Monday, August 31, 2015

ปัจจัยด้านต้นทุน / ดร.นิเวศน์

      นักธุรกิจและนักลงทุนไทยนั้น ดูเหมือนจะไม่ใคร่ให้ความสำคัญกับการ “ลดต้นทุน” ของการผลิตมากเท่ากับการ “เพิ่มรายได้” โดยการขยายธุรกิจหรือการเพิ่มยอดขาย เหตุผลอาจจะเป็นเพราะการลดต้นทุนนั้น มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของการมองย้อนหลังหรืออยู่กับที่ เป็นการมองด้านลบ เป็นเรื่องของงาน “หลังบ้าน” ที่คนทำไม่ได้เครดิตหรือหน้าตาแต่มักจะถูกต่อว่าจากเพื่อนร่วมงานที่บ่อยครั้งต้องถูกลดผลตอบแทนหรือรายได้หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่าง ๆ ที่เคยได้รับ

      ดังนั้น เวลาที่บริษัทอยากที่จะทำกำไรเพิ่มหรือรักษากำไรไว้ให้ได้ กลยุทธ์หลักจึงมักจะเน้นไปที่การเพิ่มรายได้แทนที่จะลดรายจ่ายหรือต้นทุนของสินค้าหรือบริการ แต่นั่นคือกลยุทธ์ในอดีตที่อาจจะเหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดีมีโอกาสที่จะขายสินค้าเพิ่มได้ง่าย ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยลงและการเติบโตเร็ว ๆ อาจจะเกิดยากขึ้นเรื่อย ๆ กลยุทธ์การทำกำไรของธุรกิจในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนไป การ “ลดต้นทุน” อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำมากขึ้นเรื่อย ๆ “ปัจจัยด้านต้นทุน” อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดผลประกอบการของบริษัทในช่วงเร็ว ๆ นี้ หรือพูดง่าย ๆ ในมุมของนักลงทุนก็คือ หุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีอาจจะมาจากการที่บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มาก ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทเน้นโตเร็วอย่างที่ผ่านมา

      ต้นทุนหลัก 3 ด้านของธุรกิจเกือบทุกประเภทก็คือ ต้นทุนทางด้านแรงงาน ต้นทุนด้านวัตถุดิบ และต้นทุนทางด้านการเงินหรือต้นทุนของการลงทุน มองจาก “ภาพใหญ่” โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ “โชคดี” ที่ว่าดูเหมือนบริษัทส่วนใหญ่น่าจะมีต้นทุนที่ลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นเพราะ ข้อแรก ค่าแรงงานของไทยในช่วงนี้คงไม่ใคร่เพิ่มขึ้นมากนักเปรียบเทียบกับในอดีต เรื่องของวัตถุดิบเองนั้น ดูเหมือนว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบของสินค้าต่าง ๆ มีราคาลดลงมากเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์การเกษตร ในส่วนของต้นทุนการเงินนั้น ดอกเบี้ยก็ลดลงอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้น ธุรกิจที่มีต้นทุนเหล่านี้ในสัดส่วนที่สูงก็จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่สามารถขายสินค้าในราคาเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับราคาเดิมได้ ตัวอย่างเช่นกิจการที่ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อรายย่อยหรือผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ราคาอาหารสำเร็จรูปนั้นไม่ได้ลดลงในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และวัตถุดิบในการปรุงอาหารลดลง เช่นเดียวกัน ราคาค่าโดยสารแท็กซี่ก็ไม่ได้ลดแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงมาเป็นต้น

    ลองมาดูว่าบริษัทหรืออุตสาหกรรมไหนจะได้ประโยชน์มากน้อยเท่าไรจากการที่ราคาของปัจจัยการผลิตทั้งสามด้านลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นแรกก็คือเรื่องแรงงาน บริษัทที่ใช้คนจำนวนมากในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ มีต้นทุนค่าแรงงานสูง การที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นน้อยนั้นคงไม่ถึงกับทำให้ต้นทุนส่วนนี้ลดลงแต่ก็จะทำให้มันไม่ใคร่เพิ่มขึ้นอย่างที่เป็นมาในอดีต นอกจากนั้น ในกรณีที่เป็นพนักงานในระดับที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง การลดการใช้โอเวอร์ไทม์หรือการใช้เครื่องจักรมาแทนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็สามารถที่จะลดต้นทุนทางด้านแรงงานได้

    ในระยะยาวแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพของคนงานและลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแรงงานอย่าง “ถาวร” มักจะขึ้นอยู่กับการ “ปรับกระบวนการทำงาน” โดยการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านไอทีเข้ามาช่วย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตที่เด่นชัดก็เช่นในเรื่องของธุรกิจค้าปลีกที่มีการนำบาร์โค้ดมาใช้ในการคิดเงินค่าสินค้าและการใช้ระบบเอทีเอ็มในระบบธนาคารพาณิชย์เป็นต้น ในส่วนของการผลิตทางอุตสาหกรรมเองนั้นก็มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคนในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ถ้าหากเป็นการผลิตสินค้าเพื่อขายให้กับผู้ซื้อรายใหญ่ บริษัทก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนักเพราะราคาขายก็จะลดลงเนื่องจากคู่แข่งก็มักจะใช้หุ่นยนต์เหมือนกันทำให้ต้องลดราคาเพื่อให้แข่งขันได้ ดังนั้น บริษัทที่จะได้ประโยชน์จริง ๆ จะต้องเป็นบริษัทที่สามารถทำได้อยู่รายเดียวหรือน้อยรายในขณะที่คู่แข่งไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยเหตุผลบางอย่างเช่น คู่แข่งเป็นรายเล็กที่ไม่คุ้มที่จะใช้ระบบอัตโนมัติเหล่านั้น เป็นต้น

   ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นโภคภัณฑ์นั้น ราคาที่ลดลงซึ่งทำให้ต้นทุนลดลงนั้นมักจะเป็นเรื่องชั่วคราวแม้ว่าอาจจะเป็นหลายปี ซึ่งนั่นก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ใช้วัตถุดิบเหล่านั้น ตัวอย่างของบริษัทที่ได้ประโยชน์มากเช่น กิจการที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมัน เช่น บริษัทที่ทำเกี่ยวกับโลจิสติคขนส่งสินค้าจำนวนมากซึ่งน่าจะรวมถึงผู้ค้าปลีกที่ขายสินค้าประจำวัน การบิน การขนส่งทางเรือ และรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าที่ต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในกระบวนการผลิตเช่น ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์การเกษตรเช่น น้ำมันพืช ข้าว เนื้อสัตว์ เหล่านี้ ก็คงเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ขายอาหาร หรือถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อย่างยางพาราก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ยางในการผลิตชิ้นส่วนยาง เป็นต้น

   ในระยะยาวแล้ว การลดต้นทุนวัตถุดิบนั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการการผลิตที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าแต่สามารถทดแทนกันได้เช่น การใช้ถ่านหินแทนน้ำมันหรือก๊าซในการให้ความร้อนในกระบวนการผลิตสินค้า การใช้วัสดุชีวมวลที่มีราคาต่ำกว่าเชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้า “พลังงานทดแทน” ขายให้แก่การไฟฟ้าเป็นต้น

   สุดท้ายก็คือเรื่องของต้นทุนเงินทุนที่ลดลง นี่ก็เป็นเรื่องของบริษัทที่มีเงินกู้สูงมากและเป็นต้นทุนที่สูงของกิจการ การที่ดอกเบี้ยลดลงในรอบนี้และดูเหมือนว่าจะยังต่ำอยู่ยาวนานพอสมควร นี่ก็จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนที่ลดลงโดยที่รายได้จากการขายสินค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ ว่าได้ผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย บริษัทที่มีหนี้มากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินและรายได้นั้น ส่วนมากก็จะเป็นบริษัทที่ต้องลงทุนในโรงงานและ/หรืออุปกรณ์ที่มีราคาสูงเรียกว่าเป็นธุรกิจ Capital Intensive และกระแสเงินสดของกิจการไม่ดีนัก เช่น เป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก และปิโตรเคมี เป็นต้น

   บริษัทที่มี “หนี้” มากนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจดังกล่าว ว่าที่จริง สถาบันการเงินต่าง ๆ นั้น ต่างก็มีหนี้มากทั้งนั้น ดังนั้น ต้นทุนในการกู้ยืมจึงลดลง ประเด็นอยู่ที่ว่ารายได้หรือเงินที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าลดลงด้วยหรือไม่ ในกรณีของธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจทั่วไปนั้นรายได้ก็ลดลงตามดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย จึงไม่ได้ประโยชน์ แต่ธนาคารหรือบริษัทลีสซิ่งที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยตายตัวรายได้จะไม่ลดลงก็จะได้ประโยชน์

   กล่าวโดยสรุปก็คือ หุ้นหรือบริษัทที่มีต้นทุนลดลงอย่างมีนัยยะเนื่องจากบริษัทอาจจะมีต้นทุนด้านบุคลากรสูง และ/หรือ มีต้นทุนด้านพลังงานสูง และ/หรือมีต้นทุนทางด้านการเงินสูง ก็จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์เศรษฐกิจในรอบนี้ ยิ่งมีปัจจัยต้นทุนสูงและหลายด้านก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนั้น ถ้าพิจารณาว่าเศรษฐกิจไทยเองอาจจะไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะโตเร็วมากอีกต่อไปแล้ว บริษัทที่เน้นกลยุทธ์ในเรื่องของการลดต้นทุนในทุก ๆ ด้านดังกล่าวก็น่าจะเป็นบริษัทที่มีผลงานทำกำไรที่ดีกว่าบริษัทที่เน้นแต่กลยุทธ์การเติบโตเพียงอย่างเดียวและดังนั้นก็น่าจะมี Value หรือคุณค่ามากขึ้น นั่นก็คือ มันควรมีค่า PE ที่สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน

Friday, August 28, 2015

คาถาของ..บัฟเฟตต์ “เงินสด..เงินสด..เงินสด”



วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในมหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่รวยที่สุดคนหนึ่งของโลก อาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นคนธรรมดาๆที่พลิกผันชีวิตของตนด้วยการลงทุนและการซื้อกิจการ จนกลายไปเป็นบุคคลที่มั่งคั่งติดอันดับโลก บัฟเฟตต์เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ “การถือเงินสด” เป็นอย่างยิ่ง โดยสังเกตได้จากปริมาณเงินสดที่บริษัทของบัฟเฟตต์ที่ชื่อ เบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ถืออยู่ซึ่งพบว่า งบดุลของเบิร์กไชร์เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีเงินสดอยู่ 40.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณของประเทศไทยทั้งประเทศ) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากทีเดียว แล้วทำไม? บัฟเฟตต์จึงต้องถือเงินสดมากมายถึงเพียงนี้ ผมพอมีคำตอบที่อยากจะเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านดังนี้ครับ



หนึ่ง เงินสด สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่..แย่มาก แต่อาจให้โอกาสการลงทุนที่..ดีมาก

ในเวลานี้อัตราผลตอบแทนของการฝากเงินในสถาบันการเงินของกลุ่มประเทศยูโรโซน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ต่างให้อัตราผลตอบแทนเกือบจะเป็นศูนย์ ดังนั้นการถือครองเงินสดโดยหวังว่าจะได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยนั้น ในระยะยาวคงจะให้ผลตอบแทนที่..แทบจะไม่ได้อะไรเลย

ในช่วงเหตุการณ์ล่มสลายของบริษัทเลห์แมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจชั้นนำของโลกเมื่อเดือนกันยายนปี 2551  บัฟเฟตต์ได้ออกมาพูดถึงกลยุทธ์การลงทุนของเขาว่า “การลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินสดอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่การถือเงินสดของนักลงทุนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็อาจสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพวกเขาโยกเงินสดกลับไปลงทุนในเวลาที่เหมาะสม” ประโยคดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บัฟเฟตต์พร้อมที่จะ “ใช้เงินสดทันที..เมื่อโอกาสมาถึง”


สอง เปลี่ยนจาก “การถือ..เงินสด” เป็น “กลยุทธ์การลงทุนด้วย..เงินสด”

ตามที่รู้กันว่า บัฟเฟตต์ไม่ได้ถือเงินสดเพราะว่า เขาต้องการผลตอบแทนจากดอกเบี้ย แต่บัฟเฟตต์ถือว่าการถือเงินสดเป็น..กลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่ง เขามักจะเฝ้ารอเวลาที่ “ตลาดหุ้นถล่ม” ด้วยความอดทนอย่างสูง จากนั้นจึงนำเงินสดที่บริษัทตนถือครอง เข้าไปกวาดซื้อของถูกๆ..ที่อยู่เต็มไปหมดทั่วตลาดหุ้น

อลิซ โชรเดอร์ (Alice Schroeder) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “The Snowball: Warren Buffett and the Business of Life.” ได้พูดถึงกลยุทธ์ดังกล่าวของบัฟเฟตต์ไว้ว่า “เขามองการถือเงินสดต่างจากนักลงทุนทั่วๆไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันได้เรียนรู้จากบัฟเตต์ก็คือ โอกาสของการถือเงินสด เขาจะมองว่า การถือเงินสดก็คือ อนุพันธ์ประเภทหนึ่ง ที่ไม่มีวันหมดอายุ และสามารถเปลี่ยนไปสินทรัพย์ได้ทุกชนิดได้อย่างรวดเร็ว”


สาม  ต้อง “ถือเงินสด” มากขนาดไหน?

หากดูงบดุลของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ย้อนหลังไปซัก 3 ปีคือปี 2552 2553 และ 2554 จะพบว่า เงินสดต่อการลงทุนระยะยาว มีอัตราส่วนดังนี้ 30.5:126.3,  38.2:177.4 และ  37.2:125.1 (หน่วยเป็นพันล้านดอลลาร์) สรุปง่ายๆก็คือ จำนวนเงินสดต่อการลงทุนระยะยาว จะมีค่าประมาณ 19-23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บัฟเฟตต์พร้อมที่จะนำ “เงินสด” ที่เตรียมไว้เข้าไปลงทุนอยู่ตลอดเวลา และเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจขึ้น เมื่อนั้นตลาดหุ้นและอีกหลายตลาดก็จะต้องพบกับมรสุมทางเศรษฐกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เวลานั้นก็จะเป็นโอกาสของบัฟเฟตต์ที่จะเข้าไปซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ดีๆเข้ามานั่นเอง

จากข้อมูลที่ได้จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาพบว่า บริษัทเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์ในสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ 2555 มีเงินสดรวมกันทั้งสิ้นสูงถึง 40.7 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 7.7 เปอร์เซ็นต์เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งแสดงว่าบัฟเฟตต์กำลังเก็บสะสมกระสุนเงินสดอีกครั้งหนึ่งแล้ว


สี่  เงินสดคือ สินทรัพย์ที่ “ปลอดภัยที่สุด”

ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 พบว่า นักลงทุนทั่วโลกพากันหนีตายออกจากตลาดหุ้น โดยการเปลี่ยนสินทรัพย์ของตนให้กลายไปเป็น “เงินสด” ทั้งๆที่พวกเขาก็รู้ว่าการถือเงินสดโดยการฝากไว้ในสถาบันการเงินจะให้ผลตอบแทนเกือบเท่ากับ “ศูนย์” นอกจากนั้นหากนำอัตราเงินเฟ้อเข้ามาคำนวณด้วยแล้ว ผลตอบแทนที่ได้ก็คงออกมา “ติดลบ” อย่างแน่นอน

นอกจากนั้นยังพบว่า บรรดากองทุนต่างๆที่ได้ขายหน่วยลงทุนออกมาอย่างมากมายก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่หน่วยลงทุนเหล่านี้มักจะมีราคาพาร์หรือราคาต้นทุนต่อหุ้นอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ และบรรดาผู้จัดการกองทุนก็มักจะภาคภูมิใจในหน่วยลงทุนของตนและออกมาพูดอวดว่า หุ้นของตนไม่มีทางที่ราคาจะต่ำกว่า 1 ดอลลาร์อย่างแน่นอน ในที่สุดหุ้นของกองทุนเหล่านี้ก็หลีกหนีชาตะกรรมไปไม่พ้น โดยพบว่าราคาหุ้นของกองทุนเหล่านี้ตกลงอย่างไม่มีหูรูดจนราคาลงไปต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อหุ้น เนื่องจากภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และการขาดทุนจากการที่เลห์แมนล้มละลาย ภายหลังพบว่า ระหว่างปี 2550-2554 มีกองทุนที่ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินสูงถึง 21 กองทุน เพราะหากไม่ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว ก็จะเกิดผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ และอาจเกิดวิกฤตสภาพคล่องแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้


“เงินสด” จึงมีความสำคัญต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก ทำให้นึกถึงคำพูดของแดนนี บอยล์ (Danny Boyle)  ผู้กำกับชาวอังกฤษซึ่งกำกับภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกเรื่อง “Slumdog Millionaire”

เขาได้พูดถึงเงินสดไว้ว่า “There’s lots of things that can be solved with cash.”  แปลตามความได้ว่า “มันมีปัญหาตั้งมากมาย ที่สามารถจะแก้ไขได้ด้วย..เงินสด” ดังนั้นเราจึงควรที่จะเก็บเงินสดไว้บ้าง เพราะ “เงินสด” สามารถแก้ไขปัญหาได้เกือบทุกปัญหานะครับ

Cr. ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์

Monday, August 24, 2015

อารมณ์ของนักลงทุน / ดร.นิเวศน์

   
   สิ่งที่นักลงทุนจะต้องคิดและจัดการนั้น  นอกจากการศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์กิจการและตัวหุ้นแล้วก็คือ  “อารมณ์และความรู้สึก” ของตัวเองเวลาลงทุน  เพราะเรื่องนี้มีผลต่อความสำเร็จ  อาจจะไม่น้อยไปกว่าความสามารถในการเลือกหุ้น  ลองมาดูกันว่ามีอารมณ์ที่สำคัญอะไรบ้างที่เราจะต้อง “ควบคุมดูแล” หรือจัดการให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

  ความโลภ  นี่เป็นอารมณ์ที่สำคัญมากที่มักจะมีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างแรง  สุภาษิตโบราณของไทยบอกว่า  “โลภมากมักลาภหาย”  แต่ในการลงทุนนั้น  นอกจากลาภจะหายแล้ว  เราก็อาจจะ “หมดตัว” ได้ด้วย  ความโลภในเรื่องของการลงทุนนั้นก็คือ  เราไม่ได้ต้องการเพียงผลตอบแทนที่ “เหมาะสม” จากการลงทุนซึ่งมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย  แต่เรา  “โลภมาก”  อยากได้ผลตอบแทนที่สูงลิ่วเกินกว่าที่ตัวกิจการหรือหุ้นจะให้ได้  ดังนั้นหลาย ๆ  คนจึงใช้ “เครื่องมือขยายผล” ที่จะเพิ่มผลตอบแทน  เช่น  การเล่นหุ้นด้วยมาร์จินซึ่งก็คือการกู้เงินมาลงทุน  หรือแทนที่จะลงทุนในหุ้นปกติก็ไปเล่นวอแร้นต์ของหุ้นที่มักมีราคาต่ำและราคาขึ้นลงบางทีเป็นหลายเท่าของหุ้นตัวแม่  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  ความเสี่ยงของการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก  และมีโอกาสที่เราจะ “หมดตัว”  นั่นก็คือ  ถ้าหุ้นตกหนักถึงจุดหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง  เงินลงทุนของเราอาจจะกลายเป็นศูนย์ได้  ดังนั้น  ถ้าไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนจริง ๆ  แล้วละก็  เราก็อย่าไปโลภขนาดนั้น  ถ้าหุ้นมันดีจริงเราก็กำไรดีมากอยู่แล้ว  ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไป “รีบรวย” เกินไป

  ความโลภนั้น  ยังทำให้เรา “ทุ่มซื้อหุ้น” ในยามที่ตลาดหุ้นร้อนแรงมากกว่าปกติเพราะเราเห็นว่าจะทำเงินได้มาก  นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมานั่นก็คือ  คนจำนวนมากนั้น  ในช่วงที่ตลาดหุ้น “เหงา”   พวกเขาก็มักจะลงทุนในหุ้นไม่มากนัก  เงินส่วนใหญ่อาจจะถูกฝากไว้กับสถาบันการเงิน  ต่อมาหุ้นคึกคักและราคาปรับตัวขึ้นพวกเขาก็เริ่มรู้สึกดี  นักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นและราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  จนทำให้หุ้นคึกคักถึง  “ขีดสุด”  ในระหว่างนั้น  เม็ดเงินหรือพอร์ตการลงทุนในหุ้นของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แต่เราก็ยังไม่พอใจ  เราคิดว่าถ้าเรานำเงินมาลงทุนซื้อหุ้นเพิ่ม  เราก็จะได้กำไรเพิ่มขึ้นไปอีก  เราเริ่มขอเงินหรือขอยืมเงินพ่อแม่  คู่ครอง หรือนำเงินจากแหล่งอื่นที่พอจะหาได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นเพิ่ม เราไม่คิด  “ถอนเงิน” ที่ได้กำไรมาแล้วในช่วงที่หุ้นกำลังปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  เรานำเงินใหม่เข้าไปลงทุนทั้ง ๆ  ที่หุ้นนั้นมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ  และถ้ามองในฐานะนักลงทุนระยะยาวแล้ว  ราคาที่แพงหรือสูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนในอนาคตของการลงทุนลดลง  มันอาจจะไม่ใช่เวลาที่เราจะลงทุน  มันคือความเสี่ยงที่จะทำให้เราเสียหายหนักได้และบ่อยครั้งมันก็เป็นอย่างนั้น

  ความกลัว  นี่เป็นอารมณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับความโลภ  เรากลัวการขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น  สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ  เรากลัวการขาดทุน  “หลังจากที่เราขาดทุนไปแล้ว” ทางตัวเลข  ก่อนที่หุ้นจะตกและเราขาดทุนนั้น  เราไม่ได้กลัวขาดทุน  เพราะถ้าเรากลัวเราก็คงจะไม่ซื้อตั้งแต่แรก  ตอนเราซื้อนั้น  เราไม่กลัวว่าจะขาดทุน  ตรงกันข้าม  เราคิดว่าเราจะได้กำไรเราไม่ได้คิดถึงการขาดทุน  พอหุ้นตกถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึก  “เจ็บ”  เช่น หุ้นตกไป 20%  เราจะเริ่มรู้สึกกลัว  กลัวว่ามันจะตกลงไปอีกและเราจะเสียหายหนัก  ดังนั้น  เราก็อาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้ง ๆ ที่กิจการของบริษัทอาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย  ราคาหุ้นผันผวนด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่รู้แต่เราตัดสินใจขายด้วยอารมณ์ของความกลัว

  ความกลัวตลาดหุ้นตกหนัก  กลัววิกฤติตลาดหุ้น  กลัวว่าเมื่อตลาดหุ้นตกหนักหุ้นทุกตัวก็จะตกลงมาตาม  ดังนั้น  เมื่อตลาดหุ้นตกลงมาแรง  เราก็มักจะขายหุ้นทุกตัวที่ถืออยู่ทันทีเพราะเรากลัวว่าถ้าไม่รีบขายมันจะตกลงไปอีกในนาที  ชั่วโมงหรือวันต่อ ๆ  ไป  ความกลัวในเรื่องของดัชนีตลาดนั้น  ทำให้เราต้องซื้อขายหุ้นบ่อยมาก  และทำให้เรากลายเป็นคน “เล่นดัชนี” โดยไม่รู้ตัว  ไม่ใช่เป็นคนลงทุนในหุ้นเป็นรายตัวอย่างที่ควรจะเป็น  ผลก็คือ  เราไม่ได้กำไรอะไรเลยในระยะยาวเพราะค่าคอมมิชชั่นและส่วนต่างราคาซื้อ-ขายของหุ้นนั้น  กินผลตอบแทนที่จะได้หมด

  ถ้าเราจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้น  สิ่งสำคัญก็คือทำอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ บอก  นั่นก็คือ  “จงพยายามกลัวเมื่อคนอื่นกำลังกล้า และพยายามกล้าเมื่อคนอื่นกำลังกลัว” ดูว่าตนเองซื้อหุ้นน้อยลงไหมเวลาคนกำลังเล่นหุ้น  ซื้อขายหุ้นในปริมาณที่มาก  และเราเข้าไปซื้อหุ้นอย่างคึกคักเวลาคนอื่นชะลอหรือหยุดเล่นหุ้นกันแล้วหรือไม่ ถ้าใช่ก็แปลว่าเราเริ่มสามารถควบคุมตัวเองในด้านของความโลภและความกลัวได้ดีขึ้น

  อารมณ์ดีใจ-เสียใจ เวลาหุ้นขึ้น-หุ้นตก  นี่ก็เป็นความรู้สึกธรรมดาของนักลงทุน  แต่คนที่มีประสบการณ์หรือระดับ EQ ในการลงทุนสูงก็จะสามารถควบคุมตนเองได้ดีกว่า  นั่นก็คือ  เวลากำไรก็จะไม่ดีใจจนเกินไป  เช่นเดียวกัน  เวลาขาดทุนก็จะไม่ “ฟูมฟาย”  หรือเศร้าเสียใจมากนัก  พวกเขาจะดูว่ามันมีเรื่องของความ “ผันผวน” อยู่ในราคาหุ้นอยู่มากโดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้น ๆ  ดังนั้น  หุ้นขึ้นหรือหุ้นลงวันต่อวันหรือเดือนต่อเดือนนั้น  อาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราคิดถูกต้อง  ในระยะเวลาสั้น ๆ  นั้น  ราคาหุ้นอาจจะขึ้นหรือลงได้โดยที่ไม่ได้อิงอยู่กับผลประกอบการหรือความเข้มแข็งหรือความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก็ได้  ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจมากจนเกินไป  รอดูไปจนถึงสิ้นปีแล้วค่อยประเมินดูว่าเราควรจะดีใจหรือเสียใจโดยดูว่าหุ้นขึ้นหรือหุ้นลงไปเท่าใด  นอกจากนั้น  เราก็ควรจะต้องประเมินด้วยว่าหุ้นที่ขึ้นหรือลงนั้นสอดคล้องกับตัวกิจการหรือบริษัทหรือไม่

ถ้าหุ้นขึ้นและบริษัทดีขึ้น  นี่คือสิ่งที่เราควรจะยินดี  ถ้าหุ้นขึ้นแต่ที่จริงบริษัทไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง  เราก็ควรจะ “ดีใจ” ที่เรา  “โชคดี”  แต่ถ้าหุ้นลงและบริษัทก็แย่ลงแบบนี้เราก็ควรจะเสียใจที่เราคาดการณ์ผิด  และในกรณีสุดท้าย  ถ้าหุ้นตกลงมาแต่กิจการของบริษัทกลับดีขึ้น  แบบนี้เราก็ไม่ควรที่จะเสียใจ  เพราะไม่ช้าก็เร็วหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นได้  พูดโดยสรุปก็คือ  หุ้นขึ้นลงในช่วงเวลาสั้น ๆ  นั้น  ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจอะไรมากมายเพราะมันอาจจะเปลี่ยนไปได้อีกมากระหว่างที่ยังไม่ “สิ้นปี” หรือยาวพอ  การ “วางเฉย” ต่ออารมณ์ดีใจหรือเสียใจนั้น  จะช่วยให้เราไม่ตัดสินใจอะไรอย่างรวดเร็วและไม่รอบคอบ  การตัดสินใจเวลาเราดีใจหรือเวลาเราเสียใจนั้น  ผมคิดว่าจะทำให้เรามีความลำเอียงและอาจไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ดี เช่น ทำให้เราซื้อหรือขายหุ้น  “ผิดเวลา”

ความรู้สึกเหมือนถูก  “ทรมาน”  นั้น  นักลงทุนก็มักจะพบเจออยู่บ่อย ๆ   บางครั้งบางช่วงเวลานั้น  ตลาดหุ้นขึ้นเอา ๆ  แต่หุ้นที่เราถืออยู่กลับนิ่งหรือตกลงมาอีกต่างหาก  เราได้แต่มองและรู้สึก “ทรมานใจ”  จนในบางครั้งเราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเพื่อที่จะไปซื้อหุ้นที่ดูเหมือนว่าจะวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  เพราะ  ความ “อดทน” ของเราอาจจะมีจำกัด  นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่เรียกว่า  “สนามหญ้าของเพื่อนบ้านเขียวกว่าเสมอ” นักลงทุนที่ “ทนทรมาน” ได้น้อยก็จะมีแนวโน้มที่จะรอหุ้นให้ขึ้นตามพื้นฐานไม่ไหวและขายหุ้นเร็วเกินไปอยู่เรื่อย ๆ  เช่นเดียวกัน  บางช่วงเวลา  อาจจะเป็นปี ๆ ตลาดหุ้นเอาแต่ปรับตัวลงอยู่เรื่อย ๆ  พอร์ตหุ้นที่เราถืออยู่โดยรวมก็ไม่ไปไหนหรือปรับตัวลดลงเป็นระยะ ๆ  เรารู้สึก “ทรมานใจ” และถ้าทนไม่ไหว  เราก็อาจจะตัดสินใจทำอะไรที่ไม่เหมาะสม  เช่น  ขายหุ้นที่ดีมีคุณค่าทิ้ง เป็นต้น

ความรู้สึก  “กังวล” นอนไม่หลับ  กลัวว่าบางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้นแล้วกระทบกับการลงทุนของเราอย่างแรง เช่นกลัวว่าตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติหรือกลัวว่าหุ้นที่เราถืออยู่นั้นอาจจะถูกผลกระทบที่รุนแรงที่เรา  “กลัว”  อยู่  นี่ทำให้เรากังวลทั้ง ๆ  ที่โอกาสจะเกิดขึ้นอาจจะน้อย  ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องพิจารณาวิเคราะห์  “Scenario”  หรือภาพที่อาจจะเกิดขึ้นหลาย ๆ  ภาพแล้วดูว่าผลจะเป็นอย่างไรโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาพเลวร้ายที่สุด  เสร็จแล้วก็ตัดสินใจทำสิ่งที่จะช่วยลดความกังวลนั้นให้เหลือน้อยลงจนยอมรับได้  หลังจากนั้นก็  “เลิกกังวล” เพราะเราจะไม่มีวัน “เจ๊ง” จากการลงทุนอย่างแน่นอนถ้าเราวิเคราะห์ “ความเสี่ยง” อย่างดีแล้ว

Sunday, August 16, 2015

บทเรียนหุ้นขาลง /ดร.นิเวศน์

     ถ้าดูโดยภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วเราก็จะพบว่าดัชนีหรือราคาตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2558 นั้น  ไม่ได้มีการปรับตัวลงมามากนัก  ดัชนีตลาดลดลงมาเพียง 94 จุดหรือเป็นการปรับลงมาประมาณ 6.3% และถ้าคิดรวมปันผลที่ได้ประมาณ 3% นักลงทุนระยะยาวโดยเฉลี่ยก็น่าจะขาดทุนประมาณ 3.3% ถือว่าน้อยมาก  แต่ถ้าคุยกับนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากก็จะพบว่าตลาดปรับตัว “รอบนี้” ค่อนข้าง “หนัก”  หลายคน  “ร้องไห้หนักมาก”  เพราะเพิ่งเข้ามาเล่นหุ้นในตลาด  ไม่เคยได้กำไรแต่ขาดทุนหนักมากเนื่องจากหุ้นที่เข้าไปเล่นนั้นเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีความผันผวนสูง  จำนวนมากจดทะเบียนในตลาดหุ้น MAI อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่านักลงทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ก็ยังไม่ถอนใจออกจากตลาด  ความหวังที่จะ “เอาคืน” หรือทำกำไรจากตลาดหุ้นยังมีอยู่  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  พวกเขาอาจจะคิดว่าหุ้นก็ลงมามากแล้ว  คงไม่ลงไปอีกมากนักแต่น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้  เขาอาจจะเชื่อว่าการเล่นหุ้นนั้น  “ต้องกล้าในยามที่คนอื่นกลัว”

  ลองวิเคราะห์ดูข้อมูลตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันก็พบว่า  ตลาดของหุ้นขนาดใหญ่หรือ SET นั้น ราคาหุ้นตกลงมาไม่มากนักเพียงแค่ 6.3% วัดจากดัชนี   ส่วนค่าความถูกความแพงวัดจากค่า PE ก็ปรากฏว่าเมื่อสิ้นปีที่แล้วค่า PE ของ SET เองอยู่ที่ 17.81 เท่าเทียบกับ 18.49 เท่าในปัจจุบัน  ซึ่งเท่ากับว่าหุ้นขนาดใหญ่นั้น  คนยังคงให้  “คุณค่า”  เท่าเดิม  นั่นก็คือ  ถ้าคุณลงทุนในตลาดหุ้นวันนี้  แต่ละปีก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ 5-6%  หาได้จากการกลับเศษเป็นส่วนของค่า PE คือค่า EP ที่เท่ากับ 1 หารด้วย 18 โดยประมาณ)  ซึ่งก็เป็นอัตราที่ดีพอใช้เมื่อเทียบกับการฝากเงินหรือซื้อพันธบัตร   การที่ราคาหุ้นตกลงมานั้น  เกิดจากผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา   นี่ก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมาในแง่ที่ว่าราคาหุ้นนั้น  “ขึ้นอยู่กับพื้นฐานหรือผลประกอบการ”  ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนับจากต้นปี

  ในส่วนของตลาดหุ้นขนาดเล็กที่วัดจากดัชนีหุ้น MAI นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ดัชนี MAI ปรับตัวลดลงจากประมาณ 700 จุดเหลือเพียง 585 จุดในช่วงเวลาเดียวกันหรือลดลงประมาณ 16.4%  และถ้าคิดรวมปันผลที่ประมาณ 0.9% ก็จะทำให้โดยเฉลี่ยแล้วหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ยประมาณ 15.5% หรือนักเล่นหุ้นขาดทุนเป็นประมาณ 4.7 เท่าเมื่อเทียบกับตลาด SET และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนบุคคลรายย่อยจึงเสียหายค่อนข้างหนักทั้ง ๆ ที่ตลาดโดยรวมไม่ได้เลวร้ายมากนัก

  หุ้น MAI ที่ตกลงมานั้น  ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง  แต่ราคาหุ้นที่ลดลงนั้นน่าจะเกิดจากการที่การ “เก็งกำไร”  ในหุ้นตัวเล็กนั้นลดลง  ความหมายของผมก็คือ  ราคาของหุ้นนั้น  โดยปกติจะมาจากสองส่วนนั่นคือ  ราคาที่เกิดจากพื้นฐานกับราคาที่เกิดจากการเก็งกำไร  ราคาที่เกิดจากพื้นฐานนั้น  คือราคาที่เกิดจากความสามารถในการทำกำไรปกติของบริษัทที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ตัวเลขกำไรตัวนี้ถ้าคูณ 18 เท่าก็จะเป็นค่าของราคาหุ้นตามพื้นฐาน  ส่วนราคาที่มาจากการเก็งกำไรนั้น  จะเป็นราคาที่นักลงทุนให้กับหุ้นโดยดูจากการคาดการณ์กำไรในอนาคต  หุ้นตัวไหนหรือกลุ่มไหนที่คนคาดหวังสูงมากว่าจะทำกำไรได้ดีมากในอนาคตก็จะได้ราคาสูงมาก  เช่น ถ้านักลงทุนคาดว่าในอนาคตกำไรจะเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้น เขาอาจจะให้ราคาบริษัทเพิ่มขึ้น 50 เท่า เป็นต้น แต่ถ้าหุ้นตัวไหนไม่มีการ “เก็งกำไร”  ราคาหุ้นก็จะมาจาก  “พื้นฐาน”  เพียงอย่างเดียว

  ดูจากค่า PE ของตลาดหุ้น MAI นั้น  เมื่อปลายปีที่แล้วค่า PE เท่ากับ 69.6 เท่า  ก็น่าจะชัดเจนว่าไม่ใช่ราคาที่เกิดจากพื้นฐานเพียงอย่างเดียวแน่นอน  เพราะถ้าคิดเป็นค่า EP ก็จะให้ผลตอบแทนคนลงทุนเพียงปีละไม่ถึง 1% ดังนั้น  หุ้นตลาด MAI จึงมีมูลค่าที่เกิดจากราคาเก็งกำไรอยู่มาก  ถ้าเราสมมุติว่าหุ้นในตลาด MAI มี “คุณค่า” เท่ากับหุ้นในตลาด SET คือควรมีค่า PE ประมาณ 18-19 เท่า  เราก็จะคำนวณได้ว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นที่เกิดจาก  “การเก็งกำไร” นั้นเท่ากับการมีค่า PE เพิ่มขึ้นอีก 50 เท่า 69.6-19) เมื่อสิ้นปีที่แล้ว  พูดง่าย ๆ  หุ้นในตลาด MAI เมื่อสิ้นปีที่แล้วนั้น  มีราคาตามพื้นฐานเพียง 18-19 เท่าของกำไรแต่มีราคาตามการเก็งกำไรถึง 50 เท่าของกำไรที่ “คาด” ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

  ถึงวันนี้  ค่า PE ของตลาด MAI ลดลงมาเหลือ 59.8  หรือลดลงมาประมาณ 10 เท่าของกำไรและนี่ทำให้ดัชนีหุ้น MAI ลดลงมาประมาณ 16.4%  การลดลงมานี้ผมคิดว่าไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานอะไรนักเพราะกำไรของหุ้น MAI ก็ไม่ได้ลดลง  ราคาหุ้นที่ลดลงนั้น  ผมคิดว่าเกิดจากการเก็งกำไรที่ลดลง  และการเก็งกำไรที่ลดลงนั้น  ผมคิดว่าเกิดจากการที่ความคาดหวังที่บริษัทจะโตขึ้นลดลง  และความคาดหวังที่ลดลงนั้นผมคิดว่าน่าจะเกิดจากสองประเด็นใหญ่ก็คือ  หนึ่ง  Story ของบริษัทหรือเรื่องราวที่สร้างความคาดหวังให้กับนักลงทุนนั้นเริ่ม  “สั่นคลอน” เช่น ที่คาดว่าจะทำธุรกิจใหม่มีกำไรมหาศาล  เมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นลดลง  คาดว่าจะได้สัญญาขายไฟฟ้าทางเลือกก็ยังไม่ได้  อะไรทำนองนี้  เป็นต้น  ข้อสอง กำไรที่เคยคาดการณ์หรือหวังว่าจะทำได้จากยอดขายสินค้าเดิมที่จะ “เพิ่มขึ้นมาก” นั้น  อาจจะยังไม่มาหรือยอดขายอาจจะเพิ่มขึ้นแต่มาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำกว่าเดิมมาก  เช่น เคยขาย 100 กำไร 20 ซึ่งเป็นกำไรที่ “มโหฬาร” นั้น  เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ากำไรแบบนั้นไม่สามารถทำต่อเนื่องได้  ในกรณีทั้งสองแบบนี้อาจจะเริ่มทำให้คนที่ซื้อหุ้นไว้เริ่มกลัวและขายหุ้นทิ้งก่อนที่  “ความจริงจะปรากฏ”  มากขึ้นเรื่อย ๆ  ราคาหุ้นตลาด MAI และหุ้นตัวเล็กหลาย ๆ ตัว จึงปรับตัวลงมาอย่างมีนัยสำคัญ

  คำถามสำคัญก็คือ  การปรับตัวลงของหุ้น MAI นั้น  ลดลงมาพอหรือยัง?  คำตอบก็คือ  ไม่มีใครรู้!  แต่ถ้าดูจากค่า PE ที่ประมาณ 60 เท่าในวันนี้และสมมุติว่าค่า PE ที่เหมาะสมตาม  พื้นฐานควรจะประมาณไม่เกิน 20 เท่า  ราคาที่เกิดจากการเก็งกำไรก็ยังสูงถึง 40 เท่าของกำไร  หรือพูดง่าย ๆ  ถ้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น  ราคาปัจจุบันก็จะเท่ากับ 60 บาทต่อหุ้น  โดยเป็นราคาพื้นฐานแค่ 20 บาทและราคา “เก็งกำไร” อีก 40 บาท ก็หมายความว่าหุ้นตัวนี้หรือหุ้นกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะตกลงมา 40 บาทเหลือเพียง 20 บาทต่อหุ้นหรือเป็นการลดลงประมาณ 66% ถ้า  “การเก็งกำไรหมดไป”

  คำถามที่ตามมาก็คือ  แล้วการเก็งกำไรจะหมดไปได้อย่างไร?  คำตอบของผมก็คือ  ไม่รู้!  แต่ปัจจัยสำคัญของการเก็งกำไรก็คือ  ภาวะตลาดหุ้นที่ร้อนแรงนั้นส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรสูง  แต่บางทีตลาดหุ้นที่ “ไม่เลวร้าย” ก็ไม่ทำลายการเก็งกำไรเท่าไรนัก  บางทีถ้าหุ้นตัวใหญ่ไม่ดี  คนก็ยังอาจจะหันมาเล่นเก็งกำไรในหุ้นตัวเล็กได้  แต่ในกรณีที่ตลาดหุ้นเกิด “แพนิก”  หุ้นตกลงมาแรงและกลายเป็นตลาดหมี  แบบนี้ก็อาจจะทำให้การเก็งกำไรหายไปได้

  บ่อยครั้ง  การเก็งกำไรในหุ้นรายตัวก็อาจจะหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไปและ Story ไม่เป็นไปตามที่คาด  หุ้นตัวนั้นอาจจะมีค่า PE 100 เท่าแต่เป็นราคาพื้นฐานเพียง 20% อีก 80% เป็นการเก็งกำไร ดังนั้น  เมื่อ  “ฝันสลาย”  ราคาหุ้นก็อาจจะตกลงมา 80% ได้

  บ่อยครั้งการเก็งกำไรนั้นมาจากการที่มี  “จ้าวมือ” ซึ่งเป็นรายใหญ่ซื้อและถือหุ้นจำนวนมากในบริษัททำให้ราคาหุ้นขึ้นไปมากและหุ้น Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อย  ลักษณะนี้ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ลงมาง่าย ๆ  แม้ว่า Story หรือกำไรที่คาดหวังยังไม่เกิด  “ภาพ” ที่ถูกส่งออกมาก็คือให้นักเก็งกำไร  “รอต่อไป  เดี๋ยวก็มา” ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ลงมากนัก

  หุ้นตัวเล็กที่  “ล่มสลาย”  จริง ๆ  นั้น  มักจะเกิดจาก “ความเชื่อมั่นหมดไป” ด้วยเหตุอะไรก็ตามและมักรวมถึงการที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็น  “จ้าวมือ”  ทิ้งหุ้นหมดสิ้น  ในวันนั้นก็จะกลายเป็น “หายนะ” ของหุ้นที่ราคาหรือมูลค่าลดลงมา  บางที 90% หรือมากกว่านั้น  ประวัติศาสตร์สอนเราว่า  เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลกและก็อย่าได้คิดว่ามันจะไม่เกิดกับเราถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันเป็นนิจสิน

Friday, August 14, 2015

ลงทุนเองหรือผ่านกองทุนรวม / วีระพงษ์ ธัม

     
    คำถามที่ว่าเราควร “ลงทุนเอง” หรือ “ซื้อกองทุน” เป็นคำถามแรก ๆ ที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้นลงทุน แต่กลับเป็นคำถามที่ผมได้ยินไม่บ่อยนัก บ่อยครั้งจะเป็นว่า “เราจะเริ่มต้นเล่นหุ้นยังไงดี” หรือ “เราควรลงทุนแนว VI หรือแนวเทคนิคดี” ซึ่งคำถามเหล่านี้ ควรจะเป็นคำถามที่สองหลังจากที่เราสามารถตอบ “วิธี” การลงทุนตัวเองได้ชัดเจนที่สุดก่อน และที่สำคัญกว่านั้น คำถามนี้ไม่ควร “มีคำตอบเดียว” เพราะแม้ว่าเราเป็นนักลงทุนที่ลงทุนมายาวนานแล้ว ก็ยังต้องกลับไปคิดทบทวนกับคำถามนี้ตลอดเวลา อันที่จริงนักธุรกิจนักลงทุนระดับโลกหลาย ๆ คนก็ “หยุด” ลงทุนเองเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งของชีวิต หรือถ้าเราลงทุนผ่านกองทุนมายาวนานก็ไม่ควร “ปิดโอกาส” การเลือกหุ้นลงทุนเองเช่นกัน

            ข้อดีและข้อเสียของการลงทุนสองแบบนี้ มีการถกกันพอสมควร แต่ผมอยากจะยกตัวอย่างที่จะเป็นความเข้าใจที่ค่อนข้างผิด เรื่องแรกคือ ถ้าจะลงทุนเอง คุณต้องมีเวลาติดตามมาก ที่จริงแล้ว การลงทุนเองอาจจะต้องใช้เวลาจำนวนมากแค่ช่วงแรก ๆ แต่พออยู่ตัวแล้ว คุณแค่ใช้เวลาชั่วโมงสองชั่วโมง หรือแม้กระทั่งผูกเข้ากับวิถีชีวิตตัวเองได้โดยไม่ยากนัก ส่วนตัวผมตอนนี้ก็ใช้เวลาในการลงทุนแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน และหลายครั้งอาจจะไม่ได้ติดตามเป็นเวลาหลาย ๆ สัปดาห์

            ในทางกลับกัน การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็ไม่ใช่ว่าเราจะทิ้งไปได้เฉย ๆ หรือไม่มีความรู้ เราควรจะทบทวนการลงทุนของกองทุน ไม่ต่างจากที่เราทบทวนหุ้นในพอร์ตตัวเอง ต่างกันแค่ความถี่ในการติดตาม หรือเราไม่ต้องเลือกหุ้นเองเท่านั้น แต่ส่วนมากคนลงทุนในกองทุน “แทบไม่รู้” ว่ากองทุนนี้ทำอะไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ผิดมาก ๆ เรื่องที่สองของคนลงทุนกองทุนคือ “เราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการลงทุน” แค่ฝากผู้จัดการกองทุนดูแลให้เรา เพราะถ้าคุณไม่สบายใจที่จะวางกระเป๋าตังค์ไว้กับพื้นและฝากคนแปลกหน้าดูแลให้ คุณก็ควรจะเอาเงินที่คุณหามาอย่างยากลำบาก ไปฝากให้ผู้จัดการกองทุนดูแลให้โดยเราไม่มีความรู้ ดังนั้น แม้ว่าคุณจะการลงทุนผ่านกองทุนรวมก็จำเป็นต้องมีความรู้ในการลงทุนพอสมควร และต้องอ่านหนังสือลงทุนบ้างถึงจะสามารถได้ผลตอบแทนที่ดีได้ เพราะมันจะช่วยให้คุณไม่ขายกองทุนในเวลาที่ตลาดย่ำแย่ซึ่งเป็นเวลาที่ควรจะซื้อมากที่สุด

            เรื่องที่สาม นอกจากเรื่องเวลา การลงทุนเองหรือผ่านกองทุน จะมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอะไรบ้าง กองทุนอาจเข้าถึงข้อมูลได้ดีและเร็วกว่า แต่การลงทุนเองแบบระยะยาว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลเร็วขนาดนั้น และมีวิธีเข้าถึงข้อมูลการลงทุนมากมายโดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีนามบัตรเป็น “ผู้จัดการกองทุน” ยุคนี้การลงทุนเองสะดวกกว่าเดิมมาก นอกจากนั้นจะมีคำพูดที่ว่ากองทุนมีค่าธรรมเนียมที่แพง แต่ที่จริงมัน “ไม่แพง” ถ้าเทียบกับการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าลงทุนแล้วแพ้ตลาดติดต่อกัน 3 ปี คุณควรจะพิจารณาเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การลงทุนทั้งสองแบบต่าง “เปลี่ยนชีวิต” คุณได้แน่นอน ถ้าคุณมี “ความรู้การลงทุน” และทำมันอย่างถูกต้องและยาวนานพอ

            เรื่องสุดท้ายคือ เราชอบแบ่งการลงทุนสองอย่างนี้ออกเป็น “สองขั้ว” อย่างเด็ดขาด เช่นถ้าคนลงทุนเอง อาจจะไม่ลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือคนลงทุนในกองทุน อาจจะไม่ลงทุนในหุ้นเอง ซึ่งผมคิดว่าสองส่วนนี้ไม่ได้ “อยู่คนละขั้ว” แต่กลับ “ส่งเสริม” ซึ่งกันและกัน คนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม แต่เห็นโอกาสในหุ้นหรือกิจการบางอย่าง ซึ่งมีอนาคตไกลมาก ก็อาจจะเอาเงินมาทะยอยซื้อหุ้นตัวนี้ได้ ซึ่งมันจะช่วย “เพิ่มผลตอบแทน” รวมของพอร์ตด้วยความเข้าใจในหุ้นตัวนั้น ๆ และการที่มีกองทุนรวมที่กระจายความเสี่ยงอยู่แล้วพอร์ต ดังนั้นในกรณีนี้ ซื้อหุ้นตัวสองตัว แทบจะไม่เสี่ยง

            ในอีกมุมมองหนึ่ง ถ้าเราลงทุนหุ้นเองอยู่แล้ว เราก็ยังมีโอกาสลงทุนผ่านกองทุนรวมได้เช่นกัน เพราะมันจะทำให้เราได้ “กระจายความเสี่ยง” โดยที่ใช้ “แรงและเวลา” น้อยมาก ส่วนตัวผมกระจายไปซื้อกองทุนจีนไปตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว รวมถึงกองทุนในตลาดอเมริกาช่วงหลังจาก Subprime ซื้อทุก ๆ เดือนมาโดยตลอด ผลตอบแทนก็สูงกว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกัน แทนที่ผมจะต้องใช้เวลามากมายไปศึกษาหุ้นรายตัวต่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่จุดแข็งเรา แต่ใช้ความรู้ “พื้นฐาน” สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมได้ไม่ยากนัก เหมือน John Templeton ว่าถ้าคุณจะสร้างพอร์ตหุ้นที่ดี ให้มองมากกว่าหนึ่งอุตสาหกรรม และมองมากกว่าหนึ่งประเทศ

            ผมเชื่อว่ากลยุทธ์กระจายพอร์ตไปสองขาแบบนี้ จะค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต การลงทุนจะไม่ได้ถูกแบ่งแยกเป็น “ผ่านกองทุนอย่างเดียว” หรือ “ลงทุนเองอย่างเดียว” และจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับโลกการลงทุนที่โอกาสเปิดกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ ครับ

Monday, August 10, 2015

เวลาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อก/ดร.นิเวศน์

 นักลงทุนแนว VI “พันธุ์แท้” ที่ชื่นชมและศรัทธา วอเร็น บัฟเฟตต์ หลายคนมักชอบที่จะอ้างคำพูดที่ “คลาสสิก” ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ว่า  “หุ้นนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน  สิ่งที่คุณต้องทำทั้งหมดก็คือ  ซื้อหุ้นในธุรกิจที่ยิ่งใหญ่  บริหารโดยผู้จัดการที่มีความสามารถและความซื่อสัตย์สูงสุด  ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของมัน  เสร็จแล้วคุณก็ถือหุ้นนั้นไว้ตลอดกาล”

ผมเองก็ยึดถือแนวทางส่วนใหญ่ของบัฟเฟตต์ในการลงทุนมานาน  อย่างไรก็ตาม  “ดีกรี” หรือความเข้มข้นในการที่จะปฏิบัติตามหลักการของบัฟเฟตต์นั้น  ก็ยังคงไม่เท่าสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำ  เหตุผลไม่ใช่เพราะผมไม่เชื่อเขา  แต่เป็นเพราะสถานการณ์และตัวบริษัทหรือหุ้นที่อยู่ในประเทศไทยนั้น  ด้อยกว่าในตลาดหุ้นสหรัฐมาก   ประการแรกก็คือ  บริษัทที่  “ยิ่งใหญ่” ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ยังห่างชั้นจากตลาดหุ้นสหรัฐมาก  เราเป็นได้เพียงบริษัทที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทยในขณะที่บริษัทในสหรัฐที่ยิ่งใหญ่นั้น  ยิ่งใหญ่ในระดับโลกทั้งนั้น  ประการที่สองก็คือเรื่องของความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์ของผู้บริหารเองนั้น  เราก็ต้องยอมรับว่า  ในสังคมไทยที่ยังพัฒนาน้อยกว่า  บางทีเราก็ต้องยอมลดมาตรฐานลงมาบ้าง  และในประการสุดท้ายก็คือ  เรื่องของการถือหุ้นไว้ “ตลอดกาล”  นี่ก็เป็นเรื่องที่ยาก  เนื่องจากความ “ยิ่งใหญ่” ของหุ้นไทยนั้น  อาจจะไม่พอหรือไม่สามารถดำรงไว้ได้นานเหมือนกับหุ้นของสหรัฐ  ว่าที่จริง  แม้แต่หุ้นที่ยิ่งใหญ่หลายบริษัทของสหรัฐเองนั้น  เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ  มันก็ตกต่ำลงมาเหมือนกันเพราะ  ไม่มีอะไรจะอยู่ “ค้ำฟ้า” ได้

คำถามสำคัญสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนในแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ก็คือ  เราจะขายหุ้นเมื่อไร?   คำตอบนั้นผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเวลาที่เป็นเดือนหรือปี  ผมเองลงทุนซุปเปอร์สต็อกมานาน  วันที่ผมซื้อหุ้นนั้น  ผมไม่เคยคิดว่าจะขายในอีกกี่เดือนหรือกี่ปีข้างหน้า  ผมไม่เคยคิดว่าราคาเท่าไรจะขาย  พูดง่าย ๆ ไม่มีเป้าหมายว่าจะขาย  แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะถือตลอดกาล  ถ้าจะต้องตอบก็คือ  ผมจะถือไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์มันจะบอกว่าเราควรจะขายแล้ว   และต่อไปนี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าผมควรที่จะพิจารณาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่ถืออยู่

เรื่องแรกก็คือ  ตลาดของสินค้าของบริษัทเริ่ม “อิ่มตัว”  นี่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่ง  เพราะในความหมายของซุปเปอร์สต็อกนั้น  มันมักจะเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่กำลังเติบโตและบริษัทเป็น  “ผู้ชนะ” ที่ครอง Market Share หรือส่วนแบ่งตลาดที่สูงสุดและเหนือคู่แข่งมาก  ดังนั้น  การที่ยอดขายจะเติบโตได้เร็วต้องหมายความว่าตัวอุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะต้องโตต่อไป  แต่ถ้าคนเกือบ “ทั้งประเทศ” ที่มีเงินและต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทต่างก็ได้ใช้แล้ว  โอกาสที่บริษัทจะโตเร็วแบบเดิมก็จะยาก  และเมื่อถึงจุดนั้น  บริษัทก็จะสูญเสียสถานะของการเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”  ค่า PE ที่สูงของหุ้นก็จะค่อย ๆ  ลดลง  บริษัทจะกลายเป็นหุ้น  “แข็งแกร่ง”  ที่ยังใหญ่โต  มีกำไรที่ดี  แต่ไม่โตหรือโตช้า  ผลก็คือ  ราคาหุ้นอาจจะไม่ไปไหนหรือลดลงด้วยซ้ำ  ดังนั้น  ถ้าเราคิดว่าตลาดเริ่มอิ่มตัว  เราก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นทิ้งก่อนที่ “ภาพ” ของบริษัทจะเปลี่ยนไป

ข้อที่ต้องระวังมากสำหรับเรื่องของการ “อิ่มตัว” ของตลาดก็คือ  เราอาจจะเข้าใจผิดหรือสับสนระหว่างการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดขายของบริษัทโตช้าลง  กับการอิ่มตัวของตลาด  วิธีที่จะดูทางหนึ่งก็คือ  ดูว่าอัตราการใช้สินค้าหรือบริการหรือยอดขายของอุตสาหกรรมเทียบกับ GDP ว่ามันสูงพอ ๆ  กับอัตราของประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาพอ ๆ กันหรือสูงกว่าหรือยัง  ถ้ายังห่างมาก  นี่อาจจะเป็นสัญญาณว่าการชะลอตัวของยอดขายน่าจะเป็นเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่า เป็นต้น

ประเด็นที่สองที่ทำให้เราต้องพิจารณาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อกก็คือเรื่องของ  “การแข่งขัน”  นี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการที่ตลาดสินค้าอิ่มตัว  จริงอยู่ที่ว่าซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะเป็น  “ผู้ชนะ”  ในการแข่งขันที่ค่อนข้าง “เด็ดขาด”  อย่างไรก็ตาม  นั่นมักจะเป็นการชนะที่เกิดจาก Model หรือรูปแบบทางธุรกิจที่ใช้อยู่  แต่ประเด็นสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ  มี Model ทางธุรกิจใหม่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็วและมากซึ่งเป็นอานิสงค์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ  สามารถนำมาใช้และทำให้ได้เปรียบธุรกิจที่ใช้ Model เดิม  ตัวอย่างเช่น  บริษัทวอลมาร์ทที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในด้านของการค้าปลีกสินค้าของใช้ประจำวันนั้น  เมื่อเร็ว ๆ  นี้ก็ดูเหมือนว่ากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทอะเมซอนที่ขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต  เป็นต้น  ในกรณีแบบนี้  เราอาจจะมองว่าวอลมาร์ทกำลัง “แพ้” อะเมซอนในการแข่งขันและราคาหุ้นก็สะท้อนออกมาโดยการที่หุ้นอะเมซอนในขณะนี้มีมูลค่าสูงกว่าหุ้นวอลมาร์ทแล้ว

ในตลาดไทยเองนั้น  เราก็ได้เห็นหุ้นค้าปลีกหรือหุ้นบันเทิงบางตัวสูญเสีย “ความสามารถในการแข่งขัน” ให้กับ  “เทคโนโลยีไอที” ที่เปลี่ยน “แผนภูมิ”  ในการแข่งขันไปอย่างสิ้นเชิง  ตัวอย่างเช่น กิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ทั้งหลายที่เสีย “ลูกค้า”  ให้กับสื่ออิเลคโทรนิกที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกมาก  หรือตลาดเทปเพลงหรือภาพยนตร์ที่กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยในยุคที่ทุกอย่างสามารถ “ดาวน์โหลด” จากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

เรื่องที่สามก็คือ  บางครั้งเราอาจจะต้องพิจารณาขายซุปเปอร์สต็อกเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านของกฎหมาย  กฎเกณฑ์ และระเบียบใหม่ในการทำธุรกิจของหน่วยงานรัฐ  ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญในแง่ที่ว่ามันเป็น  “อำนาจที่ยิ่งใหญ่” ที่สามารถ “Overrule” หรือ “ลบล้าง”  ทุกเรื่องรวมถึงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ได้  โดยปกติ  บริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้นมักจะไม่ได้อาศัย “รัฐ” ในการแข่งขัน  แต่ในทางตรงกันข้าม  กฎเกณฑ์ที่ออกใหม่สามารถ “ทำลาย”  หรือลดความสามารถในการทำกำไรของซุปเปอร์สต็อกได้มาก  ผมเองเวลาที่ถือหุ้นซุปเปอร์สต็อกไว้  ผมจะไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎระเบียบอะไรทั้งสิ้นในอุตสาหกรรม   เพราะซุปเปอร์สต็อกนั้น  โดยปกติไม่มีคู่แข่งที่จะทำลายมันได้อยู่แล้วยกเว้น  “อำนาจรัฐ”
ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์ในเร็ว ๆ  นี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านของธุรกิจทีวี  การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรคมนาคม  และที่เราอาจจะไม่ได้คิดหรือตระหนักถึงก็คือ  การเปลี่ยนแปลงที่มาจากหน่วยงาน  “เหนือรัฐ” จากนอกประเทศ  เช่น เรื่องของการบิน การประมง และอื่น ๆ  อีกมาก  ทั้งหมดนั้นเราต้องคอยติดตามและวิเคราะห์ว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรกับซุปเปอร์สต็อกของเรา

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดก็คือ  ราคาหรือมูลค่าหุ้นซุปเปอร์สต็อก  นี่เป็นประเด็นที่ผมจะไม่ค่อยสนใจมากนักยกเว้นแต่ว่าราคามัน  “เวอร์”  ไปจริง ๆ  อย่างไรก็ตาม  ประสบการณ์ก็คือ  หุ้นซุปเปอร์สต็อกที่แท้จริงนั้น  แม้ว่าบางครั้งราคาจะขึ้นไปสูงมากวัดจากค่า PE  เช่นสูงเป็น 30-40 เท่า มันก็ไม่ใช่ราคาที่ Overvalue หรือราคาสูงเกินพื้นฐานโดยเฉพาะถ้าวัดจาก  Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัท  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะมีศักยภาพสูงมาก  มันจะโตไปเรื่อย ๆ  ไปอีกนานจนมีขนาดใหญ่มาก  ดังนั้น  แม้ว่าในบางช่วงที่ดูเหมือนว่าจะแพงเกินไป  เราก็มักจะไม่จำเป็นต้องขาย  อย่างไรก็ตาม  ในบางครั้ง  โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นมีมูลค่าสูงมากแล้ว  และตลาดหุ้นกำลังเป็น “ฟองสบู่”  แบบนี้  เราก็อาจจะพิจารณาขายทิ้งเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดได้

Friday, August 7, 2015

Warrant=Worry / ดร.นิเวศน์

 
    ถ้าจะถามว่ามีหลักทรัพย์อะไรที่ผมไม่ชอบและไม่อยากเกี่ยวข้องหรือลงทุนถ้าไม่มีเหตุผลพิเศษจริง ๆ  แล้วละก็  มันก็คือ  Warrant หรือ “สิทธิที่จะซื้อหุ้นออกใหม่ของบริษัท”   โดยธรรมชาติแล้ว  หลักทรัพย์ที่มีการคิดค้นขึ้นมาและมีการนำออกมาใช้อย่างแพร่หลายในโลกทุกประเภทนั้น  มันก็จะต้องมีประโยชน์ต่อบริษัทหรือหน่วยธุรกิจที่ออกมัน  และก็แน่นอน  มันก็ต้องมีประโยชน์ต่อการดำรงอยู่หรือการเติบโตของธุรกิจและต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของวอแรนต์ที่มีการนำออกมาใช้กันมากมายในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมเห็นว่าจำนวนมากเป็นการออกมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ผิดจากที่ควรเป็นเพื่อผลประโยชน์ของคนบางคนหรือบางกลุ่มมากกว่าที่จะเป็นผลดีต่อตัวบริษัทหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ  ต่อมูลค่าของบริษัท  ซึ่งก็คือไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม  และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มันอาจจะเป็น  “ยาพิษ” ต่อนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในราคาสูงเพราะคิดว่าวอแรนต์เป็นสิ่งที่ดีและจะทำให้บริษัทเติบโตหรือมีคุณค่ามากขึ้น

  เหตุผลหลักของผมก็คือ  วอแรนต์นั้น  มีโอกาสที่จะถูกใช้สิทธิหรือแปลงเป็นหุ้นได้ในราคาที่กำหนดไว้ตายตัวซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดของหุ้นในอนาคต  บางทีต่ำกว่ามาก  และนี่จะทำให้“สัดส่วน” ของผู้ถือหุ้นเดิมลดลง  ยิ่งมีการออกวอแรนต์จำนวนมากและราคาแปลงสภาพหรือราคาใช้สิทธิต่ำ  ผู้ถือหุ้นเดิมก็จะถูก  “Dilute” หรือถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทมากเท่านั้น  และในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าเรามีบริษัทที่ออกวอแรนต์จำนวนมากเมื่อเทียบกับหุ้นทั้งหมดของบริษัทในราคาใช้สิทธิค่อนข้างต่ำ  ซึ่งนี่ก็จะทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านั้นมีความน่าสนใจลดลง  ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาวที่  ลงทุนในหุ้นที่เราคิดว่าจะมีกำไรต่อหุ้นโตขึ้นเรื่อย ๆ  ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า  แต่พอถึงเวลานั้นกลับมีหุ้นใหม่ที่ถูกใช้สิทธิจากวอแรนต์เข้ามาเพิ่มทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ผลก็คือ กำไรต่อหุ้นไม่โตและดังนั้นราคาหุ้นก็จะไม่ไปไหน  หุ้นแบบนี้เราจึงไม่ค่อยสนใจ  มันเหมือน  “ตาลยอดด้วน” คือต้นตาลที่ถูกตัดยอดเสียแล้ว  โอกาสที่จะโตไปมาก ๆ  ก็ไม่มี  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  หุ้นที่มีวอแรนต์ออกมานั้น  จะเป็นหุ้นที่ทำให้ผมกังวล  และหุ้นทุกตัวนั้น  ก่อนที่จะซื้อ  ผมจะต้องตรวจสอบดูว่ามันมีวอแรนต์ไหม

  เป็นที่น่าตกใจว่า  มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากออกวอแรนต์มากมายเหมือนกับไม่สนใจว่าในอนาคตบริษัทอาจจะมีหุ้นเพิ่มขึ้นมากและทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ดูคร่าว ๆ  วอแรนต์ในตลาดหุ้นหลักหรือ SET มีกว่า 100 หลักทรัพย์จากหุ้นทั้งหมด 500 กว่าบริษัท หรือประมาณ 20% แต่ในตลาดหุ้นขนาดเล็กหรือ MAI นั้น  เรามีวอแรนต์ถึงประมาณ 50 หลักทรัพย์จากหุ้นเพียงร้อยกว่าตัว  คิดแล้วเรามีวอแรนต์ถึงประมาณ 40% ของหุ้น  จริงอยู่ว่าบางบริษัทนั้นมีวอแรนต์หลายตัวที่ออกมาขาย  แต่ผมคิดว่าจำนวนบริษัทที่ออกวอแรนต์นั้นมีมากเกินไป  และเหตุผลที่บริษัทออกวอแรนต์นั้น  ผมคิดว่าเกิดจากแรงจูงใจที่จะ  “ขับดันราคาและ/หรือมูลค่าหุ้น” มากกว่าเหตุผลทางการเงินของบริษัท

  ประเด็นที่สองที่ผมคิดว่าน่ากังวลยิ่งกว่าก็คือเรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้นของเหล่านักวิเคราะห์หรือนักลงทุน  เท่าที่ผมเห็นนั้นดูเหมือนว่าคนจะไม่สนใจเรื่องของ Dilution ในอนาคต  ในทางบัญชีเองนั้น  ผมก็ไม่เห็นว่าปริมาณหุ้นที่จะมาจากวอแรนต์ในอนาคตจะถูกนำมาคิดในงบบัญชีปัจจุบัน  ดังนั้น  บริษัทที่ออกวอแรนต์มากมาย  คิดเป็นปริมาณหุ้นก็อาจจะหลาย ๆ  สิบเปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมดนั้น  จึงไม่ถูกกระทบอะไรเลยทั้ง ๆ ที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะ “มหาศาล”  กำไรต่อหุ้นอาจจะหายไปครึ่งหนึ่งก็ได้  นักบัญชีหรือนักวิเคราะห์อาจจะเถียงว่าวอแรนต์นั้นอาจจะไม่ถูกใช้สิทธิในอนาคต  ดังนั้น  ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาลงบัญชีในวันนี้  แต่ข้อถกเถียงของผมก็คือ  มันก็อาจจะถูกใช้สิทธิได้  ดังนั้น  ถ้าเราจะ “อนุรักษ์นิยม” ซึ่งก็เป็นหลักการของนักบัญชี  เราก็ควรจะ  “สำรอง”  ไว้ก่อนไหม  เหมือน ๆ  กับที่เราสำรองค่าเผื่อ “หนี้สูญ” หรือ “ทรัพย์สินเสื่อมค่า”  ทั้ง ๆ  ที่หนี้หรือทรัพย์สินนั้นอาจจะยังไม่เสียแต่มีโอกาสเกิดขึ้นพอสมควร   พูดง่าย ๆ  ข้อเสนอผมก็คือ  บริษัทไหนออกวอแรนต์ก็จะต้องคิดจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเลยเวลาคิดกำไรต่อหุ้น  หรือไม่ก็ต้องคิดเป็น  “ต้นทุน” ของการออกวอแรนต์เพื่อเอาไปหักจากรายได้หรือกำไรประจำปีของบริษัท  นี่ก็จะทำให้บริษัทต้องคิดก่อนว่าคุ้มไหมที่จะออกวอแรนต์แต่ละครั้ง

  ผมเองไม่ใช่นักบัญชีและก็ไม่แน่ใจว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นถูกต้องเป็นไปได้แค่ไหน  แต่ถ้ามองตาม Common Sense หรือสามัญสำนึกแล้ว  มันน่าจะเป็นอย่างนั้น   ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรายอมให้ออกวอแรนต์ได้อย่างไม่จำกัดและไม่มีผลอะไรต่อบัญชีในวันนี้  โดยผมสมมุติว่าบริษัท W นั้น  ตั้งขึ้นมาเพื่อ  “ขายวอแรนต์” โดยไม่ทำอย่างอื่น  สิ่งที่บริษัททำก็คือออกวอแรนต์ราคาใช้สิทธิต่ำมากขายแก่บุคคลทั่วไปที่เป็น  “ลูกค้า”   ราคาวอแรนต์ที่ขายหน่วยละ 1 บาท จำนวน 100 ล้านหุ้น บริษัทก็ได้เงินปีละ 100 ล้านบาท  ต้นทุนสินค้าก็มีแค่ของใช้และค่าเช่าสำนักงาน  ค่าแรงพนักงานขายและธุรการเล็กน้อย สิ้นปีบริษัทอาจจะทำกำไรได้ปีละ 90 ล้านบาท  ดังนั้นถ้าเราให้ค่า PE แค่ 20 เท่า เท่ากับ PE ตลาด  หุ้นก็มีมูลค่าถึง 1800 ล้านบาทเข้าไปแล้ว  กลายเป็นหุ้นที่คนอยากเล่นกันมากและก็น่าจะวิ่งขึ้นไปอีกเพราะว่าอีกซักระยะหนึ่งก็จะมีวอแรนต์ชุดสองตามมาในราคาใช้สิทธิที่น่าสนใจยิ่งกว่า “วอร์ 1” โดยที่  “วอร์ 2” เองนั้น  ก็“ไม่มีต้นทุน”  กำไรที่ได้ก็ “มโหฬาร”

  บางคนอาจจะเถียงว่าในชีวิตจริงใครจะทำ  การขายวอแรนต์แล้วเอามาเป็นรายได้ทำไม่ได้ในทางบัญชี  เรื่องนี้ถ้าเป็นปัญหาผมก็สามารถสมมุติเรื่องใหม่  แปลงเป็นว่าบริษัท G นั้นทำธุรกิจปกติขายสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการโฆษณามหาศาล  ต้นทุนโฆษณาปีละ 100 ล้านบาท แต่ผลประกอบการของบริษัทนั้นไม่มีกำไร  วันหนึ่งบริษัทก็คิด “ลดต้นทุน” โดยการออกวอแรนต์ให้กับบริษัทโฆษณาแทนการจ่ายเป็นเงินซึ่งบริษัทโฆษณาก็ยินดี  ดังนั้น  พอสิ้นปีบริษัท G ก็มีกำไร 100 ล้านบาท หุ้นก็วิ่ง  เช่นเดียวกับวอแรนต์ที่วิ่งขึ้นไปยิ่งกว่า และนั่นก็เป็นเหตุผลที่บริษัทโฆษณายินดีรับวอแรนต์แทนเงิน  ทุกฝ่ายต่างก็มีความสุข  รวมถึงคนที่เล่นหุ้น G ในตลาดหุ้นที่เห็นว่าบริษัทกำลัง  “Turnaround” หรือฟื้นตัวจากภาวะย่ำแย่

  เรื่องราวที่ผมสมมุติขึ้นมานี้  แม้ว่าจะยังไม่เห็นหรือไม่ชัดเจนว่ามีใครทำบ้าง  แต่ผมคิดว่าในตลาดหุ้นทุกวันนี้  วอแรนต์ถูกนำมาใช้ในวิธีการต่าง ๆ  เสมือนหนึ่งว่ามัน  “ไม่มีต้นทุน”  และมันสามารถขับดันราคาหรือมูลค่าหุ้นได้โดยเฉพาะในระยะเวลาอันสั้น  อย่างไรก็ตาม  “ความจริงที่แท้จริง” ของหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ  มูลค่าของบริษัทหรือหุ้นนั้น  จะต้องเกิดจากการกระทำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ  ไม่ใช่การพิมพ์ตัวอักษรและตัวเลขง่าย ๆ ไม่กี่ตัว  ดังนั้น  แม้ว่าในระยะสั้น ๆ  คนจะ “ถูกลวง” ว่าวอแรนต์นั้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้  แต่ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นในตลาดก็จะต้องกลับมาสู่มูลค่าที่แท้จริงตามตัวธุรกิจที่แท้จริง  ผลที่เราจะคาดได้ก็คือ  คนที่เข้าไปเล่นหุ้นที่มีการนำวอแรนต์มา “เล่น” และราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปหรือมูลค่าหุ้นรวมวอแรนต์ปรับตัวขึ้นไปมากเกินความเป็นจริง  ก็จะขาดทุนอย่างหนัก  ความเสียหายของคนเล่นวอแรนต์อาจจะเป็น  “หายนะ”

  สิ่งที่เราในฐานะ VI จะทำได้นั้นก็คงเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ  คือเรา “เฉย” เสียกับหุ้นที่มีวอแรนต์พ่วงเต็มไปหมด  ไม่ต้องพูดว่าเราจะเล่นตัววอแรนต์เองเลย    แต่ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นมานาน  ผมก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง  ระบบการรายงานทางบัญชีของเราจะสามารถสะท้อนเรื่องของการออกวอแรนต์ของบริษัทจดทะเบียนอย่างที่มันควรจะเป็น   และเช่นเดียวกัน  ผมก็หวังด้วยว่าวันหนึ่งหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของเราจะออกกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมไม่ให้คนใช้วอแรนต์ในทางที่จะฉกฉวยประโยชน์จากสังคมของการลงทุนโดยรวม  สำหรับผมแล้ว Warrant = Worry

การลงทุนของ Barack Obama / โดย คนขายของ

 
   ประธานาธิบดีของสหรัฐได้ชื่อว่าเป็นผู้ซึ่งทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลก ซึ่งคงเป็นธรรมดาของคน ที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงที่ต้องมีเรื่องวุ่นๆเข้ามามากมาย  แล้วประธานาธิปบดีสหรัฐ มีการวางแผนทางการเงินอย่างไร? เขาลงทุนในสินทรัพย์ชนิดไหนมากที่สุด? การลงทุนของ โอบามามีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน? ผมเชื่อว่าการมองผ่านการวางแผนทางการเงินของ ประธานาธิบดีสหรัฐคงให้แนวความคิดเพื่อที่เราจะมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้บ้าง

เว็ปไซด์ therichest.com ได้รายงานว่าประธานาธิบดีโอบามามีรายได้จากเงินเดือนปีละ 400,000 เหรียญคิดเป็นเงินไทยก็ตกเดือนละประมาณ 1.16 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีรายได้ จากการเขียนหนังสือประมาณปีละเกือบ 10 ล้านบาท ท่านประธานาธิบดีมีบ้านหนึ่งหลัง ราคา ประมาณ​ 1.6 ล้านเหรียญอยู่ที่ชิคาโก้ ซึ่งยังคงติดจำนองอยู่ 1 ล้านเหรียญ และ ผ่อนด้วยอัตรา ดอกเบี้ย 5.625% นิตยสาร Forbes และ Casey Research บริษัททำงานวิจัยเรื่อง การเงินการลงทุนประเมินว่า โอบามามีความมั่งคั่งสุทธิ Net Worth) สูงถึงราวๆ 7 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 210 ล้านบาท

จากที่ผมได้รวบรวมข้อมูลจาก CNBC และ Casey Research พบว่าพอร์ตลงทุนของ ประธานาธิบดีโอบามาน่าจะอยู่ที่ราวๆ 6 ล้านเหรียญ มีการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวในสัดส่วน สูงที่สุดถึง 83% ของพอร์ต ตามมาด้วย กองทุนที่ลงทุนในดัชนี Index Fund) บริหารโดย Vanguard สองกองทุนมูลค่ารวมคิดเป็น 10% ของพอร์ต อันดับสาม เป็นการลงทุนใน พันธบัตรระยะสั้น Bills) ราว 8% ของพอร์ต ส่วนที่เหลือเป็น กองทุนเพื่อการออม สำหรับการเรียนต่อในระดับ college สำหรับลูกสาว เมื่อพิจารณาดอกเบี้ย และเงินปันผลรวม ของพอร์ตลงทุน คาดว่าน่าจะอยู่ที่ปีละประมาณ 5.25 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 2.5% ของเงินลงทุนทั้งหมด เมื่อรวมรายได้จากการลงทุน และรายได้จากลิขสิทธิ์หนังสือซึ่งเป็น รายได้ทางอ้อมเข้าด้วยกัน โอบามาจะสามารถมีเงินใช้ได้ประมาณปีละ 15 ล้านบาท แม้ว่าวาระ การเป็นประธานาธิบดีของเขาจะหมดลงในปี 2559

แต่กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางการวางแผนทางการเงินในสหรัฐได้แสดงความเห็นไว้ว่า โอบามา น่าจะสามารถลดรายจ่ายในเรื่องดอกเบี้ยของการผ่อนบ้าน ซึ่งตอนนี้โอบามาจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 5.526% โดยทำการรีไฟแนนซ์เป็นดอกเบี้ยที่ต่ำลง หรือเอาเงินที่ลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งได้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 1% มาจ่ายคืนธนาคารเพื่อลดภาระจำนอง ส่วนเรื่องการลงทุนนั้น ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ท่านประธานาธิบดีลงทุนในหุ้นน้อยไป ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่แค่ 10% ซึ่งกองทุนที่โอบามาถืออยู่นั้น ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน อาจจะต้องเพิ่มการถือครองหุ้นขนาดกลาง และเล็กที่มีคุณภาพดี


เราจะเห็นได้ว่าโอบามาได้วางแผนการเงินไว้เป็นอย่างดี มีรายได้เข้ามาหลายทางทำให้ชีวิตไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ในปัจจุบันนี้โอบามามีรายได้ถึง 3 ทางคือ หนึ่งเงินเดือน สอง ลิขสิทธ์หนังสือ และสามเงินลงทุน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชนชั้นกลางของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่ ทำงานเป็นลูกจ้างรัฐ และเอกชนควรให้ความสนใจ การมีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถนับว่ามั่นคงจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน มีหลายบริษัทใช้นโยบายลดพนักงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย หากท่านถูกให้ออก ครอบครัวต้องสูญรายได้ที่มีทั้งหมดไป

ในขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนหลายท่านที่ลงทุนในตลาดหุ้น และมีอิสระภาพทาง การเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ก็ขอให้อย่าเพิ่งชะล่าใจไปในอิสระภาพทางการเงินที่ได้มา ตลาดหุ้นใน เวลาที่แย่มากๆ เช่นใน ช่วงปี คศ 1929-1932 ในสหรัฐ ตลาดลดลง 90% ในสี่ปี หรือตลาดหุ้น ไทยในช่วงปี พศ 2539 – 2541 ซึ่งลดลงมากกว่า 80% ภายในสามปี แม้โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า วิกฤตเศรษฐกิจของไทยในระดับนั้น คงไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ แต่ก็ไม่มีใครการันตีได้ว่า เหตุการณ์อย่างนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นอีก ดังนั้นการกระจายเงินลงทุนออกไปให้มีรายได้หลายทาง ถือเป็นการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญทำให้นักลงทุนอยู่รอดในทุกสถานะการณ์ในโลกที่ ไม่มีอะไรแน่นอนใบนี้