Thursday, October 16, 2014

นิสัยที่ดีในการลงทุน

   

      เมื่อเราเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ ๆ และชอบที่จะทำสิ่งนั้น   สิ่งที่เราเรียนรู้ที่จะทำจะเป็นนิสัยติดตัวเราตลอด  ไม่มีวันจืดจาง   วันนี้ผมจะพูดถึงนิสัยที่ดีสำหรับการลงทุนคับ  โดยจะแบ่งออกเป็นสามช่วง  เชิญอ่านเลยคับ


นิสัยที่ดีใจการลงทุน  ช่วงก่อนการลงทุน

        ใครไม่อยากสิ้นเปลืองทรัพยาการการเงินไปโดยไม่จำเป็น  ก่อนเริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะต้อง

1. ตอบให้ได้ว่า "เป้าหมายการลงทุนคืออะไร" ต้องการจะบรรลุดป้าหมายนั้นเมื่อไรและจำนวนเงินสำหรับลงทุนที่เหมาะสมของเราคือเท่าไร   เรามีเงินออม  เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินแล้วหรือยัง  เพื่อให้การสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนมีทิศทางที่ชัดเจน  การสำรวจความพร้อมของตัวเองก่อน  เป็นขั้นตอนที่สำคัญ

2. รู้และเข้าใจ "ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน" ว่าแต่ละประเภทคืออะไร ให้ผลตอบแทนอย่างไร มีความเสี่ยงเฉพาะตัวอะไรบ้าง  เหมาะสมกับความต้องการและจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้หรือไม่  ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมายให้เราเลือกลงทุนได้ตามความเหมาะสม  ทั้งในด้านจำนวนเงินลงทุน  ระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทน อย่างเช่น  กองทุนรวมตลาดเงิน  กองทุนรวมตราสารหนี้  กองทุนรวมตราสารทุน  กองทุนรวม LTF กองทุนรวม RMF กองทุนรวมผสม พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ  ฟิวเจอร์ส และออปชั่นประเภทต่างๆ เป็นต้น

3. ต้องแน่ใจว่า "เข้าใจวิธีการซื้อขายหลักทรัพย์" การส่งคำสั่งซื้อขาย รู้จักเปรียบเทียบและเลือกบริษัทหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงและพร้อมให้บริการอย่างเต็มที่  มีเจ้าหน้าที่การตลาดที่มีความรับผิดชอบ  มีบทวิเคราะห์ที่ดี  เชื่อถือได้  มีระบบการซื้อขายที่ทันสมัยและที่สำคัญมีจรรยาบรรณในการดำเนินงาน

4. วางแผนการลงทุนให้ชัดเจน  ว่าจะกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง สัดส่วนการลงทุนเป็นอย่างไร  และที่สำคัญควรกำหนดอัตราขาดทุนที่ยอมรับได้ไว้ด้วย

      รู้จักตัวเอง  รู้จักเครื่องมือ  เข้าใจวิธี  มีแผนชัดเจน  เพียงเท่านี้ประตูแห่งโอกาสในการทำกำไรก็เปิดรอให้เราเดินเข้าไปลงทุนอย่างมั่นใจแล้ว

 นิสัยที่ดีในการลงทุน  ช่วงการลงทุน

       เมื่อเตรียมความพร้อมอย่างดีแล้ว นักลงทุนที่ดีจะต้องขยันทำการบ้านอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะในช่วงตัดสินใจลงทุนซึ่งเป็นช่วงสำคัญมาก  เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อการลงทุน ทั้งทางตรงและทางอ้อม  นักลงทุนที่ดีจึงต้อง

1. เข้าใจเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยง  เพราะการลงทุนในหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงย่อมจะมีความเสี่ยงสูงด้วย  การประเมินความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ จะช่วยให้เราสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีประสิทธิภาพได้จากระดับความเสียงที่ยอมรับได้  ณ  อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม

2. เข้าใจการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน  เพราะการลงทุนในหุ้นก็คือการลงทุนในธุรกิจของบริษัท  เราจึงต้องเข้าใจพื้นฐานของบริษัทที่จะลงทุน  การเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมวัฏจักรธุรกิจตลอดจนผลการดำเนินงานแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ ฐานะทางการเงิน  นโยบายการจ่ายเงินปันผล  กลยุทธ์การดำเนินงานและความมีจรรยาบรรณของผู้บริหาร  จะทำให้เราเฟ้าหาบริษัทที่ดี  ในราคาที่เหมาะสมได้  ทั้งนี้  นักลงทุนที่ดีควรมองเป้าหมายการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก  ดังนั้น  ในการคัดเลือกบริษัทที่ดีจึงต้องเน้นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอไม่ผันผวนตามสภาพแวดล้อมมากนัก  นอกจากนี้ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะทำให้เราทราบมูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์ที่ต้องการลงทุน   หากมูลค่าของหลักทรัพย์สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาดก็ถือว่าเป็นหลักทรัพย์ที่น่าลงทุน เพราะตาลกลไลตลาด  ราคาหลักทรัพย์จะปรับตัวเข้าหามูลค่าที่แท้จริงเสมอ  ส่วนเคล็ดลับง่ายๆ ในการทำความเข้าใจพื้นฐานของบริษัท  ก็คือให้เริ่มต้นจากเลือกบริษัทที่มีสินค้าหรือบริการที่เรารู้จักหรืออาจจะใช้บริการเป็นประจำ  เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจลักษณะของธุรกิจ  คาดการณ์โอกาส  ข้อจำกัด  รวมทั้งติดตามการดำเนินการได้อย่างชัดเจน

 3.เข้าใจ Benchmark หรือดัชนีราคาหุ้น ได้แก่ SET Index SET50 Index SET100 Index หรือ mai Index ซึ่งจะสะท้องภาพรวมของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ว่าราคาหลักทรัพย์โดยรวมมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดเมื่อเทียบกับในอดีต

4. มีวินัยในการลงทุน  เมื่อเรามีแผนการลงทุนที่เหมาะสมและชัดเจนแล้วเราควรปฏิบัติตามแผนการที่วางไว้อย่างมีวินัยด้วย  เพราะการมีวินัยในการลงทุนจะช่วยให้เราไม่หวั่นไหวไปตามความผันผวน  ตามกระแสหรือข่าวลือที่จะมาสร้างความวิตกกังวลในระยะสั้น  วินัยในการลงทุนเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะพาเราเดินทางไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้อย่างมั่นคง

นิสัยที่ดีในการลงทุน  ช่วงหลังการลงทุน

     เมื่อตัดสินใจลงทุนไปแล้วอย่างรอบคอบ  ความอุ่นใจจากอนาคตที่มั่นคงก็จะเกิดขึ้นและจะสร้างความสุขให้เราได้ทุกวัน  เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในระยะยาว  นักลงทุนที่ดีจะต้อง

1. บันทึกการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเป็นบันทึกช่วยเตือนความจำและเพื่อประโยชน์ในการติดตามการลงทุน

2. ติดตามข้อมูลข่าวสารและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนไว้และติดตามสภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  เผื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติที่อาจจะเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ลงทุนไว้เกิดขึ้น  จะได้พิจารณาปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ทันท่วงที

3. ทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างน้อยทุกสิ้นเดือนหรือไตรมาส  เพราะบริษัทจะสรุปและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานทุกไตรมาส  จึงเป็นจังหวะเวลาที่ดีสำหรับทบทวนตรวจสอบพอร์ตการลงทุนโดยรวมไปด้วย  หากพบว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานไม่เป็นตามที่คาดการณ์ไว้บ่อยๆ จะได้ปรับพอร์ตการลงทุน

4.ทำความเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือหุ้น  เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการลงทุนอย่างเต็มที่  นักลงทุนที่ดีจะต้องรู้จักใช้สิทธิของตนเองอย่างเหมาะสมเพื่อกำกับดูแลบริษัทและการปฏิบัตงานของผู้บริหารให้เป็นไปตามกฏระเบียบต่างๆ  อย่างเคร่งครัด ซึ่งการใช้สิทธิของนักลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้กลไกบรรษัทภิบาลที่ดีทำงานได้อย่างสมบูรณ์ อย่างเช่น  การใช้สิทธิออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น  การใช้สิทธิตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัท เป็นต้น

5. สนุกกับการลงทุน  ทัศนคติที่ดีต่อการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ  หากเรามองการลงทุนเป็นการเรียนรู้  เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เราก็จะไม่เครียด  ไม่วิตกกังวล  เมื่อการลงทุนกลายเป็นเรื่องสนุก  ท้าทาย  เราก็จะมีความสุขได้ทุกวัน


      เมื่อเราสร้างนิสัยที่ดีในการลงทุนและใช้อย่างต่อเนื่องแล้ว  นิสัยที่เราบ่มเพราะภูมิคุ้มกันให้เราในตลาดหุ้น  มีนักลงทุนมากมายที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน  โดยเริ่มต้นบ่มเพราะนิสัยและความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่นานวันก็หล่อหลอมออกมาเป็นแนวทางการลงทุนที่เยี่ยมยอม  เพราะความสำเร็จในการลงทุน    ใครๆ ก็สร้างได้  ขอเพียง  มีใจรัก  พากเพียรทำ  เอาจิตฝักใฝ่  ใช้ปัญญาสอบสวน

สุดท้ายนี้ขอให้เพื่อน ๆ นักลงทุนทั้งมือใหม่  และมือเก่า  ประสบความสำเร็จตามปรารถนาทุกคนคับ

ขอให้โชคดีคับ