Sunday, February 23, 2014

วิธีเปรียบเทียบหุ้นถูก-หุ้นแพง คุณภาพ VS ราคาหุ้น ลงทุนหุ้น VI

       

                ในการซื้อของเรามักจะเปรียบเทียบคุณภาพสินค้ากับราคา  เราชอบซื้อสินค้าคุณภาพสูงแต่ราคาต่ำ  หลายคนแย้งว่า  คุณภาพสูงแต่ราคาต่ำนั้นไม่มี  สินค้าที่ราคาต่ำก็มักจะมีคุณภาพต่ำไปด้วย  อย่างน้อยคนส่วนใหญ่ก็คิดอย่างนั้น

          ในชีวิตประจำวันของคนเรา  มีคนหลายๆ คนที่นิยมใช้สินค้าคุณภาพสูง เช่น เสื้อยี่ห้อโปโล รองเท้าไนกี้  นาฬิกาสว๊อต  กีตาร์มาร์ติน หรือ Gibson  แต่ไม่ใคร่จะมีสตางค์มากนัก  เรียกว่า  รสนิยมสูงแต่รายได้ต่ำ  คนเหล่านั้นไม่หมดความหวังที่จะได้สินค้าดังกล่าว  วิธีการก็คือ  คุณๆ เหล่านั้นจะหมั่นหาข้อมูลของสินค้านั้นๆ เป็นประจำ  วันดีคืนดีก็อาจจะเจอสินค้าเป้าหมายประกาศลดราคาแบบ Amazing Sale คือลดลงมา 40 - 70 เปอร์เซนต์ก็มี  คนกลุ่มนี้ก็จะไม่รอช้า  รีบซื้อสินค้าทันที  เพราะเฝ้ารอดูราคาสินค้ามานาน  เมื่อวานยังเห็นติดป้าย  7,000 บาท  แต่วันนี้สินค้าตัวเดียวกัน  ราคาเหลือ 3,500 บาท  ก็ต้องรีบตะครุบทันทีก่อนที่ของหมด

       เรื่องนี้  ผมเห็นว่าเอามาใช้กับเรื่องของการซื้อหุ้นได้  นั่นคือ  คุณต้องรู้ก่อนว่า  หุ้นบริษัทไหนดี  ราคาควรจะเป็นเท่าไร  เสร็จแล้วเฝ้ารอว่า  เมื่อไหร่หุ้นตัวนั้นจะลดราคาขายแบบ Grand Sale คือราคาตกลงมาจากราคาที่ควรจะเป็นอย่างมหาศาล  เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น  คุณต้องรีบซื้อหุ้นตัวนั้นในทันทีเพราะถ้าช้า  ราคาอาจขึ้นกลับไปที่เดิม  และคุณซื้อไม่ลง

       คุณภาพของหุ้น

         หุ้นคุณภาพดีนั้น  เราวัดที่ความสามารถในการทำกำไรว่า  กำไรของบริษัทเติบโตมากน้อยแค่ไหน  พูดให้ชัดก็คือ  กำไรต่อห้น (Earnning per Share : EPS)  เติบโตปีละกี่เปอร์เซนต์โดยเฉลี่ย

         การเจริญเติบโตที่ว่านี้  จะต้องเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 5-6 ปีข้างหน้าเพราะฉะนั้นบางบริษัทที่มีกำไรก้าวกระโดดมากๆ เป็น 100 เปอร์เซนต์ต่อปี  เช่น กรณีของบริษัทสื่อสารโทรศัพท์มือถือในช่วงแรกๆ  ของการดำเนินงานนั้นเราจะถือว่าบริษัทนั้นเติบโต 100 เปอร์เซนต์ต่อปีไม่ได้  เพราะถ้าให้โตอย่างนี้เพียงแค่ไม่กี่ปี  บริษัทก็จะมีกำไรมากกว่ากำไรของบริษัทอื่นๆ ทั้งหมดรวมกันในเวลาไม่กี่ปี  ดังนั้นเราจะต้องลดปริมาณการเติบโตนี้ลงมา  ไม่ใช่เหลือ 50 เปอร์เซนต์  แต่จะต้องเหลือ 20-25 เปอร์เซนต์ต่อปีเท่านั้น  ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นบริษัทที่มีการเจริญเติบโตสูงมากอยู่แล้ว  เพราะถ้าธุรกิจเติบโตตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ  ก็จะเติบโตเพียงปีละไม่เกิน 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น

         นอกจากการเจริญเติบโตแล้ว  เรื่องของความมั่นคงในการทำกำไรก็เป็นตัววัดคุณภาพที่สำคัญ  กำไรที่ขึ้นๆ ลงๆ ผันผวนมาก  ทำให้คุณภาพของหุ้นหย่อนลง  แต่การวัดเป็นตัวเลขว่า  กำไรของบริษัทมั่นคงมากน้อยแค่ไหนนั้นยุ่งยาก  เอาเป็นว่า  คุณรู้อยู่ในใจว่าคุณภาพในด้านความมั่นคงของกำไรบริษัทดีหรือเลวอย่างไร  แค่ไหน  โดยไม่ต้องวัดค่าออกมาเป็นตัวเลข

         นอกจากความมั่นคงของกำไรแล้ว  คุณภาพของบริษัทยังดูได้จากความเข้มแข็งของสินค้าของบริษัท  ฐานะการเงิน  และอื่นๆ อีกมาก  ซึ่งผลได้กล่าวถึงไว้แล้ว  แต่วัดออกมาเป็นตัวเลขตัวเดียวยาก  ดังนั้นในชั้นนี้  สิ่งที่เราสนใจและจะนำมาเป็นบรรทัดฐานในการดูว่าธุรกิจมีคุณภาพดีแค่ไหนก็คือ  การเจริญเติบโตของกำไรต่อหุ้นของบริษัท

         ถ้าจะถามว่า  โตเท่าไรถึงจะเรียกว่าดี  ผมใช้สามัญสำนึกและประสบการณ์เสนอว่า

  • ถ้าโตต่ำกว่า 7 เปอร์เซนต์ต่อปี   ถือว่าเป็นประเภทโตช้า
  • 7-15 เปอร์เซนต์ต่อปี  ถือว่าโตปานกลาง และ
  • 15 เปอร์เซนต์ขึ้นไป  ถือว่าโตเร็ว  หรือเป็นหุ้นคุณภาพดี
       ในการที่จะคำนวณว่า  หุ้นตัวที่เราสนใจนั้นโตปีละกี่เปอร์เซนต์  บางทีผมขี้เกียจจะคำนวณ  เพราะต้องหาข้อมูลย้อนหลังมาก  นอกจากนั้นถึงจะได้ข้อมูลมาและคำนวณได้ว่าโตกี่เปอร์เซ็นต์ในอดีต  ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าอนาคตจะโตกี่เปอร์เซนต์  เพราะอนาคตไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกับอดีต  ถ้าอย่างนั้น  ผมใช้อะไรวัด ?

        ใช้กึ๋นครับ !!

        ผมจะดูว่า  บริษัทนั้นทำอะไร  ถ้าเป็นธุรกิจสิ่งทอ  ผมคิดว่าตอนนี้บ้านเรามีเสื้อผ้าใส่กันเกือบทุกคน  เด็กใหม่ก็เกิดน้อย  ผู้ผลิตเสื้อผ้าก็มีเต็มไปหมดเพราะฉะนั้นสิ่งทอหน้าจะเป็นธุรกิจที่โตช้า  ผมให้โตอย่างมาก 5-7 เปอร์เซนต์ต่อปี

         ส่วนเป๊ปซี่นั้น  ถึงแม้คนไทยจะเพิ่มขึ้นไม่มาก  แต่คนมีเงินมากขึ้น  เด็กๆ เริ่มโตเป็นวัยรุ่นมากขึ้น  คนเหล่านี้นิยมดื่มน้ำอัดลมมากขึ้น   ผมให้คะแนนว่าเป็นบริษัทที่น่าจะเติบโตปานกลางสัก 12 เปอร์เซนต์ต่อปี  

         ส่วนหุ้นพิซซ่า, แกรมมี่ หรือโทรศัพท์มือถือ  พวกนี้เป็นเรื่องของ New Generation  หรือคนรุ่นใหม่  มาทีหลังเป๊ปซี่นาน  เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเติบโตเท่ากับแป๊ปซี่  ซึ่งมีขายอยู่แล้วแทบทุกหมู่บ้านในประเทศไทย  ดังนั้นสำหรับพิซซ่าหรือแกรมมี่  หรืออินเตอร์เนต  อาจจะถือเป็นธุรกิจที่โตเร็ว  คุณภาพสูงและมีการเจริญเติบโตของกำไรต่อหุ้น 15-20 เปอร์เซนต์ต่อปี


         ราคาหุ้น

         ต่อมาก็คือ  วิธีการดูว่า   หุ้นมีราคาถูกหรือแพง  ซึ่งดูง่ายกว่าเรื่องคุณภาพ

         ยกตัวอย่างเช่น  หุ้น  ก. มีราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เท่ากับ 100 บาท  ส่วนหุ้น ข. มีราคา 10 บาท  แปลว่าหุ้น ก. เป็นหุ้นแพง และหุ้น ข. เป็นหุ้นถูกใช่หรือไม่ ?

         คำตอบคือ "ไม่ใช่!!"
 
         หุ้น ก. เป็นหุ้นราคาสูง  แต่อาจจะไม่แพง  ในขณะที่หุ้น ข. เป็นหุ้นราคาต่ำแต่อาจจะแพงมาก  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า  กำไรต่อหุ้นของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไร ถ้าบริษัท ก. มีกำไรต่อหุ้น 20 บาทต่อปี  ในขณะที่บริษัท ข. มีกำไรเพียง 1 บาทต่หุ้น  ก็แปลว่า ถ้าเราต้องการผลตอบแทน 20 บาทต่อปี เราต้องลงทุนซื้อหุ้น ก. 1 หุ้นในราคาหุ้นละ 100 บาท หรือเราจะซื้อหุ้น ข. เราก็จะต้องซื้อถึง 20หุ้น คิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายถึง 200 บาท เห็นได้ชัดว่า หุ้น ข. แพงกว่าหุ้น ก. ถึงหนึ่งเท่าตัว

        ในการที่จะดูว่าหุ้นถูกหรือหุ้นแพงนั้น  เราต้องเปรียบเทียบราคาหุ้นกับผลกำไรต่อหุ้นดังที่กล่าว  อัตราส่วนนี้มีชื่อเรียกว่า P/E Ratio หรือ ค่า P/E ซึ่งหาโดยใช้ราคาหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้นในระยะเวลา 1 ปี เรียกทัพศัพท์เป็นภาษาไทยว่า  พีอีเรโช

       ในกรณีของหุ้น ก. ค่า P/E เท่ากับ 100/20 หรือเท่ากับ 5 เท่า  ขณะที่หุ้น ข. มีค่า P/E เท่ากับ 10/1 หรือ 10 เท่า  ในกรณีอย่างนี้  ถือว่าหุ้น ก. ถูกกว่าหุ้น ข.

      กล่าวโดยสรุปก็คือ  หุ้นที่มีค่า P/E สูง  ถือว่าเป็นหุ้นแพง ส่วนหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำถือเป็นหุ้นถูก
       
      P/E ขนาดไหนถึงจะเรียกว่าแพง  และขนาดไหนถึงจะเรียกว่าถูก เราอาจเปรียบเทียบกับ P/E ของหุ้นทั้งตลาด  ซึ่งก็แสดงอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน เช่น ภาวะปัจจุบัน P/E ทั้งตลาดอยู่ที่ประมาณ 10 เท่า ฉะนั้นหุ้นที่มี P/E เกิน 10 เท่า ก็ถือว่าแพงกว่าหุ้นในตลาดโดยเฉลี่ย  ส่วนหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำกว่า 10 เท่า ก็ถือว่าเป็นหุ้นที่ราคาถูกกว่าหุ้นอื่นๆ โดยทั่วไป

     ในบางครั้ง P/E ของตลาดเคยขึ้นไปสูงถึงเกือบ 30 เท่า นั่นคือ ช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์บูมมาก ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยจึงมีราคาแพงมาก  ในขณะที่ปัจจุบัน P/E อยู่ในระดับประมาณ 10 เท่า ถือว่าหุ้นโดยทั่วไปในช่วงนี้ถูกสุดๆ

     แต่ถึงหุ้นจะถูก  ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรซื้้อ  เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวแล้วว่า  ราคาต้องเปรียบเทียบกับคุณภาพเสมอ  หุ้นราคาถูกแต่เน่า  จะเอาไปทำอะไร?

     คุณภาพ VS ราคาหุ้น 

       ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของหุ้นนั้น  จะต้องเปรียบเทียบระหว่างคุณภาพของหุ้นหรือของกิจการกับราคาหุ้นที่จะซื้อ  ซึ่งหลังจากที่ได้อธิบายว่าจะวัดคุณภาพออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างไร  และราคาจะต้องปรับอย่างไรเพื่อให้ได้มาตรฐาน  เราก็สามารถนำมิติทั้งสองด้านนั้นมาเปรียบเทียบกัน  ก็จะได้อัตราส่วนความคุ้มค่าเรียกว่า  PEG  Ratio ซึ่งเกิดจากการเอา P/E ของหุ้นตั้งและหารด้วย G (Growth) หรือการเจริญเติบโตของกำไร

       ถ้าอัตราส่วนออกมาน้อยกว่า 1 เท่า หรือค่า P/E ต่ำกว่าการเจริญเติบโตของกำไร  แสดงว่าหุ้นมีราคาถูก  เพราะราคา (ซึ่งแทนด้วยค่า P/E) ต่ำกว่าคุณภาพ (ซึ่งแสดงด้วยการเจริญเติบโตของกำไร)

       ในทางตรงกันข้าม  ถ้า PEG มีค่ามากกว่า 1 เท่า หรือค่า P/E สูง  แต่การเจริญเติบโตต่ำ  แสดงว่าหุ้นมีราคาแพงเกินกว่าคุณภาพ  ไม่น่าสนใจที่จะซื้อ

       ย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องของหุ้น ก. ซึ่งมี P/E เพียง 5 เท่า และหุ้น ข. ซึ่งมี P/E 10 เท่า  เราบอกว่าหุ้น ก. มีราคาถูก และหุ้น ข. มีราคาแพง แต่ถ้าสมมติว่า  กำไรของบริษัท ก.นั้น ถึงแม้ว่าจะมาก  แต่วิเคราะห์ดูแล้ว อนาคตคงไม่เติบโตขึ้นอีกเท่าไร  ประมาณให้เพียง 2.5 เปอร์เซนต์ต่อปี  ในขณะที่บริษัท ข. นั้นกำไรมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปอีกมาก  เพราะอยู่ในธุรกิจที่โตเร็ว และบริษัทเป็นผู้นำ  คาดว่าจะโตถึง 20 เปอร์เซนต์ต่อปี  ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5-6 ปีข้างหน้า  คำนวณค่า PEG พบว่า  หุ้น ก. มีค่า PEG เท่ากับ 5/2.5 เท่ากับ 2 เท่า  มากกว่า 1 ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน  ในขณะที่หุ้น ข. มี PEG เท่ากับ 10/20 เท่ากับ 0.5 เท่า  น้อยกว่า 1 เป็นหุ้นที่คุ้มค่า น่าลงทุนกว่า

        อย่างไรก็ตาม  การใช้ค่า PEG นั้น โดยส่วนตัวผมไม่ใช้เป็นตัวตัดสินว่าจะเลือกหุ้นบริษัทหนึ่งเหนือหุ้นอีกบริษัทหนึ่ง  โดยดูว่ามีค่า PEG ต่ำกว่าแต่เพียงอย่างเดียว   เพราะค่า G หรือการเจริญเติบโตของกำไรนั้น  เป็นค่าที่เกิดจากการคาดการณ์อนาคตไปหลายปี  เอาแน่เอานอนไม่ได้  แต่ค่า P/E เป็นค่าที่ใกล้เคียงความเป็นจริงกว่า  โดยเฉพาะค่า P หรือราคาหุ้นนั้น  เป็นของจริงที่เราต้องควักกระเป๋าจ่าย

       ดังนั้นในหลายๆ กรณี  ผมจะให้ความสำคัญแก่ค่า P/E มากกว่า เช่น ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีค่า P/E เพียง 3-4 เท่า  ซึ่งถือว่าต่ำมาก แบบนี้แม้ผมจะดูว่ากำไรของบริษัทไม่โตเลย  ก็ยังคุ้มที่จะลงทุนเพราะค่า P/E ที่ 3-4 เท่า   นั้นหมายความว่า  ค่า E/P หรือผลตอบแทนต่อปีของการลงทุนซื้อหุ้น จะเท่ากับ  25-33 เปอร์เซ็นต์  ไม่จำเป็นที่กำไรจะต้องโต  ก็ยังคุ้มที่จะลงทุน

       ในทางตรงกันข้าม  หากค่า P/E สูงมาก เช่น เท่ากับ 20 เท่า  แม้จะดูว่าบริษัทเป็นประเภทเติบโตเร็วไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซนต์ต่อปี  ผมก็อาจจะไม่สนใจซื้อหุ้นตัวนี้  เพราะถ้าการเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาด  ราคาหุ้นอาจตกลงมาได้มาก  เนื่องจากเป็นหุ้นราคาแพง.