Saturday, March 15, 2014

การเอาชนะ "เกมชีวิต" การลงทุนแบบ VI

        

     ตามที่เคยรู้กันมาแล้วว่า  การลงทุนแบบซื้อขายน้อยครั้งนั้นเป็นกลยุทธ์การลงทุนทีชาญฉลาด  การลงทุนแบบนี้จะทำให้คุณสามารถเอาชนะเกมที่สำคัญมากได้นั่นคือ  เกมชีวิต  เรื่องราวต่อไปนี้จะแสดงคำอธิบายของใจความข้างต้น

            ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารเวลาคนหนึ่งได้รับเชิญให้ไปบรรยายในห้องเรียนของนักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) แห่งหนึ่งหลังจากที่เธอได้เกริ่นบทนำไปแล้ว  เธอก็นำกระปุกแก้วใบหนึ่งออกมาวางไว้บนโต๊ะข้างหน้าเธอ  จากนั้นเธอนำกล่องที่บรรจุหินก้อนใหญ่ออกมา  แล้วค่อยๆ หย่อนหินก้อนใหญ่เหล่านั้นลงในกระปุกแ้ก้วทีละก้อน  จนกระปุกแก้วเต็มไปด้วยก้อนหินและไม่สามารถใส่เข้าไปได้อีกแล้ว  เธอถามนักศึกษาในห้องว่า "กระปุกเต็มหรือยัง?" ทุกคนตะโกนตอบว่า "เต็มแล้ว"

        จากนั้นเธอหยิบถังที่เต็มไปด้วยกรวดออกมาวางบนโต๊ะและค่อยๆ หย่อนใส่ลงไป  จากนั้นก็เขย่ากระปุกแก้วให้กรวดค่อยๆ ไหลลงไป  ซึ่งทำให้บรรดาก้อนกรวดค่อยๆ แทรกตัวลงไปเรื่อยๆ ตามช่องว่างระหว่างก้อนหินในที่สุดเธอใส่กรวดจนเต็มกระปุกแก้วจนไม่สามารถใส่เข้าไปได้อีกแล้วเธอจึงถามนักศึกษาในห้องเรียนว่า "กระปุกเต็มหรือยัง?" หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาคิดได้จึงรีบตอบไปว่า "ยัง"

        จากนั้นเธอก็ยกถังที่เต็มไปด้วยทรายออกมา และเริ่มเททรายลงในกระปุกแก้ว  ทรายเิริ่มไหลไปตามช่องว่าระหว่างก้อนหินและก้อนกรวดเธอใส่ทรายลงไปจนไม่สามารถใส่เข้าไปได้อีกแล้ว  อีกครั้งหนึ่งที่เธอถามว่า "กระปุกเต็มหรือยัง?" แต่ครั้งนี้ทุกคนต่างตะโกนออกมาว่า "ยัง!" เธอจึงหยิบเหยือกน่ำออกมาและเทน้ำลงในกระปุกแก้วจนเต็มถึงขอบกระปุกแล้วเธอก็ถามทุกคนในห้องว่า "เรื่องนี้.. บอกอะไรแก่เราบ้าง?" นักศึกษาที่ดูท่าทางกระตือรือร้นคนหนึ่งยกมือขึ้นแล้วพูดว่า "เรื่องนี้บอกให้เรารู้ว่าไม่ว่าตารางเวลาจะเต็มแค่ไหนก็ตาม  เราก็ยังสามารถเพิ่มการนัดประชุมเข้าไปได้อีก!"

        เธอตอบว่า "พยายามดีมากแต่ยังไม่ใช่  ความจริงที่อยากให้ทุกคนเข้าใจในเรื่องนี้ก็คือ  ถ้าคุณไม่ใส่ก้อนหินลงไปก่อน คุณจะไม่มีวันใส่มันเข้าไปได้อีกเลย" สำหรับเราทุกคน "หินก้อนใหญ่" มีความหมายที่แตกต่างไป  แต่แก่นของมันคือ  หินก้อนใหญ่จะเป็นสิ่งที่มีความหมายสูงสุดต่อชีวิตของเรา

       นักลงทุนที่ทำตามกลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อขายบ่อยครั้งมักจะต้องใช้เวลาว่างอันมีค่าของเขาไปกับการเฝ้าดูข่าวธุรกิจล่าสุด  เรียนรู้เทคนิคและกราฟต่างๆ อ่านหนังสือที่เีกี่ยวกับการเงินและอื่นๆ จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาทำอยู่ก็คือการให้ความสำคัญต่อก้อนกรวด  ทรายและน้ำ ดังนั้นถึงแม้พวกเขาจำนวนน้อยจะสามารถบรรลุถึงความสำเร็จในเกมการลงทุนแบบซื้อขายบ่อยครั้งได้ แต่ "ราคา" ของความสำเร็จนั้นอาจเป็นว่าเขาสูญเสียเกมชีวิตที่สำคัญกว่ามากนัก

       คำถามที่คุณควรจะพิจารณาก็คือ  อะไรเป็น "หินก้อนใหญ่" ในชีวิตของคุณ? หินก้อนใหญ่ในชีวิตของคุณกำลังพยายามสร้างผลตอบแทนพิเศษผ่านการลงทุนแบบซื้อขายบ่อยครั้งซึ่งทำให้คุณต้อง "ลงทุน" ด้วยการใช้เวลาที่มีค่าของคุณไปอย่างมากมายใช่หรือไม่ ? หินก้อนใหญ่ในชีิวิตของคุณคือ การมอบเวลาให้แก่คนที่คุณรัก  คนที่คุณศรัทธา การศึกษาของคุณ ความฝันของคุณ สิ่งที่มีค่าต่อคุณ  การสอน  หรือการเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้อื่นใช่หรือไม่? ถ้าคุณยังไม่รู้คำตอบเลย  บางทีเรื่องนี้อาจจะพอช่วยคุณได้

       ไม่นานหลังจากที่หนังสือเล่มแรกของผมตีพิมพ์ในปี 1998 ผมได้รับโทรศัพท์จากนายแพทย์คนหนึ่ง  เขาเพิ่งทำงานมาได้ไม่กี่ปี  เขาีภรรยาและลูกน้อยคนหนึ่ง  และภรรยากำลังอุ้มท้องลูกคนที่สองด้วย  เขาชื่นชมกับตลาดขาขึ้นและอยู่ในห้องค้าตลอดทั้งวัน  เขาเห็นเพื่อนๆ ที่เป็นแพทย์ด้วยกันสามารถทำรายได้ก้อนโตจากการซื้อขายหุ้น  และเขาคิดว่าเขาควรจะมีโอกาสหาเงินง่ายๆ แบบนั้นได้บ้าง

      หลังจากทำงานมาตลอดทั้งวัน  เขาก็พุ่งเข้าหาเครื่องคอมพิวเตอร์และเริ่มท่องอินเทอร์เน็ต  เขาใช้เวลาหลายชั่วโมงศึกษากราฟและรายงานการลงทุนและยังเข้าไปพูดคุยในแชตรูมอีกด้วย  ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเขาเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินก้อนเล็กๆ ของเขา  และจำนวนนั้นก็กลายเป็นเงินจำนวน 100,000 ดอลล่าร์  และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความโชคร้ายเพราะภรรยาของเขาเริ่มหมดโอกาสจะมีสามี  เช่นเดียวกับลูกๆ ของเขาก็เริ่มหมดโอกาสที่จะมีพ่อ  เพราะเขาได้แต่งงานใหม่ไปกับการลงทุนของเขาแล้ว  ภรรยาของเขาเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงการแต่งงานของพวกเขา  แต่โชคดีที่ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้น  เขาก็สูญเสียกำไรที่ได้มาทั้งหมด

      โชคดีอีกข้อหนึ่งคือ  นายแพทย์คนนี้เข้าใจแล้วว่า  กำไรเดิมของเขาเป็นความโชคดี  และเขาเป็นเพียงผู้ตักตวงผลประโยชน์คนหนึ่งในตลาดขาขึ้นเท่านั้น  ที่สำคัญไปกว่า  เขายังเริ่มเรียนรู้ด้วยว่าเขาไม่ได้ให้ความสนใจกับครอบครัวของเขาเลย  เมื่อเขาได้คุยเรื่องนี้กับเพื่อนคนหนึ่ง  เพื่อนของเขาจึงแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง "The Only Guide to a Winning Investment Strategey You'll Ever Need" หลังจากที่ได้อ่านหนังสือจนจบแล้ว  เขาจึงโทรศัพท์หาผมเพื่อของคุณที่ผมได้ช่วยเหลือเขาให้ค้นพบเกมแห่งผู้ชนะในการลงทุน  หากให้พูดตรงกว่านั้นก็คือ  ช่วยเขาให้ค้นพบเกมแห่งชัยชนะในการดำเนินชีวิต  จากนี้ไปเขารู้วิธีที่จะให้ความสำคัญกับ "หินก้อนใหญ่" แล้ว

        สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นราวหนึ่งปีหลังจากหนังสือเล่มแรกของผมตีพิมพ์ ผมได้พบกับ  ริค  ฮิลล์ (Rick Hill) ริคเป็นนักลงทุนหัวสมัยใหม่ที่จบปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) จากวอร์ตัน (คณะบริหารธุรกิจ  มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย) ริคมีประสบการณ์ด้านการจัดการการเงินมานานกว่า 30 ปี   หลังจากที่เขาได้พบกับเพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่งและได้อ่านหนังสือของผม  ริคก็กลายมาเป็นลูกค้าของผม  ในที่สุดริคก็ได้ไปทำงานในบริษัทจัดการกองทุนบัคกิงแฮมในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงิน  ซึ่งทำให้เขาสามารถช่วยคนอื่นๆ ให้มีความสุขกับการลงทุนแบบซื้อขายน้อยครั้งได้  หลังจากที่ทำงานไประยะหนึ่ง เขาก็แบ่งปันเรื่องราวของตัวเองให้ผมได้รับรู้

         ริคบอกผมว่า  เขาเคยใช้เวลาหลายๆ ชั่วโมงทุกวันเพื่ออ่านบรรดาเอกสารทางการเงิน  บทความวิจัยเกี่ยวกับหุ้น  และเฝ้าดูข่าวการเงินต่างๆ นึ่คือกิจกรรมหลังจากใช้เวลาทำงานทั้งวันที่ออฟฟิศ  แต่เมื่อเขาปรับมาใช้หลักการของทฤษฏีการจัดพอร์ตการลงทุนแนวทางใหม่  พร้อมกับการสร้างสมมติฐานของตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ  และใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อขายน้อยครั้งแล้ว  เขาก็ได้พบว่าไม่จำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป  เขาได้รู้แล้วว่าเขามัวแต่ไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเสียงรบกวนที่คอยหันเหให้เขายิ่งห่างไกลออกไปจากเกมของผู้ชนะ

         ริคและภรรยามาจับเข่าคุยกันและคำนวณได้ว่า  หากเขารับเอาวิธีการลงทุนแบบซื้อขายน้อยครั้งมาใช้  เขาจะสามารถมีเวลาเพิ่มขึ้นได้ถึง 6 สัปดาหืในหนึ่งปี  นั่นคือ  6 สัปดาห์ที่เขาสามารถทำกิจกรรมให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม  ริครู้ด้วยว่ากิจกรรมในอดีตที่เขาเคยทำและไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ ออกมาเลยนั้นเป็นเพราะค่าใช้จ่ายและภาษีที่เกิดขึ้นนั่นเอง  มันเกิดจากกลยุทธ์ที่ไปซื้อขายบ่อยๆ ซึ่งนั่นยังไม่รวมถึงการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดที่เขามีนั่นคือ "เวลา" เขามีเวลาจำกัดและไม่ต้องการจะเสียเวลากับสิ่งไร้สารอีกต่อไป

CR. กลยุทธ์การลงทุนแบบวอร์เรน  บัฟเฟตต์

Thursday, March 13, 2014

การวางแผนจัดสรรเงินทุน และตารางการปรับสมดุล หุ้นแบบ VI

การวางแผนจัดสรรการลงทุน  และตารางการปรับสมดุล

      การวางแผนการลงทุนควรจะรวมถึงการจัดสรรการลงทุนและตารางการปรับสมดุล  ตารางควรจะรวมทั้งระดับเป้าหมายของสินทรัพย์ในแต่ละประเภท  ระดับต่ำสุด  และระดับสูงสุด  เพื่อให้สามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่งเพราะการปรับสมดุลทุกครั้งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น  รวมถึงค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหรือภาษีที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย


กระบวนการปรับสมดุล

      ในช่วงการสะสมเงินลงทุนนั้น  จะมีวิธีการปรับสมดุลอยู่ 2 วิธี  วิธีแรกคือ การขายสิ่งที่มีราคาสูงออกไป  และซื้อสิ่งที่มีราคาต่ำเข้ามาแทนที่  วิธีที่สองคือการเพิ่มเงินสดใหม่ๆ เข้ามาในการจัดสรรการลงทุนของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่มีระดับต่ำกว่าเป้าหมาย  การผสมผสานกลยุทธ์ทั้งสองวิธียังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อีกด้วย  แต่การเพิ่มเงินสดจะเป็นวิธีที่ดีกว่าเกิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่ำกว่า  และยังไม่ก่อให้เกิดภาษีที่เกิดจากกำไรส่วนต่างมูลค่าหุ้นจากการขายสิ่งที่มีราคาสูงออกไปตามวิธีแรกอีกด้วยและในช่วงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์  นักลงทุนก็อาจขายสินทรัพย์ที่มีราคาสูงออกไปได้

      กลยุทธ์หนึ่งที่ควรจะพิจารณาคือ  การกระจายพอร์ตการลงทุนออกไปโดยการใช้เงินสดเพิ่มเข้าไปในการลงทุนเพื่อการปรับสมดุลมากกว่าจะนำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนเดิมไปลงทุนต่อโดยอัตโนมัติ  อย่างไรก็ตามคุณควรพิจารณาถึงขนาดของพอร์ตการลงทุนและค่าธรรมเนี่ยมการทำธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นด้วย  สำหรับนักลงทุนรายย่อยนั้น ค่าธุรกรรมจะยังมีผลอย่างมากซึ่งอาจไม่ใช่เป็นกลยุทธ์ที่ดี  และนี่คือคำแนะนำการใช้กระบวนการปรับสมดุล :
  • จงพิจารณากองทุนที่ให้ผลตอแทนในอนาคตอันใกล้ (เช่น ประโยชน์จากการคืนภาษี  โบนัสการขาย หรือได้รับเงินปันผล ) ถ้าการปรับสมดุลทำให้เิกิดภาษีจากกำไรส่วนต่างราคาหุ้นที่ขายออกไปมันอาจจะดีกว่าที่จะรอไว้ก่อน
  • จงพิจารณาชะลดการปรับสมดุลออกไป  ซึ่งในระยะสั้นมักจะก่อให้เกิดส่วนต่างมูลค่าหุ้นจำนวนมาก  ขนาดของกำไรที่เกิดขึ้นควรเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเพราะยิ่งได้กำไรมาก  ผลประโยชน์ที่รอคอยซึ่งจะได้รับจากกำไรในระยะยาวก็ยิ่งมาก  ซึ่งยังต้องพิจารณาด้วยว่าอีกนานเท่าใดกว่าจะมีเงินทุนก้อนใหม่เพื่อนำไปใช้ปรับสมดุล
  • ถ้าภาษีส่วนต่างมูลค่าหุ้นเกิดขึ้นจำนวนมาก  จงพิจารณาปรับสมดุลเพื่อลดภาษีที่เกิดขึ้นให้ต่ำที่สุด  ดีกว่าจะมาปรับปรุงการจัดสรรการลงทุนให้กลับไปสู่ระดับเป้าหมายเดิม
        จากนี้ไปเราจะเข้าสู่เรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งคือ  การจัดการภาษี

         การจัดการภาษี

       กลยุทธ์เพื่อเอาชนะการลงทุนนั้นควรใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อขายน้อยครั้ง  แต่การจัดการพอร์ตการลงทุึนแบบซื้อขายน้อยครั้งโดยไม่คำนึงถึงภาษีนั้นอาจเป็นสิ่งที่ผิด  นักลงทุนจะสามารถปรับปรุงผลตอบแทนหลังภาษีของพอร์ตการลงทุนได้โดยจัดการภาษีล่วงหน้า  ดังนั้นการจัดการภาษีจึงต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการดังต่อไปนี้ :
  • จงเลือกประเภทการลงทุนที่สามารถลดภาระภาษีได้สูงสุด
  • จงพิจารณาขายหุ้นที่มีผลประกอบการขาดทุนมาทั้งปีถ้าผลประโยชน์ทางภาษีที่ได้มากกว่าค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น  และนำเงินจากการขายหุ้นนั้นๆ  กลับไปลงทุนอีก (ในสหรัฐอเมริกา  ผลขาดทุนจากการขายหุ้นจะนำไปลดหย่อนภาษีได้)  ทั้งนี้จะต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นไปตามกฏ wase sale ซึ่งเป็นการกระทำที่ลดหย่อนภาษีไม่ได้ (ในสหรัฐอเมริการ  กฏนี้หมายถึงการขายหุ้นอย่างขาดทุนและซื้อหุ้นที่ขายไปกลับมาทั้งหมดภายใน 30 วันเื่พื่อนำผลขาดทุนไปลดภาษี)  พอร์ตการลงทุนควรได้รับการตรวจเช็คอยู่เป็นประจำ (อย่างน้อยที่สุดไตรมาสละึครั้ง)  เืพื่อพิจารณาว่าถึงเวลาจะขายหุ้นเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์แล้วหรือยัง  การรอจนถึงสิ้นปีจึงจะจัดการเรื่องภาษีอาจเป็นความผิดพลาด  เพราะความสูญเสียอาจอยู่ในช่วงต้นปีและอาจส่งผลครอบคลุมไปไม่ถึงช่วงสิ้นปี
  • จงขายกองทุนชุดที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดก่อนเพื่อกำไรและก่อให้เกิดความเสียหายสูงสุด  ตามกฏหมายในปี 2012 ผู้รับฝากหลักทรัพย์ จะต้องติดตามข้อมูลเหล่านี้และแจ้งให้คุณทราบ
  • โดยทั่วไป  จงอย่าขายกองทุนระยะสั้งเพื่อผลกำไร  ให้รอจนกระทั่งผลกำไรดังกล่าวกลายเป็นผลกำไรระยะยาวไปแล้ว  จงระลึกเสมอว่าหากการจัดสรรหุ้นของคุณทำได้ดีกว่าเป้าหมายแล้ว  คุณอาจจะไม่อยากทำตามคำแนะนำนี้  จงเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงที่ "มากเกิน" ของการถือครองหุ้น  กับผลประโยชน์ทางภาีษีที่จะได้รับในบางกรณีคุณอาจจะต้องยอมขาดทุนจากส่วนต่างมูลค่าหุ้นเสียก่อนจึงจะสามารถได้รับการชดเชยผลขาดทุนเหล่านี้ในภายหลัง
  • จงซื้อขายในช่วงใกล้กับวันจ่ายเงินปันผล  นักลงทุนไม่ควรซื้อจำนวนหุ้นในกองทุนใกล้วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายเงินปันผล  จงระลึกไว้ว่า  วันปิดสมุดทะเบียนไม่ใช่วันเดียวกับวันจ่ายเงินปันผลให้ผู้ที่ถือหุ้น  วันที่มีสิทธิรับเงินปันผลคือวันที่ชื่อของคุณปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนของบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นที่มีสิืทธิรับเงินปันผลแล้ว วันปิดสมุดทะเบียนคือวันถัดจากวันที่มีสิทธิรับเงินปันผลซึ่งมีการจ่ายเงินปันผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ราคากองทุนที่ซื้อขายมักจะตกต่ำลงหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของการกระจายพอร์ตการลงทุนที่คาดหวัง  คุณจึงไม่ควรพิจารณาซื้อกองทุนภายใน 30-60 วันหลังจากวันปิดสมุดทะเบียนแล้ว 
  • จงซื้อขายในช่วงสิ้นปี  กองทุนส่วนใหญ่มักจะกระจายการลงทุนออกมาปีละครั้ง  โดยปกติจะทำกันในเดือนธันวาคม  กองทุนบางหน่วยอาจจะทำบ่อยครั้งกว่า  และบางครั้งพวกเขาก็จะกระจายการลงทุนออกไปเป็นกรณีพิเศษด้วย  ลองตรวจสอบดูว่ามีการกระจายการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อทำกำไรตามปกติหรือกำไรระยะสั้งหรือไม่  ถ้าคุณกำลังพิจารณาซื้อกองทุนนั้นๆ ในช่วงที่มันอยู่ระหว่างกระจายการลงทุนอยู่ละก็  คุณควรจะรอจนกว่ากิจกรรมนั้นจะเสร็จสิ้นไปเสียก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีที่ต้องจ่ายสำหรับกำไรที่ได้รับจากกองทุน  ถ้าคุณกำลังพิจารณาขายกองทุน  คุณควรจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการขายกองทุนก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่มีสิทธิรับเงินปันผล  เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้สินทรัพย์สุทธิที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นกำไรในระยะยาวและภาษีที่เกิดขึ้นก็เป็นภาษีอัตราต่ำระยะยาวอีกด้วย  ถ้าคุณกำลังจะขายกองทุนก้อนใหญ่ออกไปแต่มูลค่าน้อยกว่าภาษีที่คุณจะต้องจ่าย  จงพิจารณาขายกองทุนก่อนจะมีการกระจายการลงทุนออกไป  ถ้าไม่เช่นนั้น  คุณจะต้องจ่ายภาษีจากการกระจายการลงทุนทั้งๆ  ที่คุณก็ขาดทุนจากการขายกองทุนนั้นอยู่แล้ว  ดังนั้นจึงควรพิจารณาช่วงเวลาจะซื้อและขายกองทุนอย่างรอบคอบเพื่อคุณจะไม่ต้องมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น
        เราจะไปต่อถึงคำถามที่ว่า  คุณควรจะเป็นนักลงทุนที่ลงทุนด้วยตัวเองหรือควรจะจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ?

Sunday, March 9, 2014

Value Investor หุ้นตัวเล็ก - ตัวใหญ่ มุมมอง VI

        


          Value Investor จำนวนมากหรืออาจจะเรียกว่าส่วนใหญ่ ชอบลงทุนในหุ้นตัวเล็กหรือบริษัทขนาดเล็ก เหตุผลก็คือ พวกเขาเชื่อว่าหุ้นตัวเล็กนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติได้  หลักฐานที่ปรากฏในตลาดหุ้นก็ “ชัดเจน” หุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่า บางตัวเป็นสิบเท่าภายในเวลาเพียงไม่เกิน 1- 2 ปี ที่ผ่านมานั้น มักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. ไม่เกิน 3-4 พันล้านบาท หลายตัวอาจจะไม่เกินพันล้านบาทด้วยซ้ำ หุ้นตัวเล็กนั้นมีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนไม่เฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไรเล่นหุ้นรายวัน แต่เป็นขวัญใจของ VI ด้วย ว่าที่จริง VI ระดับ “เซียน” ที่ทำผลตอบแทนมหาศาลในช่วงเร็ว ๆ ต่างก็รวยมาด้วยหุ้นตัวเล็กเป็นส่วนใหญ่ แทบจะเป็นข้อสรุปได้เลยว่า ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในหุ้นสูงมากโดยเฉพาะเมื่อพอร์ตของคุณยังเล็กอยู่นั้น ไม่มีทางอื่นนอกจากลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก

        ลองมาดูกันว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และความเสี่ยงอยู่ที่ไหน

          ประเด็นแรก มองกันที่พื้นฐาน หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะมีโอกาสเติบโตสูงในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น มักจะเติบโตเต็มที่หรือเติบโตไปมากแล้ว การที่หุ้นตัวใหญ่จะมียอดขายและกำไรเติบโตขึ้นอีกเท่าตัวภายในเวลา 3-4 ปี นั้นน่าจะทำได้ยากมาก ในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นบางบริษัทสามารถเติบโตเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวได้ภายในระยะเวลาเดียวกัน แนวความคิดก็คือ หุ้นตัวใหญ่นั้นมักจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงและมักอยู่ในตลาดที่อิ่มตัวหรือใกล้จะอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะโตต่อไปก็จะน้อยลงในขณะที่หุ้นตัวเล็กนั้นมักจะอยู่ในธุรกิจที่ตลาดกำลังโตหรือไม่ก็ยังเป็นกิจการที่เล็กและมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย ดังนั้น จึงสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งได้

           ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในเรื่องของตลาดที่อิ่มตัวนั้นบ่อยครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง แน่นอนว่าการเติบโตระดับที่เกินปีละ 15-20 % ในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไปสำหรับบริษัทขนาดใหญ่นั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แต่การโตปีละ 7-10% ก็น่าจะยังทำได้อยู่ไม่น้อย แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เริ่มจะเกิดขึ้นในเมืองไทยก็คือ บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่ม “Go Inter” นั่นคือเริ่มขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และถ้าหากว่าทำสำเร็จ ข้อจำกัดเรื่องตลาดอิ่มตัวก็จะหมดไป ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่ก็ยังมีโอกาสโตไปได้เรื่อย ๆ ในระดับที่น่าประทับใจซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นยังสูงขึ้นได้เรื่อย ๆ นี่ทำให้ผมนึกถึงหุ้นโค๊กที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ลงทุนเมื่อราวสิบกว่าปีก่อนในช่วงนั้นถ้าไม่คิดถึงตลาดต่างประเทศแล้วโค๊กก็น่าจะเป็นหุ้นที่ “อิ่มตัว” เพราะคนอเมริกันทุกคนดื่มโค๊กกันแทบจะแทนน้ำแต่หลังจากนั้น โดยเฉพาะเมื่อจีนและประเทศกำลังพัฒนาเปิดกิจการโค๊กก็โตขึ้นจากการขยายกิจการไปต่างประเทศและทำให้หุ้นโค๊กปรับตัวขึ้นมหาศาล

            แน่นอนว่าหุ้นตัวเล็กที่เติบโตสูงนั้นสามารถเติบโตได้มากกว่าหุ้นตัวใหญ่แต่ความเสี่ยงของหุ้นตัวเล็กก็สูงกว่ามาก ถ้ามองจากสถิติโดยรวมบางทีก็อาจจะพบว่าหุ้นตัวเล็กจำนวนมากนั้น ไม่ได้โตไปไหนเลย เคยเล็กอย่างไรก็เล็กอย่างนั้น หุ้นตัวเล็กหลายตัวที่โตขึ้นนั้น บางทีก็โตแบบไม่มีคุณภาพ นั่นคือ โตโดยที่กำไรไม่เพิ่มหรือโตโดยที่ต้องลงทุนไปมากจนแทบไม่คุ้มที่จะโต อาจจะมีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่โตจริงและโตมากซึ่งทำให้เกิดภาพว่าหุ้นตัวเล็กโตเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงในแง่ของธุรกิจนั้น หุ้นตัวเล็กก็น่าจะสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ดังนั้น สำหรับ VI หรือนักลงทุนที่ไม่ใช่ “เซียน” แล้ว การเล่นหุ้นตัวเล็กก็อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหนือกว่า ถ้าจะพูดไป การลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่ยังเติบโตดีในระดับ 15% ต่อปีนั้นผมคิดว่าดีกว่าเล่นหุ้นตัวเล็กที่มีโอกาสโต 30% แต่ความเสี่ยงสูงกว่ามาก

                ประเด็นที่สอง คือเรื่องที่หุ้นตัวเล็กนั้นไม่มีนักวิเคราะห์หุ้นติดตามหรือวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริง ดังนั้น หุ้นตัวเล็กส่วนใหญ่จึงถูก “มองข้าม” หุ้นหลายตัวอาจจะมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากเรียกว่าเป็นหุ้นที่ “Under Valued” สุด ๆ จึงเป็นโอกาสที่ VI จะสามารถเข้าไปซื้อและทำกำไรได้มหาศาลหลังจากที่คนจำนวนมากเริ่มที่จะตระหนักถึงมูลค่าของมันและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก

             ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ในภาวะที่ตลาดหุ้นบูม มีการเก็งกำไรสูงอย่างในปัจจุบันนั้น หุ้นตัวเล็กกลับกลายเป็นหุ้นยอดนิยม ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์อาจจะไม่ได้ทำรายงานการวิเคราะห์เป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่วิเคราะห์เลยแต่นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแนว VI
ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากและมีความสามารถสูงไม่แพ้นักวิเคราะห์ก็หันมาสนใจหุ้นเล็ก ๆ เหล่านี้ ดังนั้น ที่บอกว่าหุ้นตัวเล็กนั้นเป็นหุ้นที่ถูกมองข้ามนั้น ในอดีตอาจจะเป็นจริง แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีน้อยลงไปมาก ว่าที่จริงถ้าดูกันที่ค่า PE ซึ่งบ่งบอกถึงความถูกความแพงของหุ้นโดยรวมแล้ว หุ้นตัวเล็กไม่ได้ถูกกว่าหุ้นตัวใหญ่เลย ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า หุ้นตัวเล็กนั้น ในขณะนี้ไม่ได้ถูก “มองข้าม” อีกต่อไป และดังนั้น หุ้นตัวเล็กก็ไม่ได้ Under Valued ตรงกันข้าม จำนวนไม่น้อยน่าจะ Over Valued ด้วยซ้ำ

            ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การลงทุนในหุ้นตัวเล็กนั้นมีโอกาสที่จะถูก “แจ็คพ็อต” คืออาจจะทำกำไรได้หลาย ๆ “เด้ง” หรือหลาย ๆ เท่าหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น บางทีไม่ถึงปีในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้น ไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็มักจะไม่สามารถทำกำไรแบบนั้นได้ ถ้าจะโตระดับนั้นได้ก็มักจะต้องอาศัยเวลาหลาย ๆ ปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทน “ระดับเทพ” ได้

           ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่นี่อาจจะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ที่มีความเสี่ยงและเป็นเรื่องที่เราจะต้องเลือกว่าเราจะไปในเส้นทางไหน นั่นก็คือ จะเติบโตอย่างปลอดภัยและไปช้ากว่า หรือจะโตอย่างรวดเร็วแต่เสี่ยงที่จะล้มเหลวเมื่อหุ้นที่อาจจะโตหลายเด้งนั้นกลายเป็นลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จสูงมากในระยะยาวไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนดีผิดปกติในปีใดปีหนึ่งแต่ขึ้นอยู่กับความคงเส้นคงวาของผลตอบแทนที่ดีปีแล้วปีเล่า วอเร็น
บัฟเฟตต์ เองนั้น ไม่เคยมีปีใดที่เขาสามารถทำผลตอบแทนของพอร์ตได้เกินร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แต่สถิติระยะยาวของเขาไม่มีคนเทียบได้ และเขาแทบจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวเล็กเลย

           ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบหุ้นตัวเล็กว่าที่จริงในช่วงแรก ๆ ของการลงทุนนั้น ส่วนใหญ่ผมมักจะลงทุนในหุ้นตัวเล็ก และทุกวันนี้ผมก็คิดว่าโอกาสในหุ้นตัวเล็กก็ยังดีกว่าหุ้นตัวใหญ่แม้ว่าหุ้น ตัวเล็กสำหรับผมในปัจจุบันอาจจะเป็น “หุ้นขนาดกลาง” มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเหตุผลในการลงทุนในหุ้นตัวเล็กหลายๆ เรื่องนั้นในปัจจุบันมีน้ำหนักน้อยลงไป พูดง่ายๆ หุ้นตัวเล็กไม่ใช่ขวัญใจของผมและผมไม่เน้นหุ้นตัวเล็ก ไม่ใช่แค่เพราะว่าหุ้นตัวเล็กหาซื้อหุ้นยากไม่มีสภาพคล่อง แต่เป็นเพราะว่าหุ้นตัวเล็กนั้นส่วนใหญ่ไม่มีความเข้มแข็งหรือความโดดเด่นพอในแง่ของธุรกิจ ซึ่งทำให้การลงทุนระยะยาวไม่สามารถทำได้ง่าย เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงก็มักจะสูงกว่าที่ผมอยากจะรับ

ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากร

Thursday, March 6, 2014

การดูแลรักษาพอร์ตการลงทุน

 

   การดูแลรักษาพอร์ตการลงทุนก็เช่นเดียวกับการจัดการสวนที่ต้องการดูแลรักษาอยู่เป็นประจำ  พอร์ตการลงทุนก็ต้องการการดูแลรักษาด้วยเช่นกัน  หากไม่เป็นเช่นนั้นคุณก็อาจจะต้องสูญเสียการควบคุมในปัจจัยที่สำคัญเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลตอบแทนของการจัดสรรการลงทุนในพอร์ตการลงทุนของคุณ   ดังนั้นการปรับสมดุลจึงเป็นหนึ่่งในสองหัวข้อสำคัญที่เราจะพูดกันในข้างหน้านี้  ส่วนหนึ่งคือการวางแผนภาษี  ซึ่งเราจะคุยกันอีกหัวข้อหนึ่งแต่ต้นนี้ขอเริ่มต้นที่ เรื่องการปรับสมดุลก่อนดังนี้

     การปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุน

    การปรับสมดุลจะทำให้พอร์ตการลงทุนของคุณยังคงมีระดับความเสี่ยงตามที่วางแผนไว้  หากปราศจากการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอมันจะทำให้เกิด "แนวทางที่คลาดเคลื่อนไปจากแผนการลงทุน" ในช่วงตลาดขาขึ้น  คุณจะมีความกล้าที่จะถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ในพอร์ตการลงทุนของคุณและถ้ายังไม่มีการปรับสมดุล....การลงทุนในหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นไปโดยอัตโนมัติ  ทำให้มีการประเมินราคาหุ้นสูงขึ้น  และควาคาดหวังต่อผลตอบแทนก็จะลดลง ในตลาดขาลง.. ความจริงที่เกิดขึ้นก็จะกลับกันนั้นคือ   การถือครองหุ้นในพอร์ตการลงทุนของคุณก็จะลดลงไป...เมื่อมีการประเมินราคาหุ้นลดลงดังนั้นผลตอบแทนที่คาดหวังไว้ก็จะสูงขึ้น  วิธีการดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นวิธีการลงทุนที่ชาญฉลาด

     ซื้อราคาต่ำและขายราคาสูง

     วิธีการปรับสมดุลเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก  แต่ก็ไม่ง่าย  นี่คือเหตุผลว่าทำไมอารมณ์จึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย  การปรับสมดุลยังทำให้คุณลดการถือครองในประเภทสินทรัพย์ที่มีผลงานดีอีกด้วย (เพราะคุณมักจะขายออกไปก่อนในราคาสูง) และเพิ่มสินทรัพย์ประเภทที่ยังมีผลงานไม่ดีนัก (ซื้อเข้ามาแล้วในราคาถูก)  อาจกล่าวได้ว่า  ฝันของนักลงทุนทุกคนก็คือ  การซื้อราคาต่ำและขายราคาสูงนั้นเอง

     ประโยชน์อีกข้อหนึ่งของการปรับสมดุลคือ  เมื่อเวลาผ่านไป  มันจะทำให้เกิดเงินโบนัสงอกเงยให้เราอีกด้วย  ผลตอบแทนต่อปีของพอร์ตการลงทุน (Portfolio's annualized return) จะมากกว่าผลตอบแทน เฉลี่ยตามน้ำหนักของประเภทสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนนั้นๆ ต่อปี  นี่คือ "ผลตอบแทนของการกระจายพอร์ตการลงทุน" หรือคือ "เงินโบนัสจากการปรับสมดุล" นั่นเองในพอร์ตการลงทุนถ้ายิ่งมีสินทรัพย์ประเภทที่มีความผันผวนอยู่มาก  ผลกระทบต่อการปรับสมดุลก็จะยิ่งสูงขึ้นตาม  เหตุผลเป็นเพราะว่าเมื่อคุณปรับสมดุลแล้ว   คุณจะต้องซื้อทรัพยืสินต่างๆ ในราคาต่ำลงไปอีกและต้องขายทรัพย์สินในราคาสูงขึ้นอีกไปอีกด้วย  

     การตัดสินใจที่สำคัญคือ  การพิจารณากำหนดตัวชี้วัดการปรับสมดุล  และต่อไปนี้จะเป็นกฏเบื้องต้นที่จะช่วยให้คุณพิจารณาได้

กฏ 5/25 เปอร์เซนต์

     การปรับสมดุลอาจจะทำให้เกิดค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นและอาจจะตามมาด้วยภาระภาษีอีกด้วย  ดังนั้นคุณควรจะปรับสมดุลก็ต่อเมื่อกองทุนใหม่ๆ เปิดขาย  หรือการจัดสรรการลงทุนของคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายเดิมทีวางไว้  เหตุผลที่ควรใช้กฏ 5/25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจัดสรรการลงทุนก่อนการปรับสมดุลคือ  การปรับสมดุลจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ตัวหนึ่งตัวใดมากกว่าหรือน้อยกว่า 5% ของทรัพย์สินทั้งหมด  หรือมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์มากกว่าหรือน้อยกว่า 25% ของมูลค่าของตัวมันเอง  ซึ่งค่าการเปลี่ยนแปลงของตัวใดมีน้อยกว่า  ก็จะใช้ค่าที่น้อยกว่านั้นเป็นเกณฑ์

    ตัวอย่างเช่น  สมมติว่าประเภทของสินทรัพย์ตัวหนึ่งตัวใดถูกวางแผนไว้เป็น 10% ของพอร์ตการลงทุน  เราก็จะเริ่มใช้กฏ 5 เปอร์เซนต์  ดังนั้นหากประเภทของสินทรัพย์นั้นๆ ไม่ได้เกิดเปลี่ยนแปลงกับมูลค่าสินทรัพย์ตัวหนึ่งตัวใดมากกว่าหรือน้อยกว่า 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด  หรือมูลค่ายังอยู่ในช่วง 5% - 15% แล้ว ก็จะไม่มีการปรับสมดุลใดๆ ทั้งสิ้น

     อย่างไรก็ตาม  เรายังต้องใช้กฏ 25 เปอร์เซ็นต์ด้วย  นั่นคือหากราคาสินทรัพย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมูลค่ามากกว่าหรือน้อยกว่า 25% ของมูลค่าของตัวมันเองหรือคือ 25% ของมูลของตัวมันเองซึ่งอยู่ที่ 10% นั่นคือ 25% คูณ 10% เท่ากับ 2.5% ดังนั้นหากมูลค่ายังอยู่ในช่วง 7.5% - 12.5% แล้วไม่มีการปรับสมดุลใดๆ 

      ในกรณีนั้น กฏ 25 เปอร์เซ็นต์จะเป็นเกณฑ์ที่นำมาใช้  เพราะให้ค่าความเปลี่ยนแปลงเพียง 2.5% ซึ่งน้อยกว่ากฏ 5 เปอร์เซ็นต์ที่ให้ค่าความเปลี่ยนแปลง 5%   แต่หากมีการจัดสรรทรัพย์สินอยู่ที่ 50% แทนที่จะเป็น 10% แล้ว กฏ 5/25 เปอร์เซ็นต์  ก็จะให้ผลดังนี้ กฏ 5 เปอร์เซ็นต์จะให้ค่าการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 5% และให้ช่วงการเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 45% - 55% ส่วนกฏ 25 เปอร์เซ็นต์จะให้ค่าการเปลี่ยนแปลง 25% คูณ 50% เท่ากับ 12.5% และทำให้ช่วงการเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 37.5% - 62.5% ดังนั้นในกรณีนี้  กฏ 5 เปอร์เซ็นต์จะให้ค่าความเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 5% ซึ่งน้อยกว่า จึงเลือกใช้กฏ 5 เปอร์เซ็นต์เป็นเกณฑ์  และหามูลค่าทรัพย์สินยังอยู่ในช่วง 45% - 55% ก็ไม่ต้องปรับสมดุลใดๆ  

     ขณะที่การปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนควรทำบนพื้นฐานความเสี่ยง (ตามที่แสดงไว้ข้างต้น) ไม่ใช่ปรับสมดุลตามระยะเวลาปฏิทินเท่านั้น  ถ้าคุณกำลังปรับสมดุลด้วยตัวคุณเอง  คุณควรพยายามทำให้ง่ายเข้าไว้และใช้กฏ 5/25 เปอร์เซ็นต์  อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะทำทุกไตรมาส  คุณควรมั่นใจว่ากฏที่คุณใช้นั้นครอบคลุมได้ทั้ง 3 ระดับคือ
  • ระดับกว้างซึ่งหมายถึง  หุ้นและตราสารหนี้
  • ระดับของประเภทสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • ระดับแคบลงมาถึงสินทรัพย์แต่ละประเภท ( เช่น  ตลาดเกิดใหม่ อสังหาริมทรัพย์  หุ้นขนาดเล็ก หุ้นเน้นคุณค่า และอื่นๆ )
    ตัวอย่างเช่น  สมมติว่าคุณมีหุ้นอยู่ 6 ประเภท  แต่ละประเภทได้รับการจัดสรรลงทุนที่ 10% ซึ่งจะทำให้การจัดสรรเงินลงทุนไปยังหุ้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 60%  ถ้าหุ้นแต่ละประเภทราคาเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนในพอร์ตการลงทุนเป็น 11% ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน ถ้าหากคุณพิจารณาเฉพาะประเภทของสินทรัพย์เพียงประเภทเดียวเท่านั้น (กฏ 5 เปอร์เซ็นต์ให้ช่วง 5%-15% และกฏ 25 เปอร์เซ็นต์ให้ช่วง 7.5% - 12.5% ทั้งสองกฏจึงไม่ต้องนำมาใช้ )

    อย่างไรก็ตาม  หากพิจารณาในมุมมองที่กว้างขึ้น  การปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เพราะเหตุว่าหากหุ้นทั้ง 6 ประเภท  แต่ละประเภทเพิ่มขึ้นเป็น 11% ของพอร์ตการลงทุน  สินทรัพย์ประเภทหุ้นจะมีสัดส่วนรวมกัน 66% การเพิ่มชึ้นจาก 60% ไปเป็น 66% ก็ทำให้ต้องใช้กฏ 5/25 เปอร์เซ็นต์  เพราะกฏ 5 เปอร์เซ็นต์จะให้ช่วง 55%-65% ส่วนกฏ 25 เปอร์เซ็นต์จะให้ช่วง 45%-75%  ดังนั้นกรณีนี้  กฏ 5 เปอร์เซ็นต์จะต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์เพราะมีค่าน้อยกว่า  และเมื่อมูลค่าสินทรัพย์ไปอยู่ที่ 66% แล้วก็จะเกินช่วงกฏ 5 เปอร์เซ็นต์ข้างต้น  ทำให้ต้องมีการปรับสมดุลในกรณีนี้

    สถาณการณ์ที่กลับกันอาจจะเกิดขึ้นเมื่อพิจารณาสินทรัพย์โดยภาพรวมอีกครั้งหนึ่งที่กฏ 5/25 เปอร์เซ็นต์อาจจะใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการพิจารณาได้  ซึ่งคุณอาจจะสร้างแนวทางในการปรับสมดุลเพื่อลดความเสี่ยงด้วยตัวคุณเอง  และระเบียบวินัยของกฏที่ใช้จะมีความสำคัญกว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่คุณกำหนดลงไปอีกด้วย

Tuesday, March 4, 2014

กำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้น การตีความงบการเงิน วอร์เร็น บัฟเฟตต์



กำไรสุทธิ : สิ่งที่วอร์เรนมองหา

        หลังจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดและภาษีถูกนำมาหักออกจากรายได้ของบริษัทแล้ว  เราก็จะได้กำไรสุทธิของบริษัท  และตรงนี้คือที่ซึ่งเราจะทราบว่าบริษัททำเงินได้เท่าใดหลังจากที่จ่ายภาษีรายได้แล้ว  มีแนวคิดสองสามแนวคิดที่วอร์เรนใช้อยู่เมื่อเขาดูตัวเลขนี้  ซึ่งจะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ว่าบริษัทนั้นๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่.....เพราะฉะนั้น  ทำไมเราไม่เริ่มที่นี่เลยล่ะ

         แรกสุด  ในรายการของวอร์เรน บัฟเฟตต์คือ  ประวัติของกำไรสุทธินี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่  ตัวเลขกำไรสุทธิเพียงปีเดียวไม่มีค่าสำหรับวอร์เรน บัฟเฟตต์  สิ่งที่วอร์เรนสนใจคือภาพกำไรนั้นมีความสม่ำเสมอหรือไม่ และแนวโน้มในระยะยาวสูงขึ้นเรื่อยๆ ไหม --- ทั้ง 2 ข้อนี้แปลความหมายได้เท่ากับ "ความยั่งยืน" ของความได้เปรียบในการแข่งขัน... สำหรับวอร์เรนแล้ว  การเดินทางไม่จำเป็นต้องราบรื่นเสมอ  สิ่งที่เขามองหาคือประวัติแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

        อย่างไรก็ตาม  ให้หมายเหตุไว้ว่า : จากโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัท  เป็นไปได้ว่าประวัติแนวโน้มกำไรสุทธิของบริษัทอาจต่างจากประวัติแนวโน้มของกำไรต่อหุ้น  โครงการซื้อหุ้นคืนจะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากการลดลงของจำนวนหุ้นที่นำมาหารกำไรสุทธิของบริษัท  ทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น  แม้ว่ากำไรสุทธิที่แท้จริงจะไม่เพิ่มขึ้นเลยก็ตาม  ในกรณีสุดโต่ง  โครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทยังทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิจริงของบริษัทลดลงก็มี

      แม้ว่าการวิเคราะห์การเงินส่วนใหญ่จะเน้นที่กำไรต่อหุ้นของบริษัทแต่วอร์เรน  บัฟเฟตต์จะมองที่กำไรสุทธิของธุรกิจเพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นกันแน่

      สิ่งที่วอร์เรน  บัฟเฟตต์เรียนรู้ก็คือ  บริษัที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนจะรายงานร้อยละของกำไรสุทธิต่อยอดรวมรายได้สูงกว่าคู่แข่ง  วอร์เรนบอกว่าหากได้เลือกเป็นเจ้าของบริษัทที่มีกำไร $20,000 ล้านเหรียญ  จากรายได้รวม $10,000 ล้าน  กับบริษัทที่มีกำไร $5,000 ล้าน จากรายได้รวม $100,000 ล้าน  เขาจะเลือกบริษัทที่มีกำไร $2,000 ล้าน  ทั้งนี้ก็เพราะว่า  บริษัที่มีกำไรสุทธิ $2,000 ล้าน  มีกำไรเท่ากับ 20% ของยอดรวมรายได้  ในขณะที่บริษัทมีกำไร $5,000 ล้าน  มีกำไรเพียง 5% ของยอดรวมรายได้เท่านั้น

     ดังนั้น  ตัวเลขยอดรวมรายได้อย่างเดียวจึงบอกอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจของธุรกิจน้อยมาก  แต่อัตราส่วนของกำไรสุทธิต่อยอดรวมรายได้จะสามารถบอกอะไรได้มากมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจของธุรกิจเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น 

     ธุรกิจที่น่าทึ่ง  เช่น โคคา - โคล่า  มีกำไร 21% จากยอดรวมรายได้ขณะที่มูดี้ส์ทำได้ 31% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่แฝงอยู่ในธุรกิจซึ่งเหนือกว่าโคคา - โคล่า  แต่บริษัทอย่างสายการบินเซาธ์เวสท์  มีกำไรน้อยนิดเพียง 7% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของธุรกิจสายการบินที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง  ซึ่งไม่มีสายการบินใดมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือเพื่อนร่วมธุรกิจเลย  ในทางกลับกัน  แม้แต่ในปีที่ดี (คือไม่ขาดทุน) จีเอ็ม  มีกำไรเพียง 3% ของยอดรวมรายได้เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจห่วยแตกที่แฝงอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการแข่งขันซูเปอร์สูง

       กฏง่ายๆ (และมีข้อยกเว้น) ก็คือ : หากบริษัทมีประวัติการทำกำไรมากว่า 20% ของยอดรวมรายได้  เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าบริษัทนั้นได้รับประโยชน์บางอย่างจากความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว  ส่วนบริษัทที่แสดงตัวเลขรายได้สุทธิต่ำกว่า 10% ของยอดรวมรายได้อย่างสม่ำเสมอ  ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงที่ไม่มีบริษัทใดมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง  แน่นอน  ระหว่างกำไร  10% และ 20% ของยอดรวมรายได้นั้น  มีพื้นที่สีเทากว้างมาก  และในพื้นที่นี้เต็มไปด้วยบริษัทมากมายที่พร้อมที่จะให้นักลงทุนเข้ามาเก็บเกี่ยวทองคำในระยะยาวซึ่งยังไม่มีผู้ใดค้นพบ

      หนึ่งในข้อยกเว้นของกฏข้อนี้คือ ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน  ซึ่งเมื่อมีอัตราร้อยละระหว่างกำไรสุทธิและยอดรวมรายได้สูงผิดปกติ  มักจะหมายถึงความไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารความเสี่ยงในขณะที่ตัวเลขของธุรกิจเหล่านี้ดูเย้ายวนใจนั้น  ความจริงมันกำลังบ่งบอกถึงการยอมรับความเสี่ยงมากกว่าเพื่อทำกำไรอย่างง่ายๆ ซึ่งในเกมของการให้กู้ยืมเงินแล้ว  มักจะเป็นสูตรสำเร็จของหายนะในระยะยาวและการประสบความหายนะทางการเงินนั้น  ไม่ใช่วิธีที่จะพาใครไปสู่ความร่ำรวยอย่างแน่นอน

กำไรต่อหุ้น : วอร์เรน บัฟเฟตต์รู้ได้อย่างไรใครคือผู้ชนะ  ใครคือผู้แพ้

           กำไรต่อหุ้น คือ กำไรสุทธิของบริษัทของแต่ละหุ้นในรอบบัญชีหนึ่ง  ซึ่งคือตัวเลขสำคัญในโลกของการลงทุน เพราะกฏมีว่า... ยิ่งบริษัทมีกำไรต่อหุ้นมากเท่าใด  ราคาหุ้นก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น  ในการที่จะทราบว่าบริษัทมีกำไรต่อหุ้นเท่าใดนั้น  ให้เรานำกำไรสุทธิของบริษัทมาหารด้วยจำนวนหุ้นที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้น  (Outstanding share) ของบริษัทตัวอย่างเช่น  หากบริษัทมีกำไรสุทธิ $10 ล้าน ในปีนั้นๆ และบริษัทมีหุ้นที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้น 1 ล้านหุ้น กำไรต่อหุ้นในปีนั้นก็คือ $10 ดอลลาร์ต่อหุ้น

          ในขณะที่กำไรต่อหุ้นเพียงปีเดียวไม่สามารถนำมาใช้บ่งชี้ว่าบริษัทหนึ่งๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่  แต่กำไรต่อหุ้นในระยะเวลา 10 ปีจะสามารถให้ภาพที่ชัดเจนว่า  บริษัทนั้นๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวหรือไม่  และสิ่งที่วอร์เรน  บัฟเฟตต์ค้นหาคือ ภาพกำไรต่อหุ้นในช่วง 10 ปีที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ  

          อะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับตัวเลขด้านล่างนี้ 

                    08         $2.95
                    07         $2.68
                    06         $2.37
                    05         $2.17
                    04         $2.06
                    03         $1.95
                    02         $1.65
                    01         $1.60
                    00         $1.48
                    99         $1.30
                    98         $1.42

           ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้วอร์เรน  บัฟเฟตต์เห็นว่า  บริษัทมีกำไรสม่ำเสมอและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว  ซึ่งเป็นสัญญานดีเยี่ยมที่บ่งว่า  บริษัทนี้มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว  ปกติแล้วกำไรที่สม่ำเสมอเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า  บริษัทกำลังขายผลิตภัณฑ์ตัวเดียวหรือหลายตัวซึ่งไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ อันเป็นงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง  ส่วนกำไรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  หมายความว่า  เศรษฐกิจของบริษัทแข็งแกร่งพอที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการโฆษณาหรือขยายกิจการ  หรือทำวิศวกรรมทางการเงิน  เช่น  การซื้อหุ้นคืน  เป็นต้น ได้

      บริษัที่วอร์เรน บัฟเฟตต์จะถอยห่างคือ  บริษัที่มีภาพกำไรสับสน  เอาแน่ไม่ได้  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                    08         $2.50
                    07         $(0.45) ขาดทุน
                    06         $3.89
                    05         $(6.05) ขาดทุน
                    04         $6.39
                    03         $5.03
                    02         $3.35
                    01         $1.77
                    00         $6.68
                    99         $8.53
                    98         $5.24
       
           ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นแนวโน้มที่ต่ำลงสลับกับขาดทุน   ซึ่งบอกวอร์เรนให้รู้ว่าบริษัทนี้อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและมีแนวโน้มที่จะรุ่งหรือจะดับไปเลยก็ได้  บริษัทจะรุ่งเมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทาน  แต่เมื่ออุปสงค์มีมาก  บริษัทก็จะเพิ่มการผลิตเพื่อตอบสนองซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น  และนำไปสู่ภาวะอุปทานล้นตลาดในที่สุด  ภาวะสินค้าล้นตลาดทำให้ราคาตก  ซึ่งหมายความว่า  บริษัทจะขาดทุนจนกว่าตลาดจะสดใสขึ้นมาอีก  มีบริษัทนับพันที่เป็นเช่นนี้  ทำให้ราคาหุ้นผันผวนอย่างมากเนื่องจากกำไรที่ไม่คงที่  และทำให้นักลงทุนประเภทเน้นคุณค่า (Value Investor) คิดว่าคือโอกาสในการซื้อ  แต่ความจริงก็คือ  พวกเขากำลังตีตั๋วขึ้นเรือแจวที่ไม่สามารถนำนักลงทุนไปไหนได้ไกล

กำไร (ขาดทุน) กำไรก่อนหักภาษี และภาษีจ่าย


กำไร (ขาดทุน) จากการขายสินทรัพย์และอื่นๆ 

         เมื่อบริษัททำการขายสินทรัพย์ (ที่ไม่ใช่สินค้าคงคลัง) กำไรหรือขาดทุนจากการขายจะได้รับการบันทึกภายใต้ กำไร (ขาดทุน) จากการขายสินทรัพย์ โดยกำไรคือส่วนต่างของเงินที่ได้รับจากการขายและมูลค่าของสินทรัพย์ที่ปรากฏในบัญชีของบริษัท  หากบริษัทมีอาคารที่ได้มาในราคา $1 ล้าน  หลังจากตัดค่าเสื่อมไปเหลือมูลค่าเพียง $500,000 แล้วขายไป $800,000 บริษัทจะบันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์เท่ากับ $300,000  ในทางเดียวกัน  หากบริษัทขายอาคารไปในราคา $400,000 เหรียญ  บริษัทก็จะบันทึกขาดทุนเท่ากับ $100,000

        สำหรับบัญชีอื่นๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ บัญชีนี้คือที่ที่รายได้และค่าใช้จ่ายซึ่งไม่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ  ค่าใช้จ่ายที่ไม่ปกติและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ได้รับการคำนวณออกมาและบันทึกลงในงบกำไรขาดทุน  รายการเหล่านี้รวมถึงการขายสินทรัพย์ถาวร  เช่น  ที่ดิน  โรงงาน และเครื่องจักร  ส่วนที่รวมอยู่ในรายการ อื่นๆ อาจมี  เช่น การอนุญาติใช้สิทธิ์และการขายสิทธิบัตร  หากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับธุรกิจปกติของบริษัท

       บางครั้งรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวก็มีนัยสำคัญต่อตัวเลขกำไรขาดทุนของบริษัทเช่่นกัน แต่เนื่องจากมันเป็นรายการที่จะไม่เกิดอีก  วอร์เรนจึงเชื่อว่าในการจะตัดสินว่าบริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันหรือไม่นั้น  รายการเหล่านี้มันไม่ควรนำมาคำนวณรวมในกำไรสุทธิของบริษัท


กำไรก่อนหักภาษี : ตัวเลขซึ่งวอร์เรน  บัฟเฟตต์ใช้

          กำไรก่อนหักภาษี  คือกำไรของบริษัทหลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว  แต่ยังไม่หักภาษี  นี่คืออีกหนึ่งตัวเลขที่วอร์เรนใช้ในการคำนวณผลตอบแทนที่จะได้รับเมื่อเขาซื้อธุรกิจทั้งธุรกิจ  หรือซื้อเพียงบางส่วนจากการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

          นอกจากการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว  ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนทุกรูปแบบจะถูกนำเสนอต่อตลาดในรูปก่อนการหักภาษีและเนื่องจากการลงทุนทุกชนิดจะต้องมีการแข่งขัน  ดังนั้น  การคิดถึงธุรกิจเหล่านี้ภายใต้เงื่อนไขที่เท่าเทียมกันจึงง่ายกว่า

          เมื่อวอร์เรน  บัฟเฟตต์ซื้อพันธบัตรปลอดภาษีมูลค่า $139 ล้านเหรียญ ของวอชิงตัน  พับบลิค เพาเวอร์  ซัพพลาย ซิสเต็ม (Washington Public Power Supply System - WPPSS) ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยให้เขาปีละ $22.7 ล้านเหรียญ  โดยไม่ต้องหักภาษีนั้น  เขาให้เหตุผลว่ารายได้หลังหักภาษี  $22 ล้านเหรียญ  เท่ากับรายได้ก่อนหักภาษี $45 ล้าน ซึ่งปกติการซื้อธุรกิจที่จะทำรายได้ก่อนหักภาษีให้เขา $45 ล้าน  เขาต้องจ่ายเงิน $250 ล้าน ถึง $300 ล้าน ดังนั้น  เขาจึงมองว่าพันธบัตรของ WPPSS เป็นธุรกิจที่เขาซื้อได้ในราคาส่วนลด 50% เทียบกับมูลค่าของธุรกิจอื่นที่มีเศรษฐกิจเดียวกันซึ่งขายกันอยู่ในตลาด

          วอร์เรนจะพูดถึงรายได้ของบริษัทในรูปรายได้ก่อนหักภาษีเสมอเพราะทำให้เขาสามารถเปรียบเทียบธุรกิจหรือการลงทุนหนึ่งกับอีกธุรกิจหรือการลงทุนอื่นๆได้  หนึ่งในความจริงสำคัญที่วอร์เรนเผยให้เห็นก็คือ  บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน  ความจริงแล้วก็คือ  "ตราสารทุน" (Equity bond) ประเภทหนึ่งที่ให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเสมอ  เราจะท้าการสำรวจทฤษฏีเกี่ยวกับ "ตราสารทุน" ของวอร์เรนอย่างละเอียดขึ้นในครั้งท้าย ๆ ของการตีความงบการเงินนี้


ภาษีจ่าย : วอร์เรนทราบได้อย่างไรว่าใครพูดความจริง

           เช่นเดียวกันกับผู้เสียภาษีทุกคน  บริษัทสัญชาติอเมริกันทุกบริษัทต้องเสียภาษีรายได้  โดยปัจจุบันอัตราภาษีที่ชำระอยู่ที่ประมาณ 35% ของรายได้บริษัท  เมื่อมีการจ่ายภาษีจำนวนดังกล่าวจะได้รับการบันทึกลงในงบกำไรขาดทุนภายใต้ ภาษีรายได้  หรือ  ภาษีจ่าย
           สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ภาษีจ่าย  ก็คือ  มันสะท้อนให้เห็นถึงรายได้ก่อนหักภาษีที่แท้จริงของบริษัท  บางครั้งหลายบริษัทชอบอวดโลกว่า ธุรกิจทำเงินมากกว่าที่ทำได้จริง (ช็อคล่ะสิ?) ดังนั้น  วิธีหนึ่งที่จะรู้ว่าพวกเขาพูดความจริงหรือไม่ก็คือ  ไปดูเอกสารที่ยื่น SEC ว่าพวกเขาเสียภาษีรายได้เท่าไหร่  โดยให้ดูตัวเลขตรงที่ระบุว่า  รายได้จากการดำเนินกิจการก่อนหักภาษี  แล้วหักออก 35% หากจำนวนที่ได้ไม่เท่ากับจำนวนที่บริษัทระบุไว้ใน ภาษีจ่าย  ก็เริ่มสงสัยได้

         วอร์เรน  บัฟเฟตต์เรียนรู้จากประสบการณ์อันยาวนานว่า  บริษัmที่วุ่นวายกับการตบตาสรรพากร  มักจะพยายามอย่างยิ่งในการตบตาผู้ถือหุ้นด้วยและความงดงามของบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว  คือ  การที่บริษัททำเงินได้มากจนไม่ต้องสร้างภาพตบตาใคร

ดอกเบี้ยจ่าย การตีความงบการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์


ดอกเบี้ยจ่าย : วอร์เรน บัฟเฟตต์ไม่ต้องการ 

       ดอกเบี้ยจ่าย  คือ ดอกเบี้นที่บริษัทจ่ายออกไประหว่างไตรมาสหรือปี  สำหรับหนี้ของบริษัทซึ่งปรากฏในงบดุลในหมวด  หนี้สิน  ในขณะที่เป็นไปได้ที่บริษัทจะมีรายรับจากดอกเบี้ยมากกว่าที่จ่ายออกไป  เช่น ธนาคาร แต่ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและการขายปลีกส่วนใหญ่มักจะมีดอกเบี้ยจ่ายมากกว่าดอกเบี้ยรับ  

         ค่าใช้จ่ายนี้เรียกว่าต้นทุนทางการเงิน  ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ และจะแยกออกมาเป็นอีกรายการโดดๆ เพราะดอกเบี้ยจ่ายจะไม่ผูกพันกับการผลิตหรือการขาย  แต่สะท้อนให้เห็นถึงหนี้ทั้งหมดที่บริษัทมีในบัญชี  ยิ่งบริษัทมีหนี้เท่าใด  ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็สูงขึ้นเท่านั้น 

         ในบริษัทที่มีดอกเบี้ยจ่ายสูงเทียบกับรายได้จากการดำเนินกิจการมีแนวโน้มที่จะเป็น 1 ใน 2 ประเภทนี้ คือ : เป็นบริษัทซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรง  ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุนสูงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้  หรือเป็นบริษัทที่มีเศรษฐกิจของธุรกิจยอดเยี่ยมซึ่งมีหนี้จากการซื้อกิจการด้วยเงินกู้

           สิ่งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ค้นพบก็คือ   บริษัที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนมักจะมีดอกเบี้ยจ่ายน้อยหรือไม่มีเลย  พร็อคเตอร์แอนก์แกมเบิล บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาวมีดอกเบี้ยจ่ายเพียง 8% ของรายได้จากการดำเนินกิจการเท่านั้น  ในขณะที่ริกลี่ย์มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เฉลี่ย 7% ตรงกันข้ามกับกู๊ดเยียร์ซึ่งอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง  ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงถึง 49% ของรายได้จากการดำเนินกิจการ

          แม้แต่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงเช่นธุรกิจสายการบิน  ตัวเลขดอกเบี้ยที่จ่ายออกไปจากรายได้จากการดำเนินกิจการก็สามารถนำมาบ่งชี้บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันได้ด้วยเช่นกัน  สายการบินเซาธ์เวสท์ที่มีกำไรสม่ำเสมอ  มีดอกเบี้ยจ่ายเพียง 9% ของรายได้จากการดำเนินกิจการ  ในขณะที่สายการบินยูไนเต็ดคู่แข่งที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่เสมอ  มีดอกเบี้ยจ่ายถึง 61% ของรายได้จากการดำเนินกิจการ และสายการบินอเมริกันคู่แข่งอีกหนึ่งของเซาธ์เวสท์ซึ่งมีปัญหารุมเร้าอยู่มีดอกเบี้ยจ่ายสูงถึง 92% ของรายได้จากการดำเนินกิจการ

           ด้วยเหตุนี้  จึงเป็นกฏว่า ... บริษัทในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนซึ่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ลงทุนอยู่ทั้งหมดต้องมีดอกเบี้ยจ่ายต่ำกว่า 15% ของรายได้จากการดำเนินกิจการทั้งสิ้นอย่างไรก็ตาม  ร้อยละของดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้จากการดำเนินกิจการของแต่ละอุตสาหกรรมสามารถมีความแตกต่างกันอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เวลส์  ฟาร์โก  ธนาคารซึ่งวอร์เรนถือหุ้นอยู่ 14% จ่ายดอกเบี้ยประมาณ 30% ของรายได้จากการดำเนินกิจการ ซึ่งดูเหมือนสูง เมื่อเทียบกับโค้ก แต่ความเป็นจริงแล้วกลับทำให้เวลส์  ฟาร์โกเป็นธนาคารดีที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของอเมริกา ซึ่งมีอัราส่วนการจ่ายดอกเบี้ยต่ำที่สุดและน่าสนใจที่สุด  นอกจากนี้ เวลส์ ฟาร์โกยังเป็นธนาคารเดียวที่มีความมั่นคงระดับ AAA จากการจัดอันดับของสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์สด้วย

         อัตราส่วนของดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้จากการดำเนินกิจการยังเป็นตัวบ่งชี้อย่างดีถึงระดับความอันตรายของเศรษฐกิจที่บริษัทจัดอยู่ด้วย  ตัวอย่างเช่น ธนาคารวาณิชธนกิจซึ่งมีดอกเบี้ยจ่ายราว 70% ของรายได้จากการดำเนินกิจการ  คนที่มีสายตาละเอียดจะเน้นว่า ในปี 2006 แบร์ สเติร์นส์  รายงานว่าบริษัทมีดอกเบี้ยจ่าย 70% ของรายได้จากการดำเนินกิจการ  แต่เมื่อถึงไตรมาสสิ้นสุด  ณ  เดือนพฤศจิกายน 2007 อัตราการจ่ายดอกเบี้ยต่อรายได้จากการดำเนินกิจการได้กระโดยสูงขึ้นถึง 230% ซึ่งหมายความว่า  บริษัทต้องนำเงินจากส่วนผู้ถือหุ้นมาโปะตรงส่วนต่างนี้  การทำเช่นนี้ในบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงเช่น แบร์ สเติร์นส์  หมายถึงหายนะ  และเพียงเดือนมีนาคม 2008 แบร์  สเติร์นที่เคยยิ่งใหญ่  ซึ่งก่อนหน้านี้ 1 ปี มีราคาซื้อขายในตลาดสูงถึง $170 เหรียญต่อหุ้น  ก็ถูกบังคับให้ควบรวมกับเจพี  มอร์แกน เชส แอนด์ โค ในราคาเพียงหุ้นละ $10 เหรียญเท่านั้น

         กฏในบทนี้ธรรมดามาก : ในทุกอุตสาหกรรม  บริษัทที่มีอัตราส่วนดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้การดำเนินธุรกิจต่ำที่สุดมักจะเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน  และในโลกของวอร์เรน  บัฟเฟตต์  การลงทุนในบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  เป็นหนทางเดียวที่สามารถรับรองได้ว่าจะนำไปสู่ความร่ำรวยได้ในระยะยาว

ค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนาและค่าเสื่อมราคา การตีความงบการเงิน


การวิจัยและพัฒนา : ทำไมวอร์เรน บัฟเฟตต์จึงถอยห่าง

        นี่คือค่าใช้จ่ายสำคัญเมื่อจะค้นหาบริษัที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความได้เปรียบในระยะยาวของบริษัทมักจะเป็นข้อได้เปรียบซึ่งบริษัทได้จากลิขสิทธิบัตรหรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  แต่หากบริษัทมีข้อได้เปรียบจากลิขสิทธิ์เช่น  บริษัทยา ฎ จุดหนึ่งสิทธิบัตรจะหมดอายุ และความได้เปรียบของบริษัทก็จะหมดไป
        หากความได้เปรียบของบริษัทเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีบางอย่าง  ความน่ากลัวคือ  เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่  นี่เป็นสาเหตุที่ทำไมไมโครซอฟท์จึงกลัวความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของกูเกิ้ลหนักหนา  ...เพราะความได้เปรียบในวันนี้อาจเป็นความล้าสมัยในวันพรุ่งนี้ได้

        ไม่เพียงแต่บริษัทเหล่านี้ต้องใช้จ่ายเงินมหาศาลกับการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น  แต่พวกเขายังต้องประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่  ออกแบบผลิตภัณฑ์ใใหม่  และปรับแผนการขายอยู่เสมอ  ซึ่งหมายความว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและการบริหารสูงมากด้วย  เราจะมาพิจารณาบริษัทเหล่านี้กัน : บริษัทยา เมิร์ค  ต้องใช้ 29% ของกำไรขั้นต้นในการวิจัยและพัฒนา และ 49% ของกำไรขั้นต้นกับค่าใช้จ่ายในการขาย/ทั่วไป/และบริหาร (SGA) ซึ่งรวมกันแล้วกินกำไรขั้นต้นไปถึง 78% ยิ่งกว่านั้นหากเมิร์คไม่สามารถพัฒนายาตัวใหม่ที่สามารถขายได้หลายพันล้านเหรียญ  บริษัทก็จะสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อสิทธิบัตรยาที่มีอยู่หมดอายุลงด้วย

         อินเทล  ผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต้องใช้เงิน 30% ของกำไรขั้นต้นกับการวิจัยและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอหาไม่แล้วบริษัทก็จะสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในเวลาเพียงสองสามปีเท่านั้น  

         มูดีส์  บริษัทจัดอันดับพันธบัตร  เป็นบริษัทคู่ใจของวอร์เรน บัฟเฟตต์ มานานด้วยเหตุผลที่ดี คือ มูดี้ส์ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา  และมีค่า  SGA เพียง 25% ของกำไรขั้นต้นเท่านั้น  โคคา-โคล่าซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเช่นกัน  แต่ต้องโฆษณาสินค้าอย่างบ้าคลั่ง  เฉลี่ยแแล้วมีค่า SGA เพียง 59% ของกำไรขั้นต้นเท่านั้น  กับบริษัทเช่นมูดี้ส์และโคคา - โคล่า  วอร์เรนไม่ต้องนอนตาโพลงตลอดคืนด้วยความกังวลว่า  สิทธิบัตรยากำลังจะหมดอายุ  หรือว่าเทคโนโลยีใหม่ของบริษัทจะไม่ชนะในการแข่งขันรอบต่อไป 

        และนี่คือกฏของวอร์เรน : บริษัทที่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนา  มีข้อด้วยแฝงอยู่ในความได้เปรียบในการแข่งขัน  ที่จะทำให้เศรษฐกิจระยะยาวของธุรกิจมีความเสี่ยงอยู่เสมอ  ซึ่งหมายความว่าความได้เปรียบนั้นไม่ใช่ "ของตาย"  และอะไรที่ไม่ใช่ของตาย  วอร์เรนไม่สนใจเด็ดขาด


ค่าเสื่อมราคา : ต้นทุนที่วอร์เรน  บัฟเฟตต์มิอาจเพิกเฉย 

         เครื่องจักรทุกตัว  อาคารทุกหลัง  ล้วนต้องชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  และความชำรุดทรุดโทรมนี้จะปรากฏในงบกำไรขาดทุนในรูปของ ค่าเสื่อมราคา  โดยทั่วไป  จำนวนเงินที่เสื่อมไปในช่วงปีหนึ่งของสิ่งใดก็ตาม  คือค่าใช้จ่ายที่จัดสรรตามรายรับในปีนั้น ซึ่งนับว่ามีเหตุผลดี  เพราะว่าค่าความเสื่อมของสินทรัพย์  สามารถพูดได้ว่าเกิดจากการใช้สินทรัพย์นั้นๆ ในกิจกรรมของธุรกิจซึ่งก่อให้เกิดรายรับ
     
         ตัวอย่างเช่น : ให้เรานึกถึงภาพบริษัท XYZ การพิมพ์ ซึ่งซื้อแท่นพิมพ์ราคา 1 ล้านดอลลาร์  ซึ่งมี่อายุการใช้งาน 10 ปี เนื่องจากอายุใช้งาน 10 ปี สรรพากรจะไม่ยอมให้บริษัทตัดค่าใช้จ่ายทั้งหมด $1 ล้านในปีที่ซื้อปีเดียว  แต่ต้องกระจายค่าแท่นพิมพ์ออกเป็นเวลา 10 ปีตามที่ใช้งานด้วยอายุการใช้งานของแท่นพิมพ์ 10 ปี  และต้นทุนแรกเริ่ม $1 ล้าน  หมายความว่า บริษัท XYZ จะต้องตัดค่าเสื่อมราคาของแท่นพิมพ์ในอัตรา $100,000 ต่อปี  ค่าเสื่อมราคาคือต้นทุนจริงในการทำธุรกิจ  เพราะว่า ณ จุดหนึ่งในอนาคต  แท่นพิมพ์นี้จะต้องถูกปลดระวางและมีแท่นใหม่มาแทน 

         การซื้อแท่นพิมพ์นี้จะปรากฏในงบดุล คือ บัญชี เงินสด จะถูกหักออก $1 ล้าน ไปปรากฏเพิ่มที่บัญชี  โรงงานและเครื่องจักร $1 ล้าน จากนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า คือเสื่อมราคา $100,000 ต่อปี  จะปรากฏเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน  ส่วนในงบดุล แต่ละปี $100,000 จะถูกหักจากส่วนสินทรัพย์ในรายการ โรงงานแลเครื่องจักร ในขณะที่ในส่วนหนึ่้สิน ค่าเสื่อมราคาสะสม จะเพิ่มขึ้น $100,000 จำนวนเงินสด $1 ล้าน เหรียญ  ที่ใช่้ไปจริงในการซื้อแท่นพิมพ์จะไปปรากฏในงบกระแสเงินสดในรายการ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุน  เราขอย้ำว่าค่าแท่นพิมพ์ 1 ล้านเหรียญ ไม่ได้ถูกหักเป้นค่าใช้จ่ายในปีที่ซื้อทั้งหมด แต่กระจายออกเป็นค่าเสื่อมราคาในงบกำไรขาดทุนปีละ $100,000 ทบกับเป็นเวลา 10 ปี

          การทำเช่นนี้ทำให้พ่อมดการเงินชาววอลล์สตรีททั้งหลายได้กลอุบายบางอย่าง คือ พวกเขาพบว่าทันทีที่มีการซื้อแท่นพิมพ์และจ่ายเงินเรียบร้อย  จะไม่มีการจ่ายเงินสดให้กับค่าเสื่อมราคาปีละ $100,000  อีก แต่มันยังคงทำให้รายได้ที่รายงานต่อสรรพากรลดลงทุกปีเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหมายความว่า เมื่อมองในระยะสั้น บริษัท XYZ มีค่าใช้จ่ายประจำปี  แต่ในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายเงินสดไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย  ด้วยเหตุนี้ พ่อมดการเงินชาววอลล์สตรีทจึงสามารถเพิ่มค่าใช้จ่าย $100,00 กลับเข้าไปในรายได้ ซึ่งหมายความว่ากระแสเงินสดของธุรกิจในตอนนี้สามารถรองรับหนี้สินสำหรับการซื้อธุรกิจด้วยเงินกู้ (leveraged buyout) ของนักเก็งกำไรได้  วอลล์สตรีทมีตัวย่อสำหรัรบการคำนวณรายได้เหล่านี้กลับไปใหม่ว่า EBITDA ซึ่งมาจาก Earnings Before Income Taz,Depreciation, and Amortization หรือ รายได้ก่อนหักภาษี  ค่าเสื่อมราคา  และค่าตัดจำหน่าย

          วอร์เรน  บัฟเฟตต์บอกว่าเมื่อชาววอลล์สตรีทหัวใสนำ EBITDA มาใช้โดยไม่สนใจว่าในที่สุดแท่นพิมพ์นั้นจะชำรุดจนใช้ไม่ได้อีกต่อไป และบริษัทจะต้องหาเงินอีก $1 ล้านเหรียญ  มาซื้อแท่นใหม่ แต่บริษัทกลับมีภาระหนี้สินก้อนโตที่มาจากการซื้อธุรกิจด้วยเงินกู้  ทำให้ไม่มีความสามารถในการจ่ายเงิน $1 ล้าน เพื่อซื้อแท่นพิมพ์ใหม่อีก

          วอร์เรน บัฟเฟตต์เชื่อว่าค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่ายจริง และต้องถูกนำมารวมในการคำนวณหารายได้เสมอ  หากไม่เช่นนั้นแล้ว เท่ากับเรากำลังหลอกตัวเองในระยะสั้นให้เชื่อว่า  ธุรกิจกำลังทำรายได้มากกว่าความเป็นจริง และไม่มีใครรวยขึ้นมาจากการหลอกตัวเองได้

           สิ่งที่วอร์เรน  บัฟเฟตต์ได้พบก็คือ  บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะมีค่าเสื่อมราคาเมื่อเทียบเป็นอัตราร้อยละกับกำไรขั้นต้นต่ำกว่าบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันรุนแรง  ตัวอย่างเช่น โคคา-โคล่าซึ่งมีค่าเสื่อมราคาประมาณ 6% ของกำไรขั้นต้นอย่างสม่ำเสมอ  และริกลี่ย์  บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนอีก 1 บริษัทก็อยู่ที่ประมาณ 7%  เช่นกัน ในขณะที่พร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิลบริษัทคู่ใจของวอร์เรนมานานอีกแห่งมีรค่าใช้จ่ายนี้ประมาณ 8% ...ตรงกันข้ามกับจีเอ็ม  ซึ่งอยู่ในธุรกิจที่ต้องมีการลงทุนสูงและมีการแข่งขันสูงซึ่งมีค่าเสื่อมราคาอยู่ที่ระหว่าง 22% ถึง 57% ของกำไรขั้นต้น

          เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายทุกชนิดที่กัดกร่อนกำไรขั้นต้นของบริษัท  วอร์เรน บัฟเฟตต์พบว่า  ยิ่งน้อยตัวเลขของกำไรที่ปรากฏในบรรทัดสุดท้ายของงบก็จะยิ่งมากเสมอ

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ การขาย และการบริหาร การตีความงบการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์


ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ : วอร์เรน  บัฟเฟตต์ จะจับตาดูอย่างระมัดระวัง

        แถวถัดลงมาจากกำไรขั้นต้นในงบกำไรขาดทุน  คือกลุ่มของค่าใช้จ่ายซึ่งเรียกว่า  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ  ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายสำคัญเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่  ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารงาน  ค่าใช้จ่ายในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด  ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย  ค่าปรับปรุงโครงสร้างและการด้อยค่าของทรัพย์สิน  และค่าใช้จ่าย "อื่นๆ" ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่จากการดำเนินกิจการ และค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว

         รายการเหล่านี้รวมกันเป็น "รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ"  ของบริษัท  ซึ่งจะนำมาหักออกจากกำไรขั้นต้นเพื่อที่จะได้ตัวเลขกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินกิจการของบริษัท  เนื่องจากรายการเหล่านี้ทุกรายการล้วนมีผลกระทบต่อธรรมชาติของเศรษฐกิจของธุรกิจในระยะยาว  เราจะมาดูรายการเหล่านี้ทีละรายการอย่าเจาลึกตามสไตล์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กันต่อไป


ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย, ทั่วไป  และการบริหาร 

       ในงบกำไรขาดทุน  ภายใต้หัวข้อ ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling), ทั่วไป (General), และการบริหาร (Administrative Expense) หรือ SGA ที่ซึ่งบริษัทรายงานค่าใช้จ่ายในการขาย  ค่าใช้จ่ายทั่วไป และค่าใช้จ่ายในการบริหารทั้งที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือโดยอ้อม  ในรอบบัญชีนั้นๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้รวมถึง  เงินเดือนของผู้บริหาร ค่าโฆษณา  ค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับกฏหมาย  ค่าคอมมิสชั่น  ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนทั้งหมด และอื่นๆ 

       ในบริษัทเช่นโคคา-โคล่า  ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจสูงเป็นพันล้านและมีผลกระทบมหาศาลต่อกำไรสุทธิของบริษัท  หากคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละต่อกำไรขั้นต้นแล้ว ตัวเลขค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในแต่ละธุรกิจจะต่างกันอย่างมาก  แม้แต่ในระหว่างบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนแบบโคคา -โคล่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ยังแตกต่างกัน โคคา-โคล่า มีตัวเลขค่าใช้จ่าย SGA เฉลี่ย 59% ของกำไรขั้นต้นอย่างสม่ำเสมอ บริษัทอย่างมูดี้ส์มีตัวเลขเฉลี่ยที่ 25% อย่างสม่ำเสมอ  และพร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิลอยู่ที่ราว 61% อย่างสม่ำเสมอ  ณ จุดนี้ คำว่า "สม่ำเสมอ"  คือหัวใจสำคัญ

     บริษัทที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุงแรง และมีตัวเลขค่าใช้จ่าย SGA ต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบเป็นอัตราร้อยละต่อกำไรเบื้องต้น  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  จีเอ็มมีค่า SGA เพิ่มจาก 28%  เป็น 83% ฟอร์ดมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในช่วง 5 ปีตั้งแต่ 83% ถึง  780% ซึ่งหมายความว่าบริษัทกำลังสูญเสียเงินอย่างใหญ่หลวง  ปัญหาของบริษัทก็คือเมื่อยอดขายเริ่มตก  ซึ่งหมายความว่ารายได้ตกลงด้วย  แต่ค่าใช้จ่ายในการขายทั่วไป  และการบริหารยังคงอยู่  หากบริษัทไม่สามารถตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้เร็วพอ  กำไรเบื้องต้นจะเริ่มถูกกินลึกลงไปเรื่อยๆ

     ในการค้นหาบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายการขาย  ทั่วไป  และการบริหารยิ่งต่ำจะยิ่งดี  และหากสามารถคงความต่ำอย่างสม่ำเสมอก็จะดียิ่งขึ้นอีก  อย่างไรก็ตาม มีบริษัทจำนวนหนึ่งที่มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันอย่างยั่งยืน แต่มีค่า SGA อยู่ในระหว่าง 30% ถึง 80% ด้วยเช่นกัน  แต่ถ้าหากเราเห็นบริษัทที่มีค่า SGA ใกล้เคียง หรือมากกว่า 100% ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  หมายความว่าเรากำลังเล่นอยู่กับบริษัทซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงมาก  ทำให้ไม่มีบริษัทใดสามารถมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนได้

        นอกจากนี้  ยังมีบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายการขาย  ทั่วไป  และบริหารต่ำหรือปานกลาง แต่ทำลายเศรษฐกิจของธุรกิจในระยะยาวที่ดีเยี่ยมของตนด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลในการค้นคว้าพัฒนา ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุนและ/หรือค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยกับหนี้ก้อนโตด้วย

        อินเทลคือตัวอย่างที่ดีมากของบริษัที่มีอัตราร้อยละของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย ทั่วไป และบริหาร ต่อกำไรขั้นต้นในระดับต่ำ แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการค้นคว้าพัฒนาสูง  ทำให้เศรษฐกิจระยะยาวของธุรกิจลดต่ำเหลือเพียงปานกลางเท่านั้น  แต่ถ้าหากอินเทลหยุดค้นคว้าวิจัย  ผลิตภัณฑ์รุ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันก็จะล้าสมัยใน 10 ปีข้างหน้าและต้องเลิกธุรกิจ  

        ยางกู๊ดเยี่ยร์มีอัตราร้อยละค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย  ทั่วไป และบริหารต่อกำไรขั้นต้น 72% แต่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุนและดอกเบี้ย (จากหนี้ซึ่งนำมาชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุน) ฉุดให้ผู้ผลิตยางรายนี้ขาดทุนทุกครั้งที่เศรษฐกิจถดถอย  แต่ถ้าหากว่ากู๊ดเยี่ยร์ไม่สร้างหนี้เพื่อนำไปชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุนและปรับปรุงบริษัท  กู๊ดเยียร์ก็ไม่อาจคงความสามารถในการแข่งขันได้นาน

      วอร์เรน บัฟเฟตต์ เรียนรู้ที่จะอยู่ห่างจากบริษัทต้องสาปด้วยค่าใช้จ่ายการขาย  ทั่วไป  และบริหารสูงอย่างสม่ำเสมอ  เรายังรู้อีกว่าเศรษฐกิจของบริษัทที่มีค่า SGA ต่ำ  สามารถถูกทำลายลงด้วยค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา  และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุนที่สูง  และ/หรือหนี้ก้อนโต  วอร์เรน  บัฟเฟตต์จะหลีกเลี่ยงธุรกิจประเภทนี้ไม่ว่าราคาจะเท่าใดก็ตาม  เพราะเขาทราบว่าเศรษฐกิจในระยะยาวของบริษัทเหล่านี้จะแย่มากโดยธรรมชาติ  ที่แม้แต่ราคาขายถูกๆ ก็ไม่ทำให้นักลงทุนรอดพ้นจากผลประกอบการ "งั้นๆ" ตลอดอายุขัยของธุรกิจได้

กำไรขั้นต้น / ส่วนต่างกำไรขั้นต้น การตีความงบการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์


กำไรขั้นต้น/ส่วนต่างกำไรขั้นต้น  ตัวเลขสำคัญสำหรับวอร์เรนในการค้นหาขุมทองในระยะยาว

           ตอนนี้หากเรานำตัวเลขที่บริษัทรายงานว่าคือ  ต้นทุนสินค้าขายมาหักจากยอด  รวมรายได้ ของบริษัท  เราจะได้กำไรขั้นต้น  ตัวอย่าง เช่น : ยอดรวมรายได้ $10 ล้าน  ลบต้นทุนสินค้าขาย $7 ล้าน เท่ากับกำไรขั้นต้น $3 ล้าน

            กำไรขึ้นต้น  คือเงินที่บริษัททำได้จากรายได้ขั้นต้นหลังจากหักต้นทุนของวัตถุดิบและแรงงานที่ใช้ในการทำสินค้าแล้ว  แต่ยังไม่รวมค่าใช้จ่าย  เช่น  ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร  ค่าเสื่อมราคา และต้นทุนของดอกเบี้ยในการดำเนินธุรกิจ  

             ตัวเลขกำไรขั้นต้นเพียงตัวเดียวบอกอะไรได้น้อยมาก  แต่เราสามารถนำตัวเลขนี้มาคำนวณส่วนต่างกำไรขั้นต้นของบริษัท  ซึ่งจะบอกให้เราได้ทราบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของเศรษฐกิจของบริษัทนั้นๆ ได้อย่างดี  สมการในการหาส่วนต่างกำไรขั้นต้น คือ

            กำไรขั้นต้น / ยอดรวมรายได้ = ส่วนต่างกำไรขั้นต้น 

            สำหรับวอร์เรน  บัฟเฟตต์  สิ่งที่เขามองหาคือ  บริษัที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนบางอย่าง  หรือธุรกิจที่เขาสามารถทำกำไรได้ในระยะยาว  และสิ่งที่เขาพบก็คือ  บริษัทที่มีเศรษฐกิจยอดเยี่ยมที่ได้เปรียบในระยะยาวมักจะมีส่วนต่างกำไรขั้นต้นสูงอย่าง สม่ำเสมอ กว่าบริษัทอื่น เราจะยกตัวอย่างใหคุณดู

           ส่วนต่างรายได้ขั้นต้นของบริษัทที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ บ่งชี้แล้วว่ามีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนรวมถึง : โคคา - โคล่า ซึ่งมีส่วนต่างกำไรขั้นต้น 60% หรือมากกว่าให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ  บริษัทจัดอันดับพันธบัตรมูดี้ส์  มีส่วนต่าง 73% เดอะ  เบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ เรลเวย์ 61% และบริษัทเคี้ยวมันอย่างหมากฝรั่งริกลี่ย์ 51% 

           จากการเปรียบเทียบธุรกิจชั้นยอดเหล่านี้กับบริษัทอื่นๆ ทำให้เราทราบถึงความแตกต่าง  บริษัทที่มีเศรษฐกิจของธุรกิจไม่ดีนักในระยะยาว เช่น สายการบินยูไนเต็ด  ที่ล้มละลายฟื้นๆ ฟุบๆ เป็นประจำ  มีส่วนต่างกำไรขั้นต้น 14% บริษัทผลิตรถยนต์เจนเนอรัล มอเตอร์สที่กำลังประสบปัญหาทำได้ 21% แบบหืดขึ้นคอ, ยูเอส สตีล บริษัทซึ่งเริ่มทำกำไรได้แล้วแต่ยังไม่แข็งแกร่งนักมี 17% และยางกู๊ดเยียร์ ที่วิ่งได้ในทุกสภาพอากาศ  แต่ในเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักเริ่มวิ่งไม่ออก  มีตัวเลขที่ไม่น่าประทับใจนักที่ 20% 
      
          ธุรกิจเทคโนโลยีคือธุรกิจที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ขออยู่ห่างๆ เพราะว่าเขาไม่เข้าใจ  แม้ไมโครซอฟท์จะมีส่วนต่างกำไรขั้นต้นสม่ำเสมอสูงถึง 79% ขณะที่แอปเปิ้ลอยู่ที่ 33% ตัวเลขร้อยละนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่โครซอฟท์มีเศรษฐกิจที่ดีกว่าจากการขายระบบปฏิบัติการและซอฟแวร์  เทียบกับแอปเปิ้ลซึ่งขายฮาร์ดแวร์และบริการ

           สิ่งที่สร้างส่วนต่างกำไรขั้นต้นสูงให้กับบริษัทคือ  ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  ซึ่งทำให้บริษัทมีอิสระในการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์และบริการที่จำหน่ายสูงกว่าต้นทุนสินค้าขายได้มาก  หากไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน  บริษัทจะต้องต่อสู้กับคู่แข่งด้วยการลดราคาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ขาย  ซึ่งทำให้ส่วนต่างกำไรและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงด้วยอย่างแน่นอน

          ดังนั้น จึงเป็นกฏธรรมดามาก (และมีข้อยกเว้น) ว่า : บริษัทซึ่งมีส่วนต่างกำไรขั้นต้น 40% หรือมากกว่า  มีแนวโน้มที่จะเป็นบริษัทที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนประการใดประการหนึ่ง  ในขณะที่บริษัทที่มีตัวเลขน้อยกว่า 40% มีแนวโน้มที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง  ซึ่งการแข่งขันส่งผลกระทบต่อส่วนต่างกำไรโดยรวม (นี่ก็มีข้อยกเว้นด้วยเช่นกัน)  ส่วนต่างกำไรขั้นต้น 20% หรือน้อยกว่า มักเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ มีการแข่งขันที่ดุเดือด  และไม่มีบริษัทใดในอุตสาหกรรมนี้ที่สามารถสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่ยั่งยืนเหนือคู่แข่งได้  และบริษัทในอุตสหกรรมที่มีการแข่งขันสูงซึ่งไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันใดๆ ไม่มีวันจะทำให้เรารวยได้ในระยะยาว 

           ในขณะที่ส่วนต่างกำไรขั้นต้นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าบริษัทจะรอบพ้นจากความล้มเหลว  แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ตัวแรกๆ ว่าบริษัทมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนและมีความสม่ำเสมอ  วอร์เรน บัฟเฟตต์ เน้นคำว่า "ยั่งยืน" เป็นอย่างมาก  ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย  เราจึงควรตรวจสอบตัวเลขส่วนต่างกำไรขั้นต้นของบริษัทในช่วง 10 ปีล่าสุด  เพื่อความมั่นใจว่าบริษัทมีความ "สม่ำเสมอ" วอร์เรนทราบว่า  เมื่อเราจะค้นหาบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน "ความสม่ำเสมอ" คือหัวใจของเกมนี้

           ตอนนี้เราจะพูดถึงสาเหตุหลายประการที่ทำให้บริษัทซึ่งมีส่วนต่างผลกำไรสูงหลงทาง  ทำให้บริษัทสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว  
  1. คือต้นทุนการค้นคว้าที่สูงลิ่ว
  2. บริษัทมีต้นทุนการขายและการบริหารสูง
  3. ต้นทุนดอกเบี้ยจากหนี้ของบริษัทสูง  
           ค่าใช้จ่าย 1 ใน 3  ตัวนี้สามารถทำความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของธุรกิจได้ในระยะยาว  ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเหล่านี้เรียกว่า  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นเสมือนหนามยอกอกของทุกธุรกิจ


รายได้ และต้นทุนขาย การตีความงบการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์




   รายได้  : ที่ซึ่งเงินเข้า

          บรรทัดแรกในงบกำไรขาดทุนจะเป็น ยอด รวมรายได้หรือรายได้ขั้นต้น  ซึ่งคือจำนวนเงินที่เข้ามาในบริษัทในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งอาจเป็นไตรมาสหรือปี  หากเราผลิตรองเท้า และขายรองเท้าได้ $120 ล้าน ในปีนั้น  งบกำไรขาดทุนของเราจะรายงานว่า ยอด รวมรายได้ เท่ากับ 120 ล้าน สำหรับปีนั้น

          ตอนนี้  ความจริงที่ว่าบริษัทมีรายได้มากไม่ได้หมายความว่าวายได้ที่เข้ามาเป็นกำไร  ในการดูว่าบริษัทมีกำไรเท่าใด  จะต้องนำต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของธุรกิจมาหักจากยอดรวมรายได้  รายได้ลยค่าใช้จ่ายเท่ากับรายได้สุทธิ  อย่างไรก็ตาม  รายได้รวมตัวเดียวไม่ได้บอกอะไรเลยจนกว่าจะหักค่าใช้จ่ายออก และดูว่ารายได้สุทธิมีจำนวนเท่าใด

          หลังจากที่วอร์เรนดูยอดรวมรายได้ของธุรกิจแล้ว  เขาจะเริ่มพิจารณาด้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยละเอียด  เพราะเขารู้ว่าหนึ่งในความลับที่ยิ่งใหญ่ของการทำเงินให้ได้มากขึ้นคือ  การใช้จ่ายน้อยลง

  

  ต้นทุนขาย : สำหรับวอร์เรน บัฟเฟตต์  ยิ่งต่ำยิ่งดี

         ในงบกำไรขาดทุน  รายการที่อยู่ถัดจากยอดรวมรายได้คือ  ต้นทุนสินค้าขาย  หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า ต้นทุนรายได้  ต้นทุนสินค้าขายคือต้นทุนของสินค้าที่บริษัทซื้อมาเพื่อขาย  หรือต้นทุนของวัสดุและแรงงานที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขายก็ได้  หากธุรกิจของบริษัทเกี่ยวกับการให้บริการไม่ใช่การขายผลิตภัณฑ์ มักจะใช้ "ต้นทุนของรายได้" แทน "ต้นทุนสินค้าขาย" แต่ที่สุดแล้วคือสิ่งเดียวกัน  เพียงแต่ตัวหนึ่งมีความหมายครอบคลุมกว่าเล็กน้อยเท่านั้น  สิ่งที่เราต้องทำคือ  ตรวจสอบให้แน่นอนว่าบริษัทรวมอะไรเข้าไปในการคำนวณต้นทุนการขายหรือต้นทุนของรายได้บ้าง  ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าผู้บริหารของบริษัทคิดอย่างไรกับธุรกิจของพวกเขา

        ตัวอย่างง่ายๆ ที่จะแสดงให้เห็นถึงวิธีการคำนวณต้นทุนสินค้าของบริษัทเฟอร์นิเจอร์บริษัทหนึ่งคือ : เริ่มจากต้นทุนของเฟอร์นิเจอร์ในสินค้าคงคลังของบริษัท  ณ ต้นปี  บวกต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาในสินค้าคงคลังระหว่างปี  แล้วลบด้วยมูลค่าเงินสดของสินค้าคงคลัง ณ สิ้นปี  เพราะฉะนั้น หากบริษัทเริ่มต้นปีโดยมีสินค้าคงคลังมูลค่า  $10 ล้าน ซื้อสินค้าเข้ามาเพิ่มในสินค้าคงคลัง $2 ล้าน และเมื่อถึงปลายปีมูลค่าของสินค้าคงคลังเท่ากับ $7 ล้าน  หมายความว่าบริษัทนั้นๆ มีต้นทุนสินค้าขาย $ 5 ล้านเหรียญ  สำหรับงวดบัญชีนั้นๆ  
       แม้ว่าต้นทุนสินค้าขายเพียงตัวเดียวจะไม่ได้บอกอะไรมากว่าบริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่  แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ทราบถึงกำไรขั้นต้นของธุรกิจ  ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญในการช่วยให้วอร์เรนตัดสินว่า  บริษัทนั้นๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวหรือไม่  เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันในครั้งต่อไป

งบกำไรขาดทุน การตีความงบการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์

     

          ในการค้นหาบริษัทชั้นยอดที่มีความได้เปรียบในการแข่'ขันที่ยั่งยืน  วอร์เรน  บัฟเฟตต์จะเริ่มที่งบกำไรขาดทุนของบริษัทเสมอ  งบกำไรขาดทุนบอกให้นักลงทุนทราบถึงผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วงเวลาหนึ่งๆ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ  บริษัทจะจัดทำงบกำไรขาดทุนทุก 3 เดือนและตอนสิ้นปี  งบกำไรขาดทุนจะใส่ช่วงเวลาที่ครอบคลุมเสมอ  เช่น 1 มกราคม 2007 ถึง 31 ธันวาคม 2007

       งบกำไรขาดทุนมีส่วนประกอบพื้นฐาน 3 ส่วน คือ : หนึ่ง  ส่วนรายได้ของบริษัท  ตามด้วยส่วนค่าใช้จ่าย  ซึ่งจะถูกหักออกจากรายได้และบอกว่าบริษัทได้กำไรหรือขาดทุน  ฟังดูง่ายๆ ใช่มั้ย? มันง่ายจริงๆ นั่นแหล่ะ

         ในยุคแรกของการวิเคราะห์หุ้น  นักวิเคราะห์ชั้นนำในสมัยนั้น เช่น เบนจามิน  เกรแฮม  อาจารย์ของวอร์เรน  บัฟเฟตต์  จะเน้นที่การดูว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้หรือไม่อย่างเดียว  ให้ความสนใจน้อยมากหรือไม่ให้เลยกับความสามารถในการเจริญเติบโตในอนาคตของแหล่งรายได้  อย่างที่เราได้พูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า  เกรแฮมไม่สนใจว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจที่ไม่ธรรมดาที่มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจดีเยี่ยม  หรือเป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจธรรมดาทั่วไปที่กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด  เกรแฮมสามารถตัดสินใจซื้อบริษัทห่วยๆ ทันทีที่เขาคิดว่าราคาของมันถูกพอ

          หนึ่งในความเข้าใจอย่างลึกซึ่งของวอร์เรนคือ การที่เขาแบ่งโลกของธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาวและยั่งยื่นเหนือคู่แข่ง  บริษัทเหล่านี้คือบริษัทที่เขายอมซื้อในราคาที่เหมาะสมหรือแพงกว่าเล็กน้อย  ซึ่งสามารถทำให้เขารวยล้นได้เมื่อเก็บมันไว้นานพอ  อีกกลุ่มหนึ่งคือ พวกธุรกิจธรรมดาทั่วไปที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับในตลาดที่มีการแข่งขันสูงปีแล้วปีเล่า  ซึ่งเป้นบริษัที่ไม่ดีต่อการลงทุนระยะยาว

           ในการค้นหาบริษัทชั้นยอด  วอร์เรนพบว่ารายการแต่ละรายการที่ประกอบกันเป็นงบกำไรขาดทุนของบริษัท  สามารถบอกเขาได้ว่าบริษัทนั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาวหรือไม่  ไม่เพียงแต่ว่าบริษัทเหล่านั้นจะสามารถทำเงินได้หรือไม่เท่านั้น  แต่ส่วนต่างกำไรเป็นอย่างไร  บริษัทต้องใช้จ่ายกับการค้นคว้าพัฒนาสูงหรือไม่เพื่อที่จะคงความได้เปรียบและต้องใช้ความพยายยามอย่างมากหรือไม่ในการทำกำไร  ปัจจัยเหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นข้อมูลที่เขาเก็บเกี่ยวได้จากงบกำไรขาดทุน  เพื่อจะเรียนรู้ธรรมชาติของกลไกเศรษฐกิจของบริษัทหนึ่งๆ  ..สำหรัรบวอร์เรน แหล่งที่มาของรายได้สำคัญกว่าตัวรายได้เสมอ

          ในหัวข้อข้างหน้า  เราจะเจาะลึกรายการแต่ละรายการในงบการเงินของบริษัท  และสิ่งที่วอร์เรนมองหา  ที่จะบอกให้เขารู้ว่ามันเป็นธุรกิจที่จะนำเขาไปสู่ความยากจน  หรือธุรกิจทองคำที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวที่ยั่งยืน  ซึ่งจะทำให้เขาเป็นคนรวยที่สุดในโลกต่อไป

กฏการลงทุนอย่างรอบคอบ 30 ข้อ สำหรับนักลงทุน VI

       

       ขณะที่พวกเราพยายามค้นหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้มีชีวิตยืนยาว มันก็มีคำตอบง่ายๆ อยู่ไม่น้อยที่ส่งผลกระทบใจได้มาก ซึ่งก็ยากทีเดียวที่จะสรรหาคำแนะนำเรื่องนี้ได้ดีไปกว่าคำตอบที่ว่า อย่าสูบบุรี่ อย่าดื่มเหล้า ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และคาดเข็มขัดนิรภัยก่อนขับรถ  ความคิดที่ก่อปัญหาให้ซับซ้อนแล้วสามารถหาคำตอบได้ง่ายๆ นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่คำถามเรื่องการมีชีวิตยืนยาวเท่านั้น

       ผมได้รวบรวมกฏข้อปฏิบัติไว้ 30 ข้อที่จะทำให้คุณมีโอกาสบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินได้ดังตั้งใจลองดูและนำไปปฏิบัติกันครับ


            1.  จงอย่าเพิ่มความเสี่ยงมากเกินกว่าที่คุณจะรับไหว  แผนหลายฉบับล้มเหลวก็เพราะนักลงทุนแบกรับความเสี่ยงมากเกินกว่าที่ตนจะรับไว้ได้  ความเสี่ยงมักจะปรากฏออกมาอย่างคาดไม่ถึงซึ่งจะนำไปสู่การยกเลิกแผนการลงทุน  ดังนั้นเมื่อคุณกำลังสร้างแผนการลงทุนอยู่  จงพิจารณาถึงขีดความสามารถ  เสถียรภาพของรายได้  ความสามารถที่จะทนรับภาวะขาดทุน  และอัตราผลตอบแทนที่จะบรรลุตามเป้าหมายของคุณด้วย

            2.  จงอย่าลงทุนในหุ้นถ้าคุณยังไม่เข้าใจธรรมชาติทั้งหมดของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น  และถ้าคุณไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้แก่เพื่อนของคุณฟังได้  คุณก็ไม่ควรลงทุน  บรรดาความโชคดีต่างๆ อาจหายไปในบัดดล เพราะว่าผู้คนไม่เข้าใจถึงประเภทความเสี่ยงที่เขาเหล่านั้นกำลังประสบอยู่

            3. การลงทุนยิ่งสลับซับซ้อน  คุณก็ควรจะยิ่งวิ่งหนีให้เร็วขึ้น  สินค่าที่สลับซับซ้อนมักจะออกแบบมากเพื่อขาย  ไม่ใช่เพื่อซื้อ  คุณสามารถมั่นใจได้เลยว่าความสลับซับซ้อนนั้นออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของผู้ที่ออกตราสาร  ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุน  บรรดาวาณิชธนากรไม่ได้เล่นบทเป็นซานตาคลอสมาหยิบยื่นผลตอบแทนสูงๆ ให้คุณเพราะพวกเขาชอบคุณหรอกนะ  เขาหวังเงินของคุณต่างหาก

            4. ความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กัน  แต่ความเสี่ยงและความคาดหวังในผลตอบแทนเป็นสิ่งสัมพันธ์กัน ถ้ามันไม่มีความเสี่ยง  มันก็จะไม่มีความคาดหวังในผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน

           5. ถ้าหุ้นให้ผลตอบแทนสูง  คุณจงมั่นใจได้เลยว่าความเสี่ยงย่อมสูงด้วยแม้ว่าคุณจะมองไม่เห็นมันก็ตาม  ผลตอบแทนสูงๆ ก็เหมือนกับผลแอปเปิ้ลเปลือกผิวมันวาวที่ราชินีผู้ชั่วร้ายหยิบยื่นให้แก่สโนว์ไวท์  นักลงทุนจึงไม่ควรสับสนระหว่างผลตอบแทนที่แท้จริงกับความคาดหวังในผลตอบแทนสูง ๆ  สโนว์ไวท์มองไม่เห็นยาพิษที่แทรกซึมอยู่ในผลแอปเปิลได้ฉันใด  คุณก็มั่นใจได้เลยว่าคุณจะมองไม่เห็นพวกความเสี่ยงต่างๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในการลงทุนด้วยฉันนั้น

           6.แผนการลงทุนที่ดีมีความจำเป็นสำหรับการลงทุนที่ประสบผลสำเร็จ  แต่คุณต้องมีวินัยที่จะดำเนินตามแผน  ปรับสมดุล และจัดการภาษีเท่าที่จำเป็น  โชคไม่ดีเลยที่บรรดานักลงทุนต่างไม่เคยเขียนแผนการลงทุนไว้กำกับตัวเองและอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโลภ  ความอิจฉาในตลาดขาขึ้น  รวมถึงความกลัวและความตระหนกตกใจในตลาดขาลง  ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แผนดีๆ ต้องถูกทิ้งไป

          7.แผนการลงทุนต้องรวมเอาแผนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์  แผนภาษี  และแผนการจัดการความเสี่ยง (การประกันภัยทุกประเภท) เข้าไปด้วย  แผนการลงทุนที่ดีที่สุดสามารถล้มเหลวได้จากเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับตลาดการเงินเลย  เช่น บางครอบครัวมีคนทำงานหาเงินอยู่เพียงคนเดียวแต่ต้องหาเลี้ยงทั้งครอบครัวหากคนๆ นั้นตายไปโดยไม่ได้ทำประกันชีวิตใดๆ ไว้เลย  หรืออาจจะประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานได้  ก็จะทำให้สมาชิกคนอื่นๆ ต้องพลอยตกอยู่ในความลำบากไปด้วย

          8. จงอย่าคิดว่าสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้แล้วจะเป็นไปไม่ได้เลย และอย่าเชื่อว่าสิ่งที่เป็นไปได้คือความแน่นอน  นักลงทุนมักจะตั้งสมมติฐานว่าความสามารถของพวกเขามีมากจนล้นเหลือและมีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีเลย  ผลลัพธ์ก็คือเขาอาจจะต้องรับความเสี่ยงมากเกินไป  การรับความเสี่ยงมากเกินอาจทำให้นักลงทุนระยะยาวกลายเป็นนักลงทุนระยะสั้นไปโดยอัตโนมัติ  หุ้นต่างๆ มีความเสี่ยง ไม่ว่ามันจะมีความสามารถเพียงใดก็ตาม และจงจำไว้ว่าเพราะบางสิ่งบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้หรือมันจะไม่เกิดขึ้น

          9. ผลที่ตามมาจากการตัดสินใจควรจะมีผลต่อความเป็นไปได้ของผลลัพธ์นั้นๆ เราซื้อประกันภัยเพื่อจะลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ที่เป็นไปได้น้อย (เช่น ความตาย) เพื่อป้องกันผลที่ตามมาจากการไม่ทำประกันภัยซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนควรจะทำประกันพอร์ตการลงทุนของเขา (โดยครอบครองตราสารหนี้คุณภาพสูงในจำนวนเหมาะสม) เพื่อลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น  เพราะผลที่ออกมาจากการไม่ทำประกันอาจจะหนักหนาเกินกว่าที่ใครจะรับไหว

         10. กลยุทธ์สร้างความร่ำรวยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกลยุทธ์รักษาความร่ำรวยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน  บางคนอาจจะอยากรวยโดยยอมเสี่ยงมากขึ้น (หรือได้รับมรดก) ขณะที่บางคนอยากรวยอย่างยั่งยืนโดยลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดด้วยการกระจายการลงทุนและไม่ใช้จ่ายเงินจนเกินตัว

         11. สิ่งเดี่ยวที่แย่ยิ่งกว่าการจ่ายภาษีคือการไม่ยอมจ่ายภาษี  ปัญหาของ "ไข่ล้นเกินในตะกร้าใบเดียว"  ซึ่งเป็นผลจากการครอบครองหุ้นจำนวนมากในราคาต่ำ  หากขายหุ้นเหล่านั้นออกไปแล้วจะได้กำไรมหาศาล  และถ้าหากยังไม่จ่ายภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นอีกก็จะนำไปสู่ความโชคร้ายอย่างแน่นอน

         12. พอร์ตการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนจะปลอดภัยที่สุดก็ต่อเมื่อมีการกระจายการลงทุนออกไป  พอร์ตการลงทุนควรจะรวมการจัดสรรการลงทุนไปในประเภทสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่  หุ้นขนาดเล็ก หุ้นเน้นคุณค่า หุ้นเติบโต  อสังหาริมทรัพย์  หุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นตลาดเกิดใหม่  สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารหนี้

          13. การกระจายการลงทุนของพอร์ตจะให้ผลตอบแทนอยู่เสมอๆ ซึ่งบางครั้งคุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบผลที่ออกมา   เมื่อใดก็ตามที่คุณกระจายการลงทุนออกไปนอกเหนือจากดัชนีที่เป็นที่นิยม (เช่น ดัชนี SET 100 ) คุณจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ดัชนีนั้นๆ มีผลงานดีกว่าพอร์ตการลงทุนของคุณ  ข่าวลือจากสื่อต่างๆ จะเป็นเครื่องทดสอบว่าคุณมีความสามารถเพียงพอที่จะยึดมั่นกับกลยุทธ์ของคุณให้ถึงที่สุดได้หรือไม่?

          14. ราคาหุ้นทั้งหมดและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยง (เช่น ตารสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง  และตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่) มักจะมีแนวโน้มตกต่ำลงในช่วงเกิดวิกฤตทางการเงิน  แผนการลงทุนของคุณจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยนี้ไว้ด้วย

          15. แค่ตามหาหุ้นราคาผิดปกติเท่านั้นยังไม่พอ  คุณต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วย "ประวัติศาสตร์" มักเต็มไปด้วยเรื่องราวของนักลงทุนที่พยายามใช้โอกาสในยามที่หุ้นมีราคาผิดปกติ  จนในที่สุดก็ได้พบว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงเกินกว่าผลตอบแทนที่ได้รับเสียอีก

         16.การลงทุนในหุ้นเป็นเกมที่ผลรวมออกมาเป็นบวก  แต่ค่าใช้จ่ายจะทำให้เกมได้ผลรวมที่กลายเป็นลบ  นักลงทุนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจะไม่เล่นเกมที่ได้ผลรวมติดลบ  และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ชอบหลีกเลี่ยงความเสี่ยง  จงคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ต่ำ  การลดภาระภาษี  และการจัดการลงทุนที่ซื้อขายน้อยครั้ง

         17. การถือครองหุ้นเป็นตัวๆ และกองทุนหุ้นกลุ่มต่างๆ เป็นการเก็งกำไรมากกว่าการลงทุน  ตลาดจะให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนที่ยอมเสี่ยงถือหุ้นเป็นตัวๆ หรือเป็นกลุ่มมากกว่าการกระจายการลงทุน  ซึ่งคล้ายกับการลงทุนในหุ้นเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้  และยังจะมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกหากครอบครองหุ้นเพียงตัวเดียว  นักลงทุนที่ฉลาดจึงมักจะยอมรับความเสี่ยงเฉพาะในสถานการณ์ที่เขาเหล่านั้นจะได้รผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนที่เขาคาดหวังไว้เท่านั้น

         18. จงเสี่ยงกับการลงทุนในหุ้น  ตราสารหนี้อาจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพอร์ตการลงทุน  เพราะมันสามารถลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

         19. ก่อนจะทำอะไรกับข้อมูลสำคัญ  คุณควรถามตัวเองก่อนว่า ทำไมคุณถึงคิดว่าข้อมูลเหล่านั้นยังไม่ได้สะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นแล้ว  เฉพาะคุณค่าภายในของตัวหุ้นนั้นๆ เท่านั้นที่มีค่า  การจะหาคุณค่าภายในของตัวหุ้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย  ถ้าคุณได้ฟังคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ที่เฉลี่ยวฉลาด  หรือจากโบรกเกอร์ของคุณ  หรืออาจจะอ่านจากหนังสือพิมพ์ด้านการเงินก็ตาม  ตลาดได้รับรู้แล้วว่าขัอมูลนั้นอยู่บนพื้นฐานอะไรและมันได้สะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นแล้วจึงทำให้ข้อมูลดังกล่าวไม่มีค่าอีกต่อไป

         20. ประโยคที่อันตรายที่สุดสำหรับการลงทุนคือ "เวลานี้... มันไม่เหมือนเดิม" ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความหลงใหลที่จะไขว่คว้าหาแต่ "สิ่งใหม่ๆ" และยังเป็นเหตุผลว่าทำไมประโยคที่ว่า "หนทางที่น่ามั่นใจที่สุดเพื่อไขว่คว้าหาความโชคดีเล็กน้อยควรเริ่มต้นด้วยการทำเรื่องใหญ่เสียก่อน" จึงเป็นเพียงการอุปมาอุปไมยเท่านั้น

         21. ตลาดอาจทำตัวไม่มีเหตุผลได้ยาวนานเกินกว่าที่จะสามารถทนได้  ภาวะฟองสบู่จะยังเกิดขึ้นต่อไป  อย่างไรก็ตาม  ขณะที่มันกำลังระเบิดอยู่ มันก็จะโตขึ้นและโตขึ้น  และอยู่อย่างยาวนานเกินกว่าทรัพยากรที่คุณมีทั้งหมดจะช่วยคุณได้

         22. ถ้ามันดีเกินกว่าจะเป็นจริง  มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ   เมื่อเงินกับประสบการณ์มาพบกัน  ประสบการณ์จะดึงดูดเงินไป  และเงินที่ถูกดูดไปจะทำให้เกิดประสบการณ์  มีเพียงทางเดียวที่จะลงทุนได้อย่างปลอดภัยนั้นคือ  กระจายการลงทุน

         23. จงอย่าทำงานกับที่ปรึกษาการเงินที่คิดค่าบริการจากค่าคอมมิชชั่น  ค่าคอมมิชชั่นจะก่อให้เกิดคำแนะนำที่ลำเอียงได้

         24. จงทำงานกับที่ปรึกษาการเงินที่มีจรรยาบรรณเท่านั้น  นั่นคือหนทางที่ดีที่สุดที่จะมั่นใจได้ว่าคำแนะนำที่คุณได้รับก็เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคุณ  ไม่มีเหตุผลใดที่ที่ปรึกษาของคุณจะไม่ยึดหลักจรรยาบรรณ

        25. จงแยกให้ออกระหว่าการบริการของที่ปรึกษาการเงิน  ผู้จัดการฝ่ายการเงิน  ผู้รับฝากหลักทรัพย์ (Custodian) และผู้ดูแลทรัพย์สิน (Trustee) กฏข้อนี้ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการทุจริตได้

        26. เนื่องจากพวกเราชาวนักลงทุนต่างอยู่ในโลกของลูกแก้ววิเศษที่หม่นมัวด้วยหมอกเมฆ  กลยุทธ์ใดๆ ที่ใช้อาจจะถูกหรือผิดก็ได้จนกว่าเราจะรู้ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง  โดยทั่วไปคนโง่ที่โชคดีไม่เคยคิดว่าพวกเขาโชคดี  แม้แต่แผนการลงทุนที่ดีก็อาจจะล้มเหลวได้  นั้นเป็นเพราะความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั้นเกิดขึ้นแล้วและผลของความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไปแล้วก็อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้อีกด้วย

        27. ความหวังไม่ใช่กลยุทธ์การลงทุน  จงตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้จากบทความในวารสารทางวิชาการชั้นนำเท่านั้น

        28. จงจดบันทึกการคาดการณ์ตลาดของคุณทุกวัน  หลังจากนั้นคุณจะรู้ว่า คุณไม่ควรจะลงทุนตาวความรู้สึกในใจของคุณ

        29. ไม่เคยมีเรื่องใหม่ในการลงทุน  มีเพียงแต่ประวัติศาสตร์การลงทุนที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเท่านั้น  ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเงินจะทำให้คุณสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับพอร์ตการลงทุนของคุณได้

        30. คำแนะนำที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง  แต่คำแนะนำที่ไม่ดีจะทำให้คุณเสียค่าใช้จ่ายแพงมากไม่ว่าคำแนะนำเหล่านั้นจะมีราคาถูกเพียงใดก็ตาม  คนที่ฉลาดมักจะไม่เลือกหมอที่คิดค่ารักษาราคาถูก  หรือไม่เลือกผู้ตรวจสอบบัญชีที่คิดใช้จ่ายถูกๆ ค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญแน่นอน  แต่มันจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อคำแนะนำนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนที่มีค่ามากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายแล้ว

          สิ่งที่ผลจะกล่าวตอนท้ายนี้ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดเท่านั้น  แต่ยังเป็นบทสรุปส่งท้ายที่เหมาะสมอีกด้วย  ขณะที่มันช่างน่าเศร้าที่นักลงทุนจำนวนมากมักจะพลาดผลตอบแทนของตลาดที่เกิดจากกลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อขายน้อยครั้งอย่างน่าเสียดายแล้ว  ความเศร้าอันใหญ่หลวงของแท้ก็คือ พวกเขายังพลาดสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตสำหรับการแสวงหาสิ่งที่ผมเรียกว่า "สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งผลประกอบการที่ยอดเยี่ยม" ด้วย  ความปรารถนาของผมเปี่ยมด้วยความหวังว่า  กฏการลงทุนเหล่านี้จะนำพาคุณไปสู่เกมแห่งผู้ชนะทั้งในการลงทุนและที่สำคัญกว่านั้นคือ....  ในชีวิตของคุณ