Tuesday, October 21, 2014

หมดสิ้นยุคทองของ VI



ผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องของ “สัจธรรม” ข้อหนึ่งที่ว่า อะไรก็ตาม เมื่อมันดี โต ก้าวหน้า ไปมากและยาวนานเกินกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตหรือเกินกว่าสิ่งอื่นหรือคนอื่นที่เป็นคู่แข่งกัน ในที่สุดมันก็ต้องชะลอและกลับตัวลงมาเพื่อที่จะทำให้มันไม่ดีเกินไป โตเกินไป หรือก้าวหน้ามากเกินไป มิฉะนั้น ในระยะยาวแล้ว มันก็จะโตเกินกว่าที่เป็นไปได้ตาม “ธรรมชาติ” ผมมีความเชื่อว่าธรรมชาตินั้น ในระยะยาวแล้วไม่มีความ “ลำเอียง” มันจะพยายามปรับให้เกิดความ “สมดุล” ที่ไม่มีอะไรที่ใหญ่หรือ “ดีเด่น” เกินไปจนทำให้สิ่งอื่นนั้นเล็กเกินไปและ “ด้อย” กว่าจนอยู่ไม่ได้ ภาษาทางปรัชญาอาจจะเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Regression to the Mean” หรือแนวโน้มทางสถิติของสิ่งต่าง ๆ ในทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่จะวิ่งเข้าหาอัตราการเติบโตหรือตัวเลขของ “ค่าเฉลี่ย” โดยที่ไม่ต้องไปคิดหาเหตุผลว่าอะไรทำให้มันเป็นเช่นนั้น เหตุผลนั้น แน่นอนต้องมี เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังไม่รู้หรือมันอาจจะยังไม่เกิด อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์นั้นมีอาชีพต้องหาเหตุผล เพื่อที่จะบอกว่าอะไรที่จะทำให้การเติบโตนั้นจะต้องช้าลงกว่าเดิมไปอีกหลายปีเพื่อที่มันจะวิ่งเข้าสู่ค่าเฉลี่ย

ผมกำลังจะบอกว่าความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าของการลงทุน หรือผลตอบแทนที่นักลงทุนโดยรวมและเฉพาะอย่างยิ่ง VI ของไทยเคยทำได้มายาวนานกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้ มันอาจจะถึงเวลาที่จะต้องชะลอตัวลง การลงทุนที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนต่อปีที่เกิน 20%-30% แบบทบต้นในระยะยาวเป็น 10 ปีขึ้นไปนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ที่สามารถทำผลตอบแทนสูงในระดับนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของตลาดหุ้นไทยนั้น ผมเชื่อว่ามีไม่น้อย และมันทำให้เกิด “ภาพลวง” ว่า การทำผลตอบแทนเกินกว่า 20%-30% ต่อปี ในระยะยาวนั้นเป็นไปได้ไม่ยาก แต่ในความคิดของผมแล้ว นี่อาจจะเป็นเวลาที่แนวโน้มการทำกำไรงดงามอย่างง่าย ๆ ของนักลงทุนในตลาดหุ้นกำลังเปลี่ยนไป นี่อาจจะเป็นเวลาที่ “ยุคทองของ VI” ที่ดำเนินมามากกว่า 10 ปี กำลังหมดลง ภายในเวลา 10 ปีข้างหน้านั้น การทำผลตอบแทนได้ปีละ 15%-20% แบบทบต้นอาจจะเป็นสิ่งที่ “ดีสุดยอด” แล้ว เพราะนั่นสำหรับหลาย ๆ คนจะเป็นสถิติระดับโลกที่สามารถทำผลตอบแทนในระดับ 20% ขึ้นไปเป็นเวลาอาจจะ 20 ปีติดต่อกัน น้อยคนมากที่จะทำได้!

เหตุผลที่ผมคิดว่ายุคทองของตลาดหุ้นไทยนั้นใกล้จบลงมีหลาย ๆ เรื่อง และมันคือเหตุผลที่ทำให้เกิดยุคทองหรือทศวรรษทองของตลาดหุ้นไทยในทางตรงกันข้าม พูดง่าย ๆ สิ่งที่ขับดันราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น กำลังหมดพลังลงหรือเปลี่ยนทิศ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นต้องบอกว่าอยู่ในระดับปานกลางคือช่วงหลังจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มานั้นเราโตปีละประมาณ 5% จากประมาณ 7% ก่อนหน้านั้น จนถึงประมาณปี 2550 หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็เริ่มชะลอตัวลงมาค่อนข้างมากเหลือแค่ 3%-4% ผมเองไม่รู้ว่านี่เป็นการชะลอตัวลงอย่างถาวรแล้วหรือไม่ เหตุผลก็เพราะว่าคนไทยนั้นเริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว เด็กเกิดใหม่มีน้อยลงมาก กำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็น้อยลงและในอนาคตก็อาจจะเริ่มลดลง และหากเป็นอย่างนั้น ไทยก็อาจจะเหมือนประเทศของคนสูงอายุในยุโรปหรือในญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเติบโตยาก ตลาดหุ้นก็จะไปไม่ได้

สิ่งสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเติบโตสูงมากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าคือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มลดลงมาอย่างรวดเร็วหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2542 ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่ลดลงจากประมาณ 5% เหลือ ไม่ถึง 4% พอถึงปี 2543 ดอกเบี้ยลดลงอีกเหลือประมาณ 2.5% และลดลงต่อเนื่องจนเหลือเพียงประมาณ 1% ในปี 2546 หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอดจนถึงวันนี้ และนี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนถอนเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นต่อเนื่องยาวนานและทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนับจากวันนี้ดูเหมือนว่ามันคงไม่สามารถลงต่อไปได้อีกและมีแต่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากนโยบายของสหรัฐที่จะลดสภาพคล่องทางการเงินโดยการยกเลิก QE และหากอัตราดอกเบี้ยของไทยเริ่มปรับตัวขึ้น โอกาสก็เป็นไปได้ที่คนจะถอนเงินออกจากตลาดและทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลงหรือขึ้นต่อไปได้ยากขึ้น

ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2543 เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นสอดคล้องกับเวลาที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงอย่างชัดเจน จนถึงวันนี้เป็นเวลา 14 ปี ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 16%-17% แบบทบต้น เงินลงทุน 1 ล้านบาท กลายเป็นประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงมากในระยะเวลาที่ยาวมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประเด็นก็คือ อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้านั้น ผมคิดว่าตลาดจะปรับตัวดีแบบเดิมคงเป็นไปได้ยากมาก เพราะมันจะทำให้ตลาดหุ้นไทยใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศ

การปรับตัวของหุ้นไทยยังน่าจะมาจากการที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตขึ้นหลังจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และการปรับโครงสร้างทางการเงินในช่วง 2-3 ปีต่อมา ในช่วงเวลาประมาณ 12 ปีที่ผ่านมาจนถึงล่าสุด กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นประมาณ 117% หรือโตปีละประมาณ 6.7% แบบทบต้น แต่ดัชนีตลาดหรือราคาหุ้นนั้นปรับตัวขึ้นถึงประมาณ 260% หรือเพิ่มขึ้นปีละกว่า 13% คิดเป็น 2 เท่าของกำไร ดังนั้น ราคาหุ้นของไทยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานั้นไม่ได้ขึ้นเพียงเพราะกำไรบริษัทเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นด้วย “พลังเงิน” ของนักลงทุนที่ทำให้หุ้นแพงขึ้น ซึ่งตัวเลขค่า PE ของตลาดมีการปรับตัวขึ้นจากค่า PE ในช่วงหลังวิกฤติใหม่ ๆ ไม่เกิน 10 เท่าก็กลายเป็นประมาณ 18 เท่าในปัจจุบัน

ประเด็นก็คือ การเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้น เร่งตัวขึ้นในช่วงหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่ในช่วงปีหรือสองปีนี้ กำไรกลับไม่ได้โตขึ้นเท่าไรนัก อาจจะมาจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤติการเมืองหรือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยหรืออาจจะมาจากผลของการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะดีขึ้นตามที่นักวิเคราะห์คาด แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ดูเหมือนว่าจะไม่โดดเด่นนัก นอกจากนั้น ค่า PE ก็คงมีโอกาสสูงขึ้นยากและอาจจะมีแนวโน้มที่ลดลงได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่ดีอะไรบางอย่าง ดังนั้น ความหวังที่จะเห็นหุ้นปรับตัวดีขึ้นไปอีกจากปัจจุบันก็อาจจะไม่เป็นจริงได้

ทั้งหมดที่ผมพูดมานั้น ดูเหมือนจะเกี่ยวกับตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียนโดยรวมมากกว่า บางคนอาจจะเถียงว่าหุ้น VI อาจจะไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าว ดังนั้น มันอาจจะไม่ใช่การหมด “ยุคทองของ VI” ในประเด็นนี้ผมเองกลับเห็นว่า การปรับตัวขึ้นของหุ้นในระยะกว่า 10 ปี ที่ผ่านมานั้น หุ้นที่เรียกว่า “VI” นั้น มีการปรับตัวขึ้นมามากกว่าหุ้นกลุ่มอื่น และการปรับตัวขึ้นของมันเองนั้นก็มาจากเรื่องของกำไรที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทและการปรับตัวขึ้นของค่า PE เช่นเดียวกับหุ้นทั่วไป สิ่งที่แตกต่างนั้น ผมกลับคิดว่าหุ้นที่เรียกว่า VI นั้น มีการปรับตัวขึ้นของ PE มากกว่าการเพิ่มขึ้นของกำไร หรือพูดง่าย ๆ โดยเปรียบเทียบแล้ว หุ้น VI นั้น มีราคาแพงขึ้นมากกว่าหุ้นธรรมดา ดังนั้น โอกาสที่หุ้น VI จะทำผลตอบแทนดีกว่าหุ้นทั่วไปในอีก 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะยากขึ้นกว่าในอดีตมาก และนี่ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้หมดยุคทองของ VI อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ VI เองนั้น ก็ยังเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด เพียงแต่อย่าหวังว่ามันจะทำกำไรได้มหาศาลเหมือนเดิม ตัวเลขที่หวังนั้น ผมคิดว่าควรกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 10%-15% ต่อปีในระยะยาวซัก 5-10 ปีข้างหน้า

CR>ดร.นิเวศ  เหมวชิรวรากุล