Saturday, February 22, 2014

สไตล์การลงทุนแบบ VI ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


   ก่อนที่จะอธิบายถึงรายละเอียดของหุ้นที่มีลักษณะแบบ VI ตามแนวคิดของ ดร.นิเวศน์ จะขอเริ่มต้นอธิบายจากสไตล์การลงทุน  ซึ่งมีลักษณะการลงทุนแบบ VI ก่อนจะเจาะเข้าไปถึงเคล็ดลับการค้นหาหุ้นแบบ VI ตามสไตน์ของ ดร.นิเวศน์  

         สไตล์ คือ แบบแผนของการกระทำ  ซึ่งถ้าทำซ้ำๆ กันหรือกล่าวได้ว่าชอบมีพฤติกรรมแบบนี้  เราอาจเรียกว่า "สไตล์"  ซึ่งในการลงทุนนั้น  นักลงทุนที่มีประสบการณ์น้อยหรือเรียนรู้หลักการลงทุนมาน้อย  มักจะลงทุนโดยไม่มีวิธีการที่ชัดเจน เช่น เล่นเก็งกำไรตามข่าวลือ  ลงทุนเพราะตลาดกำลังบูม  เป็นต้น  อย่างนี้อาจกล่าวได้ว่า  ลงทุนแบบไม่มีสไตล์  หรือเล่นหุ้นแบบมวยวัด

      แต่นักลงทุนที่มีประสบการณ์มากๆ มักจะคุ้นเคยหรือชื่นชอบวิธีการบางอย่างเป็นพิเศษ  เพราะคิดว่าเป็นวิธีการลงทุนที่ได้ผล  ได้กำไรเป็นประจำ  หรือไม่ก็ดีกว่าวิธีการอื่นที่เคยใช้มา  อย่างนี้เรียกว่า  เริ่มมีสไตล์การลงทุน

     โดย  ดร.นิเวศน์  สรุปสไตล์การลงทุนออกเป็น 3 แนวทางใหญ่ๆ ดังนี้ 

    ลงทุนในหุ้นโตเร็ว (Growth Investment)
             เป็นสไตล์ที่ลงทุนซื้อหุ้นคุณภาพสูง  ไม่ค่อยเกี่ยงราคา  นักลงทุนกลุ่มนี้มีความคิดว่าหุ้นคุณภาพสูงมักจะให้ผลตอบแทนคุ้มราคา  แม้ราคาที่ลงทุนจะสูงแต่กำไรของบริษัทจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  เช่น  คอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์  อิเล็กทรอนิกส์  และสินค้าไฮเทคทั้งหลาย  บริษัทเหล่านี้จะมียอดขายและกำไรเติบโตเร็วมาก  โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจดี  ทำให้คนแย่งกันซื้อ  จนทำให้หุ้นโตเร็วมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนสไตล์อื่น  แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำหุ้นกลุ่มนี้ก็จะมีราคาตกลงเร็วกว่ากลุ่มอื่น  ที่จริงในทุกวันนี้นักลงทุนที่ชอบหุ้นกลุ่มนี้ก็คงมีอยู่จำนวนไม่น้อย  

    ลงทุนในหุ้นแบกับดิน (Value Investment)
             ผมคิดว่าสไตล์การลงทุนของ ดร.นิเวศน์  คือแบบนี้ คำว่าหุ้นแบกับดินไม่ได้หมายความว่า  หุ้นไม่ดีถึงขนาดว่าต้องเอามาวางแบกับดิน  แต่หมายถึง หุ้นที่ดี (หรือมีโอกาสจะดี)  แต่มีราคาตกต่ำลงมามากจนแทบไม่มีค่า  อาจเนื่องจากไม่มีใครมองเห็น  หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็น "หุ้นที่ดี  แต่ราคาถูก"  การซื้อได้ในราคาถูกทำให้เรามีภูมิคุ้มกันแม้ในอนาคตราคาขึ้นไปแล้วลงกลับมา  เนื่องจากเรามีต้นทุนต่ำกว่า  ซึ่งเรียกเป็นภาษาการลงทุนว่า เรามี "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" (Margin of Safety) อยู่ในระดับสูง

    วิธีค้นหาหุ้นแบกับดินที่มี Margin of Safety สูง ดร.นิเวศน์ แนะนำสูตรอย่างง่ายของ เบนจามิน  เกรแฮม  ปรมาจารย์การลงทุนแบบ VI ดังนี้

         ราคาหุ้น < 2 ใน 3 ของ (สินทรัพย์หมุนเวียน - หนี้สินทั้งหมด) ของบริษัท

     ดร.นิเวศน์  อธิบายว่า  ถ้านำสินทรัพย์หมุนเวียนซึ่งคล่องตัวอยู่แล้วไปเปลี่ยนเป็นเงินสดและนำไปชำระหนี้ทั้งหมดแล้ว  ยังเหลือเงินสดเหลืออยู่มากเกินกว่าราคาหุ้นที่เราซื้อ  โดยที่ยังไม่ได้รวมถึงสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ เลย  ถ้าเป็นเช่นนี้ถือว่าหุ้นตัวนั้นราคาถูกและคุ้มค่าที่จะซื้อ  เพราะโอกาสที่จะขาดทุนน้อยมากมีความปลอดภัยสูง 

     นอกจากวิธีดังกล่าวแล้ว  ผมคิดว่าเราอาจพิจารณาวิธีประเมินมูลค่าแบบอื่นที่มุ่งหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น  โดยดูจากความสามารถของกิจการในการสร้างกระแสเงินสดในอนาคต  แล้วคิดส่วนลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน  ถ้ามูลค่าที่แท้จริงอยู่สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบันของหุ้นมาก  ก็ควรเข้าไป "ซื้อ"  อย่างไรก็ตามการประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตอาจทำได้ไม่ง่ายนักสำหรัรบนักลงทุนมือใหม่  เราอาจดูจากรายงานวิเคราะห์หุ้นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ประกอบก็ได้  ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการพยากรณ์และสร้างแบบจำลองเพื่อคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเอาไว้

     ลงทุนแบบเหวี่ยงแห (Passive Investment) 
          การลงทุนแบบนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า  ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ  นักลงทุนทุกคนรู้ข้อมูลค่อนข้างเท่าเทียมกัน  ถ้าหุ้น A มีข้อมูลทางบวก  ราคาหุ้น A ก็จะขึ้น ถ้าข้อมูลส่วนใหญ่เป็นลบ  ราคาหุ้น A ก็จะตกลงมา  ดังนั้น  ราคาหุ้น A ก็จะสะท้อนข้อมูลที่เข้ามากระทบอยู่เสมอ  ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ราคาหุ้น A ได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปนั่งวิเคราะห์ให้เสียเวลาว่า  หุ้น A ราคาต่ำหรือสูงกว่าที่ควรจะเป็น  วิธีการลงทุนที่ดีที่สุดก็คือ  ซื้อหุ้นกระจายไปหลายๆ อุตสาหกรรม  หรือ ถ่วงน้ำหนักให้เหมือนตลาด  ทำให้ผลตอบแทนขึ้นลงตามดัชนีหลักทรัพย์ เป็นต้น

        ในทางปฏิบัติเราไม่จำเป็นต้องหาว่าวิธีไหนดีกว่ากัน  แต่ต้องหาว่า วิธีไหนหรือสไตน์ไหนเหมาะกับเรามากกว่ากัน  เพราะแต่ละสไตล์มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ในช่วงเศรษฐกิจดี  หุ้นโตเร็วมักจะให้ผลตอบแทนที่ดี  ในขณะที่หุ้นแบบแบกับดินมักจะทำได้ดีกว่าในช่วงเศรษฐกิจถดถอย  ดร.นิเวศน์  เสนอแนะว่า  เราควรเลือกสไตน์ที่เข้ากับตัวเรา  ไม่ควรเลือก 2 อย่างที่อาจขัดแย้งกันในตัว  สำหรับ ดร.นิเวศน์ ท่านเลือกสไตล์การลงทุนในหุ้นแบบแบกับดิน ( แบบ VI )  พยายามค้นหาหุ้นแบบนี้  และค้นหาวิธีบริหารพอร์ตหุ้นแบบนี้ให้เกิดความมั่งคั่งเพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาว

     เทคนิคการค้นหาหุ้น VI ของ ดร.นิเวศน์

         การค้นหาหุ้น VI ของ ดร.นิเวศน์  ไม่ได้เริ่มที่กระดานหุ้น  บทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์  งบการเงินของบริษัท  แต่เริ่มจากวิธีเรียบง่าย  โดยการสังเกตจากสินค้าและบริการที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน  ซึ่งประเภทของกิจการที่น่าลงทุนตามหลัก VI คือ  กิจการของสินค้าที่เป็นผู้นำในตลาด  คนจำเป็นต้องซื้อ ยี่ห้อเป็นที่นิยมติดตลาด  หรือเป็นสินค้าเจ้าเดียวในตลาด  คนอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้ยาก  ดร.นิเวศน์  ให้ความสำคัญกับตัวสินค้าบริการ  และฐานะทางการตลาดของบริษัทก่อนผลกำไรหรือฐานะการเงิน  เมื่อได้พบสินค้าและบริการถูกใจ  และเป็นของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์  จึงค่อยหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านคุณภาพและปัจจัยทางด้านราคา

     หัวข้อสำคัญของปัจจัยทางด้านคุณภาพ  เช่น ดูจาก
  • รูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model)
  • ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยังยืน (Durable Competitive  Advantage)
  • ผลการดำเนินงาน  หรือกำไรของบริษัท
  • ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE)
  • ฐานะการเงินหรือหนี้สิน
  • ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด
  • ผู้บริหาร
     หัวข้อสำคัญของปัจจัยทางด้านราคา เช่น ดูจาก
  • ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio)
  • ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B Ratio)
  • อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล  (Dividend Yield)
  • มูลค่าตลาดของหุ้น  (Market Capitalization)
ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากร