Tuesday, March 29, 2016

บทเรียนการลงทุนจาก WW II / โดยดร.นิเวศ เหมวชิรวรากร


ผมจำไม่ได้ว่าเริ่มสนใจศึกษาและรู้สึก “หลงใหล” กับการอ่านเรื่องของสงครามโลกครั้งที่สองหรือที่มักเขียนเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษว่า WW II (World War II) ตั้งแต่เมื่อไร  รู้แต่ว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ผมกลายเป็นนักลงทุน VI ที่มุ่งมั่นประมาณ 20 ปีมาแล้ว  ภาพยนตร์และสารคดีที่เกี่ยวกับหรืออิงกับสงครามโลกครั้งที่สองเกือบทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องที่ผมอยากชม  หลายเรื่องไม่เกี่ยวกับการรบแต่เป็นเรื่องของชีวิตในช่วงสงคราม เช่น เรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีก็กลายเป็นหนังที่ผมชอบดูไปด้วย  เหตุผลที่ผมชอบนั้นส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ  สงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นสงครามที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์และได้เผยให้เห็นพฤติกรรมและธาตุแท้ของมนุษย์ถึงแก่น  และในเหตุการณ์นั้น  คนแต่ละกลุ่มหรือชาติได้ใช้สรรพกำลัง ความคิด และอารมณ์ขั้นสูงสุดที่จะ “เอาชนะ” เพื่อที่จะดำรงความเป็นมนุษย์ที่สูงที่สุดหรือดีที่สุดของตนเองและเผ่าพันธุ์ของตนเอง  ดังนั้น  การเรียนรู้เรื่องของ WW II น่าจะทำให้เราเข้าใจเรื่องของมนุษย์และสังคมมากมายอย่างที่หาได้ยากจากเรื่องอื่น ๆ

บทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่สองนั้น  ผมคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ได้กับเรื่องของการต่อสู้และการแข่งขันได้เกือบทุกเรื่อง  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องของธุรกิจและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนยอดของธุรกิจ  และต่อไปนี้ก็คือบทเรียนบางประการจากสงครามที่ผมอยากนำมาพูดถึง

เรื่องย่อที่สุดของ WW II ก็คือ  เยอรมันเริ่มก่อสงครามโดยการบุกยึดครองยุโรปตะวันตกเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศษได้สำเร็จในเวลาอันสั้น  กลยุทธ์ก็คือการรุกรบอย่างรวดเร็วแบบสายฟ้าแลบนำโดยรถถังแพนเซอร์ที่ทรงประสิทธิภาพและทหารที่มีความสามารถยอดเยี่ยมที่ถูกเตรียมการอย่างดีโดยการบังคับและการ “ล้างสมอง” ประชาชนโดยพรรคนาซีที่ได้เข้ากุมอำนาจเด็ดขาดในรัฐบาล  วัตถุประสงค์ของนาซีก็คือการที่จะเข้าครอบครองประเทศและทรัพยากรแทบทั้งหมดในยุโรปโดยคนเยอรมัน  พันธมิตรหลักของเยอรมันที่เรียกว่าฝ่ายอักษะที่สำคัญก็คือ  อิตาลีที่นำโดยมุสโสลินีผู้เผด็จการฟาสซิสที่หวังครอบครองยุโรปบางส่วนและอาฟริกา  และญี่ปุ่นที่นำโดยกลุ่มทหารที่ต้องการครอบครองเอเชียเพื่อความมั่งคั่งของญี่ปุ่น

ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ทำสงครามต่อต้านฝ่ายอักษะที่สำคัญก็คืออังกฤษ สหภาพโซเวียตรัสเซีย อเมริกาและประเทศประเทศหลัก ๆ  ของโลกแทบจะทุกประเทศ  ส่วนหนึ่งเพราะประเทศเหล่านั้นมีความเกี่ยวดองกับอังกฤษในฐานะประเทศอาณานิคมหรืออดีตอาณานิคม  ดังนั้น  ถ้าจะว่าไปแล้ว  จำนวนคนและทรัพยากรของฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมากกว่าฝ่ายอักษะหลายเท่าแม้ว่าในช่วงเริ่มต้นของสงครามประเทศเหล่านั้นจะยังไม่มีความพร้อมอะไรเลยเนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่สามารถบังคับหรือล้างสมองให้คนเตรียมเข้าสู้รบ

หลังจากความสำเร็จในการยึดครองฝรั่งเศสและยุโรปเกือบทั้งหมด  เยอรมันก็บุกรัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ หนาวเย็นมากในฤดูหนาวและมีคนจำนวนมาก  เยอรมันคิดว่ากองทัพรัสเซียอ่อนแอมากและน่าจะสามารถยึดได้ในเวลาอันรวดเร็วและไม่ได้ “เผื่อ” สถานการณ์ที่ “ไม่คาดฝัน” อะไรเลยรวมทั้ง “ดูแคลน” คนรัสเซียว่าด้อยความสามารถ  อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่เยอรมันจะชนะนั้น  ภาวะอากาศที่หนาวเย็นและการบังคับให้ทหารต่อสู้จนตัวตายโดยสตาลินซึ่งเป็น “เผด็จการสังคมนิยม” ก็ทำให้เยอรมันต้อง  “ติดหล่ม” ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทุกชาติโดยเฉพาะรัสเซียมีเวลาระดมสรรพกำลังและต่อสู้จนได้ชัยชนะในที่สุด  โดยที่ญี่ปุ่นเองนั้นก็มีเรื่องราวหรือชะตากรรมแบบเดียวกับเยอรมันที่ชนะในช่วงแรกแต่สุดท้ายก็ถูกอเมริกาที่ใหญ่กว่ามากถล่มจนยับเยิน

บทเรียนแรกที่ผมคิดว่าเราสามารถนำมาใช้กับธุรกิจและการลงทุนก็คือ  ในสงครามนั้น  เยอรมันรบโดยไม่ได้ปฏิบัติตาม  “กฎของสงคราม” โดยเฉพาะกฎที่ว่าผู้ชนะนั้นคือผู้ที่มีทรัพยากรมากกว่าในสนามรบและกฎอื่น ๆ   หลายครั้งโดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  ของสงครามนั้น  ฮิตเลอร์บัญชาการรบเองและมีความเชื่อมั่นในความสามารถและความแข็งแกร่งของกองทัพมากเกินไปจึงสั่งการในแบบที่ผิดกฎของสงครามมากโดยไม่ฟังแม่ทัพนายกองที่ทักท้วง  ผลก็คือความพ่ายแพ้  ในการลงทุนก็เช่นกัน  ผมคิดว่ามี “กฎเหล็ก”  ของการลงทุนหลายอย่างที่เราไม่ควรฝืน  อย่าไปคิดว่าเราแน่หรือคิดว่าครั้งนี้มีข้อยกเว้นและเรา “มั่นใจมาก”  เราอาจจะเคยทำสำเร็จได้กำไรมากด้วยการทำผิดกฎหลักของการลงทุน เช่น  การทุ่มลงทุนตัวเดียวเต็มพอร์ต  แต่การทำแบบนั้นก็อาจจะเหมือนกับที่ฮิตเลอร์สามารถชนะฝรั่งเศษในเวลาอันสั้นและไปแพ้จนเป็นหายนะในรัสเซียก็ได้

บทเรียนข้อสองของผมก็คือ  อย่าซื้อหุ้นถ้าไม่แน่ใจว่าจะไม่ขาดทุน  หรืออย่าเข้าสนามรบโดยไม่มั่นใจว่าจะชนะแน่  นี่เป็นสิ่งที่ผมเห็นจากการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอเมริกานั้น  เวลาจะบุกเข้ายึดเมืองหรือประเทศคืนและรุกเข้ายึดครองประเทศฝ่ายอักษะนั้น  พวกเขาจะมีการวางแผนอย่างดีและยอมใช้เวลาค่อย ๆ  “รุกคืบ”  ตัวอย่างเช่น  แทนที่จะบุกเข้ายุโรปทันที  พวกเขากลับเริ่มโดยบุกเข้าทางอาฟริกาเหนือเพื่อที่จะต่อไปที่อิตาลีที่ค่อนข้างอ่อนแอและฝรั่งเศสจนถึงเยอรมัน  เป็นต้น  เช่นเดียวกัน  สหรัฐเองนั้นก่อนที่จะเข้าโจมตีเกาะญี่ปุ่น  อเมริกาค่อย ๆ  ยึดเกาะต่าง ๆ  ในมหาสมุทรเพื่อที่จะ “ตั้งฐาน” ใกล้เกาะญี่ปุ่นเข้าไปเรื่อย ๆ  และในการรบทุกครั้งนั้น  อเมริกาจะทุ่มคนและอาวุธโดยเฉพาะเรือรบและเครื่องบินเข้าไปมากกว่าฝ่ายญี่ปุ่นอย่างน้อย 3 เท่าเพื่อให้มั่นใจว่าชนะแน่

ในแง่ของการลงทุนนั้น  ผมคิดว่าในการซื้อหุ้นเราก็ควรจะต้องประเมินอย่างรอบคอบมาก ๆ  ว่า  โอกาสที่เราจะชนะหรือได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ—ในระยะยาว  อาจจะตั้งไว้ซัก 2-3 ปี  นั้นสูงมาก  ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเราก็จะไม่ซื้อ  เราจะไม่เสี่ยงที่จะซื้อหุ้นเพียงเพราะเราหวังว่าเราจะได้กำไรเร็ว ๆ  ในเวลาอันสั้นแต่ความไม่แน่นอนสูง  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ถ้าดูแล้วมีโอกาสขาดทุนเนื่องจากมีปัจจัยไม่แน่นอนหลายอย่างที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง  เราไม่เอา  เราไม่ต้องการที่จะเข้าไป “ติดหุ้น”  เหมือนอย่างที่เยอรมันเข้าไปติดอยู่ในรัสเซียเพราะกำลังทหารและสรรพาวุธไม่พอเนื่องจากระยะทางเดินทัพนั้นไกลมาก

บทเรียนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ถ้ารู้ว่า “แพ้” ก็ต้องมีกลยุทธ์ในการ “ถอย”  นี่ก็อีกเช่นกัน  เป็นเรื่องของฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าฝ่ายอักษะและรัสเซีย  เหตุผลอาจจะเป็นว่าในประเทศของ “โลกเสรี” นั้น  รัฐมีอำนาจจำกัดในการบังคับพลเมือง  และการสั่งหรือปล่อยให้คน “สู้ตาย” นั้น  ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องไม่ว่าในกรณีใด  ตรงกันข้าม  ฮิตเลอร์มักสั่งให้กองทัพ “ยืนหยัด” สู้ตายทั้ง ๆ  ที่กำลัง “แพ้” ซึ่งทำให้กำลังทหารอ่อนแอลงไปมาก  และที่ยิ่งกว่านั้นก็คือญี่ปุ่นที่ทหารส่วนใหญ่ไม่ยอมแพ้และต้องตายเกือบทั้งหมดในแทบทุกสมรภูมิ   ตรงกันข้าม  กลยุทธ์ในการ “หนี” ของกองทัพอังกฤษเป็นแสน ๆ คน ที่ชายหาดดังเคิร์กข้ามทะเลกลับเกาะอังกฤษ และการ “หนี” ของแมคอาเธอร์จากเกาะฟิลิปปินส์และคำพูดอมตะว่า  “I shall return”  นั้นเป็นกลยุทธ์ที่ดีต่อการรบในเวลาต่อมามาก  และผมก็คิดเช่นเดียวกันว่า  ในการลงทุนนั้น  ถ้ารู้ว่าแพ้  เช่น หุ้นที่เราถืออยู่มีการเปลี่ยนแปลงของพื้นฐานหรือเราคิดว่ามีโอกาสที่จะแย่ลงมากและราคาหุ้นได้ตกลงไปมาก  เราก็อาจจะต้อง “ยอมแพ้”  และ “หนี”  คือขายหุ้นไปแม้จะขาดทุนมาก  เราอาจจะ “ปลอบใจตัวเอง” ว่า  I shall return ได้กำไรจากเงินที่ขายไปและไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นแทนก็ได้

การนำบทเรียนของ WW II มาใช้ในการลงทุนนั้น  เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ว่าที่จริงผมยังนำมันมาใช้ในเรื่องอื่น ๆ  อีกมากรวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม  และการเมือง  ชะตากรรมของชาวยิวและเหตุผลที่มันเกิดขึ้นเตือนให้ผมรู้ว่าโลกนี้มีอันตรายมากมายที่เราต้องตระหนัก  บางสิ่งบางอย่างมันก็เกินจากความคาดคิดได้  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผมมักจะหาคำตอบว่าทำไมสังคมเยอรมันที่ประกอบไปด้วยคนที่มีความสามารถสูงและ “ฉลาด” มากสามารถก่อให้เกิดเรื่องราวทั้งสงครามและการก่ออาชญากรรมแบบนั้นได้  และคำตอบนั้นก็จะกลายมาเป็น  “บทเรียน” ที่ผมจะนำมาใช้คาดการณ์หรือมองว่าสังคมของไทยและ/หรือสังคมของโลก จะไปทางไหนในอนาคตมองจากสถานะในปัจจุบัน

Thursday, March 24, 2016

โอกาสทอง ในการท่องเที่ยว / คนขายของ



ตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เป็นต้นมา มีไม่กี่อุตสาหกรรมในโลกที่ยังคงเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนั้น World Tourism Organization (UNWTO) ได้ประเมินว่าการเดินทางของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ในอัตราปีละ 4% ในช่วงตั้งแต่ปี 2010-2030 ในปี 2015 มีการประเมินว่า มีประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคนที่เดินทางระหว่างประเทศ และตัวเลขนี้จะกลายเป็นสองพันล้านคนในปี 2030 จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในยุคก่อนปี 2000 ที่ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในยุโรปจะเปลี่ยนมาเป็นประเทศในเอเซีย และลาตินอเมริกามากขึ้น

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวจีนมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงมาก และเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลก เมื่อ 15 ปีก่อนมีชาวจีนเพียงแค่ราว 10 ล้านคนที่ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ แต่ในปี 2015 ข้อมูลจาก China Tourism Research Institute ได้รายงานว่านักเดินทางชาวจีนได้เพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่วัย 25-34 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือเพิ่งมีครอบครัว โดย 64% ของผู้ที่เดินทางทั้งหมดเป็นผู้หญิง ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการช็อปปิ้ง

เหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากแรงผลักดันหลักๆสองส่วนคือ หนึ่ง ทางการจีนผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของการเดินไปต่างประเทศมากขึ้น และสอง รายได้ของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง จากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนราว 8,000 บาทในปี 2006 เพิ่มขึ้นเป็น 24,000 บาทในปี 2014 ทำให้ชาวจีนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น นอกจากสองปัจจัยหลักนี้ ยังมีปัจจัยเสริมอีกประการคือ การเดินทางที่สะดวกขึ้น เพราะมีสายการบินทั้ง Low Cost และ Full Service เปิดเส้นทางการบินใหม่ๆเข้าสู่ประเทศจีน CLSA ประเมินว่าจำนวนการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนจะเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 16% ในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่รวมการเดินทางของชาวจีนไปยังฮ่องกงกับมาเก๊า ซึ่งจะโตในอัตราเพียง 3%

สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่าในปี 2015 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขึ้นเป็นประเทศยอดนิยมอันดับหนึ่งของจีน โดยขึ้นแซงอันดับสอง คือเกาหลีใต้ซึ่งเป็นแชมป์ในปี 2014 แบบขาดลอย ตัวเลข นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยเพิ่มจาก 4.6 ล้าน มาเป็น 7.9 ล้าน หรื่อเพิ่มขึ้นถึง 71% ในขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาหลีใต้อยู่ที่ราวๆ 6 ล้านคนต่อปีเหมือนเดิม นอกจากจำนวน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยจะเพิ่มขึ้นแล้ว ยอดเงินค่าใช้จ่ายต่อหัวของชาวจีนยังเพิ่มขึ้นทุกปี จากที่เคยอยู่ที่ราว 4,400 บาท/คน/วัน ในปี 2010 เพิ่มมาเป็น 5,800 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมที่ 5,000 บาทอยู่ 16% แสดงให้เห็นว่าทัวร์จีนกำลังกลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงในอนาคต

จากกระแสการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้สินค้าไทย เช่น ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สปา หรือ ขนมขบเขี้ยว ได้รับอานิสงค์ขายดีไปตามๆกัน แต่ผมคิดว่าในอนาคตยังมีอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่น่าจะขายดี และ เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจีน นั่นคือคอนโดตากอากาศในไทย นักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยในตอนนี้ โดยมากอยู่ในวัยเริ่มทำงาน เป็นวัยที่เพิ่งสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ด้วยค่าจ้างในจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นใน อนาคต และหน้าที่การงานที่จะเติบโตไปตามอายุ เมื่อเขาเหล่านั้นอายุเพิ่มขึ้น กำลังซื้อก็จะเพิ่มสูงขึ้น พอให้สามารถซื้อบ้านหลังที่สองเพื่อการพักผ่อน (Vacation Home) ได้ อย่างในอเมริกาซึ่งเป็นประเทศ ที่ประชากรมีรายได้สูง ยอดขายบ้านหลังที่สองเพื่อการพักผ่อนนั้น คิดเป็นยอดขาย ราว 20% ของยอด ซื้อ-ขายบ้านอยู่อาศัยทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเวลามาถึง ผมเชื่อว่าตลาดนี้จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากเลย ทีเดียว

นอกจากจีนแล้ว นักท่องเที่ยวจากอินเดียก็เป็นอีกตลาดหนึ่งซึ่งน่าจับตามอง ในปี 2014 ชาวอินเดียราว 22 ล้านคน เดินทางไปต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากแค่ 4.4 ล้านคนในปี 2000 ด้วยประชากรทั้งประเทศราว 1,240 ล้านคน ผมเชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจากอินเดียจะยังเติบโตได้อีกมาก แต่คงต้องรอให้รายได้โดยเฉลี่ยของชาวอินเดียเพิ่มขึ้นกว่านี้ เพราะในตอนนี้เงินเดือนเฉลี่ยของชาวอินเดียน้อยกว่าชาวจีนราว 50%

UNWTO คาดว่าการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก จะมีอัตราการเติบโตสูงมากในอีก 15 ปีข้างหน้า หลายธุรกิจที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวของไทยคงได้รับผลดี แต่ใช่ว่าทุกบริษัทๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตดีได้ทุกบริษัท หากสนใจเทรนด์การเติบโตนี้ ก็ขอให้พิจารณาความสามารถในการ แข่งขันเป็นรายบริษัทก่อนตัดสินใจลงทุน

------
อดทนไว้ กำไรยั่งยืน

Wednesday, March 23, 2016

หุ้นแห่งทศวรรษ /โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

   

 ถ้าจะถามผมว่าหุ้นตัวไหนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเวลานี้คือ “หุ้นแห่งทศวรรษ”  ผมคิดว่าคือหุ้น จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือหุ้น  ไม่ใช่เพราะว่าเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด  แม้ว่าในช่วงหนึ่งมันให้ผลตอบแทน “สุดยอด”  แต่เพราะว่า JAS เป็นหุ้นที่ “มีทุกอย่าง” ที่คนเล่นหุ้นหรือนักลงทุนต้องการไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่  เป็นหุ้นยอดนิยมของทั้ง Value Investor ของ “ขาใหญ่”  ในตลาดหุ้น  และของนักเล่นหุ้นและนักลงทุนรายย่อย   เป็นหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงติดอันดับ 1 ใน 10 เกือบทุกวันเป็นเวลาต่อเนื่องมาหลาย ๆ  ปี  เป็นหุ้นที่ทำให้คนบางคนรวยเป็นเศรษฐีและทำให้คนบางคนโดยเฉพาะรายย่อยบางคน  “เจ๊งยับเยิน” และอื่น ๆ  อีกมาก  มาดูกันว่าหุ้นตัวนี้มีเรื่องราวและ  “ดราม่า” มากน้อยแค่ไหนโดยที่ผมเองนั้นจะเขียนจากความทรงจำคร่าว ๆ  ที่ได้รับรู้เกี่ยวกับบริษัทจากสื่อและวงการนักลงทุนที่ผมรู้จัก

หุ้นของ JAS นั้นเริ่มต้นน่าจะเกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์มีสายในต่างจังหวัดผ่านบริษัท TT&T และการให้บริการอื่น ๆ  เกี่ยวกับโทรคมนาคม  ราคาหุ้น JAS นั้นเคยขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 10 บาทต่อหุ้นในช่วงปี 2539 ก่อนปีวิกฤติเศรษฐกิจ  แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ตกลงมาอย่างหนัก  ภายในปีเดียวหุ้นตกลงมาเหลือเพียง 2 บาทเศษ ๆ  หรือลดลงถึงเกือบ 80%   หลังจากการลดค่าเงินบาทในปี 2540 หุ้นก็ตกลงมาอีกจากประมาณ 2 บาทเหลือเพียง 1 บาทภายในเวลาเพียงปีเดียวเช่นเดียวกัน  รวมแล้วหุ้นตกลงมาประมาณ  90%  คนที่ถือหุ้นระยะยาวในช่วงนั้นขาดทุนแทบเป็น “หายนะ”  เหตุผลนั้นนอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว  ผลการดำเนินงานของบริษัทก็แย่มากเนื่องจากสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์ในต่างจังหวัดนั้นขาดทุนหนักเนื่องจากค่าสัมปทานที่สูงมากเกินกว่าที่จะคุ้มค่าเนื่องจากธุรกิจโทรศัพท์บ้านไม่ได้ดีอย่างที่คิด  นอกจากนั้น  โทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนจำนวนมากเริ่มใช้มือถือแทนโทรศัพท์บ้าน

หุ้น JAS หลังจากนั้นก็ “เงียบเหงา” ยกเว้นแต่ในบางช่วงที่ตลาดปรับตัวขึ้นแรงในลักษณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติอย่างเช่นในปี 2542 และ 2546 ที่ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นมา 36% และ 117% ตามลำดับ  โดยที่ราคาหุ้น JAS ที่ปรับตัวขึ้นแต่ละครั้งนั้นสูงขึ้นมาครั้งละถึงประมาณ 3-4 เท่าตัว  จากราคาที่เป็น  “เศษสตางค์”  แต่หลังจากนั้นราคาก็ปรับตัวลงกลับมาใกล้กับราคาเดิมก่อนที่จะขึ้น  ซึ่งน่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าราคาที่ขึ้นมานั้น  มาจากการเล่นเก็งกำไรมากกว่าที่จะเกิดจากพื้นฐานของบริษัทที่น่าจะยังไม่ฟื้นตัว  แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าหุ้น JAS นั้นมีศักยภาพของการเป็นหุ้นเก็งกำไรสูงมากตั้งแต่เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์

ราคาของหุ้น JAS หลังจากปี 2546 ก็ตกต่ำลงและนิ่งอยู่ที่ประมาณ 40-50 สตางค์ต่อเนื่องยาวนานมากเป็นเวลา 7 ปี จนถึงปี 2553  ในช่วงเวลานี้แม้ว่าตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจะมีกำไรมากกว่าขาดทุน  แต่ก็เป็นกำไรที่น่าจะเป็น “ตัวเลข” นั่นคือเกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้และอื่น ๆ  ตัวกิจการเองนั้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์พื้นฐานดูเหมือนว่าจะ “ไปไม่ไหว”  ดังนั้น  หุ้น JAS จึงกลายเป็นหุ้นที่ “โลกลืม”  แต่แล้ว  ผลจากการปรับโครงสร้างและการหันมาเล่นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง “เล็ก ๆ” อย่างหนึ่งนั่นคือธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่บริษัทสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้บริการได้ในต้นทุนที่ถูกก็ทำให้ผลประกอบการของบริษัทเริ่มจะดีขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปสังคมไทยก็เริ่มเข้าสู่ยุคบูมของการใช้อินเตอร์เน็ต  บริษัทก็เริ่มขยายตัวและมีกำไรที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ในต่างจังหวัด

ผลการดำเนินงานของ JAS เริ่มฟื้นตัวในปี 2552 ที่บริษัทมีกำไรประมาณ 200 ล้านบาทเศษหลังจากขาดทุนกว่าพันล้านในปี 2551  อย่างไรก็ตาม  ผลการดำเนินงานที่ชัดเจนว่าโดดเด่นขึ้นจากการดำเนินงานทางธุรกิจจริง  ๆ  นั้นน่าจะเกิดขึ้นในปี 2553 ที่ JAS สามารถทำกำไรได้ถึง 663 ล้านบาท  และก็ในปีนี้เองที่หุ้นเริ่มเป็นที่สนใจของ VI “ชั้นนำ” หลาย  ๆ คนที่ต่างก็เข้ามาซื้อหุ้น JAS กันอย่างหนักในราคาประมาณ 40-50 สตางค์ต่อหุ้นจนกลายเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” และหลังจากนั้น  หุ้นก็ได้รับการ  “ประโคม”  อย่างหนักในสื่อทุกช่องทางโดยเฉพาะในเวบไซ้ต์ของเหล่านักลงทุน VI และเวบไซ้ต์ที่เน้นนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก  “สตอรี่” ของหุ้นก็คือ  มันอยู่ในเมก้าเทรนด์ที่จะต่อเนื่องไปยาวนานนั่นคือ  ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่จะมีการใช้เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด  บริษัทนั้นถึงแม้ว่ายังมีลูกค้าน้อยกว่ารายอื่นแต่บริษัทเป็นเอกชนที่มีความคล่องตัวสามารถเอาชนะคู่แข่งที่เป็นรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่บริษัทมีเครือข่ายที่กว้างขวางอานิสงค์จากการที่บริษัทมีอุปกรณ์ที่พร้อมกว่าคู่แข่งอื่น

ปี 2552 -2555 คิดเป็นเวลา 4 ปี นั้น  คือปีที่ตลาดหลักทรัพย์ไทย “บูมสุดขีด” หลังภาวะวิกฤติซับไพร์มที่เกิดขึ้นในปี 2551  ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น 63%  41%  0% และ 36% ตามลำดับ  แนวความคิดและวิธีการลงทุนแบบ VI ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและนักลงทุน VI ระดับ “เซียน”  รุ่นใหม่เกิดขึ้น  “ทุกวัน”  หลายคนกลายเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี  ทั่วทั้งสังคมต่างก็พูดถึงการลงทุนที่จะสามารถ  “เปลี่ยนชีวิต” ของคนรุ่นใหม่ได้ในเวลาอันสั้นจากการลงทุน “แบบ VI”  หุ้นที่เข้าข่ายเป็น “หุ้น VI”  ต่างก็ปรับตัวขึ้นไปแรงและบ่อยครั้ง  “มโหฬาร”  หุ้นเหล่านั้นจะเป็นหุ้น VI ทุกตัวหรือไม่นั้นเป็นคำถามที่นักวิชาการคงต้องไปหาคำตอบภายหลัง  แต่สิ่งหนึ่งที่ “เซียน VI” ในช่วงนั้นมองหาก็คือ  มันต้องเป็นหุ้นที่  “โตเร็ว”  และยิ่งเร็วยิ่งดี  และหนึ่งในสุดยอดหุ้นในช่วงนั้นก็คือหุ้น JAS

ราคาหุ้น JAS ตั้งแต่กลางปี 2553 ปรับตัวขึ้นมโหฬาร  อานิสงค์จากแรงเชียร์และแรงซื้อจากเหล่า VI  ราคาหุ้นปรับขึ้นไปน่าจะประมาณ 4 บาท หรือเป็นหุ้น  “10 เด้ง” ภายในเวลาปีเดียว  เหตุที่เป็นเช่นนั้นนอกจากพลังจาก VI แล้วยังน่าจะมาจากการผลประกอบการของบริษัทที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมาก  กำไรโตปีละ 30-40% บริษัทเป็นผู้นำในตลาดต่างจังหวัดและรุกคืบขยายตัวเข้ากรุงเทพ  การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นดึงดูดนักเล่นหุ้นรายย่อยเข้า “ร่วมวง”  สถาบันลงทุนบางแห่งก็น่าจะเข้าเล่นด้วย  หุ้น JAS  กลายเป็นหุ้นยอดนิยมที่มีการซื้อขายสูงสุดสิบอันดับแทบทุกวันและบ่อยครั้งเป็นอันดับหนึ่งทั้งที่เป็นหุ้น “ตัวเล็ก ๆ”  ในตลาด  มีนักเล่นหุ้นน้อยคนในตลาดที่ไม่เคยเข้ามาซื้อขายหุ้น JAS  อย่างไรก็ตาม  การขึ้นของหุ้นขนาด 10 เท่าในปีเดียวนั้นน่าจะยากที่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเรื่องของการเก็งกำไรอย่างรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง  ดังนั้น  “เซียน VI”  และเหล่า “VI วงใน” จึงเริ่มขายหุ้น JAS ทิ้ง อย่างรวดเร็ว   ภายใน 6 เดือน  ราคาหุ้น JAS ดิ่งลงจาก 4 บาท เหลือประมาณ 1.5 บาท ลดลงถึง 75%  นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะรายย่อยที่เล่นหุ้น JAS ตาม “เซียน VI” จำนวนมากเสียหายอย่างหนัก  และเข้าไปวิจารณ์ในสื่อสังคมเกี่ยวกับหุ้นว่าตนเอง “ถูกหลอก” ให้เข้าไปรับหุ้นเพื่อให้ “เซียน VI” ขาย  และเรียกเหล่า VI นั้นว่าเป็น  “VI ทมิฬ”

หลังจากหุ้น JAS ปรับตัวลงมาแรงในปลายปี 2554 แล้ว  ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องอาจจะเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างน่าประทับใจ  กำไรของบริษัทเติบโตอย่างมากและก้าวกระโดดจากแค่ 200 ล้านบาทเป็นกว่า 3000 ล้านบาทในปี 2558 หรือโตขึ้นกว่า 10 เท่าเป็นไปอย่างที่ VI กลุ่มนั้นคิด  ราคาหุ้นขึ้นจาก 1.5 บาทกลับมาเป็น 10 บาทหรือเพิ่มขึ้น 5-6 เท่าตัวในช่วงเวลาประมาณปีครึ่งและรักษาระดับราคาอยู่ที่ 7-8 บาทมาจนถึงต้นปี 2558 ก่อนที่จะ “ทิ้งดิ่ง”  อีกครั้งเมื่อเริ่มมี  “ภัยคุกคาม”  จาก “อินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่”  ที่มาจากโทรศัพท์มือถือที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ  และนั่นทำให้บริษัทต้องเข้าไปเล่นหรือเข้าไปประมูลคลื่นวิทยุเพื่อเข้าไปเป็นผู้เล่นในธุรกิจที่ “ใหญ่กว่าตัวเองมาก”

นับจากต้นปี 2558 หุ้น JAS ตกลงมาจาก 9 บาทเหลือไม่ถึง 3 บาทเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ผลจากการที่คนไม่มั่นใจว่า JAS จะไปต่ออย่างไรภายใต้ภาวะ “คุกคาม” จากเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น  มันเป็นความเสี่ยงที่แท้จริงของโลกในปัจจุบัน  เราคงต้องดูต่อไปว่าหุ้น JAS ในที่สุดแล้วจะไปทางไหน  จะสามารถเข้าไปเล่นในธุรกิจมือถือได้หรือไม่และธุรกิจเดิมจะอยู่อย่างไรถ้าพลาดจากธุรกิจใหม่   แต่ระหว่างนี้ผมขอยกให้หุ้น JAS เป็น  “หุ้นแห่งทศวรรษ”  อย่างไม่มีข้อสงสัย

Tuesday, March 22, 2016

เกษียณอายุให้มีความสุข /โดยดร.สันติ กีระนันทน์


เริ่มต้นปีใหม่ 2559ด้วยความหวังใหม่อีกครั้งหนึ่งครับ ทุก ๆ ครั้งที่มีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลใด เราก็อาจจะใช้โอกาสนั้นเป็นกุศโลบายเพื่อเริ่มสิ่งใหม่ ๆ หรือแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดก่อนหน้านั้น ซึ่งก็จะเป็นกำลังใจให้สามารถก้าวข้ามสิ่งบกพร่องและเริ่มสิ่งที่ดีขึ้นเสมอ

ผมมีความคิดว่าในช่วงปีใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างนี้ มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือการคำนึงถึงช่วงเวลาทำงานที่ยังคงเหลือก่อนที่จะถึงเวลาเกษียณจากงานประจำในปัจจุบันนี้ การคิดเช่นนี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำตอนที่เหลือเวลาการทำงานอีกไม่กี่ปี แต่ควรจะทำตั้งแต่เริ่มต้นทำงานด้วยซ้ำไป เพราะยิ่งระลึกถึงเรื่องนี้ได้เร็วเท่าไรก็จะทำให้ระยะเวลาการทำงานยังคงเหลือมากพอที่จะแก้ไขสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้การวางแผนเพื่อให้เกิดอิสรภาพทางการเงินเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากทิ้งเวลาไปนาน ไม่ให้ความสนใจกับการวางแผนการเงินของตนเองเพื่อเป้าหมายการเกษียณอายุอย่างมีความสุข กว่าจะนึกได้ อาจจะเหลือเวลาการทำงานอีกไม่กี่ปี ซึ่งหากมีทรัพย์สินเงินทองไม่เพียงพอหลังการเกษียณแล้ว ก็อาจจะแก้ไขได้ยากแล้ว

ก่อนจะชวนคิดกันเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข ผมอยากจะชวนคุยเรื่องอิสรภาพทางการเงิน หรือ financial freedom อีกครั้งหนึ่ง เพราะอาจจะยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงินหมายความว่ามีเงินมากตั้งแต่ยังไม่เกษียณอายุ ดังนั้นก็สามารถเลิกทำงานได้เลย ซึ่งทำให้ชีวิตมีความเป็นอิสระ ไม่ต้องกังวลใจหรือเหนื่อยยากกับการทำงาน ผมอยากจะแสดงความเห็นว่า การคิดเช่นนั้น มีส่วนถูกอยู่มาก แต่อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะหลายครั้งจะมีคนที่แย้งว่า หากเลิกทำงานไปเลย คิดหรือว่าชีวิตจะมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ายังไม่ได้อายุมากหรือเข้าสู่วัยชราที่จะไม่มีเรี่ยวแรง หากยังมีเรี่ยวแรงดีอยู่แล้วไม่ได้ทำงาน จะเที่ยวไปเรื่อย ๆ หรือใช้ชีวิตไปวัน ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในความไร้ประโยชน์ของชีวิตตนเอง ดังนั้น ความหมายของอิสรภาพทางการเงินก็คือ มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอที่จะไม่ให้ปัจจัยความต้องการทางการเงินนั้น มาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน หลายครั้งที่การตัดสินใจเลือกอาชีพของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น มีเหตุผลของรายได้เป็นเหตุผลหลัก มากกว่าเหตุผลของความชอบและความสุขที่จะเกิดขึ้นกับงานที่ได้ทำ หากเลือกงานด้วยเหตุผลของรายได้เป็นหลักเพียงอย่างเดียวแล้ว ผลที่ตามมาอาจจะทำให้ชีวิตการทำงานเต็มไปด้วยความเครียด ความสุขในชีวิตก็จะหายไปอย่างหน้าเสียดาย ลองคิดดูว่า ในช่วงชีวิตที่ยังเป็นวัยทำงาน (อายุไม่เกิน 60 ปี) เป็นช่วงที่ร่างกายยังมีกำลังวังชา เป็นช่วงชีวิตที่ยังไม่ชอบอยู่นิ่ง หรือพูดง่าย ๆ ว่ายังอยากทำงานอยู่ ซึ่งหากสามารถเลือกงานตามความชอบ โดยไม่ต้องคิดถึงปัจจัยความจำเป็นทางการเงินเป็นปัจจัยหลักแล้ว ก็อาจจะเลือกงานที่ชอบแม้ว่าอาจจะได้รายได้ไม่มากที่สุด หรือมากไปกว่านั้น คนบางคนที่อยากทำงานเพื่อสังคม เมื่อชัดเจนแล้วว่ามีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องขวนขวายหาเงินมากแล้ว ก็อาจจะตัดสินใจทำงานเพื่อสังคม พัฒนาส่วนรวมให้ดีขึ้น อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีความเป็นอิสระทางการเงิน คือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยความต้องการทางการเงินเป็นหลักเสมอไป

การวางแผนทางการเงิน หรือ financial planning นั้น นอกเหนือจากเพื่อวัตถุประสงค์ของการมีอิสรภาพทางการเงินก่อนวัยเกษียณแล้ว ยังทำให้มั่นใจว่า เมื่อเกษียณจากการทำงานประจำแล้ว ก็จะยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่น้อยกว่าช่วงที่ยังทำงานอยู่ การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสองนั้นได้ จะต้องเริ่มคำนึงถึงเรื่องทั้งสองนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน เพราะยิ่งเริ่มต้นวางแผนและปฏิบัติตามแผนได้เร็วเท่าไร ก็จะพบอิสรภาพทางการเงินได้เร็วขึ้น และมั่นใจว่าชีวิตหลังเกษียณแล้วก็จะมีคุณภาพดีด้วย

ความตระหนักรู้ของคนไทยในเรื่องการวางแผนทางการเงิน

ผมได้อ่านงานวิจัยเรื่อง “การเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงิน เพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 40 – 60 ปี” ของคณาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการค้นพบที่น่าสนใจหลายอย่าง อย่างแรกก็คือ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชีวิตหลังเกษียณจากการทำงาน จะอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ถึงรายละเอียดและขั้นตอนการวางแผนของคนเหล่านั้นที่มีความมั่นใจว่าหลังจากเกษียณจากงานประจำแล้ว จะยังใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป กลับเห็นว่า ความเชื่อเหล่านั้นอาจจะเป็นความเชื่อที่มีโอกาสผิดพลาดสูง เพราะกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น มีความผิดพลาดในขั้นตอนการวางแผน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะที่เงินออมไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งข้อผิดพลาดที่พบนั้นมีอยู่ 7 ประการ คือ

1.     เริ่มวางแผนช้า โดยกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น มีเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น ที่เคยวางแผนทางการเงินและคำนึงถึงเป้าหมายเพื่อการเกษียณ โดยที่การคิดถึงเป้าหมายเพื่อการเกษียณนั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่คิดให้ได้ว่า จำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้หลังเกษียณนั้น เป็นเท่าไร หรือที่เรียกว่า retirement sum ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าว จะเกิดจากการออมในแต่ละเดือนจากการทำงาน ดังนั้น ผู้ที่จะมั่นใจได้ว่า หลังเกษียณแล้วจะมีชีวิตที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นคำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องการดังกล่าวนั้น แล้วต้องปฏิบัติตามแผนการออม นอกจากนั้น จากการศึกษาของคณะผู้วิจัย ได้พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น อายุเฉลี่ยของผู้เริ่มต้นการวางแผนคือ อายุ 42 ปี ซึ่งค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับผลการศึกษาที่มีในประเทศอื่น ๆ

2.     มีความมั่นใจเกินควร เรื่องนี้อาจจะขยายความว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น มีจำนวนผู้ตอบสูงถึงร้อยละ 71 ที่มั่นใจว่า คุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียง หรือมีคุณภาพชีวิตดีกว่าปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่คนกลุ่มนี้ยังไม่เคยวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณเลย กลุ่มนี้อาจจะทำเพียง “วางแผนการทำงาน” คือ คิดว่ามีความก้าวหน้าในชีวิตการงานตามขั้นตอน หรือวางแผนที่จะทำงานแต่ละช่วงชีวิตเพื่อให้ได้รายได้ตามเป้าหมาย แต่ไม่ได้คิดเรื่องวัยเกษียณจริง ๆ จัง ๆ และในหลายราย อาจจะเชื่อว่า การวางแผนการทำงานนั้นเพียงพอที่จะมั่นใจได้แล้วว่าหลังเกษียณอายุก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างดีจากเงินออมที่ได้เก็บไว้โดยไม่มีแผน

3.     การวางแผนโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม ในเรื่องนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้น แสดงความเห็นว่า จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงด้วยสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น รวมทั้งไม่เข้าใจถึงปัจจัยสำคัญเรื่องเงินเฟ้อ ว่ามีส่วนบั่นทอนมูลค่าของสินทรัพย์ที่ตนเองได้อดออมหรือลงทุนไว้อย่างไร และจะจัดการอย่างไร เพื่อเอาชนะปัจจัยลบของเงินเฟ้อได้ ขออธิบายข้อผิดพลาดข้อนี้โดยแยกเป็น 2 เรื่องสำคัญนะครับ คือ

เรื่องแรกเป็นการวางแผนที่อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจโดยทั่วไป คือ คิดว่าหากอายุมากขึ้น ก็จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มสัดส่วนขึ้น ผมเข้าใจว่า กลุ่มตัวอย่างคงคิดว่า ในปัจจุบันนี้หากจะลงทุนในหุ้น (ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่ามีความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์อย่างอื่น ซึ่งในฉบับถัด ๆ ไป ผมจะขอแสดงความเห็นด้วยและความเห็นคัดค้านในความเชื่อที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางนี้) จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงต้องรอว่าในอนาคต หากทำงานนานขึ้น มีรายได้มากขึ้นก็จะลงทุนในหุ้นมากขึ้น ซึ่งความคิดเช่นนี้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เพราะในขณะที่ยังรายได้ไม่มากนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นนั้น สามารถทำได้โดยง่าย ไม่ว่าจะลงโดยตรง หรือลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ซึ่งมีทั้งกองทุนรวมหุ้นหรือ equity fund ทั่วไปที่มีให้เลือกลงทุนอย่างหลากหลายพร้อมด้วยข้อมูลที่เพียบพร้อม หรือลงทุนในกองทุนประเภท LTF หรือลงทุนใน RMF ที่มีสัดส่วนของหุ้นค่อนข้างมาก หรืออาจจะเลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทีมีทางเลือก หรือที่เรียกว่า employee choice โดยเลือกประเภทที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นค่อนข้างมาก ก็จะสามารถทำได้ตั้งแต่ยังอายุน้อยหรือรายได้ไม่มากนัก ซึ่งการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น ทำให้หากเกิดความผิดพลาด ก็สามารถแก้ไขได้ เพราะยังเหลือเวลาทำงานอีกมาก แต่หากไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงเมื่ออายุมากแล้ว หากเกิดความผิดพลาดก็ไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ อายุเป็นปัจจัยในการพิจารณาเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากหรือน้อยเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ยังอาจจะมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เช่น การคาดการณ์ถึงความสามารถในการหารายได้ในอนาคต ภาระที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว และปัจจัยอย่างอื่น ๆ อีก หากเรามีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจากการลงทุนเพื่อเกษียณอายุได้ดีขึ้น

ส่วนเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคือ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นตลอดเวลานั้น จะบั่นทอนมูลค่าของสินทรัพย์ที่เราถือครองอยู่ คำว่าเงินเฟ้อ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจยาก เรื่องนี้อธิบายง่าย ๆ คือ ลองนึกถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาช่วงต่าง ๆ นะครับ เรารับประทานก๋วยเตี๋ยวชามละเท่าไร ตั้งแต่เด็ก ๆ ผมรับประทานก๋วยเตี๋ยวชามละ 2 บาท 3 บาท จนเป็นชามละ 5 บาท 10 บาท 15 บาท จนมาถึงชามละ 35 หรือ 40 บาท ในขณะนี้ (ตามร้านก๋วยเตี๋ยวข้างถนนทั่วไปนะครับ) จะเห็นว่าสินค้าที่เรารับประทานหรือใช้งานนั้น มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา ดังนั้น เงิน 20 บาทในอดีตที่มีค่าทำให้เราอิ่มอาหาร 1 มื้อได้ ปัจจุบันไม่สามารถทำให้เราอิ่มได้ แปลว่าหากเราย้อนไปตั้งแต่อดีตที่เห็นว่ามีเงิน 20 บาท ก็ทำให้อิ่มได้ 1 มื้อนั้น และหากเชื่อเช่นนั้นในอดีตว่า เก็บเงินมื้อละ 20 บาทก็พอ มาถึงปัจจุบันก็อาจจะทำให้เรามีเงินไม่พออิ่ม หรือการใช้เงินเพียง 20 บาทต่อมื้อก็จะไม่อิ่มอีกต่อไป หรือคุณภาพชีวิตก็จะแย่ลงด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม ความแพงขึ้นของสินค้าและบริการต่าง ๆ นั้น อาจจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ มูลค่าของเงินเล็กลงเรื่อย ๆ หรือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเองครับ

4.     การประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร เรื่องนี้ คณะผู้วิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่า หลังจากที่เกษียณอายุแล้ว แต่ละเดือนหากมีกระแสเงินสดเกิดขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 34 ของรายได้ก่อนเกษียณ ก็จะเพียงพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่งอัตราส่วนนี้เรียกว่า income replacement ratio เรื่องนี้มีความเสี่ยงมากพอสมควรที่จะใช้ตัวเลขของฝรั่งล้วน ๆ ซึ่งแนะนำว่า อัตราส่วนดังกล่าวนั้น ควรจะมีประมาณร้อยละ 60 – 90 (แล้วแต่ว่ารายได้ก่อนการเกษียณมากหรือน้อยแค่ไหนด้วย) อย่างไรก็ดี อัตราส่วนร้อยละ 34 ก็อาจจะน้อยไปจริง ๆ ซึ่งแสดงว่า คนส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความประมาทในการวางแผนหลังเกษียณ โดยอาจจะลืมไปว่า หลังจากที่เกษียณแล้ว ก็คือเข้าสู่วัยชรานั้น จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้นตามความเสื่อมของร่างกาย นอกจากนั้นยังต้องไม่ประมาทว่า อาจจะมีโรคร้ายที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากต้องการจัดการความเสี่ยงเรื่องนี้แล้ว ก็อาจจะจำเป็นต้องมีการวางแผนประกันชีวิตโดยเลือกแผนประกันชีวิตที่มีการประกันสุขภาพด้วย ซึ่งเรื่องการบริหารความเสี่ยงโดยใช้การประกันชีวิตพ่วงการประกันสุขภาพนั้น ก็จำเป็นจะต้องหาความรู้ในเรื่องดังกล่าวมากพอสมควร

กลับมาคุยเรื่องการประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอีกครั้งหนึ่งนะครับ ทางที่ง่ายที่สุดก็คือ ปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงิน หรือที่เรียกว่ certified financial planner (CFP) ซึ่งเขาจะมีแบบอย่างของการคิดหรือวิเคราะห์ถึงความต้องการใช้เงินในวัยหลังเกษียณ หรือแม้แต่ความต้องการใช้เงินในช่วงชีวิตก่อนวัยเกษียณด้วยซ้ำไป เพราะการทราบ “กระแสเงินสดเป้าหมาย” หรือ Target cash flow ดังกล่าวนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยให้การวางแผนการเงินส่วนบุคคล หรือการวางแผนเพื่อการบริหารความมั่งคั่ง (wealth planning) ทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

5.     การประมาณอายุคาดเฉลี่ยน้อยเกินควร หมายความว่า คนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีอายุตลอดชีวิตนั้น น้อยกว่าค่าเฉลี่ยจริง ๆ ด้วยเหตุที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ aging society คือ อายุเฉลี่ยของผู้คนอยู่ในช่วงสูงวัย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีคนแก่มากกว่าเด็ก สาเหตุสำคัญก็คือ วิทยาการในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก ช่วยชะลอวัยได้ดีกว่าในอดีต คนแต่ละคนแก่ช้าลง หรือมีสุขภาพดีขึ้น ตายยากขึ้นกว่าอดีต ดังนั้น การคาดการณ์ว่าจะอยู่ได้หลังจากเลิกทำงานเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าความเป็นจริงนั้น ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้การวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณนั้นมีความผิดพลาด เผื่อเงินออมหรือเผื่อความสามารถในการหารายได้ไว้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่ยังคงดำเนินต่อไปอีกเป็นเวลานาน ผลก็คือ คุณภาพชีวิตในวัยหลังเกษียณลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตอนที่แก่มาก ๆ อาจจะมีค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ และต้องไม่ลืมว่า ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไร โอกาสเจ็บป่วยก็มากขึ้น การคาดหวังการดูแลจากลูกหลานนั้นควรจะเป็นแหล่งสุดท้าย เพราะสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก จากครอบครัวซับซ้อนที่ประกอบไปด้วยคนหลายรุ่นในหนึ่งครอบครัว กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีเพียงพ่อแม่และลูกเท่านั้น และเมื่อลูกโตขึ้น ก็อาจจะแยกครอบครัวออกไปโดยเร็ว ทิ้งให้คนแก่อยู่กันตามลำพัง ทำให้ความคาดหวังการดูแลจากลูกหลานเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อย ๆ


6.     การออมเงินไว้น้อยเกินควร จากงานวิจัยของคณะผู้วิจัยนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ การคำนวณความเพียงพอของความมั่งคั่งหลังวัยเกษียณนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ได้นับเอามูลค่าของสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์เข้าไว้ในการคำนวณด้วย ซึ่งทำให้มองเห็นว่าน่าจะมีความมั่งคั่งเพียงพอเพื่อการเกษียณแล้ว ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจคือ อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย หรือเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ยาก การมีอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากในกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนที่เตรียมไว้เพื่อวัยเกษียณนั้น อาจจะมีความเสี่ยงต่อผู้วางแผน เพราะเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน อาจจะเป็นการยากที่จะขายอสังหาริมทรัพย์นั้นออกไปได้โดยเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันเวลาต่อความต้องการใช้เงินของผู้ออม ดังนั้น การวางแผนการออมเพื่อวัยเกษียณนั้น อาจจะจำเป็นต้องมีทั้งสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดหรือ marketable securities ประเภทต่าง ๆ ตามระดับของความเสี่ยงซึ่งจะมีผลต่อผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นด้วย และควรจะต้องมีสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย แต่มีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิน ส่วนจะมีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทั้งสองประเภทเป็นสัดส่วนเท่าไรนั้น คงต้องคำนึงถึงความต้องการใช้เงินหลังวัยเกษียณเป็นหลัก ประกอบกับประเภทของอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์สภาพคล่องเหล่านั้น ว่ามีอะไรบ้างอย่างละเอียดแยกแยะแต่ละประเภท


7.     การเกษียณอายุก่อนกำหนด เรื่องนี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ คือเรื่องอิสรภาพทางการเงิน กล่าวคือ คนจำนวนหนึ่งที่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน ก็วางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีความมั่งคั่งเท่าไร และเมื่อถึงจำนวนที่ต้องการแล้วก็คิดว่าจะเกษียณอายุก่อนถึงเวลาอันควร ซึ่งหากการคำนวณดังกล่าวมีความผิดพลาด ก็จะทำให้ผู้วางแผนเสียโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังวัยเกษียณไปอย่างน่าเสียดาย ผมจึงพยายามอธิบายเรื่องการเกษียณอายุก่อนถึงเวลาอันควรว่า อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของความต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน แต่ทางที่ดีคือ เมื่อคิดว่ามีความมั่งคั่งเพียงพอแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนอาชีพที่เคยเหนื่อยมากเกินไปเพราะต้องการรายได้มาก ๆ เป็นอาชีพที่ให้ความสุขในการทำงานและได้รายได้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอย่างดีต่อไปจนถึงเวลาที่สมควรจะเกษียณดีกว่า อีกสาเหตุหนึ่งของการเกษียณอายุก่อนกำหนดนั้น ผมพบเห็นจำนวนไม่น้อยว่าคนทำงานเดี๋ยวนี้ เมื่อมีความกดดันมาก ๆ โดยไม่สามารถหาทางออกหรือหาทางผ่อนคลาดความกดดันเหล่านั้นได้ ก็จะตัดสินใจเลิกทำงานโดยขอเกษียณอายุ ทั้ง ๆ ที่ในหลายกรณี เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานมีความเสียดายคนทำงานคนนั้นอย่างยิ่ง แต่เมื่อตัดสินใจเลิกทำงานไปแล้ว หลายคนก็เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ ก็ตัดสินใจลาออกจากงานโดยคิดว่าจะเกษียณก่อนถึงเวลา หลายคนบอกว่าไปตายเอาดาบหน้า แล้วก็ไปตายได้ตามประสงค์จริง ๆ หลายคนก็หลอกตัวเองว่า ไม่เป็นไรหรอก ต่อไปนี้ก็จะอยู่อย่างสมถะ เกษียณตอนที่ยังมีแรงดีกว่าไปเกษียณเอาตอนที่หมดแรงแล้ว เพราะคงไม่สามารถทำอะไรได้ ความเป็นจริงก็คือ แม้จะเกษียณตามอายุที่สมควรแล้ว ก็ยังคงมีแรงทำสิ่งต่าง ๆ ที่อยากทำได้อีกมาก และที่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างสมถะนั้น บางครั้งเป็นสิ่งที่เรากำหนดเองไม่ได้ เพราะอาจจะมีความต้องการใช้เงินอย่างใหญ่เกิดขึ้นอย่างที่เราไม่ได้คาดการณ์มาล่วงหน้า การเกษียณอายุก่อนกำหนดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง และเป็นความท้าทายต่อชีวิตที่เหลือโดยไม่จำเป็น การแก้ไขความดื้อรั้นในเรื่องนี้ คงต้องว่า “สติ” เท่านั้น ที่จะเป็นหนทางของการแก้ไขปัญหาข้อนี้

ชวนคุยเรื่องข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งเป็นผลการวิจัยของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยหอการค้าร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่า การหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาดเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงของคนทั่วไป เพียงทำความเข้าใจตัวเอง และทำความเข้าใจถึงเครื่องมือที่จะช่วยในการลงทุนและการออม โดยเข้าใจลักษณะของเครื่องมือเหล่านั้น เข้าใจเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนในเครื่องมือเหล่านั้น ก็จะสามารถวางแผนและออกแบบการออมเพื่อวัยเกษียณได้โดยไม่ยากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อย่าหลอกตัวเอง คนแต่ละคนมีวิถีการดำเนินชีวิตและดำรงชีวิตต่างกัน ตัวเราเองจะเป็นผู้ที่ตอบตัวเองได้กระจ่างมากที่สุดโดยอาจจะอาศัยประสบการณ์ของผู้อื่น เช่น นักวางแผนทางการเงิน ช่วยให้เราอยู่ในกรอบการวิเคราะห์ที่ง่ายขึ้น

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีการจ่ายสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการหักเงินเดือนส่วนหนึ่งของผู้มีเงินได้ กับเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ แล้วนำไปบริหารจัดการโดยมืออาชีพที่เป็นผู้จัดการกองทุนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซึ่งในที่ทำงานที่เราทำงานนั้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อดูแลการจัดการผลประโยชน์และเลือกนโยบายการลงทุน อย่างไรก็ดี ในอดีตนั้น การเลือกนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในสถานประกอบการแต่ละแห่งนั้น คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะเลือกเพียงนโยบายการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกว่า single policy ซึ่งหากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องการลงทุน และเครื่องมือการลงทุนที่ดีพอ ก็อาจจะเลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่สามารถสร้างหลักประกันหลังวัยเกษียณของลูกจ้างได้ว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนตอนที่ยังทำงานอยู่

ในยุคที่ยังเป็น single policy นั้น ผมเคยได้รับโทรศัพท์ของกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขององค์กรหนึ่ง โทรมาปรึกษาว่า ไหนว่าการลงทุนในตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แล้วทำไมในปีนั้น ผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในองค์กรนั้นจึงมีผลขาดทุนเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงคือในปีนั้น มีการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าของทรัพย์สินที่ลงทุน ซึ่งก็คือตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตดี ๆ นั้น ต้องมีการทำการตีมูลค่าตามราคาตลาดหรือ mark to market ซึ่งก็จะเกิดผลขาดทุนเกิดขึ้น เพราะเมื่อไรก็ตามที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้มูลค่าตราสารหนี้ลดลง (เพราะดอกเบี้ยที่จ่ายโดยผู้ออกตราสารหนี้นั้นคงเดิม เมื่อเทียบกับตลาดซึ่งอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยไม่เพิ่มขึ้นนั้น มีความน่าสนใจน้อยลง จึงทำให้มูลค่าของตราสารหนี้นั้นลดลง) ดังนั้น การที่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เลือกนโยบายการลงทุนที่ลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ เมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเป็นขาขึ้น จึงทำให้กองทุนของตนเองนั้นมีผลตอบแทนที่ลดลงหรือเป็นลบได้เลย หากคณะกรรมการไม่เข้าใจเครื่องมือที่ลงทุนก็จะมีเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นนี่แหละครับ

ยิ่งไปกว่านั้น การมีเพียง single policy ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ไม่ตอบโจทย์ความเหมาะสมของสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับอายุหรือปัจจัยที่กำหนดระดับความเสี่ยงของผู้มีเงินได้แต่ละคน ทางออกที่สำคัญและเป็นสิ่งที่นายจ้างรวมทั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควรจะพิจารณา คือ การกำหนดให้มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างแต่ละคนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองในแต่ละช่วงชีวิตการทำงาน หรือการเปลี่ยนแปลงไปของปัจจัยที่มีผลต่อระดับความเสี่ยงและความต้องการผลตอบแทนของคนทำงาน ซึ่งการกำหนดนโยบายที่หลากหลายนี้เรียกว่า employee choices หรือนโยบายการลงทุนที่มีทางเลือก

ข้อแนะนำสำหรับคนทำงานก็คือ หากสถานที่ทำงานของท่านมี employee choices อยู่แล้ว ควรจะต้องพิจารณาว่า สัดส่วนของสินทรัพย์ในแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร ควรจะมีความหลากหลายตั้งแต่มีสัดส่วนของหุ้นค่อนข้างมาก (หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน) ไปจนถึงสัดส่วนของหุ้นน้อยและเป็นตราสารหนี้ภาครัฐค่อนข้างมาก ซึ่งตามทฤษฎีที่พิจารณาโดยให้ตัวแปรอื่นที่มีผลต่อระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนทนได้มีความนิ่งไว้ จะเห็นว่า หากลูกจ้างมีอายุน้อย ก็ควรจะเลือกนโยบายการลงทุนที่มีหุ้นมาก ๆ เพื่อการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวค่อนข้างมาก และเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ซึ่งเป็นการสะสมความมั่งคั่งมามากแล้ว ก็จะลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงเรื่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของกลุ่มสินทรัพย์ที่ลงทุนเพื่อการเกษียณอายุนั้นลง เพราะในช่วงปลายของการทำงาน ไม่ควรจะมีความไม่แน่นอนกับความมั่งคั่งนั้นมาก เพราะเหลือเวลาในการแก้ไขไม่มากแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า การมี employee choices ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนจัดการกับชีวิตหลังเกษียณได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากสถานที่ทำงานของท่านยังคงเป็น single policy ก็มีคำแนะนำอีกแบบหนึ่งก็คือ ควรจะพูดคุยกับคณะกรรมการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสถานประกอบการให้มีความเข้าใจในเรื่อง employee choices มากขึ้นเพื่อให้เห็นความสำคัญของนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เหมาะสมกับลูกจ้างแต่ละวัย เหมาะสมกับลูกจ้างแต่ละคนที่มีวิถีการดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน การมีเพียง single policy ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตได้ และยิ่งไปกว่านั้นเสถียรภาพของประเทศชาติ เริ่มต้นที่ประชาชนแต่ละคนต้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม หากทำไม่ได้ก็จะกลายเป็นภาระของภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากลองวิเคราะห์ให้ดี อาจจะเห็นได้ว่า ปัญหาของความวุ่นวายในประเทศ มักจะมีพื้นฐานของปัญหาเกิดจากคุณภาพชีวิตของคนในประเทศไม่ดีเท่าที่ควร หากคุณภาพการดำเนินชีวิตของคนในชาติไม่ดี ก็จะเป็นปัจจัยที่ผู้ไม่หวังดีนำมาสร้างความแตกแยกจากความเข้าใจผิดได้ง่ายมาก

เริ่มต้นเป็นเรื่องความคิดคำนึงถึงอนาคตของคนทำงานแต่ละคน มาจบลงด้วยความคิดคำนึงในอนาคตของชาติ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันนะครับ


ติดตามอ่านบทความการลงทุนดี ๆ ได้ที่ www.thaistockvi.com
Facebook : https://www.facebook.com/setvii

Sunday, March 20, 2016

ยูนิคอร์นหมื่นล้าน / โดยคุณวีระพงษ์ ธ้ม



ยูนิคอร์น ไม่ได้หมายถึงม้ามีเขาในเทพนิยาย แต่หมายถึงบริษัทเอกชน ซึ่งมักจะอยู่ในกลุ่ม Tech Startups ซึ่งมีมูลค่า (จริง ๆ คือราคาซื้อขาย) มากกว่า 35,000 ล้านบาท (1 Billion USD) นี่คือความฝันของทั้ง “ผู้สร้าง” “นักพัฒนา” และ “นักลงทุน” ที่จะเป็นเจ้าของยูนิคอร์นหมื่นล้าน จากสถิติของ Venturebeat ปัจจุบันมียูนิคอร์น 229 บริษัท รวมมูลค่าทั้งหมดสูงกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่น่าทึ่งคือเกือบทุกธุรกิจยังไม่มี “กำไร” แม้แต่เหรียญเดียว นี่คือกระแสที่กำลังมาแรงที่สุดอย่างหนึ่งในโลกธุรกิจและการลงทุน เพราะนี่ไม่ใช่หุ้น 10 เด้ง (ราคา 10 เท่าตัว) ตามตำราปีเตอร์ ลินซ์ แต่นี่คือหุ้นผลตอบแทนระดับ 10,000 เด้ง

            ยูนิคอร์นที่โดดเด่น 3 อันดับแรกของฟอร์จูน คือ Uber (อันดับ 1) Xiaomi (อันดับ 2) Airbnb (อันดับ 3) ซึ่งล้วนเป็นยูนิคอร์นที่กำลัง “แปลงร่าง” เป็น IPO เข้าสู่ตลาดหุ้นด้วยมูลค่าสูงลิ่ว ธุรกิจ Airbnb มีราคาซื้อขายนอกตลาดเพิ่มขึ้นถึง 155% ในปี 2015 มูลค่าปัจจุบันประมาณ 25,000 ล้านเหรียญ ถือว่าเป็นธุรกิจโรงแรมที่มี “มูลค่าสูงที่สุดในโลก” แซงหน้าเครือข่ายโรงแรมระดับโลกที่มีสาขานับพันอย่างฮิลตัน (HLT) แมริออท (MAR) ไปอย่างง่ายดาย แม้ว่ารายได้จะโตจาก 250 ล้านเหรียญในปี 2014 เป็น 1,000 ล้านเหรียญในปี 2015 แต่ก็ต่ำกว่าแมริออทที่มีรายได้ 14,000 ล้านเหรียญหลายสิบเท่าอยู่ดี ไม่ต้องพูดถึงกำไร เพราะแผนของ Airbnbคือวางแผน “ขาดทุน” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้เติบโตสู่ระดับ 10,000 ล้านเหรียญในปี 2020

            ยูนิคอร์นกระจายตัวไปในเกือบทุกอุตสาหกรรมทั้งในโลกการเงินหรือ Fintech หรือธุรกิจอาหาร, Healthcare, Logistics หรือการให้บริการต่าง ๆ อย่างเราที่คาดไม่ถึง ประเทศที่มีม้ายูนิคอร์นมากที่สุด คือสหรัฐและจีน ซึ่งมีจำนวนพอ ๆ กัน แม้ประเทศไทยยังไม่มีม้าในเทพนิยายตัวนี้ แต่สำหรับในอาเซียน เรามี GrabTaxi, Lazada และ Garena ที่จดทะเบียนอยู่ในสิงค์โปร์ อย่างไรก็ดีวงการ Startups ไทยก็ได้อิทธิพลมาไม่น้อย ซึ่งเราจะได้เห็นภาครัฐ ธุรกิจ ที่มีความตื่นตัวสูงในธุรกิจสมัยใหม่แบบนี้

            การมาของยูนิคอร์น ไม่เพียงส่งผลภายในวงการลงทุน แต่ยังส่งผลต่อธุรกิจดั้งเดิมอีกด้วย คำว่า Disruptive คือการเกิดใหม่โดยทำลายสิ่งที่ดั้งเดิมออกไปด้วยวิธีที่ “ไม่ธรรมชาติ” เพราะผู้สร้างและนักลงทุนที่เลี้ยง “ม้ายูนิคอร์น” จะมอง “ความเร่งของการเติบโต” มากกว่าผลกำไร ดังนั้นการขาดทุนจึงถูก “อุดหนุน” ด้วยเงินพวกเขา การปลดล็อคเรื่องเงินออกไป ทำให้ลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจในระยะสั้น ตัวอย่างเช่น ถ้า Uber เติบโตด้วยวิธีการปกติหรือ Organic Growth อาจจะช้าหรือไม่มีโอกาสเกิด แต่ด้วยเม็ดเงินมหาศาลจากนักลงทุนที่พร้อมปั้น Startups สู่ยูนิคอร์น ทำให้ Uber สามารถใช้วิธี Subsidize โดยจ่ายเงินให้ “คนขับ” มากกว่าปกติหลายเท่า การขับ Uber จึงเป็นงานไซด์ไลน์ที่ทำเงิน “สูงผิดปกติ” ในขณะเดียวกันก็ลดราคาให้ “ผู้โดยสาร” จนแทบจะใช้ฟรี ผลที่ตามมาคืออุตสาหกรรม Taxi สีเหลืองทั่วเมืองนิวยอร์คอาจจะกลายเป็นแค่ความทรงจำในหนัง

            ดังนั้นกลยุทธ์ธุรกิจแบบดั้งเดิม อาจจะไม่สามารถ “ตอบโจทย์” การแข่งขันในรูปแบบสมัยใหม่ได้ หลายธุรกิจ Startups แม้กระทั่งเป็นยูนิคอร์นแล้วก็ตาม ยังให้บริการ “ฟรี” กับลูกค้า โดยพยายามหาวิธีหารายได้ในรูปแบบใหม่ ๆ ปัจจุบันมียูนิคอร์นเกือบ 30 บริษัทอยู่ในกลุ่ม FinTech ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลง “โลกการเงิน” เดิมอย่างสิ้นเชิง เราไม่จำเป็นต้องโอนเงินผ่านธนาคาร กู้เงินกับธนาคารเหมือนในอดีต ถ้าเราตามข่าวจะเห็นการ “เคลื่อนไหว” อย่างต่อเนื่องของธนาคารเพื่อป้องกันภัยคุกคามจาก Fintech เหล่านี้

            ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่เป็นเดจาวู หรือ “ภาพหลอน” คือภาพนี้คล้ายยุค Dotcom ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ มีมูลค่า (Valuation) สูงลิ่ว ยูนิคอร์นใช้คำว่า Valuation แทนราคาซื้อขาย ทั้ง ๆ ที่สำหรับนักลงทุนนั้น สองสิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน อันที่จริงถ้าการระดมทุนนอกตลาดยังทำได้อย่างต่อเนื่อง หลายบริษัทอาจจะแทบไม่อยากเข้าตลาดหุ้น เพราะอย่าง Facebook เคยมีราคาลดลงจาก IPO เกือบครึ่ง ถ้าผลประกอบการไม่ดี แต่ในกลุ่มยูนิคอร์นผู้คนมองแต่ข่าวดี ความสามารถในการเอาตัวรอดของธุรกิจจึงยังคงเป็นคำถาม เพราะหากไม่มี “เงิน” ของนักลงทุนมาเพิ่มทุนตลอดเวลา ธุรกิจไม่ว่าจะมูลค่ากี่พันล้านอาจจะล้มลงได้ในเวลาสั้น ๆ นี่คือกระแสที่แม้แต่บัฟเฟตต์ยังพูดว่าเขาไม่สนใจในเกมนี้ เพราะราคาสูงเกินกว่าที่เขาจะเข้าใจมัน

            ท่ามกลางกระแส “ข่าวด้านบวก” ในธุรกิจเหล่านี้ ถ้าเราตามข่าวในกรอบเล็ก ๆ จะพบว่า ธุรกิจจำนวนมาก กำลังยากลำบาก การระดมทุนรอบหลัง ๆ มีราคา “ต่ำกว่า” รอบแรก หรือเรียกว่า Down round ยิ่งซื้อช้า ยิ่งถูก เป็นวงจรที่น่ากลัวที่สุดซึ่งทำร้ายธุรกิจที่ต้องการ “เงิน” จากนักลงทุนโดยตรง ยูนิคอร์นที่เคยร้อนแรงที่สุดมูลค่า 2,700 ล้านเหรียญของประเทศอังกฤษเพิ่งล้มละลายไปเดือนที่ผ่านมา Jawbone, Evernote, Tango, Snapchat, Dropbox ก็ต่างประสบปัญหาต้อง “รัดเข็มขัด” ลดพนักงานเพราะประสบปัญหาการเงิน งานเลี้ยงยูนิคอร์นกำลังเริ่มต้น หรือกำลังจบลง เวลาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบ

Tuesday, March 15, 2016

ปัญหาของกลยุทธ์การลงทุน / โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล


คนที่ศึกษาและติดตามเรื่องการลงทุนผ่านสื่อต่าง ๆ  มานานก็จะพบกับ “กลยุทธ์การลงทุน”  หรือ  “เทคนิคในการลงทุน”  มากมายที่มีคน  “นำเสนอ”  หรือ  “บอกต่อ”  ว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีและจะนำไปสู่  “ความสำเร็จในการลงทุน”  โดย  “อัตโนมัติ”  และบ่อยครั้งพวกเขาก็แสดงผลงานและตัวเลขย้อนหลังให้เห็น  หรือไม่ก็ยกประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำมาและได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ  จริงอยู่สิ่งที่ทำหรือกลยุทธ์ที่ใช้อาจจะไม่ใช่ผลตอบแทนสูงสุด  แต่มันก็ให้ผลตอบแทนที่ “ดี” และมี“ความเสี่ยงต่ำ” เสมอ  ดังนั้น  คนที่คิดหรือรู้ว่าตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการลงทุนจริง ๆ จึงสนใจที่จะใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ  เหล่านั้นที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมกับตัวเองที่สุด   แต่ทั้งหมดนั้นจริงหรือไม่?  และมันมีปัญหาอะไรที่อาจจะทำให้กลยุทธ์บางอย่างนั้น  ใช้ไม่ได้จริง ๆ ในทางปฏิบัติ  ลองมาดูกลยุทธ์การลงทุนหลาย ๆ  อย่างที่เราได้ยินบ่อย ๆ

เรื่องแรกก็คือ  การลงทุนระยะยาวในหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดประมาณ 10-12% ต่อปีแบบทบต้น  ดังนั้น  ถ้าเราเลือกหุ้นไม่เป็น  เราก็ซื้อกองทุนรวมอิงดัชนี  เช่น SET50 แล้วก็ถือไว้เรื่อย ๆ  ไม่ต้องทำอะไรไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง  ตัวเลขย้อนหลังซัก 15 ปีของตลาดหุ้นไทยได้แสดงให้เห็นว่าคนที่ทำแบบนี้จะได้ผลตอบแทนทบต้นที่น่าประทับใจถึง ประมาณ 14% ต่อปีรวมปันผล  หรือถ้ามองย้อนหลังไป 41 ปีตั้งแต่ตั้งตลาดหลักทรัพย์  ผลตอบแทนรวมปันผลก็น่าจะยังอยู่ในระดับประมาณเกือบ 10% ต่อปีแบบทบต้น  ประเด็นก็คือ  กลยุทธ์การลงทุนแบบนี้อาจจะได้ผลดีใน“อดีต”  และได้ผลตอบแทนดีเฉพาะ  “บางช่วงเวลา”  เช่น  เวลาที่ตลาดหุ้นตกต่ำมาก ๆ  และหุ้นมีราคาถูกกว่าปกติ  เช่น  เมื่อ 15 ปีที่แล้วที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติและตลาดหุ้นตกต่ำลงมากเหลือเพียง 200 กว่าจุดจาก 1700 กว่าจุด  การลงทุนถือกองทุนรวมอิงดัชนีระยะยาวก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมถึง 14% ต่อปีในเวลา 15 ปี  แต่ถ้าเข้าลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้นสูงสุดในปี 2537 ที่ 1700 กว่าจุด  หรือประมาณ 22 ปีที่แล้ว  การลงทุนในตลาดหุ้น 22 ปีจนถึงวันนี้ก็จะได้ผลตอบแทนน้อยมากประมาณ 2% ต่อปีรวมปันผลแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนอาจจะเถียงว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว  ถ้าเราถือหุ้นระยะยาว  เช่น  อย่างน้อย 30 ปีขึ้นไป  ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยก็น่าจะค่อนข้างดี  โอกาสที่จะแย่นั้นน้อยกว่ามาก  และถึงจะแย่ก็ยังได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ  เช่น  5-6% ขึ้นไป  โดยอาจจะยกตัวเลขของตลาดหุ้นอเมริกาหรือตลาดหุ้นไทยในอดีตมาประกอบ    แต่ในความเห็นผม  ผมคิดว่า “อนาคต”  ต่อจากนี้ก็ไม่แน่ว่าพฤติกรรมผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยอาจจะเหมือนเดิมในช่วง 41 ปีที่ผ่านมาหรือตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงที่ยาวกว่านั้นมาก  เหตุผลของผมก็คือ  ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมานั้นตรงกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วมาก  เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐที่อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจของอเมริกาโตเร็วมากเช่นเดียวกัน  ถ้าเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้โตช้าลงมาก  ตลาดหุ้นไทยก็อาจจะไม่เหมือนเดิม  ดังนั้น  การลงทุนในช่วงเวลาที่หุ้นมีราคาไม่ถูกและอนาคตเศรษฐกิจอาจจะแย่ลง “อย่างถาวร”  การลงทุนระยะยาวในหุ้นก็อาจจะไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีก็ได้  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ  ญี่ปุ่น  ที่ตลาดหุ้นในระยะกว่า 25 ปีที่ผ่านมานั้น  ดัชนีตกต่ำลงจาก สามหมื่นกว่าจุดเหลือเพียงหมื่นกว่าจุด  คนที่ถือกองทุนรวมอิงดัชนีระยะยาวจะเสียหายหนักมาก

กลยุทธ์การลงทุนเรื่องที่สองก็คือ  การลงทุนแบบ  Dollar Cost Average ( DCA )  นี่คือการลงทุนระยะยาวในหุ้นหลายตัวที่เราคิดว่าดี  โดยที่เราจะเก็บสะสมหุ้นเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ  ด้วยเม็ดเงินคงที่ทุกเดือนหรือทุกปีโดยไม่สนใจราคาหุ้นว่าจะขึ้นหรือลง  ถ้าราคาหุ้นขึ้น  พอร์ตเราก็โตขึ้น  ไม่มีอะไรเสียหาย  ถ้าราคาลง  เราก็จะได้หุ้นจำนวนมากขึ้นหรือได้หุ้นในราคาต่ำลง  อนาคตถ้าหุ้นขึ้นปรับตัวกลับขึ้นไป  พอร์ตเราก็จะโตเร็วขึ้น  เพราะจำนวนหุ้นเรามากขึ้นกว่าการขึ้นตามปกติ   แนวความคิดหรือกลยุทธ์นี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า  ถ้าหุ้นดี  ราคาหุ้นในระยะยาวก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น  การทำ DCA มีแต่จะดีและปฏิบัติง่าย    แต่ประเด็นก็คือ  ถ้าหุ้นไม่ดีหรือราคาหุ้นตัวนั้นแพงเกินไปล่ะ  การซื้อหุ้นในแต่ละเดือนหรือแต่ละปีในอนาคตโดยไม่คำนึงถึงราคาหุ้น  โดยเฉพาะหุ้นที่ราคากำลังตกลงมาเรื่อย ๆ  ก็อาจจะไม่ให้ผลดี  ยิ่งถ้า “พื้นฐาน”  ของกิจการกำลังเปลี่ยนแปลงในทางเลวร้ายลงอย่างถาวร  การทำ DCA ก็จะกลายเป็น  “หายนะ”เหมือนกับการ  “ขุดหลุมฝังตัวเอง” แทนที่จะหนีออกจากหลุม  ดังนั้น  การทำ DCA ที่จะให้ผลดีนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าในวันที่เราซื้อหุ้นทุกครั้ง  พื้นฐานของกิจการยัง  “ดีเยี่ยม” เหมือนวันที่เราเริ่มลงทุนในหุ้นตัวนั้น

กลยุทธ์ที่สาม ก็คือการขายหุ้น “ทำกำไร”  บางส่วน  เพื่อ “ลดต้นทุน” ของหุ้น  หรือ “เอาทุนคืนมา”  ดังนั้น  ต้นทุนของหุ้นที่เราถือก็จะต่ำลง  หรือในบางกรณี  “ไม่มีต้นทุนเลย” ดังนั้น  เราก็จะรู้สึกไม่มีแรงกดดันหรือเกิดความเครียดเวลาหุ้นตัวนั้นตกลงมา  เพราะอย่างไรเสียเราก็จะยังไม่ขาดทุน  หรือไม่มีทางขาดทุนเลยเนื่องจากเราไม่มีต้นทุนแล้ว  ที่เหลือก็มีแต่กำไรทั้งสิ้น   นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่หลายคนบอกว่าเขาทำแล้วได้ผลดีมาก  เพราะได้ขายหุ้นไปเอาทุนคืนมาก่อนที่หุ้นจะปรับตัวลงมามาก   แต่ทั้งหมดของกลยุทธ์นี้นั้น  แท้ที่จริงแล้วตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้ว ราคาของหุ้นได้ขึ้นไปมากพอสมควรที่ทำให้เราสามารถขายและ “ล็อก” กำไรไว้และเอาไป  “ลดต้นทุน” หุ้นที่เหลืออยู่  แต่ถ้าไม่ใช่  แทนที่หุ้นจะขึ้นกลายเป็นหุ้นตกลงมา  กลยุทธ์นี้ก็ใช้ไม่ได้  นอกจากนั้น  การขายหุ้นเพื่อ “ลดต้นทุน” โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงพื้นฐานหรือผลประกอบการที่ดีขึ้นเทียบกับราคาก็อาจจะเป็นการ  “ขายหมู”  เพียงเพื่อที่จะทำให้ตัวเอง  “สบายใจ” ว่า  เราจะไม่เจ็บจากการที่ราคาหุ้นอาจจะลดลงในอนาคต  ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่าเราควรจะหาวิธีการอื่นที่ทำให้ตนเองสบายใจโดยไม่ต้องเสียโอกาสหรือประโยชน์จากการลงทุนในหุ้นมากกว่า

กลยุทธ์ที่สี่ที่ผมจะพูดนั้น  อาจจะไม่มีการพูดถึงเป็นเรื่องเป็นราวแต่ผมคิดว่ามีคนทำไม่น้อยก็คือ  การซื้อเมื่อหุ้นลงมาที่  “แนวรับที่แข็งแกร่ง”  ของหุ้นแต่ละตัว  เสร็จแล้วก็รอขายเมื่อหุ้นขึ้นไปในระดับหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนพอสมควร  อาจจะ 5-10%   นี่มักเป็นการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยที่เฝ้าติดตามและอาจจะเคย  “เล่นหุ้น” ตัวใดตัวหนึ่งมาหลายครั้งต่อเนื่อง  หุ้นเหล่านั้นมักจะเป็นหุ้นที่  “แข็งแกร่ง” ไม่ใช่ “หุ้นปั่น” หรือหุ้นขนาดเล็กที่ราคาหวือหวามาก ๆ  ที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะขาดทุนมหาศาล  พวกเขาจะเผ้าดูราคาหุ้นต่อเนื่องมาตลอดและคิดว่าเขาเริ่มจะเห็น “Pattern”  หรือรูปแบบของราคาที่ปรับตัวขึ้นลงและก็อาจจะพบว่าพอราคาลงมาถึงจุดหนึ่งก็จะหยุดแล้วซักระยะหนึ่งก็จะปรับตัวขึ้นไป  อาจจะ 5-10%  ดังนั้น  พอเขาพบว่าหุ้นตัวนั้นปรับตัวลงมาถึงจุดนั้น  เช่น  อาจจะ 10 บาทต่อหุ้น  เขาก็จะเข้าไปช้อนซื้อเพื่อที่จะคอยให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปและเขาสามารถขายทำกำไรได้  ปัญหาของกลยุทธ์นี้ก็คือ  ในวันที่เขาซื้อหุ้นครั้งหลังสุดนั้น   รูปแบบของราคาหุ้นอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีก  หุ้นอาจจะตกลงไปต่ำกว่า 10 บาท  แต่แทนที่จะหยุดเหมือนเดิมมันกลับไหลลงไปถึง 8 บาทและก็อาจจะไม่ปรับตัวขึ้นมาถึง 10 บาทอีกนานมากเนื่องจากพื้นฐานของกิจการอาจจะยังไม่ดีไปอีกนานแม้ว่าบริษัทก็อาจจะยังเป็นกิจการที่ “แข็งแกร่ง”  อยู่เหมือนเดิม

ข้อสรุปของผมสำหรับคนที่ชอบใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ  ที่มีคนบอกว่าดีก็คือ  ในทุก ๆ  กลยุทธ์และทุก ๆ สถานการณ์นั้น  เราต้องวิเคราะห์ว่าพื้นฐานของตลาดและตัวหุ้นแต่ละตัวที่เราเกี่ยวข้องนั้นเป็นอย่างไร  ดีหรือร้าย  ดูว่าดัชนีหรือราคาหุ้นที่เราเห็นนั้น  ถูกหรือแพง  แน่นอนว่าไม่มีใครมีข้อมูลที่สมบูรณ์หรือความสามารถในการวิเคราะห์ที่สุดยอดไม่ผิดพลาด  ประเด็นก็คือ  เราต้องประเมินเรื่องของพื้นฐานและราคาตลอดเวลาและพยายาม  “ประมาณ”  ว่ามันถูกหรือแพงในภาพใหญ่ ๆ  ถ้าดูแล้วมันอยู่ในระดับที่เรามีโอกาสชนะมากกว่าแพ้พอสมควรไม่ว่าในด้านซื้อหรือขาย  เราถึงจะตัดสินใจโดยอิงกับกลยุทธ์ที่เราชอบ  แต่ถ้าประเมินแล้วเป็นทางตรงกันข้าม  เราก็อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้กลยุทธ์ดังกล่าว  สำหรับผมเองนั้น  ผมแทบไม่ใช้เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่กล่าวมาเลย  ผมคิดว่าการลงทุนนั้น  ความยืดหยุ่นสำคัญมาก    มี “กฎเหล็ก” น้อยมากที่ผมจะไม่ยอมผ่าน  หนึ่งในนั้นก็คือ  พื้นฐานเมื่อเทียบกับราคาจะต้องถูกหรือสมเหตุผลในการที่จะซื้อขายหุ้น  ผมไม่ตั้งเกณฑ์อะไรล่วงหน้า

Sunday, March 13, 2016

"Bitcoin & Blockchain" FinTech ที่กำลังเขย่าระบบการเงินโลก /โดยคุณเจษฏา สุขทิศ


บทความฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ บิทคอยน์ (Bitcoin) และบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งจัดเป็น2 ฟินเทค (FinTech) ที่กำลังค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาปฏิวัติระบบเงินตราโลก อาจจะดูซับซ้อนไปบ้างแต่เชื่อว่าเป็นความรู้ที่ควรค่าแก่การศึกษาแน่นอน จะได้ไม่ตกเทรนด์กันนะครับ

ขอเริ่มต้นด้วย Bitcoin ก่อนเลยนะครับ Bitcoin จัดเป็นสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) ที่เกิดขึ้นในปี 2008และเริ่มมีความแพร่หลายในการใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสำคัญที่สุดก็มาจากต้นทุนที่ถูกกว่าในการทำธุรกรรม หากเปรียบเทียบการซื้อขายผ่านบัตรเครดิตซึ่งมีต้นทุนการทำธุรกรรม 2 – 4% ขณะที่ Bitcoin มีต้นทุนการทำธุรกรรมโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 1% ถูกกว่ากันหลายเท่าตัวครับ

นอกจากนี้ความโปร่งใสของ Bitcoin จากการที่ระบบในการขุด Bitcoin เป็น open source คือเปิดเผยและตรวจสอบได้ รวมไปถึงจำนวน Bitcoin ที่มีการกำหนดไว้ชัดเจน 21 ล้านเหรียญ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้ใช้เกิดความชัดเจนว่าอุปทานของ Bitcoin เองจะไม่มากเกินไป ปัจจุบันเริ่มมีร้านค้าทั้ง online & offline เริ่มเปิดให้มีการใช้ Bitcoin ในการทำธุรกรรมมากขึ้นยกตัวยอย่างเช่น Amazon eBay Tesla Expedia เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปัญหาเกี่ยวกับ Bitcoin ที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นไม่น้อยเช่นกัน เช่นกรณีของ Mt.Gox ซึ่งเป็นตัวกลางสำหรับแลกเปลี่ยน Bitcoin ที่มีกรณีทุจริต และทำให้ผู้ถือ  Bitcoin ต้องสูญเสียไปนับร้อยล้านบาท หรือหลายกรณีที่มีการกล่าวหาว่า Bitcoin ถูกนำไปใช้กับธุรกิจใต้ดินต่าง ๆ อย่างยาเสพย์ติด หรือการก่อการร้าย

การเกิดขึ้นของ fintech ซึ่งกำลังเขย่าวงการการเงินโลกในปัจจุบันนั้นรวดเร็วมาก และมีความไม่เสถียรอีกมาก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการค้าที่เกิดทางช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยต้นทุนที่ถูกกว่ามากของการทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin ผมยังมองว่ามีโอกาสไม่น้อยเช่นกันที่วันนึง Cryptocurrency จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเงินตราที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ บล็อกเชน (Blockchain) ก็เป็นอีกส่วนประกอบที่สำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

Blockchain คือระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทั้งหมดของ Bitcoin และอาจรวมไปถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน และสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ อีกในอนาคต เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกรรมการเงินปกติ ที่จะต้องมีตัวกลางคือสถาบันการเงิน หรือสำนักชำระบัญชี แต่ระบบ Blockchain จะไม่มีตัวกลางอย่างที่เคยเป็นมา ยกตัวอย่างเช่นเวลาคนทำธุรกรรมด้วย Bitcoin จะมีรหัส token สร้างขึ้นมาแล้วทำการสื่อสารกับ Blockchain เพื่อทำการตรวจสอบว่า Bitcoin นั้น ๆ คือของจริงหรือไม่ก่อนทีจะมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นจริง

เท่ากับว่า Blockchain คือระบบโครงข่ายในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin หรืออาจลามไปถึงธุรกรรมซื้อขายออนไลน์ทั่ว ๆ ไป ธุรกรรมหลักทรัพย์เช่นหุ้น พันธบัตรในอนาคต หรืออาจรวมถึงเงินตราสกุลต่าง ๆ ที่ตัดตัวกลางซึ่งก็คือสถาบันการเงินต่าง ๆ ออกไป เมื่อตัดตัวกลางออกไปแน่นอนต้นทุนก็ต้องถูกลงด้วย เหล่าสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลาง รวมไปถึงสำนักชำระบัญชีต่าง ๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีอีกในอนาคตได้เลย หากเทคโนโลยีนี้เข้ามาแทนที่

ใช่ครับนอกจากนี้เทคโนโลยีบล็อกเชน ยังอาจถูกนำไปใช้ในงานอื่น ๆ เช่นการเก็บสถิติการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสมากขึ้น การให้ยืม Cloud Storage ระหว่างกัน, ระบบ Peer to peer lending และอื่นๆ  อีกมากมาย ซึ่งล่าสุดแม้แต่เหล่าธนาคารเองก็ตัดสินใจเข้าลงทุนในการทำ Blockchain มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยล่าสุด เหล่าสถาบันการเงินอย่างธนาคาร Citibank , ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ รวมไปถึงบริษัท VISA ก็ได้เข้าลงทุนในบริษัทบล็อกเชนชั้นนำอย่าง Chain.com ไปเรียบร้อยแล้ว

ก็ต้องดูกันต่อไปครับว่าคลื่นเทคโนโลยีทางการเงินครั้งนี้จะเปลี่ยนโลกเราไปขนาดไหน

Friday, March 11, 2016

ส่องสินทรัพย์ / โดย คนขายของ

   

  ตัวเลขสำคัญที่นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้ในการประเมินมูลค่าของบริษัท โดยส่วนมากจะเน้นตัวเลขของกำไรเป็นหลัก แต่ในการประเมินธุรกิจสำหรับการลงทุนในระยะยาว นักลงทุนเน้นคุณค่ามักมองหุ้นด้วยมุมมองของการทำธุรกิจ ซึ่งต้องมีความเข้าใจในตัวบริษัทมากกว่าความสามารถในการทำกำไร การเข้าใจอย่าง ถ่องแท้ถึง “สินทรัพย์” (ASSET) ที่บริษัทใช้ในการประกอบธุรกิจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ ทั้งนี้เพราะสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน จึงเป็นเหตุให้ความมั่นคงและความเสี่ยงของแต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน การประเมินมูลค่ากิจการจึงต้องมีการเจาะลึก ลงไป ถึงจะเข้าใจมูลค่าที่แท้จริง ดังนั้นในบทความนี้จึงขอแบ่งบริษัทตามประเภทของสินทรัพย์ที่ใช้ ประกอบกิจการ ออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

หนึ่ง บริษัทที่สินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมีแนวโน้มที่มูลค่าสูงขึ้นตามกาลเวลา บริษัทพวกนี้มักอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่า, ค้าปลีก หรือ โรงแรม ทั้งนี้เพราะราคาที่ดินและค่าก่อสร้างซึ่งมีแรงผลักดันของเงินเฟ้ออยู่เบื้องหลังทำให้ราคาสูงขึ้น จากสถิติย้อนหลัง อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยน่าจะอยู่ที่ราวๆ 4% ทำให้สินทรัพย์ของบริษัทมีมูลค่าเพิ่มตามไปด้วย ยิ่งบริษัทที่มีสินทรัพย์อยู่ในทำเลที่ดีๆ เช่น ใกล้ระบบขนส่ง หรือ สถานที่ท่องเที่ยว มูลค่าก็จะเพิ่มมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นทวีคูณ ข้อเสียของบริษัทประเภทนี้คือต้องใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์สูง แต่ข้อดีคือบริษัทมักมีมูลค่าสินทรัพย์แฝงในตัวเอง หากวันใดกำไรบริษัทลดลง หรือแย่ขนาดขาดทุน มูลค่าของกิจการจะไม่ผันผวนมากนัก ทั้งนี้เพราะมีมูลค่าของสินทรัพย์ค้ำยันมูลค่าของกิจการอยู่

สอง บริษัทที่สินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามกาลเวลา แต่เป็นสินทรัพย์ประเภทไม่มีตัวตน บริษัทในกลุ่มนี้มักจะได้แก่ บริษัทที่มี แบรนด์, เทคโนโลยี, ฐานลูกค้า และ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง กิจการเหล่านี้มักจะมีค่า PBV ค่อนข้างสูง เนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์ที่ ใช้ในการประกอบธุรกิจเหล่านี้มักจะไม่แสดงอยู่ในงบดุล จึงเป็นการยากสำหรับนักลงทุนผู้ซึ่งเพิ่งเริ่มต้น จะทำการประเมินมูลค่า การอ่านกรณีศึกษาของการควบรวมกิจการในอดีตจะพอให้เห็นภาพโดยรวมได้ อย่างเช่นการที่ Facebook จ่ายเงินถึง 1,000 ล้านเหรียญเพื่อซื้อ Instagram ที่มีจำนวนผู้ใช้งาน 30 ล้านคนในปี 2012 หลังจากที่ Instagrom ก่อตั้งมาเพียง 2 ปี หรือ ในกรณีที่ P&G รวมกิจการกับ Gillette ในปี 2005 ด้วยมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านเหรียญ กล่าวกันว่าราวๆ 50% เป็นค่าแบรนด์ต่างๆ ที่ Gillette ครอบครองอยู่

สาม บริษัทที่สินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าลดลงตามกาลเวลา ตัวอย่างของ กิจการประเภทนี้ได้แก่ บริษัทรถเช่า, สายการบิน, ผู้รับเหมา หรือ โรงงานรับจ้างผลิต เนื่องจากสินทรัพย์ที่ใช้ประกอบธุรกิจเป็นเครื่องจักร ซึ่งมีสภาพและมูลค่าเสื่อมไปตามกาลเวลา ทำให้มูลค่าของกิจการจะอิง กับตัวเลขของกำไรค่อนข้างมาก และหากตัวเลขกำไรเกิดเสียหายขึ้นมา มูลค่าของกิจการจะมีการ ตอบสนองค่อนข้างมากเพราะไม่มีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพเป็นตัวคอยค้ำไว้ และเนื่องจากเครื่องจักรมีการ เสื่อมสภาพ และมีรุ่นใหม่ๆออกมาเสมอ ทำให้กิจการเหล่านี้ต้องคอยลงทุนในสินทรัพย์ใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่ถึงกระนั้นก็ตามยังมีหลายบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่สามารถสร้างมูลค่าของกิจการได้เป็น อย่างดีเพราะมีการบริหารที่เยี่ยมยอด อย่างหุ้นของสายการบิน Southwest Airlines ก็ให้ผลตอบแทน ในรอบ 10 ปี ดีกว่าหุ้นค้าปลีกในอเมริกาบางตัวเสียอีก

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าเน้นการมองหุ้นเสมือนเป็นธุรกิจ ทำให้มักไม่ค่อยดูตัวเลขหรืออัตราส่วน ทางการเงินในแง่มุมใดแง่มุมเดียวเป็นหลัก หากแต่มองออกไปหลายๆด้านเพื่อให้เห็นภาพโดยรวมของการทำธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น การศึกษาบริษัทในแง่ของสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการประเมินมูลค่า นักลงทุนควรศึกษาทั้งภาพรวมของอุตสาหกรรม, คู่แข่ง, ความสามารถ ในการแข่งขัน และ ตัวเลขอัตราส่วนตัวเลขทางการเงินหลายๆด้านประกอบการตัดสินใจ เพราะ “หุ้น” ก็คือส่วนหนึ่งของบริษัท ที่มีคนทำงานจริง มีการขายของและบริการจริง มีกำไรจริง มีขาดทุนจริง จึงมีหลายแง่มุมให้เราต้องศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าที่จะคอยดูแต่ราคาที่วิ่งไปวิ่งมา ราคาหุ้นนั้น หากใครเข้า internet ก็สามารถดูได้ จึงไม่สร้างความแตกต่างอะไร แต่การประเมินมูลค่าที่แท้จริงนั้น เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและทำได้ยาก แต่หากทำได้ก็จะกลายเป็น “ความสามารถในการแข่งขัน” ให้กับ นักลงทุนนั้นๆอย่างแท้จริง

Thursday, March 10, 2016

แข่งกันเป็นนกตัวแรก / โดยคุณวีระพงษ์ ธัม

 

 ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จ สุภาษิตฝรั่งที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ในเรื่องนี้คือ “Early Bird catches The Worm” หรือแปลว่านกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอน (ส่วนนกที่ตื่นสายก็จะไม่มีอะไรกิน เพราะนกที่ตื่นเช้ากินหมดแล้ว) นี่คือความเชื่อหลักซึ่งนำไปสู่กลยุทธ์ทางธุรกิจในเรื่อง First Mover Advantage หรือความได้เปรียบหากเรารีบลงมือก่อน ส่วนการผลัดวันประกันพรุ่งดูเหมือนจะเป็น “ผู้ร้าย” ในทุก ๆ เรื่อง แต่คนมักจะลืมไปว่า Early Bird catches the worm, but the early Worm gets caught แปลว่าหากเรามองอีกมุมหนึ่ง “นกตัวแรก” อาจจะได้กินหนอน ในขณะเดียวกัน “หนอนตื่นเช้า” ก็จะถูกจับกินเป็นตัวแรกเช่นเดียวกัน ปัญหาคือเรามักจะคิดว่าตัวเองเป็น “นกตัวแรก” แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ใช่ “หนอนตัวแรก”

            ธุรกิจในโลกส่วนใหญ่ล้วนประกอบไปด้วยคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้บุกเบิก ผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ลงหลักปักฐานหรือ “ผู้ชนะ” บนความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ คนสองกลุ่มนี้อาจจะเป็นคนเดียวกัน และหลายครั้งกว่ามักจะเป็นคนละคนกัน เช่นถ้าเราพูดถึงผู้คิดค้นโทรศัพท์มือถือคือโมโตโรลา แต่ผู้ชนะคือโนเกียที่ใหญ่กว่าเป็นสิบเท่าในยุคทอง แต่หลังจากนั้นโนเกียคิดค้น Smart Phone เป็นคนแรก ๆ ผู้ชนะกลับเป็น APPLE จนก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ระดับโลก บริษัท Magnavox และอาตาริ คือผู้บุกเบิกเกมคอนโซล แต่นินเทนโดคือผู้ที่มาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ซัคเคอร์เบิร์กนำเอาแนวคิดเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีมาตั้งแต่ปี 1999 มาสร้าง The Facebook ในปี 2004 และกลายเป็นผู้ชนะ เรื่องราวหนึ่งที่เจ็บปวดคือ ผู้ที่คิดกล้องดิจิตอลคนแรกคือโกดัก บริษัทไอคอนของอเมริกา แต่นี่คือบริษัทที่ล้มละลายในเวลาต่อมา คำถามคือ ทำไม Early Bird กลับไม่ได้ประโยชน์ เหมือนผู้ที่ตามมาในภายหลัง

            การเป็น Early Bird อาจจะหมายถึงผู้ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ “ประสิทธิภาพ” เป็นคนละเกมกับ “ความคิดสร้างสรรค์” และประสิทธิภาพสูงไม่สามารถคงอยู่ได้ในระยะยาว หากปราศจากความคิดต่อยอด ความคิดชั้นยอดในโลกมักจะเกิดขึ้นในช่วงท้าย ๆ เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี ใช้เวลากว่า 10 ปี เพื่อวาดรูปโมนาลิซา เขา “ถ่วงเวลา” เพื่อค้นหาวิธีการวาดแสงเงา จนสามารถสร้างมาสเตอร์พีซของโลกขึ้นมาได้ ซิมโฟนีหมายเลขห้าของบีโธเฟนก็ใช้เวลากว่า 4 ปีในการเขียน นี่คือผลของการรอคอยที่สร้างผลต่างมหาศาล คำว่าผลัดวันประกันพรุ่งในภาษาอียิปต์ แปลได้สองอย่าง คือ “ขี้เกียจ” และอีกความหมายหนึ่งคือ “รอจนกว่าเวลาจะเหมาะสม” คนที่ช้าไม่ได้หมายถึงขี้เกียจเสมอไป ถ้าเป็น “การช้าอย่างตั้งใจ” การมีเวลาในการคิดอะไรสิ่งที่ดีกว่า มองเห็นจุดอ่อนของผู้บุกเบิก สามารถเติมเต็มจุดอ่อนเปลี่ยนเป็นจุดแข็งนั้นได้เป็นอย่างดี เหมือนที่ขงเบ้งพูดในศึกผาแดงว่า ทุกอย่างพร้อม แต่เราต้องรอ “ลมบูรพา”

            มองอีกมุมหนึ่งกิจกรรมที่จะได้ผลดีกับการเป็น Early Bird หรือการมี First Mover Advantage นั้น จำเป็นจะต้องควบคู่กับความสามารถในการ “รักษา” หรือ “ครอบครอง” ทรัพยากรที่เราเข้าถึงได้ก่อน เช่นถ้าเราสามารถคิดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา เราต้องสามารถจดสิทธิบัตร หรือทรัพยากรนั้นจะต้องมี “หนึ่งเดียว” หรือ “ขาดแคลน” เช่น ทำเลที่ดีที่สุดในเมือง เหมืองที่มีอยู่แห่งเดียว นอกจากนั้น เราต้องสามารถ “ยึด” ลูกค้าไว้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่นการมี “ตราสินค้า” ที่ผู้บริโภคหลงใหลแบบหัวปักหัวปำ หรือการสร้าง “เครือข่าย” Network Effect มี Switching Cost สูง นั่นหมายถึงลูกค้าที่อยู่ในเครือข่ายเรา ไม่สามารถ “ย้าย” ไปเครือข่ายอื่นได้ง่าย หรือการมีขนาดที่ใหญ่จนมีการประหยัดต่อขนาดที่สูงกว่ามาก เกมเหล่านี้ ผู้มาทีหลังย่อมเสียเปรียบมาก

            ในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้น คนต่างมุ่งหา “ความเร็ว” อยากเป็น “คนแรก” อยากเริ่มต้นยึดหัวหาดก่อน แต่ในที่สุด “เวลาที่เหมาะสม” และ “ความคิดที่ตกผลึก” คือกุญแจสำคัญกว่าในการเป็นผู้ชนะในบั้นปลาย ยุคที่ความคิดถูกคัดลอกง่าย สินค้าถูกเลียนแบบง่าย การเริ่มต้นก่อนไม่ใช่คำตอบที่จะสร้างชัยชนะในธุรกิจ ดังนั้นถ้าทรัพยากรเราน้อยกว่า การเดินเกมช้า อาจจะได้ผลดีกว่า เพราะเราไม่ต้องเสียทรัพยากรในจุดที่ไม่สำคัญ

            สำหรับการลงทุน ผมก็คิดว่าคนส่วนมากคิดว่า “ตัวเองเป็น” หรือ “พยายามจะเป็น” Early Bird เราคิดว่าเรารู้ข่าวนี้ก่อนคนอื่น เราคิดไกลกว่าคนอื่น เราต้องรีบ “ซื้อหุ้น” กว่าหุ้นจะวิ่ง แต่เท่าที่ผมรู้สึกคือจริง ๆ แล้ว นักลงทุนมีแนวโน้มจะกลายเป็น “Early Worm” เสียมากกว่า เช็คลิสต์ที่สำคัญข้อหนึ่งในการลงทุนของชาลี มังเกอร์ คือ “การคิดอย่างรอบคอบ” การรักษาเงินต้นสำคัญที่สุดในการลงทุน เพราะสำหรับนักลงทุน การไม่มี “เงิน” ย่อมไม่สามารถทำอะไรได้เลย อย่าให้ไอเดียการลงทุนมากมายที่มีทั้งโลก ไอเดีย Startups ที่ฟังดูหวือหวา ข่าวต่าง ๆ ในตลาดหุ้น มา “เร่ง” ทำให้คุณกลายเป็น Early Worm ผู้โชคร้าย

วิเคราะห์การลงทุนปี 59 เพื่อให้คุณคิดได้อย่างเซียน


ถือเงินสด รอเก็บ
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแนววีไอ กล่าวว่าสถานการณ์หุ้น เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2558 หุ้นตกลงมา 20% เป็นตลาดหมี ทำให้คนหมดกำลังใจ เพราะหลายปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นจะสร้างผลตอบแทนดี ทำให้มีนักลงทุนเข้ามาเพิ่มจำนวนมาก จึงทำให้นักลงทุนไม่คุ้นเคยสภาวะหุ้นซบเซา และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเตือนเบาๆ เพราะตลาดหุ้นเคยมีเหตุการณ์ตกหนักมาก่อนในอดีต ปีนี้ราคาก็ลงมาอีก เหมือนแมวตกลงมาและดิ้น 3-4 รอบ

เหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นขึ้นไม่มาก เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจที่ผ่านมาโตไม่ถึง 3% ถือว่าไม่ดี และปัจจัยหนึ่งในการเติบโตของเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาเกิดจากการลดภาษีนิติบุคคล แต่ปัจจัยพื้นฐานจริงๆ ไม่ได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

“พื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดีมาหลายปี สถานการณ์ต่างประเทศ และจีนไม่ค่อยดี เป็นการสะกิดเตือน และดอกเบี้ยต่ำขนาดนี้ เม็ดเงินมีน้อย ราคาหุ้นแพงจึงเป็นการปรับตัว”

ดังนั้นสิ่งที่จะเห็นจากนี้ไปตลาดหุ้นจะทรงๆ หลายปี เพราะไทยเข้าสู่ New Normal จะหวังผลตอบแทน 10% ค่อนข้างยาก

“ที่ผ่านมาผมลงทุนหุ้น 99.5% ถือเงินสดไม่ถึง 1% แต่ปีที่ผ่านมาถือเงินสด 20% และปีนี้ถือเพิ่ม 30% ผมถือเงินสดเพื่อรอเก็บหุ้น แต่ต้องให้ราคาต่ำจริงๆ”

ดร.นิเวศน์ เล่าถึงเทคนิคการเล่นหุ้น เลือกหุ้นที่รู้จักธุรกิจและชอบ ติดตามรายได้กำไร เงินปันผลเพิ่มทุกปีหรือไม่ และสิ่งที่เราคาดการณ์ยังเหมือนเดิมในปีต่อๆ ไป ก็ควรจะซื้อ แต่ถ้าปีที่ 1 และปีที่ 2 ผลตอบแทนยังดีอยู่ แต่ถ้าปีที่ 3 และ ปีที่ 4 กำไร ปันผล เริ่มไม่แน่นอน ก็ควรจะขายออกไป แม้ว่าหุ้นดังกล่าวราคาจะปรับตัวขึ้นก็ตาม

จังหวะดี หาของถูก
โสรัตน์ วณิชวรากิจ หรือ เสี่ยเคน กล่าวว่าปีนี้บรรยากาศตลาดหุ้นค่อนข้างเงียบเหงาและเศร้าๆ แต่สภาพเศรษฐกิจไม่ดีเป็นโอกาสให้หาหุ้น Super Stock ราคาถูก จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ดี และเมื่อเจอหุ้นที่ใช่ นักลงุทนควรถือนาน 5-10 ปี เพื่อรอคอยผลตอบแทน ไม่ต้องสนใจตลาดมากนัก เพราะจะมีเหวี่ยงระหว่างทางถือเป็นเรื่องของตลาด

“2 ปีที่ผ่านมาผมหาหุ้นไม่ได้เลย ไม่เจอหุ้นถูกสเป็ก แต่ในที่สุดผมเจอหุ้นตัวหนึ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเทคนิคของผลไม่ดูภาพรวมเศรษฐกิจ แต่จะมองกิจการและมองความสามารถในการทำกำไร ทิศทางธุรกิจไม่เปลี่ยน”

สไตล์การเล่นหุ้นจะเล่นเชิงรุกและเลือกหุ้นตัวใหญ่ และภายใน 7-10 ปี หุ้นที่เลือกจะต้องอยู่ในอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนหุ้นจะมีหลักการ 3 เรื่อง คือลงทุนแล้ว 1.มีกำไร 2.มีความสุข สุขภาพดี และได้ดูแลครอบครัว 3.องค์ความรู้ต้องพัฒนา เพราะถ้านักลงทุนดูพอร์ตมูลค่า 100 ล้านบาท แต่ถ้าผู้เล่นมีความสามารถดูแลได้เพียง 10 ล้านบาท พอร์ตของคุณจะลดตามความสามารถของนักลงทุนที่มี ฉะนั้นการพัฒนาองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

เล่นเทคนิคต้องมีวินัย
วัชระ แก้วสว่าง (เสี่ยป๋อง) เซียนหุ้นแนวเทคนิควิเคราะห์กราฟลงทุน กล่าวว่ากลยุทธ์การเล่นเทคนิคต้องมีวินัยในการเล่นหุ้น แม้เศรษฐกิจจะดูไม่ดีแต่ก็มีกราฟสวยๆ หลายตัว เช่น ธุรกิจยางมะตอย ราคาหุ้น out perform มากๆ ดังนั้นการดูรูปร่างกราฟจะช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น

คนที่เล่นหุ้นด้วยเทคนิคมักจะถูกทดสอบด้วยเหตุการณ์วิกฤติเสมอ ปีนี้จะเป็นปีตัดสินอีกครั้งหนึ่ง และการเล่นแนวเทคนิคใช้ไม่ได้ 100%

“ผมกลัวแรงขายมากที่สุด ถ้ามีก็จะหนี”

วัชระ กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาไม่ใช่เซียนหุ้น ทุกคนที่สำเร็จล้วนมีบาดแผล กว่าจะสำเร็จได้ต้องบู๊ล้างผลาญ ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แต่ขอให้เลือกในทางที่ถนัด หากต้องการสำเร็จต้องมีวินัยและอ่านหนังสือ

“หุ้น คืออาชีพของผม การลงทุนทำให้ต้องเฝ้าทุกวัน”

เรียนรู้โลกของการเงินและการลงทุน ต่อยอดสู่ความมั่งคั่งด้วยตัวคุณเองได้ที่ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ห้องสมุดมีหนังสือดีๆ ด้านการเงินการลงทุนมากมาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มากกว่า 20,000 เล่ม รอให้ทุกท่านได้มาเรียนรู้

ห้องสมุดมารวย ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ แห่งใหม่ บนถนนรัชดาภิเษก ติดกับสถานฑูตจีน เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 21.00 น. เดินทางสะดวกโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ออกประตู 3 ติดตามความรู้ที่น่าสนใจ กิจกรรม และหนังสือใหม่ของห้องสมุดคลิก www.maruey.com

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
เรื่องโดย : นภาพร ไชยขันแก้ว
ที่มา : วารสาร Money&Wealth ฉบับเดือนมีนาคม 2559

Monday, March 7, 2016

หุ้นเล็กโต(ไม่)ไว / โดยดร.นิเวศน์

   

ตลาดหุ้นไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ดูเหมือนว่าจะปรับตัวดีขึ้นมากและดีกว่าประเทศอื่น ๆ  ในเอเชียและในโลกอีกหลายประเทศ  เรียกว่า  “หักปากการเซียน”  หลายคนที่มองว่าปีนี้คงเป็นปีที่ไม่ดีนักเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ  ที่ไม่เอื้ออำนวยทั้งในและต่างประเทศ  นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2559 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณ 7% เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1288 จุดเป็น 1380 จุด ไม่นับรวมเงินปันผล  อย่างไรก็ตาม  การปรับตัวขึ้นของหุ้นในรอบนี้ดูเหมือนว่าจะ  “ไม่ทั่วฟ้า”  เพราะนักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยบ่นว่าเขาไม่ได้กำไรเลย  บางคนยังขาดทุนด้วยซ้ำเพราะหุ้นที่ตนเองถือหรือเล่นอยู่นั้นไม่ได้ขึ้นแถมบางตัวกลับตกลงมาอีก  ดูเหมือนว่าหุ้นที่ขึ้นนั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นหุ้นบลูชิพหรือหุ้นที่มีความแข็งแกร่งที่ก่อนหน้านี้ตกลงมาเนื่องจากเหตุผลหลาย ๆ  อย่างที่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม  เช่นหุ้นพลังงาน  หุ้นแบ้งค์  หุ้นสื่อสารและค้าปลีก  เป็นต้น  ไม่ใช่หุ้นขนาดเล็กที่เป็นหุ้นยอดนิยมของนักลงทุนรายย่อย  ลองมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับ “หุ้นเล็กที่โตไว” ที่เคยเป็นขวัญใจของคนจำนวนมาก

มองจากดัชนีของหุ้นตัวเล็กคือ MAI ในช่วงที่ผ่านตั้งแต่ต้นปีถึง 4 มีนาคม 59 ก็จะพบว่า  ดัชนีแทนที่จะเพิ่มขึ้นกลับลดลงจากประมาณ 523 จุดเป็น 496 จุดหรือเป็นการลดลงประมาณ 5% ไม่นับรวมปันผล  ส่วนต่างจากผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นขนาดใหญ่ก็คือ  -12% ในเวลาแค่ 2 เดือนกว่า  เหตุผลนั้นผมเชื่อว่าเป็นเพราะราคาของหุ้นตัวเล็กนั้น  “แพงมาก”  อย่างที่ผมเคยวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้หลายครั้ง  และแม้ถึงวันนี้ก็ดูเหมือนว่ายังแพงอยู่มากเนื่องจากค่า PE ของหุ้นตลาด MAI ก็ยังสูงถึง 55 เท่า และค่า PB ก็สูงถึง 3 เท่า  เปรียบเทียบกับค่า PE ของตลาดใหญ่ที่ 20 เท่าและค่า PB เท่ากับ1.8 เท่า  โดยที่ปันผลตอบแทนหรือ Dividend Yield ก็ต่ำแค่ 1.62% เทียบกับตลาดใหญ่ที่ 3.37%  ดังนั้น  การที่หุ้นในตลาด MAI  ไม่ไปไหนจึงไม่น่าประหลาดใจในแง่ของราคาหุ้น  แต่หลายคนก็อาจจะยังคิดว่านี่เป็นเรื่อง  “ชั่วคราว”  หลายคนอาจจะคิดต่อว่า  การที่หุ้นขึ้นรอบนี้เป็นเพราะเม็ดเงิน  “Fund Flow” ที่มาจากนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อหุ้นสุทธิหลายพันล้านบาทในช่วงที่ผ่านมาซึ่งทำให้หุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวขึ้นแรง  แต่ถ้ามองในแง่ของกลยุทธ์การลงทุนในระยะยาวแล้ว  หุ้นเล็กก็ยังน่าลงทุนกว่า  เพราะแม้ว่าราคาจะแพง  แต่การเติบโตก็จะสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่มาก  และการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่มาก—เหมือนอย่างที่เป็นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

และนี่ก็นำไปสู่การศึกษาเล็ก ๆ  ของผมว่าในระยะยาวแล้ว  การเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กของไทยนั้น  ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่จริงไหม  ในต่างประเทศเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหรัฐนั้นมีการศึกษาจำนวนมากยืนยันว่าการลงทุนระยะยาวในหุ้นขนาดเล็กนั้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด  คิดแล้วผลตอบแทนของหุ้นขนาดเล็กจะให้ผลตอบแทนเหนือกว่าหุ้นขนาดใหญ่ประมาณ 2-3% ต่อปีแบบทบต้น ซึ่งเมื่อทบต้นเงินไปเรื่อย ๆ  ก็จะทำให้คนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กมีกำไรสูงกว่ามาก  อย่างไรก็ตาม  การศึกษาก็บอกต่อไปอีกว่าการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่มากเช่นเดียวกัน  นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาปีต่อปีนั้น  หุ้นเล็กอาจจะขาดทุนอย่างหนักกว่าหุ้นใหญ่มาก  และบางช่วงเวลาซึ่งอาจจะเป็น 10 ปีเลยที่หุ้นขนาดเล็กนั้นให้ผลตอบแทนที่แพ้หุ้นขนาดใหญ่  ดังนั้น  คนลงทุนในหุ้นตัวเล็กจะต้องใจแข็งและอาจจะต้องมีเงิน  “เย็น”  มาก ถึงจะเหมาะสมที่จะเล่นหุ้นตัวเล็ก  ทีนี้มาลองมาดูกันว่าหุ้นตัวเล็กของไทยจะเป็นอย่างของอเมริกาไหม

สถิติของดัชนีหุ้น MAI นั้นเรามีย้อนหลังไปถึงประมาณเดือนกันยายน 2545 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยได้ผ่านวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดในปี 2540 แล้วและกำลังเริ่มเข้าสู่ยุค “บูม” สุดขีดในปี 2546 ที่ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นปีเดียวกว่า 100%  ในปี 2546 นั้น  ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นถึง 117%  ดัชนีหุ้นตลาด MAI กลับปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าถึง 169%   แต่แล้วในปีต่อมา  ขณะที่ดัชนีตลาดปรับตัวลงในลักษณะที่น่าจะเรียกว่า Correction  หรือปรับลงมาเล็กน้อยหลังจากขึ้นไปสูงมากในอัตรา -14%   ดัชนี MAI กลับทิ้งดิ่งลงมาถึง 45%  นี่แทบจะเรียกว่า  “หายนะ”  สำหรับคนที่เข้าไปเก็งกำไรซื้อหุ้นในยามที่มันร้อนแรงและขึ้นไปมากก่อนหน้านั้น

หลังจากสร้าง “วีรกรรม”  การขึ้นลงของหุ้นที่หวือหวามากตั้งแต่เปิดตลาดใหม่ ๆ    หุ้นในตลาด MAI  ก็มีความผันผวนรุนแรงกว่าหุ้นในตลาดใหญ่มาตลอด  การขึ้นลงปีต่อปีในระดับบวกลบ 40% แทบจะเป็นเรื่องปกติ  เช่นเดียวกับที่ผลตอบแทนปีต่อปีที่แตกต่างจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ถึง 20-30% ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน  โดยเฉลี่ยแล้ว  ผลตอบแทนต่อปีของหุ้นในตลาด MAI ในช่วงประมาณ 13 ปี ที่ผ่านมาเท่ากับประมาณ 23.2%  ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นเท่ากับ  16.7%  ในช่วงเวลาเดียวกัน  ส่วนต่างก็คือประมาณ 6.5%  และถ้าเราดูคร่าว ๆ  แบบนี้ก็อาจจะเข้าใจผิดว่าการลงทุนในหุ้นตัวเล็กนั้นให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า  เพราะแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากความผันผวนสูงกว่า  แต่ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีก็สูงกว่ามาก  แต่นี่เป็นข้อมูลที่  “ลวงตา”

ความเป็นจริงก็คือ  ถ้าเราลงทุนในหุ้นตลอดเวลา  และไม่รู้ว่าปีไหนหุ้นตัวเล็กจะดีหรือปีไหนหุ้นตัวใหญ่จะดี  ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีก็จะไม่เท่ากับค่าเฉลี่ยรายปีดังกล่าว  เราต้องใช้  “ค่าเฉลี่ยรายปีแทบทบต้น”  ซึ่งจะต่างจากค่าเฉลี่ยรายปีแบบธรรมดามาก  ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละปีผลตอบแทนมีความผันผวนมากน้อยแค่ไหน  ยิ่งความผันผวนสูง  ผลตอบแทนแบบทบต้นก็จะต่ำลง  ลองคิดดูว่าถ้าปีแรกเราได้กำไร 100%  จากเงิน 100 บาทกลายเป็น 200 บาท  แต่ปีที่สองเราขาดทุน 50% เงิน 200 บาทก็กลายเป็น 100 บาท  เท่ากับว่า 2 ปี  เราไม่ได้ผลตอบแทนเลย  แต่ถ้าคิดเฉลี่ยแบบธรรมดาจะบอกว่าเราได้กำไร 50% ใน 2 ปี  หรือกำไรปีละ 25% ซึ่งไม่จริงเลย

ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นในช่วงประมาณ 13 ปีครึ่งนับจากเปิดตลาด MAI ถึงวันนี้ก็คือดัชนีปรับตัวขึ้นประมาณ 13% ต่อปี  เมื่อรวมปันผลอีกประมาณ 1.6% ก็จะเท่ากับ 14.6% ต่อปี  ถ้าลงทุน 1 ล้านบาทในต้นปี 2546 ถึงวันนี้เงินก็จะโตเป็นประมาณ 6.3 ล้านบาท  ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นช่วง “ทศวรรษทอง” ของการลงทุนในตลาด MAI  แต่เมื่อดูการเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็พบว่า  ดัชนีตลาดเองก็เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้นถึงปีละ 11.1% และเมื่อรวมปันผลประมาณ 3.4% ก็เท่ากับ 14.5% ต่อปี  เงินลงทุน 1 ล้านบาทจะกลายเป็นประมาณ 6.23 ล้านบาทในปัจจุบัน   เกือบจะเท่ากับผลตอบแทนจากตลาด MAI เหมือนกันและก็ต้องถือว่าเป็น  “ทศวรรษทอง”  ของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน  โดยที่ความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นตัวใหญ่นั้นต่ำกว่าหุ้นตัวเล็กในตลาด MAIมาก

ข้อสรุปของผมก็คือ  ในช่วงเวลากว่า 13 ปีที่มีตลาดหุ้น MAI  นั้น  สิ่งที่เราคิดว่าหุ้นตัวเล็กจะ  “โตไว”  กว่าหุ้นตัวใหญ่นั้น  ไม่จริง  แต่ถ้าบอกว่าหุ้นตัวเล็ก  “เสี่ยงกว่า”  คำตอบก็น่าจะใช่  แน่นอนว่ามีหุ้นตัวเล็กบางตัวที่อาจจะเป็น  “อภินิหาร” โตเร็วมาก  ทำกำไรให้กับนักลงทุนเป็น 10 หรือ 100 เท่า  แต่ก็มีหุ้นตัวเล็กอีกไม่น้อยที่ทำให้คนถือขาดทุนกว่า 90%  การขาดทุนนั้นไม่ทำให้เป็นที่โจษจัน  แต่การทำกำไรนั้นถูกเป่าประกาศออกไปมากมายและนั่นก็ให้เกิด  “ภาพลวง” ที่ว่า  “ถ้าอยากรวยเร็วต้องเล่นหุ้นตัวเล็ก”  แต่โอกาสที่จะรวยเร็วนั้นผมคิดว่ามีน้อยมากถ้าเราไม่ใช่คนที่รู้ดีและมีปัจจัยพิเศษในการเล่นจริง ๆ  ดังนั้น  คำแนะนำของผมก็คือ  ถ้าเราไม่แน่จริง  อย่าเล่นหรือลงทุนในหุ้นตัวเล็ก  โดยเฉพาะที่เขาคุยว่าจะโตเร็ว

เสือสองตัวในถ้ำเดียวกัน /โดย ชาย มโนภาส


คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย ชาย มโนภาส

เป็นที่รู้กันดีว่าสองมหาเศรษฐีนักลงทุนของโลก George Soros และ Warren Buffett ถึงแม้ว่าจะเกิดเดือนเดียวปีเดียวกัน แต่แนวการลงทุนของทั้งสองท่านแตกต่างกันมากทีเดียว Soros นั้นเน้นการเก็งกำไร โดยอาศัยทั้งหลักเศรษฐศาสตร์ การเมืองและจิตวิทยามวลชน แต่ Buffett จะเน้นแนวที่เรียกกันว่า Value Investing

หากหันมาดูพอร์ตลงทุนของทั้งสองจะพบว่า หุ้นที่ Soros ถือมากที่สุดในพอร์ตตอนนี้คือหุ้นสุดยอดบริษัทขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตของจีนชื่อ Alibaba ซึ่งเป็นหุ้นแนวเทคโนโลยี โดยให้น้ำหนักถึง 5% ของพอร์ต แต่ Buffett กลับเลือกที่จะถือหุ้นธนาคาร Wells Fargo ซึ่งโมเดลการทำธุรกิจแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากในอดีต โดยให้น้ำหนักถึง 23% ของพอร์ต ถึงแม้ว่าแนวการลงทุนจะแตกต่างกัน หลังจากศึกษาหุ้นที่ทั้งสองนักลงทุนเอกของโลกถือครองอยู่ ณ สิ้นปี 2014 กลับพบว่ามีหุ้นอยู่ทั้งหมดเจ็ดตัวที่ทั้ง Buffett และ Soros ถือเหมือนกัน ซึ่งในบทความนี้ขอยกมา 3 ตัว เพื่อศึกษาว่ากิจการเหล่านี้มีดีอย่างไร

บริษัทที่หนึ่ง General Motor (GM) บริษัทผลิตรถยนต์ของอเมริกาซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน Buffett ถือ GM อยู่ 1.3% ของพอร์ตในขณะที่ Soros ถือหุ้น GM อยู่ 1.5% ทำไมทั้งสองคนถึงสนใจลงทุนในหุ้นบริษัทรถยนต์แห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่ GM เคยมีประวัติผลประกอบการที่ย่ำแย่?

นักวิเคราะห์ต่างชาติหลายคนประเมินว่า หลังจากการเพิ่มทุนครั้งใหญ่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ฐานะทางการเงินของ GM เปลี่ยนไปอย่างมาก ในตอนนี้ GM มีมูลค่ากิจการ 60,000 ล้านเหรียญ แต่บริษัทถือครองเงินสดไว้ราว 28,000 ล้านเหรียญตั้งแต่ปี 2010 เรื่อยมา เรียกว่าถ้าซื้อ GM ทั้งบริษัทแล้วเอาเงินสดออกมา GM จะมีมูลค่าแค่ 32,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถูกกว่า Ford คู่แข่งหลักราว 50% แต่ GM มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงกว่า และในตอนนี้ยังมีการเรียกร้องจากกองทุนที่ถือหุ้นของ GM ให้บริษัทนำเงินสดส่วนเกินมาซื้อหุ้นคืนในตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น

หากมองกันตามที่นักวิเคราะห์ต่างประเทศได้ว่ามา ผมก็เชื่อว่าไม่ใช่แต่ Buffett เท่านั้น Soros เองก็มีมุมมองของ "Value Investing" ด้วยเหมือนกัน

บริษัทที่สอง Direct TV (DTV) เป็นบริษัทบริการรายการทีวีส่งตรงถึงบ้านผ่านระบบดาวเทียม มีแพ็กเกจหลากหลายให้เลือกทั้งในสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ โดยในสหรัฐมีฐานสมาชิกถึง 20 ล้านคน คู่แข่งหลักโดยตรงกับ Direct TV มีอยู่รายเดียวคือ Dish Network แต่ DTV ทำอัตรากำไรสุทธิได้ดีกว่า กิจการทีวี แบบบอกรับสมาชิกสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมหาศาล ซึ่งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ DTV สูงกว่ากำไรสุทธิราว 100% ตั้งแต่ปี 2010 ทำให้เงินสดในงบดุลของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา

โดย Berkshire Hathaway ของ Buffett เข้าไปถือหุ้นอยู่ 2.5% ของพอร์ต และ Soros Fund ถืออยู่ 0.29% ถึงแม้ว่าคนเลือก DTV เข้าพอร์ตของ Berkshire น่าจะเป็น Todd Combs มือขวา Buffett มากกว่าที่จะเป็นตัว Buffett เอง แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ Berkshire เริ่มสนใจในบริษัทที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ นอกเหนือจากหุ้นธนาคารและอุปโภคบริโภคที่เป็นหุ้นหลักของบริษัท ส่วน Soros เองถือหุ้นเทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในพอร์ตของเขามีทั้ง Alibaba, Facebook และ Yahoo

บริษัทที่สามคือ Phillips 66 (PSX) ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิ่งลงปลายปีที่ผ่านมา ทั้ง Buffett และ Soros ต่างขายหุ้นบริษัท Exxon Mobil ทิ้งออกจากพอร์ต แต่ทั้งสองคนยังเก็บหุ้น Phillips 66 ไว้ นอกจากนั้น Buffett ยังซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคมหลังจากที่ขายไปบางส่วนตอนต้นปี 2014

PSX ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันและปิโตรเคมีแต่ไม่มีธุรกิจสำรวจและขุดเจาะ โดยเน้นกลางน้ำและปลายน้ำ มีธุรกิจท่อส่งก๊าซ รถขนส่ง และปั๊มน้ำมัน ความสามารถในการแข่งขันของ PSX อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโรงกลั่นและระบบขนส่งเป็นของตัวเอง การค้นพบ Shale Gas และ Shale Oil ปริมาณมหาศาลในแถบตอนกลางของอเมริกาเหนือ ทำให้บริษัทมีต้นทุนน้ำมันดิบในการผลิตที่ต่ำลง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแข่งขันกับของยุโรปที่ใช้น้ำมันดิบอ้างอิงราคา Brent ซึ่งปกติราคาสูงกว่าได้เป็นอย่างดี ถึงแม้กำไรจากการดำเนินงานจะสูง ๆ ต่ำ ๆ ตามแบบหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ Buffett ก็ยังถือหุ้นตัวนี้ตั้งแต่ปี 2012 และ Soros เริ่มซื้อมาตั้งแต่ปี 2013

ถึงแม้ว่า Soros จะมีการลงทุนที่เน้นการเก็งกำไรระยะสั้นมากกว่า อย่างหุ้น APPLE ก็ซื้อ ๆ ขาย ๆ ตลอด แต่ Buffett ลงทุนในหุ้น IBM มีแต่ซื้อเข้าอย่างเดียวทุกปีตั้งแต่ปี 2011 ไม่เล่นรอบเลย กูรูทั้งสองเลือกลงทุนในหุ้นแต่ละตัวผ่านการพิจารณาทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม, ความสามารถในการแข่งขัน และอัตราส่วนทางการเงินมาเป็นอย่างดี

ตอนนี้ความมั่งคั่งของทั้งสองคนก็อยู่ในระดับเกิน 20,000 ล้านเหรียญ แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะลงทุนแบบเล่นรอบหรือถือลงทุนยาว นักลงทุนสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองได้ แต่การเลือกหุ้นเพื่อลงทุนนั้นนักลงทุนต้องใช้ "ความรู้" ในการวิเคราะห์กิจการ และมีความเข้าใจในธุรกิจที่บริษัททำอยู่พอสมควร ไม่ใช้การคิดนึกคาดเดาเอาเองเป็นหลัก

หลายคนเล่นหุ้นเน้นเฉพาะการเก็งกำไรรู้จักแค่ตัวย่อ, ชื่อหุ้น และราคาหุ้น หากเราใส่ความพยายามลงไปเพียงเท่านั้นขนาดของกำไรที่พอคาดหวังได้ก็คงไม่ต่างกัน

ที่มา : ประชาชาติออนไลน์