Monday, October 27, 2014

ลงทุนการศึกษา VS การลงทุนในหลักทรัพย์


ชีวิตคือการลงทุน  ตอน การศึกษา VS การลงทุนในหลักทรัพย์

         ในการดำเนินชีิวิตของคนเราแต่ละคนนั้นผูกพันอยู่กับการลงทุนตลอดเวลา  โดยที่เราไม่รู้ตัว  ที่เป็นเช่นนี้....เพราะเมื่อกล่าวถึงการลงทุน  คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพยืต่างๆ เพียงอย่างเดียว  ซึ่งในความเป้นจริงแล้วการลงทุนมีความใกล้ชิดกับการดำเนินชีวิตของคนเรามากกว่านั้น  หรือถ้าจะกล่าวว่า "ชีวิต..คือการลงทุน" ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่ผิดนัก  เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ต้องลงทุนทั้งสิ้น  ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกลงทุนในรูปแบบใด  อาจจะด้วยแรงกาย แรงใข หรือกำลังทรัพย์ก็ได้  อย่างเช่น การออกกำลังกายก็ถือเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง  มีสุขภาพดีแล้ว  ยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้อีกด้วย


        อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้จะกล่าวถึง "การลงทุนด้านการศึกษา" ซึ่งถือเป็นการลงทุนระยะยาวชนิดหนึ่งเพราะนอกจากเราต้องนำเงินที่มีอยู่มาลงทะเบียนเรียน  แทนที่จะนำไปใช้สำหรับการอย่างอื่นแล้ว  ยังต้องยอมสละเวลาในการเที่ยวเล่นสนุกสนาน  มาศึกษาหาความรู้  เพื่อให้มีหน้าที่การงานที่ดี  มีรายได้  ตลอดจนมีความมั่นคงต่อไปในอนาคตซึ่งการลงทุนด้านการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีกว่านั้น  ยอ่มต้องกมีหลักในการเลือก  ไม่ใช่เลือกแบบไร้ทิศทาง  เพราะหากเลือกไปแล้วไม่ตรงกับความต้องการของเรา  ก็จะเป็นการเสียทั้งเวลา  และเงินทองโดยใช่เหตุ  หากจะเปรียบให้เห็นภาพก็เช่นเดียวกันกับ "การลงทุนในหลักทรัพย์" กล่าวคือ  ถ้าไม่มีหลักในการลงทุนที่ดี  ก็อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนต้งสูญเสียเงินที่นำมาลงทุนนั้น  ซึ่งถ้าพิจารณากันจริงๆ แล้ว หลักการลงทุนเพื่อการศึกษากับการลงทุนในหลักทรัพย์ก็ไม่ได้แต่ต่างกันมากมายนัก  โดยจะขอยกตัวอย่างการลงทุนเพื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเปรียบเทียบกับการลงทุนในหลักทรัพย์ ดังนี้

      เริ่มจากต้องรู้จักตนเองก่อน (know yourself) การลงทุนเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษา  เราต้องพิจารณาตัวเองก่อนว่า  ต้องการศึกษาเล่าเรียนไปเพื่ออะไร  เพื่อให้ได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้  เพื่อยกระดับของตนในสายอาชีพ  หรือเพื่อนำไปใช้สำหรับประกอบธุรกิจการค้าให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น  ไม่ใช่เลือกเรียนตามเพื่อนหรือตามกระแส  นอกจากนี้ ต้องถามตนเองว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน  อีกทั้งมีความตั้งใจ  และความพร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนหรือไม่  มีความรู้ความเข้าใจในสาขาที่ตนเลือกศึกษามากน้อยเพียงใด  มีงบประมาณสำหรับการศึกษาต่อเท่าไร  ถ้ามีไม่พอ  จะหาเงินทุน หรือกู้ยืมเพิ่มเติมได้จากที่ไหน  และท้ายสุดถ้าหากผ่านการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษานั้นๆ จะสามารถจัดสรรเวลาสำหรับการเข้าเรียน  ทบทวนหัวข้อที่เรียน  รวมถึงการทำการบ้าน และรายงานที่ได้รับมอบหมายหรือไม่

        เช่นเดียวกับเมื่อเริ่มต้นลงทุนในหลักทรัพย์  เราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าต้องการอะไรจากการลงทุน  มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนอย่างไรบ้าง  เป็นการลงทุนเชิงรุก  หรือเชิงรับ  สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน  มีประสบการณ์การลงทุนบ้างหรือไม่  เเละเข้าใจเรื่องการลงทุนมากน้อยเพียงใด  ทั้งนี้ ก็เพราะการลงทุนโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากๆ  ดังเช่นที่เราเคยได้ยินกันมาอยู่บ่อยๆ ว่า "การลงทุนมีความเสี่ยงสูง  ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน"  นั่นเอง   และท้ายสุดต้องสำรวจดูว่า  เรามีงบประมาณสำหรับใช้ในการลงทุนมากน้อยเพียงใด  โดยควรเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีระดับราคาซึ่งเหมาะสมกับงบประมาณที่ตนเองมี

          ศึกษาสภาพแวดล้อม (Know the Environment)  การลงทุนเพื่อเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นผู้เรียนต้องศึกษาสภาพแวดล้อมของสถานศึกาที่จะไปเรียนต่อว่าตั้งอยู่ที่ใด  สะดวกในการเดินทางหรือไม่  มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนหรือไม่  มีห้องสมุด  ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์  ห้องสำหรับศึกษาค้นคว้า  และห้องอาหารรวมถึงมีที่จอดรถเพียงพอหรือไม่  สำหรับผู้เรียนที่ขัดสนเรื่องเงินทุนก็ต้องศึกษาดูว่ามีกองทุนสำหรับการกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือไม่  หรือมีทุนการศึกษาจากที่ใดบ้าง เกณฑ์ในการให้ทุนการศึกษาเป็นอย่างไร  และทุนการศึกษาที่ให้นั้นตรงกับสาขาวิชาที่ตนเองต้องการศึกษาหรือไม่  ตลอดจนพิจารณาถึงกฏระเบียบ ชื่อเสียง และความสำเร็จในปัจจุบันของสถานศึกษาที่สนใจนั้นๆ

        สำหรับผู้ลงทุนที่ชาญฉลาดก็ควรจะสำรวจสภาพแวดล้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม และการเมืองก่อนที่จะลงทุนในหลักทรัพย์เสมอ  โดยไม่ลงทุนอย่างบุ่มบ่ามตามข่าวลือ  หรือตามกระแสแต่อย่างใด  ทั้งนี้ ก็เพราะสภาพแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้น  ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งสิ้น

        ทำความรู้จักกับสิ่งที่สนใจ (Know The Product) เมื่อสำรวจตนเอง และตรวจดูสภาพแวดล้อมแล้ว  คราวนี้ผู้เรียนต้องพิจารณาถึงหลักสูตรว่าตรงกับความต้องการของตนเองหรือไม่  อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงเนื้อหาของหลักสูตรสาขาวิชาที่ตนต้องการ  รายละเอียดของวิชาต่างๆ ที่ต้องเรียน  รวมถึงการศึกษาดูงาน  จำนวนหน่วยกิต  ระยะเวลาการศึกษา  กระบวนการวัดผล  อัตราค่าเล่าเรียน  รวมถึงค่าบำรุง  และค่าธรรมเนียมต่างๆ นอกจากนี้  ยังต้องพิจารณาถึงชื่อเสียง คุณวุฒิ  ประสบการณ์การสอน  และวิธีการสอนของคณาจารย์ผู้สอน  ซึ่งเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่เราอีกด้วย  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดแก่ตัวเรานั่นเอง

       สำหรับผู้ลงทุนเองก็จะต้องทำการศึกษาว่าหลักทรัพย์ประเภทใด ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตนได้กำหนดไว้  ทำการพิจารณาว่าหลักทรัพย์เหล่านั้นให้ผลตอบแทนในลักษณะใด  และมีความเสี่ยงเหมาะสมกับภูมิต้านทางความเสี่ยงของตนหรือไม่  จากนั้นก็มาดูว่ามีหลักทรัพย์ประเภทใดที่สามารถเลือกลงทุนได้  ซึ่งตรงกับคำพูดยอดนิยมของซุนวู  ปราชญ์ชาวจีนที่กล่าวไว้ว่า "รู้เขา  รู้เรา  รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" นั่นเอง

          ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลงทุนที่เกิดขึ้นในชีิวิตคนเราเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม คุณควรตระหนักไว้ว่าการดำเนินชีวิตและการลงทุนเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ควบคู่กันเสมอ  ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงการตัดสินใจลงทุนในแต่ละช่วงจังหวะของชีวิตไปได้  จึงไม่ใช่สิ่งที่แปลกอะไรที่จะกล่าวว่า "ชีวิต  คือการลงทุน"