Saturday, February 22, 2014

ตะแกรงร่อนหุ้น VI จากปัจจัยทางด้านคุณภาพ


           รูปแบบการทำธุรกิจ
                     รูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) หมายถึง กระบวนการทำธุรกิจทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด  การจัดจำหน่าย การบริการหลังการขาย การบริหารบุคลากร เป็นต้น การเข้าใจในรูปแบบดังกล่าวจะทำให้เห็นรายละเอียดว่ผลิตภัณฑ์จะเป็นอย่างไร คุณภาพระดับไหน. ราคาเท่าไร ช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นอย่างไร กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร นักลงทุนสามารถคนหาข้อมูลดังกล่าวจาก "รายงานประจำปี" (Annual Report) หรือ "แบบฟอร์ม 56-1" ที่บริษัทต้องจัดทำและส่งให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

            ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน
                ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน หรือ Durable  Advantage ที่นักลงทุน VI เรยกย่อๆ ว่า "DCA" ซึ่งบริษัทที่จะมี DCA จะต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • บริษัทอาจมีสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้  แต่มีความโดดเด่น หรือ กีดกันคู่แข่งขัน  เช่น ยี่ห้อ  ลิขสิทธิ์  สัมปทาน  เป็ฯต้น
  • สินค้าหรือบริการของบริษัทอาจมีลักษณะที่ทำให้ลูกค้ามีความยากลำบากที่จะเลิกใช้หรือเปลี่ยนผู้ขายหรือให้บริการ
  • บริษัทมีเครือข่ายลูกค้าที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมาก
  • บริษัทมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต  ซึ่งอาจมาจากทำเลที่ตั้ง ขนาดของธุรกิจ หรือเนื่องมาจากทรัพย์สินเฉพาะอย่าง
          สัญญานของการมี DCA อย่างหนึ่งก็คือ "ส่วนแบ่งการตลาด" ของสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการมีต้นทุนต่ำกว่า  ทำให้ทำกำไรได้ดีกว่าคู่แข่ง  ก่อให้เกิด "วงจรแห่งความรุ่งเรือง" ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และแม้ในช่วงเวลามีปัญหา หรือวิกฤต  ก็จะขาดทุนน้อยกว่าและฟื้นตัวกลับมาได้รวดเร็วกว่า

         ผลการดำเนินงานหรือกำไรของบริษัท
              กำไรเป็นปัจจัยที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานได้  นอกจากกำไรที่เป็นเม็ดเงินหรือกำไรต่อหุ้นแล้ว เราอาจดูผ่าน "กำไรปกติ" (Profit Margin)  ซึ่งนำกำไรไปเทียบกับยอดขาย  ยิ่งอัตราสูง  ก็แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ดีหลังหักค่าใช้จ่ายออก อย่างไรก็ตาม  กิจการที่มีคุณภาพดี  มีกำไรสม่ำเสมอและเป็นกำไรปกติ (หมายถึง  กำไรที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในระยะยาวได้)  ความแน่นอนของกำไรหรือการเติบโตของกำไร   อาจมองย้อนกลับไปประมาณ 5 ปี

        ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
             หรือ Return on Equity (ROE) ซึ่งคำนวณมาจาก (กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น) x 100 ยิ่งอัตราส่วนนี้มีค่าสูง  ยิ่งแสดงว่าเงิน 1 บาทของผู้ถือหุ้นก่อให้เกิดกำไรยิ่งมาก  แสดงถึงคุณภาพของบริษัทยิ่งดี  ผู้ถือหุ้นมีโอกาสจะได้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลก็สูงขึ้น  หรือเงินทุนจากกำไรถ้านำไปลงทุนต่อก็มีโอกาสสร้างกำไรในอนาคตต่อ  ช่วยเพิ่มโอกาสการได้รับ Capital Gain ในอนาคตต่อไป ดร.นิเวศน์ แนะนำว่าบริษัทที่น่าสนใจควรมี ROE ประมาณ 15% ขึ้นไป

         ฐานะการเงินหรือหนี้สิน  
             ดร.นิเวศน์  เสนอแนะว่า VI ชอบบริษัทที่มีหนี้น้อย  และกลัวบริษัทที่มีหนี้มาก  โดยเฉพาะถ้าเป็นบริษัทที่มีผลกำไรไม่ค่อยแน่นอน  และพยายามโตเร็วโดยการก่อหนี้  แม้ว่าถ้าสำเร็จจะได้กำไรมาโดยไม่ต้องเพิ่มทุน  ทำให้ ROE สูงแต่ถ้าเกิดการผิดพลาด  ภาระหนี้ที่สูงต้องจ่ายทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นจำนวนมาก  ถ้าผลดำเนินงานไม่ดี  จะส่งผลกระทบทางลบต่อฐานะการเงิน  บางกรณีอาจล้มละลายได้  ดร.นิเวศน์  ให้เราลองสมมติว่าเป็นเจ้าของ  ถ้าต้องรับภาระหนี้สูงมากๆ เราคงรับไม่ได้และไม่มีความสุข  บริษัทที่มีหนี้มากจึงไม่น่าสนใจ

         ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด
             กระแสเงินสดที่ดีมาจากการมี "กำไรเป็นเงินสดสูง"  มักขายสินค้าเป็นเงินสด  ขณะที่ซื้อวัตถุดิบเป็นเงินเชื่อ  มักไม่ค่อยลงทุนมากในการที่จะรักษายอดขายหรือขยายกิจการต่อไป  หุ้นบริษัทที่มีเงินสดมากและมีกระแสเงินสดที่ดี  มักจะจ่ายปันผลได้ในอัตราที่สูง  และมักปลอดหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน  ทำให้ความเสี่ยงของบริษัทลดลงมาก

         ผู้บริหาร
             นักลงทุน VI ควรติดตามข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบรรษัทภิบาลของผู้บริหารด้วย  เพราะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของกิจการอย่างหนึ่ง  เช่น  มีประวัติเสียหาย  ทุจริต  ผิดจริยธรรม  เอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย  มีการฟอกเงินออกจากกิจการ  อย่างนี้นักลงทุน VI ควรหลีกเลี่ยงแม้ว่าผลประกอบการจะดีเพียงใดก็ตาม  เพราะในระยะยาวกิจการยากที่จะดีไปได้