Monday, October 27, 2014

เรียนรู้และปรับตัวตลอดชีวิต



          เมื่ออายุผมผ่าน “วัยเกษียณ” ซึ่งในนิยามของคนทั่วไปก็คือ 60 ปี นั้น ชีวิตและกิจวัตรประจำวันของผมก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย มันไม่เหมือนคนกินเงินเดือนจำนวนมากที่พอถึงวันเกษียณ ชีวิตก็เปลี่ยนไปมาก เขาไม่ต้องแต่งตัวไปทำงานแต่เช้า เขาไม่ต้องรับผิดชอบที่จะทำงานหรือสั่งงานลูกน้องหรือผู้ช่วย เขาไม่ต้องประชุมกับเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำมาเกือบตลอดชีวิตการทำงาน เขาไม่มีเพื่อนที่จะนั่งคุยในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน ไม่ต้องนั่งนินทาใครต่อใคร เพราะทั้งหมดนั้น ผมเลิกทำมันตั้งแต่ผมลาออกจากงานประจำเมื่อผมอายุประมาณ 50 ปี จะเรียกว่าเป็นการเกษียณก่อนกำหนดก็ได้.....
แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะหลังลาออกจากงานประจำในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ผมก็ยังคงทำงานอยู่ นั่นก็คืองานเกี่ยวข้องกับการลงทุน งานเขียนหนังสือ และงานสอนที่ผมทำพร้อม ๆ กับการทำงานประจำอยู่แล้ว การเลิกทำงานประจำที่ใช้เวลามากนั้น ทำให้ผมมีเวลาไปทำงานอื่นที่ทำอยู่แล้วมากขึ้น หลังจากนั้นผมก็เริ่มทำงานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงานเดิมที่ผมถนัดเช่น การทำรายการวิทยุและทีวีเกี่ยวกับการลงทุน การบรรยายในงานสัมมนา การเยี่ยมชมกิจการบริษัทจดทะเบียนและอื่น ๆ ในส่วนของสังคมนั้น สังคมของผมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป คนที่ผมคบหากลายเป็นกลุ่มนักลงทุนแนว VI ที่มีอายุและพื้นเพหลากหลาย เรื่องที่คุยก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องของการลงทุนและอื่น ๆ อีกมาก ชีวิตผมไม่ได้หยุดหลังจากเลิกทำงานประจำ ว่าที่จริงมันเป็นการเริ่ม “เดินทางใหม่”

        การอ่านหนังสือและมีเวลาศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวข้องและอาจจะเกี่ยวข้องกับการลงทุน รวมถึงการมี “อิสรเสรี” ที่จะคิดหรือทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับแนวความคิดและธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของสังคมที่เป็นทางการอย่างเช่นในบริษัทขนาดใหญ่นั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความเข้าใจ ความเชื่อ ความศรัทธา และมุมมองในชีวิตต่าง ๆ ของผมเปลี่ยนไปได้ง่ายขึ้น กระบวนการ Evolution หรือวิวัฒนาการของผมเกิดเร็วขึ้นมาก เมื่อคิดย้อนกลับไป ผมคิดว่าถ้าผมยังทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทขนาดใหญ่จนถึงวันเกษียณ ชีวิตผมคงไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้ เพราะตลอดเวลาที่ทำงานเป็นลูกจ้างนั้น ผมรู้สึกว่าความคิด ความเชื่อ และศรัทธาของผมเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก เหตุผลใหญ่อย่างหนึ่งก็คือ เราทำงานซ้ำ ๆ อย่างเดิมทุกวัน ที่เปลี่ยนไปก็ดูเหมือนแต่ชื่อลูกค้าและอุตสาหกรรมที่เขาทำเท่านั้นที่เปลี่ยนไป อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การทำงานประจำที่ต้องใช้เวลามากนั้น ทำให้เรามีเวลาอ่านหนังสือที่เป็นความรู้ที่หลากหลายน้อยมาก Scope หรือแวดวงของความรู้ของเราจะถูกจำกัดมาก นั่นก็คือ เรารู้แต่เรื่องของธุรกิจ ซึ่งนี่ก็เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนแต่มันไม่เพียงพอ เพราะเรื่องของการลงทุนนั้น มันเป็นศิลปะขั้นสูงที่ต้องใช้ความรู้ที่หลากหลายรอบด้าน พูดง่าย ๆ ต้องรู้จริง รู้กว้าง แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ลึก

          การที่จะรู้กว้างและรู้จักโลกโดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ทำตัวเป็น “นักศึกษา” ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาทางสังคมศาสตร์ จิตวิทยา และเรื่องต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต โดยรหัสของวิชาที่เรียนก็คือเริ่มต้นจากเลข 1 เช่น เศรษฐศาสตร์ 101 หรือ 102 ซึ่งสอนวิชาที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ เป็นต้น การเรียนวิชาเหล่านั้นโดยไม่ต้องสอบจะทำให้เราเข้าใจหลักการสำคัญของมันโดยไม่ต้องใส่ใจกับรายละเอียดมากนัก และนั่นจะทำให้เราสามารถนำมาใช้ได้ในการวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ เมื่อถึงเวลาต้องทำ

           ผมเคยย้อนคิดถึงชีวิตสมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีแล้วก็พบว่าชีวิตเพียง 4 ปี นั้นได้เปลี่ยนโลกทัศน์ของตนเองไปแค่ไหนก็พบว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีสีสันมากมาย มันไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาการที่ใช้ในการทำมาหากิน แต่รวมไปถึงเรื่องแนวคิดในด้านต่าง ๆ ทางจิตวิทยา สังคมและการเมือง แต่หลังจากเรียนจบไปทำงานในโรงงานนั้น นอกจากความรู้เรื่องทางการผลิตและวิศวกรรมแล้ว อย่างอื่นก็แทบจะหยุดหมด เวลาผ่านไป 6-7 ปีนั้น ผมเปลี่ยนไปน้อยมาก ความรู้ใหม่ ๆ แทบไม่เกิดขึ้นนอกจากความชำนาญในการผลิต การเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจเองนั้น ทำให้เรามีมุมมองใหม่ขึ้นทางธุรกิจแต่ก็เป็นเรื่องทางทฤษฎีที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ที่ไหน เช่นเดียวกับการเรียนปริญญาเอกทางการเงินโดยเฉพาะทางด้านการลงทุนเองนั้น มันไม่ได้สอนให้รู้จักการลงทุนที่ดีและจะเปลี่ยนชีวิตเราได้ มันแค่สอนให้รู้ว่า เราจะทำผลตอบแทนได้เท่ากับค่าเฉลี่ยอย่างไรโดยที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม การเรียนในแบบของ “นักศึกษา” นั้น มันมีประสิทธิภาพสูงกว่าการทำงานในการเปลี่ยนตัวเราไปในทางที่ดีขึ้นอยู่ดี

          มองย้อนหลังกลับไป ผมคิดว่าผมคิดถูกต้องมากที่ลาออกจากงานประจำในวัย 50 ปี ชีวิตหลังลาออกจากงานของผมคล้าย ๆ กับการกลับมาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีใหม่ สิ่งที่ผมทำส่วนใหญ่คล้าย ๆ กับการทำ “กิจกรรมนักศึกษา” นั่นคือ เป็นเรื่องที่ทำเพราะเราอยากเรียนรู้ ทำเพราะรู้สึกสนุกสนาน ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ดีและตรงกับทัศนะของเราและทั้งหมดนั้น ไม่ได้ต้องการเงิน! แม้แต่เพื่อนและสังคมเองก็เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงที่ทำงานประจำนั้น ทุกคนมี “ชนชั้น” เป็นนาย เป็นลูกน้อง เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้ใหญ่ และอีกร้อยแปด แต่ในสังคมของการลงทุนนั้น ทุกคนดูเหมือนจะเป็นเพื่อนกันแม้ว่าจะต่างอายุและฐานะทางสังคมอื่น ๆ ว่าที่จริง ไม่มีใครมีสถานะทางสังคมเป็นพิเศษอยู่แล้ว และอายุเองก็ไม่มีความหมาย นี่อาจจะทำให้เรารู้สึกแก่ช้าลงและอาจจะทำให้เราเข้าใจ “โลกยุคใหม่” ได้ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้น ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนได้ดีขึ้น

         Evolution หรือการวิวัฒนาการของผมหลังจากลาออกจากงานประจำนั้นผมคิดว่าเร็วและดีขึ้นมาก ผมนึกไม่ออกว่าตนเองจะเป็นอย่างไรถ้ายังทำงานอยู่จนถึงอายุเกษียณที่ 60 ปี แต่ผมเชื่อว่าผมคงเป็นคนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมที่ไม่สามารถเข้าใจความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ได้มากนัก เหตุผลอาจจะเป็นเพราะผมคงไม่ได้อ่านหนังสือและศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็น “ธรรมชาติ” ของชีวิตและสังคมที่จะต้องดำเนินไปตามวิวัฒนาการที่ควรจะเป็นของคนไทย

         มองย้อนหลังกลับไปตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาผมพบว่า ผมเปลี่ยนไปไม่น้อยในด้านต่าง ๆ ผมจำความคิด ความเชื่อและความศรัทธาสมัยที่เป็นเด็กในมหาวิทยาลัย เป็นพนักงานและผู้บริหารในบริษัทได้และมันไม่เหมือนกับในปัจจุบัน แม้แต่การลงทุนของผมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไประหว่างช่วงที่ผมยังเทรดหุ้นเป็นรายหลายวันหรือรายเดือน ระหว่างช่วงที่เป็น VI ใหม่ ๆ และในปัจจุบัน นอกจากนั้น ผมยังคิดอีกว่าอนาคตผมก็ยังอาจจะเปลี่ยนไปอีก ชาร์ลี มังเกอร์ คู่หู วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า บัฟเฟตต์เองนั้น มีวิวัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ในการลงทุนแม้ว่าอายุจะ 70-80 ปีขึ้นไปแล้วเขาก็ยังพัฒนาไปได้ต่อเนื่อง ผมเองก็หวังว่าผมก็จะไม่หยุด ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่คนจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิต ผมพบเพื่อนหลายคนของผมตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีนั้น เคยมีความโดดเด่นมากแต่หลังจากหลายสิบปีผ่านไปไม่ได้มีการพัฒนาหรือปรับตัวมากนัก ผลก็คือความก้าวหน้าก็หยุดลงและกลายเป็นคนที่ล้าหลังเพื่อนที่เคยไม่โดดเด่นแต่ปรับตัวเองมาตลอด

           เขียนมายืดยาวถึงเรื่อง “ความหลัง” ตั้งแต่เด็กก็เพื่อที่จะบอกว่า การเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดนั้น เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในชีวิต คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงหรือมีความสามารถโดดเด่นในช่วงเวลาหนึ่งแต่แล้ว “ติด” อยู่กับสิ่งเดิมและไม่เรียนรู้เพิ่มเติมนั้น ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จเท่าคนที่ “วิวัฒนาการ” ไปเรื่อย ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไปอย่างช้า ๆ แต่การไม่หยุดนั้น ย่อมทำให้สุดท้ายแล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า

cr. ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากร