Monday, October 6, 2014

คุณค่า(ทางจิตใจ) VS ราคา


     ในแวดวงของนักลงทุนแบบแบบ Value Invesment นั้น  คำสองคำที่เราพูดถึงอยู่เสมอก็คือ  Value กับ Price หรือ  คุณค่า  กับ ราคา   “คุณค่า”  นั้นก็คือสิ่งที่เราจะได้จากการถือทรัพย์สินนั้น  พูดง่าย ๆ  เราจะได้อะไรจากทรัพย์สินนั้น  ซึ่งในเรื่องของหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นก็คือ  ปันผลที่เราจะได้ตลอดอายุของการลงทุนหรือตลอดไป    ส่วน “ราคา” ก็คือสิ่งที่เราจะต้องจ่ายในการซื้อทรัพย์สินดังกล่าว  หน้าที่หลักของเราก็คือ  ประเมินดูว่าคุณค่าหรือมูลค่าของหุ้นตัวนั้นควรจะเป็นเท่าไรโดยหาจาก  “มูลค่าปัจจุบัน” ของปันผลที่จะได้รับในอนาคตทั้งหมด  แล้วก็นำมาเปรียบเทียบกับราคา  หากมูลค่าสูงกว่าราคาเราก็ซื้อ  แต่ถ้ามูลค่าต่ำกว่าราคา  เราก็ขาย  เพราะเราเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว  ราคาจะวิ่งเข้าไปหามูลค่าที่แท้จริงเสมอ  ในเรื่องของการลงทุนในหุ้นนั้น  มูลค่าหรือคุณค่าของหุ้นมีเพียงหรือควรจะมีเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือปันผลที่จะได้รับเป็นเงินสด  คุณค่าอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินและมักจะไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นตัวเงิน  เช่น  ชื่อเสียงหรือความรู้สึกทางจิตใจนั้น   เราจะไม่นำมาคิด

         แต่ในโลกที่กว้างออกไป  “คุณค่า” นั้น  ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของเงิน  คุณค่าทางด้าน  “จิตใจ” ก็มีอยู่มากพอที่จะทำให้คนยอมจ่าย  “ราคา”  เพื่อที่จะได้มันมา  หรือถ้าจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ  คนแต่ละคนจะประเมินดู  “คุณค่าทางด้านจิตใจ” ที่เขาจะได้รับทั้งหมด  แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ  “ราคาหรือเม็ดเงิน” ที่เขาจะต้องจ่าย  ถ้าคุณค่านั้นสูงกว่า  เขาก็จะ  “ซื้อ”   แต่ถ้าไม่  เขาก็อาจจะขายถ้าสามารถขายได้   ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คุณค่าทางจิตใจนั้นแตกต่างจากคุณค่าที่เป็นเม็ดเงินก็คือ  คุณค่าทางจิตใจนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน  ของสิ่งเดียวกันสำหรับคนหนึ่งอาจจะมีคุณค่ามาก  แต่สำหรับอีกคนหนึ่งมันอาจจะไม่มีค่าอะไรเลย  ลองมาดูกันว่าใน “ตลาด” ที่ขาย  “คุณค่าทางจิตใจ” ของประเทศไทยเรานั้นมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ

          ในเมืองไทยที่สังคมยังค่อนข้างติดยึดกับระบบ  “ศักดินา” ที่แบ่งคนเป็น  “ชนชั้น” ตามฐานันดรต่าง ๆ  นั้น  ทำให้ยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเป็นสิ่งที่คนต่างก็แสวงหา  คนมักจะยกย่องเชิดชูคนที่มีฐานะและตำแหน่งที่เป็นทางการสูงโดยที่ไม่ใคร่สนใจว่าคน ๆ  นั้นจะมีความรู้ความสามารถหรือมีคุณธรรมจริง ๆ หรือไม่  ดังนั้น  คนที่มีปัญญา  มีความรู้ความสามารถ  หรือเพียงแต่มีเงินจึงต้องการ  “หัวโขน” มาประดับด้วย  หัวโขนหรือตำแหน่งที่เป็น  “ทางการ”  จึงเป็นสิ่งที่มีค่า  เป็น  Value  สำหรับคนหลาย ๆ  คน  และดังนั้น  พวกเขาจึงยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อเป็น “ราคา”  ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับ “หัวโขน”  แต่ละแบบ   และนี่ก็เป็นที่มาของเรื่องการ  “ขายปริญญา”ของ  “มหาวิทยาลัย” ที่ไม่ได้มีมาตรฐาน  หรือไม่ก็เป็นปริญญากิตติมศักดิ์ที่มอบให้แต่ผู้รับต้อง  “จ่ายเงิน”   นอกจากนั้น  ในอดีตเราก็เคยมีกรณี  “เครื่องราช”  ที่คนต้องจ่ายเงินให้กับคนที่จัดการทำเรื่องหลอกลวงว่ามีการบริจาคเงินให้กับวัดเพื่อเสนอขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับคนที่ต้องการได้เครื่องประดับนี้โดยที่ตนไม่สมควรได้

          อาหารเสริมเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก  ผู้ผลิตมีตั้งแต่บริษัทระดับโลกไปยันกิจการครอบครัวขนาดเล็กที่ไม่มีการค้นคว้าวิจัยอะไรเลย  “คุณค่า” ของอาหารเสริมจำนวนมากที่จะมีต่อร่างกายนั้นยังมีข้อสงสัยอยู่มาก  หมอหรือนักวิชาการจำนวนมากที่ผมรู้จักหรือได้อ่านบทความนั้นบอกว่าอาหารเสริมส่วนใหญ่นั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยนอกจากความรู้สึกทางใจที่ว่ามันช่วยให้สุขภาพดีขึ้น  อย่างไรก็ตามคนจำนวนมากรวมทั้งผมต่างก็ดูว่ามีอาหารเสริมหลายอย่างที่ผมซื้อเพราะมัน  “คุ้มค่า”  คนจำนวนมากคิดว่าคุณค่าของมันเหนือกว่าราคาที่จ่าย  คุณค่าที่ว่านี้ก็คือการมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับเขานั้น  คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายมาก   สำหรับผมเอง  ผมก็ไม่ได้เชื่อมากนักว่าอาหารเสริมที่ผมกินนั้นจะช่วยให้สุขภาพผมดีมากมายอะไร  อย่างไรก็ตาม  เงินที่ผมจ่ายนั้น  ก็น้อยนิดเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ผมมี  ดังนั้น เทียบแล้ว Value เหนือ Price และนี่เป็นเหตุผลที่อาหารเสริมนั้นเป็นธุรกิจที่เติบโตมาก

         การพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตไม่น้อยไปกว่าอาหารเสริม  ไล่ตั้งแต่การดูหมอและการผูกดวงชะตาต่าง ๆ    การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค  ไปจนถึงการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย  นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นักวิชาการมีการศึกษาและพบว่าการคาดการณ์ทั้งหลายดังกล่าวนั้นไม่มีความถูกต้องแม่นยำพอที่จะมีประโยชน์ในการตัดสินใจอะไรเลย   แต่คนจำนวนมากก็ยังยอมจ่ายเงินไปเพื่อซื้อการคาดการณ์เหล่านั้น  พวกเขาเห็น  “คุณค่า”  ของมัน  คนบางคนเชื่อว่าการคาดการณ์นั้นมีความถูกต้องและจะทำให้สามารถนำไป “ทำเงิน” และคุ้มค่ากับราคาที่จ่าย   คนบางคนนั้นได้  “คุณค่าทางจิตใจ”  นั่นก็คือ  มันทำให้เขารู้สึกสบายใจที่มีคนมาช่วย  “รับภาระทางใจ”  ต่อการตัดสินใจของเขา   ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดเขาก็สามารถที่จะอ้างได้ว่าเขาตัดสินใจโดยได้ใช้ข้อมูลและความเห็นของคนที่เชี่ยวชาญในการพยากรณ์อนาคตอย่างรอบคอบแล้ว

          Value หรือคุณค่าของ  “ที่ปรึกษา” ทางธุรกิจนั้น  บ่อยครั้งก็ไม่ได้มีคุณค่าที่ทำให้ธุรกิจดำเนินงานได้ดีขึ้นคุ้มค่ากับค่าที่ปรึกษาที่สูงลิ่ว  เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของบริษัทหรือหน่วยงานเองนั้นส่วนใหญ่น่าจะรู้ดีกว่าที่ปรึกษาที่เป็นคนนอกและเพิ่งเข้ามาศึกษาการทำงานของบริษัทจากการสอบถามพนักงานภายในบริษัทเอง   แต่ประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้น  ประเด็นอาจจะอยู่ที่ว่าคุณค่าของที่ปรึกษาในสายตาของคนจ้างซึ่งเป็นผู้บริหารอาจจะอยู่ที่ว่า  ที่ปรึกษานั้นเป็นผู้ที่จะบอกให้แต่ละหน่วยงานในบริษัททำตามเนื่องจากพวกเขาเป็น  “ผู้เชี่ยวชาญคนนอก”  ที่ไม่มี  “การเมืองในบริษัท”  ที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ง่ายกว่า  นอกจากนั้น  หากเกิดมีอะไรผิดพลาด  ผู้บริหารก็ยังมีข้ออ้างว่าที่ปรึกษาได้แนะนำไว้ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายบริหารทั้งหมด

          ตลาดพระเครื่องน่าจะเป็นตลาดที่  “คุณค่าทางด้านจิตใจ”  มีบทบาทสำคัญในทรัพย์สินที่มีตัวตนและเปลี่ยนมือได้  “คุณค่า” ของพระเครื่องแต่ละรุ่นนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยปัจจัยหลาย ๆ  อย่าง  เช่น  ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วคนที่ห้อยพระเครื่องบางองค์รอดปลอดภัยอย่าง  “มหัศจรรย์”  คุณค่าในสายตาของคนเล่นพระเครื่องในพระรุ่นนั้นก็อาจจะสูงขึ้นมากและทำให้  “ราคา”  ค่าเช่าพระองค์นั้นวิ่งสูงขึ้นด้วย  แต่ถ้าถามว่าพระเครื่องรุ่นนั้นช่วยให้  “แคล้วคลาด”  ได้จริงหรือเปล่า?  คงไม่มีใครตอบได้จริง ๆ  

            Value ของบริษัทจัดการกองทุนรวมหรือผู้บริหารกองทุนรวมนั้น  ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกามีการศึกษากันมากและพบว่า  ผู้จัดการกองทุนรวมส่วนใหญ่มีคุณค่าในแง่ของการเลือกหุ้นที่ถูกต้องน้อยไม่คุ้มค่ากับค่าบริหารกองทุนที่คิดค่อนข้างสูงอาจจะ 3-4% ต่อปีของสินทรัพย์สุทธิ  อย่างไรก็ตาม  คนจำนวนมากก็ยังใช้บริการยอมจ่ายค่าบริหารกองทุนในอัตราสูงแทนที่จะซื้อกองทุนอิงดัชนีที่ไม่ต้องเลือกหุ้นและคิดค่าบริหารกองทุนต่ำกว่ามาก   เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะคนยังเชื่อว่ามีกองทุนรวมที่มีฝีมือหรือคุณค่าสูงในการเลือกหุ้นเพราะพวกเขาเห็นว่ากองทุนนั้นมีผลงานที่ดีเด่นในช่วงเร็ว ๆ  นี้   ความหวังที่จะได้กำไรดี ๆ  และการ “ยกความรับผิดชอบ” ให้กับบริษัทจัดการการลงทุนที่  “มีผลงานโดดเด่น”  ทำให้พวกเขายอมจ่าย “ราคา”  ที่อาจจะสูงกว่าคุณค่าที่แท้จริงของ บลจ. นั้น

           ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น  ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผมต้องการจะบอกก็คือ  ในฐานะของ VI  เราจะต้องเป็น  “ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Value” หรือคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ  เมื่อเทียบกับ ราคา ที่เราจะจ่าย  และเราต้องเข้าใจด้วยว่า Value นั้นมีหลายรูปแบบและในสายตาของแต่ละคนก็อาจจะไม่เท่ากันถ้ามันไม่ใช่ Value ที่เป็นเม็ดเงิน  ความเข้าใจเหล่านี้จะทำให้เราใช้เงินได้คุ้มค่าขึ้น  ทั้งทางด้านของการลงทุนและในด้านการใช้จ่ายอย่างอื่นของชีวิต