Tuesday, December 29, 2015

ความเจ็บปวดและบทเรียนของบัฟเฟตต์ / โดยดร.นิเวศน์


ประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับวอเร็นบัฟเฟตต์ที่คนส่วนใหญ่ได้รับรู้นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องของความสำเร็จ  จรรยาบรรณทางธุรกิจ  และก็การใช้ชีวิตส่วนตัวที่ดีงาม  อุปสรรคในชีวิตของเขาเองก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่น้อยแต่ก็เป็นเรื่องของการต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  ถ้าจะพูดว่าเขานั้นเป็น  “เทพ” ที่ไม่เคย “ด่างพร้อย” ในทุกเรื่องสำหรับคนจำนวนมากก็คงจะไม่ผิด  อย่างไรก็ตาม  คนที่ “ผ่านร้อนผ่านหนาว” มาถึง 85 ปีใน “สมรภูมิ” ที่มีการ “สู้รบ” ที่รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งนั่นคือตลาดหุ้นและโลกของธุรกิจนั้น  มันก็ “เป็นไปไม่ได้” ที่เขาจะไม่เคย  “เจ็บตัว” หรือ  “ทำผิด” อย่างหนักจนเขาเองต้องจดจำเป็นบทเรียนเพื่อที่จะไม่ให้มันเกิดซ้ำ  เพราะเขารู้ว่าถ้ามันเกิดขึ้นอีก  เขาอาจจะ “ตาย” หรือ  “ปางตาย” ได้  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าจะเป็น  “ความเจ็บปวด” ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบัฟเฟตต์และหลายเรื่องน่าจะเป็น “บทเรียน” ที่เขาคงจำขึ้นใจ

เรื่องแรกก็คือการซื้อหุ้นครั้งแรกของเขาเมื่ออายุ 11 ขวบ ในหุ้น Cities Service ร่วมกับพี่สาวในราคาหุ้นละ 38 เหรียญเพราะเขาเห็นว่ามันถูกและมั่นใจว่าจะทำกำไรได้งดงาม   หลังจากซื้อแล้วราคาหุ้นกลับไหลลงไปถึงเกือบ 1 ใน 3 ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์  ในระหว่างนั้นพี่สาวเขาก็เฝ้าถามและ “กดดัน”เขามากแต่เขาก็ไม่ขายจนกระทั่งหุ้นปรับตัวกลับขึ้นมาเป็น 40 เหรียญซึ่งเขาก็ตัดสินใจขายไปทำกำไรได้ 2 เหรียญ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น  หุ้น Cities ก็ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 200 เหรียญ “บทเรียน” เรื่องนี้คงสอนให้บัฟเฟตต์กลายเป็นนักลงทุนระยะ “ยาวมาก” และไม่ขายหุ้นที่ดีมากไปเพียงเพราะกำไรที่ได้เพียงเล็กน้อย

เรื่องที่สองเกิดขึ้นเมื่อเขาอายุ 21 ปีและเป็น “เจ้าของ” ปั๊มน้ำมันชื่อ Sinclair ที่เขาซื้อมาร่วมกับเพื่อนคนหนึ่ง  เขา “ทุ่มเท” ให้กับกิจการนี้มาก  ว่ากันว่าในช่วงวันหยุดเขาถึงกับมาเช็ดกระจกรถให้ลูกค้าที่มาเติมน้ำมัน  แต่แล้วปั๊มนี้ก็  “เจ๊ง”  เพราะปั๊มน้ำมันยักษ์ใหญ่ Texaco มาเปิดฝั่งตรงข้าม  เขาขาดทุนไป 2,000 เหรียญ จากเงินทั้งหมด 9,600 เหรียญที่เขามีอยู่ในเวลานั้นซึ่งคิดแล้วเป็นการ “ขาดทุนหนักที่สุด” คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของการลงทุนของเขา  บทเรียนเรื่องนี้คงสอนให้บัฟเฟตต์เลิกคิดบริหารกิจการเองแบบผู้ประกอบการและเน้นการลงทุนเป็นหลักซึ่ง  “เปลี่ยนชีวิตเขา” อย่างสิ้นเชิง

เรื่องที่สามที่ทำให้เขาเจ็บปวดก็คือการเกิดเรื่อง “ฉาวโฉ่” ในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเงิน Salomon Brothers  เรื่องของเรื่องก็คือ ในปี 1987 ซึ่งเกิดวิกฤติการเงิน  บัฟเฟตต์ได้เข้าไปลงทุนซื้อพันธบัตร “ขยะ” ของบริษัทเป็นเงิน 700 ล้านเหรียญ  แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ประกาศตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมากซึ่งทำให้พันธบัตรที่บัฟเฟตต์ถืออยู่ราคาตกและเขาขาดทุนไปถึง 1 ใน 3  แต่ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ  ในปี 1991 ซาโลมอนบราเดอร์ก็ถูกจับได้ว่าทำผิดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเทรดพันธบัตรกับภาครัฐและทำให้บริษัทตกอยู่ในภาวะเกือบล้มละลายเพราะบริษัทมีหนี้ถึง 37 เท่าของเงินทุน  สุดท้ายบัฟเฟตต์ต้องเข้าไป “กู้” โดยเข้าไปรับหน้าที่เป็นประธานของบริษัท  เขาต้องเข้าไปนั่งทำงานประจำซึ่งเขาบอกว่ามัน  “ไม่สนุกเลย” แต่บริษัทก็รอดมาได้และเงินลงทุนของเขาก็ได้กำไรกลับมางดงาม  แต่วันที่เขาลาออกจากตำแหน่งเป็นวันที่เหมือน “ยกภูเขาออกจากอก”

เรื่องที่เขา “เจ็บ” ต่อมาน่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนในหุ้นเทสโก้  บริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดของอังกฤษและอันดับ 3 ของโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้  บัฟเฟตต์น่าจะซื้อหุ้นเทสโก้ตั้งแต่ปี 2012 และกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในพอร์ทของเขา  ต่อมาเขาก็เริ่มได้ “กลิ่น” ไม่ดีในบริษัทและทยอยขายหุ้นได้กำไรมาบ้างแต่เขาไม่ได้รีบขายเร็วพอ  จนในที่สุดผลประกอบการของบริษัทก็เริ่มแย่ลงและมีการประกาศว่าบริษัทถูกจับได้โดย กลต. ของอังกฤษ ว่ารายงานกำไรผิดจากความเป็นจริง หุ้นของบริษัทตกลงมาอย่างหนัก  เหตุผลใหญ่นอกจากเรื่อง “ฉาวโฉ่”  แล้วก็คือ  ความสามารถในการแข่งขันและทำกำไรของกิจการแย่ลงไปมากเทียบกับคู่แข่ง  บัฟเฟตต์ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในปี 2014 และขาดทุนไป 444 ล้านเหรียญ  นับเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเบิร์กไชร์  และน่าจะเป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีวันลืมของบัฟเฟตต์

เรื่องที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องที่ “คนอื่น” ทำเสียหายและเขา “เจ็บ”  แต่เรื่องที่ 5 นี้เป็นเรื่องที่เขาเองน่าจะ  “เจ็บปวด”  ไม่น้อยเพราะเป็นสิ่งที่เกิดกับบัฟเฟตต์เองในสมัยที่เขาเริ่ม “ดัง” แต่ยังไม่มาก  นั่นเป็นปี 1974-1976 ขณะที่บัฟเฟตต์อายุได้ 44-45 ปี  ที่เขาถูกกลต. สหรัฐจับฐาน  “ปั่นหุ้น”  เรื่องของเรื่องก็คือ  บัฟเฟตต์กำลังเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทเล็ก ๆ  แห่งหนึ่งและเขาสัญญากับผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทว่าราคาหุ้นจะไม่ต่ำกว่าราคาหนึ่งที่กำหนด   ดังนั้น  เขาก็เลย “ทำให้มั่นใจ” ว่าราคาหุ้น “ต่ำบาท” ตัวนี้จะไม่ตกลงมาต่ำกว่าราคาที่ตกลงไว้  เขาทำอย่างไรนั้น  คนนอกคงไม่รู้  และเรื่องราวรายละเอียดที่พูดนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  ความเข้าใจของผมก็คือ  บัฟเฟตต์ไม่ได้รับหรือปฎิเสธข้อหา  แต่ยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 115,000 เหรียญ ให้กลต. และเรื่องราวการ “ปั่นหุ้น” ก็จบลง  ผมเองคิดว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบันที่ “กระแส”  สังคมผ่านระบบสื่ออินเตอร์เน็ตมาแรงมาก  เรื่องนี้อาจจะ “ดูไม่จืด”กรณี “ปั่นหุ้น” นั้น  ผมคิดว่าบัฟเฟตต์คง “กังวลมาก” และมันคงเป็น “บทเรียน” สำคัญที่ทำให้เขาพูดอยู่เสมอเรื่องธรรมาภิบาล  คำพูดของเขาที่ว่า  “มันใช้เวลา 20 ปีที่จะสร้างชื่อเสียง  แต่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีที่จะทำลายมัน”  ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกรณีนี้ด้วย

เรื่องที่ 6 นั้น  ผมยกให้กับเรื่อง “ส่วนตัว”  ที่น่าจะทำให้บัฟเฟตต์ “เจ็บ” เรื่องแรกก็คือ  การที่เขาถูกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปฎิเสธรับเข้าไปเรียนในระดับปริญญาโท  ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์สมัครเข้าเรียนที่โคลัมเบียที่เบน เกรแฮม สอนอยู่แทน  ผมเองไม่รู้ว่าถ้าฮาร์วาร์ดรับ  บัฟเฟตต์จะเข้าไปเรียนไหม  และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราจะรู้จักวอเร็น บัฟเฟตต์ ในวันนี้ไหม  แต่เชื่อว่าเขาก็คงจะ “เจ็บ” บ้างที่ถูกปฎิเสธ

เรื่องที่ 7 น่าจะเป็นเรื่องที่เขาถูกปฎิเสธอีกเช่นกันจาก เบน เกรแฮม เมื่อบัฟเฟตต์ขอทำงานกับเขาหลังจากเรียนจบโดย  “ไม่คิดเงิน”  ด้วยซ้ำเนื่องจากบัฟเฟตต์อยากที่จะเรียนรู้การลงทุนด้วยการทำงานกับอาจารย์  การที่เบน เกรแฮมปฎิเสธเป็นเพราะเขาต้องการรับคนยิวที่ถูก “กีดกัน” ในสมัยนั้น  อย่างไรก็ตาม  บัฟเฟตต์เองก็พยายาม “ตื๊อ” ขอทำงาน  โดยการติดต่อพูดคุยเรื่องหุ้นและการลงทุนกับเกรแฮมในระหว่างที่กลับไปทำงานกับบริษัทโบรกเกอร์ของพ่อที่โอมาฮา  ซึ่งทำให้ในที่สุดหลังจาก 1-2 ปี  บัฟเฟตต์ก็ได้มีโอกาสทำงานกับเกรแฮมจนเกรแฮมเกษียณ

เรื่องสุดท้ายที่น่าจะเป็นเรื่องที่ “เจ็บที่สุดในชีวิตส่วนตัว” ของบัฟเฟตต์ก็คือ  การที่เขา “แยกทาง”กับภรรยาซูซานหลังจากอยู่กันมา 26 ปี  แต่เอาเข้าจริง ๆ  แล้ว  ทั้งคู่ก็ไม่ได้หย่ากันตามกฎหมาย  ตรงกันข้าม  ซูซานเองกลับแนะนำผู้หญิงใหม่คือ Astrid Menks ให้เป็น “คนดูแล”  บัฟเฟตต์  และทั้งคู่ก็ยังออกงานสำคัญ ๆ  ด้วยกันเหมือนสามีภรรยา เวลาส่งการ์ดในวันเทศกาลสำคัญก็เซ็นต์ชื่อร่วมกันทั้งสามคน  ถ้าคนไม่ชอบก็อาจจะเรียกได้ว่า “สามคนผัวเมีย”  และเมื่อซูซานเสียชีวิต  บัฟเฟตต์ก็จดทะเบียนแต่งงานกับแอสทริดจนถึงทุกวันนี้  และนี่ก็คือพฤติกรรมที่  “ไม่ธรรมดา” ของบัฟเฟตต์ ที่หลายคนอาจจะไม่รู้

Thursday, December 24, 2015

แชมป์ตลาดหุ้น / โดย คนขายของ

   
    คุณคิดว่าดัชนีตลาดหุ้นประเทศไหนที่ดัชนีตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา?  ถ้าหาก เราตัดประเทศที่เงินเฟ้อสูงมากๆอย่างเวเนซูเอล่า ที่ดัชนีขึ้นมา 275% แต่เงินเฟ้อราว 800% และ ประเทศที่ตลาดหุ้นยังมีขนาดเล็กมากๆ บางประเทศออกไป เราจะประหลาดใจมากว่าประเทศ ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมากที่สุดนั้นไม่ใช่ประเทศที่เป็นข่าวบ่อยๆ เช่น อเมริกา, จีน หรือ ญี่ปุ่น และก็ไม่ใช่ประเทศในตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย หรือ เวียดนาม แต่เป็นประเทศเดนมาร์ก ประเทศที่มีประชากรเพียง 5 ล้านคน ปีนี้ดัชนี OMX Copenhagen 20 Index ขึ้นมา 34% ในขณะที่ประเทศขนาดใหญ่ในยุโรปอย่างเยอรมันนีดัชนีขึ้นมา 9.5% และ อังกฤษดัชนีติดลบ 7% จริงๆ แล้วตลาดหุ้นเดนมาร์กร้อนแรงมาตลอด ขึ้นจากจุดต่ำสุดตอนวิกฤตปี 2008 ถึง 4 เท่า เรียกว่าขึ้นมาพอๆ กันกับตลาดหุ้นไทย และเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบ 10 ปี จาก 24 ประเทศพัฒนาแล้วที่รวบ รวมโดย Bloomberg

ประเทศเดนมาร์ก หรือที่คนไทยรู้จักฉายาในนาม “แดนโคนม” แท้ที่จริงแล้ว GDP ของเดนมาร์ก มาจากภาคการเกษตรเพียงแค่ 1.5% ตัวเลข GDP Growth ของเดนมาร์กในช่วงห้าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ราวๆ 0.5% ต่อปี แต่ทำไมดัชนีหุ้นถึงปรับตัวได้สูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาก ต่างจากประเทศเกิดใหม่บางประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก แต่ดัชนีตลาดหุ้นไม่ ไปไหน? ผมลองศึกษากิจการที่ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี OMX แล้วพบว่า เดนมาร์กมีบริษัท ชั้นนำของโลก อยู่พอสมควร แต่นั่นยังไม่มีน้ำหนักพอที่สนับสนุนความร้อนแรงของตลาดหุ้นเดนมาร์ก เมื่อเจาะลึก ลงไปอีกผมพบว่า 30% ของบริษัทในดัชนี OMX เป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมยาและ เทคโนโลยีชีวภาพ ประเด็นนี้น่าจะมีน้ำหนักพอที่ผลักดันดัชนี OMX ให้สูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

  บริษัท Novo Nordisk เป็นบริษัทเวชภัณฑ์ยักษใหญ่ของเดนมาร์ก มีมูลค่ากิจการสูงถึง 4 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าบริษัท ปตท. ของไทยถึง 6 เท่า เป็นบริษัทยาที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน มีฐานการผลิตอยู่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน และ บราซิล บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 83% และ มีกำไรสุทธิราวๆ 30% กำไรต่อหุ้นย้อนหลัง 5 ปีเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี และมี ROE สูงมากที่ 64% ในปี 2015 ราคาหุ้นของบริษัทขึ้นมาถึง 50% ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ผลักดันให้ OMX มีผลงานที่โดเด่นกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในยุโรป    

  เมื่อมาศึกษาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสุงสุด 10 บริษัทในตลาด NYSE และ NASDAQ ในปี 2015 พบว่าจาก 10 บริษัทที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด มีถึง 6 บริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น หุ้นของ Eagle Pharmaceuticals เป็นบริษัทยาที่เน้นยาฉีดเป็นพิเศษ อยู่ในตลาด NASDAQ ตอนนี้มีมูลค่ากิจการ ราวๆ 56,000 ล้านบาท ราคาขึ้นมาจากตอนต้นปี 5 เท่า อีกบริษัทหนึ่ง Nymox Pharmaceutical เป็นบริษัทที่เน้นการคิดค้นยารักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นบริษัทที่เล็กมากๆ ในตลาด NASDAQ แต่ราคาหุ้นร้อนแรงมาก ขึ้นมาถึง 8.5 เท่าในปีนี้

  Moody’s Investor Service ได้ออกรายงานในปีที่แล้วประมาณว่า ณ ปัจจุบันมีเพียง 3 ประเทศ เท่านั้น คือ เยอรมัน, ญี่ปุ่น และ อิตาลี ที่มีผู้ที่อายุเกิน 65 ปีมากกว่า 20% ของประชากรในประเทศ   แต่ตัวเลขนี้กำลังเพิ่มขึ้น โดยภายในปี 2020 จะมี 13 ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และ ภายในปี 2030 จะมีถึง 34 ประเทศ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าตลาดถึงให้มูลค่าของบริษัทใน อุตสาหกรรมยา และ เทคโนโลยีชีวภาพในระดับที่สูงมาก

  ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนก็ได้เห็นแนวโน้มแบบเดียวกันนี้ในประเทศไทย โดยหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล ของไทยได้มีการปรับตัวขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ PE ของกลุ่มโรงพยาบาล ในเมืองไทยตอนนี้ มีเกินครึ่งที่ PE มากกว่า 30 เท่า เงินปันผลได้ราวๆ 1% นิดๆ ด้วยมูลค่าที่สูง ขนาดนี้ ผมคิดว่านักลงทุนไทยถ้าสนใจลงทุนในกลุ่มนี้จริงจัง ลองพิจารณาหุ้นระดับโลกหลายๆตัวใน กลุ่มนี้ดู เราอาจจะได้เจอบริษัทที่แข็งแกร่งกว่าในด้านคุณภาพ และยังถูกกว่าในด้านราคาก็เป็นได้

Monday, December 21, 2015

Wind Of Change /โดย ดร.นิเวศน์


สำหรับนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนรายย่อยแล้ว  ตลาดหุ้นในปี 2558 น่าจะเป็นปีที่ “เลวร้าย” อีกปีหนึ่งหลังจากภาวะตลาด “วิกฤติ” ในปี 2551 ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ซับไพร์มในอเมริกาที่ตลาดหุ้นตกลงไปเกือบ 50% แต่หลังจากนั้น  หุ้นไทยก็ปรับตัวดีขึ้นมามาก  ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นจากประมาณ 450 จุดเมื่อสิ้นปี 2551 เป็นประมาณ 1500 จุดเมื่อสิ้นปี 2557 หรือปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.32 เท่าในเวลา 6 ปี คิดเป็นการเติบโตขึ้นถึงปีละประมาณ 22.19% ต่อปีแบบทบต้น  แต่ถ้ารวมปันผลด้วยปีละประมาณ 3% ก็เท่ากับว่านักลงทุนที่ลงทุนหลังวิกฤติตลาดหุ้นในปี 2551 ได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 25% โดยเฉลี่ยแบบทบต้น  ทำให้เป็น “ยุคทอง” ของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย  ที่เหนือไปกว่านั้นอีกก็คือ  นักลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นตัวเล็กซึ่งรวมถึง “VI” จำนวนมากนั้น  สามารถทำกำไรดีกว่านั้นมาก  และทำให้เกิด  “เศรษฐีตลาดหุ้น”  จำนวนไม่น้อย

จริงอยู่  ในเวลา 6 ปีนั้น ก็มีช่วงที่ตลาดหุ้นตกลงมาแรงเป็นระยะแต่ตลาดก็ปรับตัวกลับขึ้นไปอย่างรวดเร็ว   แต่ถ้ามองเป็นรายปีก็จะเห็นว่ามีเพียง 2 ปีที่ตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาคือในปี 2254 ที่ตลาดปิดลบลงเพียง 0.7% และปี 2556 ที่ตลาดตกลงมาประมาณ 6-7% ซึ่งถือว่าน้อยมากจนนักลงทุนแทบไม่รู้สึกเนื่องจากปีก่อนหน้านั้นตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปมากกว่า 30-40%  ดังนั้น  หุ้นและตลาดหุ้นจึงกลายเป็นสถานที่  “ยอดนิยม” และเป็นความหวังและความฝันของคนจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นใหม่และคนที่ทันสมัยและมีฐานะการเงินที่ดี  เป็นคน  “ชั้นสูง” ของสังคม  แต่ดูเหมือนว่าความคิดและความเชื่อนั้นอาจจะกำลัง “สั่นคลอน”  เริ่มตั้งแต่ไตรมาศสองของปีนี้ที่ตลาดหุ้นเริ่มตกลงมา “อย่างต่อเนื่อง”  จนล่าสุด  ดัชนีตลาดลดลงเหลือประมาณ 1285 จุดในวันที่ 18 ธันวาคม 2258 เป็นการลดลงประมาณ 200 จุดหรือ 14.2%  และคนที่เจ็บหนักที่สุดก็คือนักลงทุนรายย่อยที่น่าจะขาดทุนมากกว่านั้นเนื่องจากหุ้นตัวเล็ก “ยอดนิยม” จำนวนมากน่าจะมีราคาลดลงมากกว่านั้น

ประเด็นที่น่าวิตกมากว่าการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นก็คือ  อนาคตของตัวหุ้นและตลาดหลักทรัพย์  เพราะถ้าสถานการณ์และภาวการณ์ต่าง ๆ  ยัง “เหมือนเดิม” เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว  การปรับตัวลงของราคาก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องที่ “ปกติ” และในไม่ช้าราคาและดัชนีหุ้นก็จะปรับตัวกลับขึ้นไป  ตลาดหุ้นไทยก็จะกลับมาคึกคักและเป็นที่นิยมเหมือนเดิมในเวลาอันสั้น  แต่ถ้าไม่ใช่  และหุ้นและตลาดหุ้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปมากทางด้านของ “พื้นฐาน” ของกิจการและตลาด  เราก็จะต้องเตรียมการรับมือกับมันเพื่อที่จะสามารถเอาตัวรอดได้

แน่นอนว่าไม่มีใครรู้อนาคตจริง ๆ  ผมเองก็ได้แต่ “คาดเดา” จากประสบการณ์และประวัติศาสตร์เท่าที่จะทำได้  แต่ปี 2558 นั้น  ผมคิดว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นซึ่งมีโอกาสที่จะเปลี่ยน “โครงสร้าง” ของการแข่งขันและหุ้นของหลายอุตสาหกรรมอย่าง  “สิ้นเชิง”  ได้  การเปลี่ยนแปลงที่ผมเริ่มคิดและเชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นนั้นจะเป็นเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและไม่หวนกลับ  ถ้าจะนึกถึงคำที่ใช้นั้นผมก็อยากจะเรียกมันว่า  “Wind Of Change” ตามเพลงดังของวง The Scorpions ในปี 1989 ที่พรรณนาถึงสถานการณ์ทั่วไปในยุโรปตะวันออกที่กำลังเกิดการ “ล่มสลาย” ของกลุ่มรัฐโซเวียตรัสเซีย ที่ยุติสงครามเย็นและเริ่ม “ศักราชใหม่” ของกลุ่มประเทศยุโรป

Wind Of Change ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจทีวีดิจิตอลที่เปลี่ยนแผนภูมิการแข่งขันของธุรกิจทีวี “อย่างสิ้นเชิง” และผลของมันก็เริ่มเห็นแล้วเพียงแต่ยังไม่สิ้นสุดและผลสุดท้ายจะลงตัวที่จุดไหนยังไม่สามารถบอกได้   แต่เนื่องจากหุ้นกลุ่มบันเทิงเองนั้นเป็นหุ้นกลุ่มเล็กที่มีผลกับตลาดหุ้นน้อย  ดังนั้น  ผลกระทบต่อนักลงทุนและตลาดหุ้นก็มีน้อยมาก

หุ้นกลุ่มใหญ่กลุ่มแรกที่เกิด Wind Of Change อย่างที่ไม่ใคร่มีใครคาดคิดมาก่อนก็คือหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน  ก่อนหน้านี้คนหรือนักลงทุนมีความคิดและเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่า  กิจการที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันป้อนคนไทยทั้งประเทศนั้นจะต้องเป็นหุ้นที่มั่นคงและยิ่งใหญ่  “ตลอดกาล”  ราคาหรือ Market Cap. ของหุ้นนั้นจะต้องใหญ่โต “สมศักดิ์ศรี”  แม้ว่าในบางครั้งอาจจะตกลงมาบ้างเนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมัน  แต่มันก็จะลงมาระดับหนึ่งไม่มากมายนักและในเวลาต่อมาก็จะปรับตัวกลับขึ้นไปเสมอเมื่อภาวะตลาดน้ำมันดีขึ้น   แต่ถึงวันนี้  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  ราคาน้ำมันตกลงไปมากเกินกว่าที่จะเป็นไปได้จากความผันผวนธรรมดา  มันไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงธรรมดา  มันคล้าย ๆ  กับว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันจะกลับมาแพงขึ้นเหมือนเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้เนื่องจาก  “โครงสร้าง” ของการใช้พลังงานและการจัดหาพลังงานของโลกนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหมือน “กระแสลม”  ที่โหมกระหน่ำพัดพาสิ่งเก่า ๆ  ออกไปและมีสิ่งใหม่มาแทนที่  นาทีนี้เราอาจจะยังไม่รู้ชัดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร  แต่เรารู้และรู้สึกว่าธุรกิจน้ำมันอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  เช่นเดียวกับหุ้นของกิจการน้ำมันที่ลดลงมาหลายเท่าและอาจจะไม่กลับไปที่เดิมอีกเลย  ดังนั้น  คนที่คิดจะเล่นหุ้นน้ำมันอาจจะต้อง “ลบความจำ” เดิมที่มีอยู่เกี่ยวกับหุ้นน้ำมันทิ้ง  อย่าไปนึกถึงหรือวิเคราะห์ภาพเก่า ๆ  ที่เราคุ้นเคย

หุ้นกลุ่มใหญ่มากอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมกำลังเป็นห่วงว่ามันอาจจะเกิด  Wind Of Change อีกเช่นกันก็คือ  หุ้นบริษัทมือถือ  นี่คือธุรกิจที่อาจจะกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงโดยที่คนอาจจะยังไม่ตระหนัก  เรายังนึกถึงภาพเก่า ๆ  ของธุรกิจที่มียอดขายเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  และมีกำไรต่อยอดขายและกำไรต่อส่วนของการลงทุนและผู้ถือหุ้นสูงลิ่วเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันจำกัด  แต่นั่นอาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการเข้ามาของบริษัทใหม่และบริษัทเก่าที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยกว่าแต่กำลังมีศักยภาพสูงขึ้นมาก  ผลจากการนั้นอาจจะทำให้  “โครงสร้าง” การแข่งขันของอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงและนั่นอาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของรายได้และการทำกำไรของแต่ละบริษัทที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  เราอาจจะไม่ต้องลบความจำเดิมทั้งหมด  แต่การวิเคราะห์หุ้นกลุ่มสื่อสารมือถือและทางอินเตอร์เน็ตใหม่  โดยการหารูปแบบใหม่ที่เหมาะสมโดยเฉพาะจากต่างประเทศมาเป็นฐานใหม่ของการวิเคราะห์หุ้นในกลุ่มนี้

ผมเองยังไม่แน่ใจว่าจะมีหุ้นกลุ่มไหนที่กำลังอยู่ในโหมด Wind Of Change หรือไม่  แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงหรือคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็คือ  กระแสการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยเราเอง  สถานการณ์หลาย ๆ  เรื่องในด้านของ  “ภาพใหญ่” ของประเทศนั้น  ดูคล้าย ๆ  กับว่าอาจจะไม่ใคร่เหมือนเดิมอย่างที่เราคุ้นเคย  ในด้านอื่นนั้นผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ  แต่ในด้านที่เกี่ยวข้องกับหุ้นและตลาดหุ้นนั้น  ผมต้องศึกษาและวิเคราะห์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านของเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับหุ้นและตลาดหุ้น  ในภาพใหญ่นั้น  ความรู้สึกของผมก็คือ  เรากำลัง  “แก่ตัวลง”  อย่างรวดเร็ว  พละกำลังและความมุ่งมั่นของเราถดถอยลงอย่างรวดเร็ว  ดูเหมือนว่าเรากำลัง  “จมอยู่กับอดีต”  มากกว่าการมองไปที่อนาคตเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน  สินค้าและการผลิตของเรานั้นเป็นสิ่งเก่ามากกว่าสิ่งใหม่  คนจำนวนมากคิดว่าเราอยากจะเป็นแบบ  “ไทย ๆ”  และไม่อยากที่จะเหมือนคนอื่น  เรา “ไม่แคร์” ที่จะต้องก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับของคนอื่นในโลก  ซึ่งนี่ก็คือสัญญาณของความแก่อีกอย่างหนึ่ง  เช่นเดียวกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา 4-5 ปีที่ถดถอยลงมาก  ซึ่งทำให้มันไม่ใช่ความผันผวน  แต่อาจจะเป็น  Wind Of Change ที่ได้ก่อตัวมาระยะหนึ่งแล้ว

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  เมื่อมาคิดอีกทีก็รู้สึกว่าผมอาจจะใช้คำที่ไม่ใคร่ตรงกับต้นกำเนิดของชื่อเพลงที่มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น  เพลง Wind Of Change นั้นสร้างจิตวิญญาณและความรู้สึกแห่งความหวังของชาวยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมันมากในช่วงนั้น  แต่เรื่องที่ผมพูดนั้น  ถ้ามองในแง่ของนักลงทุนแล้วอาจจะกลายเป็นเรื่องที่หดหู่  อย่างไรก็ตาม  มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกับคนทั่วไปและประเทศที่เราจะได้สินค้าและบริการที่ดีและถูกลง  ในเรื่องของประเทศไทยเองนั้น  ผมก็ยังหวังว่า  เมื่อถึงจุดแห่งการเปลี่ยนแปลง  เราจะพลิกมันให้เป็นโอกาสที่จะทำให้เราก้าวหน้าขึ้นได้  ถึงจุดนี้ผมก็เลยต้องกลับมาที่คำสอนที่ผมเคยได้รับรู้มาตลอดที่ว่า  “อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง”  เพราะนั่นคืออาการของคนแก่  มันอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เรากลัว มันอาจจะ “พลิก” ดีขึ้นก็ได้

ลงทุนปี 2559 / โดยวีระพงษ์ ธัม



ปีนี้เป็นปีที่หุ้นหลายกลุ่มและนักลงทุนต่างลำบากกันถ้วนหน้า นักลงทุนที่ถือหุ้นประเภทบลูชิพอย่างธนาคารก็มีผลขาดทุนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ หุ้นสื่อสารที่ปกติเป็นพระเอก “หุ้นปันผล” ก็ทำให้นักลงทุนที่หวังเงินปันผลยามเกษียณเจ็บตัวกันมากมาย หุ้นพลังงานน้ำมันมีราคาปรับตัวลดลงจนไม่รู้ว่าราคาต่ำสุดจะไปอยู่ที่ไหน หุ้นอสังหาก็ประสบปัญหาชะลอตัวอย่างรวดเร็วตามกำลังซื้อจากตลาดล่างและลามขึ้นมาตลาดบน หุ้นส่งออกก็ประสบปัญหาการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นที่หนักเป็นพิเศษคือหุ้นประเภท “หุ้นซิ่ง” “หุ้น Turn Around” ก็ทำให้ความฝันรวยเร็วจบลงพร้อม ๆ การขาดทุนหนัก ที่กำไรสิบครั้งยังไม่พอการขาดทุนเพียงครั้งเดียว คำถามทุกปลายปีคือเราจะปรับกลยุทธ์อย่างไรในปีหน้า สำหรับปีนี้ผมอยากจะเล่าเป็นเรื่องเปรียบเทียบจากนิยายปรกรณัมกรีก

            เมื่อสองพันปีที่แล้ว ฮีเซียด นักกวีชาวกรีก ยุคเดียวกับที่เกิดมหากาพย์เรื่องอีเลียดและโอดิสซีย์ ได้เขียน Ages of Men เปรียบเปรยโลก ว่าถูกแบ่งออกเป็นห้ายุคหลัก ๆ โดยยุคแรกคือ “ยุคทอง” เป็นยุคที่เทพโครโนส (Cronos) ยังดูแลสวรรค์อยู่ ยุคนี้เป็นยุคที่มีพืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์ มีฤดูใบไม้ผลิที่ “ยืนยาว” ไม่สิ้นสุด มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ต้องทำงาน ไม่มีสงคราม ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล มนุษย์จึงขาดการเตรียมพร้อม

            หลังจากยุคทองสิ้นสุดลง ยุคเงิน และยุคทองแดงจึงเริ่มต้นขึ้น เป็นสมัยที่เทพซุส (Zeus) เข้ามาปกครองสวรรค์แทนที่โครโนส ซุสลดฤดูใบไม้ผลิให้สั้นลงและทำให้โลกมี 4 ฤดู มนุษย์ต้องรู้จักสร้างบ้านเพื่อป้องกันลมหนาว ทำการเพาะปลูกเพื่อเก็บไว้กินในช่วงที่ขาดแคลน มนุษย์เริ่มรู้จักคำว่า “กลัว” และมองโลกเป็นจริงมากขึ้น ทุกครั้งที่โลกมีความขาดแคลน มีความขัดแย้ง โลกจะเริ่มสับสนวุ่นวาย มีผู้คนอดอยาก เกิดสงคราม ต่อเนื่องไปถึงยุคที่เลวร้ายที่สุดคือยุคเหล็ก ซึ่งความศรัทธา ความเชื่อ ถูกความกังวลและความกลัวบดบังทั้งหมด เป็นยุคที่มนุษย์ไม่เหลืออะไร และหลังจากนั้นก็คงเป็นภาพจุดสิ้นสุดและการเริ่มต้นขึ้นใหม่ของผู้รอดหรือ “วีรบุรุษ”

            ในภาพยุคทองที่เกิดขึ้นสองครั้งล่าสุดในประเทศไทย คือช่วงที่เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองสุดขีดในช่วงทศวรรษ 2530 มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ทุกอย่างราบรื่นเหมือนวลีทอง “ไม่มีปัญหา” ของนายกสมัยนั้นคือพลเอกชาติชาย และยุคทองที่สองคือช่วงเศรษฐกิจไทยฟื้นฟูจากวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2546 ด้วยการส่งออก เกิดความรุ่งเรืองในประเทศจีนและกำลังซื้อในประเทศก็เติบโต ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เงินสะพัด สำหรับภาคเศรษฐกิจจริงนี่อาจจะไม่เป็น “ทองแท้” เหมือนยุคแรก แต่สำหรับการลงทุนนี่ถือเป็นทศวรรษทองของนักลงทุน

            ยุคทองแรกของเศรษฐกิจไทยผ่านไปพร้อมกับวิกฤตเหมือนที่เราอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ยุคทองที่สองเหมือนจะจบลงพร้อมกับทิ้งคำถามว่า อะไรกำลังอยู่ในประวัติศาสตร์หน้าถัดไป ถ้าวิเคราะห์ “ภาพใหญ่” ในปีนี้เศรษฐกิจถดถอยเพราะกำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน หรือปัจจัยต่างประเทศ แต่นี่คือวัฎจักรที่เปรียบเหมือนฤดูกาล ที่สุดท้ายมันก็จะกลับมา แต่ภาพต่อจากนี้ที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญมากกว่าคือเรื่อง “ภาพอุตสาหกรรม” ยุคนี้เกิดการแข่งขัน “เปิด” กับต่างประเทศโดยเฉพาะเพื่อนบ้าน AEC หลายอุตสาหกรรมเหนื่อยหนักกับการก้าวขึ้นมาของคู่แข่งอย่างประเทศกลุ่ม CLMV ในขณะเดียวกันหลายธุรกิจก็ได้รับประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนต่างนี้จะมีผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นนี่คือปัจจัยแรกที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะยาว

            เรื่องที่สองคือ “เรื่องการแข่งขัน” ซึ่งเหมือนจะกระทบกับภาพย่อยหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะดีอีกต่อไป เพราะเราไม่ได้อยู่ใน “ยุคทอง” อีกแล้ว ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ไม่มีผู้ชนะชัดเจน จะเริ่มลำบากจากการแข่งขัน ธุรกิจปัจจุบันแทบไม่มีเส้นเขตแดน เราจะเห็นกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่ “ย้ายค่าย” ไปทำสิ่งอื่นนอกจากที่ตัวเองเคยทำมาก่อน เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ ดังนั้นธุรกิจไหนที่ไม่มี Barrier to Entry หรือคนมาใหม่กับคนเดิม “ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเท่าไหร่” จะลำบาก แต่ธุรกิจที่มีความสามารถควบคุมทรัพยากรที่ได้เปรียบกว่า จะสามารถรักษาระดับการแข่งขันได้และนี่คือธุรกิจที่เราควรร่วมลงทุนด้วย

            อย่างไรก็ดีในยุคที่แย่ ๆ มีความพิเศษอยู่ที่ว่า เมื่อใดที่เศรษฐกิจ “ภาพใหญ่” กลับคืนมา คนที่แข็งแรงจะแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะผู้อ่อนแอจะออกไปจากตลาด ไม่ต่างจากตลาดหุ้น ดังนั้นคำถามที่ถูกต้องอาจจะไม่ใช่ว่า “ปีหน้าลงทุนอะไรดี” แต่เป็นคำถามว่า “ความสามารถในการแข่งขันของคุณคืออะไร” เพราะการลงทุนคือธุรกิจที่การแข่งขัน “เสรี” มากที่สุดอย่างหนึ่ง ไม่มี Barrier to entry วันที่การแข่งขันสูงขึ้น ในสภาวะที่ตลาดแย่ลงหรือไม่ไปไหน นักลงทุนที่อยู่รอดคือผู้ที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคนอื่น

Tuesday, December 15, 2015

ธุรกิจเงินด่วน / โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ธุรกิจเงินด่วน

ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยลดความ “ร้อนแรง” ลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงวันนี้  หุ้นที่ยังมีราคา “แพงมาก”  คือมีค่า PE และ PB สูงมากและปันผลต่ำมากนอกจากหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนและหุ้นในตลาด MAI แล้วก็คือ  หุ้นในกลุ่มที่ผมจะเรียกว่า  “ธุรกิจเงินด่วน”

นิยามของธุรกิจเงินด่วนของผมก็คือ  ประการแรก  เป็นธุรกิจที่ “ปล่อยเงินกู้” เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือเอาเงินไปใช้อย่าง “เร่งด่วน”  อาจจะภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง  โดยที่วงเงินมักจะไม่ใคร่สูงนักและอาจจะมีหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน  ประการที่สองก็คือ  คนที่มาขอกู้มักจะเป็นคนที่ไม่ได้มีรายได้เป็นรายเดือนอย่างแน่นอน  ส่วนมากน่าจะเป็นผู้ประกอบ “อาชีพอิสระ” หรือเป็นเกษตรกรที่ไม่มีเงินเดือนประจำ  หรือถ้าจะมองว่าเป็นผู้มี “รายได้ต่ำ” ก็อาจจะพูดได้  แต่นี่คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว  เพียงแต่ว่าไม่ใช่กลุ่มนักธุรกิจหรือคนที่มีรายได้สูงหรือคนกินเงินเดือน  และประการสุดท้ายก็คือ  เป็นธุรกิจการเงินที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเนื่องจากกิจการไม่ได้กู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป  โดยที่บริษัทเหล่านี้จำนวนมากก็เรียกตัวเองว่าเป็นบริษัท “ลีสซิ่ง” แต่บางบริษัทก็เรียกเป็นชื่อธรรมดา  อย่างไรก็ตาม  ในแง่ของการทำธุรกิจ  บริษัทเหล่านี้ก็คือบริษัทที่ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าต้นทุนเงินทุนของตนเอง  ความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่การปล่อยกู้ให้ได้อัตราดอกเบี้ยสูงและกู้เงินจากคนอื่นหรือสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ  นอกจากนั้น  ก็จะต้องพยายามไม่ให้มีหนี้เสียมาก  อีกประเด็นหนึ่งก็คือจะต้องพยายาม “เติบโต” โดยการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะทำกำไรให้มากขึ้น

มองจาก “ธรรมชาติ” ของธุรกิจแล้ว  นี่คือธุรกิจที่น่าจะเรียกว่า High Risk, High Return หรือธุรกิจที่น่าจะมีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนก็คาดว่าจะสูง  นั่นก็คือ  ถ้าโชคดีหรือสถานการณ์ทางธุรกิจเอื้ออำนวย  ผลตอบแทนการลงทุนก็จะสูงมาก  แต่ถ้าสถานการณ์เป็นลบ  นั่นก็คือเศรษฐกิจถดถอยลูกค้าประสบปัญหาทางการเงิน  ธุรกิจก็อาจจะขาดทุนรุนแรงได้  เหตุผลก็เพราะว่า  คนที่มากู้นั้น  มักจะมีรายได้ไม่แน่นอนและมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในบางช่วง  มีหนี้จำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้ของตน  นอกจากนั้นก็มักจะมีหนี้  “นอกระบบ” คือหนี้ที่กู้จากญาติมิตรและบุคคลธรรมดาที่ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากด้วย  ดังนั้น  โอกาสที่คนมากู้จะไม่มีเงินมาใช้คืนตามกำหนดหรือกลายเป็น NPL ก็จะสูงกว่าปกติ  นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยงสูง

ในด้านของผลตอบแทนนั้น  เนื่องจากผู้กู้มักจะไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมโดยแบงค์ชาติได้เนื่องจากมีคุณสมบัติ “ไม่เพียงพอ” ที่จะกู้ได้  รวมถึงมักจะไม่มีข้อมูลรายได้และประวัติทางเครดิตในการชำระเงินกู้  ดังนั้น  เขาจึงยินดีที่จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าปกติ  ผลก็คือ  บริษัทจะมีกำไรในการปล่อยกู้สูงกว่าปกติถ้าลูกหนี้ไม่เสียหรือกลายเป็น NPL

มองคร่าว ๆ จากพื้นฐานและการดำเนินงานของ “ธุรกิจเงินด่วน” ดังที่กล่าว  เราก็อาจจะนึกว่า  ในยามนี้ที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะในกลุ่ม  “รากหญ้า” หรือผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดต่างก็ประสบกับปัญหาเนื่องจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำและงานนอกภาคเกษตรเองก็ชะลอตัวลงมาก  ธุรกิจที่ปล่อยกู้ให้กับคนกลุ่มนี้ก็น่าจะประสบปัญหามีรายได้และกำไรลดน้อยลงไปมากคล้ายกับสถาบันการเงินในระบบทั่ว ๆ ไป   แต่ความจริงนั้นกลับตรงกันข้าม  บริษัทธุรกิจเงินด่วนกลับเฟื่องฟูมีรายได้และกำไรเติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจ  เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่ว  บางบริษัทมีมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. สูงกว่าแบ้งค์ขนาดเล็กและกลางบางแบ้งค์แล้วทั้ง ๆ ที่ขนาดของธุรกิจเล็กกว่ามากทั้งทางด้านของทรัพย์สิน  รายได้และกำไรของบริษัท  เหตุผลในแง่ของตลาดหุ้นก็คือ  รายได้และกำไรของบริษัทที่ทำธุรกิจเงินด่วนนั้น   เติบโตเร็วทั้งทางด้านของรายได้และกำไร  ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ  คุณภาพของลูกหนี้ก็ดีมาก  อัตราหนี้เสียนั้น  บางบริษัทอ้างว่าอยู่ในระดับแค่ 1%  บางบริษัทก็สูงกว่าแต่ก็ไม่สูงเท่าไรนัก  คิดเป็นต้นทุนแล้วน้อยเทียบกับส่วนต่างดอกเบี้ยรับที่สูงมาก  ดังนั้น  นักลงทุนจึงเข้าไปไล่ซื้อหุ้นจนทำให้ค่า PE ของหลายบริษัทสูงลิ่วกว่า 40-50 เท่า  เปรียบเทียบกับหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินอื่นที่มักจะไม่เกิน 10 เท่า

คำถามที่สำคัญก็คือ  กิจการของบริษัทเงินด่วนนั้นดีจริงหรือไม่?  และราคาหุ้นนั้นมีความเหมาะสมหรือเปล่า?  โดยเฉพาะถ้าเรา  “มองไปข้างหน้า”  เนื่องจากธุรกิจปล่อยเงินกู้นั้น  มี “ลักษณะพิเศษ” อย่างหนึ่งที่แตกต่างจากธุรกิจอื่นก็คือ  มันเป็นธุรกิจที่  “บินก่อน ผ่อนทีหลัง” นั่นก็คือ รายได้กับต้นทุนนั้นมาไม่พร้อมกันร้อยเปอร์เซ็นต์  วันที่ปล่อยเงินกู้นั้น  รายได้ก็จะมาทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ต้นทุนโดยเฉพาะค่าสำรองหนี้สูญนั้น  อาจจะตามมาภายหลังเมื่อลูกหนี้เริ่มเสียกลายเป็น NPL ซึ่งจะทำให้รายได้หายไปแต่รายจ่ายที่เป็นต้นทุนสำรองหนี้เสียกลับเพิ่มขึ้น

ความโดดเด่นข้อแรกที่กล่าวอ้างว่าธุรกิจ “โตเร็ว”  นั้น  ผมเองคิดว่าคงจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากไม่ได้  ธุรกิจการปล่อยเงินกู้นั้น  ผมคิดว่ามันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนึ่งที่เราจะ “ขาย”  ไม่ยาก  มีเท่าไรก็ขายหมดถ้าเราตั้งราคาต่ำหรือเท่ากับราคาตลาด  ความหมายก็คือ  ถ้าเราอยากจะปล่อยกู้มากขึ้น  เราก็มักจะปล่อยกู้ได้ง่ายถ้าเราไม่สนใจเรื่องความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้  ดังนั้น  บริษัทหรือหุ้นที่โตเร็วในธุรกิจแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นกิจการที่โตเร็วยกเว้นแต่ว่าโตเร็วและลูกหนี้มีคุณภาพดีและอัตราหนี้เสียไม่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ความโดดเด่นข้อสองก็คือ  อัตราหนี้เสียที่ต่ำมากและสำหรับบางบริษัทนั้น  ต่ำจนแทบ “ไม่น่าเชื่อ”  ข้อนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าการวัดอัตราหนี้เสียนั้นอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับบริษัทอื่นและสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์หรือไม่  ประเด็นก็คือ  มาตรฐานการจัดชั้นหนี้ของบริษัทเป็นเรื่องของแต่ละบริษัทและไม่ถูกบังคับโดยแบ้งค์ชาติ  ดังนั้น  ที่บอกว่าต่ำจึงอาจจะไม่จริงถ้าถูกกำหนดให้ทำตาม “มาตรฐาน” เดียวกัน  แต่ถ้าดูจากเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดและประกาศให้นักลงทุนทราบ  บางทีเราก็อาจจะรู้สึกว่าบริษัทเองก็ตั้งมาตรฐานอย่าง  “อนุรักษ์นิยม”  พอสมควร  อาจจะดูว่าไม่ได้ต่างกับมาตรฐานที่ดีเท่าไรนัก  อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรที่ “ซ่อน”  อยู่ในรายละเอียดที่เราไม่รู้หรือไม่  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  วิธีการในทางปฏิบัติในเรื่องของการจัดการ เช่น  การปล่อยเงินกู้ การรับชำระเงิน  การปรับวงเงินกู้หรือตารางการชำระหนี้ ต่าง ๆ  เหล่านี้นั้น  ในบริษัทที่ทำธุรกิจเงินด่วนต่างก็มักจะใช้คน ๆ  เดียวกันทำซึ่งอาจจะทำให้การควบคุมนั้นไม่ถูกต้องได้เนื่องจากไม่มีการ Check & Balance หรือไม่มีการตรวจสอบโดยคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนที่ทำ  ผลก็คือ  หนี้ที่เสียบางส่วนอาจจะถูกปกปิดไว้ได้

ข้อถกเถียงหนึ่งของคนที่มองกิจการธุรกิจเงินด่วนในแง่ดีก็คือ  ธุรกิจเงินด่วนนั้น  เข้ามาแทนที่ตลาดเงิน  “นอกระบบ” ที่ใหญ่โตมาก  เงินด่วนนั้นถึงอย่างไรดอกเบี้ยก็ยังถูกกว่าเงินนอกระบบมาก  ดังนั้นมันขยายได้เร็วและมาก  นอกจากนั้น  ที่หนี้เสียน้อยก็เพราะว่าคนที่กู้นั้น  เขาก็ไม่ต้องการที่จะทำให้เครดิตของตนเองเสียเพราะนี่เป็นแหล่งเงินที่มีต้นทุนถูกที่สุดสำหรับเขา  เหนือสิ่งอื่นใด  พนักงานที่ปล่อยกู้รู้จักลูกค้าเป็นอย่างดีสามารถที่จะตามทวงหนี้ได้ไม่ยากถ้ามีปัญหา  ดังนั้น  การที่ตัวเลขต่าง ๆ  ของธุรกิจเงินด่วนดีกว่าสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้แบ้งค์ชาติจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ

ทั้งหมดนั้น  ผมฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าจะแย้งอย่างไร  ผมเพียงแต่รู้สึกว่าถ้ามัน  “Too good to be true” หรือ “ดีเกินกว่าที่จะเป็นเรื่องจริง”  และเมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้น  ผมก็นึกถึงคำพูดที่ตามมาจาก  “ผู้รู้”  ที่มีประสบการณ์สูงที่บอกว่า  “It’s probably is” คือ “มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น” คือมันคงไม่ใช่เรื่องจริง     เรื่องนี้เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า  ธุรกิจเงินด่วนนั้นดีจริง ๆ หรือไม่? และราคาหุ้นนั้นแพงเกินไปหรือไม่?

Monday, December 14, 2015

ขวัญหนีดีฝ่อ / โดย คนขายของ



ในช่วงตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราได้เห็น หลายบริษัทที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น NOKIA, COMPAQ,และ KODAK มีสถานะที่แตกต่างไป อย่างมากกับเมื่อ 25 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆทำให้นักลงทุนในสมัยนี้ให้ความระมัด ระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกเทคโนโลยีทำให้สูญหายไปจาก ระบบเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ Telegraph ของอังกฤษเคยเขียนถึงอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะถูก ทำลายโดยเทคโนโลยีเช่น ธุรกิจโทรศัพท์สาธารณะ ธุรกิจล้างอัดฟิลม์ และ ธุรกิจขายสารานุกรม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงให้มูลค่ากิจการของบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ สูงมาก เช่นในตอนนี้มูลค่าของ Alphabet Inc. เจ้าของ Google มีมูลค่ากิจการมากกว่า ห้าง Walmart และ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างGE รวมกัน

                แต่ถ้าเรามาย้อนดูอดีตให้ลึกลงไปในรายละเอียด เราจะพบว่าในบางกรณี เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ไม่ได้ สร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนเสมอไป แต่เป็นธรรมดาเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมา ย่อมเกิดกระแส

การประโคมข่าวจากสื่อทั่วไปจนทำให้นักลงทุนบางคนเกิดหวั่นใจ เช่นเมื่อตอนเครื่องเล่นวีดีโอได้วาง ออกขายในตลาดเมื่อราวปี 1972 และเริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างมากในช่วงปี 1980 มีหลายคนเชื่อว่า การเปิดตัวของเครื่องเล่นวีดีโอ จะทำให้ธุรกิจโรงภาพยนต์ล่มสลาย แต่กลับกลายเป็นว่าในทุกวันนี้ธุรกิจ โรงภาพยนต์ยังคงอยู่ได้ แต่ตลาดของเครื่องเล่นวีดีโอรวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านให้เช่า กลับไม่ สามารถอยู่ได้เพราะโดนเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า เช่นอินเตอร์เน็ต และ การดูหนังออนไลน์เข้ามาแทนที่

                การกำเนิดของ e-commerce และ การพุ่งขึ้นของราคาหุ้นของ AMAZON ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนหลายคนเชื่อว่า กิจการที่เกี่ยวกับ e-commerceจะมาแทนที่ร้านค้าปลีกแบบเดิมๆ ผู้คนจะหันไปซื้อของจากร้านออนไลน์เพราะสะดวกสบายกว่า และ มีต้นทุนที่ถูกกว่า ร้านค้าแบบเดิมๆ ที่มีหน้าร้านจริงจะอยู่ไม่ได้ แต่หากเรามาดูตัวเลขทางสถิติของการค้าปลีกทั้งหมดในประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิด e-commerce จากข้อมูลของ ychart.com เราพบว่าในปี 2014 การซื้อของผ่านช่องทาง e-commerce นั้นคิดเป็นเพียง 7.5% ของยอดขายค้าปลีกในสหรัฐ และการเติบโตของตลาด e-commerce ในอเมริกาจากนี้ไปคาดว่าจะอยู่ที่ราว 15% ซึ่งก็ไม่ได้เป็น ตัวเลขที่สูงจนโดดเด่นมากเมื่อนเทียบกับอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น Telehealth Servicesบริการการรักษาทางไกล ซึ่ง inc.com คาดว่าจะโตได้ 49% และ อุตสาหกรรม Peer-to-peer lending เป็นการปล่อยกู้โดยบุคคลธรรมดา ให้แก่ บุคคลทั่วไป และ ธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งน่าจะโตได้ราว 38%

                ถึงแม้ว่ายอดขายของ AMAZON จะดูโตเร็วมากจนอาจทำให้เราเชื่อว่า AMAZON จะทำให้ค้าปลีก แบบมีหน้าร้านในอเมริกาไม่โตเลย แต่ในความเป็นจริงก็คือในห้าปีที่ผ่านมา ยอดขายของห้างสรรพ สินค้าอย่าง Nordstrom และ ร้านเสื้อผ้าอย่าง TJ Maxx ก็ยังทำยอดขายโตได้ราว 40% เมื่อเทียบกับ เมื่อห้าปีที่แล้ว หันมามองเรื่องผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นกันบ้าง ความย่ำแย่ของหุ้น WALMART ในช่วงที่ผ่านมาคงทำให้นักลงทุนจำนวนมากคิดว่า นี่คงเป็นจุดสิ้นสุดของร้านค้าปลีกจำพวก “Big Box Retailers” แต่ถ้าเรามาดูหุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่ของอเมริกาที่ราคาขึ้นมาสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่า Home Depot บริษัทขายของประเภท DIY คล้ายๆกับกิจการ Home Pro ในเมืองไทยทำได้ดีที่สุด โดยราคาขึ้นมาถึง 3 เท่า ในขณะที่ AMAZON ขึ้นมา 2.8 เท่า



                เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน แต่เนื่องจากทุกเทคโนโลยีมีรายละเอียดเฉพาะตัว ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจในหลายแง่มุม เทคโนโลยีใหม่อาจไม่ได้ชนะเทคโนโลยีเก่าเสมอไป มีหลายกรณีที่เป็นลักษณะ “อยู่ร่วมกัน” หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีใหม่ไม่สามารถยืนอยู่ได้ เสื่อมความ นิยมไปก่อน เรื่องที่เป็นอันตรายมากๆ สำหรับนักลงทุนที่ชวนขวัญหนีดีฝ่อ อาจจะไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี ใหม่ๆที่ออกมาจะเป็นอันตรายกับบริษัทที่เขาถือหุ้นอยู่ แต่เป็นเรื่องที่เขาไม่ศึกษาเทคโนโลยีนั้นๆอย่าง ละเอียด อ่านแค่พาดหัวข่าวแล้วก็นำมาใช้ตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งอันนี้ผมเชื่อว่าชวนสยองขวัญกว่า เยอะเลยครับ

Tuesday, December 8, 2015

เก็บเงินริมทาง /โดยดร.นิเวศน์

     
  ช่วงปลายปี 2010 จนถึงต้นปี 2011 หรือเมื่อประมาณ 4-5 ปี มาแล้ว  มีการพูดถึงประเด็นเรื่องการ “สืบทอด”  ตำแหน่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ในเบิร์กไชร แฮททาเวย์ ค่อนข้างมากเนื่องจากบัฟเฟตต์ก็เริ่มแก่ตัวลงและไม่มีใครรู้ว่าใครจะมาแทนเขา  หนึ่งใน “ตัวเลือก” ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่ามีโอกาสสูงสุดก็คือ  David Sokol ผู้บริหารของบริษัท MidAmerican Energy Holding บริษัทลูกของเบิร์กไชร์ที่ดูแลเรื่องของการลงทุนในธุรกิจพลังงาน และยังเป็นผู้บริหารของ Netjets บริษัทให้บริการเช่าใช้เครื่องบินของบัฟเฟตต์ด้วย  นอกจากการเป็นผู้บริหารของบริษัทลูกที่มีขนาดใหญ่โตมากแล้ว  โซโคลยังมีบทบาทในเบิร์กไชร์มาก  ดูเหมือนว่าเขาจะเป็น  “มือขวา” คนหนึ่งของบัฟเฟตต์ในการที่เขามักจะนำเสนอบริษัทหรือกิจการต่าง ๆ  ที่น่าสนใจให้บัฟเฟตต์พิจารณาซื้อ  นอกจากนั้น  เขายังช่วยบัฟเฟตต์แก้ปัญหาเวลาบริษัทลูก ๆ  ในเครือมีปัญหาด้วย  และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ  โซโคลเองนั้นเป็นคน  “บ้านเดียวกัน” กับบัฟเฟตต์  คือ เป็นคนที่เกิดที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา  แถมเรียนจบมหาวิทยาลัยเดียวกับบัฟเฟตต์  ในมุมมองของคนท้องถิ่นแล้ว  เขาก็เป็น “หนึ่ง”  รอง  ๆ จากบัฟเฟตต์  สถานที่สำคัญหลายแห่ง  รวมถึงสนามกีฬาที่จัดประชุมผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์ก็มีชื่อของเขาเข้าไปเกี่ยวข้อง  เขาทำกิจกรรม บริจาคและช่วยเหลือสังคมอย่างกว้างขวางเป็นที่รักและชื่นชมทั่วไปในเมืองบ้านเกิด  อายุเขาก็ยังไม่มากคือเพียง 56 ปี  ดังนั้น  อนาคตของเขานั้นดูเหมือนว่าจะ “โรยด้วยกลีบกุหลาบ”

แต่แล้วโดยที่ไม่มีใครคาดคิด  เขาประกาศลาออกจากเบิร์กไชร์ในวันที่ 28 มีนาคม 2011 และต่อมาในเดือนเมษายนคณะกรรมการตรวจสอบของเบิร์กไชร์ก็ออกมาแถลงถึงผลการตรวจสอบที่แสดงว่าโซโคลมีความ “ไม่โปร่งใส” ในกรณีของการเทคโอเวอร์บริษัทผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่น Lubrizol ของเบิร์กไชร์  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  โซคอลนั้นซื้อหุ้นของ Lubrizol ก่อนที่จะนำเสนอดีลให้กับบัฟเฟตต์  จำนวนเงินที่เขาซื้อประมาณ 10 ล้านเหรียญ และเมื่อการเทคโอเวอร์เกิดขึ้น  เขาทำกำไรได้ประมาณ 3 ล้านเหรียญ  โซโคลแถลงแก้ว่าเขาเองได้บอกกับบัฟเฟตต์ก่อนแล้วว่าเขามีหุ้นและมีก่อนที่จะนำเสนอดีลเทคโอเวอร์กับบัฟเฟตต์  ดังนั้นเขาไม่ผิด  บัฟเฟตต์เองในตอนแรกก็พูดทำนองว่า  โซโคลไม่ได้ลาออกเพราะเรื่องนี้และเขาก็เชื่อว่าสิ่งที่โซโคลทำไม่น่าจะผิดกฎหมาย  แต่ต่อมาภายหลัง  บัฟเฟตต์ก็ยอมรับว่าเขาอาจจะไม่ได้สรุปหรือคิดเรื่องนี้ละเอียดพอ  พูดง่าย ๆ  บัฟเฟตต์เองก็คิดว่าโซโคลทำไม่ถูก  อย่างไรก็ตามต่อมา  กลต. ของสหรัฐก็เข้ามาตรวจสอบเรื่อง “การใช้ข้อมูลภายใน” ของโซโคลและก็สรุปว่าโซโคลไม่ผิด  แต่ทุกอย่างก็จบลงแล้ว  เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างบัฟเฟตต์กับโซโคล

ในวันประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของเบิร์กไชร์ปี 2011 บัฟเฟตต์พูดกับผู้ถือหุ้นว่าเขาทำผิดอย่างแรงที่ไม่ถามโซโคลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น Lubrizol ที่อธิบายและแก้ตัวไม่ได้  เพราะสิ่งที่โซโคลทำนั้นละเมิดกฎของการปฎิบัติงานที่ดีของเบิร์กไชร์และเรื่องของการใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น  บัฟเฟตต์ยังพูดอีกว่าเขาจะไม่มีวันเข้าใจเลยว่าทำไมโซโคลทำสิ่งที่เขาทำ  เขาอธิบายไม่ได้ว่าทำไมโซโคลจึงไม่ปิดบังหรือใช้โนมินีเข้ามาซื้อหุ้น Lubrizol ถ้าเขาคิดว่าเขากำลังทำอะไรผิด  เขาปล่อยข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของเขาอย่างเปิดเผย  บัฟเฟตต์ยังพูดต่อว่า เขาไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมชื่อเสียงของโซโคลจึงถูกทำลายไปด้วยเรื่องฉาวโฉ่ที่เกี่ยวกับเงินเพียง 3 ล้านเหรียญ ทั้ง ๆ  ที่โซโคลเองนั้นเคยสมัครใจที่จะยกเงินค่าตอบแทนหรือโบนัสที่เขาควรจะได้จำนวนถึง 12.5 ล้านเหรียญให้กับเพื่อนร่วมงานคือ Greg Abel ที่บริษัท MidAmerican

ผมเองคิดว่าเรื่องการใช้ข้อมูลภายในเพื่อทำเงินนั้น  มันคงจะเปรียบคล้าย ๆ  กับการที่เราเดินไปตามทางเดินสาธารณะ  แล้วเราไปเห็นเงินที่ตกหล่นอยู่ข้างทาง  เราไม่รู้ว่าเป็นเงินของใคร  และด้วย  “สัญชาตญาณ” ซึ่งเป็นอารมณ์ที่อยู่ในมนุษย์ทุกคน  เราก็จะเก็บ  เงินที่ได้จากการเก็บของตกหล่นนั้น  ถ้าจำได้ตอนเป็นเด็ก  เราจะรู้สึกดีใจมากทั้ง ๆ  ที่มันอาจจะเป็นแค่เหรียญหรือเงินไม่กี่บาท  เพราะมันได้มาฟรี  แทบไม่ต้องออกแรงเลย เรารู้สึกว่าเป็นความโชคดี  เราไม่คิดว่าเราไป “โกง” ใคร  เราไม่ได้ทำผิด  และถ้ามีใครมาอ้างว่าเป็นเงินของเขา เราก็มักจะคืนเงินไป  นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตาม  “ธรรมชาติ”  แต่ในตลาดหุ้นนั้น  กฎเกณฑ์การซื้อขายหุ้นที่ห้ามไม่ให้ใช้ “ข้อมูลภายใน”  ที่เรารู้แต่คนอื่นไม่รู้มาซื้อขายหุ้นก็เพื่อที่จะทำให้ตลาดนั้นมีความยุติธรรมสำหรับทุกคน  ดังนั้น  คนที่ทำและถูกจับได้ก็ผิด  แต่ถ้าถามว่าคนที่ถูกตัดสินว่าผิดในเรื่องนี้หมายความว่าเขามีพฤติกรรม “โกง” เป็นนิสัยหรือไม่ ผมก็คิดว่าไม่ใช่ และก็คงต้องดูเป็นกรณี ๆ  ไป  ในกรณีของโซโคลนั้น  ทางกฎหมายถือว่าไม่ผิดแม้ว่าทางเบิร์กไชร์จะ “รับไม่ได้”  และสังคมเองก็ดูเหมือนว่าจะไม่ยอมรับคำอธิบายของโซโคล  ในโลกยุคปัจจุบันนั้น  ถ้าคุณเป็นคนดังและยิ่งใหญ่  แม้แต่สิ่งที่อาจจะเล็กน้อยหรือไม่จริง  แต่ถ้ามีคำถามถึงความโปร่งใสหรือความมีธรรมาภิบาล  คนก็จะไม่ยอมรับและ “แสดงออก” อย่างแรง  นี่ก็คงเป็น “ธรรมชาติ” ของคนอีกเช่นกัน

วันที่มีข่าวเรื่อง Insider’s Trading ของโซโคล  หุ้นเบิร์กไชร์ตกลงไป 2% ซึ่งต้องถือว่าหนักพอสมควรเนื่องจากเป็นหุ้นตัวใหญ่มากที่ไม่ใคร่ผันผวน  แต่หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็จางหายไป หุ้นเบิร์กไชร์ยังเหมือนเดิม  ความ “น่าเชื่อถือ” ของเบิร์กไชร์ในด้านของ Governance ไม่ถูกกระทบ  ถ้าจะถามว่ามีโอกาสที่จะเกิดกรณีแบบนี้อีกไหม  ผมก็คิดว่ามี  โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่มีจำนวนมากทุกวันก็คงต้องมีบ้างที่จะเกิดความผิดพลาดทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ประเด็นสุดท้ายสำหรับนักลงทุนก็คือ  เราจะทำอย่างไรถ้าเรามีหุ้นของบริษัทที่มีกรณีอินไซ้ด์ของผู้บริหารและในกรณีที่ยังไม่มีหุ้น   หลายคนบอกว่าเราไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับหุ้นเหล่านั้นเลยเพราะ  ผู้บริหารคง “ไว้ใจไม่ได้แล้ว”  และถ้าวอเร็น บัฟเฟตต์ เจอแบบนี้เขาก็คงจะขายหุ้นทิ้งแน่นอน ตัวอย่างเช่นกรณีของหุ้นเทสโก้ที่เกิดกรณีอื้อฉาวแต่งบัญชีซึ่งทำให้บัฟเฟตต์ขายหุ้นเทสโก้ทิ้งหมด

สำหรับคำตอบนี้  ผมเองคิดว่าการพิจารณาเรื่องของธรรมาภิบาลหรือ CG นั้นเราคงจะต้องดูระดับของความเลวร้ายด้วย  กรณีของเทสโก้นั้น  ผมคิดว่าผู้บริหารตั้งใจและวางแผนที่จะหลอกลวงผู้ถือหุ้นและคนทั่วไปเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงและทำมานาน  ในกรณีแบบนี้เราก็คงยอมรับยาก  เหนือสิ่งอื่นใด  บัฟเฟตต์เองอาจจะขายหุ้นทิ้งเพราะพื้นฐานของกิจการมากกว่าเรื่อง CG ด้วยซ้ำ  เนื่องจากเขาพบว่าผลการดำเนินงานของกิจการที่เขาคิดว่า OK นั้น  จริง ๆ  แย่กว่าที่รายงานมากเพราะคู่แข่งเด่นขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่เทสโก้แย่ลงหนัก  

ในกรณีที่ยังไม่มีหุ้นอยู่  เราควรที่จะเข้าไปซื้อหรือไม่โดยเฉพาะถ้าราคาหุ้นร่วงลงมาก ?  ในกรณีนี้ก็อีกเช่นกัน  เราคงต้องดูเป็นกรณี ๆ  ไป  ถ้าเรื่องไม่เลวร้ายอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน  หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น  “ครั้งเดียว”  และน่าจะ “แก้ไขได้”  เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎ  “ตายตัว” ว่าจะไม่เกี่ยวข้อง  บัฟเฟตต์เองนั้น  ครั้งหนึ่งก็เคยเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทอเมริกันเอ้กซเพรสซึ่งเกิดเรื่องอื้อฉาวกรณี  “น้ำมันสลัด” ที่มีการโกงกันอย่างมโหฬาร  แต่บัฟเฟตต์เห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นร้ายแรงครั้งเดียวและแก้ไขได้ในขณะที่กิจการหลักของบริษัทยังดีและแข็งแกร่งมากแต่ราคาหุ้นตกลงไปมาก  เขาเข้าไปซื้อหุ้นอเมริกันเอ้กซเพรสแบบ  “ตีแตก”  ด้วยเงินเกือบครึ่งพอร์ตและทำกำไรมหาศาลจนกลายเป็น “ตำนาน” มาจนถึงทุกวันนี้

บทเรียนสุดท้ายสำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนของผมก็คือ  ชื่อเสียงนั้นสร้างยากและส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายสิบปี  แต่เวลาที่มันถูกทำลายนั้น  มักเกิดขึ้นภายในเวลาชั่วข้ามคืน  ดังนั้น  เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง “โซนอันตราย” ทั้งหมด  การซื้อขายหุ้นของบริษัทที่ตนเป็นผู้บริหารหรือมีความเกี่ยวข้องควรจะต้องเลิกหมด  พูดแบบเปรียบเทียบก็คือต้อง  “เลิกเก็บเงินริมทาง”  อย่างสิ้นเชิง

Thursday, December 3, 2015

Job to be Done / โดยคุณวีระพงษ์ ธัม


การวิเคราะห์ธุรกิจและวิเคราะห์ลูกค้าในยุคนี้ มีความซับซ้อนกว่าเดิมค่อนข้างมาก ในสมัยก่อน เวลาเราเปรียบเทียบการแข่งขันระหว่างบริษัท เรามักจะมองที่ตัวผลิตภัณฑ์และบริการเป็นหลัก เช่น เราเปรียบเทียบบริษัทที่ผลิตหนังสือพิมพ์แข่งกับหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง บริษัทที่ผลิตทีวีแข่งกันระหว่างแต่ละยี่ห้อ บริษัทที่ให้บริการมือถือแข่งกันให้บริการมือถือ ว่าพวกโปรโมชั่น บริการใครดีกว่า แต่นั่นคือการมองกรอบความคิดเก่า ๆ ด้วยวิธี Segmentation ลูกค้าในรูปแบบเดิม แต่แนวโน้มของโลกนั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า Disruption หรือเกิดสิ่งใหม่ เข้ามาทดแทนสิ่งเดิม ทำให้แนวคิดการตลาดเดิมมีข้อจำกัด

            กรอบทฤษฎี Jobs to be Done ของศ.คริสเทนเซน กูรูของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้ามาช่วยวิเคราะห์ภาพการตลาดใหม่ แทนที่จะมองว่าผู้บริโภคซื้อสินค้าอะไร อายุเท่าไหร่ ฐานะเป็นอย่างไร เพศอะไร เป็นกรอบความคิดดั้งเดิม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมองว่าผู้บริโภค “ต้องการ” อะไร ลูกค้าซื้อทีวีไม่ได้ต้องการทีวี แต่ที่ลูกค้าซื้อทีวี เพราะต้องการ “จ้าง” ให้ทีวี ทำหน้าอะไรและ แก้ปัญหาอะไรบางอย่างต่างหาก

            ตัวอย่างคลาสสิกของศ.คริสเทนเซน คือ เรื่องราวของมิลค์เชคของบริษัทเครือข่ายอาหารแห่งหนึ่ง ผู้บริหารต้องการเพิ่มยอดขายเครื่องดื่มมิลค์เชค มีการพูดคุยกันในฝ่ายการตลาด ว่าจะทำอย่างไรดี มีการเริ่มต้นแบ่งลูกค้าเป็น Segmentation ตามอายุ เพศ ผู้บริโภค เพื่อจะหาวิธีที่จะพัฒนาสินค้ามิลค์เชค โดยการเพิ่มรสชาติ เปลี่ยนสูตร ตามที่ผู้บริโภคต้องการ สุดท้ายผลปรากฏว่ายอดขายแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย การแบ่งกลุ่มตลาดลูกค้าลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เจอได้บ่อย ๆ และเป็นเหตุผลที่หลาย ๆ สินค้าไม่ประสบความสำเร็จ การถามแบบนี้เหมือนกับที่เฮนรี่ ฟอร์ดเคยพูดเอาไว้ว่า ถ้าคุณถามลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร ลูกค้าจะตอบว่าเขาต้องการม้าที่วิ่งเร็วกว่าเดิม

            ศ.คริสเทนเซนให้บริษัทกลับมาทำความเข้าใจผู้บริโภคใหม่ แทนที่จะดูแค่จากตัวเลข ก็ให้คนเฝ้าดูพฤติกรรมผู้บริโภคตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน และพบว่ายอดขายของมิลค์เชคของบริษัทกว่า 40% เกิดขึ้นในเวลา 7 โมงถึง 8 โมงเช้า และสูงมากในสาขาที่อยู่นอกเมือง เขาพบว่าลูกค้ามักจะซื้อไปกินนอกร้าน เมื่อทำ Focus group ก็พบว่าคนที่ซื้อนั้นเป็นคนทำงานที่ต้องการซื้ออาหารรองท้องก่อนจะถึงที่ทำงาน พวกเขาไม่ได้อยากกิน “มิลค์เชค” เป็นพิเศษ แต่อยาก “แก้ปัญหา” ที่พวกเขาต้องขับรถฝ่ารถติดเข้าไปที่ทำงาน พวกเขาบอกว่าโดนัท เบเกิล อาจจะอร่อย แต่ไม่สะดวกในการกินระหว่างเดินทาง เพราะทำให้มือเลอะ เครื่องดื่มอื่น ๆ มันละลายเร็วเกินไป และไม่อยู่ท้อง ทำให้พวกเขาเลือก “จ้าง” มิลค์เชคในการทำหน้าที่นี้

            เมื่อฝ่ายการตลาดเข้าใจ Jobs to be done หรือ “หน้าที่ของมิลค์เชค” แล้ว จึงเริ่มเปิดร้านค้ารอบเมืองในลักษณะ Drive-Thru ทำให้คนที่เร่งรีบไปทำงานไม่ต้องเสียเวลาในการลงจากรถมาซื้อ นอกจากนั้นฝ่ายผลิตสูตร ก็สามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นี้มากขึ้น โดยการใส่วุ้น หรือเยลลี่ เพื่อให้คนขับรถ มีความเพลิดเพลินมากขึ้น ยอดขายก็สามารถเพิ่มขึ้นได้เท่าตัว เพราะบริษัทสามารถตอบสนอง “Need” ผู้บริโภคได้ และเข้าใจมิลค์เชค มากไปกว่าเป็นแค่เครื่องดื่มชนิดหนึ่ง

            ธุรกิจอื่น ๆ ก็เช่นกัน ที่บางครั้งเราต้องมองกรอบการแข่งขันให้ลึกกว่าตัวสินค้าและบริการ นี่คือความเสี่ยงและโอกาสหนึ่งของการลงทุนในยุคปัจจุบัน ธุรกิจหนังสือพิมพ์ไม่ได้ลำบากเนื่องจากการแข่งขันในตัวอุตสาหกรรม แต่เกิดจากสิ่งที่มาทดแทน “หน้าที่” ของมัน คือการให้ข้อมูล ซึ่งอินเตอร์เน็ตทำหน้าที่ดีกว่า เร็วกว่า ธุรกิจในอนาคตจะมีเส้นเขตแดนน้อยลงมาก ธุรกิจห้างไม่ได้แข่งกับห้าง แต่แข่งกันทำหน้าที่ “ฆ่าเวลา” “เป็นจุดพบปะสังสรรค์ พักผ่อน” กับสิ่งอื่น ๆ ต่างหาก เราจะพบว่าธุรกิจห้างในประเทศไทยมีอัตราการทำกำไรสูง เพราะทำหน้าที่นี้ได้อย่างยอดเยี่ยม มี Job to be done แทนกิจกรรมอื่นเกือบทั้งหมด จึงสามารถแปลงสิ่งนี้เป็นมูลค่าทางธุรกิจได้

            คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ตกต่ำลง เกิดจากการตอบโจทย์ผู้บริโภคได้น้อยลง ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์เข้ามาทดแทน Job to be Done ของคอมพิวเตอร์ ทำให้หน้าที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลน้อยลงกว่าเดิม พร้อม ๆ ไปกับยอดขายที่ถดถอยลง ศูนย์กลางบ้านสมัยก่อนคือนั่งดูทีวี นี่คือกิจกรรมหลักเวลาอยู่บ้าน แต่หน้าที่นี้ถูกแย่งไปโดย Internet และกิจกรรมอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อของไทยพยายามทำหน้าที่มากกว่าขายของใช้ ทำหน้าที่ให้ความอิ่มที่สะดวก ยอดขายและกำไรก็เพิ่มขึ้นมากมาย เพราะหน้าที่ “ทำให้ลูกค้าอิ่ม” นั้นมีคุณค่าสูง

            ในฐานะบุคคล บริษัท และประเทศ ก็ต้องตอบว่า Job to be Done ของเราคืออะไร บริษัททำ “หน้าที่” อะไรให้กับลูกค้า เพราะถ้ามันสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ทำหน้าที่กว้างขึ้น สามารถแก้ปัญหาลูกค้าได้มากขึ้น มูลค่าของบริษัทจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทางกลับกันบริษัทที่ทำในสิ่งที่ลูกค้าไม่ให้ความสำคัญแล้ว หรือทำได้แย่กว่า แม้บริษัทจะใส่ความตั้งใจแค่ไหน ก็ย่อมจะล้มหายตายจากไปในที่สุด

Sunday, November 29, 2015

ปรับใจสู่ความเป็นจริง / ดร.นิเวศน์




   ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันอาจจะเป็น “จุดเริ่ม”  ของการเปลี่ยนแปลง  “ทิศทาง”  ของภาวะตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศไทย  ไม่ใช่เพราะดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ตกต่ำลงมาตั้งแต่ต้นปี  เพราะดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหุ้นของไทยนั้นตกลงมาน้อยมาก  แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ  การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยรวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของไทยนั้นถดถอยลงต่อเนื่องมาหลายปีอย่างเห็นได้ชัดและผมก็ยังไม่เห็นว่าเราจะสามารถปรับตัวให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไร  นอกจากนั้น  ดัชนีตลาดหุ้นของไทยเองก็มีราคาแพงกว่าที่ควรเป็นเมื่อเทียบกับอดีต  สิ่งเดียวที่ผมเห็นว่ายังทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นยังเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลก็คือการที่ทางเลือกอื่นนั้นก็ไม่ได้ดีกว่า  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นต่ำมากเป็นประวัติการณ์และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น  เช่นเดียวกับทรัพย์สินอย่างอื่นเช่นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาแพงลิ่วหรือการลงทุนในทองคำที่มีความเสี่ยงสูงและไม่จ่ายผลตอบแทนเป็นเงินสดเลย  ด้วยเหตุดังกล่าว  ผมเองจึง“คาดเดา”  ว่า  ดัชนีตลาดหุ้นนับจากนี้ไปอีกหลายปีนั้นน่าจะเป็นตลาดหุ้น “Sideways”หรือตลาดหุ้นที่ดัชนี “ไม่ไปไหน” อีกหลายปี  แต่ในระหว่างนั้นก็จะปรับตัวขึ้นลงสลับกันไป

ถ้าดัชนีหุ้นเป็น “ไซ้ต์เวย์”  ตามที่คาดเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยเป็นเวลานาน  สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ  เราควรที่จะ “ปรับใจ” เพื่อที่จะรับกับสถานการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า  วิธีคิดและกลยุทธ์ต่าง ๆ  ของเราก็อาจจะต้องปรับตามเพื่อที่จะสอดรับกับสถานการณ์นั้นเพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถ  “เอาตัวรอด”  หรือยังสามารถสร้าง “ผลตอบแทนที่เหมาะสม”  ได้   มาดูกันว่านักลงทุนแต่ละแนวน่าจะต้องเตรียมใจรับกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่นักลงทุนที่เลือกหุ้นไม่เป็นแต่อยากได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควรในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ซึ่งนิยมลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ   ก่อนหน้านี้พวกเขาหวังว่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 10-12% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาว  ซึ่งจะทำให้เงินของเขาเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก 6-7 ปี   ผมคิดว่าเราควรปรับความคิดใหม่ว่านั่นคือเรื่องใน “อดีต” ที่อาจจะไม่หวนกลับมาอีกแล้ว  การที่ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 10% แบบทบต้นนั้นน่าจะหมายความว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วมาก  เป็น “ดารา” ของโลก  แต่นับจากนี้ไปในอนาคตเราคงทำไม่ได้แล้ว  ดังนั้น  ผมคิดว่าเราควรปรับใจว่าเราคงจะได้น้อยลง  ถ้าจะมองแบบอนุรักษ์นิยมก็น่าจะคิดว่าเราได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 5-7% แบบทบต้น ซึ่งก็หมายความว่าเงินของเราอาจจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในเวลาประมาณ 10-15 ปี  “ความฝัน” ที่จะเกษียณและมีชีวิตที่จะอยู่อย่างสบายก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

คนที่เล่นหุ้นเป็น “งานอดิเรก” ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนที่เล่นหุ้นที่มี Story น่าตื่นเต้น  เล่นหุ้นที่มี “ข่าวดี” ตามหน้าหนังสือพิมพ์หุ้นหรือข่าวตาม Social Media  เล่นหุ้นที่มีนักลงทุนรายใหญ่เข้าไปเล่น  และเล่น “หุ้นปั่น” ที่มีราคาวิ่งขึ้นไปแรงมากโดยที่ “ไม่มีข่าวอะไรเลย”ยกเว้น  “ข่าวลือ”  และหุ้นทั้งหมดนั้นมักเป็นหุ้นตัวเล็กหรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำ  ผมก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับว่าการทำเงินจากการ  “ตามแห่”  หรือเล่นหุ้นตามกระแสนั้น  ยากที่จะทำกำไรได้  การขาดทุนจะกลายเป็นเรื่องปกติ  ส่วนกำไรนั้นจะหาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ  และนี่จะเป็นงานอดิเรกที่มีต้นทุนสูงเกินไป

เช่นเดียวกัน นักเล่นหุ้นขาใหญ่หรืออาจจะไม่ได้ใหญ่นักแต่ก็มีเงินส่วนตัวและวงเงินมาร์จินมากพอที่จะ  “ไล่ราคา” หุ้นตัวเล็ก ๆ  หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำและขายทำกำไรได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่  “ไม่เคยพลาด” และทำให้หลายคนร่ำรวยมีเงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาทจากเงินต้นไม่มากนัก  แต่นับจากวันนี้ผมก็คิดว่าวิธีการแบบนี้ก็น่าจะได้ผลน้อยลง  หลายครั้งแทนที่จะกำไรก็อาจจะขาดทุนอย่างหนักได้โดยเฉพาะถ้าตลาดหุ้นไม่เป็นใจซึ่งจะทำให้คนทำต้อง  “ติดหุ้น” หรือในกรณีเลวร้ายต้องถูกโบรกเกอร์ฟอร์สเซลหรือบังคับขายหุ้นเพื่อลดมาร์จินซึ่งมักจะทำให้กลายเป็น  “หายนะ” ของการเล่นหุ้นของ  “เจ้ามือ” ในท้ายที่สุด

คนที่เล่นหุ้น Growth หรือหุ้นที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าคือ  “ผู้ชนะ”  หรือประสบความสำเร็จสูงมากกลุ่มหนึ่งในตลาดหุ้น  ลักษณะของหุ้นที่พวกเขาเล่นนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีการเติบโตของกำไรสูงมาระยะหนึ่งหรือไม่ก็เริ่มมีกำไรเติบโตสูงขึ้นมาอย่างเด่นชัดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมหรือตัวบริษัทที่เอื้ออำนวยให้บริษัททำกำไรได้ดีขึ้นมากจากอดีตที่ “เซื่องซึม”  หรือ “ธรรมดา”   คนที่เล่นหุ้นเหล่านี้ก็คือคนที่สามารถมองเห็นแนวโน้มหรือการเปลี่ยนแปลงก่อนคนอื่นและเข้าไปลงทุน  หลังจากนั้นพวกเขาก็จะช่วยกันเผยแพร่หรือกระตุ้นให้นักลงทุนคนอื่นสนใจผ่านสื่อต่าง ๆ  จนเกิดเป็น “กระแส” ของหุ้นว่ามันเป็นหุ้นที่โตเร็วและมีศักยภาพสูง  ผลต่อมาก็คือการที่คน “แห่” กันเข้าไปซื้อหุ้นและดันราคาให้ขึ้นไปสูงลิ่วอย่าง  “ไม่น่าเชื่อ”  ส่วนหนึ่งเนื่องจาก Free Float ของหุ้นที่มักจะต่ำเมื่อเทียบกับปริมาณของคนที่เข้าไปซื้อหุ้น  ราคาของหุ้นเติบโตเร็วเหล่านั้นสูงจนค่า PE หลาย ๆ  ตัวนั้นเกินกว่า 40-50 เท่า ค่า PB ก็สูงบางทีเป็น 10 เท่าโดยที่ปันผลตอบแทนนั้นต่ำกว่า 1% ต่อปี  แต่นับจากวันนี้ผมก็คิดว่าสถานการณ์แบบนี้ก็จะเกิดยากขึ้นมาก

เหตุผลก็คือ  ด้วยสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวย  ผลประกอบการของหุ้น Growth ก็เริ่มปรากฏให้เห็นว่ามันไม่สามารถที่จะโตได้แบบนั้นในระยะยาว  ประเด็นสำคัญก็คือ  ตัวบริษัทเองนั้น  ส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพหรือความสามารถพอที่จะ “ฝ่า”กระแสของภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงไปได้มากนัก  และนั่นทำให้นักลงทุนเริ่ม  “ขาดความมั่นใจ” ต่ออนาคตของบริษัทที่ถูกวาดภาพไว้อย่างสวยหรู  ผลก็คือ  พวกเขาบางคนจะเริ่มขายหุ้นทำให้ราคาหุ้นตกลงมาทำให้ค่า PE ลดลง  ในเวลาเดียวกัน  กำไรที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มากพอที่จะสนับสนุนค่า PE ที่สูงได้  บางกรณีที่เลวร้าย  กำไรของบริษัทกลับลดลง  และนี่ทำให้หุ้นกลายเป็น “หายนะ”   ดังนั้น  ผมเองคิดว่าคนที่เล่นหุ้น Growth จะต้อง “ปรับใจ” ให้เข้ากับความเป็นจริงที่ว่า  หุ้นนั้นไม่สามารถที่จะโตได้เร็วและยาวนานมากหากมันไม่ใช่ซุปเปอร์สต็อก  ดังนั้น  ค่า PE ของหุ้นนั้นไม่อาจจะสูงมากอย่างที่เคยเป็นได้

สุดท้ายสำหรับ VI “พันธุ์แท้”  ทั้งหลายที่ก็ทำผลงานการลงทุนได้ประทับใจมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนหลายคนคิดว่าตนเองนั้นจะยังคงทำผลตอบแทนต่อปีเฉลี่ยอย่างน้อยก็ปีละ 20-30% ในระยะยาวได้จากการลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า “มูลค่าพื้นฐาน” ที่แท้จริงมากพอ  มี  Margin of Safety สูง  ผมเองคิดว่า VIจำนวนมากนั้น  “Over Rated” หรือให้คะแนนความสามารถของตนเองเกินความเป็นจริงเนื่องจากสถิติที่โดดเด่นเหนือกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดมากในอดีตที่ผ่านมา  ซึ่งสาเหตุนั้นผมคิดว่ามาจากการที่หุ้นที่เรียกว่า “VI” นั้นได้รับความนิยมสูงและราคาปรับตัวขึ้นไปมากประกอบกับการที่ VI นั้นมักจะมีการซื้อขายเปลี่ยนตัวหุ้นสูงเป็นแนว  “เทรดหุ้น VI” คือเปลี่ยนตัวเล่นไปเรื่อย ๆ  ขายหุ้น VI ที่ปรับตัวขึ้นเร็วและเข้าไปจับหุ้น VI ตัวใหม่ที่ราคายังไม่ขึ้น  ผลจากการนี้ทำให้หุ้น “VI” เกือบทุกตัวมีราคาแพงขึ้นมากจนไม่อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้น VI ต่อไปแล้ว  ดังนั้น  ในอนาคต VI เองก็จะต้องปรับใจยอมรับว่าการหาหุ้น VI ที่มีราคาถูกจะยากขึ้นเรื่อย ๆ  และการที่จะทำผลตอบแทนปีละ 20-30% นั้นยากมาก  ควรจะหวังว่าถ้าทำได้ปีละ 12-15% ก็สุดยอดแล้ว

และทั้งหมดนั้นก็คือสิ่งที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตไปอาจจะอีกหลายปี  แน่นอน มีโอกาสที่จะผิด  หุ้นยังอาจจะดีต่อไปอีกหลายปี  บางทีอาจจะดีมาก “หักปากกา” ของคนที่มองตลาดใน“ภาพลบ”  หลาย ๆ  คน  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยอาจจะกลับมา  “วิ่งฉิว” อย่าง “คาดไม่ถึง”  ซึ่งผมเองก็คงจะ “เงิบ” ไป  แต่นั่นคงไม่ปัญหา  เพราะจริง ๆ  แล้วผมเองก็อยากที่จะ “คาดผิด”  เพราะนั่นคงจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของผมเองดีขึ้นมาก

Thursday, November 26, 2015

เหมือนกัน แต่ ไม่เหมือนกัน / โดย คนขายของ


เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีนักลงทุนไทยหลายท่านได้เริ่มลงทุนในธุรกิจที่เรียกว่ากลุ่ม “Modern Trade” หรือ “ค้าปลีกสมัยใหม่” เช่นหุ้นของ CP7-11, BIGC และ HomePro เพราะได้ศึกษาการเติบโตของธุรกิจ ประเภทนี้ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป และเห็นว่าการเติบโตในลักษณะที่เคยเกิดขึ้นในต่างแดน กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะจับกระแสได้ถูกต้อง นักลงทุนเหล่านั้นสามารถสร้างผลกำไรในการลงทุน ได้อย่างมากมาย ผ่านมาร่วมสิบปี นักลงทุนไทยหลายท่านเริ่มสนใจไปลงทุนในต่างประเทศ เมื่อมาถึง ขั้นตอนแรกที่จะเริ่มลงทุน มักเลือกหุ้นที่มีความคุ้นเคย หรือ ที่เคยประสบความสำเร็จในการลงทุนใน หุ้นกลุ่มนั้นๆในไทยมาก่อน เช่น ค้าปลีก ร้านอาหาร ผู้ผลิตเครื่องดื่ม หรือ กลุ่มสื่อสาร เพราะเห็นว่า หุ้นเหล่านี้อยู่ในกระแสหลักของโลกที่ชนชั้นกลางมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้รสนิยมในการบริโภคคล้ายคลึงกัน บทสรุปนี้จะถูกต้องหรือไม่? เราลองมาดูกรณีศึกษา ที่เกิดขึ้นจริงของหุ้นเหล่านี้ในต่างประเทศกัน

ในขณะที่หุ้น Hypermarket อย่าง BIGC Supercenter ในไทย ราคาหุ้นได้ขึ้นมาถึง 10 เท่าในรอบ สิบปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าหุ้น Hypermarket ที่ทำธุรกิจในจีน อย่างหุ้น Sun Art Retail Group ไม่สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ถือหุ้นขนาดนั้นได้ Sun Art เกิดจาการร่วมทุนของ บริษัท Groupe Auchan ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส กับ RT Mart ของไต้หวัน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีนี้บริษัทมีสาขาในจีนสูงถึง 396 สาขา มีส่วนแบ่งการตลาด 14% นับว่าเป็นHypermarket ที่ใหญ่ที่สุดในจีน Sun Art ทำการขายหุ้นให้บุคคลทั่วไปในปี 2011 ที่ราคา 7.2 HKD ผ่านมา 4 ปี ราคาหุ้นกลับอยู่แค่ 5.66 HKD ขาดทุนไปราวๆ 20% ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่นักลงทุนควรศึกษาเวลาซื้อหุ้นต่างประเทศ นอกจากรู้เรื่องของบริษัทที่จะซื้อหุ้นแล้ว ควรศึกษาสภาวะแวดล้อมของการแข่งขันด้วย ตลาดHypermarket ของจีนนั้นมีผู้เล่นมากมายถึง 10 บริษัท ทุกบริษัทไม่มีใครสามารถสร้างส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 20% ทำให้การแข่งขันสูงมาก แต่ในไทย เมื่อก่อนมีผู้เล่นสามราย ตอนนี้เหลือแค่สองราย ทำให้ระดับความเข้มข้นของการแข่งขัน ต่างกันมาก นอกจากนั้น ในตลาดจีนยังมีบริษัท China Resources Enterprise ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ ห้าง Walmart และห้าง Carrefour ร่วมแข่งขันด้วย แถมยังมีร้านค้าออนไลน์อีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ อัตรากำไรสุทธิของ Sun Art ที่เคยสูงถึง 3.41% ในปี 2013 ได้ลดลงมาเหลือแค่ 2.8% ในไตรมาสล่าสุด ในขณะที่ตัวเลขของBIGC อยู่ที่เกือบ 5%

ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจรับ เงินสดและไม่ต้องสร้างอาคารเองเพราะอาศัยเช่าพื้นที่ศูนย์การค้า ทำให้การคืนทุนค่อนข้างเร็ว หุ้นร้านอาหารของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในรอบสิบปี เช่น หุ้นของร้านอาหาร S&P ปรับตัวขึ้น มาถึง 6 เท่าในระยะเวลา 10 ปี แต่ถ้าเรามาดูหุ้นร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่น ที่เราคุ้น เคยกันดีเพราะมี สาขาในประเทศไทยอย่าง Mos Food Services เจ้าของร้าน Mos Burgerราคาปรับขึ้นมาแค่ หนึ่งเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะกิจการอาหารในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ถือครองเงินสด อยู่ในปริมาณมาก ไม่ยอมนำไปลงทุนเพิ่ม การขยายงานเน้นอนุรักษ์นิยม ทำให้ ROE (อัตราส่วนผล ตอบแทนผู้ถือหุ้น) ต่ำมากๆ ผมศึกษา ROE ของหุ้นร้านอาหารในญี่ปุ่น 11 บริษัท พบว่า ROE สูงสุดทำได้แค่ 6.88% ในขณะที่ ROE ของหุ้น S&P ของไทยทำได้สูงถึงเกือบ 30%

ในตอนนี้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบาย มีหลายโบรกเกอร์ให้ บริการซื้อขายหุ้นของต่างประเทศได้ แต่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศให้ได้ผลดี นักลงทุนควรศึกษา หาความรู้เกี่ยวกับประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเมืองการปกครอง, พฤติกรรมผู้บริโภค, วัฒนธรรมการทำธุรกิจ, ภาพรวมของอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ ประกอบการตัดสินใจ  การลงทุน ที่เคยให้ผลตอบแทนที่ดีในไทย อาจสามารถนำไปใช้ในต่างประเทศได้ หากแต่ต้องมีการศึกษาหา ความรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับแต่งประกอบด้วย การด่วนสรุปว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกันต้องมีลักษณะเหมือนกัน ดังเช่นว่า หุ้นค้าปลีกในจีนควรมี PE เท่ากับหุ้นค้าปลีกในไทย หรือหุ้นค้าปลีกออนไลน์ในจีนควรมี การเติบโตเหมือนหุ้นค้าปลีกออนไลน์ของอเมริกา อาจทำความเสียหายให้แก่เงินลงทุนได้ ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่สภาวะแวดล้อมต่างกัน ดังนั้นการประเมินมูลค่าจึงควรใช้ บรรทัดฐานที่ต่างกันเพื่อความถูกต้องแม่นยำของนักลงทุน

Monday, November 23, 2015

วันหวย (หุ้น)ออก / โดยดร.นิเวศน์

   

    การศึกษาเรื่องของยีนส์มนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตวิทยานั้นพบว่า  คนเรานั้นมีพฤติกรรมที่  “ชอบลุ้น”  ซึ่งนี่ก็คงเกี่ยวข้องกับการ  “พนัน” หรือการชอบ “เสี่ยง” เราจะรู้สึกตื่นเต้นที่จะเห็น “ผลลัพธ์” ที่จะออกมาว่ามันดีหรือไม่ดีนั่นคือเราจะชนะหรือแพ้  เราจะได้หรือจะเสีย  หรือเราจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีมีโอกาสที่จะชนะหรือได้หรือไม่  ถ้าเราชนะหรือได้  เราก็จะดีใจ  แต่ถ้าออกมาแย่หรือเสีย  เราก็จะเสียใจ  หลังจากนั้น  เราก็จะเริ่มไปลุ้นเรื่องใหม่หรือรอลุ้นเรื่องเดิมในรอบต่อไป ถ้ามี)   ยิ่งรางวัลที่จะได้รับนั้นสูงเมื่อเทียบกับฐานะของเราถ้าเราชนะ  เราก็ยิ่งอยากลุ้นเพิ่มเป็นทวีคูณแม้ว่าโอกาสที่จะแพ้นั้นสูงลิ่วจนไม่คุ้มที่จะเสี่ยง  แต่เราก็อยากที่จะเสี่ยง  และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมคนที่มีเงินน้อยจึงชอบ “แทงหวย”  และคนที่มีเงินมากจึงชอบ  “เล่นหุ้น”  โดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไรหรือ  “หุ้นปั่น”  ที่มีโอกาส “ได้เสีย”  สูงโดยเฉพาะที่เป็นการ “ได้เสีย” แบบว่า  ถ้าได้แล้ว “ได้มาก”  แต่ถ้าเสียก็  “เสียน้อย”  แต่โอกาสได้นั้นอาจจะ 1 ใน 100 หรือ 1 ในล้าน  แต่โอกาสเสียนั้นอาจจะ 99 ใน 100 หรือ 999,999 ในล้านครั้ง  ตัวอย่างเช่น  การแทงหวยที่ใช้เงินเพียงไม่ถึง 100 บาทก็อาจจะได้รางวัลเป็นล้านบาทได้  เช่นเดียวกับการซื้อชาเขียวราคาไม่ถึง 20 บาทต่อขวดแต่อาจจะได้ทองหรือรถเบ้นซ์  หรือการเล่น “หุ้นปั่น” ที่อาจจะกำไรได้หลายเท่าจากหุ้นราคาอาจจะ “ไม่ถึงบาท”

ช่วงเวลาของการ “ลุ้น” นั้น  เป็นเวลาที่น่าตื่นเต้น  บางครั้งเราแทบจะหยุดทำกิจการอื่น ๆ  เพื่อคอยดู “ผลที่ออก”  ผมยังจำได้ถึงประสบการณ์ช่วงแรกที่ผมไปทำงานในโรงงานน้ำตาลในต่างจังหวัดสมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว  ในช่วงที่โรงปิดหีบเพื่อซ่อมเครื่องจักรเป็นเวลาประมาณ 8 เดือนต่อปีนั้น  โรงงานจะมีเสียงดังมากเพราะทุกแผนกจะต้องซ่อมเครื่องจักรในส่วนของตน  แต่พอถึงวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนในช่วงเช้า  โรงงานทั้งโรงนั้นแทบจะ “เงียบสนิท” เหมือน “โรงงานร้าง”  ไม่มีคนมาทำงาน  เหตุผลก็เพราะคนงานแทบทุกคนต่างก็ใจจดใจจ่อเงี่ยหูฟังวิทยุประกาศผลรางวัลที่หนึ่งและรางวัลใหญ่ทั้งหลายและรางวัลเลขท้าย 2 และ 3 ตัว   คนที่ถูกรางวัลก็จะดีใจตามรางวัลที่ถูก  ส่วนคนที่ “ถูกกิน” ก็จะเสียใจ  และทั้งสองฝ่ายต่างก็แทบไม่เป็นอันทำงานในวันนั้นทั้งวัน  หลังจากวันนั้น  ทุกคนก็กลับมาทำงานตามปกติ  ในระหว่างที่รอ “วันหวยออก” งวดต่อไป  พวกเขาต่างก็จะคอยเสาะแสวงหา  “เลขเด็ด” ที่จะมา “แทง” ต่อ  ไม่มีใครเลิกเล่น

ปัจจุบันนี้ผมไม่รู้ว่าสภาพของโรงงานยังเป็นแบบเดิมหรือไม่ในวันหวยออก  แต่ความเชื่อผมก็คิดว่าน่าจะยังเป็นอยู่บ้าง  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นคงเป็นเรื่องของคนมีเงินที่พยายามหาเงินจากเงินของตัวเองในตลาดหุ้นที่ผมรู้สึกว่าในบางมุมมีลักษณะของการเสี่ยงที่คล้าย ๆ  กับหวยเหมือนกันนั่นก็คือ  ตลาดของหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก ๆ  ที่ราคาขึ้นลงหวือหวาที่เปิดโอกาสให้คน  “แทงหุ้น” และ “ลุ้นหุ้น”  เพียงแต่ว่าสำหรับหุ้นแล้ว  มัน  “ออกทุกวัน”  หลายคนแทบจะไม่เป็นอันทำอะไรเลยในช่วงตลาดเปิด  บางวันที่ “แทงถูก” มีกำไรจากหุ้น  เขาก็ดีใจ  บางวันขาดทุน  เขาก็เสียใจ  พอตลาดปิดเขาก็จะกลับไป “เสาะแสวงหา”  “หุ้นเด็ด”  ตัวใหม่ที่จะเล่นในวันต่อไป  และก็คงคล้าย ๆ  กับคนแทงหวยที่โรงงานนั่นก็คือ  ผมเองไม่เคยเห็นว่ามีใคร  “รวย” จากหวยเลย  นาน ๆ  ครั้งก็จะเกิด  “เสี่ย” ขึ้นมาเพราะถูกรางวัลใหญ่ได้เงินเป็นแสนบาทในสมัยนั้น  แต่พอเวลาผ่านไป  “เสี่ย”  ก็หมดตัวเพราะ “เสียหวย”  และ “ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย”  อื่น ๆ   คนเล่นหุ้นเก็งกำไรหรือหุ้นปั่นก็คงจะคล้ายกันที่บางช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นร้อนเป็นกระทิงก็จะมีคนได้กำไรมาก  แต่เมื่อเล่นต่อเนื่องกันไปนาน ๆ  เงินก็ถูก  “คืนไปหมด”  โดยเฉพาะเวลาหุ้นตกหรือเกิดวิกฤติตลาดหุ้น  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ทุกคนก็ยังอยู่กับหวยและหุ้น  คงเป็นเรื่องยากที่จะ “รวยแล้วหยุด” หรือ  “จนแล้วหยุด”  เพราะมันอยู่ในยีนส์

ในฐานะของ VI ผู้มุ่งมั่นนั้น  เราเองก็ไม่อาจจะหลีกหนีจากความ “ชอบลุ้น”  ไปได้  สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ  เราควรพยายามลดการลุ้นหุ้นในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือน  การลุ้นเป็นไตรมาศนั้นน่าจะพอยอมรับได้  แต่วันที่ “หวยออก” จริง ๆ  ของหุ้นนั้น  สำหรับผมแล้ว  มันไม่ใช่ราคาหุ้นที่จะขึ้นหรือลงในวันสิ้นไตรมาศ  ผมคิดว่าราคาหุ้นนั้นมันไม่ได้สำคัญเท่ากับตัวเลขผลประกอบการประจำไตรมาศของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ซึ่งก็จะประกาศในเวลาไม่เกิน 45 วันนับจากวันสิ้นสุดแต่ละไตรมาศ  วันที่ประกาศงบของหุ้นแต่ละตัวก็มักจะใกล้เคียงกันทุกปี  บางบริษัทก็อาจจะประกาศประมาณ  5 วันก่อนวันสิ้นสุด บางบริษัทก็ประกาศเร็วหรือช้ากว่านั้น  และนั่นก็คือวันที่ผมจะใจจดใจจ่อ “ลุ้น” ว่างวดนี้กำไรจะเป็นอย่างไร  ถ้าดีขึ้นมากก็มีความสุข  ถ้าแย่ลงหนักก็จะเป็นทุกข์  เมื่อตัวเลขออกมาแล้วผมก็จะดูสาเหตุว่าทำไมตัวเลขจึงเป็นแบบนั้นและก็จะคาดการณ์ต่อไปว่า  “งวดหน้า”  มันจะเป็นอย่างไรจะดีขึ้นหรือแย่ลงระดับไหน  แต่ผมก็มักจะไม่คิดคำนวณเป็นตัวเลขแน่นอนแบบนักวิเคราะห์  ผมชอบแบบว่า Approximately Right หรือประมาณว่าถูกก็พอ

การดูและติดตาม  “หวยที่ออก”  นั้น  ผมไม่ดูเฉพาะหุ้นที่ตนเองถืออยู่  ผมจะดูแทบทุกตัวโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ผมสนใจและหุ้นตัวใหญ่ ๆ  ส่วนหุ้นที่ผมไม่สนใจนั้น  ผมก็จะมองผ่าน ๆ  ให้พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัท  การดูตัวเลขผลประกอบการรายไตรมาศและรายปีของบริษัทจดทะเบียนนั้น  ผมคิดว่ามันมีประโยชน์ในแง่ที่มันสอนให้เราเข้าใจ Pattern หรือรูปแบบของผลประกอบการของบริษัท  ซึ่งสิ่งนี้มักจะสะท้อนไปถึงลักษณะของตัวหุ้นว่ามันเป็นหุ้นประเภทไหนใน 5-6 แบบตามการจัดของปีเตอร์ ลินช์  การที่เราติดตามผลประกอบการไปเรื่อย ๆ  ต่อเนื่องยาวนานหลาย ๆ  ปี  เราก็จะ  “ซึ้ง” เข้าไปในใจว่าผลประกอบการของบริษัทนั้น  ในระยะยาวแล้วมันก็สะท้อนมาจากธรรมชาติของธุรกิจเองว่ามันแบบไหน

หุ้นจำนวนมากนั้น  พอประกาศงบมา  ถ้าเราไม่คุ้นเคยหรือไม่มีประสบการณ์กับมันมาก่อนเราก็จะรู้สึก  Surprise หรือประหลาดใจมาก  เช่น  จากที่ไม่เคยกำไรดีหรือขาดทุนก็อาจจะกำไร “โตกระโดด” ดูน่าตื่นเต้นมาก  บางทีบริษัทกำไรดีติดต่อกันมา 2-3 ปี  อยู่ ๆ ก็ขาดทุนเสียอย่างนั้นโดยไม่มีเหตุผลพิเศษ  ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นลงมากตามกันไป  หุ้นที่มีตัวเลขแนวนี้  ถ้าเราวิเคราะห์ดี ๆ  ก็อาจจะพบว่าเราไม่สามารถใช้ตัวเลขมาประเมินราคาได้จริง ๆ  อาจจะเนื่องจากการที่มันขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาสินค้าไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมามันจะดี  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นก็จะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ทั้งสิ้น  คือเราเก็งว่ากำไรน่าจะดีต่อไปทั้ง ๆ  ที่ “งวดหน้า” ตัวเลขอาจจะออกมาตรงกันข้าม

ปกติผมเองนั้นเน้นการลงทุนในหุ้นที่มั่นคง แข็งแกร่งและเติบโต  ดังนั้น  ผมก็จะตามตัวเลขของบริษัทที่ผมคิดว่ามันหุ้นแบบนั้นทั้งที่ถืออยู่และยังไม่ได้ถือ  สิ่งที่ผมลุ้นก็คือ  ยอดขายและกำไรของบริษัทก็ควรจะต้องเป็นแบบนั้นและก็ไม่ควรมี  “ข้อแก้ตัว”   ถ้าตัวเลขออกมาผิดกับที่มันควรจะเป็นเช่น  แทนที่ยอดขายและกำไรจะเพิ่ม  มันกลับลดลงทั้งยอดขายและกำไร  แบบนี้ถ้าจะอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดีหรือคู่แข่งเข้ามาแย่งชิงตลาดโดยการลดราคาสินค้า  ผมก็จะต้องดูว่ามันสมเหตุผลไหม  เพราะหุ้นที่เติบโตเร็วนั้น  มันควรที่จะโตได้โดยตัวของมันเองไม่ใช่อิงกับเศรษฐกิจเป็นหลัก เป็นต้น

บ่อยครั้ง นอกจากการดูหวยของผลประกอบการแล้ว  ผมก็มักจะเหลือบดูราคาหุ้นในช่วงนั้นด้วย  ที่มักจะสะท้อนตามผลประกอบการ  อย่างไรก็ตาม  หุ้นหลาย ๆ  ตัวราคาก็ไม่สะท้อนเท่าที่ควร  บางตัวก็ไปในทางตรงกันข้ามซึ่งมักจะเกิดน้อย  ผมเองก็พยายามอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้น  บ่อยครั้งผมก็รู้สึกว่าหุ้นจำนวนไม่น้อยในตลาดนั้น  ถูก “ควบคุมราคา” โดยคนบางคนหรือบางกลุ่มทำให้ราคาไม่เป็นธรรมชาติซึ่งผมก็ไม่สนใจอยู่แล้ว  แต่ในหุ้นบางตัวที่ราคาไม่สะท้อนกับผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง  บางทีผมก็ถือโอกาสซื้อ  และนี่ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการ  “ลุ้นหุ้น” ในแบบฉบับ VI

Thursday, November 19, 2015

5 เทรนด์อสังหาฯ /วีระพงษ์ ธัม

         
   ช่วงที่ผ่านมาผมใช้เวลาพอสมควร ในการเลือกที่อยู่อาศัยในอนาคตให้กับครอบครัว ทำให้ได้เห็นแนวโน้มบางอย่างที่น่าจะมาจากสภาพสังคม แนวคิด วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนเมือง และนี่คือ 5 เทรนด์ที่ผมคิดว่ากำลังจะเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ และอาจจะเป็นกระแสหลักในอนาคต ทำให้ได้ไอเดียในการลงทุนในหุ้นและเลือกบ้านครับ

            กระแสแรกคือ การโตกลับข้างของเมือง Urbanization หรือวิถีชีวิตคนเมือง จะยิ่งทำให้คนเมืองเป็นเมืองยิ่งกว่าเดิม ในอดีตคนส่วนหนึ่งเบื่อการอาศัยในเมือง จึงไปสร้างบ้านชานเมืองที่มีสภาพแวดล้อมดีกว่า บ้านกว้างกว่า มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า ทำให้เมืองโตออกไปในแนวราบจนกรุงเทพฯ มีขนาดเมืองใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เกิดเมืองรอบนอก หรือเราเรียกว่าปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การเดินทางเข้าเมืองยากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาจราจร เพราะงานส่วนมากกระจุกตัวในเขตตัวเมืองชั้นในอยู่ดี เหตุผลนี้เองทำให้เกิดเมืองแนวสูงขึ้น แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคอนโดฯ ในเมืองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนระยะหลัง ๆ เมื่อต้นทุนที่ดินในเมืองสูงขึ้น เกิดการกระจายคอนโดออกไปชานเมืองตามแนวรถไฟฟ้า ย้อนรอยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นแนวคิดที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ดีเมืองจะกระชับขึ้นเรื่อย ๆ ความหนาแน่นของประชากรจะกระจุกตัวยิ่งกว่าเดิม

            กระแสที่สองคือ เกิดการพัฒนาเขตเมืองเก่าอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไปต่างประเทศจะเห็นว่าเขตเมืองเก่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูง เป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวชอบเดินทางมาสัมผัสวัฒนธรรมต้นกำเนิดของเมือง ซึ่งประเทศไทยก็มีจุดขายเป็นการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาเมืองเก่าจึงถูกส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและเอกชน เดิมทีเมืองเก่านั้นอาจจะเป็นแค่เรื่องภาพลักษณ์ เช่นห้ามปรับปรุงตึกเพราะต้องการอนุรักษ์ของเก่า แต่ในอนาคตเรากำลังสร้างกิจกรรมที่มีวิถีชีวิตและธุรกิจเกิดขึ้น เห็นได้จากเราปรับปรุงตึกเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ มิวเซียมสยาม มีห้องสมุดสาธารณะดี ๆ เอาโกดังข้าวยุคในอดีตตามริมแม่น้ำพัฒนาให้เกิดแหล่งการค้า เกิดการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ตามจุดที่มีวิถีชีวิตเก่าแก่ เกิดการสร้าง Cluster ชุมชนแบบเดียวกับ Cluster ธุรกิจ

            กระแสที่สามเกิดขึ้นจากเห็นผลสองข้อแรก คือกระแสการเอาตึกเก่า เช่นบ้านเก่า ตึกแถวเก่าในเมืองมาปรับปรุง และกระแสนี้อันที่จริงสร้างวงจรแห่งความรุ่งเรืองขึ้นด้วย เพราะเดิมที คนไม่อยากอยู่ตึกแถว เพราะความทรุดโทรมของสภาพแวดล้อม แต่ถ้าต่างคนต่างปรับปรุงบ้าน สภาพแวดล้อมโดยรวมก็จะดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น มูลค่าอสังหาฯก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งถ้าเห็นทิศทางของต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะพบเลยว่าตลาดบ้านใหม่ เล็กกว่าตลาดปรับปรุงบ้านเก่า ขนาดธุรกิจอสังหาฯ สร้างบ้านในไทยจริง ๆ เริ่มโตช้าลงมาก แต่บริษัทอสังหาฯ ที่ผ่านมาโตแบบกินรายเล็กเสียมากกว่า ไม่น่าแปลกใจที่ช่วงหลัง ๆ จะเห็นกระทู้ปรับปรุงบ้านเก่ามากมาย เกิดรายการหนังสือหรือทีวีเฉพาะเรื่องการปรับปรุงบ้าน ธุรกิจปรับปรุงบ้านเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด

            กระแสที่สี่คือ การเกิดธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น เอาตึกแถวมาทำโฮสเทลเล็ก ๆ กลางเมือง มีร้านกาแฟชิค ๆ หรือ Co-Working Space ที่เป็นแหล่งรวมของธุรกิจในรูปแบบใหม่ มีการพัฒนาพื้นที่ให้มีคุณค่ามากขึ้นทั้งในเชิงที่อยู่อาศัยและการค้า เราจะเลิกมองคุณค่าของที่อยู่อาศัยเป็น “พื้นที่ใช้สอย หรือพื้นที่ดิน” แต่จะมอง “อรรถประโยชน์” ของมันแทน เนื่องจากความหนาแน่นของเมืองและคน ทุกพื้นจึงมีคุณค่าและเกิดไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ อีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจะเกิดคือ ธุรกิจรับปรับปรุงคอนโดทั้งตึก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศที่เป็นเจ้าพ่อคอนโดอย่างญี่ปุ่น เพราะคอนโดในประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1950 มีหลายตึกถูกปรับปรุงยังต่อเนื่อง

            กระแสที่ห้าคือ พัฒนาการของที่อยู่อาศัย ผมสังเกตว่าส่วนหนึ่งที่คอนโดโตเร็วขึ้นมาก ๆ เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ Gen X, Y ซึ่งเป็นลูกของ Baby Boomer เข้าสู่ช่วงวัยทำงานช่วงต้น คอนโดตอบโจทย์สมบูรณ์แบบคือการแยกครอบครัวมาอยู่คนเดียว ดังนั้นเราจะเห็นคอนโดส่วนใหญ่มีสัดส่วนเต็มไปด้วยห้องแบบหนึ่งห้องนอน แต่ถึงจุดหนึ่งที่เกิดการสร้างครอบครัว และลูกของ Gen X, Y เติบโตขึ้น ห้องหนึ่งห้องนอนคงไม่เพียงพอ และการย้ายไปอยู่บ้านนอกเมืองอาจจะไม่ทางเลือก การพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืนตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

            นอกจากที่อยู่อาศัยจะหนาแน่นขึ้นแล้ว พื้นที่สีเขียวจะสำคัญยิ่งกว่าเดิม การแบ่งเจียดพื้นที่เป็นสีเขียวไม่ใช่การเสียพื้นที่ใช้สอย แต่เป็นการเพิ่มมูลค่าต่างหาก ไอเดียบ้านกล่อง ๆ เต็มพื้นที่ ห้างกล่อง ๆ เต็มพื้นที่ อาจจะเก่าไปแล้ว ยิ่งถ้ากรุงเทพฯ อยากจะเป็นเมืองน่าอยู่ของ ASEAN ไม่ใช่เมืองน่าเที่ยวอย่างเดียว ทุกคนต้องมองไกลกว่านั้น เรามีอดีตที่น่าอยู่มาก ๆ เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สำหรับอนาคตแล้วถ้าทิศทางการพัฒนาเราถูกต้อง ในเมืองจะเจริญ ในบ้านมีแต่ความสุขครับ

Sunday, November 15, 2015

หุ้นมือถือ / ดร.นิเวศน์

     

   สัปดาห์ที่แล้วข่าวใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมและตลาดหุ้นก็คือ  การประมูลคลื่นความถี่วิทยุย่าน 1800 MHz เพื่อที่จะใช้กับโทรศัพท์มือถือระบบ 4G  เหตุผลแรกก็คือ  มันจะเป็น “ก้าวใหญ่” ของการพัฒนาระบบสื่อสารของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” และตามทันประเทศอื่น ๆ  หลังจากที่ไทยค่อนข้างจะล้าหลังมานาน  เหตุผลต่อมาก็คือ  การแข่งขันของผู้เข้าประมูลนั้นมีความจริงจังและรุนแรงซึ่งทำให้ตัวเลขเม็ดเงินของผู้ชนะ 2 ราย คือ AIS และ TRUE สูงมากกว่าที่เคยคือสูงถึงรายละประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่ออายุสิทธิการใช้ 15 ปี ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าที่คาดถึงเท่าตัว  และสุดท้ายสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทสื่อสารที่เข้าประมูล 4 ราย ที่ต่างก็ตกลงมาอย่างทั่วหน้าทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  โดยที่หุ้น AIS ตกลงมาประมาณ 6.6% ในวันที่กำลังประมูลและตัวเลขราคาการประมูลสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าตกใจ  หุ้น TRUE ตกลงมาถึง 8% หุ้น DTAC ตกลงมา 8.2% และหุ้น JAS ซึ่งถึงแม้จะไม่ตกแต่ก็ได้ตกลงมาก่อนแล้วตั้งแต่วันเริ่มประมูลที่ประมาณ 6%  ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคาค่าใบอนุญาตใช้คลื่นที่สูงมากนั้น  มีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทมาก  เพราะมันจะเป็นตัวที่บอกว่ากำไรของบริษัทเหล่านี้จะมากหรือน้อยในอนาคต

วันต่อมาหลังจากที่รู้ตัวผู้ชนะและผู้แพ้แล้ว  หุ้นของผู้ชนะคือ AIS ก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 1%  หุ้น TRUE นั้นอยู่ที่เดิม  ส่วนหุ้นผู้แพ้การประมูลคือ DTAC ปรับลดลงถึงประมาณ 7.6%  และหุ้น JAS ปรับลดลง 5.5%   การที่หุ้นของบริษัทผู้ชนะไม่ได้ปรับขึ้นและหุ้นผู้แพ้ปรับลดลงรุนแรงทั้ง ๆ  ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่แพงลิ่วนั้น  ถ้าจะตีความก็คือ  นักลงทุนมองว่าถึงจะเป็นผู้ชนะและจะสามารถขยายธุรกิจมือถือได้อย่างสะดวก  กำไรของบริษัทก็อาจจะไม่ดีนักเพราะต้นทุนของการให้บริการจะสูงในขณะที่รายได้ก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนักเนื่องจากถูก กสทช. บังคับไม่ให้เพิ่มค่าบริการจากเดิม  ส่วนในกรณีของผู้แพ้นั้น  คนก็มองว่าในอนาคต  ธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะ DTAC ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงทำให้กำไรลดลง  ในส่วนของ JAS เองนั้น  แม้ว่ายังไม่ได้ทำธุรกิจมือถือเลย  ดังนั้นจึงไม่ควรถูกกระทบอะไรทั้งสิ้น  แต่นักลงทุนก็คงมองว่า  ในอนาคตถ้ามี 4G แล้ว  ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตมีสายของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบเนื่องจากคนอาจจะหันไปใช้อินเตอร์เน็ตไร้สายของโทรศัพท์มือถือมากกว่า  ดังนั้น  หุ้น JAS จึงถูกกระทบแรงรอง ๆ  จาก DTAC

บทเรียนของ หุ้นมือถือ ในครั้งนี้ก็คือ  ข้อแรก  หุ้นของกิจการให้บริการสินค้าที่มีลักษณะเป็น  “โภคภัณฑ์” นั่นคือ  การแข่งขันของการขายสินค้าหรือบริการขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลักนั้น  มีความไม่แน่นอนสูงและหา “ผู้ชนะ” อย่าง  “ถาวร”  ได้ยาก  ช่วงเวลาที่กิจการจะมีผลประกอบการที่ดีน่าประทับใจก็คือช่วงที่ความต้องการสินค้าหรืออุปสงค์มีมากแต่ผู้ให้บริการหรืออุปทานมีจำกัด  ซึ่งในช่วงเวลาอย่างนั้น ราคาของสินค้าหรือบริการก็จะสูงกว่าต้นทุนมาก  แทบทุกบริษัทก็จะทำกำไรได้สูงกว่าปกติโดยที่แต่ละบริษัทนั้นไม่ต้องมีความสามารถพิเศษหรือเก่งกว่าคู่แข่งแต่อย่างใด  และนี่ก็คือเหตุผลที่บริษัทมือถือสามารถทำกำไรได้ดีมากและราคาหุ้นก็สูงขึ้นไปตามกัน  เพราะธุรกิจนี้มีผู้ให้บริการที่จำกัดเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่วิทยุของไทยที่ถูกยึดครองโดยหน่วยงานรัฐมานานและเพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เอกชนเข้ามาใช้ได้ผ่านการประมูลคลื่นบางส่วนเมื่อไม่กี่ปีมานี้   แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ให้บริการหรือผู้ขายมีมากพอ  ราคาสินค้าและบริการก็จะลดลงจนทำให้กำไรลดลงจนเหลือแค่กำไรปกติ  เมื่อนั้น  หุ้นก็จะกลับมาสู่ราคาที่เหมาะสมซึ่งก็ไม่ควรจะสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของมัน

บทเรียนอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ  หุ้นที่ถูกควบคุมโดยรัฐและกฎเกณฑ์พิเศษนั้น  จะมีความเสี่ยงเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับที่บางทีก็คาดการณ์ได้ยากมาก  เหตุเพราะว่ากฎต่าง ๆ  สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในเวลา  “ข้ามคืน”  และผลกระทบนั้นบางครั้งสูงมากและทำให้กำไรลดลงไปมากได้  เหตุผลก็เพราะว่าบ่อยครั้ง  ธุรกิจเหล่านี้  เป็นธุรกิจที่มีการควบคุมหรือกำหนดต้นทุนและราคาโดยคนไม่กี่คน  ไม่ได้กำหนดโดยตลาดเสรี  นี่ทำให้ต้นทุนและราคาไม่สะท้อนความเป็นจริง  และบางครั้งมันก็สูงไปมาก  แต่วันหนึ่งมันก็อาจจะถูกทำให้ลดต่ำลงโดยคนอีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ตลาดเสรีอีกเช่นกัน  ธุรกิจมือถือเองก็เป็นเช่นนั้น  และการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะกำลังเริ่มต้นขึ้นในกรณีของโทรศัพท์มือถือ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ หุ้นมือถือ และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตกลงมาแรงนั้น  นาทีนี้คนก็ยังน่าจะมองไปที่เหตุการณ์เฉพาะเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงกว่าปกติมาก  นักลงทุนส่วนใหญ่ยังอาจจะไม่ได้คิดว่าถึงค่าประมูลจะไม่ได้สูงขนาดนั้น   มันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับ ธุรกิจมือถือ ที่เคยอยู่อย่างสบายและทำกำไรดีมาก่อนเนื่องจากจำนวนผู้เล่นและคลื่นความถี่ที่จำกัด   ก่อนหน้านี้พวกเขาคิดว่าการประมูลน่าจะเป็นผลดีต่อบริษัทมือถือที่จะสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น  นักวิเคราะห์ต่างก็เชียร์ว่าถ้ามีการประมูลเมื่อไรก็จะเป็น  “ข่าวดี” โดยเฉพาะสำหรับหุ้นบางตัวแต่ก็ไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับหุ้นตัวอื่น  พวกเขาไม่เคยวิเคราะห์  “โครงสร้างการแข่งขัน” ในอุตสาหกรรมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่เป็นลบ  นั่นก็คือ  การแข่งขันที่มากขึ้นจะทำให้ราคาการให้บริการลดลง  ผลก็คือ  รายได้โดยรวมของอุตสาหกรรมไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายกับเพิ่มขึ้น  พูดง่าย ๆ  ผู้บริโภคได้บริการที่ดีขึ้นในราคาเท่าเดิมส่วนผู้ให้บริการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น  สถานการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตโดยที่ความต้องการของผู้บริโภคยังมีเท่าเดิม

ถ้ามองว่าเรากำลังจะมีการประมูลใบอนุญาตอีกครั้งในเร็ว ๆ  นี้ในคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือกำลังการผลิตหรือการให้บริการก็จะเพิ่มขึ้นอีก  และถ้ามีผู้ให้บริการรายใหม่เช่น JAS ชนะด้วย  นี่ก็จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่อุปทาน “ล้น” และผู้เล่นรายใหม่ต้องเข้ามาแย่งลูกค้าจากรายเก่าด้วยการลดราคาลงแล้ว  ผมก็คิดว่าหุ้นมือถือทั้งกลุ่มก็จะถูกกระทบรุนแรงอีกครั้ง  การทำ  “สงครามราคา”  ก็จะรุนแรงมากเนื่องจากธุรกิจนี้มีต้นทุนคงที่สูงมากจากค่าธรรมเนียมและการลงทุนในอุปกรณ์ที่สูง  แต่ต้นทุนแปรผันคือค่าใช้จ่ายในการให้บริการอื่น ๆ  นั้นต่ำมากซึ่งทำให้ผู้เล่นที่ยังไม่มีลูกค้าสามารถลดราคาค่าบริการลงไปได้ต่ำมากเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าแทนที่จะปล่อยให้กำลังผลิตว่างอยู่โดยไม่มีการใช้

เรื่องราวของการเปิดให้ใบอนุญาตดิจิตอลทีวีหลายสิบช่องเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานั้น  ปัจจุบันก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของการแข่งขันของสถานีทีวีแล้วในแง่ที่บริษัทที่มีอยู่เดิมมีกำไรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับที่ผู้เล่นรายใหม่ต่างก็  “บาดเจ็บ” อย่างหนักเนื่องจากสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่ารายได้จากการขายโฆษณาทีวีของตนจะมากพอที่จะคุ้มกับต้นทุนการดำเนินงานของสถานี  ประเด็นก็คือ  ก่อนการประมูล  ผู้เล่นรายใหม่เองคิดว่าเขาจะสามารถขายโฆษณาได้ในจำนวนเวลาที่มีและในอัตราที่สูงระดับหนึ่งซึ่งในความคิดของเขาก็คือค่อนข้างจะต่ำมากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาเห็นอยู่ในโครงสร้างการแข่งขันเดิม  ดังนั้น  เขาคิดว่าสิ่งที่ประมาณการไว้นั้นค่อนข้าง  “อนุรักษ์นิยม”  อยู่แล้ว  แต่หลังจากที่เริ่มเปิดดำเนินการกันทุกราย  เขากลับพบว่าสิ่งที่เขาคาดการณ์นั้นกลับผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง  ตัวเลขรายได้ต่ำกว่าที่คาดมาก  เหตุผลก็เพราะว่า  เมื่อทุกสถานีเปิดขึ้นมา  ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในแง่ที่แย่ลงมากและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  ธุรกิจทีวีอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเยี่ยมอีกต่อไปแล้ว  ดังนั้น  คนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านั้นจะต้อง “คิดใหม่”

ผมเองก็ไม่มั่นใจเต็มร้อยว่า ธุรกิจมือถือ ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหรือไม่  เหตุผลก็เพราะว่าผู้เล่นในธุรกิจเองนั้น  ถึงอาจจะมีเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังน้อยไม่เหมือนธุรกิจทีวี  นอกจากนั้น  เรื่องของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเองก็ดูเหมือนว่ายังอยู่ในช่วง  “ขาขึ้น”  เมื่อเทียบกับทีวีที่อาจจะเป็น “ขาลง”  อย่างไรก็ตาม  ผมเองเชื่อว่า  ธุรกิจมือถือเองนั้น  น่าจะถดถอยลงมากกว่าที่จะดีขึ้นนับจากนี้ไป

Tuesday, November 10, 2015

นิสัยบัฟเฟตต์ / โดยดร.นิเวศน์


ถ้าจะพูดถึงคนที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากระดับโลกและจะเป็น  “ตำนาน” ที่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไปอีกนานนั้น  แน่นอนว่าบัฟเฟตต์ต้องเป็นหนึ่งในนั้น  นิสัยหรือพฤติกรรมของคนที่อยู่ในระดับนี้ส่วนใหญ่ที่เราได้รับรู้ก็คือ  พวกเขามีชีวิตที่หรูหรา  อยู่ในสังคมของ “คนชั้นสูง”  มีความรู้สึกและวางตัวที่อาจจะเรียกว่า  “เย่อหยิ่ง”  และ “โอ้อวดตนเอง” เป็นต้น  แต่สำหรับบัฟเฟตต์เองแล้ว  เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น  หรือถ้าจะมีก็น้อยกว่าคนอื่นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงมาก  ผมไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเป็นเพราะว่าบัฟเฟตต์เป็น  Value Investor และ VI นั้นโดยธรรมชาติมักจะมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนรวยกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้น  พอรวยแล้วก็ยังไม่ได้เปลี่ยนนิสัยแบบคนที่รวยจากอาชีพอื่น

มาดูกันว่าบัฟเฟตต์มีนิสัยแบบไหนที่ค่อนข้างจะแปลกจากคนรวยและมีชื่อเสียงอื่น—และคนธรรมดา  บางทีนิสัยแบบบัฟเฟตต์นั้นอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด  และถ้าเป็นแบบนั้น  การเรียนรู้นิสัยบัฟเฟตต์ก็น่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนที่จะนำมาใช้

นิสัยแรกที่ผมเห็นก็คือ  การให้ความรัก  นับถือ และเชื่อใจคนอื่นอย่างเต็มที่เมื่อเขาเข้าไปร่วมงานด้วย  นั่นคือ  เมื่อเขาตัดสินใจเข้าไปซื้อธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเบิร์กไชร์แล้ว  เขาก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานและการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องยกเว้นเฉพาะการลงทุนใหญ่ ๆ และการจัดสรรกำไรเท่านั้น  เขาจะให้ความรัก ความนับถือ  และเชื่อใจต่อคนหรือซีอีโอที่บริหารงานมากและดูเหมือนว่าจะไม่เคย “ตั้งคำถาม” อะไรกับการทำงานหรือตัดสินใจของพวกเขาเลย  สิ่งที่เขาบอกกับซีอีโอก็คือ  ให้พวกเขาคิดและทำเหมือนกับว่าพวกเขานั้นเป็นเจ้าของบริษัทเท่านั้น  การให้ความรัก  นับถือและเชื่อใจแก่คนอื่นนั้น  ทำให้บัฟเฟตต์ได้รับความรัก  ความนับถือและเชื่อใจตอบจากคนอื่นเท่า ๆ  กัน  เห็นได้จากการที่ผู้บริหารหรือซีอีโอของเบิร์กไชร์นั้นมักจะอยู่กับบัฟเฟตต์ไปตลอดไม่ไปไหนและบัฟเฟตต์เองก็แทบจะไม่เคยให้ใครออก  เขาบอกว่าระบบของเบิร์กไชร์นั้น  “ไม่มีการเกษียณ”  สำหรับซีอีโอ

นิสัยที่สองที่แตกต่างจากคนอื่นของบัฟเฟตต์ก็คือ  ความ  “จงรักภักดี”  ที่มีต่อสิ่งรอบตัว  ที่สำคัญก็คือ  เมื่อบัฟเฟตต์ซื้อธุรกิจมาแล้ว  เขาก็จะเก็บรักษามันไว้  “ตลอดไป”  แม้ว่าหลายกิจการนั้นพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนไปแล้วเขาก็มักจะไม่ขายทิ้งเหมือนนักลงทุนอื่น  เขายังเก็บหุ้นไว้เพราะเขาอยู่กับมันมานานและรู้จักผู้บริหารเป็นอย่างดี  เขายินดีที่จะได้รับผลตอบแทนที่ลดลงและในที่สุดอาจจะล้มหายตายจากไป  ผมคิดว่าเขาคงคิดว่าเขาได้รับผลตอบแทนจากบริษัทมานานและมากพอแล้ว  ดังนั้น  ถ้าเขาจะเสียหายบ้างจากการที่ไม่ได้ขายมันไปก่อน  มันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก  นอกจากเรื่องของธุรกิจแล้ว  ผมก็รู้สึกว่าบัฟเฟตต์นั้นชอบทำอะไรซ้ำ ๆ  เดิม ๆ  เช่น  เขาชอบกินอาหารเช่น  สเต็กร้านเดิม ๆ ดื่ม โค๊กแบบเดิม ๆ เป็นสิบ ๆ ปีอย่างไม่รู้เบื่อ  ดูเหมือนว่าเขาจะ “จงรักภักดี” ต่อสิ่งที่เขาคิดว่าดีอยู่แล้วมาก  ความคิดของเขาก็คือ  ไม่รู้จะ “เสี่ยง” ไปทำไมกับของใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าดีหรือไม่

ความคิดที่อิสระและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก  นี่คือนิสัยอีกอย่างหนึ่งของบัฟเฟตต์  เขาไม่เคยทำตามคนอื่นหรือตามความคาดหวังของสังคม  เขาไม่เคยกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นคน “ตกยุค” เช่นในช่วงที่หุ้นไฮเท็คเติบโตเป็น “ฟองสบู่” ช่วงปีทศวรรษปี 1990 ถึง 2000 เขาเองก็ไม่สนใจลงทุนในหุ้นเหล่านั้นเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากซึ่งทำให้การคาดการณ์รายได้และกำไรทำได้ยากมากและเขาเองก็ไม่รู้จักธุรกิจดีพอ  ผลงานการลงทุนของเขาจึงดูไม่ดีนักเมื่อเทียบกับคนที่ลงทุนในหุ้นไฮเท็คเหล่านั้น   เช่นเดียวกัน  ในบางช่วงการแข่งขันทางด้านการขายประกันภัยรุนแรงมากและทุกคนต่างก็ขายประกันในราคาที่  “ขาดทุน” เพื่อที่จะสร้างยอดขายให้เติบโตและทำกำไรในระยะสั้น  บัฟเฟตต์ปฎิเสธที่จะทำตาม   เขา “ยอม” ถูกมองเป็นบริษัทที่กำลัง “ถดถอย” ในขณะที่บริษัทอื่นโตขึ้น  แต่แล้วเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป  ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คแตก  และบริษัทประกันที่ขายประกันราคาถูกเกินไปต้องขาดทุนหนัก  บัฟเฟตต์ก็กลับมามีผลงานที่โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม

นิสัยที่สี่ของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขากำหนดขอบเขตและมาตรฐานของตนเองหรือพูดหยาบ ๆ  ก็คือ  เป็นตัวของตัวเองสูง  เขาไม่สนใจและไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ทุกเรื่องหรือทุกอุตสาหกรรม  เพราะเขาเลือกเฉพาะอุตสาหกรรมและบริษัทที่เขารู้เท่านั้น  เขากำหนด Circle of Competent หรือขอบเขตความสามารถของเขาที่เขาจะทำได้ดีและเขาจะไม่ออกจากขอบเขตนี้   สิ่งที่บัฟเฟตต์ทำนั้น  เขาก็จะหาธุรกิจหรือบริษัทที่ดูได้ง่ายเข้าใจง่ายและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง  เขาพูดว่าเขาพยายามหารั้วเตี้ย ๆ ซักหนึ่งฟุตเพื่อที่ว่าเขาจะได้ข้ามมันไปง่าย ๆ   เขาไม่ต้องการรั้วสูง ๆ  เพื่อที่จะแสดงความสามารถในการกระโดดข้ามมัน  ดังนั้น  เราจึงเห็นหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้น  ส่วนมากจึงเป็นหุ้นของธุรกิจธรรมดามากเช่น บริษัทขายซ้อสมะเขือเทศ  ร้านเฟอร์นิเจอร์  ร้านขายเครื่องประดับเพชร  บริษัทรถไฟ  ธนาคาร และอื่น ๆ  ที่เข้าใจไม่ยากและไม่เห็นจะมีอะไรน่าตื่นเต้นในยุคที่เครื่องมือสื่อสารอย่างไอแพดเปลี่ยนรุ่นทุก 2- 3 ปีและมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ  เกิดขึ้นตลอดเวลา

มาตรฐานที่บัฟเฟตต์ใช้เองนั้น  เขาบอกว่าเขาไม่สนใจมาตรฐานของสังคมหรือคนอื่น  เขาไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองตนเองอย่างไร  เขาแนะนำว่านักลงทุนควรที่จะมี  Inner Score Card หรือมาตรฐานที่อยู่ภายในใจของเรา  นั่นก็คือ  ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือสนใจว่าคนอื่นเขาจะมองเราอย่างไร  เราควรที่จะกำหนดมาตรฐานของตนเองว่าเราตั้งเป้าไว้เหมาะสมและทำได้ตามเป้าหรือไม่  เช่น ถ้าเราคิดว่าเราควรทำผลตอบแทนการลงทุนได้ปีละ 12% ทบต้นโดยการลงทุนในหุ้นที่มีระดับความความเสี่ยงที่ยอมรับได้  เช่นต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 5-6 ตัวและไม่มีหุ้นตัวใดที่มีสัดส่วนสูงเกิน  30%  ในกรณีแบบนี้   เราก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ  ไม่ใช่ว่าพอเห็นคนอื่นกำลังทำผลตอบแทนดีเยี่ยมกว่าเรา  เราก็พยายามไปเปรียบเทียบกับเขาเพราะกลัวว่าเราจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถเท่า  เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้น  กลยุทธ์และวิธีการต่าง ๆ  ก็จะรวนไปหมด  และเราก็อาจจะไม่มีความสุขในการลงทุนหรือทำงาน

นิสัยสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงและแปลกไปจากเพื่อนระดับเดียวกันของเขาก็คือ  บัฟเฟตต์นั้นแม้ว่าจะรวยเป็นอันดับ 1-3 ของโลกมานาน  แต่เขาเป็นคนที่มีความสมถะและประหยัดมาก  ดูเหมือนว่าเขาจะชอบผู้บริหารที่เน้นการลดต้นทุนการดำเนินงานโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก  เขาไม่ชอบความฟุ่มเฟือยในทุกกรณี  เขาไม่ชอบผู้บริหารที่กินเงินเดือนสูงมากโดยที่ไม่ได้อิงกับผลการดำเนินงานของบริษัท  ตัวบัฟเฟตต์เองนั้นถ้าจำไม่ผิดเขารับเงินเดือนในฐานะของซีอีโอเบิร์กไชร์ปีละแค่ 100,000 เหรียญซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทที่ใหญ่ขนาดเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา  ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองนั้น  ทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่บ้านเดิมที่อยู่มาหลายสิบปีที่เขาซื้อมาในราคาไม่กี่หมื่นเหรียญและน่าจะเป็นบ้านระดับชนชั้นกลาง  เขายังขับรถเองและใช้ชีวิตเหมือนคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่

หลายคนคงเถียงในใจว่านิสัยส่วนตัวของบัฟเฟตต์นั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนของเขา  แต่ผมเองเชื่อว่านิสัยส่วนตัวกับการลงทุนนั้นคงจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่  ผมเองได้อ่านประวัติของ VI ระดับโลกและได้ศึกษา VI เด่น ๆ หลายคนในตลาดหุ้นไทยที่ผมรู้จัก  ผมพบว่านิสัยของพวกเขาหลาย ๆ  คนนั้น  มีบางส่วนคล้าย ๆ  กับของ บัฟเฟตต์  ที่กล่าวถึง  ผมคิดว่านิสัยบางอย่างนั้นเอื้ออำนวยให้คน ๆ  นั้นกลายเป็นนักลงทุนและเข้าใจและตัดสินใจในการลงทุนได้ดีขึ้น  นิสัยบางอย่างก็ขัดแย้งกับการเป็นนักลงทุนและทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ดีได้ยาก  ดังนั้น  ก่อนที่จะลงทุนโดยเฉพาะในแนว VI  เราควรวิเคราะห์นิสัยของตนเองก่อนว่า  เรามีแนวโน้มที่จะเป็น VI ที่ดีได้ไหม