตามหรือวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริง ดังนั้น หุ้นตัวเล็กส่วนใหญ่จึงถูก “มองข้าม” หุ้นหลายตัวอาจจะมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากเรียกว่าเป็นหุ้นที่ “Under Valued” สุด ๆ จึงเป็นโอกาสที่ VI จะสามารถเข้าไปซื้อและทำกำไรได้มหาศาลหลังจากที่คนจำนวนมากเริ่มที่จะตระหนักถึงมูลค่าของมันและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก

             ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในภาวะที่ตลาดหุ้นบูม มีการเก็งกำไรสูงอย่างในปัจจุบันนั้น หุ้นตัวเล็กกลับกลายเป็นหุ้นยอดนิยม ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์อาจจะไม่ได้ทำรายงานการวิเคราะห์เป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่วิเคราะห์เลยแต่นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแนว VI
ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากและมีความสามารถสูงไม่แพ้นักวิเคราะห์ก็หันมาสนใจหุ้นเล็ก ๆ เหล่านี้ ดังนั้น ที่บอกว่าหุ้นตัวเล็กนั้นเป็นหุ้นที่ถูกมองข้ามนั้น ในอดีตอาจจะเป็นจริง แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีน้อยลงไปมาก ว่าที่จริงถ้าดูกันที่ค่า PE ซึ่งบ่งบอกถึงความถูกความแพงของหุ้นโดยรวมแล้ว หุ้นตัวเล็กไม่ได้ถูกกว่าหุ้นตัวใหญ่เลย ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า หุ้นตัวเล็กนั้น ในขณะนี้ไม่ได้ถูก “มองข้าม” อีกต่อไป และดังนั้น หุ้นตัวเล็กก็ไม่ได้ Under Valued ตรงกันข้าม จำนวนไม่น้อยน่าจะ Over Valued ด้วยซ้ำ

            ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การลงทุนในหุ้นตัวเล็กนั้นมีโอกาสที่จะถูก “แจ็คพ็อต” คืออาจจะทำกำไรได้หลาย ๆ “เด้ง” หรือหลาย ๆ เท่าหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น บางทีไม่ถึงปีในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น ไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็มักจะไม่สามารถทำกำไรแบบนั้นได้ ถ้าจะโตระดับนั้นได้ก็มักจะต้องอาศัยเวลาหลาย ๆ ปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทน “ระดับเทพ” ได้

           ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่นี่อาจจะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ที่มีความเสี่ยงและเป็นเรื่องที่เราจะต้องเลือกว่าเราจะไปในเส้นทางไหน นั่นก็คือ จะเติบโตอย่างปลอดภัยและไปช้ากว่า หรือจะโตอย่างรวดเร็วแต่เสี่ยงที่จะล้มเหลวเมื่อหุ้นที่อาจจะโตหลายเด้งนั้นกลายเป็นลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จสูงมากในระยะยาวไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนดีผิดปกติในปีใดปีหนึ่งแต่ขึ้นอยู่กับความคงเส้นคงวาของผลตอบแทนที่ดีปีแล้วปีเล่า วอเร็น
บัฟเฟตต์ เองนั้น ไม่เคยมีปีใดที่เขาสามารถทำผลตอบแทนของพอร์ตได้เกินร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แต่สถิติระยะยาวของเขาไม่มีคนเทียบได้ และเขาแทบจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวเล็กเลย

           ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบหุ้นตัวเล็กว่าที่จริงในช่วงแรก ๆ ของการลงทุนนั้น ส่วนใหญ่ผมมักจะลงทุนในหุ้นตัวเล็ก และทุกวันนี้ผมก็คิดว่าโอกาสในหุ้นตัวเล็กก็ยังดีกว่าหุ้นตัวใหญ่แม้ว่าหุ้น ตัวเล็กสำหรับผมในปัจจุบันอาจจะเป็น “หุ้นขนาดกลาง” มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเหตุผลในการลงทุนในหุ้นตัวเล็กหลายๆ เรื่องนั้นในปัจจุบันมีน้ำหนักน้อยลงไป พูดง่ายๆ หุ้นตัวเล็กไม่ใช่ขวัญใจของผมและผมไม่เน้นหุ้นตัวเล็ก ไม่ใช่แค่เพราะว่าหุ้นตัวเล็กหาซื้อหุ้นยากไม่มีสภาพคล่อง แต่เป็นเพราะว่าหุ้นตัวเล็กนั้นส่วนใหญ่ไม่มีความเข้มแข็งหรือความโดดเด่นพอในแง่ของธุรกิจ ซึ่งทำให้การลงทุนระยะยาวไม่สามารถทำได้ง่าย เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงก็มักจะสูงกว่าที่ผมอยากจะรับ

ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากร