Tuesday, February 25, 2014

ปรัชญาหลักในการลงทุน VI แบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)



            หลักปรัชญาในการลงทุน (ซึ่งจะส่งผลไปยังวิธีในการลงทุน) ของ วอเร็น  บัฟเฟตต์  อาจหาอ่านได้ในหนังสือการลงทุนตามสไตล์ของ  วอเร็น  บัฟเฟตต์ซึ่งมีมากมาย   แต่ในฐานะผู้ตีความคนหนึ่ง  ผมขอสรุปไว้สั้นๆ 3 ข้อหลัก  ดังนี้

            1.ลงทุนในธุรกิจที่คุณเข้าใจ

                  วอร์เร็น  บัฟเฟตต์  แนะนำว่าการจะลงทุนในหุ้นของธุรกิจอะไรสักอย่าง เราควรจะรู้จักสิ่งที่เรากำลังจะเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง  นอกจากเข้าใจแล้วจะต้องทำวิจัยก่อนตัิดสินใจซื้อด้วย  ในการลงทุนในหุ้นเราอาจลองใช้แนวคิดเหมือนกับเรากำลังจะลงทุนในธุรกิจนั้นๆ  ถ้าเราจะเปิดร้านอาหาร เราก็คงต้องตอบคำถามหลายอย่าง  เช่น
  • เรากำลังจะขายอะไร
  • สินค้าและบริการคืออะไร
  • ลูกค้าของเราคือใคร
  • เขามีความต้องการอย่างไร
  • วิธีการผลิตและบริการเป็นอย่างไร
  • คู่แข่งเป็นอย่างไร
  • ความพร้อมและความสามารถของผู้บริหารและพนักงานเป็นอย่างไร
  • ราคา  ต้นทุน  และกำไรเป็นอย่างไร
  • ต้องลงทุนเท่าไร    เป็นต้น
         ถ้าคิดแบบนี้  เวลาสนใจจะลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ทำร้านอาหาร  เราก็คงต้องวิเคราะห์เพื่อทำทความเข้าใจแบบนี้เช่นกัน  แต่การลงทุนในหุ้นจะมีข้อดี  คือ  เราไม่ต้องเหนื่อยไปบริหารธุรกิจเอง  เพราะมีผู้บริหารมืออาชีพคอยดูแล  เราเพียงแต่คอยติดตามวิเคราะห์ดูว่าบริษัทจดทะเบียนยังดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี  เติบโต  กำไรดี  ผลตอบแทนดี  มีความมั่นคงอยู่เสมอหรือไม่

         วอเร็น  บัพเฟตต์  มักจะกล่าวว่า "ผมไม่เข้าใจเทคโนโลยี ดังนั้น ผมจึงไม่ลงทุนในกลุ่มนี้"  ไม่ได้หมายความว่า  ธุรกิจเทคโนโลยีไม่ดี  ไม่มีอนาคตแต่  วอเร็น  บัฟเฟตต์  อธิบายว่าเขาไม่ถนัดในการทำความเข้าใจกับธุรกิจดังกล่าว ทำให้ไม่มั่นใจที่จะคาดการณ์สภาพของธุรกิจในอนาคต  ซึ่งส่งผลต่อความไม่เข้าใจในการคาดการณ์กระแสเงินสด  และการประเมินมูลค่าของธุรกิจนี้  เขาจึงไม่กล้าลงทุน

          ลองสังเกตหุ้นที่อยู่ในพอร์ตของธุรกิจลงทุนอย่างยาวนานของ  วอเร็นบัฟเฟตต์ เช่น
  • การลงทุนในหุ้นของโรงงานสิ่งทอ  เบิร์กไซร์  ฮาธาเวย์  ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจการลงทุนของ วอเร็น  บัฟเฟตต์  แทนแต่ในตอนที่เขาซื้อหุ้นของโรงงานสิ่งทอนี้  วอเร็น  บัฟเฟตต์  ต้องการลงทุนในธุรกิจสิ่งทอจริงๆ เพราะในยุคทศวรรษ 1960 ธุรกิจสิ่งทอยังขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ  ซึ่งวอเร็น  บัพเฟตต์  ศึกษาธุรกิจนี้มาอย่างถ่องแท้แม้ธุรกิจสิ่งทอจะถูกวิพากณ์วิจารณ์ว่าเป็นธุรกิจในเศรษฐกิจแบบเก่า  แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็น  อย่างไรก็ดี ในทศวรรษ 1980 ธุรกิจสิ่งทอในสหรัฐฯ  เผชิญกับการแข่งขันจากสิ่งทอของประเทศจีน  และประเทศกำลังพัฒนา  ทำให้สภาพแวดล้อมเปลีื่ยนไป  วอเร็นจึงเปลี่ยนบริษัทสิ่งทอนี้เป็นธุรกิจการลงทุนแทน  แม้ว่าวอเร็น บัฟเฟตต์จะเห็นว่าการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจสิ่งทอนี้เป็นความผิดพลาด  แต่ในตอนที่ตัดสินใจซื้อ  เขาใช้หลักการที่เกี่ยวกับ "การลงทุนในธุรกิจที่คุณเข้าใจ" แต่บทเรียนที่ได้มาเพิ่มเติมก็คือ  "เราต้องเข้าใจมันตลอดทุกช่วงเวลาด้วย"
  • การลงทุนในหุ้นบริษัทประกันภัย GEICO หุ้นบริษัทเครื่องดื่มโคคา-โคล่า  หรือหุ้นบริษัทหนังสือพิมพ์ เดอะ วอชิงตันโพสต์  ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยงข้องกัีบชีวิตในอดีตที่ผ่านมาของวอเร็น  ที่เขามีประสบการณ์ได้ทำงานเกี่ยวข้องหรือมีโอกาสได้วิเคราะห์จนเข้าใจในธุรกิจเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง  จนแน่ใจใจความมั่นคง  และโอกาสการเติบโตของธุรกิจเหล่านั้น  ซึ่งนำไปสู่การประมาณการมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ  และเมื่อนำมาเทียบกับราคาตลาดของหุ้นที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับมูลค่าของบริษัท  เหมือนกับได้ "ของดี  ราคาถูก" ทำให้มีส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety)  ถ้าในอนาคตราคาหุ้นขึ้นไปตามมูลค่า  ก็จะได้ผลตอบแทนสูง (เพราะซื้อมาราคาถูก) หรือถ้าราคาหุ้นเคลื่อนไหวขึ้นลง  เราก็จะไม่ตกใจมาก เพราะซื้อมาในราคาถูก  จึงทนต่อความผันผวนได้มากกว่า
        จะเข้าใจในธุรกิจได้ต้องทำอย่างไรบ้าง
          
              วอเร็น บัฟเฟตต์ ให้กำลังใจว่า  นักลงทุนรายย่อยก็สามารถศึกษาวิจัยธุรกิจได้ไม่ต้องกลัวว่าเป็นศาสตร์ขึ้นสูง  ต้องเป็นนักวิเคราะห์  นักวิชาการเท่านั้นที่ทำได้  วิธีการศึกษาธุรกิจ  ซึ่งต้องเป็นไปตลอดช่วงเวลาการลงทุน  (ซื้อ, ถือ และขายออก)  พอสรุปได้ดังนี้
  • อ่าน วิเคราะห์  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกาับการดำเนินธุรกิจ  เช่น ประวัิตกิจการสินค้าและบริการ  ตลาด  คู่แข่ง  ฐานะทางการเงิน  และผลการดำิเนินงาน  เป็นต้น
  • เข้าใจหลักการพื้นฐานของบัญชี  การวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทเพราะบัญชีเป็นภาษาของธุรกิจ  ภาพคตวามสำเร็จหรือไม่สำเร็จทางธุรกิจจะสะท้อนออกมาที่งบการเงิน
  • ไปเยี่ยม  สำรวจ  และสัมภาษณ์กิจการ
  • เข้าร่วมประชุมประจำปี  รู้จักผู้บริหารของบริษัท
  • ฯลฯ
      กล่าวกันว่าในแต่ละวันของ  วอเร็น  บัฟเฟตต์ และทีมงานใช้เวลามากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันในการศึกษาข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ และการใช้เวลาอาจนานกว่านี้โดยเฉพาะในช่วงที่รายงานประจำปีที่สรุปรวมภาวะการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ออกมาสู่สาธารณชน

      และเนื่องจากข้อมูลต่างๆ มีมาก นักลงทุนจึงต้องเรียนรู้วิธีที่จะย่อยข้อมูลและนำเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์  ซึ่งอาศัยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ  เช่น  การบริหารเชิงกลยุทธ์  การบริหารการตลาด  การบริหารการผลิด  การบริหารบุคลากร  และการบริหารการเงิน  เข้ามาช่วยใจการวิเคราะห์  เพื่อหาข้อสรุิปว่าธุรกิจนั้นยังดีและคุ้มค่าที่จะลงทุนต่อไปหรือไม่

       2.ลงทุนในตลาดสินค้าและบริการ

       วอร์เรน  บัฟเฟตต์  ใช้คำเปรียเทียบให้เห็นภาพว่า  เวลาเลือกลงทุนให้คิดว่ากำลังลงทุนในเมนสตรีท (Main Street) ไม่ใช่ วอลล์สตรีท (Wall Street)

       คำว่า "เมนสตรีท" (Main Street) คือ ธุรกิจที่มีการดำเนินงานอยู่แล้วและเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ทำธุรกิจแบบยั่งยืนไม่ใช่ธุรกิจตามกระแส  ส่วนการลงทุนใน "วอลล์สตรีท" (Wall Street) เป็นการเปรียบเปรยว่าเป็นการดำเนินธุรกิจในโลกทีจับต้องไม่ได้  เป็นแค่สัญญาณการซื้อขาย  สัญญาณราคาจับต้องไม่ได้

       วอร์เร็นให้ความเห็นว่าการที่เรารู้จักสิ่งที่เราเป็นเจ้าของ  ทำให้เราสามารถเน้นการลงทุนไปที่ถนนสายหลัก (Main Street) หรือตัวธุรกิจ  แม้ว่าเราจะซื้อมันจากตลาดหุ้น (Wall Street) แต่เราก็จะไม่ตกใจง่ายๆ กับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น  เพราะทุกครั้งเราจะกลับไปดูที่ตัวธุรกิจว่ามันยังดีอยู่ไหม  แนวคิดนี้จึงเป็นการย้ำให้นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าเห็นว่า  "ความมั่งคั่ง...  เกิดจากเมนสตรีทมากกว่าวอลล์สตรีท" 

      ค้นหาธุรกิจที่ดีบนเมนสตรีท
    
           เวลาเราค้นหาธุรกิจดีที่น่าในใจจะลงทุน  วิธีหนึ่งที่ควรทำก็คือเดินไปในย่านเศรษฐกิจของเมือง  สอดส่ายสายตาคอยดูว่าประชาชนทั่วไปจับจ่ายใช้สอยอะไร  ร้านค้าบางร้าน  บริษัทบางแห่ง ทำไมจึงขายดี  ทำเลที่ตั้งดี  หรือเพราะสินค้าบริการถูกใจลูกค้า  หรือเราอาจเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เข้าไปซื้อน้ำผลไม้ยี่ห้อที่เราโปรดปราน  แล้วอาจจะฉุกใจคิดว่า  จะมีคนอีกเท่าไรที่มีรสนิยมแบบเรา  ขนาดตลาดของน้ำผลไม้แบบนี้มีอยู่เท่าใด  และเป็นส่วนแบ่งการตลาดของน้ำผลไม้ยี่ห้อนี้อยู่เท่าใด  นี่คือตัวอย่างของการเข้าไปหาธุรกิจที่ดีบนเมนสตรีท  ซึ่งแนวคิดการลงทุนแบบนี้ให้คิดเสมือนว่าเรากำลังจะทำธุรกิจแบบนี้ด้วยตัวของเราเอง

            ส่วนประเด็นต่อมา  ถ้าบริษัทที่เราสนใจนั้นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย  อย่างนี้ถือว่าอยู่ในวอลล์สตรีท  ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีที่จะสามารถขอเข้าไปลงทุนร่วมได้ง่าย  โดยเข้าไปซื้อหุ้นเก็บไว้ผ่า "วอลล์สตรีท" แต่เราจะสบายใจมากกว่าเดิม  เพราะผ่านการวิเคราะห์บน "เมนสตรีท" มาแล้ว

       การลงทุนในเมนสตรีท  เป็นการลงทุนระยะยาว 

           วอร์เรน  บัฟเฟตต์ ใช้คำพูดที่โดนใจมาก  เมื่อถูกถามว่า "ทำอย่างไรจึงจะรวยเร็ว" เขาตอบว่า "ตลาดหุ้น (วอลล์สตรีท)  เป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวที่คนขับรถโรลส์รอยซ์ได้รับคำแนะนำจากคนนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน"  ซึ่งตีความหมายได้ว่า  คนนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินก็คือประชาชนทั่วไปนั่นเอง  เขาใช้ชีวิตอย่างไร  บริโภคอะไร  วอร์เร็นจึงลงทุนในบริษัทที่ผลิตอิฐ  สีทาอาคาร  ฉนวนกันความร้อน  พรม เครื่องดูดฝุ่น  เครื่องประดับอัญมณี  เฟอร์นิเจอร์  เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น  หลายบริษัทที่วอร์เร็นเข้าไปลงทุน  เขาเริ่มจากการเป็นเจ้าของกิจการบางส่วนโดยซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์  ไปสู่การซื้อเพื่อเป็นเจ้าของกิจการ  โดยซื้อเพิ่มเรื่อยๆ  ถือหุ้นไว้ในระยะยาว  ถ้าบริษัทมั่นคงดีกำไรสูง  มูลค่าหุ้นก็จะสูงขึ้นด้วย  กลยุทธ์การลงทุนแบบนี้มีผลทำให้ในระยะยาวมูลค่าพอร์ตการลงทุนของวอร์เร็นก็เปลี่ยนไปด้วย

           จะเห็นได้ว่า  ในพอร์ตลงทุนของวอร์เร็น ในปี 1997  ลงทุนในหุ้นสามัญถึง 73% ของสินทรัพย์และลดลงเหลือ 26% ในปี 2002 โดยไม่มีการขายหุ้นออกเลย  แต่ขณะที่ได้เข้าซื้อหุ้นธุรกิจที่ดีเิ่พิ่ม  จนมีสัดส่วนจาก 4% ของสินทรัพย์เป็น 30% ในอีก 5 ปีต่อมา  ถ้าบริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้ดี  ราคาหุ้นที่สูงขึ้น  ก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนของเขามีมูลค่าสูงขึ้น  เพิ่มโอกาสในการไปซื้อกินการเมนสตรีทดีๆ เพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก้ดี วอร์เร็นจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อขายกิจการแบบไม่เป็นมิตร  และพนักงานทั้งหมดจะยังคงทำงานอยู่ต่อไปเมื่อเขาซื้อกิจการ

           การลงทุนสไตล์แบบวอร์เรน  บัฟเฟตต์  มีลักษณะที่ขัดแย้งกับการลงทุนทั่วไปในวอลล์สตรีท  นักซื้อขายหลักทรัพย์หรือเทรดเดอร์ในวอลล์สตรีทหารายได้จากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น  ซึ่งตรงข้ามกับวอร์เร็นที่สร้างความมั่งคั่งและทำกำไรจากผลประกอบการของแต่ละธุรกิจที่เขาลงทุน  เขาเน้นและจำกัดการลงทุนในบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง  เวลาประเมินบริษัท  เขาไม่ใช้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของบริษัท  แต่จะวัดจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตามบัญชีในแต่ละปี 

            โดยสรุปแล้ว  วิธีการของ  วอร์เร็น  บัฟเฟตต์  ที่ลงทุนในเมนสตรีทเป็นเรื่องการวิเคราะห์ธุรกิจดีๆ เพียง 1-2 ธุรกิจ  เขาเจาะลึกศึกษางบกำไรขาดทุน  งบดุล  ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น  ความต้องการเงินทุน  หนี้สิน  มูลค่าที่แท้จริง  จริยธรรมของผู้บริหาร  ค่านิยมของผู้บริหาร  บุคลิกของผู้บริหาร  ความภักดีของลูกค้า  พนักงานและเจ้าของ  เขาเห็นว่าการลงทุนแบบวอลล์สตรีท  ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ กำลังกระทำ เช่น เข้าซื้อวันนี้แล้วขายออกพรุ่งนี้  มีระยะเวลาสั้นมันไม่เกี่ยวกับมูลค่า  แต่เกี่ยวกับราคาทั้งสิ้น

             Robert P.Mile ผู้เขียนหนังสือ "มั่งคั่งอย่าง วอร์เร็น  บัฟเฟตต์" ได้สรุปวิธีการตรวจสอบกิจการในเมนสตรีทไว้ 3 ประการดังนี้
  • พิจารณาที่ตัวธุรกิจ  เรียบง่ายหรือไม่  อยู่ในอุตสาหกรรมที่เราเข้าใจหรือไม่  เป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงหรือไม่  มีหนี้สินหรือไม่  อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร
  • พิจารณาตัวผู้บริหาร  พวกเขาซื้อสัตย์หรือไม่  แผนการขยายธุรกิจเป็นอย่างไร  ฐานะการเงินดีหรือไม่  สัดส่วนการถือหุ้นในกิจการของพวกเขามากน้อยเพียงใด
  • พิจารณามูลค่าธุรกิจ  กิจการมีมูลค่าที่แท้จริงเท่าใด  สามารถซื้อในราคาถูกหรือไม่

       3.ซื้อเพื่อถือระยะยาว  ซื้อจำนวนมากและของจำนวนน้อย

         เคล็ดลับของวอร์เร็นอยู่ตรงที่ว่า  ถ้าหุ้นบริษัทนั้นถูกพิสูจน์ตลอดเวลาว่าเป็นของดี  เราก็ควรจะ
  • ซื้อเพื่อถือระยะยาว
  • ถ้าเรามีกำลังซื้อสูง  เราควรซื้อมากๆ (ซื้อจำนวนมาก)
  • ของดีจริงๆ มีจำนวนน้อย  ควรซื้อแบบเจาะลึกกับบริษัทเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้น (ของจำนวนน้อย)
         วิธีการดังกล่าวนี้ตรงข้ามกับการซื้อหุ้นเพื่อขายเมื่อมีกำไร  วอร์เร็นเห็นว่า "ถ้าซื้อของดี  คุณไม่จำเป็นต้องรีบขาย  อย่าซื้อเพื่อถือไว้เพียง 10 นาที" ถ้าเราลงทุนเพื่อถือระยะยาว  เราจะคิดถึงหุ้นนี้ต่างจากพวกนักเก็งกำไรและนักค้าหลักทรัพย์  เราจะนึกถึงสิ่งที่จะปกป้องธุรกิจ  ความสุข  และความภักดีของพนักงาน  ผู้บริหาร ลูกค้า ถ้าผู้คนเหล่านี้ยังคงพอใจและทำธุรกิจเติบโตต่อไปได้ มันจะทำให้มูลค่าในระยะยาวของธุรกิจสูงขึ้น  และราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นด้วย

        ข้อมูลการถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทดีๆ เพียงไม่กี่แห่งของวอร์เร็น  บัฟเฟตต์  สรุปได้ดังนี้

ข้อมูลการถือหุ้นระยะยาวของ  วอร์เร็น  บัฟเฟตต์  สรุปดังนี้

             ความสำคัญจองการซื้อเพื่อถือระยะยาวในแบบของ  วอร์เร็น  บัฟเฟตต์ ก็คือ  การต้องตรวจสอบตลอดเวลาว่าหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ยังคงดีอยู่  สมควรอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของเราต่อไปหรือไม่  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทนั้นยังคงดีอยู่  วอร์เร็นแนะนำให้ใช้แบบจำลองที่เรียกว่า "Circle of Competence" ซึ่งแสดงได้ด้วยรูปดังนี้



              Circle  of competence

                     จากรูป  เราอาจเรียก Circle of Competence นี้ว่า  การกำหนดขอบเขตความสามารถของบริษัท (ที่เราสามารถเข้าใจได้) บริษัทที่ดีควรจะมีองค์ประกอบพร้อมเพรียงทั้ง 3 ด้าน (ส่วนสีทึบที่วงกลม 3 วงทับซ้อนกัน)

              Outstanding Business  หมายถึง  ความโดดเด่นทางธุรกิจ  ได้แก่
  • ธุรกิจเรียบง่าย  เข้าใจได้
  • มีงบดุล (ฐานะการเงิน)  ที่เข้มแข็ง
  • มีภาวะเศรษฐกิจที่ดี (เช่น  กระแสเงินสดดีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง)
  • มีความได้เปรียบในการแข่งขัน
              Top-notch  Managers หมายถึง  ความสามารถในการบริหารงาน ได้แก่
  • มีผู้บริหารที่มีความสามารถ
  • จัดสรรเงินทุนอย่างมีเหตุผล
  • ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้น
  • ผู้บริหารมีส่วนการเป็นเจ้าของ
               Attractive  Prices หมายถึง  ราคาดี  น่าสนใจ
  • ราคาตลาดปัจจุบัน  ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (ของดีราคาถูก)
              สิ่งที่เราควรทำก็คือ  การค้นหาบริษัทที่ดีมากๆ ซึ่งอาจมีอยู่ไม่มากในพื้นที่สีทึบข้างต้น  ซึ่งในกระบวนการวิเคราะห์  ต้องใช้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ (วัดได้)  และข้อมูลเชิงคุณภาพ (วัดไม่ได้) ประกอบกัน
            
              ผมขอจบแนวคิดและปรัชญาหลักในการลงทุนแบบ วอร์เร็น  บัฟเฟตต์   ไว้ที่ตอนนี้  ในความเป็นจริงเนื้อหาหรือเรื่องราวการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของ  วอร์เร็น  บัฟเฟตต์  ยังอาจมีรายละเอียดอยู่อีกมากมายกว่านี้  ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมต่อไปได้  แต่ส่วนที่สรุปมาให้นี้หวังว่าพอเป็๋นภาพเบื้องต้นที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มีความชอบการลงทุนสไตล์แบบนี้  เริ่มต้นนำไปใช้ประยุกต์กับการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวต่อไปคับ