Sunday, February 23, 2014

นักลงทุนคนเอก VI ของโลก วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)


ชีวิตส่วนตัว
    วอร์เรน  บัฟเฟต์  เป็นคนที่มีหัวนักลงทุนอยู่ในสายเลือด  เพราะตั้งแต่เป็นเด็กอายุ 13 ขวบ  บัฟเฟตต์ก็เริ่มทำตัวเป็นเถ้าแก่ซื้อเครื่องเล่นเกมพินบอล (Pinball)  เครื่องละ 25  เหรียญ  มาตั้งให้บริการในร้านตัดผม  ซึ่งไม่นานเขาก็มีเครื่องพินบอลถึง 7 เครื่อง  และสามารถทำงานได้สัปดาห์ละ 50 เหรียญ
 
     หลังจากจบปริญญาตรีที่เนบราสกา  ซึ่งเป็นบ้านเกิด  บัฟเฟตก็มุ่งหน้าเข้าเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  ในคณะเศรษฐศาสตร์ที่  เบน  เกรแฮม สอนอยู่  สาเหตุที่บัฟเฟตต์ตั้งใจเข้าโคลัมเบีย  ก็เพราะได้อ่านหนังสือการลงทุนเล่มสุดยอดที่เขียนโดย  เบน  เกรแฮม  นั่นคือ  "The Intellegent  Investor"  "หรือนักลงทุนผู้รอบรู้"  นั่นเอง

   จบจากโคลัมเบีย  บัฟเฟตต์กลับบ้านที่เมือง โอมาฮา  รัฐเนบราสกา  ทำงานในบริษัทโบรกเกอร์เล็กๆ ที่พ่อเขาเป็นเจ้าของอยู่พักหนึ่ง  หลังจากนั้นด้วยจิตใจที่เรียกร้อง  เขากลับไปช่วยงานในบริษัทที่ปรึกษาทางการลงทุนของ เบน เกรแฮม ที่นิวยอร์ค  เพื่อฝึกวิทยยาุทธ์กับ กุนซือ  จนกระทั่งเบน เกรแฮม  เกษียณตนเองในปี พ.ศ. 2499  บัพเฟตต์  ก็กลับบ้านที่โอมาฮาอีกครั้ง  และด้วยวัยเพียง 25 ปี  เขาเริ่มอาชีพรับจ้างลงทุน โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน  รวบรวมเงินจากญาติมิตรสหาย  เริ่มแรกประมาณ 100,000 เหรียญ  โดยตัวเขาเองลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 เหรียญ  กฏเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ง่ายๆ ก็คือ   คนที่ลงทุนได้รับผลตอบแทน 6 เปอร์เซนต์  ต่อปี  บวกกับ 3 ใน 4  ของกำไรส่วนเกิน 6 เปอร์เซนต์  นั้นอีก 1 ใน 4  หรือ 25 เปอร์เซนต์ของกำไร  เป็นค่าจ้างหรือผลตอบแทนที่บัฟเฟตต์จะได้รับ

       จากจุดเริ่มต้นในปี 2500 บัฟเฟตต์ได้เปลี่ยนแหล่งกองทุนจากหุ้นส่วนจำกัด  เป็นบริษัทจำกัด  โดยทำการเทคโอเวอร์กิจการประกันภัยชื่อ  เบิร์กไซร์  ฮาธาเวย์ (Berkshine  Hathaway)  ตั้งแต่ปี 2512 และอาศัยเงินจากธุรกิจประกันในการลงทุนต่อมา  ณ  วันนี้  วอร์เรน  บัฟเฟตต์  กลายเปนบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับสองของอเมริกา  รองจาก บิล เกตส์  และมีทรัพย์สมบัติส่วนตัวในปี 2556 กว่า 70 พันล้านดอล์ล่า 1.5 ล้านล้าน บาท !  พอๆกับงบประมาณที่รัฐบาลกู้มาจากต่างประเทศ !!
   
     ถึงจะร่ำรวยมหาศาล  แต่บัฟเฟตต์ยังใช้ชีวิตที่สมถะมาก  เขายังขับรถไปทำงานเองโดยไม่มีคนขับรถ  ในที่ทำงานเขาไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ดูราคาหุ้น  ส่วนตัวเขาก็เพิ่งจะเรียนวิธีการใช้คอมพิวเตอร์หลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว  เหตุผลที่เรียนก็เพื่อใช้เล่นบริดจ์กับเพื่อนๆ ผ่านอินเตอร์เนต

    หุ้นของเบิร์กไซร์ที่มีการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ  เป็นหุ้นที่มีความพิเศษเฉพาะตัวหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ  เช่น ราคาหุ้นที่มีราคาแพงที่สุดในตลาด  คือราคาหุ้นละกว่าล้านบาท  จนมีอยู่ครั้งหนึ่งไม่สามารถซื้อขายบนจอได้  เนื่องจากตัวเลขมากเกินช่องราคาที่เขาจัดไว้  หุ้นเบิร์กไซร์ไม่เคยจ่ายปันผลเลย  เพราะบัฟเฟตต์เห็นว่า   เขาสามารถนำเงินมาลงทุนได้กำไรดีกว่าเอาไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น  ดังนั้นหุ้นเบิร์กไซร์  จึงขึ้นเอาๆ การประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของเบิร์กไซร์ตอนหลังๆ เป็นที่นิยมมาก  ผู้ถือหุ้นจะมาประชุมจากทั่วประเทศนับพันๆ คน  เพราะอยากมาฟังวอร์เรน  บัฟเฟตพูด  อีกหน่อยอาจจะต้องเปิดสนามกีฬาประชุมกันก็เป็นได้

     ส่วนรายงานประจำปีของบริษัทที่แจกให้ผู้ถือหุ้น   จะเป็นข้อความล้วนๆ ไม่มีสีสัน  และไม่มีโฆษณาชวนเชื่อ  แต่จะเป็นรายงานผลการดำเนินงานและการแถลงของประธานคือ  บัฟเฟตต์   ซึ่งอธิบายอย่างตรงไปตรงมา และมีข้อคิดการลงทุนในหุ้นต่างๆ จนนักเขียนหลายๆ คนนำเอาไปวิเคราะห์และเขียนออกมาเป็นหนังสือกลยุทธ์การลงทุนของ วอร์เรน  บัฟเฟตต์

     
   
         แนวทางการลงทุนของ  วอร์เรน  บัฟเฟตต์   
           บัพเฟตต์มองการลงทุนในหลักทรัพย์เหมือนกับการลงทุนทำธุรกิจ  และธุรกิจที่บัฟเฟตต์สนใจและลงทุนมากที่สุดก็คือ ธุรกิจที่มีแฟรนไชส์ (Franchise Bussiness -- ไม่ใช่ระบบเฟรนไชส์อย่างที่เข้าใจกันเมืองไทย)  ซึ่งก็คือธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรมากกว่าปกติ  เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผู้บริโภคนิยมมากกว่าสินค้าของคู่แข่ง  เช่น โค๊ก, มีดโกนยิลเล็ตต์, หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เป็นต้น ส่วนธุรกิจที่ปัฟเฟตต์จะไม่ลงเลยก็คือ  ธุรกิจที่เขาไม่เข้าใจ  เช่น ธุรกิจคอมพิวเตอร์  ซึ่งรวมถึงคอมพิวเตอร์อย่างไมโครซอฟต์  และธุรกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย

        บัฟเฟตต์เป็นนักลงทุนที่มีปรัชญาและความคิดที่ค่อนข้างจะสุดโต่งในหลายๆ ด้าน  เช่น  ถ้าเขาเชื่อว่าหุ้นที่เขาลงนั้น  มีคุณภาพสูงในแง่ธุรกิจ  เขาก็จะถือหุ้นนั้นไปจนตาย  เขาเคยพูดเล่นๆ ว่า  เมื่อเขาตาย  ขอให้เอาโค้กฝังไปพร้อมกับเขาด้วย  เพราะเขาคิดว่าโค้กเป็นบริษัทที่ดีที่สุดในโลก  บัฟเฟตต์ไม่สนใจภาวะตลาดหุ้นหรือภาวะเศรษฐกิจเลย  เขาบอกว่าตลาดหุ้นจะปิดไปสัก 5 ปี  เขาก็ไม่ได้เดือดร้อน คลาดหุ้นที่เปิดอยู่ในความเห็นของเขาก็คือ  โอกาสที่เขาจะซื้อหุ้นดีราคาถูกเมื่อนักลงทุนตกใจเทขายหุ้นดีๆ ทิ้ง  นั่นเป็นเหตุที่เขาไม่ตามราคาหุ้นวันต่อวัน  และก็ไม่เคยมีจอคอมพิวเตอร์ไว้ดูราคาหุ้นนาทีต่อนาที  อย่างที่นักลงทุนมืออาชีพทั้งหลายทำกัน

      บัฟเฟตต์เห็นว่า  บริษัทที่ดีจริงๆ  นั้นมีไม่มาก  บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์  เป็นบริษัทที่ไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรเด่น  ไม่น่าลงทุน  ดังนั้นตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี  บัฟเฟตต์ลงทุนในหุ้นจำนวนไม่มากนัก  เรียกว่านับตัวได้  แต่หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนอยู่นั้น  เขาจะลงทุนในสัดส่วนที่สูงมาก  คิดเป็นเม็ดเงินเป็นหมื่นล้านบาท  เมื่อลงแล้ว  เขาจะปล่อยให้บริษัทเติบโตไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยจะขายออกไป  เรียกว่าทำตัวเหมือนเจ้าของบริษัท  แต่บัฟเฟตต์จะไม่เข้าไปบริหารกิจการแบบวันต่อวัน  เขาเพียงนั่งในฐานะกรรมการของบริษัทคนหนึ่งเท่านั้น

       แต่สิ่งที่บัฟเฟตต์เน้นมากคือ  เขาจะต้องมีส่วนในการที่บริษัทจะตัดสินใจลงทุนในการสร้างหรือซื้อทรัพย์สินถาวร  เช่น  โรงงานอุปกรณ์  หรือกิจการใหม่  ที่ต้องมีการลงทุนสูงของบริษัทเหล่านั้น

     ถ้าจะสรุปถึงแนวทางการตัดสินใจลงทุนในหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งของวอร์เรน  บัฟเฟตต์  เราอาจจะแยกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

       ด้านธุรกิจ 

           1. ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก  บัฟเฟตต์พูดว่า  ถ้าเขาไม่รู้แน่ชัดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า  บริษัทนั้นจะเป็นอย่างไร  เขาจะไม่ซื้อหุ้นนั้น  เขายกตัวอย่างธุรกิจคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์  ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก  เขาไม่รู้ว่าอีก 5 ปีจะมีอะไรเกิดขึ้น  แบบนี้ค่อนข้างอันตราย

           2.ธุรกิจจะต้องมีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ  ปีแล้วปีเล่า  เขาเห็นว่า  ถ้าธุรกิจกำไรบ้างขาดทุนบ้าง   เขาจะไม่สามารถคำนวณราคาที่ควรจะเป็นของหุ้นตัวนั้น

           3. ธุรกิจจะต้องมีอนาคตที่สดใน  นั่นคือ  ในระยะยาวควรจะโตไปได้เรื่อยๆ คู่แข่งมาทำลายได้ยากมาก  บัฟเฟตต์มักจะคิดว่าธุรกิจที่เขาจะลงทุนนั้นทำยากหรือไม่  ถ้าให้เขาสร้างธุรกิจแบบนั้นขึ้นมา  เขาจะต้องใช้เงินเท่าไหร่  ยกตัวอย่างเช่น  บริษัทโคคา-โคล่า  ซึ่งขายโค้กนั้น  ถ้าให้เงินคุณหนึ่งล้านล้านบาท เพื่อสร้างยี่ห้อน้ำดำชนิดใหม่  ให้มีคนติดเท่าโค้ก  คุณทำได้ไหม  ถ้าคำตอบคือทำไม่ได้! นั่นแสดงว่า  โค้กมีค่าความนิยมมหาศาล  เกินกว่าหนึ่งล้านล้านบาท  และเป็นบริษัทที่เยี่ยมที่บัฟเฟตต์ชอบ

        ด้านการบริหารงาน

        1. บัฟเฟตต์เห็นว่า  ผู้บริหารที่ดีจะต้องมีเหตุผลในการตัดสินใจ  และไม่ทำตามคนอื่น  เช่น เห็นว่าบริษัทคู่แข่งขายสินค้าตัดราคาจนขาดทุน  ตัวเองก็ทำบ้าง  ยอมขาดทุนเพื่อรักษาตลาดอะไรทำนองนั้น

       ในความคิดของบัฟเฟตต์แล้ว  ถ้าขายขาดทุน  หรือต้องทำอะไรที่เสี่ยงเกินไป  เขาจะหยุด  ปล่อยให้คู่แข่งทำไป  จนสถานการณ์ดีขึ้น  เพราะคนอื่น "เจ๊ง"  ตนเองถึงจะเริ่ม "ตะลุย"

       2. ผู้บริหารจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงทุกอย่างให้ผู้ถือหุ้นทราบอย่างตรงไปตรงมา  พูดง่ายๆ  เขารังเกียจผู้บริหารที่ "หมกเม็ด"

       3. ผู้บริหารจะต้องมองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าบริษัทมีเงินสดเหลือมาก  แต่ธุรกิจของบริษัทกำลังตกต่ำหรือเป็นธุรกิจดาวร่วงแล้ว  ผู้บริหารที่ดีน่าจะต้องจ่ายเงินสดนั้นออกมาเป็นปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น  มากกว่าท่จะไปขยายงานหรือไปลงทุนในธุรกิจที่ตนเองไม่ชำนาญ  ซึ่งอาจจะทำให้บริษัทเสียหายได้

        ด้านการเงิน

      1. เนื่องจากบัฟเฟตต์ถือว่าการซื้อหุ้นคือการลงทุนทำธุรกิจ  ดังนั้นธุรกิจที่ดีจะต้องให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าการฝากเงิน

      2. บัฟเฟตต์ชอบธุรกิจที่มีมาร์จินหรือกำไรเมื่อเทียบกับยอดขายสูง  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  ธุรกิจนั้นขายสินค้าที่มีคุณภาพสูง  จึงสามารถตั้งราคาได้สูงเมื่อเทียบกับต้นทุน  ลูกค้าไม่ได้ซื้อเพราะเป็นสินค้าราคาถูก  แต่ซื้อเพราะนิยมในตัวสินค้าหรือยี่ห้อของสินค้านั้น

        ด้านราคาหุ้น

     1.บัฟเฟตต์จะดูว่า  ธุรกิจนั้นมีค่าเท่าไร  พูดง่ายๆ เขาต้องรู้ว่า  ราคาที่ควรจะเป็นของธุรกิจที่เขาจะซื้อนั้นเป็นเท่าไร

      2. เมื่อรู้ว่าราคาที่ควรจะเป็น เป็นเท่าไรแล้ว  บัฟเฟตต์ก็จะดูว่า  เขาสามารถซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่านั้นแค่ไหน  สิ่งสำคัญก็คือ  ต้องต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นพอสมควรที่จะทำให้มี Margin of Safety  คือถ้ามีอะไรผิดพลาด  ราคาที่จ่ายก็ยังไม่แพงเกินไป



   กฏการลงทุนของวอร์เรน  บัฟเฟตต์ 

  1.อย่ายอมขาดทุน
  2.อย่าลืมกฎข้อที่หนึ่ง