Friday, February 28, 2014

เผยความจริง ที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือชายที่รวยที่สุดในโลก




"คุณต้องเข้าใจบัญชี  และต้องเข้าใจความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ในบัญชี  บัญชีคือภาษาของธุรกิจ  แต่เป็นภาษาที่ไม่สมบูรณ์  

ตราบใดที่คุณไม่มีความตั้งใจ  ที่จะเรียนรู้และเข้าใจบัญชี  วิธีการอ่านและตีความหมายของงบการเงิน...จงอย่าเลือกหุ้นด้วยตัวคุณเอง "

        ในกลางทศวรรษที่ 60 วอร์เรนได้หยุดพิจารณากลยุทธ์การลงทุนของเบนจามิน  เกรแฮม ใหม่ ซึ่งทำให้เขาพบกับความจริงเหลือเชื่อ 2 ประการ เกี่ยวกับว่า บริษัทประเภทใดที่ดีที่สุดในการลงทุน  และจะทำเงินให้ได้มากที่สุดในระยะยาว  ผลโดยตรงจากการค้นพบนี้ก็คือ  วอร์เรน ได้เปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า  (Value investment) ตามแนวคิดของเกรแฮมซึ่งเขาใช้อยู่จนถึงขณะนั้น  และได้สร้างกลยุทธ์การลงทุนเพื่อความมั่งคั่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกเท่าที่เคยมี

          วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ก็คือ  สำรวจความจริง  2 ประการที่  วอร์เรนได้พบ คือ

  1. วิธีการบ่งชี้บริษัทชั้นยอดที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน
  2. วิธีการในการประเมินมูลค่าของบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  
           เพื่อจะอธิบายว่า  กลยุทธ์สุดพิเศษของวอร์เรนทำงานอย่างไรและเขาใช้กลยุทธ์ของเขากับงบการเงินอย่างไร  จึงทำให้เขาเป็นคนรวยที่สุดในโลก

เทคนิคในการบริหารพอร์ตหุ้นที่มี P/E ต่ำ แบบจอห์น เนฟฟ์ ( john neff )


           แม้เราจะได้เรียนรู้คุณลักษณะของหุ้น P/E ในแบบของ  จอห์น  เนฟฟ์ซึ่งมีประโยชน์ในการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตโฟลิโอมาแล้ว  แต่การบริหารพอร์ตโฟลิโอไม่ได้มีเฉพาะการคัดเลือกหุ้นเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงการติดตาม  ปรับพอร์ตเอาหุ้นเดิมที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติออกไป  เอาหุ้นใหม่ที่เหมาะสมกว่าเข้ามาโดย โดย จอห์น  เนฟฟ์  ได้แนะนำเทคนิคในการบริหารพอร์ตเพิ่มเติมไว้ดังนี้

เทคนิคการจัดกลุ่มหุ้นแบบ Measured  Participation

        จอห็น  เนฟฟ์  ได้เสนอมิติการแบ่งกลุ่มหุ้นโดยไม่สนใจประเภทอุตสาหกรรม  แต่แบ่งตามการเติบโตของกำไร  โดยแบ่งหุ้นออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • กล่มที่มีอัตรากการเติบโตและเป็นที่นิยม (Highly Recognized Growth : HRG )
  • กลุ่มที่มีอัตราการเติบโต  แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม (Less Recognized Growth : LRG)
  • กลุ่มที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง (Moderate Growth : MG)
  • กลุ่มที่อัตราการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ  หรือ หุ้นวัฏจักร (Cyclical Growth : CG)
         จอห์น  เนฟฟ์  แนะนำว่า "หุ้นกลุ่ม HRG" มักมาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงผู้บริโภครู้จักและจำชื่อสินค้าของบริษัทเหล่านี้ได้ดี  บริษัทมีอัตราการเติบโตของผลประกอบการและกำไรสูง  มีความมั่นคง มัำเป็นผู้นำตลาด นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างต้องการเป็นเจ้าของหุ้น HRG เกือบทั้งนั้น  ความนิยมทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้มักอยู่ในกลุ่มดัชนีหุ้นชั้นนำของตลาด และราคาก็มักสูง (ทำให้ P/E สูงด้วย) นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ฉายาหุ้น HRG ว่า "One-dicision Stock" คือ ให้ซื้อและถือตลอดไป  โดยมีสมมติฐานว่า  บริษัท HRG เหล่านี้มีการเติบโตของกำไรอย่างไม่จำกัด  ในขณะที่จำนวนหุ้นมีจำกัด  นักลงทุนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า  ราคาคงจะเพิ่มไปอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจะเกิดอย่างนี้ได้ต้องมีนักลงทุนหน้าใหม่ที่เชื่อคนง่ายเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัดเช่นกัน  จอห์น  เนฟฟ์ ยกตัวอย่างหุ้นในดัชนี Nifty Fifty ซึ่งมี P/E สูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่หุ้น P/E ต่ำ  ไม่มีใครสนใจเลยจนหว่าจะเกิดความตกต่ำในตลาดหุ้น  ผู้คนที่บาดเจ็บจากหุ้น HRG จึงจะหันมาสนใจหุ้น P/E ต่ำ  ที่มีการเติบโตของกำไรดี แต่ไม่มีใครสนใจ (LPG) อย่างไรก็ดีกองทุน Windsor ก็ลงทุนในกลุ่ม HRG บ้าง โดยมีสัดส่วนประมาณ 8-9% ของมูลค่าการลงทุน

       ถัดมาเป็น "หุ้นกลุ่ม LRG" โดยจอห์น  เนฟฟ์  แนะนำว่า  ขณะที่คนสนใจแต่หุ้น HRG ทำให้เรามีตัวเลือกมากมาย  สำหรับพอร์ตการลงทุน P/E ต่ำของเราที่จริงแล้วบริษัทเหล่านี้มีอัตราการเติบโตของกำไรดีไม่น้อยกว่าของกลุ่ม HRG เพียงแต่ขาดวิสัยทัศน์  และขนาดไม่ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดความสนใจในบางช่วงของการลงทุน  สัดส่วนการลงทุนในหุ้น LRG ของกองทุน Windsor สูงถึง 33% โดยสัดส่วนที่เหมาะสมที่ จอห์น  เนฟฟ์ แนะนำไว้อยู่ที่ประมาณ 25 %

       ส่วน "หุ้นกลุ่ม MG" จอห์น  เนฟฟ์ อธิบายว่า  เป็นหุ้นที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาด  แต่ด้วยผลการดำเนินงานที่ไม่ค่อยโดดเด่น  นักลงทุนจึงไม่นิยมลงทุนและ P/E ก็มักจะต่ำ  ถ้าสามารถวิเคราะห์ค้นหาหุ้นที่มีพื้นฐานดี และมีอนาคต P/E ของหุ้นกลุ่มนี้สามารถปรับเพิ่มขึ้น  และจำทำให้เกิดกำไรมา  ซึ่งกองทุน Windsor ลงทุนในกลุ่มนี้ ประมาณ 50% ของพอร์ตทั้งหมด

      สุดท้าย คือ "หุ้นกลุ่ม CG" จะมีการเติบโตของกำไรในอัตราเฉลี่ย  โดยในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น  การเติบโตของกำไรจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย  แต่ในช่วงวัฏจักรขาลง  กำไรจะเติบโตน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด P/E ของหุ้นกลุ่มนี้จะผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งบริษัทที่ดีในกลุ่ม CG และมี P/E ต่ำ ก็ยังมีให้คัดเลือกอยู่เสมอ  ดังนั้น  กลยุทธ์การซื้อและขายหุ้นกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญมาก

       กองทุน Windsor จะเข้าซื้อหุ้นกลุ่มนี้ก่อนที่กำไรจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6-9 เดือน และขายเมื่อมีสัญญานว่า ความต้องการในสินค้าและบริการของบริษัทเหล่านี้มีการขยายตัวอย่างชัดเจน  เช่น  ดูจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายและกำไรโดยเฉลี่ยแล้ว  กองทุน Windsor จะมีหุ้นวัฏจักรอยู่ประมาณ 30%

เทคนิคการกำหนดจำนวนหุ้นในพอร์ต 

           ในขณะที่กองทุน Windsor บริหารเงินทุน 11 พันล้านเหรียฐ กองทุนนี้ลงทุนในหุ้นเพียง 60 บริษัท และ 40% ของเงินกองทุน ลงทุนในหุ้นเพียง 10 บริษัทเท่านั้น และเมื่อเจาะลึกลงไป 25% ของมูลค่าเงินลงทุน  ลงในบริษัทน้ำมันเพียง 3 แห่งเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้พอร์ตมีจำนวนหุ้นมากเกินไป

เทคนิคการวิเคราะห์หุ้น

            นักลงทุนมักจะสับสนว่า  ควรเลือกใช้วิธี Top-down คือ วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจากเศรษฐกิจ  อุตสาหกรรม  ลงไปหาตัวบริษัท หรือจะใช้วิธี Bottom-up คือ วิเคราะห์ที่บริษัทก่อน แล้วค่อยดูว่าบริษัทที่ดีเหล่านี้มีปัจจัยแวดล้อมด้านอุตสาหกรรม  เศรษฐกิจ  สนับสนุนหรือไม่ จอห์น เนฟฟ์ ให้ความเห็นว่าจะใช้วิธีอะไรก็ได้  จะดูอะไรก่อนหลังก่อนก็ได้  แต่ต้องดูควบคู่กันไป

เทคนิคการสร้างฐานข้อมูลเพื่อติดตามและตัดสินใจ

           ในการสร้างและบริหารพอร์ต P/E ต่ำ จอห์น  เนฟฟ์ สร้าง Fact Sheet เพื่อช่วยวิเคราะห์และติดตามหุ้นอย่างเป็นระบบ ข้อมูลที่เขาสนใจ  ได้แก่ จำนวนหุ้นที่ลงทุน  ต้นทุนเฉลี่ย  ราคาปัจจุบัน  กำไรต่อหุ้น  และประมาณการอัตราการเติบโตทั้งในอดีตและที่คาดการณ์ P/E ในอดีตและที่คาดการณ์ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Yield) ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ราคาเป้าหมายบนพื้นฐานของกำไรที่คาดการณ์ P/E เป้าหมาย  ตลอดจนโอกาสและศักยภาพที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น  ซึ่งข้อมูลหลายตัวข้างต้น เป็นข้อมูลที่หาได้ง่าย  เพราะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว

เทคนิคการขายหุ้นจากพอร์ต

           จอห์น  เนฟฟ์  กำหนดลักษณะของการขายหุ้นออกจากพอร์ต  ดังนี้ 
  • ปัจจัยพื้นฐานแย่ลง
  • ราคาเท่ากับราคาเป้าหมายที่กำหนด
          การลดลงหรือแย่ลงของปัจจัยพื้นฐานจะพิจารณาจากเกณฑ์ 2 ประการ คือ "กำไรที่คาดการณ์"  และ "อัตราการเติบโต 5 ปี" หากเราไม่มั่นใจในปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้  ให้ขายหุ้นออกทันที  อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าปัจจัยพื้นฐานยังดีแต่ถ้าราคาหุ้นสูงขึ้นไปเท่ากับราคาเป้าหมายที่ตั้งไว้  ก็สามารถขายหุ้นจากพอร์ต  เพื่อนำรายได้และกำไรมาลงทุนกับหุ้นตัวใหม่ตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป ( Reinvestment ) โดยเฉลี่ยแล้วถ้าปัจจัยพื้นฐานของหุ้นยังดี  กองทุน Windsor สามารถถือหุ้นไปนานถึง 3-5 ปี โดยอาจแบ่งขายทำกำไรบ้างระหว่างช่วงเวลาลงทุน จอห์น เนฟฟ์ เตือนว่าการถือหุ้นนานเกินไป  ก็อาจเป็นปัญหาได้ เพราะอาจเกิดสถานการณ์ "ตกหลุมรัก" หุ้นในพอร์ตจนลืมจังหวะการขายออก เพื่อทำกำไรในช่วงเวลาที่เหมาะสม  จงจำไว้ว่า "หุ้นทุกตัวที่เราเป็นเจ้าของ  มีไว้เพื่อขายทั้งสิ้น" และ "ไม่จำเป็นต้องซื้อและถือหุ้นตลอดไป"

        ฝากทิ้งท้ายไว้สักนิดว่า  การลงทุนในหุ้นแบบ P/E ต่ำ เป็นกลยุทธ์การลงทุนชนิดหนึ่ง  ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างอนุรักษ์นิยม  ไม่หวือหวา  จอห์น  เนฟฟ์ เองก็เห็นว่าหลักการดังกล่าวนี้เป็นการกระทำซ้ำๆ คงเส้นคงว่า  สิ่งที่เหมือนกับการวิเคราะห์หลักทรัพย์ในกลยุทธ์อื่นๆ ก็คือ "การค้นหาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี" แต่สิ่งที่ต่างจากคนอื่นก็คือ "พยายามค้นหาของดี  ราคาถูก" และ "เป็นของที่คาดการณ์แล้วว่าจะมีการเติบโตของกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง" จนส่งผลในทางบวกต่อผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคต  หากท่านนักลงทุนอ่านแล้วคิดว่าชอบสไตล์การลงทุนแบบนี้  ลองนำหลักการไปสร้างและบริหารพอร์ตลงทุนด้วยตนเองได้เลยคับ  ขอให้ทุกท่านโชคดีคับ


Thursday, February 27, 2014

การลงทุนแบบ VI หุ้นคุณค่า (Value Stock) และหุ้นเติบโต (Growth Stock)

 

        เชื่อว่า...  นักลงทุนหลายท่ามีผู้ลงทุนที่เป็นต้นแบบ  ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนที่เน้นหุ้นคุณค่าทั้งในหรือต่างประเทศ  ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนอันน่าประทับใจในระยะยาว  หรือผู้ลงทุนที่เน้นหุ้นเติบโต  ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงเวลาที่ทายได้อย่างรวดเร็ว  ผู้ลงทุนมือใหม่ทั้งหลายอาจตั้งคำถามว่า..."หุ้นคุณค่า" และ "หุ้นเติบโต" เป็นสไตล์หุ้นบนทางสองแพร่งที่ต้องเลือกเพียงทางใดทางหนึ่ง  หรือสามารถลงทุนแบบผสมผสานกันได้  ก่อนที่จะไขข้อข้องใจนี้  ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจคุณลักษณะทั่วไปของหุ้นทั้ง 2 ประเภทนี้ก่อน

         การแบ่งประเภทหุ้นตามสไตล์ข้างต้น  อีกนัยหนึ่งถือเป็น การแบ่งประเภทหุ้นตามการเปรียบเทียบเครื่องชี้ความถูกแพงของราคาหุ้นค่อความคาดหวังในอัตราการเติบโตของกิจการ ทั้งนี้ ลักษณะสำคัญและความเสี่ยงของหุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโต   สามารถสรุปได้ตามตารางด้านล่างนี้

   


         ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ การแบ่งประเภทหุ้นตามสไตล์จะไม่ใช้ราคาหุ้น เช่น หุ้น A ราคาหุ้นละ 10 บาท หุ้น B ราคาหุ้นละ 25 บาท  เป็นเครื่องกำหนดว่าหุ้น A มีราคาถูกกว่าหุ้น B แต่จะ เปรียบเทียบเครื่องชี้ความถูกแพงของราคาหุ้นต่อความคาดหวังในอัตราการเติบโตของกิจการ  เช่น อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) หรืออัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV Ration) ดังแสดงไว้ในตารางด้านบน โดย "หุ้นเติบโต"  มักมีค่า P/E Ratio และ/หรือ P/BV Ratio สูงกว่า "หุ้นคุณค่า" อย่างไรก็ตาม การเลือกสรรหุ้นเพื่อการลงทุนโดยพิจารณาเพียงเครื่องชี้ประเภทเดียว เช่น P/E Ratio จะมีความเสี่ยง ผู้ลงทนสถาบันส่วนใหญ่ทั้งที่เน้นหุ้นคุณค่าหรือหุ้นเติบโตต่างอ้างอิงการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและเปรียบเทียบเครื่องชี้หลายประเภทเป็นหลักสำคัญในการลงทุน

1  หุ้นคุณค่า (Value Stock)

        ในเกณฑ์เบื้องต้น "หุ้นคุณค่า" มักมีค่า P/E Ratio หรือ P/BV Ratio ต่ำบ่งบอกว่าเป็นหุ้นราคาถูก  เพราะผู้ลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดละเลยหุ้นประเภทนี้  เนื่องจากกิจการถูกปรคลุมด้วยข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับผลประกอบการ หรือการบริหารจัดการ ทำให้เกิดการคาดการณืว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นช้าหรือลดลง ซึ่งก่อนการลงทุนผู้ลงทุนต้องวิเคราะห์ให้แน่ใจว่าแท้จริงแล้วกิจการยังมีศักยภาพที่ดี เพื่อสนับสนุนสมมติฐานว่าเป็นหุ้นที่ราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ เมื่อผู้ลงทุนเข้าสะสมหุ้น ณ ราคานั้น" จะมี "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" (Margin of Safety) ในการลงทุนสูง คือ หากราคาจะลดลงต่อ  ก็ไม่ควรลดลงมาก อย่างไรก็ตาม  คุณค่าที่แท้จริงจะปรากฏเมื่อสถานการณืนั้นคลี่คลายลง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของกิจการเริ่มแสดงตนผ่านการทยอยฝ้นตัวของผลประกอบการความสำเร็จของการลงทุนในหุ้นคุณค่าจึงขึ้นอยู่กับว่า
  • กิจการจะสามารถพลิกฟื้นขึ้นได้จริงหรือ
  • การลดลงของราคาตลาดเป็นเพียงชั่วคราวตามที่คิดการณ์ไว้หรือไม่ และต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด
         ความจริงข้อหนึ่ง คือ การลงทุนที่รอคอยเป็นเวลานาน อาจทำให้ผู้ลงทุนขาดความมั่นใจในผลการวิเคราะห์   หรือแรงกดดันที่ต้องสร้างผลตอบแทน ที่แข่งขันได้ในกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันด้วยกัน อาจไม่เอื้อให้ผู้ลงทุนรอบการฟื้นตัวของราคาตลาดของหุ้นคุณค่าในระยะเวลานานๆ ได้

         ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นคุณค่าเข้าพอร์ตจำนวนหนึ่ง  เวลาผ่านไป 1 ปี ยังไม่มีสัญญานว่าราคาตลาดของหุ้นคุณค่าจะเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันกองทุนของคู่แข่งที่เน้นหุ้นเติบโต  ราคาตลาดของหุ้นกลับตอบสนองอย่างรวดเร็วทำให้กองทุนที่เน้นหุ้นคุณค่ามีผลตอบแทนน้อยกว่าคู่แข่งเป็นระยะเวลานานจนผู้ถือหน่วยลงทุนตั้งคำถามหรือพากันสับเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนอื่น  ผู้จัดการกองทุนที่เน้นหุ้นคุณค่าก็อาจต้องเปลี่ยนสไตล์ของหุ้นเพื่อรองรับความท้าทายนี้ในช่วงเวลาก่อนที่คุณค่าของหุ้นที่เลือกไว้จะแสดงผล

         สถานการณ์เช่นนี้  สามารถแก้ไขได้โดยการตั้งชื่อกองทุนและระบุนโยบายการลงทุนให้ชัดเจน  พร้อมสื่อความให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบว่า  กองทุนนี้ไม่ใช่กองทุนตราสารทุนทั่วไป  แต่เน้นลงทุนในหุ้นคุณค่า เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจและความคาดหวังที่ถูกต้องต่อระยะเวลาลงทุนและลักษณะผลตอบแทนของกองทุน


2 หุ้นเติบโต (Growth Stock)

            "หุ้นเติบโต" (Growth Stock) มักเป็นหุ้นที่เครื่องชี้มูลค่าหุ้นบ่งบอกว่าเป็นหุ้นราคาสูงส่วนใหญ่เป็นหุ้นของกิจการที่คาดว่าจะสร้างการเติบโตอย่างโดดเด่นในสินทรัพย์รายได้ และกำไร  ผู้ลงทุนพร้อมเข้าซื้อในราคาสูง  เพราะเชื่อว่าการขยายตัวของกิจการจำทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้อีกมากในอนาคต  ในบางครั้งเกิดเป็นปรากฏการณ์ "ราคายิ่งสูง  ยิ่งขึ้นต่อ"

              ข้อพึงระวังในการลงทุนหุ้นเติบโต  คือ  ซื้อในราคาสูง  ไม่ใช่ราคาแพง  ราคาสูงเพราะคาดหวังการเติบโต  แต่ต้องเป็นราคาที่เหมาะสม  จึงเป้นที่มาของคาถาประจำตัวผู้ลงทุนหุ้นเติบโต คือ "Growth at a Reasonable Price (GARP)"  ความสำเร็จของการลงทุนในหุ้นเติบโตขึ้นอยู่กับความสามารถในการเลือกหุ้นของกิจการที่จะมีการขยายตัวได้เท่ากับหรือสูงกว่าอัตราที่คาดหวัง

             ศักยภาพ  คือ  สาเหตุของความเสี่ยงที่สำคัญ  หากผลประกอบการไม่เติบโตเท่าที่คาด (Below Expectation) ผู้ลงทุนที่เคยซื้อหุ้นในราคาสูง  เมื่อผิดหวังจะปรับลดราคาเป้าหมาย  และอาจทำให้เกิดแรงเทขายจนส่งผลให้ราคาตลาดของหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว

             ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนซื้อหุ้นโดยให้ราคาเทียบเท่า P/E Ratio ที่ 18 เท่า สูงกว่า P/E Ratio ของตลาดและหุ้นในหมวดธุรกิจเดียวกันที่ 11 เท่า และ 15 เท่า  ตามลำดับ  เพราะคาดว่ากำไรจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 20 แต่เมื่อกิจการประกาศผลประกอบการประจำปีที่กำไรขยายตัวได้ร้อยละ 15 ราคาหุ้นกลับตอบรับด้วยการปรับลดลงในทันที

            เนื่องจากหุ้นเติบโตมีราคาสูงและจ่างเงินปันผลต่ำ  ผู้ลงทุนจึงควรติดตามปัจจัยที่สร้างการเติบโตและตรวจสอบอัตราการเติบโตที่แท้จริงว่าต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพหรือไม่
  • หากเติบโตด้วยสิทธิบัตร ( Patents ) หรือลิขสิทธิ์ ( Copyrights ) ในที่สุดจะถึงวันหมดอายุ
  • หากเติบโตจากการผูกขาดธุรกิจ ( Monopoly ) อาจพบข้อห้ามการผูกขาดจากภาครัฐ
  • ช่วงการเติบโตในวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) อาจเป็นระยะเวลาสั้น  หรือหมดลง
  • การขยายตัวอย่างมากของยอดขายและกำไร  จะเป็นแรงจูงใจให้คู่แข่งเข้ามามากขึ้น  และอัตรากำไรลดลง
             นอกจากนี้  ผู้ลงทุนควรตั้งคำถามในเชิงคุณภาพเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นเติบโต เช่น
  • กิจการมีสินค้าหรือบริการที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่  ถ้ามี จะทำให้กิจการมีอำนาจกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ  และความสำเร็จของธุรกิจในอนาคตอันใกล้
  • กิจการมีแผนนำเสนอสินค้าหรือบริการใหม่ๆ สู่ตลาดในเร็วๆ นี้หรือไม่ ถ้ามี  จะส่งเสริมโอกาสสร้างรายได้และกำไรที่เพิ่มพูนขึ้น
  • กิจการมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) หรือไม่ ถ้ามี จะช่วยสร้างมูลค่าได้ในระยะยาว เช่น มีตราสินค้า (Brand Name) เป็นที่ยอมรับ  มีความภักดีของลูกค้า  ฝ่ายบริหารเข้มแข็งและมีความสามารถ  ทำเลที่ตั้งโดดเด่น  กระบวนการผลิตมีประสิทธ์ภาพ และต้นทุนต่ำ เป็นต้น
  • กิจการมีสิทธบัตร  หรือการผูกขาดธุรกิจ หรือการปกป้องจากการเข้ามาของคู่แข่งหรือไม่ ถ้ามี จะช่วยป้องกันกิจการจากการแข่งขันได้ในระยะสั้น  ทำให้กิจการมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ  หรือริเริ่มกิจกรรมเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขัน (Head Start) เหนือคู่แข่ง อย่างไรก้ตาม กิจการต้องเตรียมพร้อมกลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตต่อเมื่ออภิสิทธ์เหล่านี้ครบอายุลง  
         เมื่อได้ทราบนิยาม  ลักษณะสำคัญ และความเสี่ยง รวมทั้งปัจจัยสู่ความสำเร็จในการลงทุนในหุ้นแต่ละสไตล์กันแล้ว  มาดูสถิติอัตราผลตอบแทนรวมระยะยาวของหุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโตกันบ้าง  ในที่นี้เราใช้  "ดัชนีผลตอบแทนรวม Russell 1000 Value" ซึ่งสะท้อนผลตอบแทนรวมของหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชี ( P/BV Ratio ) และความคาดหวังต่ออัตราการเติบโตของกำไรต่ำ  เป็นตัวแทนของหุ้นคุณค่า และ "ดัชนีผลตอบแทนรวม Russell 1000 Growth" ซึ่งสะท้อนผลตอบแทนรวมของหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ  ที่มีอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV Ratio) และความคาดหวังต่ออัตราการเติบโตของกำไรสูง  เป็นตัวแทนของหุ้นเติบโต  โดยมี "ดัชนีผลตอบแทนรวม Russell 3000" ซึ่งสะท้อนผลตอบแทนรวมของหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จำนวน 3,000 หลักทรัพย์ครอบคลุมประมาณร้อยละ 98 ของหุ้นทั้งหมดในตลาด เป็นตัวแทนของตลาดโดยรวม  จากรูปที่ 10 พบว่า  หุ่นคุณค่าสร้างผลตอบแทนรวมที่ดีกว่าหุ้นเติบโตในช่วงระยะเวลา 32 ปีที่ผ่านมา ( ปี พ.ศ. 2523 - 2555 )

  
           

         
            สถิติผลตอบแทนรวมของหุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโตข้างต้น  อาจทำให้ผู้ลงทุนที่เน้นหุ้นเติบโตลังเลใจว่า  หุ้นที่เลือกซื้อในช่วง "ยิ่งสูง  ยิ่งขึ้น" หรือจะเป็น "ยิ่งขึ้น  ยิ่งแพง"  จึงทำให้ผลตอบแทนรวมในระยะยาวน้อยกว่าหุ้นคุณค่าผู้ลงทุนสามารถศึกษาพฤติกรรมราคาหุ้นเพิ่มเติมโดยการแบ่งระยะเวลาลงทุนเป็นช่วงๆ ดังนี้

           
              ช่วงที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2538 - 2542 ( ค.ศ. 1995-1999 )  ดังแสดงในรูปที่ 11 ในช่วงรุ่งเรืองของเศรษฐกิจสหรัฐฯ  ที่ได้รับอานิสงส์มาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของผลผลิต  ตลอดจนกำไรในภาคอุตสาหกรรมในช่วงก่อนหน้า คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 - 2538 ( ค.ศ. 1985-1995 ) แม้ผลประกอบการที่แท้จริงในช่วงนี้จะเริ่มชะละลง  แต่ราคาตราสารการเงินต่างๆ รวมทั้งหุ้นยังคงเป็นขาขึ้นสอดคล้องกับการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น  ความมั่งคั่งที่พอกพูนขึ้น ( Wealth Effect ) จากการเพิ่มขึ้นของราคาห้น  ทำให้ภาคการผลิตซึ่งเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่แท้จริงถูกละเลย  ผู้ลงทุนและนักธุรกิจใช้ความั่งคั่งที่ได้รับจากตลาดหุ้นมาเพิ่มการลงทุนในตลาดทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งภายใต้วงจรเศรษฐกิจ ( Business Cycle ) ลักษณะนี้ หุ้นเติบโตจะอยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนมากกว่าหุ้นประเภทอื่น  ราคาหุ้นเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า  สะท้อนจากดัชนีผลตอบแทนรวม Russell 100 Growth ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 307 เปรียบเทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวม Russell 1000 Value ที่เพิ่มขึ้น เพียงร้อยละ 182 ในช่วงเวลาเดียวกัน

          
        


           ช่วงที่ 2 คือ ช่วงเริ่มต้นของภาวะตกต่ำในตลาดหุ้นในปี พ.ศ.2543 (ค.ศ. 2000) ดังแสดงในรูปที่ 12 เป็นรอยต่อระหว่าการเพิ่มของราคาหุ้นและอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับอัตรากำไรของกิจการชะลอลง ซึ่งในที่สุดในช่วงกลางปี พ.ศ. 2543 กิจการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสื่อสารที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจเผชิญกับสถานะการณ์ที่รายได้ลดลง  กไรไม่สามารถเพิ่มขึ้นต่อไปได้  ตามมาด้วยราคาหุ้นตกต่ำ  ความมั่งคั่งที่ผู้ลงทุนสะสมไว้หายไปในเวลาอันรวดเร็ว  สถานะลงทุนเริ่มขาดทุน  ธุรกิจมีความยากลำบากในการจัดหาแหล่างเงินทุน  สุดท้ายต้องระงับแผนลงทุนหรือขยายกิจการ  ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

            นอกจากนี้  การยายการลงทุนมากเกินไปในช่วงก่อนหน้าที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพการสร้างกำไร  ยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในเวลาต่อมา  ทั้งเครื่องจักรและโรงงานที่สะสมหรือสร้างไว้  ไม่ได้ใช้งาน กำลังการผลิตส่วนเกินทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้า  และถูกซ้ำเติมอีกครั้งด้วยวิกฤตสถาบันการเงินในปี  พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ซึ่งในวงจรเศรษฐกิจลักษณะนี้หุ้นเติบโตสร้างความผิดหวังให้ผู้ลงทุน  หุ้นคุณค่าที่แม้จะมีราคาตลาดลดลงตามวงจรเศรษฐกิจ  แต่ไม่หนักนาเท่าหุ้นเติบโต  เพราะมีความพร้อมด้านกระแสเงินสดและเงินปันผลรองรับ  สะท้อนจากดัชนีผลตอบแทนรวม Russell 1000 Growth ที่ลดลงร้อยละ 55 เปรียบเทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวม Russell 1000 Value ที่ลดลงเพียงร้อยละ 15 ในช่วงปี พ.ศ. 2543-2545

         

      ถึงตรงนี้   นักลงทุนคงได้คำตอบแล้วว่า "หุ้นคุณค่า" และ "หุ้นเติบโต" ต่างมีช่วงเวลาที่จะแสดงผลงานแตกต่างกันไป  เพราะในแต่ละวงจรเศรษฐกิจ หุ้นทั้งสองประเภทได้รับผลกระทบและมีพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของราคาไม่เหมือนกัน พอร์ตลงทุนที่ดีจึงควรผสมผสานหุ้นทั้งสองประเภทเข้าด้วยกัน เนื่องจากการคาดการณ์วงจรเศรษฐกิจอย่างแม่นยำทำได้ยาก  นอกจากนี้ในบางครั้งผู้ลงทุนจะพบว่าหุ้นที่เคยลงทุนในอดีตในฐานะหุ้นเติบโต  เมื่อเวลาเปลี่ยนไป  องคืประกอบต่างๆ อาจผลักดันให้หุ้นตัวเดียวกันเปลี่ยนสถานะเป็นหุ้นคุณค่าได้

 

        จากรูปที่ 13 หุ้นเติบดตอยู่ใน Matrix ที่ 3 คือ "GROWTH" เนื่องจากอัตราการเติบโตและราคาสูง  เมื่อเวลาผ่านไป  อัตราการเติบโตที่โดดเด่นกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดและอุตสาหกรรมไม่สามารถยั่งยืนถาวร  อาจด้วยสภาพการแข่งขันหรือวงจรกเศรษฐกิจทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลง ณ ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ลดลงสะท้อนการชะลอตัวเข้าสู่ค่าเฉลี่ยของผลประกอบการ  หุ้นจะตกมาอยู่ใน Matrix ที่ 2 คือ "DOG" เนื่องจากราคาหุ้นสูงเกินกว่าศักยภาพการเติบโตของผลประกอบการในอนาคต  เมื่อผู้ลงทุนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในผลประกอบการในอนาคต เมื่อผู้งทุนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในผลประกอบการจะเกิดแรงเทขายหรือการต่อรองราคาที่จะเข้ามาสะสมหุ้น ทำให้ราคาตลาดของหุ้นลดลง จนหุ้นเข้ามาใน Matrix ที่ 1 คือ "VALUE" หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี  แต่ผู้ลงทุนยังไม่สนใจ เพราะอัตราการขยายตัวไม่ดึงดูด เข้าข่าย "การไม่เล่น ก็ไม่เล่นเลย"  ทำให้ราคาตลาดของหุ้นไม่เพิ่มขึ้นหรืออาจลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง  ผู้ลงทุนที่เน้นหุ้นคุณค่าจะเข้าสะสมหุ้นในช่วงเวลานี้ถือลงทุนและรับเงินปันผล  พร้อมทบทวนความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานจวบจนผลประกอบการเริ่มฟื้นตัว  ปรากฏเป็นจุดสนใจของนักวิเคราะห์และผู้ลงทุนในวงกว้างว่าเป็นหุ้นดี  และราคายังถูกอยู่ หุ้นจึงเคลื่อนเข้า Matix ที่ 4 คือ "STAR" ผู้ลงทุนจะเริ่มสับเปลี่ยนจากหุ้นที่ราคาเข้าข่ายสูงเกินไปแล้วเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้  ก่อนที่จะกลัีบมาที่ Matix ที่ 3 คือ "GROWTH"  อีกครั้ง

          โดยสรุป  หุ้นเติบโตสร้างกำไรงามในภาวะที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง หุ้นคุณค่าเป็นผู้นำเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงกลางและกำลังเคลื่อนเข้าสู่การชะลอตัวหรือตกต่ำ หุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโตผลัดกันเป็นผู้นำตลาดในแต่ละช่วงเวลา  อย่างไรก็ดีผลตอบแทนในหุ้นคุณค่ามีค่าสูงกว่าเนื่องจากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงบ่อยครั้งจากความเชื่อมโยงกันของตลาดการเงินโลก  นวัตกรรมในตราสารการเงินที่ซับซ้อน  และการขาดการควบคุมดูแลและระบบจัดการความเสี่ยงที่ดี

นักลงทุน VI สภาพคล่องของหุ้น



         

          ปัจจัยสำคัญหนึ่งของการลงทุนที่ดูเหมือนว่า Value Investor "พันธุ์แท้" จำนวนมากอาจจะไม่พูดถึงเลย ก็คือ สภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น


            เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะ นี่คือปัจจัยที่  “ไม่เกี่ยวกับพื้นฐาน”  ของกิจการ  หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI มีน้อยมากที่จะกล่าวถึง สภาพคล่องของหุ้น   คนที่สนใจเรื่องสภาพคล่องของหุ้นมากที่สุดน่าจะเป็น นักวิเคราะห์ทางเทคนิคที่มองว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันนั้น   ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญสุดยอดที่จะบอกว่าราคาหุ้นจะไปทางไหนในอนาคตอันใกล้  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น  ก็เป็นหุ้นที่นักเทคนิคหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือวิเคราะห์   ว่าที่จริงนักเทคนิคนั้นมองว่าหุ้นประเภทนี้ใช้หลักการทางเทคนิคไม่ได้ด้วย ซ้ำ   อย่างไรก็ตาม  ในฐานะของ VI  ความเข้าใจในเรื่องของสภาพคล่องน่าจะมีประโยชน์พอสมควร  และต่อไปนี้ เป็นมุมมองของผมต่อเรื่องสภาพคล่องของหุ้น

                ประเด็นแรก ก็คือ สภาพคล่องของหุ้นนั้นมองได้เป็นสองมิติ นั่นคือ  มิติแรก  มองจากนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นหรือพูดง่ายๆ มองจากตัวเราเองว่าเรามีเงินลงทุนเท่าไรและจะซื้อหุ้นแต่ละตัวในวงเงิน เท่าไร ตัวอย่างเช่น  พอร์ตของเรามีอยู่ 10 ล้านบาท  และเราจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 2-3 ล้านบาท แบบนี้ เราก็จะต้องดูว่าหุ้นที่เราสนใจจะลงทุนนั้นมีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ เท่าไร ถ้าพบว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายประมาณวันละเพียงหนึ่งแสนบาท  นั่นก็แปลว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาในการขายหุ้นให้หมดถึง 20-30 วัน ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้น 2-3 ล้านบาท และสมมติว่าไม่มีคนอื่นขายเลยนอกจากเรา ในสถานการณ์แบบนี้  ก็ต้องถือว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำเกินไป   การซื้อหุ้นอาจจะอันตรายถ้าเราคาดการณ์ผิดและจำเป็นต้องขายทิ้ง   เพราะในการขายหุ้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวัน จะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง   ดังนั้น   การซื้อหุ้นแบบนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าราคามันต่ำกว่ามูลค่ามากและเราพร้อม ที่จะถือมันไว้ตลอดไป  หรืออย่างน้อยก็ต้องถือได้ 3-5 ปีขึ้นไป  นอกจากนั้น  ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่  มันควรจะมีปันผลให้เราอย่างน้อย 4-5% ต่อปีโดยไม่ลดลงและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

               มิติที่สองเกี่ยวกับสภาพคล่อง ก็คือ  ปริมาณการซื้อขายของหุ้นเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท  นี่เป็นการวัดอย่างคร่าวๆ  ว่าคนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทนั้น  ซื้อแล้วถือไว้นานแค่ไหนโดยเฉลี่ย  ตัวอย่างเช่น  ถ้าบริษัทมีมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทหรือเรียกว่า  Market Cap . เท่ากับ  1,000 ล้านบาท  และหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท  นี่ก็แปลว่าคนที่ซื้อและถือหุ้นของบริษัทไว้นั้น  เขาจะทยอยขายหุ้นและใช้เวลาขายหมดภายใน 100 วัน  หรือประมาณ 3 เดือนกว่าๆ    หรือพูดอีกแบบหนึ่ง ก็คือ  คนที่ลงทุนในบริษัทนี้  โดยเฉลี่ยแล้วลงทุนเพียง 3 เดือนเศษๆ  ก็ขายทิ้งแล้ว  ไม่ได้เป็นนักลงทุนระยะยาวที่เน้นที่ผลประกอบการและรอกินปันผลที่บริษัทอาจ จะจ่ายปีละครั้ง
 

               คำถามที่อาจจะตามมา ก็คือ  คนที่ลงทุนถือหุ้นนั้น  ต้องถือไว้นานเท่าไรจึงจะถือว่าเป็นนักลงทุนระยะยาว คำตอบนั้น ก็คือ มันเป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนบอกว่า  3  เดือนถือว่ายาว แต่บางคนบอกว่า 3 ปี ถึงจะเรียกว่ายาว อย่างไรก็ตาม  เราสามารถพูดโดยเปรียบเทียบได้  เพราะเรามีค่าเฉลี่ยระยะเวลาของการถือหุ้นของบริษัททุกแห่งในตลาดหลักทรัพย์ ในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงเวลา  ยกตัวอย่างเช่น  มูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดในช่วงนี้ คือ  8.5 ล้านล้านบาท ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะใช้เวลาขายหุ้นหมดเท่ากับประมาณ  340 วันทำการ หรือคิดเป็นประมาณ 1 ปีกับ 4 เดือน ดังนั้น เราก็สามารถพูดได้ว่า หุ้นตัวไหนที่มีการซื้อขายหุ้นที่ทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ปี 4 เดือน ก็ถือว่าหุ้นตัวนั้นมีผู้ถือที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นกว่าค่าเฉลี่ย  และหุ้นที่มีการซื้อขายน้อยและทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยเกิน 1 ปี 4 เดือน ถือว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนนานกว่าค่าเฉลี่ย

                  ประเด็นของการถือหุ้นสั้นหรือถือหุ้นยาวของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว ก็คือ   มันเป็นการบอกถึง  "ดีกรี"  หรืออัตราในการ "เก็งกำไร"  ของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว   นั่นก็คือ  หุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมาก  วัดจากปริมาณการซื้อขายต่อวันเทียบกับมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท  เช่น  หุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายต่อวันเท่ากับ  100 ล้านบาท  ในขณะที่ Market Cap. เท่ากับ  1,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนเพียง 10 วันโดยเฉลี่ยก็ขายทิ้งแล้ว  แบบนี้ก็ถือว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง  ตรงกันข้าม  หุ้นบางตัวนั้น  ผู้ถือหุ้นถือไว้โดยเฉลี่ยถึง 3 ปี  แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีการเก็งกำไรหรืออาจจะบอกว่าเป็นหุ้นที่คนไม่ สนใจที่จะซื้อขายเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ

                เป็นเรื่องยากที่จะขีดเส้นว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น "เก็งกำไร" และหุ้นตัวไหนไม่มีอาการอย่างนั้น  ส่วนตัวผมเอง  กำหนดว่า  หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 1% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดถือว่าเข้าข่ายเป็น "หุ้นเก็งกำไร" ยิ่งมากกว่านั้นก็ยิ่งมีการเก็งกำไรสูงเท่านั้น  และยิ่งหุ้นมีการเก็งกำไรสูงเท่าไร  ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น  ดังนั้น  โอกาสที่หุ้นเก็งกำไรสูงจะเป็นหุ้น Value จึงมีน้อย ผมจึงมักหลีกเลี่ยงและถ้ามีก็จะขายทิ้ง หุ้นที่เข้าข่ายเก็งกำไรสูงลิ่วกลุ่มหนึ่ง ก็คือ หุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายหุ้นใหม่ในตลาดหลังจากการทำ IPO  ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายสูงมาก ดังนั้น ผมจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน และถ้าผมได้จองซื้อหุ้นไว้ผมก็มักจะขายทิ้งค่อนข้างเร็ว ถ้าผมสนใจหุ้นเหล่านี้ ผมจะรอจนปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลงจนต่ำกว่า 1%  ต่อวันซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่าหุ้นไม่มีการเก็งกำไรมากจนเกินไป

                กลับมาที่สภาพคล่องของหุ้นเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตหรือการลงทุนของเรา ในอดีตที่ผมเริ่มลงทุนใหม่ๆ นั้น ปัญหามีน้อยมาก ผมสามารถลงทุนได้ในหุ้นเกือบทุกตัว เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังน้อยมาก

                 อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำมากก็ทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากผมไม่สามารถลงทุนเป็นเม็ดเงินมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายต่อ วันของหุ้นได้  การลงทุนด้วยเงินที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับพอร์ตโดยรวมนั้น ทำให้เราจะต้องหาหุ้นลงทุนจำนวนมากตัวซึ่งจะทำให้พอร์ตของเราไม่ Focus หรือไม่มีจุดเน้นกลายเป็น  "เบี้ยหัวแตก"  และทำให้ผลตอบแทนของเราต่ำลง เนื่องจากเราจะไม่เอาใจใส่กับมันเท่าที่ควร ดังนั้น ในระยะหลังๆ ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงถ้าหุ้นมีสภาพคล่องน้อยเกินไป และนี่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในหุ้นตัวเล็กๆ ทั้งหลายซึ่งบางครั้งเป็นหุ้นที่ดีและเป็นหุ้น Value หุ้นเหล่านี้บางตัวอาจจะให้ผลตอบแทนได้เป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาอันสั้นได้ และนั่นก็เป็นข้อได้เปรียบของ VI ที่ยังมีพอร์ตไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ  โดยเฉพาะสถาบันการลงทุนเช่นกองทุนรวมที่มีข้อจำกัดมากกว่า และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พอร์ตเล็กนั้นโตวัยกว่าพอร์ตใหญ่เมื่อ องค์ประกอบอย่างอื่นเช่นความสามารถในการลงทุนและการกล้ารับความเสี่ยงของนักลงทุนเท่ากัน

หุ้นกับสงคราม


          เวลาผมวิเคราะห์หาหุ้นเพื่อลงทุนนั้น   ผมมักจะคิดถึงเรื่องของสงคราม  เหตุผลก็คือ   ผมต้องการหาบริษัทที่จะเติบโตไปได้ในระยะยาว  และบริษัทที่จะรุ่งเรืองเฟื่องฟูไปได้ยาวนานนั้น   จะต้องเป็นบริษัทที่  “ชนะ”  ในการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่บริษัททำอยู่   การแข่งขัน  หรือที่ผมอยากจะเรียกให้มันใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นก็คือ  การ  “ต่อสู้”  ทางธุรกิจนั้น  มักจะมีความเข้มข้นสูงมาก  เป็นลักษณะที่  “เอาเป็นเอาตาย”  ไม่มีใครปราณีใคร   “ผู้แพ้”  นั้น  บ่อยครั้งก็ล้มหายตายจากออกจากธุรกิจไปเลย    ดังนั้น   ถ้าเปรียบเทียบไปแล้วก็คล้าย ๆ  กับการสงครามที่มีการสู้รบกันรุนแรง   ผู้ชนะจะเป็นผู้ยึดครองและได้ทรัพยากรไว้ในครอบครอง  เช่นเดียวกับบริษัทที่เป็นผู้ชนะก็จะได้ลูกค้าได้ยอดขายและทำกำไรได้มากซึ่ง ก็จะทำให้หุ้นมีค่ามหาศาล


         กฎของการรบและสงครามของ คาร์ล วอน คลอสวิตซ์  “บิดาแห่งการสงคราม”  นั้น   สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจได้และผมก็ใช้อยู่ เสมอ  ลองมาดูกันว่าเวลาวิเคราะห์การแข่งขันของธุรกิจแต่ละอย่างผมทำอย่างไร?


         กฎข้อแรกของสงครามที่ผมจะเริ่มก็คือ   ในการรบนั้น  เราจะต้องกำหนดหรือมองดูว่า  สนามรบอยู่ที่ไหน  ใครยึดชัยภูมิไหนอยู่  อุปนิสัยของแม่ทัพแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร เราจะต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนถึงจะรู้ว่าใครได้เปรียบและใครอยู่ในชัยภูมิที่ เสียเปรียบ  และพอจะคาดได้ว่ากลยุทธ์ในการศึกจะเป็นอย่างไร  และสุดท้ายใครน่าจะเป็นฝ่ายชนะ   ในทำนองเดียวกัน  ในเรื่องของธุรกิจนั้น   ผมก็จะต้อง  “ขีดวง”  ให้ชัดเจนก่อนว่า  สนามรบ”  อยู่ที่ไหน  นั่นก็คือ  ตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์คืออะไร   ใครเป็นลูกค้าเช่น  เป็นคนรายได้สูงหรือรายได้ต่ำ  หรือเป็นเด็กหรือเป็นผู้หญิง    หรืออยู่ในอาณาบริเวณไหน   เป็นต้น    ต่อจากนั้น  ผมก็จะมาดูว่าบริษัทไหนยึด  “ชัยภูมิ”  ไหนอยู่และชัยภูมินั้นได้เปรียบหรือเสียเปรียบ   คำว่าชัยภูมินั้น  ในทางธุรกิจก็คือ  มันอยู่ที่จุดไหน  “ในใจของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของบริษัท    ชัยภูมิที่ได้เปรียบและแข็งแกร่งเหมือนกับอยู่บนภูเขาในสงครามก็เช่น   เป็นบริษัทที่เป็น  “อันดับหนึ่ง”  หรือสินค้าของบริษัทนั้น  “หรูที่สุด”   หรือ  บริษัทหรือร้านของบริษัทมีสินค้า  “ครบที่สุด”  ในที่เดียว  เป็นต้น


          ในการวิเคราะห์เรื่องสนามรบและการรบนั้น   เราต้องดูว่ากลยุทธ์ของแต่ละบริษัทนั้นเป็นอย่างไร   นี่ก็คือ  เราต้องดูไปถึงแม่ทัพหรือผู้บริหารว่าเขาทำอย่างไร  กลยุทธ์นั้นถูกต้องหรือไม่   เขาทุ่มเทกับการรบในสนามหลักหรือเขามักชอบที่จะ  “เปิดแนวรบใหม่ ๆ”  ไปในจุดที่เขาไม่คุ้นเคยหรือเสียเปรียบหรือไม่  ถ้าเขาทำอย่างนั้นโอกาสที่จะชนะสงครามจะมีแค่ไหน   ถ้าเราดูแล้วรู้สึกว่ากลยุทธ์เหล่านั้นไม่ถูกต้องและจะทำให้เสียหายหนัก   เราก็จะต้องระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงบริษัทนั้น    ว่าที่จริงในเรื่องของการวิเคราะห์ตัวแม่ทัพหรือผู้บริหารนั้น  ผมจะมองไปถึงเรื่องของ  คุณธรรม” คุณสมบัติและนิสัยอีกหลายอย่าง  รวมถึงอายุและความเป็นคน  หัวอนุรักษ์  หรือเป็นคน  หัวก้าวหน้า  ด้วย   เพราะผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อการที่บริษัทจะชนะหรือแพ้ในการรบ หรือการต่อสู้ทางธุรกิจ


        การวิเคราะห์ว่าใครจะชนะหรือแพ้ในการรบหรือการแข่งขันทางธุรกิจนั้น  ผมจะยึดกฎของการสงครามข้อที่สองนั่นก็คือ  ในสนามรบที่เราได้ขีดวงไว้แล้วนั้น   ฝ่ายไหนมีทรัพยากรมากกว่าฝ่ายนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ  ทรัพยากรของสงครามนั้นก็คือ  กำลังทหารและอาวุธต่าง ๆ   กองทัพที่มี  “อำนาจการยิง”  ที่เหนือกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ   ดังนั้น  ในการศึกแต่ละครั้ง  แม่ทัพที่มีความสามารถก็คือคนที่สามารถทุ่มสรรพกำลังเข้าไปในสนามรบมากกว่า ศัตรู   ดังนั้น  กองทัพที่ใหญ่โตแต่ไม่ได้อยู่ในสนามรบก็ไม่สามารถชนะศึกได้  กองทัพที่เล็กแต่ทุ่มกำลังเข้าไปในจุดที่สู้รบได้มากกว่ากลับเป็นฝ่ายชนะ   ถ้าจะเปรียบกับธุรกิจก็ลองนึกไปถึงบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของโลกนั้น   ถ้าจะเข้ามาแข่งขันกับร้านค้าปลีกที่ยึดทำเลและมีธุรกิจที่แข็งแกร่งในเมือง ไทยก็จะเห็นภาพชัด  นั่นก็คือ  บริษัทระดับโลกนั้นไม่ได้มีทรัพยากรในท้องถิ่นไทยพอ   ดังนั้นถ้าเข้ามารบหรือมาแข่งขันก็จะแพ้ตามกฎของสงครามข้อนี้    ซึ่งประวัติศาสตร์ก็บอกเราตลอดเวลาว่า   ประเทศที่ใหญ่โตเป็นมหาอำนาจอย่างอเมริกาก็ไม่สามารถรบชนะเวียตนามในสนามรบ ประเทศเวียตนามได้ทั้งนี้เพราะอเมริกาไม่สามารถระดมทรัพยากรเข้าไปในป่าดง ดิบได้   เช่นเดียวกัน  เราเห็นบริษัทระดับโลกที่พ่ายแพ้ต้องถอนตัวออกจากประเทศที่กำลังพัฒนามากมาย ทั้ง ๆ   ที่บริษัทท้องถิ่นมีขนาดที่เล็กกว่ามาก


     กฎข้อที่สองของสงครามนั้น   เรามองเฉพาะในกรณีที่  ทำเลของกองทัพแต่ละฝ่ายเสมอกันและกองทัพเข้าประจัญบานกัน   แต่ในสงครามนั้นมีเรื่องของชัยภูมิและการเป็นฝ่ายรุกที่ต้องเคลื่อนไหวหรือ เป็นฝ่ายตั้งรับที่สามารถตระเตรียมและยึดชัยภูมิที่ดีกว่าไว้หรือไม่   ดังนั้น  กฎข้อที่สามของสงครามก็คือ  ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายที่รุกรบ   และถ้าฝ่ายที่รุกต้องการชนะสงครามก็จะต้องใช้กำลังพลหรืออำนาจการยิงเป็นสาม เท่าของฝ่ายที่ตั้งรับ   กฎข้อนี้ถ้านำมาประยุกต์กับการแข่งขันทางธุรกิจก็คือ  บริษัทที่สามารถสร้าง  ฐาน  ได้ในระดับหนึ่งหรือกลายเป็นผู้นำในธุรกิจหนึ่งแล้วก็จะเป็นเรื่องยากสำหรับ คนที่จะเข้ามาแข่งขัน   เพราะถ้าคนใหม่จะเอาชนะได้นั้น   ไม่ใช่แค่ว่าจะมีอำนาจการยิงหรือทรัพยากรที่เหนือกว่าเท่านั้น  จะต้องมีเหนือกว่าหลายเท่าถึงจะเอาชนะได้     แต่นี่ก็คงต้องมองไปถึงสนามรบด้วยว่าโดยธรรมชาติของมันเป็นสนามที่สามารถ  “ตั้งค่ายหรือมี  “คูเมือง”  ป้องกันข้าศึกได้หรือไม่   ถ้าไม่มี  ฝ่ายรุกก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีทรัพยากรเป็นสามเท่าถึงจะเอาชนะได้  และนี่นำเรากลับไปที่กฎข้อที่หนึ่งของสงครามที่ว่าเราต้องวิเคราะห์สนามรบ และชัยภูมิว่ามันเป็นป่าเขา  ลุ่มน้ำ  หรือที่ราบ

        ในสนามรบที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่นั้น   ผู้ชนะส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัย  ฝีมือและความสามารถของทหารรวมถึงกลยุทธ์ที่แม่ทัพใช้  ในบางช่วงบางตอนก็จะมีผู้ชนะที่เกรียงไกรสามารถครองพื้นที่กว้างขวาง   ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ก็อาจจะเป็นนักรบบนหลังม้าอย่างเจ็งกิสข่าน  อย่างไรก็ตาม  การรบ  “บนหลังม้า”  นั้น  พวกเขาก็ไม่สามารถยึดชัยภูมิที่ดีและสร้างป้อมค่ายที่จะป้องกันข้าศึกใน อนาคตได้   ดังนั้น  ก็เป็นการยากที่กองทัพแบบนี้จะสามารถชนะต่อไปยาวนาน   ซักวันหนึ่งก็อาจจะมีคนที่เข้ามาต่อสู้และเอาชนะได้ในที่สุด   นี่ก็เปรียบเสมือนกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมบางอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสินค้า โภคภัณฑ์หรือสินค้าที่ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบในด้านของขนาด  หรือความได้เปรียบในด้านอื่น ๆ  ได้อย่างถาวรเพราะคู่แข่งสามารถเลียนแบบความสำเร็จได้  ในธุรกิจแบบนี้   ผู้ชนะก็มักจะเป็น ผู้ชนะชั่วคราวราคาหุ้นที่ขึ้นไปก็มักจะเป็นการขึ้นชั่วคราว   ดังนั้น  ถ้าเราเลือกที่จะลงทุน   เราก็จะต้องรู้ว่าจะ  “ออกเมื่อไร  มิฉะนั้น  เราอาจจะขาดทุนได้


         ประเด็นสุดท้ายก็คือ  เรื่องของธุรกิจนั้นก็เหมือนกับสงครามที่อาจจะมีผู้ชนะหลายรายเช่นเดียวกับ ผู้แพ้จำนวนมาก  และผู้ชนะเองก็อาจจะเป็นศัตรูหรือเป็นมิตรกันได้   ประเด็นสำคัญก็คือ  ผู้ชนะมักเป็นผู้ที่ทำลายฝ่ายผู้แพ้และอาจจะสู้กันเองด้วย  ในเรื่องของธุรกิจก็เหมือนกัน  กระบวนการแข่งขันนั้น  ผู้ที่อ่อนแอจะถูก  “กลืน”  ก่อน  จนกว่าผู้อ่อนแอจะหมด  ผู้ที่แข็งแรงและ ชนะ”  จึงจะหันมาต่อสู้กันตรง ๆ

Wednesday, February 26, 2014

VI เทคนิคการค้นหาหุ้นดี ราคาถูก จอห์น เนฟฟ์ John neff



ติดตามหุ้นที่ราคาลดลงทุกวัน

           จอห์น  เนฟฟ์แนะนำว่าให้คอยจับตาดูราคาหุ้นในช่วงที่ตลาดขาลง ลองดูว่ามีหุ้นตัวไหนที่ทำสถิติราคาต่ำกว่าที่เคย (New Low) ลงมา 2-3 วัน  และมีราคาใกล้เคียงกับราคาต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์  โดยเราอาจจะตั้งเกณฑ์เอาไว้  เช่น  ถ้าราคาลดลง 8-30% หรือมากกว่า  เราคิดว่าหุ้นนี้น่าสนใจและคุึ้มที่จะเข้าไป "วิเคราะห์หุ้นตัวนี้" เพราะนั่นอาจทำให้เราซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีได้ในราคาถูก  และมีโอกาสได้กำไรในอนาคต

ค้นหาบริษัทที่มีคุณภาพ ในยามภาวะเศรษฐกิจหรือธุรกิจคับขัน

           บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ต้องต่อสู้ในโลกธุรกิจกันอย่างไม่หยุดหย่อน   ไม่ว่าในภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองหรือตกต่ำ  ความสำเร็จของธุรกิจอาจมาจากการใช้จุดแข็ง  แก้ไขจุดอ่อนภายในกิจการ  การใช้โอกาสและลดอุปสรรคจากปัจจัยภายนอก  ในช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง  บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากได้อานิสงส์จากผลบวกของปัจจัยภายนอก  การทำธุรกิจจึงไม่ค่อยลำบากมากนัก  แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ หลายๆ บริษัท (ที่ยามปกติมีปัจจัยพื้นฐานดี) ก็ต้องพยายามขวนขวายเอาตัวรอด  ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ มากมาย  ซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่าจะผ่านวิกฤตไปได้หรือไม่  แต่นักลงทุนอาจไม่มั่นใจกับภาวะการณ์หรือไม่ทันได้สังเกตจุดที่น่าสนใจของบริษัทนั้นๆ จึงแห่ขายหุ้นออกไป  จนทำให้ราคาหุ้นตกไปอย่างมาก

            จอห์น  เนฟฟ์ เล่าประสบการณ์จากกรณีบริษัท Owens Corning ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟเบอร์กลาสรายใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1980 โดยในปี 1986 บริษัทแห่งนี้ป้องกันตนเองจากการถูกซื้อกิจการ  โดยกู้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น  และออก Stub Shares เพื่อแทนสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม  การปรับโครงสร้างใหม่นี้ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุลติดลบ  มูลค่าตามบัญชีต่ำกว่าศูนย์  ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจ  เทขายออกมา  จนทำให้ P/E ต่ำ เหลือประมาณ 5.5 เท่า  แต่กองทุน Windsor คาดว่าอุตสาหกรรมไฟเบอร์กลาส์ยังไปได้ดี  รายได้และกำไรในอนาคต  น่าจะช่วยลดภาระหนี้ได้  แม้จะยังไม่สามารถจ่ายปันผลได้ในปัจจุบัน  แต่ถ้าระดับส่วนของผู้ถือหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นในภายหลัง  จะทำให้กลับมาจ่ายเงินปันผลได้ผลที่เกิดจริงหลังจากนั้น  คือ บริษัทเริ่มมีกำไรในปี 1991 และกองทุน Windsor ขายหุ้น Owens Corning ไปในราคา 2 เท่าของราคาทุนในปี 1993

ค้นหาบริษัที่ดีที่ถูกจำแนกผิดประเภท

         บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  จะถูกจำแนกเข้าอยู่ในหมวดอุตสาหกรรม (Industry) ใดอุตสาหกรรมหนึ่ง  เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกลงทุน  การกำหนดประเภทของอุตสาหกรรมที่บริษัทจะเข้าไปอยู่ อาจพิจารณาจากลักษณะของผลิตภัณฑ์  ธุรกิจ  และข้อจำกัดที่อาจไม่สามารถเปิดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เหมาะสมกว่าได้  เราอาจใช้จุดนี้ในการค้นหาหุ้นดีที่ถูกจำแนกผิดประเภทได้

         จอห์น  เนฟฟ์  มีประสบการณ์จากการลงทุนในหุ้น Bayer AG ในช่วงปลาย 1990 ซึ่งขณะนั้น หุ้น Bayer ถูกจัดให้อยู่ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์  ทั้งๆ ที่รายได้ 1 ใน 3 มาจากผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ  ในขณะที่ 8%  มาจากเคมีเกษตร และ 13% มาจากเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพ  ซึ่งสรุปโดยรวมว่า  รายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของ Bayer ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยตรง  ต่อมาภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ  ส่งผลให้หมวดอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีราคาหุ้นตกต่ำด้วย  ราคาหุ้น Bayer ลดลงถึง 35% ตอนที่กองทุน Windsor เข้าไปซื้อหุ้น Bayer P/E ของ Bayer มีค่าประมาณ 6 เท่า  จากการที่โครงสร้างรายได้ของ Bayer ไม่ผันผวนมากตามวงจรเศรษฐกิจ  เมื่อเศรษฐกิจกลับมารุ่งเรืองผลประกอบการที่กลับมาดี  ส่งผลให้ราคาหุ้นกลับมาเิ่พิ่มในปี 1993 กองทุน Windsor ได้กำไรจากการขายหุ้น Bayer สูงกว่าตลาด

มองหาบริษัทที่จะลงทุนจากเพื่อนบ้าน

         โอกาสหาหุ้นดีๆ มีอยู่สม่ำเสมอ  จอห์น เนฟฟ์  แนะนำวิธีหาบริษัทจดทะเบียนดีๆ ที่มีผลิตภัณฑ์วางขายอยู่ในศูนย์การค้า  หรือจะพูดคุยกับพ่อค้าปลีกแถวบ้าน  หรือฟังความเห็นของวัยรุ่น  จึงจะรู้ว่าตลาดนิยมบริโภคอะไร  ของใคร ตัวอย่างการลงทุนกรณีของ Windsor คือ เฝ้าติดตามหุ้นของ Pier One Imports ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสินค้าเกี่ยวกับบ้านชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น เฟอร์นิเจอร์  ตะกร้า  หมอน  วัสดุปูพื้น  เป็นต้น  แต่ P/E ของหุ้นนี้ ในขณะนั้นสูงเกินไป  แม้ว่าจะมั่นใจในธุรกิจก็ตาม  กองทุน Windsor รอคอยจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ Black Monday ในเดือนตุลาคม ปี 1987 ตลาดหุ้นตกต่ำ  กองทุน Windsor เข้าซื้อ Pier One Imports ในปี 1989 ขณะที่ P/E มีค่าประมาณ 8 เท่าเท่านั้น  ไม่ค่อยมีนักลงทุนมองเห็นกำไรต่อหุ้นของ Pier One Imports ว่ากลับมาเพิ่มขึ้นถึง 47% ในปี 1988 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 25% ในปี 1989 ผลลัพธ์ก็คือ  กองทุน Windsor สามารถได้กำไรจากการขายหุ้น Pier One Imports เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวภายในเวลา 6 เดือนหลังจากนั้น

พัฒนาความคิดเห็นเป็นลำดับขั้น

       จอห์น  เนฟฟ์ เห็นว่าการลงทุนไม่ใช่ธุรกิจซับซ้อน  แต่คนทำให้ซับซ้อนเอง  เราควรเรียนรู้โดยการพัฒนาความคิดเห็นให้เป็นลำดับขั้นตอน (Curbstone Opinions) โดยตั้งข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์จากข้อมูลทั่วไปของบริษัท  อุตสาหกรรม และภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อบริษัที่เราสนใจอยู่  ซึ่งอาจจะตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ เช่น
  • อะไรที่ทำให้บริษัทมีชื่อเสียง (และจำทำชื่อเสียงได้ต่อไป) ?
  • ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตหรือไม่?
  • บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหรือไม่?
  • แนวโน้มของการเติบโตของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร?
  • ผู้บริหารมีภาวะผู้นำในเชิงกลยุทธ์หรือไม่?