Sunday, February 23, 2014

คุณสมบัติและข้อบัญญัติของนักลงทุน VI




            ประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI
 
           นักลงทุนแบบ VI ต้องมี EQ หรืออารมณ์ที่มั่นคง  ข้อนี้สำคัญมากคือนักลงทุนแบบ VI จะต้องมีสติ  ใจเย็นไม่ถูกชักนำ  โดยจิตวิทยาสังคมหรือสภาวะของตลาดหลักทรัพย์  และมีข้อคิดว่า "เราต้องกล้าในยามที่คนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว  และกลัวในยามที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม"  นักลงทุน VI ควรมองว่าตลาดหุ้นเป็นเสมือนคนที่มีอารมณ์แปรปรวน  และทำการซื้อขายหุ้นในราคาที่บ่อยครั้งมีลักณะไม่มีเหตุผล  ตอนอารมณ์ดีก็เสนอขายราคาสูงลิ่วเกินกว่าพื้นฐานไปมาก  ตอนอารมณ์ไม่ดี อารมณ์หดหู่ก็เสนอราคาต่ำติดดินทั้งที่เป็นกิจการเดียวกัน  เราต้องไม่ไปตามตลาดแต่คอยดูว่าตอนไหนที่เราจะเอาเปรียบตลาดได้  เช่น ซื้อตอนราคาต่ำๆ ขายตอนราคาสูงๆ  หลักน่าจะมีแค่นี้  จะมีอารมณ์มั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามตลาด  จึงเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญของนักลงทุนแบบ VI

         นักลงทุน VI ต้องรู้หลักในการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ความเสี่ยงสำหรับ VI ไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้นในพอร์ต  แต่เป็นเรื่องความเสี่ยงของราคาหุ้นที่ซื้อเอาไว้จะ "ลดลงอย่างถาวร"  หรือไม่  ถ้าซื้อไปแล้วราคาหุ้นลดลงระยะสั้น  อย่างนี้ไม่ใช่ความเสี่ยง  ถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่ามูลค่าพื้นฐานยังอยู่เหมือนเดิม  กลับต้องคิดว่าเป็นโอกาสที่จะซื้อเพิ่มขึ้น  เพราะความเสี่ยงที่จะซื้อหุ้นนั้นกลับลดลง  เพราะราคาหุ้นที่ลดทำให้ Margin of safety สูงขึ้น

        หลักในการควบคุมความเสี่ยงของ VI สรุปได้ดังนี้ 
  • รู้จักธุรกิจที่ลงทุนเป็นอย่างดี   แน่ใจว่าได้หุ้นของกิจการที่มีคุณภาพดี
  • ลงทุนในสิ่งที่มี Margin of Safety สูง "ของดี ราคาถูก" 
  • หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร
  • กระจายความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินอย่างเหมาะสม  สำหรับหุ้นควรกระจายการถือครอง 5-6 ตัวขึ้นไป  ในหลายอุตสาหกรรม

   






       บัญญัติ  10  ประการของการเล่นหุ้นแบบ VI
     
      หัวข้อนี้ผมชอบมากครับ  เพราะสรุปแก่นแท้กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นแบบ VI ซึ่ง ดร.นิเวศน์ สรุปไว้แบบคั้นหัวกระทิเอาไว้ให้นักลงทุน VI ทุกคน
  • ศึกษาข้อมูลหุ้นให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น  เน้นว่าอย่าซื้อโดยใช้อารมณ์อย่าโลภ  อย่ารีบด่วนตัดสินใจซื้อเพราะหุ้นกำลังวิ่ง  เพราะเราไม่ใช่นักเล่นหุ้นรายวัน  เราต้องรอจังหวะเวลาที่พบแล้วว่า  ราคาอยู่ต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก ๆ เท่านั้น
  • อย่าสนใจข่าลือหรือ "หุ้นเด็ด"  ข่าวลือ  ถ้าเราได้ยิน  คนอื่นก็คงได้ยิน  ข่าวแบบนี้ไม่มีความหมายอะไร  มีแต่ทำให้เสียเงิน
  • ให้ความสำคัญกับตัวกิจการหรือตัวหุ้นมากกว่าสภาพตลาดหรือเศรษฐกิจโดยทั่วไป  เพราะแม้สภาวะเศรษฐกิจไม่ดี  แต่ตัวกิจการของบริษัทอาจจะดีก้ได้  หรือแม้กิจการอาจมีสภาวะไม่ดีนัก  แต่ราคาหุ้นก้ยังต่ำกว่าพื้นฐานมากก็ยังลงทุนได้  อย่าให้ภาพของสภาวะตลาดมาหันเหการตัดสินใจซื้อหุ้นของเรา
  • หุ้นนั้นมักจะดูแย่กว่าที่คิดเวลาที่ตลาดตกต่ำมากที่สุดของตลาดหมีและมักจะดูดีกว่าที่คิดในช่วงตลาดขาขึ้นสูงสุดของตลาดกระทิง  นักลงทุน VI ควรยึดหลักที่ว่า "มีความกล้าหาญที่จะซื้อเมื่อทุกอย่างดูเลวร้ายและขายเมื่อทุกอย่างดูดีจนไม่น่าเชื่อ"
  • จงจำไว้ว่า  มันเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถซื้อหุ้นในราคาพื้นฐานและขายหุ้นได้ที่จุดสูงสุด  ในช่วงตลาดตกต่ำ  ราคาหุ้นอาจลงไปต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานได้มาก และในยามที่ตลาดมีความรุ่งเรือง ราคาหุ้นก็อาจสูงเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานได้  ซึ่งภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงได้ตลอดดังนั้น  ต้องไม่คาดหวังว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้วราคาต้องขึ้นทันที  แม้เราจะมั่นใจกับการวิเคราะห์มูลค่าพื้นฐานของเรา  ไม่ควรฝากความหวังไว้กับภาวะตลาด  แต่ควรดูว่าในระยะยาวพื้นฐานที่ดีและดีเพิ่มขึ้นของกิจการจะเป็นตัวดึงให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตามพื้นฐาน
  • อย่าขายเพียงเพราะว่าราคาหุ้นอาจจะดูว่าสูงเกินไปหรือปุ้นวิ่งขึ้นมาเร็วเกินไปหรือชั่วคราว  เพราะถ้าพลาด  อาจไม่สามารถซื้อกลับมาทำให้พลาดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมมากกว่าในอนาคต
  • อย่า "หลงรักหุ้น" จนตาบอด  ถ้าหุ้นดี  ก็ขอให้วิเคราะห์และมองอย่างเป็นกลาง รักได้แต่อย่างหลง เพราะต้องประเมินและตรวจสอบความคุ้มค่าตลอดเวลา  ซึ่งถ้าไม่ไหวก็ต้อง "ตัดรัก" เป็นหุ้น VI ของวันก่อน  มาถึงวันนี้อาจจะเปลี่ยนคุณสมบัติไปแล้วก็ได้
  • อย่าสนใจว่าหุ้นเคยอยู่ที่จุดไหนมาก่อน  จงสนใจว่าหุ้นจะไปอยู่ที่จุดไหน  กิจการอาจเคยมีผลประกอบการดี  ราคาหุ้นก็สูงตามไปด้วย  แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปกำไรลดลง  ราคาหุ้นตกและวิเคราะห์แล้วว่าผลการดำเนินงานลดลงแบบหวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ยาก อย่างนี้ต้องลืมตัวเลขเก่า ตัวเลขใหม่คือของจริง ต้องมองไปข้างหน้าว่ามูลค่าหุ้นจริงๆ เป็นเท่าใดกันแน่  ราคาอาจตกลงไปกว่าเดิมอีกก็เป็นได้
  • เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูง  การลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสทำกำไรหวือหวา  โดยไม่สนใจว่าคุณภาพของหุ้นจะเป็นอย่างไรในบางครั้งอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีและเร็ว  ทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นเต้นแต่โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จในระยะยาวจะเป็นไปได้ยาก และทำบ่อยเข้าก็จะติดเป็นนิสัย  ซึ่งเป็นคนละขั้วกับนักลงทุน VI ที่เลือกเฉพาะหุ้นคุณภาพดีเท่านั้น  พอร์ตของหุ้นที่มีคุณภาพดีนั้นจะทำให้เรารวยได้อย่างยั่งยืนและด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่ามาก
  • ใช้เวลากับการลงทุน  ตรวจสอบกิจการและหุ้นอย่างสม่ำเสมอ   ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  หุ้น VI ที่เคยเข้มแข็งเมื่ออ่อนแอลงเราก็ต้องตัดออกจากพอร์ต  และหาซื้อตัวใหม่ใส่เข้าไป แต่การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของกิจการมักไม่ได้เกิดขึ้นแบบรายวันต้องใช้ระยะเวลา  ถ้าเราซื้อหุ้นแต่อยู่ไม่ถึงปี  คำถามคือ กิจการได้แสดงความสามารถในการทำธุรกิจให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนแล้วหรือยัง?  คุุณภาพที่สูงขึ้นของหุ้นต้องใช้เวลาพอสมควร  ซึ่งเราต้องทำหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบกิจการอยู่เป็นระยะๆ
         ผมคิดว่าการลงทุนแบบVI ของ ดร.นิเวศน์  นั้นน่าจะเป็นการช่วยฝึกความอดทนได้เป็นอย่างดี ใครที่มีนิสัยใจร้อน  ลองมาลงทุนตามสไตล์นี้ดู  อาจจะพอเปลี่ยนอุปนิสัยได้บ้าง  ทั้งนี้ เนื่องจาก ดร.นิเวศน์ อธิบายว่าสไตล์การลงทุนแบบ VI เปรียบได้กับ "เต่า" คือ ช้า แข็งแกร่ง อดทน และอายุยืนนาน มีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง สามารถเดินทางไปได้ทุกภูมิประเทศ และทุกความผันแปรของสภาพแวดล้อม ซึ่งตรงข้ามกับ "กระต่าย" ที่เปรียบได้กับนักลงทุนที่ใจร้อนอาจจะวิ่งในบางช่วงแต่ขาดเกราะป้องกันตัว จึงมีดอกาสถูกสัตว์อื่นจับกินได้ง่าย

         แถมท้ายอีกนิดหนึ่ง เรื่องการกู้เงินมาลงทุนหรือเรียกว่า "การใช้มาร์จิ้น" ดร.นิเวศน์ เห็นว่า VI มักจะไม่กู้เงินมาลงทุน แม้ว่าถ้าหุ้นขึ้น โอกาสได้กำไรมีมากและเร็ว แต่ถ้าพลาดก็อาจเสียหายรุนแรงได้ อย่างไรก้ตาม หากเราพบว่ามีหุ้น VI ที่ดีและราคาต่ำลง หรือถูกอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เราไม่มีเงินสดเลย ประกอบกับไม่อยากขายหุ้นตัวอื่นจากพอร์ต ซึ่งเป็นของดีและขณะนั้นหุ้นในพอร์ตก็มีราคาต่ำไปเหมือนกัน ดร.นิเวศน์ ให้หลักการกู้เงินซื้อหุ้นไว้ดังนี้
  • ยอดเงินที่กู้ไม่ควรเกิน 10-20% ของมูลค่าพอร์ต (ไม่ใช่กู้เท่าไหร่ก็ได้)
  • หุ้นที่จะซื้อ  นอกจากต้องเป็น VI แท้ๆ แล้ว ยังต้องมีสภาพคล่องสูงพอให้เราขายได้ทันที
  • หุ้นที่จะซื้อต้องมีคาราต่ำมาก  กำไรอยู่ในระดับที่ดีและจะดีขึ้นกว่านี้
  • ต้องมี Exit Strategy หรือทางออกจากหนี้ เช่น นำเงินปันผลรับจากพอร์ตเดิมมาลดหนี้  หรือทยอยขายหุ้นที่ซื้อมาเพื่อนำเงินมาลดหนี้หรือล้างหนี้ให้เร็วที่สุด
          ที่จริงแล้ว ดร.นิเวศน์  นำประสบการณ์ที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมาใช้ในการลงทุนจนประสบความสำเร็จอย่างสูงถึงทุกวันนี้  ผมขอชื่นชมและขอขอบคุณ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร อีกครั้ง  ที่เป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นนักลงทุนมืออาชีพ  และถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ของท่านอย่างไม่หวงวิชา  ตลาดทุนไทยและสังคมไทยโชคดีจริงๆ ครับที่มีเซียนหุ้นคุณค่าอย่าง ดร.นิเวศน์  และสุดท้ายก็ขออวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการลงทุนนะคับ..