Wednesday, October 8, 2014

VI สายดำ



            การฝึกฝนและการปฏิบัติตนเพื่อให้เป็น VI ที่มีความสามารถสูงและมี “จิตวิญญาณ” ของ VI นั้น ผมคิดว่าก็คงเหมือนกับการฝึกฝนและปฏิบัติตนในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเป็นศิลปินนักวาดภาพเหมือนกัน นั่นคือ เขาจะต้องมีเป้าหมายที่จะต้องมุ่งไปให้ถึง ในกรณีของศิลปินนั้น การที่จะเป็นศิลปินที่โด่งดังได้นั้น เขาจะต้องมีความสามารถในการวาดภาพ การเขียนภาพและการลงสีนั้นจะต้องยอดเยี่ยม พวกเขาจะต้องสามารถควบคุมมือให้เขียนสิ่งที่ออกมาตามต้องการอย่างละเอียดลออที่สุดได้ นอกจากนั้น เขาจะต้องวาดภาพที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองหรือเรียกว่าเป็นสไตล์ที่ไม่เหมือนใครมิฉะนั้นแล้วเขาก็คงเป็นได้แค่ศิลปินธรรมดา ๆ นอกจากการวาดภาพแล้ว ถ้าลองดูเรื่องของศิลปะอย่างอื่นเช่น คาราเต้ นั้น การฝึกที่จะทำให้เก่งจนได้ “สายดำ” นั้น นอกจากการฝึกฝนทางร่างกายแล้ว ผมคิดว่าเรื่องของจิตใจก็ต้องมีการฝึกเช่นกัน และถ้าคนเคยอ่านหนังสือกำลังภายในจีนก็จะพบว่า “เซียน” นั้น นอกจากการฝึกวิทยายุทธ์แล้ว พวกเขายังต้องฝึกใจและประพฤติปฏิบัติตนอีกหลายอย่างเพื่อให้สำเร็จเป็นเซียนได้

          ในเรื่องของการลงทุนแบบ VI นั้น ผมคิดว่ามีประเด็นใหญ่ ๆ 3 เรื่องที่ต้องฝึกฝนเพื่อให้สำเร็จเป็น VI ที่เก่งกาจหรือเรียกให้เท่ ๆ ว่าเป็น “VI สายดำ” ประเด็นแรกก็คือ เรื่องของปรัชญาและหลักการสำคัญในการลงทุน เรื่องที่สองคือการฝึกฝนในด้านของจิตใจหรืออารมณ์เมื่อประสบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบกับการลงทุน และเรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องของการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับการเป็น VI

       ปรัชญาและหลักการการลงทุนที่สำคัญที่ผมคิดว่า VI จะต้องมุ่งไปให้ถึงก็คือ ข้อแรก เขาควรจะลงทุนเฉพาะในสิ่งที่เขารู้จักดี หรือที่บัฟเฟตต์เรียกว่าลงทุนภายใน Circle Of Competence อะไรที่เราไม่รู้ เราไม่ควรลงทุน โดยนัยนี้ เราควรจะมีหุ้นที่เราจะลงทุนได้ไม่มากนักถ้าเราไม่ใช่ “มืออาชีพ” จริง ๆ ข้อสองก็คือ ถ้าจะได้ “สายดำ” VI จะต้องมี “สไตล์” การลงทุนที่ตนเองยึดถือ การลงทุนแบบ “เล่นได้ทุกรูปแบบ” นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากทีเดียว เพราะความชำนาญและการฝึกฝนของเรานั้นมีจำกัด ไม่เหมือน ปีเตอร์ ลินช์ ที่บริหารกองทุนขนาดมโหฬารและใช้เวลากับมันสูงมาก ดังนั้น สำหรับ VI ทั่วไปแล้ว เราควรจะเลือกหาสไตล์ที่มีโอกาสชนะสูงแล้วฝึกฝนและปฏิบัติจนเก่งและยึดถือมันเป็นหลักในการลงทุน การมีสไตล์นั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถลงทุนหุ้นแนวอื่นได้ เพียงแต่พอร์ตส่วนใหญ่นั้น น่าจะเป็นการลงทุนในสไตล์ที่ตนเองใช้อยู่

       นักลงทุน VI ที่จะได้สายดำนั้น ผมคิดว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องฝึกฝนในด้านของการบริหารความเสี่ยงของการลงทุน การทำอย่างนั้นได้ดีนั้น ผมคิดว่าควรเริ่มต้นจากทัศนะคติในการวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นลงทุน ซึ่งผมคิดว่าควรเน้นไปที่การมอง “ด้านลบ” ก่อน “ด้านบวก” นั่นคือ เวลาคิดจะซื้อหุ้นนั้น ต้องคิดว่า “อย่าขาดทุน” มากกว่าที่จะหวังผลเลิศว่าจะได้กำไรเท่าไร นอกจากนั้น VI ควรจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการ “หายนะ” ไว้เสมอ นี่คือความเสี่ยงที่อาจจะมีน้อยมากจนบางครั้งเราลืมที่จะคิดถึง สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ “Unthinkable” หรือสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่าที่เราคิด แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พอร์ตการลงทุนของเราควรที่จะพร้อมรับกับสถานการณ์อย่างนั้นได้ ซึ่งในเรื่องของความเสี่ยงนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องใช้หลักของการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม นั่นคือ ไม่มากหรือน้อยเกินไป

       ประเด็นที่สองของการที่จะเป็น VI สายดำได้นั้นก็คือเรื่องของอารมณ์และจิตใจ ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดของการเป็น VI ก็คือ ความ “ใจเย็น” นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถคิดได้อย่างมีเหตุผลไม่หุนหันพลันแล่น ไม่ตกใจกลัวและรีบ “ทิ้งหุ้น” เวลามีเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบกับตลาดหุ้น เช่นเดียวกับที่ไม่รีบร้อนที่จะ “แย่งซื้อหุ้น” ในยามที่ตลาดหรือหุ้นกำลังร้อนแรง นอกจากความใจเย็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องฝึกและปฏิบัติก็คือ ความศรัทธายึดมั่นต่อหลักการและแนวทางที่ถูกต้องและที่เราเลือกแล้ว นั่นก็คือ อย่าถูกทำให้ “ไขว้เขว” จากเส้นทางที่มีการพิสูจน์มายาวนานโดยกูรูระดับโลกโดยเหตุการณ์หรือสภาวการณ์บางช่วงบางตอนที่อาจชี้ไปในอีกแนวทางหนึ่ง จงจำไว้ว่าไม่มีแนวทางไหนที่ดีและชนะตลอดเวลา ในบางช่วงเวลานั้น แม้แต่กลยุทธ์หรือวิธีการที่แย่ที่สุดในระยะยาวก็สามารถทำผลงานที่ยอดเยี่ยมกว่าวิธีอื่น ๆ ทั้งหมดได้ โดยนัยยะนี้ VI ที่จะเป็นสายดำได้นั้นจะต้องเรียนรู้และยอมรับว่า บ่อยครั้งหรือบ่อยช่วงเวลา พอร์ตของเราอาจจะแพ้คนอื่นที่อาจจะไม่ได้มีสายรัดสีอะไรเลยก็ได้ แต่ในระยะยาวแล้ว VI สายดำก็จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า

        อีกข้อหนึ่งในเรื่องของอารมณ์จิตใจที่ควรจะต้องฝึกฝนก็คือ ต้องเรียนรู้ความผิดพลาด และเมื่อรู้แล้วต้องรีบแก้ไข อย่าไปยึดมั่นแบบหัวชนฝา นี่ไม่ใช่เรื่องที่แย้งกับคำว่าศรัทธาและไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคำว่าผิดพลาดในที่นี้เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ เป็นเรื่องของการปฏิบัติ เป็นเรื่องของข้อมูล หรือเป็นเรื่องของความเข้าใจในคุณสมบัติของหุ้นหรือกิจการที่ผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องของหลักการหรือแนวทางที่เป็นเรื่องที่มีการพิสูจน์มายาวนานและไม่เปลี่ยนแปลงง่าย

       ประเด็นสุดท้ายก็คือ การใช้ชีวิตของ VI สายดำ เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตนำไปสู่การเป็น VI สายดำหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่บังเอิญว่า VI ที่เป็นสายดำมักใช้ชีวิตแบบนี้ แต่จากการสังเกตนักลงทุนระดับเซียนหรือระดับโลกหลาย ๆ คน ผมพบว่าคนเหล่านี้มักใช้ชีวิตแบบ “พอเพียง” หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตนเอง คนเหล่านี้มักจะไม่ได้มีความสุขจากการใช้เงินเพื่อตนเอง สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้นิยมความหรูหราทางด้านวัตถุ พวกเขามีความสุขจากกิจกรรมง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้เงิน และที่สำคัญก็คือ มีความสุขจากการลงทุนหรือหาเงินมากกว่าการใช้เงิน ถ้ามองถึงพื้นเพ หลายคนไม่ใช่คนที่ที่บ้านมีฐานะร่ำรวยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตนเองนั้น น่าจะมีส่วนช่วยให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าโดยเฉพาะในช่วงที่ VI ยังมีเงินน้อย ดังนั้น ถ้าฝึกนิสัยนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มแรกที่ลงทุน ผมคิดว่าน่าจะช่วยให้เราเป็น VI สายดำเร็วขึ้น

         ถ้าจะให้ผมเรียงลำดับความสำคัญของกลุ่มกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการลงทุนที่จะทำให้เราได้เป็น VI สายดำ ผมคงให้ความสำคัญอันดับแรกกับเรื่องของปรัชญาและหลักการลงทุน ถ้าคิดเป็นคะแนนก็คงจะได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ในส่วนของจิตใจและอารมณ์น่าจะเป็นซัก 40% และในส่วนของการใช้ชีวิตน่าจะเป็นซัก 10% อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัจจัยทั้งสามอย่างนั้นมีความเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ด้านใดด้านหนึ่งน้อยเกินไปก็จะทำให้ด้านอื่นแย่ลงไปด้วย ดังนั้น การฝึกฝนและการปฏิบัติจึงละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้